Skip to main content
sharethis

ที่มา: http://www.salweennews.org


 


(Voice of America, 1 เมษายน 52) ยูเอ็นออกรายงานฉบับล่าสุดเผย ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางหลักของแรงงานข้ามชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังมีการกีดกันแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัย


ในรายงานฉบับดังกล่าวที่เปิดตัวไปเมื่อวันอังคารที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมาระบุว่า จากข้อมูลขององค์กรเพื่อแรงงานข้ามชาติสากล หรือ IOM ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติมากกว่า 2 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงาน ทั้งนี้ แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ช่วยนำรายได้เข้ามาพัฒนาในภาคเศรษฐกิจกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ต่อปี แต่กลับพบว่าแรงงานข้ามชาติจำนวนมากยังคงถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกเลือกปฏิบัติ


นางยีเยฟ ซอน ผู้แทนสหประชาชาติและหัวหน้าสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทยกล่าวว่า ประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานข้ามชาติที่น่าเชื่อถือ แต่การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวยังไม่มีประสิทธิภาพ แรงงานมักจะได้รับค่าจ้างน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด และส่วนใหญ่ไม่กล้าร้องเรียนขอความเป็นธรรม เพราะกลัวถูกไล่ออกจากงาน ถูกจับ หรือกลัวถูกส่งกลับพม่า ขณะที่พบว่า 2 ใน 3 ของแรงงานข้ามชาติในไทยเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานข้ามชาติมาจากประเทศพม่า


รายงานของยูเอ็นระบุอีกว่า ขั้นตอนการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติในไทยเริ่มมีข้อจำกัดเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน แรงงานที่ไม่มีหลักฐานแสดงตนก็ถูกเอาเปรียบมากขึ้นด้วยเช่นกัน


โรซาเลีย สกอรติโน หนึ่งในคณะผู้จัดทำรายงานฉบับดังกล่าวแสดงความคิดเห็นว่า คนไทยมักมีความเข้าใจที่ผิดๆ ว่า แรงงานข้ามชาติจะเข้ามาแย่งงานคนไทย ขณะที่ลักษณะงานของแรงงานเหล่านั้นมักจะเป็นงานที่ต้อยต่ำ น่ารังเกียจ ค่าจ้างถูกในสายตาคนไทย  จึงต้องพิจารณากันใหม่ว่า การผลักดันแรงงานข้ามชาติกลับประเทศ เพียงเพราะเหตุผลที่ว่าคนไทยตกงานเพิ่มมากขึ้นนั้นถูกต้องหรือไม่


ในวันเดียวกันนี้ กระทรวงแรงงานของไทยได้ออกมาประกาศว่า จะจดทะเบียนให้กับแรงงานข้ามชาติอีกจำนวน 4 แสนคน ซึ่งงานที่จะรองรับแรงงานเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นงานที่คนไทยไม่ต้องการที่จะทำ


นางแจ็คกี้ พอลล็อค  จากมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ หรือ MAP ในจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า "มันเป็นเรื่องที่ดีสำหรับรัฐบาลไทยที่ยอมรับว่าต้องการแรงงานข้ามชาติ แต่ในเวลาเดียวกันรัฐบาลไทยก็ควรยุติมาตรการปราบปรามแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายที่กำลังเกิดขึ้นในขณะด้วยเช่นกัน"


ในขณะที่ผู้ลี้ภัยจำนวนนับพันจากพม่ายังคงหนีจากการถูกกดขี่ข่มเหงและความยากจนเข้ามายังประเทศไทย ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยจากพม่าจำนวน 150,000 คน ที่อาศัยอยู่ตามตะเข็บชายแดนไทย - พม่า ซึ่งบางส่วนได้รับความช่วยเหลือจากยูเอ็นเพื่อไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในประเทศที่สาม


นับตั้งแต่ปี 2547 - 2550 สหรัฐได้รับผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยจำนวนกว่า 30,000 คน โดยมีทั้งชาวม้งจากประเทศลาวและผู้ลี้ภัยจากพม่า นอกจากนี้ รายงานของยูเอ็นยังโจมตีทางการไทยว่าจำกัดและกีดกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ของยูเอ็นเข้าถึงผู้ลี้ภัยบางกลุ่ม เช่น กลุ่มชาวไทใหญ่ ม้ง โรฮิงยาและเกาหลีเหนือ เป็นต้น


ทั้งนี้ ยูเอ็นกำลังผลักดันให้ไทยยอมรับข้อตกลงระหว่างประเทศในการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัย รวมถึงอนุญาตให้หน่วยงานของยูเอ็นสามารถเข้าถึงและช่วยเหลือผู้ลี้ภัยได้อย่างเสรีมากขึ้น 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net