ทีมข่าวอิศรา: อภิสิทธิ์"เปิดใจยอมรับหนักใจภารกิจดับไฟใต้ พ้ออยู่จนครบวาระก็ยังไม่สงบ

ทีมข่าวอิศรา

โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา

"อภิสิทธิ์"เปิดใจยอมรับหนักใจภารกิจดับไฟใต้ ไม่สามารถเนรมิตให้ปัญหาจบในระยะเวลาสั้นๆ พ้ออยู่จนครบวาระก็ยังไม่สงบ เหตุปัญหาฝังรากลึกมานาน ซ้ำช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาดำเนินนโยบายไม่ถูกต้อง ใช้ความรุนแรงเข้าเผด็จศึก ทำให้ความรุนแรงหวนกลับมา ประกาศเดินหน้าอัดงบพัฒนา 7.6 หมื่นล้านลงพื้นที่ พร้อมทุ่มงบกลางปี 1.1 พันล้านจ่ายเบี้ยเสี่ยงภัยให้ข้าราชการ เตือนฝ่ายความมั่นคงต้องอธิบายความจำเป็นให้ได้หากจะต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯครั้งที่ 15 กลางเดือน เม.ย. ย้ำตัวชี้วัดสถานการณ์ดีขึ้นจริง คือสามารถลดกำลังพลในพื้นที่ลงได้

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "วิกฤติชายแดนใต้จะยุติลงได้อย่างไร" ในงานสัมมนาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2552

นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งว่า ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ฝังรากลึกมานาน แต่หลายยุคหลายสมัยที่ดำเนินนโยบายถูกต้อง ก็สามารถลดปัญหาไปได้มาก ขณะที่ตลอดช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เราไม่มีโอกาสได้สัมผัสบรรยากาศเหล่านั้น เพราะมีหลายเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น และทำให้ปัญหาทวีความรุนแรงมากกว่าเดิม

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ตั้งแต่เข้ามาเป็นนายกฯรู้สึกหนักใจมาก เพราะรู้ว่าหลายครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบาย สังคมมักคาดหวังว่าจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาภาคใต้อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรมและรวดเร็วทันใจ แต่เชื่อว่าหลายคนที่ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อยู่ตลอด ย่อมรู้ว่าเป็นไปไม่ได้

"ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในยุคหนึ่งเพราะคิดว่าปัญหาลดน้อยลงแล้ว จึงใช้ความรุนแรงเข้าเผด็จศึก จริงๆ มันไม่ใช่ และกลายเป็นจุดพลิกผันที่ทำให้ความรุนแรงหวนกลับมา ดังนั้นเราไม่สามารถเนรมิตปัญหาให้จบลงในเวลาสั้นๆ แต่ต้องทำงานอย่างต่อเนื่องต่อไป" นายกฯ กล่าว

เขาอธิบายว่า รัฐบาลจะเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยจัดตั้งองค์กรเฉพาะขึ้นมาบริหารและดูแลพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งต้องเชื่อมโยงกลับมาสู่ฝ่ายการเมืองและฝ่ายนโยบายเป็นหลักเพื่อให้มีหลักประกันเรื่องความรับผิดชอบ หลังจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ถูกยกเลิกไป และเพิ่งฟื้นขึ้นมาใหม่ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ แต่ก็ยังไม่สามารถเป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้เร่งรัดเรื่องการจัดงบกลางปีจำนวน 1,100 ล้านบาท เพื่อจ่ายเป็นเบี้ยเสี่ยงภัยให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2,500 บาทต่อเดือน และกำลังเร่งเสนอเรื่องเพื่อพิจารณาอนุมัติอีก 800 ล้านบาท ส่วนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ต่อไปหากผู้รับเหมาโครงการไหนทิ้งงาน ก็จะมอบหมายให้ทหารช่างลงไปก่อสร้างแทน ห้ามถอนงบประมาณออกจากพื้นที่อย่างเด็ดขาด

ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว คณะรัฐมนตรีชุดพิเศษ (ครม.ดับไฟใต้) ได้อนุมัติกรอบงบประมาณเอาไว้ 7.6 หมื่นล้านบาท เพื่อดำเนินยุทธศาสตร์พัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี 2553-2555

ขณะเดียวกันจะมีการทบทวนกฎหมายพิเศษที่บังคับใช้อยู่ในพื้นที่ โดยเฉพาะการต่ออายุการใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งต้องยอมรับตามตรงว่าการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ครั้งที่ 14 เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ครม.ไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะเพิ่งเข้ามาบริหารงาน จึงต้องอนุมัติตามที่ฝ่ายปฏิบัติเสนอ แต่ได้ตั้งข้อสังเกตไปแล้วว่า การต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯทุกครั้งไม่สามารถอธิบายได้ นอกจากบอกว่าสถานการณ์ในพื้นที่ยังไม่สงบ

ดังนั้นการเสนอต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯในเดือน เม.ย.นี้ ฝ่ายปฏิบัติต้องอธิบายให้ได้ และทบทวนภาพรวมทั้งหมดว่ากฎหมายต่างๆ ที่ใช้ในพื้นที่นั้น ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใด และมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน

"หากดูสถิติในพื้นที่จะพบว่าความถี่ในการก่อเหตุการณ์ความไม่สงบลดลง แต่ต้องใช้กำลังเจ้าหน้าที่และงบประมาณลงไปมหาศาล ซึ่งจะทำอย่างนี้ตลอดไม่ได้ เพราะจะสามารถทำได้แค่ตรึงสถานการณ์เอาไว้ แต่การพัฒนาและการสร้างความยุติธรรมทำไม่ได้จริง ดังนั้นในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.รมน.) ได้เน้นย้ำฝ่ายปฏิบัติชัดเจนว่า ตัวชี้วัดว่าสถานการณ์ดีขึ้นที่สุดคือการสามารถลดกำลังพลในพื้นที่ได้มากขึ้น เมื่อไหร่ที่เรามีความมั่นใจในการถอนกำลัง นั่นหมายถึงจุดเริ่มต้นของความสงบสุข"

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า สำหรับการแก้ปัญหาในมิติด้านการต่างประเทศ ขณะนี้ทางการมาเลเซียและอินโดนีเซียเข้าใจว่าปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาภายในของไทย แต่ก็พร้อมสนับสนุนและให้ความร่วมมือในการคลี่คลาย โดยรัฐบาลชุดนี้ไม่ปิดกั้นการทำหน้าที่ขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ ทุกองค์กร

"ถ้ามีโอกาสผมจะนำ ครม.และผู้ปฏิบัติงานลงไปเยี่ยมประชาชนในพื้นที่ พร้อมรับฟังปัญหาต่างๆ เพื่อนำมาปรับแนวทางการทำงาน สมมุติว่าผมอยู่ได้ครบวาระตามรัฐธรรมนูญ (อีกเกือบ 3 ปี) เวลาที่มีก็ยังไม่พอที่จะทำให้ปัญหาภาคใต้สงบลงได้ อีกทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง มักถูกฝ่ายตรงข้ามตอบโต้อย่างแรงเป็นพิเศษ แต่เราก็จะเชื่อมั่น อดทน และสานต่อแนวทางนี้ต่อไป" นายกฯ กล่าวในที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท