Skip to main content
sharethis


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

 


 


นักวิจัย นักคิด นักวิชาการ เห็นพ้องงานวิจัยท้องถิ่น ช่วยแก้ทุกปัญหาจากต้นเหตุ เน้นกระบวนการมีส่วนร่วม ทำให้ชาวบ้านรู้จักคิดและทำอย่างมีเหตุผล เป็นการเติมเต็มความสุข และเห็นคุณค่าให้กับตัวเอง จนก่อเกิดพลังขับเคลื่อนสังคม


 


นายปัญญา โตกทอง นักวิจัยจากโครงการวิจัยรูปแบบการจัดการน้ำโดยชุมชนแพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม กล่าวในการเสวนาพิเศษ เรื่อง "ชาวบ้านวิจัย...รากฐานใหม่ของสังคม" เนื่องในงานสัมมนาวิชาการ 10 ปี งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ที่ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ 9 อิมแพคเมืองทองธานี กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2552 ว่า ในอดีตก่อนที่ สกว.จะเข้ามาสนับสนุนให้ชาวบ้านทำงานวิจัยนั้น เมื่อเกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นในชุมชน ก็มักลุกลามกลายเป็นปัญหาทะเลาะเบาะแว้ง และวิวาทกัน โดยไม่มีการพูดจา หรือใช้เหตุผลแก้ปัญหา


 


แต่เมื่อ สกว.เข้ามาทำงานวิจัยปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น เรื่องน้ำ ที่แพรกหนามแดง ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างคน 2 ฝ่าย ก็ได้รับการแก้ไข ทำให้เป็นที่ตระหนักดีว่าปัญหาทุกอย่างสามารถแก้ไขได้ ด้วยการนำเอาคน 2 ฝ่าย มาเรียนรู้ร่วมกัน และที่น่าสนใจคือ กระบวนการที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหา ทุกฝ่ายต้องเรียนรู้ร่วมกันว่าจะใช้กระบวนการอะไร อย่างไร จึงจะแก้ปัญหาร่วมกันได้" และนอกเหนือจากทีมวิจัยแล้ว ส่วนที่จะขาดไม่ได้ก็คือพี่เลี้ยง ที่จะช่วยหนุนเสริม และเติมเต็มในสิ่งที่ยังขาด


 


นายเดช พุ่มคชา นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า งานวิจัยเป็นเรื่องเกี่ยวกับคน ทำให้คนมีความสุข จากประสบการณ์การทำงานพัฒนามา 30 กว่าปี พบความสุขมาเรื่อยๆ และถึงวันนี้ก็ต้องยอมรับว่า งานวิจัยคือตลาดแห่งความสุข และทำให้เกิดความงอกงามเล็กๆ เริ่มจากคน ทำให้คนมีปัญญา และนำไปสู่ความงอกงาม พัฒนาในทุกๆ ด้าน


 


การวิจัยสนใจกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ เพราะจุดสำคัญในกระบวนการ ตรงกับงานพัฒนา เชื่อว่าคนทุกคนมีความสามารถในตัวเอง และมีปณิธานให้ชาวบ้านเป็นผู้คิด ผู้ทำ ด้วยตนเอง แม้จะอาศัยพันธมิตร พี่เลี้ยง เป็นเพื่อนร่วมปฏิบัติการ แต่เขาจะเป็นแกนหลักที่สำคัญมากกว่า นอกจากนี้ยังต้องมีปฏิบัติการ ซึ่งแตกต่างจากงานวิจัยเก่า ที่มักจะไม่มีปฏิบัติการ ทำให้กลายเป็นวิจัยขึ้นหิ้ง


 


ในการทำวิจัย เปรียบเสมือนการเก็บดอกไม้ระหว่างทาง เช่น การปลุกจิตสำนึก ถ่ายทอดองค์ความรู้ ไม่ได้จ้องแต่ผลลัพธ์ปลายทาง ทุกคนที่ร่วมกระบวนการ เป็นเพื่อนร่วมคิด มิตรร่วมงาน ประสานการวิจัย นั่นทำให้งานวิจัยกับงานพัฒนาก้าวไปควบคู่กันได้ งานพัฒนาอาจทำให้เกิดความกดดัน เช่น การต่อสู้เรียกร้องให้เกิดการแก้ปัญหา แต่งานวิจัยจะช่วยเติมเต็มความสุข คืนความสุขให้กับคนได้ ทำให้คนรู้สึกว่าฉันมีศักดิ์ศรี มีเพื่อน และมีความสุขที่จะแก้ปัญหา


 


ดังนั้นเมื่อกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ให้ชาวบ้านเป็นพระเอกแล้ว ในอนาคตต้องคำนึงถึงพันธมิตร หรือพี่เลี้ยงด้วย เพราะทุกคนทุกส่วนต้องเดินไปด้วยกัน พร้อมๆ กัน เนื่องจากเป็นที่ยอมรับแล้วว่ากระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น เป็นคำตอบของประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ฐานราก แถมยังช่วยดึงดึงปัญญาชนลงสู่ชั้นล่าง ให้มาช่วยกันคิด ช่วยระดมด้านมันสมอง ว่าประเทศนี้จะอยู่รอดด้วยหมู่บ้านได้อย่างไร


 


ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า การเริ่มต้นจากความจริงในท้องที่ ว่ามีปัญหาอย่างนี้ ต้องแก้ไขอย่างไร ใช้เงื่อนไขของพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นคน ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ฯลฯ เป็นตัวกำหนด ทำให้การแก้ไขปัญหาสำเร็จ และงานวิจัยถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งในส่วนของ สกว.ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2535 ก็เพื่อตอบสนองความต้องการในด้านการแก้ไขปัญหา และพัฒนาท้องถิ่น


 


อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.ปิยะวัติ ยอมรับว่างานวิจัยที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ มีการกลายพันธุ์มาหลากหลายรูปแบบ หลายครั้งจากต้นแบบที่วางไว้ช่วงเริ่มแรก กระทั่งมีความเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ แต่ละปัญหาอย่างที่เห็น เช่น ปัญหาของเด็กในเมือง เป็นโจทย์ที่ซับซ้อน และก้าวหน้าไปอีกชั้นหนึ่ง แตกต่างจากเด็กในท้องถิ่นชนบท หรือเขตรอบนอก เพราะคนในเมืองมีบ้านอยู่กระจัดกระจาย ไม่มีความเป็นอยู่แบบชุมชนมากนัก เพียงแค่แชร์ที่อยู่อาศัยเท่านั้น ดังนั้นในการตั้งโจทย์วิจัย จึงอาจมีองค์กรท้องถิ่น เช่น เทศบาล อบต. เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย


 


ต่อมาเวทีเสวนาได้เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานได้ซักถาม หรือแสดงความคิดเห็น ซึ่งหลายคนให้ความคิดเห็นในแนวทางเดียวกันว่า งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น หรือ สกว. เหมือนดาบกายสิทธิ์ที่ใช้แล้วได้ผล แต่จะทำอย่างไรให้ลงสู่ท้องถิ่น โดยมี อบต. หรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ดึงไปใช้ ทำให้ดาบกายสิทธิ์เล่มเล็กๆ ลงไปสู่ท้องถิ่น โดยดึงทุนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติ มาแก้ไขสิ่งที่เรียกว่า "โง่ จน เจ็บ"


 


นายบุญมี โสภัง ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมนายฮ้อย จ.สุรินทร์ จากโครงการวิจัยการรื้อฟื้นภูมิปัญญานายฮ้อยวัว - ควาย ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพิ่มเติมในเวทีเดียวกันนี้ว่า ตั้งแต่ปี 2536 โครงการพัฒนาของรัฐ ทำให้น้ำจากเขื่อนราษีสไลท่วมหมู่บ้าน จนคนได้รับความเดือดร้อน ชาวบ้านจึงตั้งโจทย์ขึ้นว่าเมื่อน้ำท่วมจะอยู่อย่างไร วัวควายที่ขาดอาหารจะทำอย่างไร ชาวบ้านก็ทำงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เพื่อให้วัวควายอยู่ได้ คนอยู่ได้ ซึ่งเดิมชาวบ้านเคยต่อสู้ด้วยการออกมาเรียกร้อง นอนอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล แต่ก็ไม่เป็นผล รัฐไม่ได้ใส่ใจอย่างจริงจัง หากเมื่อหันมาทำการวิจัย ชาวบ้านก็ได้คำตอบ แก้ไขปัญหาท้องถิ่นของตนเองได้


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net