Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


จอม เพชรประดับ   

 


 


วันที่ 1 เมษายน 2552 เป็นวันข้าราชการพลเรือน และเป็นวันแรกของการเปลี่ยนโฉมหน้า จาก สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที. หรือสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ (National Broadcasting Service of Thailand) ที่เคยยึดครองโดยรัฐบาลพรรคพลังประชาชน มาเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ โดยรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีทั้งความแตกต่าง และความเหมือน


 


ความแตกต่างของการเข้ามากำกับดูแลสื่อของรัฐระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคพลังประชาชน คือ พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศเป็นนโยบายอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นว่า จะให้สื่อของรัฐ เป็นสื่อเพื่อประโยชน์สาธารณะ รับใช้ประชาชนและประเทศชาติมากกว่าเป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือใช้เป็นกระบอกเสียงตอบโต้ทางการเมือง รวมทั้งให้ความเป็นอิสระในการนำเสนอข่าวอย่างสร้างสรรค์


 


ขณะที่พรรคพลังประชาชน แม้จะไม่ได้ประกาศนโยบายอย่างชัดเจนเป็นทางการ แต่ก็มอบหมายนโยบายให้ผู้บริหารกรมประชาสัมพันธ์ว่า จะต้องปรับเปลี่ยนโฉมหน้าของสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ให้เป็น เอ็นบีที. (ตามชื่อเดิมที่มีใช้อยู่แล้ว) ให้มีความทันสมัย สลัดรูปแบบการนำเสนอข่าวที่เป็นทางการ สร้างความฉับไว ให้เกิดความน่าสนใจและต้องแข่งขันกับช่องอื่นได้ รวมทั้งให้อิสระในการนำเสนอข่าวสารอย่างเต็มที่


 


และเป็นโอกาสเดียวกันกับที่คนข่าวไอทีวี ที่แตกกระสานซ่านเซ็นมาจาก ทีไอทีวี คุณสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ขณะนั้นจึงได้เชิญชวน รวบรวมอดีตนักข่าวไอทีวีมาร่วมกันพลิกโฉมช่อง 11 เสียใหม่


 


ความคิดของคุณสมัคร สุนทรเวช ในเวลานั้นคือ เสียดายความเป็นนักข่าวมืออาชีพที่มีประสบการณ์ และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ เป็นที่ยอมรับของสังคม แต่พวกเขามีความผิดอะไรที่ต้องถูกให้ออกจากงานอย่างไม่เป็นธรรม หากให้เหตุผลเพราะว่า รับใช้ระบอบทักษิณ ทุกช่องต่างก็รับใช้ระบอบที่ตัวเองสังกัดกันอยู่ทั้งนั้น รวมทั้งเพราะอะไร ไอทีวีจึงต้องถูกทำลายไปพร้อม ๆ กับการทำลายล้างกันทางการเมือง จนสุดท้ายประชาชนต่างหากที่เป็นฝ่ายเสียประโยชน์


 


อย่างไรก็ตามคำถามที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ การเชื้อเชิญจากฝ่ายการเมืองที่กำลังทำสงครามแย่งอำนาจกันอยู่นั้น จะมีหลักประกันอะไรที่จะไม่ใช้ อดีตคนข่าวไอทีวี เป็นกระบอกเสียงและเป็นเครื่องมือทางการเมือง


 


คุณสมัครยืนยันต่อข้อกังขานี้ว่า จะให้ความเป็นอิสระในการทำงานของทีมข่าวไอทีวีอย่างเต็มที่ เหมือนที่ไอทีวีเคยเป็นมา และก็เชื่อด้วยว่า คนไอทีวี คงไม่ยอมให้ใครมาจูงจมูก หรือใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองด้วย ดังนั้นคำถามที่ย้อนกลับมาสู่อดีตนักข่าวไอทีวีก็คือว่า พวกเราจะยอมกลืนน้ำลายตัวเอง และยอมตกเป็นครื่องมือทางการเมืองหรือไม่


 


เพื่อให้เกิดความมั่นใจ ผม พร้อมด้วยทีมงาน "ตัวจริงชัดเจน" จึงได้ขอเข้าพบกับคุณจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์เวลานั้น เพื่อขอความยืนยัน ถึงหลักประกันความเป็นอิสระในการปฎิบัติหน้าที่ และหลักประกันในการทำงานข่าวอย่างเป็นธรรมและเป็นกลาง ซึ่งก็ได้รับคำตอบเป็นที่น่าพอใจจากคุณจักรภพว่า พวกเรายังมีอิสระในการทำข่าวอย่างมืออาชีพ อย่างที่เคยเป็นมา มีความเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง และคล่องตัว และนี่คือเหตุผลสำคัญที่รัฐบาลพลังประชาชน เลือกให้อดีตคนข่าวไอทีวี เข้ามาช่วยพัฒนาและปรับปรุงหน้าจอ ช่อง 11 ซึ่งเหตุผลนี้เคยถูกกล่าวอ้างมาแล้วตอนเปลี่ยนทีไอทีวี เป็นทีวีสาธารณะ แต่สุดท้ายก็กลายเป็นการโกหกคำโต


 


คุณจักรภพ ยังให้หลักประกันกับทีมงาน "ถามจริงตอบตรง" (ชื่อรายการใหม่แทน "ตัวจริงชัดเจน") ด้วยว่า "หากมีความพยายามในการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ขอให้แจ้งให้ผมทราบ ผมจะช่วยแก้ปัญหาให้"


 


นอกจากคำขอบคุณที่ยังคงเห็นคุณค่าในผลงานของพวกเรา ผมยังได้ตอกย้ำและยืนยันกับคุณจักรภพไปด้วยว่า พวกเรามีบทเรียนมาแล้วกับความพยายามที่จะใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง และบทเรียนเหล่านั้นก็ล้ำค่ามากพอที่พวกเราจะไม่เลือกหรือนำมาทำลายตัวเองอีกครั้ง


 


แต่ความเปลี่ยนแปลงและการไม่ตั้งมั่นอยู่บนสัจจะก็เกิดขึ้นอีก ตั้งแต่วันแรกของการเปิดสถานีโทรทัศน์ เอ็นบีที. และเปิดตัวรายการ "ถามจริง/ตอบตรง" โดยทีมงานเห็นว่า วันแรกและวันที่สองของการเปิดรายการ ควรเชิญนายกรัฐมนตรี คือคุณสมัคร สุนทรเวช ในฐานะผู้นำรัฐบาลมาเปิดรายการเป็นคนแรก และวันที่สองจะเป็นคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และจะได้เห็นความคิดความอ่านของฝ่ายการเมืองทั้งสองด้าน เพราะทีมงานเห็นว่า นับจากนี้ไป ปัญหาการเมืองควรที่จะให้นักการเมืองในระบบสภา พูดคุยกัน เสนอทางออกร่วมกัน มากกกว่าที่นำพลังมวลชนมาเรียกร้องต่อสู้กันบนท้องถนน


 


แต่โชคร้าย คุณสมัครเกิดป่วยกระทันหัน ไม่สามารถมาร่วมรายการได้ ทีมงานจึงกำหนดประเด็นใหม่ ในวันเปิดตัวสถานีวันแรก นั่นคือให้เป็นเรื่อง "การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มุมมองจากฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล" โดยเชิญตัวแทนพรรครัฐบาล และพรรคฝ่ายค้านมาร่วมพูดคุย ทางฝ่ายรัฐบาลไม่มีปัญหา แต่เมื่อเชิญฝ่ายค้านและได้รับการตอบรับจากคุณจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ มาร่วมรายการด้วย


 


แต่ผู้บริหารสถานี และอดีตกลุ่มคนไอทีวีกลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วยที่จะให้ตัวแทนพรรคฝ่ายค้านมาออกรายการ  "ถามจริงตอบตรง" ในวันแรกของการเปิดสถานีเอ็นบีที โดยเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม และไม่ให้เกียรติกับรัฐบาล "เมื่อคุณสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี มาเป็นแขกรับเชิญไม่ได้ ก็ควรจะให้คุณจักรภพ เพ็ญแข มาแทน เพราะเป็นรัฐมนตรีที่ดูแลกรมประชาสัมพันธ์ รวมทั้งเป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มในการปรับเปลี่ยนสถานีโทรทัศน์ช่องนี้" นี่คือเหตุผลที่เขาไม่เห็นด้วย ทั้งๆ ที่ตลอดทั้งวันของการเปิดสถานีเอ็นบีที.คุณจักรภพ ให้สัมภาษณ์เกือบตลอดทั้งวันอยู่แล้ว


 


ก่อนหน้านั้น ผมเองก็มีข้อโต้แย้งกับกลุ่มอดีตคนข่าวไอทีวี เหมือนกันที่ผันตัวเองมาทำธุรกิจสื่อร่วมกับฝ่ายการเมือง โดยคนกลุ่มนี้เห็นว่า เมื่อทุกอย่างเปลี่ยนไป จะทำข่าวอย่างที่เคยทำ เคยมี และเคยเป็นเหมือนอยู่ไอทีวีไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะมันจบไปแล้ว ผมเองไม่ได้ปฎิเสธว่า ทุกอย่างมันจบไปแล้ว แต่หากคิดและทำเช่นนี้ ก็เป็นการทำลายความศรัทธาที่ประชาชนเคยมี แล้วเราจะตอบคำถามความเป็นคนข่าวที่ไร้อุดมการณ์ และถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้อย่างไร รวมทั้งเหตุผลที่ คุณสมัคร สุนทรเวช หรือแม้แต่ คุณจักรภพ เพ็ญแข เชิญมาทำข่าวที่เอ็นบีที ก็เพราะความเป็นอิสระ คล่องตัว ฉับไว และการทำข่าวอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่คิดว่าตัวเองอยู่ข้างใดหรือกลุ่มไหน ไม่ใช่หรือ


 


การโต้เถียงยังไม่จบ ซึ่งผู้บริหารสถานีทั้งฝ่ายกรมประชาสัมพันธ์ และฝ่ายนักธุรกิจสื่อ ก็ไม่ยอมที่จะให้เชิญฝ่ายค้านมาออกรายการ ผมก็ยืนยันกลับไปว่า ก็ไหนว่าจะให้อิสระ และเสรีภาพในการทำข่าว ไม่ได้เป็นจริงอย่างที่พูดแม้แต่น้อย แต่ผู้บริหารสถานีฯ ก็ยังยืนยันว่า "ถ้าทำไม่ได้ตามที่สั่ง ก็ไม่ต้องทำ" ผมก็บอกว่า "ถ้าเป็นแบบนี้ ทำไมไม่ทำเสียเอง มาให้ผมทำทำไม ผมไม่มีความสุขที่จะทำต่อไป"


 


สุดท้ายต้องมาพบกันครึ่งทางคือ การให้คุณจักรภพ เพ็ญแข ออกรายการในวันแรกและวันรุ่งขึ้น จะต้องให้ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาออกรายการต่อ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการเป็นสื่อของรัฐตามที่ผมยืนยันกลับไป ซึ่งผมเองต้องโทรศัพท์ไปขอโทษ และขอยกเลิกคุณจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ ที่ติดต่อไว้ในตอนแรก ต้องขอบคุณคุณจุรินทร์ที่เข้าใจ (ว่าสุดท้ายก็ถูกแทรกแซง และไม่มีอิสระอยู่ดี)


 


แต่ปัญหาก็ยังไม่จบสิ้น เมื่อถึงวันที่คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะมาออกรายการ ทางสถานีก็มีปัญหาอีก โดยมาบอกยกเลิกรายการในตอนเย็นของวันที่จะออกอากาศ ทั้งๆ ที่ คุณอภิสิทธิ์ กำลังเดินทางมาออกรายการอยู่แล้ว (ทราบภายหลังว่า คุณอภิสิทธิ์ โกรธมาก) จึงเป็นงานหนักของผมและทีมงานที่จะต้องอธิบายให้ผู้บริหารสถานีเข้าใจ แต่ก็ยังคงได้รับคำยืนยันว่า ไม่มีรายการในวันนั้นอยู่ดี ผมจึงต้องทำหนังสือขอโทษ และเดินทางไปที่พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อยื่นหนังสือขอโทษด้วยตัวเองกับคุณอภิสิทธิ์ และกำหนดวันเวลาเพื่อออกรายการกันใหม่ จนสุดท้าย ทางรายการก็สามารถเชิญคุณอภิสิทธิ์ออกอากาศในที่สุด และมีการเชิญคุณอภิสิทธิ์มาออกรายการมากกว่า 2 ครั้ง


 


นี่คือปฐมบทของการแทรกแซงและการยอมถูกแทรกแซงของคนทำสื่อเอง นับจากนั้นเป็นต้นมา รายการ  "ถามจริงตอบตรง" จึงเป็นเหมือน "ของแสลงคอยแทงใจ" ผู้บริหารสถานีฯ และพรรคพลังประชาชน เพราะไม่เฉพาะแต่การเชิญรัฐบาล ภาคประชาชน นักวิชาการที่มองต่างกันมาออกรายการเท่านั้น แต่ยังเชิญ ตัวแทนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมาออกรายการเป็นระยะ ๆ ด้วย ไม่ว่า คุณพิภพ ธงไชย คุณวีระ สมความคิด คุณศิริชัย ไม้งาม หรือกลุ่มองค์กรที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล


 


จนสุดท้าย รายการ "ถามจริง ตอบตรง" ก็ถูกปรับลดเวลาลงจาก 5 วัน เหลือ 3 วัน และเปลี่ยนรายการจาก "ถามจริงตอบตรง" มาเป็น รายการ " the exit ทางออกสังคมไทย" โดยให้นโยบายใหม่ว่า อย่าเล่นประเด็นข่าวที่เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง (อาจเป็นความหวังดีของผู้บริหารสถานี ที่ไม่อยากให้ผมเดือดร้อนไปมากกว่านี้ก็ได้)


 


เมื่อเข้าสู่ยุคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล เอ็นบีทีต้องปรับโฉมหน้าใหม่อีกครั้ง เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ นโยบาย "ต้องไม่เล่นข่าวความขัดแย้งทางการเมือง หรือความเห็นที่ขัดแย้งแตกแยกทางการเมือง" ก็ยิ่งชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งๆ ที่เป็นวิกฤตหนักที่สุดของชาติ


 


คุณสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่กำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ หรือเอ็นบีที ต่างจาก คุณจักรภพ เพ็ญแข คุณจักรภพจะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการผังรายการ หรือพิจารณาว่า รายการไหนอยู่ รายการไหนไป หรือใครจะทำต่อหรือไม่ทำต่อ แต่คุณสาทิตย์เข้ามาพร้อมกับแบ็คลิสต์ว่า คนไหนควรอยู่ต่อ หรือคนไหนควรไป และมีลิสต์อยู่ในมือด้วยเช่นเดียวกันว่า บริษัทไหน หรือใครควรที่จะเข้ามาทำรายการ แม้ว่า คนๆ นั้นเป็นคนที่มีภาพของความขัดแย้ง เป็นคนที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกันกับที่คุณสาทิตย์อ้างเพื่อล้างความเป็นเอ็นบีที (นี่คือการแก้ปัญหาแบบสองมาตรฐาน) นั่นเท่ากับว่าคุณสาทิตย์เข้ามาทำหน้าที่เหมือนเป็นผู้อำนวยการสถานี ไม่ใช่ผู้กำกับดูแลในเชิงนโยบาย


 


นโยบายสำคัญของความเป็น "สถานีโทรทัศน์แห่งชาติ" คือการให้เป็นสถานีโทรทัศน์ที่สร้างสรรค์ นำพาประเทศชาติให้ผ่านพ้นวิกฤต และเป็นทีวีของคนไทยทั้งชาติ โดยมุ่งเน้นเนื้อหาสาระเพื่อการแก้ปัญหาของชาติบ้านเมืองตามแนวทางของรัฐบาล โดยเฉพาะวิกฤตเศรษฐกิจ หรือปัญหาด้านอื่นๆ ของสังคม แต่ไม่ควรเล่น หรือเสนอประเด็นที่เกี่ยวข้องความขัดแย้งทางการเมือง หรือการจะนำไปสู่ความไม่สมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ (เหตุผลเดียวกันเมื่อครั้ง คมช. ยึดไอทีวีหลังการทำรัฐประหาร)


 


นับเป็นนโยบายที่ดีที่สถานีโทรทัศน์แห่งชาติจำเป็นต้องทำ แต่ก็ต้องไม่ปฎิเสธ และต้องยอมรับความเป็นจริงด้วยเช่นกันว่า วิกฤตที่หนักกว่า รุนแรงกว่า และสาหัสสากรรจ์ที่สุดในสังคมไทยเวลานี้คือ ความแตกแยกและความขัดแย้งทางการเมือง หากวิกฤตนี้ไม่ถูกคลี่คลาย ก็เป็นเรื่องยากที่จะฟันฝ่าวิกฤตอื่นๆ ของชาติไปได้ รวมทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ


 


สถานีโทรทัศน์แห่งชาติ จะต้องไม่มองข้ามวิกฤตการเมืองหรือความขัดแย้งทางการเมือง เพียงเพราะว่าจะกระทบต่อเสถียรภาพของตัวเอง รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ต้องยอมรับความจริงว่า เสียงหรือน้ำหนักในคำพูดของรัฐบาลนี้ไม่มีความชอบธรรมมากพอที่จะทำให้คนไทยทั้งชาติเชื่อมั่น สร้างความสามัคคี และเกิดการปรองดอง เพื่อจะนำไปสู่การแก้วิกฤตทางการเมือง และวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศได้


 


แม้ว่ารัฐบาลประชาธิปัตย์พยายามหลีกเลี่ยงที่จะสร้างเงื่อนไข ไม่ให้กลุ่มเสื้อแดงหยิบขึ้นมาเป็นเชื้อ จุดประกายไฟเผารัฐบาล แต่แค่นี้คงไม่พอ ต้องแสดงออกหรือยอมรับอย่างจริงใจว่า ในความไม่ชอบธรรมที่รัฐบาลนี้มี แต่รัฐบาลนี้ก็พร้อมที่จะเสียสละเพื่อให้ชาติบ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ หากยังหยิ่งทะนงในอำนาจ แม้จะไม่ถึงขั้นเหลิงอำนาจเหมือนรัฐบาลของคุณทักษิณที่ผ่านมา แต่ก็เป็นจุดเสี่ยงสำคัญของความไร้เสถียรภาพที่อาจจะเกิดขึ้นกับรัฐบาลประชาธิปัตย์ได้ในอนาคต


 


รัฐบาลประชาธิปัตย์ จะต้องแสดงสปิริตทางการเมืองให้เห็น ทั้งจากการเปิดใจกว้างรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ มีน้ำใจเป็นประชาธิปไตย และต้องเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มได้ร่วมเสนอความคิดเห็น เพื่อช่วยกันซ่อมสร้างประเทศ ซึ่งเป็นบ้านของพวกเราทุกคน


 


ดังนั้น สถานีโทรทัศน์แห่งชาติ จึงมีภารกิจไม่เพียงแต่จะมุ่งแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจเท่านั้น แต่จะต้องเป็นสถานีข่าวสารที่ต้องสร้างความเป็นธรรม เป็นกลางให้กับความเห็นต่างทางการเมือง ให้ประชาชนแต่ละฝ่าย แต่ละกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ได้มีพื้นที่แสดงออกซึ่งความเห็นของตัวเอง การไปขีดเส้นหรือวางกรอบว่า สถานีโทรทัศน์แห่งชาติ จะต้องนำเสนอแนวนโยบายเพื่อการแก้ปัญหาของประเทศชาติ หรือมุ่งแต่จะเสนอแนวทางการแก้ปัญหาที่มาจากฝ่ายรัฐเพียงด้านเดียว ก็ไม่ต่างอะไรกับการแทรกแซงสื่อเพื่อประโยชน์ของการเมืองฝ่ายรัฐบาล ซึ่งนั่นก็คือ "การแทรกแซงเชิงนโยบาย" นั่นเอง


 


แน่นอนสังคมไทยต้องการได้ยิน ได้ฟังข่าวดี ต้องการเสพข่าวที่เป็นข่าวดี มีความหวัง เป็นกำลังใจบ้าง แต่ข่าวดีที่มาจากรัฐบาล สุดท้ายแล้วอาจจะไม่ใช่ข่าวดีสำหรับประชาชนก็ได้


 


ต้องยอมรับว่า หัวใจของคนไทย ในยามนี้ ต่างก็ยังจมปรักอยู่ในห้วงทุกข์อันเดียวกัน คือความแตกแยกของคนในประเทศที่เกิดจากวิกฤตการเมือง การจะกลบเกลื่อนด้วยข่าวดีเพียงเล็กน้อย ก็ไม่อาจฉุดให้คนไทยหลุดพ้นจากห้วงเหวแห่งความทุกข์นี้ได้ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net