Skip to main content
sharethis

(1 เม.ย.52) แนวร่วมนักวิชาการ- ชนชั้นกลาง- ชุมชนสื่อทางเลือก กล่าวคำแถลง ระบุ 2 เรื่อง คือ 1.บทบาทอันตรายของสื่อโทรทัศน์กับการปฏิรูปสื่อมวลชนไทย และ 2.การขัดขวางการปฏิรูปการเมืองโดยการอ้างใช้สถาบันพระปกเกล้าฯ บนเวที แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา


 


ระบุ สื่อมวลชนสาขาโทรทัศน์กำลังแสดงบทบาทในการลิดรอนจำกัด "สิทธิในการรับรู้ข่าวสารสาธารณะ" ของประชาชน โดยการปกปิดข่าวความเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนเสื้อแดง การตัดทอนรายงานข่าว และนำเสนอการบรรยายข่าวในทิศทางที่ลำเอียงสื่อความหมายที่ลดทอนความชอบธรรมทางการเมืองของคนเสื้อแดง ซึ่งบทบาทดังกล่าวเป็นอันตรายทั้งต่อสถาบันสื่อมวลชนเอง และเป็นการคุกคามประชาชนเจ้าของประเทศ


 


ส่วนรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์กับผู้บริหารสถาบันพระปกเกล้าฯ พยายามจะล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน คือ "ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คปพร." โดยจะให้สถาบันพระปกเกล้าฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานกึ่งราชการ กึ่งวิชาการ เข้ามาชี้นำการปฏิรูปประชาธิปไตยโดยอาศัยอำนาจรัฐที่ยึดครองมาได้ในปัจจุบัน


 


"แนวร่วมภาคประชาชนในที่นี้ขอแถลงว่าสถาบันพระปกเกล้าฯ ไม่ต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองเพราะบุคคลและบรรดาภูมิปัญญาที่แวดล้อมสถาบันดังกล่าวไม่ได้ฉลาด สูงส่ง หรือจริงใจต่อประชาธิปไตยมากเท่าภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวสนับสนุนคนเสื้อแดงอยู่ทั่วประเทศในปัจจุบัน" คำแถลงระบุ


 


ทั้งนี้ คณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ (คปพร.) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของ 35 องค์กร นำโดย นพ.เหวง โตจิราการ, นายจรัล ดิษฐาอภิชัย และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) เก่า ได้นำเสนอวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 โดยให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาเป็นหลัก และทำการรวบรวมรายชื่อประชาชนโดยระบุว่ามีกว่าสองแสนรายชื่อเมื่อเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2551 เพื่อประกอบในการยื่นญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ตามมาตรา 291 (1) ต่อประธานรัฐสภา


 


ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ (พรรคฝ่ายค้านขณธนั้น) และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ออกมาคัดค้านพร้อมระบุว่าเป็นความไม่จริงใจในการแก้รัฐธรรมนูญของรัฐบาล เนื่องจากร่างดังกล่าวยกฉบับปี 40 มาทั้งฉบับ ไม่มีมาตรา 237 เกี่ยวกับคดียุบพรรค และมาตรา 309 เรื่องการเอาผิดคดีทุจริตของอดีตผู้นำ


  


 


 


 


 


 


คำแถลง


แนวร่วมนักวิชาการ - ชนชั้นกลาง - ชุมชนสื่อทางเลือก


 


 


เรื่อง      1. บทบาทอันตรายของสื่อโทรทัศน์กับการปฏิรูปสื่อมวลชนไทย


            2. การขัดขวางการปฏิรูปการเมืองโดยการอ้างใช้สถาบันพระปกเกล้าฯ


 


1. สื่อมวลชนสาขาโทรทัศน์ (ช่อง 3 / 5 / 7 / 9 / 11 และไทยพีบีเอส) กำลังแสดงบทบาทในการลิดรอนจำกัด "สิทธิในการรับรู้ข่าวสารสาธารณะ" ของประชาชน โดยการปกปิดข่าวความเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนเสื้อแดง โดยการตัดทอนรายงานข่าว และนำเสนอการบรรยายข่าวในทิศทางที่ลำเอียงสื่อความหมายที่ลดทอนความชอบธรรมทางการเมืองของคนเสื้อแดงซึ่งดำเนินกิจกรรมปฏิรูปประชาธิปไตยอยู่มากมายทั่วประเทศ


 


บทบาทของสื่อโทรทัศน์ดังกล่าวเป็นอันตรายทั้งต่อสถาบันสื่อมวลชนเอง และเป็นการคุกคามประชาชนเจ้าของประเทศ


 


2. การปฏิรูปการเมืองโดยประชาชนเจ้าของประเทศได้เริ่มต้นขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการ นับเป็นครั้งแรกที่ประชาชนร่วมกันเสนอ "ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" ที่ร่างโดยประชาชน เป็นของประชาชน เพื่อประชาชนด้วยตนเองให้รัฐสภาพิจารณาดำเนินการ คือ "ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คปพร."


 


แต่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์กับผู้กุมอำนาจบริหารสถาบันพระปกเกล้าฯ ได้ "เสือกขาเข้ามาขัด" พยายามจะล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนโดยจะให้สถาบันพระปกเกล้าฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานกึ่งราชการ กึ่งวิชาการ เข้ามาชี้นำการปฏิรูปประชาธิปไตยโดยอาศัยอำนาจรัฐที่ยึดครองมาได้ในปัจจุบัน


 


แนวร่วมภาคประชาชนในที่นี้ขอแถลงว่าสถาบันพระปกเกล้าฯ ไม่ต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองเพราะบุคคลและบรรดาภูมิปัญญาที่แวดล้อมสถาบันดังกล่าวไม่ได้ฉลาด สูงส่ง หรือจริงใจต่อประชาธิปไตยมากเท่าภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวสนับสนุนคนเสื้อแดงอยู่ทั่วประเทศในปัจจุบัน


 


วันที่ 31 มีนาคม 2552


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net