Skip to main content
sharethis

ภัควดี วีระภาสพงษ์
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน ปาจารยสาร
: มี.ค.-เม.ย. 2552


 


กลางศตวรรษที่ 16 คือช่วงเวลาปั่นป่วนของประเทศอังกฤษ ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและศาสนา ในทางการเมืองนั้น ค.ศ. 1549 คือปีวิกฤตของราชวงศ์ทิวดอร์ กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่หกทรงมีพระชนมายุเพียง 12 พรรษา ผู้มีอำนาจในการว่าราชการที่แท้จริงคือดยุกแห่งซอเมอร์เซต พระมาตุลาของพระองค์ ในทางศาสนานั้น พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่หกทรงเป็นกษัตริย์องค์แรกของอังกฤษที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ ส่งผลให้นิกายโปรเตสแตนต์กลายเป็นศาสนาประจำชาติของอังกฤษแทนที่นิกายโรมันคาทอลิก แต่ความปั่นป่วนที่สุดกระเพื่อมอยู่ในภาคสังคมและเศรษฐกิจ ไม่เพียงปัญหาเงินเฟ้อทำให้ราคาอาหารและค่าเช่าที่ดินพุ่งสูงขึ้น แต่นี่ยังเป็นยุคหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าของอังกฤษและของโลกต่อไปในอนาคต ยุคที่อังกฤษกำลังจะเปลี่ยนผ่านจากสังคมกสิกรรมไปสู่สังคมทุนนิยม จากระบบกรรมสิทธิ์ชุมชนไปสู่ระบบกรรมสิทธิ์เอกชน โดยมีพื้นฐานสำคัญมาจากความเคลื่อนไหวของปรากฏการณ์ที่เราเรียกกันว่า กระบวนการล้อมเขตที่ดิน (Enclosure)


ในสมัยโบราณมาจนถึงยุคก่อนหน้าการล้อมเขตที่ดิน ระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินในอังกฤษ รวมทั้งในยุโรป มีลักษณะผสมผสานระหว่างกรรมสิทธิ์เอกชนกับกรรมสิทธิ์ชุมชน มีทั้งที่ดินที่มีเจ้าของและที่ดินสาธารณะ หรือที่ดินบางส่วนมีเจ้าของก็จริง แต่คนในชุมชนก็มีสิทธิเชิงจารีตที่จะเข้าไปใช้ประโยชน์จากที่ดินนั้น การใช้ประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อการกสิกรรม การเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ แต่เมื่อการค้าขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะขนแกะกลายเป็นสินค้าที่สร้างรายได้อย่างงาม บรรดาขุนนางและคหบดีพากันสร้างรั้วล้อมเขตที่ดินสาธารณะ ที่ดินรกร้างว่างเปล่า ตลอดจนที่ดินที่เป็นส่วนกลางของชุมชน แล้วอ้างกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินเหล่านั้นเพื่อนำมาใช้เลี้ยงแกะ กระบวนการล้อมเขตที่ดินนี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสะสมทุน การเรียนรู้กระบวนการผลิตแบบทุนนิยม (การสร้างวัตถุดิบอย่างต่อเนื่องเพื่อป้อนเข้าสู่โรงงาน) และระบบกรรมสิทธิ์เอกชน ที่จะเป็นรากฐานของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอีกราวสองศตวรรษถัดมา


แน่นอน กระบวนการเช่นนี้ย่อมไม่ได้ดำเนินไปโดยปราศจากการต่อต้าน สามัญชนในหลายที่หลายแห่งของอังกฤษ เช่น ในซัฟฟอล์กเคาน์ตี ในเขตมิดแลนด์และในภาคตะวันตกของอังกฤษ มีการก่อจลาจลและแสดงความไม่พอใจต่อการถูกแย่งชิงที่ดินสาธารณะปะทุขึ้นเป็นระยะ ๆ แต่การกบฏครั้งใหญ่ที่สุดและถูกจดจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของอังกฤษคือ กบฏเคตต์ (Kett"s Rebellion) ซึ่งเป็นการกบฏในนอร์ฟอล์กเคาน์ตี สามัญชนกว่าหมื่นคนภายใต้การนำของโรเบิร์ต เคตต์และน้องชายบุกเข้ายึดเมืองนอริช ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดอันดับสองของอังกฤษในสมัยนั้นไว้ได้นานหลายสัปดาห์ ถึงแม้จะพ่ายแพ้ในท้ายที่สุด แต่กบฏเคตต์คือบทเรียนสำคัญหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่เขียนด้วยสายตาของผู้มาจากเบื้องล่าง


 


โรเบิร์ต เคตต์: ผู้นำกบฏที่ไม่น่าเป็นกบฏ


หากมองจากสายตาของคนยุคปัจจุบัน โรเบิร์ต เคตต์ถือเป็นผู้นำกบฏที่เป็นปริศนาที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสามัญชน ประการแรก โรเบิร์ต เคตต์ไม่ใช่คนหนุ่มไฟแรงคุระอุด้วยอุดมการณ์ เขาเกิดใน ค.ศ. 1492 ตอนที่เกิดกบฏ เขาอายุปาเข้าไป 57 ปีแล้ว เมื่อวัดจากคนในสมัยศตวรรษที่ 16 ซึ่งอายุเฉลี่ยของคนทั่วไปแทบไม่ถึง 60 ปี อายุขนาดเคตต์ต้องเรียกว่าไม้ใกล้ฝั่ง ขนาดกษัตริย์อย่างพระเจ้าเฮนรีที่แปดยังตายแค่อายุ 55 อีกทั้งเคตต์ก็ไม่ใช่คนตัวเปล่า ตระกูลของเขาอาศัยอยู่ในนอร์ฟอล์กมาหลายชั่วอายุคน โรเบิร์ต เคตต์เองก็แต่งงานกับผู้หญิงจากตระกูลขุนนางและมีลูกชายด้วยกันถึง 5 คน


โรเบิร์ต เคตต์ไม่ใช่คนยากจนเข็ญใจ เขาจัดอยู่ในชนชั้นชาวนาเสรีที่มีที่ดินทำกินของตนเอง (yeoman) เขาอาศัยอยู่ในตำบลวีนเดม (Wymondham) ของนอร์ฟอล์ก มีอาชีพหลักคือเป็นช่างฟอกหนัง มีฐานะมั่งคั่งพอสมควรทีเดียวเมื่อเปรียบเทียบกับคนในสมัยนั้น กระนั้นก็ตาม สำหรับสังคมชนชั้นในยุคทิวดอร์ โรเบิร์ต เคตต์ไม่ใช่พวกขุนนางเจ้าที่ดินที่มีรายได้จากค่าเช่าและการขูดรีดแรงงานคนอื่น เขาไม่ใช่พวก "ผู้ดีตีนแดงไม่ต้องใช้แรงกายทำมาหากิน" หรือ "วางท่าเชิดหน้าเป็นอำมาตย์ราชนิกุล" เคตต์เป็นทั้งเกษตรกรและช่างฝีมือ ตัวเขาต้องทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำ ผู้คนที่เขาคลุกคลีด้วยก็ล้วนแล้วแต่เป็นชนชั้นใช้แรงกาย เช่น ชาวนา คนเลี้ยงสัตว์ แรงงาน ช่างฝีมือ ฯลฯ เมื่อมองจากยุคสมัยทิวดอร์ เคตต์มาจากชนชั้นที่สร้างผู้นำกบฏคนสำคัญ ๆ มาแล้วหลายคน อาทิ ไมเคิล โจเซฟ ช่างตีเหล็ก เป็นผู้นำกบฏในคอร์นวอลล์เมื่อ ค.ศ. 1497 หรือนิโคลาส เมลตัน ช่างทำรองเท้า เป็นผู้นำกบฏในลินคอล์นเชียร์เมื่อ ค.ศ. 1536 เป็นต้น


เรารู้น้อยมากเกี่ยวกับอุปนิสัยใจคอของโรเบิร์ต เคตต์ แต่เท่าที่มีหลักฐานเหลืออยู่ รวมทั้งพฤติกรรมในการนำกบฏของเขา เคตต์ไม่ใช่คนมีนิสัยใจคอดุร้าย เจ้าโทโสหรือทะเยอทะยาน เขาจัดเป็นคนใจเย็นและประนีประนอมไม่น้อย ในบางแง่ก็ค่อนข้างหัวโบราณและอนุรักษ์นิยมด้วยซ้ำ อีกเรื่องหนึ่งที่เราแทบไม่รู้เลยก็คือ แรงจูงใจที่ทำให้เคตต์กลายเป็นผู้นำกบฏ เราไม่มีวันรู้ว่าเหตุใดเขาจึงเข้าร่วมกับชาวนาและคนยากจนในการประท้วงความอยุติธรรมของการล้อมเขตที่ดิน อาจเป็นเพราะเขาเห็นใจชะตากรรมของคนเหล่านั้น หรือเพราะเขาไม่พอใจต่ออำนาจฉ้อฉลของบรรดาขุนนางท้องถิ่นและเจ้าที่ดิน หรือเพราะเขาโหยหาอดีตที่กำลังเลือนหายและรับไม่ได้กับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมอังกฤษที่กำลังเกิดขึ้น หรือเพียงเพราะมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในท้องถิ่น เราไม่มีทางรู้และไม่มีวันรู้


 


กบฏเคตต์


ในวันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ. 1549 ชาวบ้านในตำบลวีนเดมจัดงานเทศกาลรำลึกถึงนักบุญโธมัส เบ็คเกตต์ นักบุญผู้นี้เคยเป็นอาร์คบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี แต่มีข้อขัดแย้งกับพระเจ้าเฮนรีที่สองของอังกฤษและถูกราชองครักษ์สังหารเสียชีวิต ชาวบ้านรู้ดีว่า การจัดงานรำลึกนี้ถือว่าผิดกฎหมายในตัวมันเอง แต่พวกเขาก็ยังจัดงานเพื่อท้าทายอำนาจและแสดงออกถึงความไม่พอใจ


หลังงานเลิก ชาวบ้านส่วนหนึ่งยังรวมตัวกันและเริ่มยกขบวนไปรื้อทำลายรั้วล้อมเขตที่ดิน ก่อนหน้านี้ อังกฤษเคยออกกฎหมายลงโทษอย่างหนักแก่ใครก็ตามที่รื้อทำลายรั้วล้อมเขตที่ดิน แต่เมื่อความไม่พอใจของประชาชนมีมากขึ้น พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่หกจึงสั่งอภัยโทษแก่ประชาชนที่มีความผิด สามัญชนจึงเกิดความเข้าใจไขว้เขวไปว่า กษัตริย์อังกฤษยืนอยู่ข้างฝ่ายตนและต้นตอของความทุกข์คือพวกขุนนางและคหบดีท้องถิ่น การรื้อทำลายรั้วจึงปะทุขึ้นเนือง ๆ ทั่วทั้งอังกฤษ


หลังจากรื้อรั้วไปแห่งหนึ่งแล้ว ชาววินเดมก็ยกขบวนไปที่ที่ดินล้อมรั้วของจอห์น ฟลาวเวอร์ดิว ซึ่งเป็นพวกผู้ดีที่ชาวบ้านไม่ชอบขี้หน้า แต่ฟลาวเวอร์ดิวเจ้าเล่ห์กลับติดสินบนชาวบ้านให้ไปรื้อรั้วของเพื่อนบ้านที่เป็นศัตรูของเขา นั่นคือ โรเบิร์ต เคตต์ (อันที่จริง ความขัดแย้งระหว่างเคตต์กับฟลาวเวอร์ดิวเป็นแค่เรื่องจิ๊บจ๊อยมาก เมื่ออังกฤษเปลี่ยนไปนับถือโปรเตสแตนต์และสั่งให้รื้อทำลายวิหารอารามหลายแห่ง ฟลาวเวอร์ดิวฉวยโอกาสนี้ไปขนตะกั่วและหินทรายตัดมาจากอารามโบสถ์ในวินเดมหน้าตาเฉย เคตต์คัดค้านการกระทำนี้และพยายามรักษาโบสถ์เอาไว้ ความขัดแย้งแค่นี้คงไม่ถึงขั้นต้องแก้ปัญหาด้วยการกบฏ อีกทั้งไม่มีหลักฐานใดบ่งบอกเลยว่า เคตต์ใช้กองกำลังกบฏจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อฟลาวเวอร์ดิว)


เมื่อชาวบ้านยกขบวนไปถึงที่ดินของเคตต์และแสดงความไม่พอใจต่อการล้อมเขตที่ดิน แทนที่เคตต์จะโกรธ เขากลับเห็นด้วยกับชาวบ้านและนำขบวนชาวบ้านไป "รื้อทำลายรั้วของตนจนราบกับพื้นดิน" เคตต์ไม่ได้ทำเพียงแค่นั้น เขากลับปวารณาตัวเองเป็นผู้นำกลุ่มคนยากจนและจะไป "สั่งสอน" บรรดาผู้มีอำนาจทั้งหลายให้ลดความอวดดีลงบ้าง การได้ผู้นำที่เป็นที่นับหน้าถือตาในท้องถิ่นเช่นนี้ ทำให้ม็อบชาวนาที่มีความโกรธแค้นแต่ไร้ทิศทาง กลายเป็นกองกำลังกบฏที่มีศักยภาพขึ้นมาทันที


เคตต์พาขบวนกบฏเดินทางมุ่งหน้าไปเมืองนอริช รื้อทำลายรั้วล้อมที่ดินไปด้วยตลอดทาง พร้อมกับปล้นริบอาหารและอาวุธจากตามคฤหาสน์ของชนชั้นผู้ดี เราไม่รู้จุดประสงค์แน่ชัดของการเดินทัพไปเมืองนอริช อย่างไรก็ตาม ระหว่างทางมีชาวนาไร้ที่ดินและคนยากจนมาเข้าร่วมกองกำลังกบฏจำนวนมาก ทั้งจากเมืองนอริชและชนบทรอบข้าง ในวันที่ 10 กรกฎาคม เซอร์เอ็ดมันด์ วินเดม อดีตนายอำเภอของนอร์ฟอล์กและซัฟฟอล์ก ออกคำบัญชาในนามของกษัตริย์ให้กลุ่มกบฏสลายตัวและกลับบ้าน แต่ฝ่ายกบฏปฏิเสธและพยายามจับตัววินเดมไว้ เขาโชคดีที่หนีรอดไปได้หวุดหวิด


พอได้ข่าวเรื่องกองกำลังกบฏของเคตต์ บรรดาคนยากจนและคนว่างงานในเมืองนอริชก็เริ่มรวมตันกัน พวกเขาเริ่มรื้อทำลายรั้วและคูล้อมที่ดินสาธารณะที่พวกผู้ดีล้อมไว้เพื่อเลี้ยงปศุสัตว์ของตัวเอง โดยจ่ายค่าแรงเป็นเศษเงินให้คนงานรับจ้างเลี้ยงสัตว์ หลังจากเสร็จภารกิจนี้ กลุ่มคนที่พวกผู้ดีเรียกว่า "สวะสังคม" ก็ออกไปเข้าร่วมกับกองกำลังกบฏของเคตต์


โธมัส คอดด์ นายกเทศมนตรีของเมืองนอริช พร้อมคณะเทศมนตรี ออกไปที่ค่ายของเคตต์เพื่อเกลี้ยกล่อมให้กลุ่มกบฏกลับบ้าน คอดด์เสนอสินบนให้ทั้งเงินทองข้าวของเหล้าเบียร์ แต่กลุ่มกบฏปฏิเสธ เคตต์พากลุ่มกบฏอ้อมเมืองนอริชไปทางทิศเหนือ พวกเขาเผชิญหน้ากับเซอร์โรเจอร์ วูดเฮาส์ ซึ่งพาคนรับใช้ขนอาหารและเหล้าเบียร์ออกมาเพื่อติดสินบนเช่นกัน แต่กลุ่มกบฏจับวูดเฮาส์แก้ผ้าและโยนลงคู จากนั้นก็ขังเขาเป็นเชลยไว้ที่เมาต์เซอร์รี ซึ่งจะกลายเป็นคุกไว้คุมขังพวกเชลยผู้ดีเจ้าที่ดินทั้งหลาย แล้วเคตต์ก็นำกองกำลังกบฏไปตั้งฐานที่มั่นที่เนินเขาเมาส์โฮลด์ฮีธ (Mousehold Heath) ซึ่งถือเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของกบฏเคตต์


เมื่อติดสินบนกบฏไม่สำเร็จ นายกเทศมนตรีคอดด์ก็เลยให้ความร่วมมือกับกลุ่มกบฏเสียเลย ในช่วงนี้เองที่โรเบิร์ต เคตต์แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการจัดการและการเป็นผู้นำ เนื่องจากฝ่ายกบฏไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองเป็นกบฏ พวกเขาคิดว่าตัวเองคือข้าแผ่นดินผู้ซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพระราชา ดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า สามัญชนเข้าใจผิดคิดว่าพระเจ้าแผ่นดินนั้นยืนอยู่ข้างฝ่ายตน พวกเขามองว่าต้นตอของปัญหามาจากกลุ่มขุนนางคหบดีท้องถิ่นเท่านั้น เคตต์เองก็ไม่ได้หลุดพ้นจากกับดักนี้ เขาออกประกาศในนามของกษัตริย์ว่า กลุ่มกบฏคือ "มิตรและผู้แทนของพระราชา" สั่งให้รวบรวมเงินทองและอาหารจากทั้งฆราวาสและพระที่ร่ำรวย ในตอนนั้น มีผู้มาเข้าร่วมกองกำลังราว 16,000-20,000 คน


โรเบิร์ต เคตต์จัดโครงสร้างการปกครองซ้อนอำนาจเก่าขึ้นมา ในส่วนของกองกำลังนั้น เขาจัดแบ่งออกเป็นหน่วย ๆ แบบกองทัพ โดยน่าจะแบ่งตามหมู่บ้านที่เป็นภูมิลำเนาเดิมของผู้มาเข้าร่วม มีการตั้งสภาตัวแทนคล้าย ๆ สภาประชาชน โดยมีตัวแทน 24 คนจากหมู่บ้าน 32 แห่งของนอร์ฟอล์กและมีตัวแทนคนหนึ่งจากซัฟฟอล์กมาช่วยตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ มีการจัดกิจกรรมทางศาสนา และที่โด่งดังกล่าวขวัญมาจนถึงทุกวันนี้คือ ระบบยุติธรรม


โรเบิร์ต เคตต์จัดระบบยุติธรรมง่าย ๆ โดยออกว่าความตัดสินคดีใต้ต้นโอ๊ก ต้นไม้ต้นนี้ได้รับการขนานนามต่อมาว่า ต้นโอ๊กหรือต้นไม้แห่งการปฏิรูป (Oak/Tree of Reformation) ในการตัดสินคดีต่าง ๆ นั้น เคตต์จะปรึกษาทั้งสภาตัวแทนของประชาชนและตัวแทนอำนาจเก่าอย่างโธมัส คอดด์ไปพร้อม ๆ กัน กลุ่มกบฏจะลากพวกผู้ลากมากดีมาที่ต้นโอ๊กนี้ แล้วตะโกนฟ้องร้องถึงความฉ้อฉล แน่นอน ย่อมมีเสียงเรียกร้องให้ "ฆ่ามัน ๆ" ดังขึ้นตลอดเวลา แต่เคตต์ประสบความสำเร็จในการปลอบโยนกลุ่มกบฏลงได้ทุกครั้ง ในขณะที่การจลาจลของสามัญชนก่อนหน้ากบฏเคตต์ มักเต็มไปด้วยความรุนแรง การปล้นและการฆ่าฟันผู้ดีด้วยความความโกรธแค้น แต่กบฏเคตต์สามารถมีระเบียบวินัยและไม่ปรากฏเลยว่า มีผู้ดีคนไหนถูกจับประหาร ถูกทรมานหรือเฆี่ยนตีแม้แต่คนเดียว อย่างมากก็เพียงสร้างความอัปยศแก่พวกผู้ดีที่ต้องยอมรับผิดต่อชนชั้นผู้ต่ำต้อยกว่าตัวเองเท่านั้น


เอกสารเพียงชิ้นเดียวของกบฏเคตต์ที่ตกมาถึงยุคปัจจุบันก็คือ จดหมายร้องเรียนที่ยื่นต่อผู้สำเร็จราชการแผ่นดินดยุกแห่งซอเมอร์เซต ซึ่งฝ่ายกบฏเข้าใจว่าเป็น "ดยุกผู้เปี่ยมเมตตา" ในจดหมายที่เคตต์และผู้นำกบฏช่วยกันร่างขึ้น ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่า แถลงการณ์กบฏแห่ง ค.ศ. 1549 ประกอบด้วยข้อเรียกร้อง 29 ข้อ ส่วนใหญ่เป็นข้อเรียกร้องที่สะท้อนถึงปัญหาในชนบท มีตั้งแต่ปัญหาเรื่องที่ดินสาธารณะ ค่าเช่า ราคาอาหาร การปกครอง ไปจนถึงปัญหาพระและศาสนา ข้อเรียกร้องที่น่าสนใจมีอาทิ:


ข้อเรียกร้องที่ 3 เราขอเรียกร้องมิให้ลอร์ดหรือขุนนางเจ้าที่ดินมาใช้ประโยชน์จากที่ดินส่วนรวม แต่ในข้อเรียกร้องที่ 29 ก็ยังมีการอะลุ้มอล่วยว่า ชนชั้นสูงสามารถนำสัตว์เลี้ยงมากินหญ้าได้ ต่อเมื่อเป็นการเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหารในบ้านเท่านั้น


ข้อเรียกร้องที่ 17 เราขอเรียกร้องว่าแม่น้ำทุกสายต้องเป็นสมบัติสาธารณะแก่ทุกผู้คนในการจับหาปลาและสัญจร


ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับพระมีถึง 5 ข้อ ตั้งแต่เรื่องการจ่ายภาษีวัดไปจนถึงการครอบครองที่ดินของพระและวัด เช่น ข้อเรียกร้องที่ 4 เราขอเรียกร้องว่า นับแต่นี้ไป โปรดห้ามมิให้พระซื้อที่ดินอีก....และที่ดินที่พระครอบครองอยู่ต้องให้เช่าแก่ฆราวาส รวมไปจนถึงการสังคายนาศาสนาในข้อเรียกร้องที่ 8 เราขอเรียกร้องว่าพระหรือวิคาร์ที่ไม่สามารถเทศน์และสั่งสอนพระวจนะของพระเจ้าแก่อุบาสกอุบาสิกา ควรถูกปลดจากตำแหน่งและให้อุบาสกอุบาสิกาในแพริชนั้นเลือกพระคนใหม่... หรือข้อเรียกร้องที่ 15 เราขอเรียกร้องว่า พระต้องไม่เป็นบาทหลวงในโบสถ์ส่วนตัวของพวกผู้ดี แต่ต้องทำหน้าที่พระประจำแพริชเพื่อสั่งสอนกฎของพระเจ้าแก่อุบาสกอุบาสิกในแพริชนั้น


ส่วนข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการปกครองมีหลายข้อ กล่าวรวม ๆ ได้ว่า ข้อเรียกร้องเหล่านี้มีนัยยะที่บ่งบอกว่า สามัญชนต้องการการปกครองท้องถิ่นที่มีลักษณะความเป็นตัวแทน (representative) มากกว่าที่เป็นอยู่ ลดทอนอำนาจของขุนนางและผู้ดีท้องถิ่นลง และต้องการให้อำนาจส่วนกลางรับฟังเรื่องทุกข์ร้อนของประชาชนมากขึ้น


ส่วนข้อเรียกร้องที่สะท้อนชัดเจนถึงอุดมคติและความใฝ่ฝันของกลุ่มกบฏคือ ข้อเรียกร้องที่ 16 เราขอเรียกร้องให้ผู้ตกเป็นทาสทุกคนได้เป็นไทแก่ตัว เพราะพระผู้เป็นเจ้าได้ปลดปล่อยทุกผู้คนเป็นไทแล้วด้วยการหลั่งพระโลหิตของพระองค์เอง (หมายถึงพระเยซู)


สิ่งที่ขาดหายไปอย่างน่าแปลกใจในข้อเรียกร้องเหล่านี้ก็คือ ไม่มีการกล่าวถึงหรือเรียกร้องแทนคนจนเมืองเลยแม้แต่ข้อเดียว ความขาดหายไปนี้สะท้อนถึงความผิดพลาดอันยิ่งใหญ่ของกบฏเคตต์ กล่าวคือ ในขณะที่กลุ่มกบฏมองตัวเองเป็นพันธมิตรของกษัตริย์ พวกเขากลับละเลยการสมานฉันท์กับอีกชนชั้นหนึ่งที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน นั่นคือ คนจนเมืองและคนว่างงาน หากกล่าวในภาษาสมัยใหม่ก็คือ กบฏชนชั้นชาวนาและช่างฝีมือกลุ่มนี้ละเลยการผูกมิตรกับชนชั้นแรงงานนอกระบบนั่นเอง 





การต่อสู้และความพ่ายแพ้ของกบฏเคตต์


วันที่ 21 กรกฎาคม ผู้แทนพระองค์ของพระราชวังก็มาถึง เขามาประกาศว่าจะอภัยโทษแก่กบฏทุกคน เพียงแต่ต้องวางอาวุธและสลายตัวโดยดี โดยไม่ได้กล่าวถึงเรื่องร้องเรียนในจดหมายร้องทุกข์แต่อย่างใด มีประชาชนบางส่วนคุกเข่ายอมรับการอภัยโทษ แต่โรเบิร์ต เคตต์ปฏิเสธ เคตต์ยืนยันว่าเขาไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย จึงไม่จำเป็นต้องรับอภัยโทษ รูปข้างบนเป็นภาพของเคตต์ที่กำลังปฏิเสธต่อผู้แทนพระองค์ และมีเด็กหนุ่มชาวบ้านคนหนึ่งถอดกางเกงเปิดก้นใส่ผู้แทนจากพระราชวังด้วย!


ผู้แทนพระองค์จึงประกาศว่าเคตต์ขบถและสั่งเจ้าพนักงานให้จับกุมตัว ประชาชนที่เข้าร่วมการกบฏจึงลุกฮือขึ้น ผู้แทนพระองค์ นายกเทศมนตรีและขุนนางคนอื่น ๆ จึงหนีกลับเข้าเมืองนอริชและสั่งปิดประตูเมือง


วันที่ 22 กรกฎาคม กลุ่มกบฏเคตต์บุกเข้าโจมตีเมืองนอริชเป็นครั้งแรก พอเข้าประชิดกำแพงเมือง พวกเขาก็ถูกพลธนูและพลปืนระดมยิงใส่ ตรงนี้มีเรื่องเล่ากันว่า เมื่อห่าธนูระดมยิงจากกำแพงเมืองออกไป มีกลุ่มเด็กจรจัดแก้ผ้าวิ่งออกมาเก็บลูกธนู ถึงลูกธนูจะยิงปักเข้าใส่แขนขา เด็กหนุ่มเหล่านี้ก็ยังคงหันก้นเยาะเย้ยใส่พลธนู วิธีการนี้ทำเอาพลธนูตระหนกจนหมดขวัญกำลังใจจะต่อสู้ต่อไป ชัยชนะของกลุ่มกบฏเหนือเมืองนอริชนั้น ส่วนหนึ่งเกิดมาจากคนจนเมืองที่ออกมาเข้าร่วมและเป็นไส้ศึกให้แก่กองกำลังกบฏด้วย


แม้จะยึดครองเมืองนอริชไว้ได้ แต่เคตต์ยังคงตั้งค่ายใหญ่อยู่ที่เมาส์โฮลด์ฮีธต่อไป น่าเสียดายที่เขาไม่ได้ตั้งรัฐบาลปฏิวัติหรือคอมมูนแห่งเมืองนอริชขึ้นมา ตัวนายกเทศมนตรีคอดด์ถูกจับไปขังไว้ที่เมาต์เซอร์รีระยะหนึ่ง แล้วก็ถูกปล่อยตัวออกมาตามคำขอร้องของชาวเมืองบางส่วน


ปลายเดือนกรกฎาคม รัฐบาลอังกฤษจัดกองทัพประมาณ 1,500 คน ภายใต้การนำของมาร์ควิสแห่งนอร์แทมป์ตัน ซึ่งพ่ายแพ้ต่อฝ่ายกบฏอย่างไม่เป็นขบวน พอถึงต้นเดือนสิงหาคม คราวนี้รัฐบาลอังกฤษจัดทัพมาใหม่ภายใต้การนำของเอิร์ลแห่งวอริก มีพลทัพถึง 12,000-14,000 นาย ซึ่งมีทั้งพลทหารม้าและทหารรับจ้างชาวเยอรมันที่เชี่ยวชาญการรบ กองทัพมาถึงเมืองนอริชในวันที่ 23 สิงหาคม เอิร์ลแห่งวอริกเสนอทางเลือกแก่ฝ่ายกบฏว่าจะยอมแพ้และรับอภัยโทษหรือถูกกวาดล้าง ฝ่ายกบฏปฏิเสธข้อเสนอ ตกเย็น กองทัพของวอริกก็ขับไล่ฝ่ายกบฏออกจากเมืองได้


กบฏเคตต์ถอยร่นไปตั้งมั่นที่เมาส์โฮลด์ฮีธ พวกเขาถูกกองทัพล้อมและตัดเสบียงอาหาร วันที่ 27 สิงหาคม เคตต์ตัดสินใจผิดพลาดโดยนำกองกำลังกบฏไปต่อสู้กับกองทัพในทุ่งเปิดโล่งที่ดัสซินเดล ทำให้วอริกสามารถใช้ทหารม้าได้อย่างเต็มที่ ฝ่ายกบฏที่ปราศจากประสบการณ์การสู้รบและใช้อาวุธตามมีตามเกิดจึงพ่ายแพ้อย่างราบคาบ ประมาณว่าสามัญชนกบฏถูกฆ่าตายในสนามรบถึง 3,000 คน ถึงแม้โรเบิร์ต เคตต์รอดชีวิตจากสมรภูมิไปได้ แต่เขาก็ถูกจับตัวในวันรุ่งขึ้น


วอริกตัดสินคดีทันที บ้างว่ามีกบฏถูกแขวนคอ 49 คน บ้างว่า 300 คน และมี 9 คน ถูกทรมานและแขวนคอที่ต้นโอ๊กแห่งการปฏิรูป ศพทั้งหมดถูกโยนลงหลุมกลบฝังอย่างอนาถา ส่วนโรเบิร์ตและน้องชาย วิลเลียม เคตต์ ถูกนำตัวไปตัดสินคดีที่ลอนดอน แต่เพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่มวลชน ทั้งสองจึงถูกนำตัวกลับมาลงโทษที่เมืองนอริชและถูกประหารชีวิตต้นเดือนธันวาคม ตามธรรมเนียมในยุคนั้น ข้อหาขบถและทรยศต้องถูกประหารด้วยการล้วงควักตับไตไส้พุงทั้งเป็นและแขวนไว้จนตาย วิลเลียมถูกแขวนให้ตายที่อารามวินเดม ส่วนโรเบิร์ตถูกแขวนไว้กับกำแพงปราสาทนอริชด้านที่หันหน้าเข้าหาตลาด ศพถูกทิ้งไว้อย่างนั้นหลายเดือนเพื่อเตือนใจสามัญชน แม้จะมีตำนานร่ำลือว่า มีคนมาสวดอ้อนวอนพระเจ้าในตลาด ขอให้นำร่างของเคตต์ลงมาเพื่อให้เขาได้พักผ่อนสู่สุคติ อีกทั้งมีเสียงซุบซิบแสดงความไม่พอใจต่อพวกขุนนางและสนับสนุนให้มีการตั้งค่ายกบฏที่เมาส์โฮลด์ฮีธอีกก็ตาม


 


ทวิลักษณ์ของความทรงจำ


การกบฏในอังกฤษด้วยสาเหตุคล้าย ๆ การกบฏเคตต์เกิดขึ้นมากมายหลายครั้ง และส่วนใหญ่มักจะก่อจลาจลวุ่นวายและนองเลือดมากกว่ากบฏเคตต์ด้วย แต่หลังจากปราบกบฏได้ ทางการอังกฤษก็มักไม่ค่อยแยแสหรือเอ่ยถึงมันอีก ทว่ากบฏเคตต์แตกต่างออกไป หลังจากปราบกบฏเคตต์ได้แล้ว รัฐบาลพยายามวาดภาพเคตต์เป็นตัวอันตราย ป่าเถื่อน เป็นศัตรูของสังคม ถึงขนาดใส่ร้ายเคตต์ว่า เขาปลุกปั่นมวลชนด้วยคำขวัญว่า "Kyll the Gentlemen" ("ฆ่าพวกผู้ดีให้หมด") ทั้งๆ ที่หากไม่มีโรเบิร์ต เคตต์ พวกผู้ดีคงเสียชีวิตกันมากกว่านี้


เคตต์สร้างความหวาดหวั่นขวัญผวาแก่ชนชั้นสูง ก็เพราะความมีระเบียบวินัยในการจัดการมวลชนของเขานั่นเอง ในสมัยนั้น (และจนถึงสมัยนี้) ชนชั้นสูงมักมองชนชั้นล่างว่าเป็นพวก "โง่ จน เจ็บ" พวกป่าเถื่อนไร้การศึกษาที่ไม่มีปัญญาปกครองตัวเอง เมื่อสามัญชนแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการจัดการปกครองและจัดระบบความยุติธรรมในแบบของตัวเอง ชนชั้นสูงก็ถึงกับหวาดกลัวจนเข้าขั้นลนลานเลยทีเดียว


ด้วยเหตุนี้ นอกจากลงโทษพี่น้องตระกูลเคตต์และแกนนำกบฏอย่างทารุณด้วยทัณฑ์ทรมานสูงสุดแล้ว ชนชั้นสูงในสมัยราชวงศ์ทิวดอร์มาจนถึงศตวรรษที่ 17 ยังถือเป็นภารกิจในการวาดภาพเคตต์เป็นปิศาจร้าย ป่าเถื่อนและโง่เง่าเต่าตุ่น เป็นตัวอย่างไว้เตือนใจสามัญชนว่า การเป็นกบฏไม่เคยได้อะไรดีขึ้นมา


แต่ในความทรงจำของสามัญชน โรเบิร์ต เคตต์เป็นที่รักใคร่ของชาวบ้านเสมอ มีสถานที่หลายแห่งที่ตั้งชื่อเพื่อเป็นที่ระลึกถึงเคตต์ เช่น ทุ่งดัสซินเดลถูกเรียกว่า Kett"s Meadow หรือเมาส์โฮลด์ฮีธถูกเรียกว่า Kett"s Height เป็นต้น สามัญชนชาวเมืองนอริชยังเล่าขานตำนานของเคตต์ด้วยความรู้สึกที่ตรงกันข้ามกับทางการต่อมาอีกเป็นศตวรรษ


เมื่อขบวนการแรงงานและสังคมนิยมในอังกฤษมีความเข้มแข็งมากขึ้นในศตวรรษที่ 20 กบฏเคตต์ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ในอีกแง่มุมหนึ่ง ฝ่ายซ้ายมองว่าโรเบิร์ต เคตต์คือผู้บุกเบิกการเมืองของประชาชนและปกป้องสิทธิของสามัญชน ใน ค.ศ. 1949 เมื่อถึงวาระครบรอบ 400 ปีของการกบฏ มีการจัดงานฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่ สภาชิกสภาเทศบาลจากพรรคแรงงานเสนอให้มีการจัดสร้างอนุสรณ์เพื่อระลึกถึงเคตต์ในฐานะวีรบุรุษของสามัญชน สภาเทศบาลจึงติดตั้งแผ่นจารึกหินเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่โรเบิร์ต เคตต์ไว้ที่ทางเข้าปราสาทเมืองนอริช บนแผ่นจารึกเขียนไว้ว่า "อนุสรณ์นี้ติดตั้งไว้เพื่อ....เป็นเกียรติแก่ผู้นำผู้โดดเด่นและหาญกล้าในการต่อสู้อันยาวนานของสามัญชนแห่งอังกฤษ ที่มุ่งหวังหลุดพ้นจากบ่วงของชีวิตข้าทาสไปสู่เสรีภาพของสังคมยุติธรรม"


หลังจากนั้น โรเบิร์ต เคตต์ก็กลายเป็นวีรบุรุษท้องถิ่นของเมืองนอริช ชื่อโรเบิร์ต เคตต์กลายเป็นชื่อของโรงเรียนและสถานที่สำคัญต่าง ๆ รวมทั้งเป็นแรงบันดาลใจให้กลุ่มกิจกรรมสังคมใหม่ในอังกฤษ เช่น กลุ่ม The Land is Ours ที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับปัญหาที่ดินสาธารณะ เป็นต้น สิ่งที่น่าเสียดายก็คือ ในช่วงทศวรรษ 1960 เทศบาลเมืองนอริชตัดต้นโอ๊กแห่งการปฏิรูปทิ้งไปเพื่อทำเป็นลานจอดรถ


 


ส่งท้าย


ถึงแม้กบฏเคตต์อาจไม่ใช่การต่อสู้อย่างถึงรากถึงโคน ไม่ได้มุ่งหมายทำลายระบบศักดินาและความสัมพันธ์แบบเจ้าที่ดินของยุโรป แต่กบฏเคตต์ได้สะท้อนให้เห็นว่า สามัญชนมีวิสัยทัศน์ถึงโลกการเมืองแบบของตัวเอง โลกที่อำนาจของขุนนางเจ้าที่ดินหรืออำมาตยาธิปไตยถูกจำกัดและลดทอนลง โลกที่ระบบการปกครองมีการกระจายอำนาจมากกว่าเดิมและมีรูปแบบการปกครองที่เป็นทางเลือกอื่นนอกเหนือไปจากระบบที่เป็นอยู่ สามัญชนยังต้องการให้มีการกำกับดูแลความสัมพันธ์ระหว่างภาคสังคมและภาคเศรษฐกิจ กล่าวคือ ภาคสังคมต้องกำกับดูแลระบบเศรษฐกิจ ไม่ใช่ในทางตรงกันข้าม นอกจากนี้ พวกเขายังแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการบริหารจัดการการปกครอง การใช้แนวทางประนีประนอมยืดหยุ่นและสันติวิธีอีกด้วย


คติเตือนใจที่เราได้จากกบฏเคตต์ก็คือ การมองแต่ปัญหาท้องถิ่น โดยไม่ได้วิเคราะห์ไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำให้กบฏเคตต์เข้าใจโลกความเป็นจริงผิดพลาดไป การที่สถาบันกษัตริย์อังกฤษอภัยโทษแก่ผู้ทำลายรั้วล้อมเขตที่ดิน หาได้หมายความว่า สถาบันกษัตริย์ยืนอยู่ข้างสามัญชนไม่ ผลประโยชน์ของพระราชวังยังคงผูกติดและดำเนินไปร่วมกับชนชั้นสูง ดังที่คาร์ล โปลันยีเขียนไว้ในหนังสือเรื่อง The Great Transformation ว่า ราชวงศ์ทิวดอร์อาจพยายามผ่อนบรรเทาความพินาศทางสังคมที่เกิดจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบทุนนิยมก็จริง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ราชวงศ์ต่อต้านระบบทุนนิยม มันเป็นเพียงปฏิกิริยาของกระแสสังคมที่พยายามรักษาเนื้อเยื่อโครงข่ายของสังคมไว้ไม่ให้พังทลายลงอย่างเฉียบพลันเกินไป และในอีกด้านหนึ่ง การพยายามชะลอความเปลี่ยนแปลงทางสังคมไว้บ้าง ย่อมเท่ากับการรักษาพระราชอำนาจของกษัตริย์ไว้ด้วย แต่เมื่อไรที่สถาบันกษัตริย์สามารถปรับตัวและมั่นใจในฐานอำนาจของตน ธาตุแท้ของความเป็นชนชั้นสูงย่อมสำแดงออกมาอีกครั้งและสามัญชนย่อมกลายเป็นแพะบูชายัญอำนาจเสมอไป นอกเสียจากสามัญชนจะยกระดับการต่อสู้ของตนให้กลายเป็น "สงครามชนชั้น" อย่างแท้จริง


 


ข้อมูลประกอบการเขียน:


Barrett L. Beer, Rebellion and Riot: Popular Disorder in England During the Reign of Edward VI, (Kent State University Press, 2005), books.google.co.th


http://www.bbc.co.uk/legacies/myths_legends/england/norfolk/article_1.shtml


http://norfolkcoast.co.uk/nor_home.htm


http://www.dta.org.uk/ourlongandlivelytraditionUNPUBLISHED/historycontentsummary/robertkett.htm


http://www.learnhistory.org.uk/cpp/index.html


http://www.nationmaster.com/encyclopedia


http://www.spartacus.schoolnet.co.uk/


http://www.swannington-norfolk.co.uk/index-page100.html


http://www.webarchive.org.uk/pan/12032/20051206/virtualnorfolk.uea.ac.uk/kett/index.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net