Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2552 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์เกษตรกรสารภี จ.เชียงใหม่ ได้มีการจัดเวทีเสวนา "ทำไมต้องปฏิรูปการเมือง?  ปฏิรูปอย่างไร?  เพื่อใคร?" โดยมี อ.สมชาย ปรีชาศิลปะกุล คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคุณไพโรจน์ พลเพชร สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เป็นผู้นำการเสวนา โดยมีรายละเอียดดังนี้..


 


 



 


สมชาย ปรีชาศิลปะกุล


 


 


1.


 


"หากพูดถึงการปฏิรูปการเมืองเราอย่างมองว่าคนไม่กี่คนที่เข้ามาเป็นเทวดาหรือเป็นผู้ที่รอบรู้ทุกด้านรู้มากที่สุด แต่เราต้องทำให้ประเด็นปัญหาหรือความเป็นจริงที่มีอยู่ในสังคมเราต้องถกเถียงได้ด้วย คือเราต้องการให้ ปัญหาของชาวบ้านปัญหาปากท้องถูกยกขึ้นมาพูดกันอย่างจริงจัง ต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น การกระจายรายได้ การสร้างความเท่าเทียม  การกระจายทรัพยากรเป็นต้น เนื่องจากที่ผ่ามาเวลาพูดถึงการปฏิรูป มักจะมองแค่การเมืองกับการเลือกตั้ง ผมคิดว่าต้องมีการผลักดันปัจจัยพื้นฐานในการมีชีวิตอยู่ในสังคมโดยเฉพาะชีวิตในสังคมชั้นล่างต้องถูกผลักดันเข้าไป"


 


2.


 


"ในการปฏิรูปการเมืองคือต้องมีบรรยากาศที่เรียกว่า เสรี หมายความว่า เปิดโอกาสให้เราหรือคนในสังคมพูดได้อย่างเสรีพูดโดยไม่มีความกังวลถึงจะไปด้วยกันได้ ปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ยังมีน้อยและเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง ถ้าไม่มีเสรีความมั่นใจในการพูดบางประเด็นก็จะน้อยเพราะต้องเป็นห่วงว่าสิ่งที่พูดได้ไปกระทบกับสิ่งอื่นหรือเปล่า หรือบางทีถูกมองไปแค่เหลือง-แดง"


 


 


 


ตอนนี้ได้มีการพูดถึงการปฏิรูปการเมืองซึ่งเป็นประเด็นที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและไม่สามารถบอกได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงแค่เรื่องการเมืองแต่มีเรื่องเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง ด้วยระบบที่มีอยู่โดยที่เราไม่รู้ว่าจะก้าวไปข้างหน้าได้ยังไง หากเรามองแต่เรื่องการเมืองเราก็ไม่สามารถที่จะมองภาพออกว่าควรจะเป็นยังไง ผมจึงมีแนวคิดที่จะนำเสนอโดยไม่รู้ว่าจะไปได้ข้างหน้าได้หรือไม่


 


เวลาเรามองปัญหาอย่ามองแค่เหลือง-แดง อย่างน้อยก็ยังมีความขัดแย้งอยู่ 3 กลุ่มด้วยกัน และเป็นความขัดของ 3 กลุ่มหลักของสังคมไทย โดยส่วนตัวคิดว่าความขัดแย้งนี้มีมา 10 กว่าปีแล้ว และต่อไปเราจะทิ้งคำว่า เหลือง-แดง แล้วลองมองตัวอื่น


 


กลุ่มแรก เป็นคู่ขัดแย้งระหว่างนักการเมืองเลือกตั้ง กับ กลุ่มศักดินาเก่าที่เป็นข้าราชการ ในการเมืองไทยเดิมก่อนทศวรรษ 30 ผู้ที่มีอำนาจส่วนใหญ่จะเป็น ขุนนางระดับทหาร เช่น ผบ.ทบ หรือข้าราชการระดับสูง และมีอิทธิพลหรือบทบาทต่อทางการเมืองมาก อย่างน้อยก่อนจะเป็นนายกต้องผ่านการเห็นชอบของทหารก่อนแม้จะมีการเลือกตั้งก็ตาม คือก่อนหน้านั้นระบบราชการจะมีอำนาจแต่ก็ถูกลดอำนาจ โดยการเมืองแบบเลือกตั้ง การขึ้นมาของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ต่อมาเรื่อยจนถึง สมัยบรรหาร ชวน หลีกภัย เป็นการขยายตัวของการเมืองแบบเลือกตั้งเข้ามามีบทบาทมากขึ้นซึ่งเดิมเราเชื่อกันว่าอำนาจเก่าหมดไปแล้ว แต่เมื่อมาถึงการยึดอำนาจ 19 กัน 49 อีกครั้งหนึ่งระบบเก่าจึงกลับเข้ามา


 


กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มทุนระดับชาติกับกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์  หมายความว่าเป็นกลุ่มนายทุนที่เติบโตมากับเศรษฐกิจไทยหลัง 2500 โดยเฉพาะกลุ่มทุนธนาคารและกลุ่มทุนอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการลงทุนด้านการเงิน การธนาคาร เช่น ยกตัวอย่างแบงค์กรุงเทพ โตขึ้นมาได้เพราะตระกุลโสภณพาณิชย์ โตขึ้นมาได้เพราะ การเชิญนายพลเข้ามาเป็นประธาน พอเข้านโยบายต่างๆ ก็เอื้อให้กับกลุ่มทุนเหล่านี้ และมีบทบาททางการเมืองอย่างมาก กลุ่มทุนเหล่านี้ไม่ใช่จะทำมาค้าขายอย่างเดียวแต่ยังรวมไปถึงกลุ่มทุนทางการเกษตรด้วยและความร่ำรวยที่เกิดขึ้นไม่ใช่การขายข้าวแต่เกิดจากนโยบายที่เอื้อให้กับกลุ่มทุนเหล่านี้ด้วย ช่วงหนึ่งราคาข้าวในตลาดตกเกวียนละ หมื่นกว่าบาทในขณะที่บ้านเราขายกันเกวียนละ 4 พันกว่าบาท สิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐบาลต้องออกภาษีข้าวซึ่งภาษีข้าวที่ตกปีละ 5-6 พันกว่าบาท แทนที่ชาวนาจะได้ราคาข้าวในตลาดโลกแต่กลับไม่ได้อะไรเลย เป็นเพราะฝนฟ้าหรือเปล่า เป็นเพราะเทวดากลั่นแกล้งหรือเปล่าไม่ใช่แต่เป็นเพราะนโยบายรัฐต่างหาก


 


กลุ่มทุนชาติเติบโตมาพร้อมกับการพัฒนาอุตสาหกรรมและนโยบายอุตสาหกรรมนี่เองที่เป็นการกดทับภาคการเกษตรให้จมลงไม่ให้เติบโต โดยที่นโยบายรัฐเองทำให้ราคาสินค้าการเกษตรไม่แพงหมายความว่า เราทำการเกษตรแล้วเงินที่ได้ปีละ 3 หมื่นกว่าบาท ในขณะที่ค่าจ้างในโรงงานเดือนละ 6 พันกว่าอย่างน้อย ดังนั้นภาคการเกษตรที่ล่มสลายเพราะนโยบายรัฐที่ดึงเอาแรงงานภาคการเกษตรเข้าสู่ระบบโรงงาน เพราะฉะนั้นกลุ่มทุนชาติเกาะกับกลุ่มอุตสาหกรรมและนักการเมืองและมีส่วนในการกำหนดนโยบายรัฐอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด


 


กลุ่มทุนอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์ ที่เติบโตมาหลังปี 2540 ในประเทศไทยกลุ่มทุนธนาคารต่างๆ เจ๊งไม่เป็นท่าเพราะหุ้นในธนาคารลด เช่น เรามีเงิน 30 บาท แต่วันหนึ่งเงิน 30 บาทมีค่าไม่กี่สตางค์จะอยู่ได้ไหม ส่วนกลุ่มทุนที่ยังอยู่ได้คือกลุ่มโทรคมนาคมที่เราเรียกว่ากลุ่มทุนโลกาภิวัตน์ หรือกลุ่มทำดาวเทียม และโทรศัพท์มือถือกลุ่มเหล่านี้อยู่ได้ และรอดพ้นจากความพิบัติโดยที่มี ทักษิณ เป็นหัวเรือใหญ่ของกลุ่มนี้ และเข้ามามีบทบาททางการเมืองตั้งแต่ปี 2540 เป็นกลุ่มที่มั่งคั่งด้วยเงินทองมหาศาลกว่ากลุ่มอื่น และใช้อำนาจรัฐในการเลือกตั้ง แง่หนึ่งสร้างนโยบายประชานิยมและแง่หนึ่งทำเพื่อตนเองมั่งคั่ง และเป็นกลุ่มที่ไม่เอื้ออาทรต่อกลุ่มอื่นเลย หมายความว่าเมื่อก่อนแบงค์กรุงเทพเวลาให้เงินก็จะให้ทุกพรรค แต่กลุ่มทุนโลกาภิวัตน์เป็นกลุ่มที่ให้เลือกข้างว่าจะเลือกอยู่ฝ่ายไหนทำให้กลุ่มทุนอื่นเกลียดชังไปด้วย ในขณะที่ในเมืองไทยมีกลุ่มทุนอยู่กลุ่มเดียวที่ไม่ยอมจำนนต่อกลุ่มทุน ทักษิณ กล้าที่ยืนหยัดและยังให้การสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์อย่างต่อเนื่อง คือกลุ่มทุนกระทิงแดง ของเฉลียว อยู่วิทยา ที่ดำเนินกิจการอยู่ทั่วโลกและต่างจากกลุ่มทุนอื่น


 


กลุ่มทุนที่ขัดแย้งกลุ่มที่สามคือชนชั้นนำที่ปะทะกับชนชั้นกลางและชนชั้นล่าง หลังจาก 2540 เป็นต้นมา เดิมทีชนชั้นนำกับชนชั้นกลางมีบทบาทสำคัญต่อการกำหนด ทิศทางนโยบาย ว่าจะจัดตั้งรัฐบาล จะดำเดินนโยบายเศรษฐกิจยังไง จะเก็บภาษีข้าวยังไง  โดยที่ความเห็นของชนชั้นนำและชนชั้นกลางว่าต่างฝ่ายต่างล้มรัฐบาลได้ ตัวอย่างเช่นการดำเนินงานของ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ที่โดนกระแสการประท้วงไม่เท่าไหร่ก็ไป แต่หลังจากนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มคนรากหญ้าที่มีบทบาทคอยยันรัฐบาล ให้อยู่รอดได้มาหลายสมัยอย่างพรรคไทยรักไทย ที่ทำให้กลุ่มชนชั้นนำชนชั้นกลางบทบาทน้อยลง


 


การชุมชุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งฐานเสียงมาจากชนชั้นกลาง หากเป็นก่อนปี 2540 แน่นอนการชุมชุมที่มีคนเป็นแสนรัฐบาลต้องล้มแน่ แต่รัฐบาลทักษิณ ไม่ได้ล้ม สมัคร ไม่ล้ม สมชายก็ไม่ล้ม รัฐบาลที่ล้มไม่ใช่เพราะการชุมนุม เนื่องจากทักษิณล้มเพราะ รัฐประหาร ในขณะที่สมัคร กับสมชายล้มเพราะศาลรัฐธรรมนูญ สิ่งเหล่านี้ทำให้ชนชั้นนำชนชั้นกลางไม่มีเสียงไม่มีบทบาทเหมือนแต่ก่อน พันธมิตรเลยเสนอการเมืองใหม่ที่  30/70 ขึ้น เนื่องจากหากมีการเลือกตั้งด้วยฐานเสียงแล้วสู้รากหญ้าไม่ได้เพราะคนส่วนใหญ่หรือฐานเสียงพรรคของทักษิณคือ เหนือกับอีสาน ดังนั้นหากมีการเลือกตั้งยังไงพรรค ปชป. ก็ไม่ชนะอยู่ดี จึงเป็นการรักษาเสียงหรืออำนาจของชนชั้นนำกับชนชั้นกลาง


 


ความขัดแย้งทั้งหมดที่นำเสนอมาจึงเป็นปัจจัยที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยอย่างมากนักการเมืองจากการเลือกตั้งได้เข้ามาสั่นคลอนการเมืองแบบเก่าอย่างกว้างขวาง ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างเช่น ปัจจุบันไม่มีพรรคการเมืองไหนที่ไม่พูดเรื่อง การศึกษาฟรี ระบบการรักษาพยาบาล สาเหตุที่ต้องพูดถึงคือ การศึกษายังเป็นเครื่องมือ เป็นตัวไต่เต้ายกฐานะที่จะขึ้นมาสู่ความเป็นชนชั้นกลางในสังคมและมหาวิทยาลัยดังๆ คนที่จะเข้าไปเรียนได้น้อยคนที่เป็นลูกหลานเกษตรกรส่วนใหญ่จะมีแต่ลูกของชนชั้นนำกับชนชั้นกลาง ส่วนที่ลูกหลานเกษตรกรไม่ได้เข้าไม่ใช่เพราะโง่แต่เป็นเพราะเงื่อนไขทางสังคมไม่เปิดช่องให้ ดังนั้นทุกพรรคก็จะพูดเรื่องระบบการศึกษา ระบบการรักษาพยาบาล เพราะยังไงก็แล้วแต่รัฐต้องสนใจชนชั้นล่างมากขึ้นในขณะที่ชนชั้นนำ และชนชั้นกลางก็อยากจะขจัดชนชั้นล่างออกไป


 


เพราะฉะนั้นการมองความเปลี่ยนแปลงไม่ควรมองแค่เหลือง-แดง แต่ยังมีปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังอีกส่วนเหลือง-แดงเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ในขณะที่รัฐธรรมนูญเองไม่สามารถจะจัดการกับความขัดแย้งนี้ได้ คำถามคือ ถ้าจะปฏิรูปการเมือง จะปฏิรูปยังไง จุดเริ่มต้นต้องมองความขัดแย้งที่กว้างกว่านั้นโดยเฉพาะความขัดแย้งที่ดำรงอยู่แต่ไม่ถูกทำให้ปรากฏ เช่น ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนที่มีช่องว่างห่างมากขึ้นทุกที และเราก็ยังไม่เห็นนโยบายรัฐที่ทำให้เกิดความเท่าเทียมสักที


 


รัฐบาลเองก็ดึงเอาภาษีจากเหล้า บุหรี่ แทนที่จะเก็บภาษีจากคนที่ถือครองที่ดินมากๆ แต่กลับไม่สนใจอย่างก่อนที่รัฐบาล อภิสิทธิ์จะขึ้นมาได้มีการพูดเรื่องนี้อยู่บ้างแต่ก็หายไปและไม่ได้พูดถึงอีกเลย เนื่องจากคนในพรรคไม่เห็นด้วย เลยต้องมาเก็บภาษีเหล้า บุหรี่ ดีกว่า เพราะถ้าเกิดการเก็บภาษีที่ดินเมื่อไหร่ก็จะเป็นการกระจายการถือครองที่ดินด้วย แต่ก็ไปกระทบกับสถานะของชนชั้นนำและชนชั้นกลางความจริงเราต้องจ่ายภาษีเท่ากันกันคือ 7% ภาษีเหล่านี้ล้วนแล้วมาจากเราทุกคนและการเก็บภาษีนี้เรียกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องพูดอีก ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น การจัดการทรัพยากรไม่ถูกกระจายอย่างจริงจัง


 


จึงอยากฝากประเด็นไว้ 2-3 ข้อ คือ อย่างมองความขัดแย้งแค่เหลืองกับแดงเพราะความขัดแย้งมีเงื่อนไขมากกว่าที่เรามองเห็นแค่เหลืองกับแดง


 


หากพูดถึงการปฏิรูปการเมืองเราอย่างมองว่าคนไม่กี่คนที่เข้ามาเป็นเทวดาหรือเป็นผู้ที่รอบรู้ทุกด้านรู้มากที่สุด แต่เราต้องทำให้ประเด็นปัญหาหรือความเป็นจริงที่มีอยู่ในสังคมเราต้องถกเถียงได้ด้วย คือเราต้องการให้ ปัญหาของชาวบ้านปัญหาปากท้องถูกยกขึ้นมาพูดกันอย่างจริงจัง ต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น การกระจายรายได้ การสร้างความเท่าเทียม  การกระจายทรัพยากรเป็นต้น เนื่องจากที่ผ่ามาเวลาพูดถึงการปฏิรูป มักจะมองแค่การเมืองกับการเลือกตั้ง ผมคิดว่าต้องมีการผลักดันปัจจัยพื้นฐานในการมีชีวิตอยู่ในสังคมโดยเฉพาะชีวิตในสังคมชั้นล่างต้องถูกผลักดันเข้าไป


 


อีกอันหนึ่งที่ต้องพูดในการปฏิรูปการเมืองคือต้องมีบรรยากาศที่เรียกว่า เสรี หมายความว่า เปิดโอกาสให้เราหรือคนในสังคมพูดได้อย่างเสรีพูดโดยไม่มีความกังวลถึงจะไปด้วยกันได้ ปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ยังมีน้อยและเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง ถ้าไม่มีเสรีความมั่นใจในการพูดบางประเด็นก็จะน้อยเพราะต้องเป็นห่วงว่าสิ่งที่พูดได้ไปกระทบกับสิ่งอื่นหรือเปล่า หรือบางทีถูกมองไปแค่เหลือง-แดง ช่วงแรกขอฝากแค่นี้ก่อนครับ


 


โดยในช่วงท้าย อ.สมชาย ได้สรุป ว่าเวลาเราพูดถึงการปฏิรูปการเมืองสิ่งที่ต้องตระหนักร่วมหรือเป็นข้อเสนอร่วมคือว่า การปฏิรูปการเมืองคงไม่ใช่การจัดอำนาจของชนชั้นนำในสังคมอย่างเดียวแต่ต้องพูดถึง3 เรื่องด้วยกัน คือ


 


อันแรกคือการจัดสวัสดิการสังคมความปลอดภัย หมายความว่า การศึกษา การรักษาพยาบาลในการทำงาน ความมั่นคงในการทำงาน อันนี้น่าจะเป็นประเด็น


 


อันที่สอง เมื่อเราพูดถึงความเท่าเทียม อย่างการศึกษา การรักษาพยาบาลที่เท่าเทียม การกระจายรายได้ จะเกิดขึ้นไม่ได้สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อการเก็บภาษีจากการถือครองที่ดินอย่างในต่างประเทศที่มีสวัสดิการสังคม ภาษีก้าวหน้าจึงเกิดขึ้น


 


อันที่สาม ประชาธิปไตยทางตรง ท้องถิ่นต้องถูกผลักดันและการสนับสนุน ซึ่งหมายถึง การกำหนดชะตากรรมชีวิต อาทิ สิทธิชุมชนการมีอำนาจในการจัดการทรัพยากร รวมถึงอำนาจในการรวมตัวของชุมชนท้องถิ่น แม้องค์กรปกครองท้องถิ่นจะผ่านหรือไม่ก็ตาม น่าจะเป็น 3 เรื่องหลักในการพูดคุย   


 


0 0 0


 


 


 


 


ไพโรจน์  พลเพชร


1.


 


"การใช้อำนาจรัฐอย่างมีเป้าหมาย ไม่ใช่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ คน รวย 10 % ของประเทศหรือ 16 % มันต่างกันมาก การเข้าถึงทรัพยากร การเข้าถึงสวัสดิการสังคม ห่างกันอย่างมหาศาล เหล่านี้เป็นเป็นการใช้อำนาจรัฐอย่างนี้แหละไม่สามารถตอบสนองการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นธรรมได้"


 


2.


 


"เราต้องสร้างระบบการเมืองที่เป็นคู่ขนานเป็นการถ่วงดุลอำนาจ ไม่ได้เรียกร้องให้ไปเลือก ส.ส. ดีหรือไม่ดี แต่จะยอมรับยังไงให้ภาคประชาชนมีพื้นที่และบทบาท ในการกำหนดหรือเสนอนโยบาย ไม่ใช่ ประชาชนถูกมองเป็น NGO หรืออย่างเมื่อก่อนจะมองเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ ดังนั้นการที่เราจะมีอำนาจได้เราต้องสร้างเอง เช่น เรามีองค์ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร มีเป้าหมายที่ชัดเจน  มีการรวมกลุ่มที่เข็มแข็ง มีประเด็นชัดอุดมคติแน่วแน่ สิ่งเหล่านี้จะทำให้การเมืองแบบคู่ขนานเกิดขึ้นได้ การปฏิรูปการเมืองจึงเป็นเรื่องของการที่เรามีประเด็นที่ยอมรับกันได้ทุกระดับ"


 


 


เข้าใจว่า อ.สมชายพยายามจะวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่จะเข้าไปมีบทบาทในรัฐ และเวลาเราพูดถึงการปฏิรูปการเมืองก็จะพูดกันใน 2 ประเด็น คือการใช้อำนาจรัฐ และใช้ไปเพื่ออะไร จึงกลายเป็นปัญหาในสังคมไทย โดยเฉพาะประเด็นหลัง คือใช้อำนาจรัฐเพื่ออะไร ใช้เพื่อรักษาผลประโยชน์ตัวเองหรือเพื่อความ เท่าเทียม ความเป็นธรรมในสังคม


 


ผมลองยกตัวอย่างง่ายๆ ความขัดแย้งเรื่องที่เกิดขึ้นที่ มาบตาพุด คือหลังจากศาลตัดสิน ที่จริงข้อเรียกร้อง ที่นั่นเป็นเขตควบคุมมลพิษ ที่ผ่านมาหลายรัฐบาลมาแล้ว โดยกรมควบคุมมลพิษได้เสนอ แต่ไม่มีรัฐมนตรีคนไหนกล้าประกาศ เพราะตรงนั้นเป็นสวรรค์ของการลงทุน เพราะเขายอมรับเองว่าที่ตรงนั้นได้กำไรเป็นแสนล้าน รายได้ของประเทศอยู่ตรงนั้น คำถามจึงมีต่อว่า แสนล้านที่ว่าตกอยู่ที่ใคร แสนล้านที่ว่าต้องจ่ายชีวิตไปเท่าไหร่ ปลา ทะเล น้ำต้องจ่ายเท่าไหร่ ชีวิตคนไม่มีใครพูดถึง ในขณะที่มีการเห็นดีด้วยเพราะเป็นที่รวมศูนย์ของนักลงทุนประเทศและเป็นทุนยักษ์ใหญ่ทั้งนั้นไปรวมกันอยู่ที่นั่น หลังจากดูดซับเอาทรัพยากรและชีวิตคนไปเดิมพันแล้วตอนนี้จะย้ายไปภาคใต้คงต้องมีปัญหาเพิ่มขึ้นอีกและคงต้องสู้กันต้องชนกันเละเลย เนื่องจากไม่มีที่ที่จะเอาแล้ว นี่เป็นตัวอย่าง ที่ทำให้ผมหงุดหงิดมาก สมาคมสามสมาคมยักษ์ใหญ่ของประเทศไทย สมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมหอการค้าที่รวมหัวกันที่มีอยู่ทุกจังหวัดของประเทศ สมาคมอุตสาหกรรม


 


เมื่อ 3 สมาคมรวมหัวกันแล้ว หากที่ตรงนั้นถูกประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ ทำให้บรรยากาศการลงทุนจะเสียหายมากหากมีการประกาศ ออกแถลงการณ์ซ้ำแล้วซ้ำอีกเมื่อวานก็ออก แล้ววันที่ 16 นี้ รมต. อุตสาหกรรมจะลงพื้นที่ดูว่า จะอุทธรณ์คำสั่งศาลหรือไม่ ยังมีกลุ่มชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งทำร้านอาหาร บอกว่าต้องอุทธรณ์เพราะเมื่อมีการควบคุมมลพิษแล้วจะไม่มีใครเข้ามากิน จึงเป็นแรงกดดันที่มีต่อรัฐบาล เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าการจะประกาศเขตควบคุมมลพิษจะต้องเอาชีวิตคนมาเซ่นไม่รู้กี่ศพ พวกนี้ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคมเลย นี่เป็นตัวอย่างที่หนึ่ง


 


ตัวอย่างที่สอง เรื่องการขึ้นภาษีที่ดิน สามสมาคมออกมาบอกเลยว่า หากขึ้นภาษีที่ดิน คนรวยกับชนชั้นกลางจะเดือดร้อนแล้วรัฐบาลจะอยู่ไม่ได้ทำให้รัฐบาลหยุดเลยไม่กล้าทำอะไร จึงเป็นกลุ่มที่ทรงอิทธิพลแบบตัวจริงเสียงจริง อันนี้ความเป็นจริงในการเมืองไทยหลังจากการต่อสู้อะไรที่ว่า ศักดินา ราชการเป็นใหญ่ก็ตาม เดิมราชการเป็นใหญ่แต่ตอนหลังมานักการเมืองเข้ามาร่วมกันใช้อำนาจ แม้ทั้ง 2 ฝ่ายจะขัดแย้งกันยังไงแต่ทั้ง 2 ก็ยังรักษาผลประโยชน์ของตนเองที่ขูดรีดประชาชนอยู่ดี จะเห็นได้จากการใช้นโยบายเหมือนกันหมดไม่ว่าใครจะเข้ามายังไง เป็นการรักษาระบบทุนนิยม เพราะระบบทุนนิยมทำให้ เขาเติบโตได้ เพราะการแย่งยื้ออำนาจรัฐจึงเกิดขึ้นเสมอ ความแตกต่างคือ อีกกลุ่มหนึ่งต้องการอำนาจรัฐโดยการเลือกตั้ง ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งได้จากการยึดอำนาจรัฐ เพราะฉะนั้นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจึงเป็นการพยายามนำประเทศของกลุ่ม 2 กลุ่มที่เอาอำนาจประชาชนเป็นเครื่องมือ


 


การขึ้นสู่อำนาจผู้ที่มีบทบาทมากก็ยังเป็นราชการเองชี้นำภาคประชาชน แต่ตอนหลังกลุ่มพรรคการเมืองไม่ค่อยยอมรับการชี้นำจากราชการแต่เป็นการชี้นำตัวเอง เพราะฉะนั้นการชิงการนำไม่ลงตัวจึงเกิดการสู้กันอย่างที่มีอยู่ในปัจจุบัน ในที่สุดมีแค่ 2 กลุ่มคือ ระบบทักษิณที่เป็นแกนของระบบทุนนิยมใหม่ กับอีกฝ่ายหนึ่งที่ชูสถาบัน มาต่อสู้กัน ทีนี้การต่อสู้กันเพื่อการชิงการนำ ถามว่าเป็นการรักษาทุนเพื่อเข้าสู่อำนาจรัฐใช่ไหมเป็นอย่างนี้ทั้ง 2 ฝ่ายไม่เคยเปลี่ยน และที่สำคัญกว่านั้นทั้ง 2 ฝ่ายรับใช้ระบบทุนโลกาภิวัตน์ทั้ง 2 เนื่องจากถูกกดดันจากทุนต่างประเทศ ทั้ง FTA อะไรก็แล้วแต่ เพราะรัฐไทยไม่อิสระจากทุนต่างประเทศได้


 


ที่การเมืองทั้ง 2 กลุ่มต้องการการเมืองแบบไหน เขาต้องการประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมเป็นเครื่องมือ ในขณะที่ฝ่ายสถาบันอาจใช้กลไกแบบเดิม เข้ามาแทรกแซง ควบคุม กำกับ ระบบต่างๆ แต่ท้ายที่สุดระบบเสรีนิยมไม่สามารถควบคุมภาคประชาชนไม่ไหวแต่ทั้งคู่ ไม่ยอมรับการมีบทบาทของภาคประชาชนจะยอมรับได้ก็ต่อเมื่อภาคประชาชนไม่คุกคามหรือไม่กระทบต่อเขา


 


การเมืองในระยะ 15 ปีที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ผมคิดว่าสำคัญมาก คือการเปิดพื้นที่ทางสังคมที่เราเรียกว่าการเมืองภาคประชาชนจะอย่างไรก็แล้วแต่เป็นการออกมาถ่วงดุลอำนาจรัฐโดยภาคประชาชนในรูปแบบต่างๆ ที่กว้างขวางเพิ่มขึ้น แน่นอนต้องกระทบกับกลุ่มอำนาจที่ได้พูดมา เพราะฉะนั้นการออกมาของภาคประชาชนเพื่อดัดแปลงอำนาจรัฐให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น เช่น คนที่ออกมาเรียกร้องเรื่องสิทธิชุมชนโดยบอกว่ารัฐอย่าใช้อำนาจคุกคามประชาชน เมื่อรัฐใช้อำนาจคุกคามประชาชนเองก็ต้องตอบโต้ ต่อสู้ ตรวจสอบ เพื่อจัดความสัมพันธ์ ต่ออำนาจรัฐ หลังปี 2540 การออกมาของสมัชชาคนจนเป็นต้น โดยบอกว่ารัฐใช้อำนาจอย่างนั้นไม่ถูกไม่ควร การออกมาของขบวนการป่าชุมชน เป็นการบอกกล่าวว่าการจัดการทรัพยากรนี้ไม่ใช่ พี่น้องแต่ละพื้นที่ไม่ว่า เหนือ ใต้ อีสาน เวลามีโครงการเข้ามา ก็บอกว่าแบบนี้ไม่ได้ต้องมีการจัดการแบบใหม่ จึงต้องลุกขึ้นรวมตัวโดยการจัดความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับรัฐแบบใหม่ การเมืองจึงเป็นการเมืองแบบสามเส้า


 


1. การเมืองภาคประชาชนบอกว่าการใช้อำนาจรัฐที่ผ่านมาไม่เป็นธรรม ใช้ไม่ได้ในขณะเดียวกันพยายามจะกำกับอำนาจรัฐเท่าที่กำลังมีอยู่ อย่างไรก็แล้วแต่ ความขัดแย้งอยู่ข้างบนอย่างที่ อ.สมชายมีเคราะห์มาคือทั้งสองต้องการนำอำนาจรัฐ สถาบันเคยมีสถานะโดยที่ไม่เปิดเผยมาตลอด โดยใช้กลไกอื่นในการใช้อำนาจรัฐโดยเฉพาะระบบราชการเข้ามาแทรกแซง


 


2. กลุ่มทุน ในขณะที่ระบบ ทักษิณ ต้องการใช้อำนาจรัฐในการนำเดี่ยวแบบพรรคเดียว ข้อเรียกร้องให้นำ รธน.ปี 40 กลับมาใช้ใหม่ที่ให้อำนาจทุนแบบพรรคเดียวเป็นใหญ่ ในการนำและเป็นสิ่งที่เขารับได้โดยที่ไม่ต้องแก้อะไรเลยและสามารถสถาปนาตัวเองได้ ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอมโดยอำนาจในการนำได้ซ่อนอำนาจไว้ใน รธน. ปี 50  และผ่านอำนาจราชการบ้าง ศาลบ้าง อยู่จึงเป็นสิ่งที่ไม่ลงตัวในการรักษาอำนาจ ในขณะที่ก็มีความต้องการจัดความสัมพันธ์แบบใหม่เช่นเดียวกัน แต่เมื่อมีการเลือกตั้งในพื้นที่ไหนกุมเสียงได้มาก เช่น จังหวัดละคนก็สามารถที่จะเข้าไปได้


 


3. แต่หากมีการสรรหาร 76 คนมาจากการเลือกตั้ง และ 74 คน มาจากการสรรหานี่แหละที่บอกว่าเป็นการชิงในการนำ ถ้ามีการนำ รธน. ปี 40 กลับมาใช้ อีกฝ่ายก็ไม่มีอำนาจในวุฒิสภา ซึ่งคนพวกนี้นี้ไม่เคยใช้อำนาจรัฐเพื่อประชาชนเลย หรือหากการเมืองภาคประชาชนโตขึ้นเขากีดกันแน่ เพราะเขาพร้อมที่จะต่อกรแน่นี่เป็นสิ่งที่เป็นอยู่


 


เพราะฉะนั้นเมื่อพูดถึงพื้นที่อำนาจทั้ง 3 ฝ่ายการเมืองภาคประชาชน ไม่มีพื้นที่การใช้อำนาจรัฐโดยตรงแต่เป็นพื้นที่การต่อกรนอกอำนาจรัฐในการต่อกรกัน แต่ปัจจุบันเมื่อมีการจะนำการลงทุนไปที่ภาคใต้รับรองต้องมีการต่อสู้กันหลายยกแน่ เพราะเขาได้วางแนวการต่อสู้ไว้แล้ว ไล่มาตั้งแต่ชุมพร ประจวบฯ สงขลา นครศรีฯ ที่จะเกิดอุตสาหกรรมในพื้นที่ และเป็นเรื่องยากเนื่องจากการเติบโตของประชาชนไม่ง่ายเลยที่จะย้ายแบบง่ายๆ ในอนาคตเราจึงอยากเห็นว่าใครจะเป็นผู้ควบคุมการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นนี้ในสังคม


 


จะเห็นได้ว่าการเมืองทั้งสามเส้านี้ภาคประชาชนต้องการที่จะมีบทบาทในการใช้อำนาจรัฐทั้งการกำหนดนโยบาย การจัดการทรัพยากร การจัดการผลประโยชน์โดยการตรวจสอบ เป็นต้น เพราะประชาชนเริ่มรู้ว่าตัวเองมีอำนาจจริงในการที่จะใช้อำนาจรัฐ และขยายพื้นที่ได้นี่เป็นเส้าที่ที่ 1 ส่วนเส้าที่ 2 กลุ่มทุนไม่ลงตัว ต้องการรักษาอำนาจรัฐ ต้องการชี้นำอำนาจรัฐแบบเดิมๆ เอาไว้ นี่เป็นการเมืองที่ไม่ลงตัว หมายความว่า หลังผ่าน ปี 40 ก็มีการพยายามจัดความสัมพันธ์เหล่านี้ โดยเฉพาะการขยายอำนาจของภาคประชาชนดูเหมือนจะเป็น หอกข้างแคร่ ของเขามาโดยตลอด ดังนั้นการใช้อำนาจแบบเดิมไม่ง่ายอีกต่อไปสำหรับกลุ่มต่างๆแล้ว


 


อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องพูดคือการใช้อำนาจรัฐอย่างมีเป้าหมาย ไม่ใช่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ คน รวย 10 % ของประเทศหรือ 16 % มันต่างกันมาก การเข้าถึงทรัพยากร การเข้าถึงสวัสดิการสังคม ห่างกันอย่างมหาศาล เหล่านี้เป็นเป็นการใช้อำนาจรัฐอย่างนี้แหละไม่สามารถตอบสนองการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นธรรมได้ การเมืองแบบประชาธิปไตยไม่ใช่การเมืองแบบเสรีนิยมอย่างที่เป็นอยู่ ขนาดหนี้สิน 7 ล้าน หรือ 15 ล้านคนยังแก้ไม่ได้ ปัญหาภาษีแก้ไม่ได้ ปัญหาที่ดินก็แก้ไม่ได้ แม้ใครจะขึ้นมาก็ตาม เพราะทั้ง 2 ฝ่ายพยายามจะพัฒนาและรักษาระบบการสืบทอดการขูดรีด อยู่อย่างนี้ ตอนหลังมีปัจจัยภายนอกเข้ามาด้วย ทุนจากภายนอกเข้ามาคุกคามอย่างรุนแรง เพราะ ทรัพยากรชีวภาพทั้งหลายถูกช่วงชิงเอาไป เป็นต้น


 


เมื่อเราพูดถึงการปฏิรูปการเมืองเราจะพูดเรื่องการจัดสรรอำนาจอย่างเดียวไม่ได้อีกแล้ว แม้ว่าที่ผ่านมาการจัดสรรอำนาจจะพูดเรื่องการขยายพื้นที่อำนาจประชาชนก็ตามแต่ต้องพูดกว้างกว่านั้น เช่น การใช้อำนาจรัฐเพื่ออะไร การใช้อำนาจรัฐเพื่อสร้างสวัสดิการสังคมได้ไหม ใช้เพื่อกระจายการจัดการทรัพยากรได้ไหม ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทิศทางไหนก็ขึ้นอยู่กับผู้นำในการเปลี่ยนแปลงเพราะสามารถที่จะให้เปลี่ยนแปลงในทิศทางไหน


 


ในเมื่อเราต้องการที่ จะมีการเก็บภาษีที่เป็นธรรม สวัสดิการถ้วนหน้า ให้อำนาจท้องถิ่นจัดการตัวเอง การเข้าถึงทรัพยากรอย่างเสมอภาค ระบบการผลิต ทั้งราคา ตลาดต้องเป็นธรรม และกระบวนการยุติธรรมต่อภาคประชาชน บำนาญสังคมเป็นต้น


 


ทั้งนี้ไพโรจน์ได้สรุปว่า "เราต้องสร้างระบบการเมืองที่เป็นคู่ขนานเป็นการถ่วงดุลอำนาจ ไม่ได้เรียกร้องให้ไปเลือก ส.ส. ดีหรือไม่ดี แต่จะยอมรับยังไงให้ภาคประชาชนมีพื้นที่และบทบาท ในการกำหนดหรือเสนอนโยบาย ไม่ใช่ ประชาชนถูกมองเป็น NGO หรืออย่างเมื่อก่อนจะมองเป็นพรรคคอมมิวนิสต์  ดังนั้นการที่เราจะมีอำนาจได้เราต้องสร้างเอง เช่น เรามีองค์ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร มีเป้าหมายที่ชัดเจน  มีการรวมกลุ่มที่เข็มแข็ง มีประเด็นชัดอุดมคติแน่วแน่ สิ่งเหล่านี้จะทำให้การเมืองแบบคู่ขนานเกิดขึ้นได้ การปฏิรูปการเมืองจึงเป็นเรื่องของการที่เรามีประเด็นที่ยอมรับกันได้ทุกระดับ"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net