Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข


 


11 เมษายน ในที่สุดการประชุมอาเซียนที่เมืองพัทยาก็ล่มกลางครัน เมื่อผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงได้ฝ่าแนวปะทะบุกถึงโรงแรมที่ประชุม และยังได้เข้าถึงตัวอาคารของโรงแรม จนทำให้ที่ประชุมต้องตัดสินใจยกเลิกอย่างเป็นทางการก่อนที่รัฐบาลจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และยกเลิกในอีก 6 ชั่วโมงถัดมา


อะไรเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่เมื่อวันที่ 10 เมษายน ฝ่ายเสื้อแดงอยู่ในอาการเฉาอย่างหนัก กลุ่มที่ปิดถนนในกรุงเทพถูกขอร้อง บังคับ กระทั่งต้องใช้กำลังภายในเรียกให้กลับมารวมกันที่ทำเนียบเพราะสถานการณ์เข้าสู่วันหยุดยาวแล้ว การปิดถนนกดดันรัฐบาลไม่ได้ผลแล้ว


ในการวิเคราะห์การชุมนุมเสื้อแดงครั้งนี้จึงมีความจำเป็นต้องประเมินความแตกต่างระหว่างคนสองระดับ เพราะสำหรับแกนนำ "ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี" เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคำนึง ยิ่งแกนนำที่มีภาระในการแบกรับและประสานงานแกนนำย่อยทุกกลุ่มมากเท่าไร ก็ยิ่งต้องคิดมากขึ้นเท่านั้น


ขณะที่มวลชนนั้นมาด้วยใจที่มุ่งมาดจะชนะเพียงอย่างเดียว ยิ่งเป็นมวลชนฐานมากเท่าไร เขายิ่งมีความคาดหวังและต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ต้องเดินทางมาร่วมในการต่อสู้มากเท่านั้น กระทั่งบางคนอาจจะเรียกได้ว่า "ทุบหม้อข้าวมาสู้"


เพราะอย่างนั้น ต่อให้แกนนำคำนึงถึงความเสียหายที่เกิดจากการประชุมระดับภูมิภาคที่ล้มเหลว และไม่อยากให้เกิดมากเท่าไร สำหรับมวลชนแล้ว เรื่องนี้แทบไม่เกี่ยวข้องกับตัวเองเลย กระนั้นความเสียหายทางวัตถุไม่ว่าจะเป็นของสาธารณะหรือเอกชนที่แทบไม่มีเลยตลอดการชุมนุมไม่ว่าจะในการชุมนุมที่ใด น่าจะบ่งบอกถึงเจตนาของผู้ชุมนุมได้เป็นอย่างดี


ที่อนุสาวรีย์ชัยฯ การถอนกำลังต้องใช้เวลาเกือบ 2 ชั่งโมงกว่าถึงจะสำเร็จ เปล่า นี่ไม่ใช่การเจรจาของเจ้าหน้าที่ตำรวจกับกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดง เจ้าหน้าที่ไม่มีหน้าที่อีกต่อไปแล้ว หมดสภาพมานานนับตั้งแต่การชุมนุมของพันธมิตรฯแล้ว แต่เป็นการเจรจาระหว่างแกนนำด้วยกันเอง กับแกนนำกลุ่มย่อยๆ อื่น เช่นเดียวกัน ทุกครั้งที่คนบนเวทีถามคนข่างล่างเวทีว่า เราจะกลับทำเนียบกัน ก็ถูกปฏิเสธทุกครั้ง


ที่สุทธิสาร การปิดถนนวิภาวดีทั้งขึ้นทั้งล่อง มีมวลชนฟังไม่มากนัก กระนั้นก็ต้องใช้เวลาถอนตัวนานกว่า 3 ชั่วโมงเลยกำหนดเวลาซึ่งที่ประชุมแกนนำที่ทำเนียบตั้งไว้คือ 4 โมงเย็น แกนนำย่อยและมวลชนที่นั่งฟังอยู่นั้น ไม่มีใครอยากถอนการปิดถนน เพราะนั่นคืออำนาจทางการเมืองที่เขาใช้มันได้เป็นครั้งแรกๆ ในชีวิต


ในที่สุดแกนนำกลุ่มย่อยซึ่งก็คงจะมีบารมีกว่า อาจจะเพราะมีการ์ด มีรถเครื่องเสียง ก็ต้องขึ้นเวทีเอง แล้วสลายการปิดถนนดื้อๆ เลยว่า "ผมมีความจำเป็นต้องไปทำเนียบครับ ผมขอตัวก่อนนะครับ" แล้วรถสิบล้อที่เป็นเวทีก็เคลื่อนตัวออกไปพร้อมกับการ์ดที่เปิดถนนรอ ปล่อยให้มวลชนร้อยกว่าคน นั่งอยู่บนถนนวิภาวดีกลางแยกสุทธิสารด้วยความงงงวย


สภาพแบบนี้แม้เป็นเรื่องปกติในการชุมนุมใหญ่ๆ ทุกครั้ง กระนั้นครั้งนี้มีลักษณะชัดเจนและมีสภาพที่เรียกได้ว่า ยากจะควบคุมมวลชนได้มากกว่าทุกครั้งในประวัติศาสตร์การเคลื่อนขบวนของประชาชนไทยเลยทีเดียว กลับกันมวลชนกลับมีลักษณะคุมแกนนำได้มากกว่า และคุมยากขึ้นไปอีกหากเขามียุทธปัจจัยของเขาเองมาร่วมด้วย ตั้งแต่เวที การ์ด กลไกสื่อสาร และกองหนุนพลาธิการ เราจึงได้เห็นการปิดอนุสาวรีย์ชัยและลามไปถึงจุดอื่นๆ ด้วยกลุ่มของเขาเอง ทำให้แกนนำส่วนกลางจำเป็นต้อง "ตามมวลชน" เหล่านี้ เพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกในการต่อสู้ ซึ่งนั่นหมายความว่าความเสี่ยงต่อการสูญเสียเลือดเนื้อจะเกิดขึ้น


อะไรเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่เมื่อวันที่ 10 เมษายน ฝ่ายเสื้อแดงมีแนวโน้มที่จะทิ้งเวทีการประชุมอาเซียน แล้วเตรียมหันหลังกลับทำเนียบหลังประกาศชัยชนะเมื่อเข้ายื่นจดหมายร้องเรียนต่อตัวแทนอาเซียนได้สำเร็จ แต่กลับต้องเปลี่ยนแผนจนนำไปสู่การล้มการประชุมอาเซียน การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 


แม้เราจะเชื่อได้ว่า "เสื้อแดง" และที่จริงคือทุกฝ่ายนั้นเสียใจต่อการบาดเจ็บของผู้ร่วมชุมนุม แต่อีกด้านแล้ว การล้มประชุมอาเซียนได้อย่างงงงงของคนเสื้อแดงนั้น (งง-เพราะไม่รู้จะล้มไปทำไม) คงต้องมอบให้เป็นผลงานของ "เนวิน ชิดชอบ" และ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" หากเขาอยู่เบื้องหลัง "เสื้อน้ำเงิน" เพราะทำให้เสื้อแดงจำเป็นต้องปักหลัก กระทั่งกลับไปสู้ ซึ่งจุดชนวนทำให้เกิดความรุนแรงในตอนสายของวันที่ 11 เมษายน และกลายเป็นเหตุให้เป็นเงื่อนไขในการบุกเข้าที่ประชุมอาเซียนจนการประชุมต้องล้มเลิกไป


หากรัฐคิดจะรับมือกับการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง จึงจำเป็นต้องวิเคราะห์เรื่องเหล่านี้ให้ดีๆ โดยเฉพาะหากคิดจะปิดช่องทางสื่อสารของคนเสื้อแดง เช่น ปิดดีสเตชั่น ตัดสินไปได้เลยว่า คนเสนอเรื่องนี้นอกจากไม่หวังดีแล้ว ยังประสงค์ให้เกิดสงครามกลางเมืองหรือการจราจลขึ้นทั่วประเทศ เพราะนี่คือการทำลายศูนย์กลางการควบคุม จะไม่เหลือกลไกในการดึงมวลชนกลับหรือคุมมวลชนได้อีกแล้ว กลุ่มย่อยๆ เหล่านี้จะกระจายไปทั่วแบบเป็นตัวของตัวเอง อย่าลืมด้วยว่า เรามีบทเรียนในการปิดกั้นสื่อมาแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 


อย่างไรก็ตาม อย่าแปลกใจถ้าจะมีใครเชียร์แบบไร้เดียงสาแบบนั้น หากสมมติฐานของเขาหมกมุ่นและเชื่ออยู่แต่ว่า ดีสเตชั่นทำหน้าที่ในการปลุกระดมหรือทำหน้าที่ป้อนความเกลียดชังเหมือนที่เขาเคยเห็นจากการชุมนุมของพันธมิตรฯ ในระยะหลังๆ และเอาภาพที่เห็นนั้นมาเป็นฐานการวิเคราะห์ ซึ่งจะเป็นอคติที่ทำให้การตัดสินใจผิดพลาด


สภาพการณ์ตอนนี้ไม่ใช่สงครามชิงภาพพจน์ชิงความชอบธรรมโดยไม่สนใจสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากสภาพธรรมชาติของมวลชนเสื้อแดงอีกแล้ว อนาคตของรัฐบาลอภสิทธิ์นั้นเรื่องเล็ก แต่รัฐบาลพึงคิดให้จงหนัก และต้องระวังไปถึงสภาพไร้การควบคุมที่อาจจะเกิดขึ้นทั่วประเทศด้วย


สำหรับแกนนำและมวลชนคนเสื้อแดง การปลุกใจฮึกเหิม และดื่มด่ำกับการบรรลุการเคลื่อนไหวนั้นเป็นเรื่องปกติในการดำเนินการชุมนุม แต่หากคิดว่านั่นคือชัยชนะของการ "ยกระดับการต่อสู้" ก็คงไม่แน่เสมอไป


โปรดลองคิดทบทวนให้ดี ภายใต้สมรภูมิคนชั้นกลางใจกลางกรุงเทพมหานคร เพียงสองวันของการยกระดับการชุมนุม คนเสื้อแดงก็ถูกปั้นให้กลายเป็นผู้ทำความเสียหายร้ายแรงเท่าการปิดสนามบินสุวรรณภูมิไปเรียบร้อยแล้วอย่างไม่น่าเชื่อ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net