Skip to main content
sharethis

(1 เม.ย.52) จากกรณีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีมติอนุมัติปรับขึ้นอัตราค่าผ่านท่อก๊าซให้กับ ปตท.จากเดิมที่จัดเก็บในอัตรา 19.74 บาทต่อล้านบีทียู เป็น 21.76 บาทต่อล้านบีทียู หรือเพิ่มขึ้น 2.02 บาท ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2552 นี้


 


น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เรื่องอัตราค่าผ่านท่อก๊าซนี้จริงๆ อัตราที่ใช้ในปัจจุบันก็ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอยู่แล้ว เพราะคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้กำหนดให้ค่าผ่านท่อเป็นค่าคงที่ตลอดอายุโครงการ ทำให้ในแต่ละปี ปตท. ได้กำไรส่วนเกินไปปีละกว่า 2,500 ล้านบาท และจากที่ผ่าน ๆ มาได้มีการประมาณการตัวเลขการใช้ก๊าซที่น้อยกว่าการใช้ก๊าซที่เกิดขึ้นจริง ส่งผลให้การกำหนดราคาค่าผ่านท่อสูงเกินจริง ส่วนต่างที่เกิดขึ้นตรงนี้นับเป็นเงินหลายหมื่นล้านซึ่ง ปตท.ได้ไป


 


หากจะมีการคิดปรับราคาค่าผ่านท่อก๊าซจริงๆ ก็ควรจะเป็นการปรับลดมากกว่าปรับเพิ่ม ด้วยเหตุผลหลักๆอยู่สองประการคือ ปตท.คิดอัตราผลตอบแทนการลงทุน (Return of Equality : ROE)สูงกว่าค่ามาตรฐาน คือคิดถึงร้อยละ 18 ทั้งที่ควรจะคิดเพียงเป็นร้อยละ 14 เท่านั้น และการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาว 40 ปีไว้ในอัตราคงที่สูงถึงร้อยละ 10.5 ทั้งที่ความเป็นจริงอัตราดอกเบี้ยมีการปรับลดตลอดเวลา การคิดค่าผ่านท่ออยู่บนฐานอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินจริงขนาดนี้ ทำให้ปตท.ได้ผลประโยชน์ไปมาก น.ส.สารี กล่าว


 


น.ส.สารี กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ได้มีการคำนวณกันไว้ว่า หากมีการปรับลดค่า ROE เป็น 14% และอัตราดอกเบี้ยที่ควรจะเป็นคือ 5.75% มูลค่าก๊าซจะลดลงมากถึง 3,800 ล้านบาท และค่าบริการต้นทุนคงที่ (Demand Charge) ซึ่งเป็นสัดส่วนส่วนใหญ่ของราคาค่าส่งท่อก๊าซจะสามารถลดลงจากเดิม 19.40 บาทเป็น 13.13 บาทต่อล้านบีทียูเท่านั้น


 


สิ่งที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภคมากที่สุดของการปรับขึ้นค่าผ่านท่อก๊าซครั้งนี้ คือ ปตท.ได้มีการปรับมูลค่าท่อก๊าซใหม่สูงถึง 60,000 ล้านบาท ทั้งที่ความเป็นจริงมูลค่าท่อก๊าซที่เหลืออยู่มีเพียง 32,000 ล้านบาทเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาได้มีการจ่ายมูลค่าท่อตรงส่วนนี้ไปแล้ว คิดง่ายๆ ว่าเหมือนเราจ่ายเงินซื้อของไปหมดแล้วสมมุติว่า 100 บาท แต่ได้มีการประเมินว่าของนั้นยังมีมูลค่าอีก 50 บาท ก็มาเก็บเงินเรา 50 บาทอีกรอบ


 


นอกจากนี้ ปตท.ยังไม่คืนทรัพย์สินที่ใช้อำนาจมหาชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นท่อส่งก๊าซธรรมชาติและนับเป็นการนำทรัพย์สินประชาชนมาหากำไรกับประชาชน เรื่องนี้ถือเป็นการเอาเปรียบประชาชนที่สุด ถือเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ น.ส.สารี กล่าว


 


น.ส.สารี กล่าวทิ้งท้ายว่า การที่ กกพ.ได้อนุมัติอัตราค่าผ่านท่าก๊าซให้กับปตท. ครั้งนี้ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เหตุผลในการขึ้นไม่ชอบ และไม่รักษาผลประโยชน์ของสาธารณชน หากวันที่ 1 เม.ย.นี้ กกพ.ยืนยันการคิดอัตราค่าผ่านท่อก๊าซใหม่จริง และมีผลบังคับใช้ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน คือค่าเอฟที (Ft) จะเพิ่มขึ้นทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น ซึ่งทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภคจะเข้ายื่นเรื่องฟ้องต่อศาลปกครองและจะขอให้มีการคุ้มครองให้มีการระงับการอนุมัติปรับขึ้นอัตราค่าผ่านท่อก๊าซดังกล่าวของ กกพ.เพราะถือเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เอาเปรียบประชาชนผู้บริโภค และจะดำเนินการเรื่องนี้ให้ถึงที่สุด


 


 


ที่มา: http://www.newspnn.com/V2008/detail.php?code=n6_01042009_01

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net