Skip to main content
sharethis

 



ภาพ "เรือเหาะตรวจการณ์" หรือ "บอลลูนติดกล้อง" ที่ค้นพบในเว็บไซต์ ซึ่งอาจมีรูปแบบคล้ายคลึงกับ "ระบบเรือเหาะ" ที่ กอ.รมน.กำลังเตรียมจัดซื้อ (ที่มา: ศูนย์ข่าวอิศรา)


 


ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 10 มี.ค.2552 ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 350 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจัดหา "ระบบเรือเหาะ" พร้อมกล้องตรวจการณ์ทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อใช้ในกิจการของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ในภารกิจตรวจการณ์ทางอากาศ อันเป็นหนึ่งในยุทธการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


ทั้งนี้ งบประมาณที่ใช้ในการจัดซื้อ เป็นงบประมาณกลางปี 2552 ตามการเสนอของ กอ.รมน.โดยให้เหตุผลต่อ ครม.ว่า กอ.รมน.ยังขาดยุทโธปกรณ์ตรวจการณ์อากาศเพื่อปรับกลยุทธ์ให้ทันต่อการแก้ไขสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่


 


สำหรับระบบเรือเหาะดังกล่าวนี้ จะเป็น "เรือบอลลูน" ขนาดใหญ่ ใช้สำหรับตรวจการณ์บนอากาศ โดยจัดซื้อจากประเทศสหรัฐอเมริกา เฉพาะตัวเรือบอลลูนมีราคา 260 ล้านบาท กล้องส่องกลางวันและกลางคืนรวม 2 ตัว ราคา 70 ล้านบาท ส่วนอีก 20 ล้านบาท ใช้สำหรับจัดซื้ออุปกรณ์สื่อสารภาคพื้น ซึ่งทั้งหมดจะรวมเป็นระบบเรือเหาะ 1 ชุด


 


พ.อ.ปริญญา ฉายดิลก โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวตอนหนึ่งในรายการ "ลับ ลวง พราง เรดิโอ" ทางสถานีวิทยุคลื่นเอฟเอ็ม 100.5 เมื่อเช้าวันเสาร์ที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยยืนยันว่าการจัดซื้อเรือเหาะก็เพื่อตอบสนองงานด้านยุทธการในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ โดยบอลลูนหรือเรือเหาะดังกล่าว จะติดตั้งกล้องอินฟาเรดไว้ที่ตัวบอลลูน สามารถตรวจการณ์ระยะไกลได้ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน


 


ผู้ดำเนินรายการถามว่า การใช้บอลลูนหรือเรือเหาะบินตรวจการณ์ จะกลายเป็นเป้าให้กลุ่มก่อความไม่สงบดักยิงทำลายหรือไม่ พ.อ.ปริญญา ตอบว่า ไม่มีความเสี่ยงในประเด็นนี้ เนื่องจากเรือเหาะจะลอยสูงกว่าระยะยิงของกลุ่มผู้ไม่หวังดี


 


ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร (พตท.) ซึ่งเป็นหน่วยควบคุมการใช้กำลังในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า การใช้บอลลูนหรือเรือเหาะติดกล้อง เป็นไปตามยุทธการป้องปรามการเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความไม่สงบ โดยงบประมาณที่ใช้ 350 ล้านบาทนั้น สามารถจัดซื้อเรือเหาะได้ 1 ชุด อย่างไรก็ดี เขาปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นว่า การทุ่มงบประมาณจำนวนดังกล่าวมีความคุ้มค่าหรือไม่เพียงใด


 


อนึ่ง เมื่อข่าวการอนุมัติงบประมาณถึง 350 ล้านบาทเพื่อจัดซื้อ "เรือเหาะ" หรือ "เรือบอลลูนติดกล้อง" เผยแพร่ออกไป ได้กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากหลายฝ่ายถึงความเหมาะสมและประสิทธิผลของโครงการนี้


 


แหล่งข่าวระดับสูงจากกองบัญชาการกองทัพไทย ตั้งข้อสังเกตว่า แผนยุทธการที่ใช้เรือเหาะเป็นเครื่องมือตรวจการณ์นั้น เหมาะกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้จริงหรือไม่ เพราะเป็นสงครามในลักษณะก่อการร้ายที่กลุ่มผู้ไม่หวังดีแฝงตัวอยู่ในหมู่บ้าน ชุมชน ปะปนกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ ไม่ได้จัดตั้งเป็นกองกำลังที่มีฐานปฏิบัติการชัดเจนเพื่อต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ


 


"เวลานี้เดินสวนกันในตลาดยังไม่รู้เลยว่าใครเป็นคนร้าย แล้วการใช้เรือเหาะขึ้นไปถ่ายภาพจะมีประโยชน์อะไร" แหล่งข่าวตั้งคำถา


 


นอกจากนี้ ยังมีประเด็นน่าสังเกตอีกประการหนึ่งว่า ฝ่ายความมั่นคงโดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แถลงมาตลอดว่าสถิติการก่อเหตุร้ายในพื้นที่ลดลง และสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในระดับที่น่าพอใจ ประกอบกับเพิ่งทุ่มกำลังพลกว่า 6,000 นาย เข้าไปปฏิบัติการในหมู่บ้านสีแดงจำนวน 217 หมู่บ้านทั่วทั้งสามจังหวัด ในโครงการ "หมู่บ้านเสริมสร้างสันติสุข" หรือ "หมู่บ้าน 3 ส." ตามยุทธศาสตร์เอาชนะที่หมู่บ้าน จึงเกิดคำถามถึงความจำเป็นของการจัดซื้อเรือเหาะเพื่อเอ็กซเรย์พื้นที่ เนื่องจากมีกำลังทหารอยู่ในหมู่บ้านสีแดงทุกแห่งแล้ว


 


ขณะที่แหล่งข่าวในวงการผลิตอาวุธ กล่าวว่า เทคโนโลยีเรือเหาะตรวจการณ์ใช้มาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 จึงไม่แน่ใจว่าจะมีประสิทธิภาพเท่าทันกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบันหรือไม่


 


"ยุทธการของกลุ่มก่อความไม่สงบจะใช้วิธีก่อการร้ายในเมือง จึงไม่ทราบว่าการใช้เรือเหาะจะป้องกันการก่อเหตุรุนแรงได้ตรงไหน หรือหากจะอ้างว่าใช้เพื่อป้องปรามการรวมตัวกันของบรรดาแนวร่วม หรือค้นหาแหล่งฝึก ก็ยังมีคำถามเรื่องประสิทธิผลของเรือเหาะอยู่ดี เพราะจุดเด่นของกลุ่มก่อความไม่สงบคือเคลื่อนที่เร็ว หากเราจับภาพการรวมตัวประชุมกันของบรรดาแนวร่วมได้ เราจะไล่จับเขาทันหรือไม่ เพราะเขาอาจรู้ตัวก่อน เนื่องจากเรือเหาะมีขนาดใหญ่ สังเกตเห็นได้ง่ายมากโดยเฉพาะในเวลากลางวัน"


 


อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวในวงการผลิตอาวุธรายนี้ ชี้ว่า ประสิทธิภาพของเรือเหาะขึ้นอยู่กับกล้องที่ติดตั้งบนบอลลูน และระบบสื่อสารกับภาคพื้นดิน ซึ่งคุณภาพของกล้องเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบก่อนตัดสินใจจัดซื้อ


 


"ผมว่างบประมาณมันสูงมาก น่าจะนำมาใช้ซ่อมหรืออัพเกรดเฮลิคอปเตอร์ของหน่วยงานความมั่นคงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจะดีกว่า ซึ่งเฮลิคอปเตอร์ก็มีศักยภาพทั้งการตรวจการณ์และไล่ล่า น่าจะเหมาะสมกว่าจัดซื้อเรือเหาะบอลลูน" แหล่งข่าวระบุ


 


 


ที่มา: ศูนย์ข่าวอิศรา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net