Skip to main content
sharethis

อับดุชชะกูรฺ บิน ชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยทักษิณ
ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา


 


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสดามูฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน


 


เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันประเทศมาเลเซีย มีบทบาทสำคัญในเวทีการเมืองเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนเป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่สำคัญประเทศมาเลเซียยังมีกลุ่มชาติพันธ์ ภูมิประเทศ และวัฒนธรรมคล้ายกับภาคใต้ของไทย


 


จากความสำคัญของมาเลเซียในด้านต่างๆดังกล่าวการเรียนรู้ถึงการเมืองมาเลซีย โดยเฉพาะการเปลี่ยนผู้นำสูงสุดช่วงต้นเดือนเมษายนเป็นสิ่งจำเป็นกล่าวคือ นายนาญีบ รอซัก ได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียแทนนายอับดุลเลาะห์ อะหะหมัด บาดาวี ที่ยอมลงตำแหน่งอย่างจำยอมเมื่อ วันที่ 3 เมษายน 2552 ทำให้การเมืองมาเลเซีย เป็นที่จับตามองของทั่วโลกอีกครั้งหนึ่ง


 


นายนาญีบ รอซัก มีชื่อเต็มว่า ดาโต๊ะสือรีมุฮัมมัด นาญีบ บินตุนอับดุลรอซัก Datuk Seri Muhammad Najib Bin Tun Abdul Razak คำว่าบินตุนอับดุลรอซัก หมายถึงลูกของตุนอับดุลรอซัก ดังนั้นรอซักไม่ใช้นามสกุลเหมือนบ้านเราแต่เป็นชื่อย่อของบิดาของท่าน ซึ่งเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของมาเลซียคนที่๒ (ตุน อับดุลรอซัก ฮุสเซน)


 


ท่านเกิดเมื่อปี 1953 ณ เมืองกัวลาลิปิส รัฐปะหัง เป็นบุตรคนโตของตุน อับดุลรอซัก บินฮุสเซน Tun Abdul Razak Bin Husain และตุน ราฮาห์ บินตี มุฮัมหมัด นุฮฺ Tun Rahah Binti Mohd Noah


 


เขาได้รับการศึกษาขั้นต้น ณ St John Institution กรุงกัวลาลัมเปอร์ ก่อนที่จะศึกษาต่อ ณ Maven Boy's College, เมือง Worchestershire ประเทศอังกฤษจนท้ายสุดได้ปริญญาเกียรตินิยมทางด้านเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรมในปี 1974 ณ มหาวิทยาลัยนอตติงแฮม ประเทศอังกฤษ


 


ท่านเริ่มงานทางการเมืองได้เป็น ส.ส.ที่อายุน้อยที่สุดในวัย 23 ปีภายหลังจากได้รับเลือกให้ลงแข่งชิงที่นั่ง ส.ส.เขตเปกัน รัฐปะหัง เนื่องจากการเสียชีวิตของบิดาเขา ณ กรุงลอนดอนเมื่อวันที่ 14 มกราคม 1976


 


ชีวิตทางการเมืองของท่านก้าวกระโดดมากเพราะ หลังจากนั้นเพียงสองปีท่านได้รับแต่งตั้งเป็น รมช.พลังงาน, โทรคมนาคมและไปรษณีย์ ในปี 1978 ในขณะที่มีอายุ 25 ปี ในปี 1982 - 1986 เขาได้เป็นผู้ว่าการรัฐปะหัง ซึ่งเป็นผู้ว่าการรัฐที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ คือ 29 ปี


 


ในปี 1986 ในขณะมีอายุ 33 ปี นาจิบได้เป็น รมว.วัฒนธรรม, เยาวชนและการกีฬา และหลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 1990 เขาได้ย้ายมาดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม


 


เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็น รมว.ศึกษาธิการในปี 1995 ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 1999 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็น รมว.กลาโหม และภายหลังจากดาโต๊ะสือรี อับดุลเลาะห์ อะหะมัด บาดาวี เข้าสืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนตุลาคม 2003 ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2004


 


วันที่ 17 กันยายน 2008 นาจิบได้รับการแต่งตั้งเป็น รมว.คลัง โดยอับดุลเลาะห์รับตำแหน่ง รมว.กลาโหมแทนและประกาศจะลงจากตำแหน่งภายในเดือนมีนาคม 2552


 


ในที่สุด ปลายเดือนมีนาคม 2552 "นาญีบ รอซัก" ได้ฉันทานุมัติจาก การประชุมสมัชชาพรรค "อัมโน" แต่งตั้งเป็นประธานอัมโน แทนที่นาย อับดุลเลาะห์ อะหะหมัด บาดาวี 


 


หลังจากรับเป็นผู้นำพรรคได้สามวันดาโต๊ะศรี นาญีบ บิน ตุน รอซัก ก็เข้าทำพิธีสาบานตนเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 6 ของประเทศมาเลเซียต่อหน้าพระพักตร์องค์พระราชาธิบดี ตวนกู มิซาน ไซนั้ล อะบีดิน ในวันที่ 3 เมษายน 2009


 


ความเป็นจริงนาญีบได้เป็นผู้นำก่อนกำหนด


 


หลังจากดร. มหาฎีรฺ มุฮัมมัด ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งมาเลเซียมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 2 ทศวรรษ และยอมสละเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ตุลาคม 2003 ให้กับนายอับดุลเลาะห์ อะหะมัด บาดาวี เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรี


 


การที่นายอับดุลเลาะห์ อะหะมัด บาดาวีได้รับการยอมรับจากมหาฎีรฺให้เป็นผู้นำต่อจากเขาอันเนื่องมาจาก เป็นนักการเมืองอาวุโสที่ทำงานในรัฐบาลของ ดร. มหาฎีรฺมาเป็นระยะเวลายาวนาน จะสามารถสานต่อนโยบายของ ดร. มหาฎีรฺ ในการพัฒนามาเลเซียให้เป็นชาติที่ทันสมัยและก้าวหน้าได้อย่างต่อเนื่อง


 


บททดสอบแรกเมื่อมีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2004 คนมาเลเซียให้การสนับสนุนรัฐบาลถึงร้อยละ 90 ถ้าจะเปรียบเทียบกับสมัยอดีตนายกมหาฎีร์ โมฮัมหมัด แล้วก็ดีกว่ามาก ในอดีตปี 2000 พรรคแนวร่วมแห่งชาติได้ที่นั่งในสภาเพียงร้อยละ 77 มาปี 2004 พรรค UMNO ได้รับการสนับสนุนจากทั้งหมด 11 รัฐด้วยกัน (มาเลเซียมีทั้งหมด 12 รัฐ) ถ้าจะดูจากจำนวนผู้ออกเสียงเลือกตั้งแล้วก็จะพบว่าคนออกมาใช้สิทธิมากกว่าอดีต (ร้อยละ 57) คือในปี 2004 มีถึงร้อยละ 64


 


พรรค PAS (Parti Islam Se-Malaysia) ได้ที่นั่งแค่ 7 ที่นั่งในรัฐทางใต้แถบ กลันตัน ตรังกานู ปะริต ในขณะที่ในอดีตปี 2000 พรรค PAS ได้ที่นั่ง 27 ที่นั่ง ก็ต้องยกประโยชน์ให้กับนายกรัฐมนตรีอับดุลเลาะห์ แม้ว่าท่านจะถูกวิจารณ์ว่าให้ฝ่ายค้านมีเวลาหาเสียงเพียง 8 วัน คือแทบจะตั้งตัวไม่ติด นอกจากนั้นรัฐบาลก็สามารถคุมสื่อได้เกือบทั้งหมด ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้แสดงให้เป็นถึงความเป็นผู้นำของ นายอับดุเลาะห์ นับเป็นตัวแปรสำคัญของการเลือกตั้งครั้งนี้


 


ภายหลังการเลือกตั้งอับดุลเลาะห์มีความเชื่อมั่นสูง มีการออก "กฎเหล็กคุมประพฤติ ส.." โดยกำหนดให้ ส.. เข้าประชุมพรรคทุกครั้ง และกำหนดให้มีการประเมิน ส.. ทุก ๆ 3 เดือน ถ้าใครไม่ผ่านเกณฑ์ก็คงไม่มีโอกาสลงสมัครรับเลือกตั้งในคราวหน้า และจะถูกเว้นวรรคทางการเมืองถึงปี 2008


 


การบริหารงานของนายอับดุลเลาะห์ดำเนินเรื่อยมาจนกระทั่งเกิดปัญหาการประท้วงของชนเชื้อสายอินเดียในปี 2007


 


ชุมชนชาวอินเดียซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในมาเลเซียจัดการประท้วงบนท้องถนนต่อต้านรัฐบาลมาเลเซียครั้งใหญ่ที่สุด เพื่อต่อต้านการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ นำโดยนายพี. อุทยา กูมาร์ ท้ายสุดตำรวจปราบจลาจลมาเลเซียได้ฉีดแก๊สน้ำตาและน้ำเพื่อสลายกลุ่มผู้ประท้วงแต่ต้องใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมงจึงจะสามารถสลายกลุ่มผู้ประท้วงได้หมดในย่านใจกลางกรุงกัวลาลัมเปอร์


 


ในขณะที่นายอับดุลเลาะห์ ได้ใช้กฎหมายด้านความมั่นคงภายใน เข้าไปจัดการกับกลุ่มผู้ประท้วงและจัดการกับพรรคฝ่ายค้านต่างๆ ทำให้อุณภูมิทางการเมืองยิ่งร้อนแรงจนในที่สุดต้องประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2008 และจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 12 ใน 8 มีนาคม 2008 โดยไม่ให้พรรคฝ่ายค้านตั้งตัวได้


 


การประกาศยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 2008 ทั้งที่สภาผู้แทนชุดนี้ยังมีอายุถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2008 ซึ่งมีการวิเคราะห์ด้วยว่า การที่อับดุลเลาะห์ เลือกจังหวะนี้ เหตุผลประการหนึ่งคือ เพื่อสกัดกั้นการลงสมัคร ส.ส.ของนายอันวาร์ อิบรอฮีม ผู้นำพรรคความยุติธรรมของประชาชน (People's Justice Party) ซึ่งยังไม่ครบกำหนดเวลาเล่นการเมืองตามคำสั่งของศาลจนกว่าจะถึง 14 เมษายน 2008


 


แต่แล้ว 9 มีนาคม 2008 คณะกรรมการเลือกตั้งมาเลเซีย ประกาศผลการเลือกตั้งทั่วไปในมาเลเซียว่า พรรครัฐบาลของเขา คว้าที่นั่งในรัฐสภาไปได้ 137 ที่นั่ง จากทั้งหมด 222 เก้าอี้ หรือได้คะแนนเสียงน้อยกว่า 62 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่พรรคฝ่ายค้านได้ไปถึง 82 ที่นั่ง นี่เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นมาเกือบ 40 ปีแล้วในประวัติศาสตร์การเมืองมาเลเซีย ที่รัฐบาลมีคะแนนเสียงไม่ถึง 2 ใน 3 โดยที่ในปี 1969 รัฐบาลภายใต้กลุ่มแนวร่วมแห่งชาติต้องเสียที่นั่งกระทั่งคะแนนเสียงไม่ถึง 2 ใน 3 ที่สำคัญพรรครัฐบาลมาเลเซีย (BN-UMNO) ต้องแพ้การเลือกตั้งท้องถิ่นถึง 5 รัฐ คือ กลันตัน ปีนัง สลังงอร์ เคดาห์ และเปรัก โดยที่พรรคยุติธรรมแห่งชาติหรือพรรคเกออาดิลัน (People's Justice Party or KeADILan) ร่วมกับพรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย (Parti Islam Se-Malaysia) หรือพรรคปาส สามารถรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่นในสลังงอร์ได้ อันเป็นรัฐใจกลางเมืองของมาเลเซีย


 


ทั้งนี้ผลการเลือกตั้งของมาเลเซียสะท้อนคะแนนที่ร่วงกราวรูดของนายกรัฐมนตรีนายอับดุลเลาะห์ อะหะมัด บาดาวี และส่งผลสะเทือนต่อเสถียรภาพของรัฐบาลภายใต้การบริหารของกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ (Barisan National - BN) ที่นำโดยพรรคอัมโน (United Malays National Organization -UMNO)


 


ทำให้ 1 เมษายน 2008 นายมหาฎีรฺ มุฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เรียกร้อง ให้บรรดาผู้สนับสนุนเขา ต่อต้านนายกรัฐมนตรีอับดุลเลาะห์ อะหะมัด บาดาวี อย่างเปิดเผย


 


สมาชิกพรรคสหมาเลย์แห่งชาติ (อัมโน) ประมาณ 2,000 คน เข้าร่วมฟังนายมหาธฎีรฺพูดที่โรงแรมแห่งหนึ่ง อันนับเป็นการท้าทายอำนาจของนายอับดุเลาะห์มากที่สุด ตั้งแต่ขึ้นครองตำแหน่งหัวหน้าพรรคอัมโนเมื่อปี 2003


 


วาระของการประชุมคือการวิเคราะห์ความพ่ายแพ้ของพรรคร่วมรัฐบาล แต่บรรยากาศกลับกลายเป็นการวิจารณ์นายอับดุเลาะห์


 


นอกจากนี้มหาฎีรฺ กล่าวหานายอับดุเลาะห์ ว่าล้มเหลวที่จะควบคุมปัญหาทุจริตซ้ำร้ายยังเกื้อหนุนเครือญาติในการทำผิดและอยู่ในอำนาจในรัฐบาล



หลังจากนั้นนายอับดุลเลาะห์ ดำเนินการอย่างสุดฤทธิ์เพื่อประคับประคองอำนาจการนำของเขาให้อยู่รอดต่อไป แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเพราะ ภายในก็ไม่ยอมรับท่านมากขึ้นในขณะที่ พรรคซาบาห์ก้าวหน้าซึ่งเป็นหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลได้เรียกร้องให้ (เมื่อวันพุธ ที่18 มิถุนายน 2008) ให้เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายอับดุเลาะห์ ทำให้สถานภาพของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานภาพของนายอับดุลเลาะห์ ระส่ำระสายอย่างหนัก


 


อย่างไรก็ตาม นายอับดุเลาะห์ปฏิเสธที่จะลาออกจากตำแหน่งผู้นำแต่ใช้วิธีการเพิ่มอำนาจให้นาจีบ รอซักทีละนิดเป็นขั้นเป็นตอน


 


โดยเริ่มจาก แต่งตั้งเป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และในวันที่ 17 กันยายน 2008 นาจิบได้รับการแต่งตั้งเป็น รมว.คลัง โดยอับดุลเลาะห์รับตำแหน่ง รมว.กลาโหมแทนและประกาศจะลงจากตำแหน่งภายในเดือนมีนาคม 2009


 


แต่ไม่ใช่นาญีบจะได้เป็นผู้นำมาเลเซียอย่างง่ายเพราะช่วงรอตำแหน่งดังกล่าวเขาเกือบตกมาตายกลางคัน เพราะปลายปี 2008 เขาเป็นผู้นำการบัญชาการเลือกตั้งซ่อมของพรรคและ ผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรคอัมโนต้องพ่ายแพ้แก่ นายมุฮัมมัด อับดุล วาฮีด เอ็นดุด ของพรรคพาสฝ่ายค้านในการเลือกตั้งซ่อมที่รัฐตรังกานู ด้วยคะแนนที่ทิ้งห่างกันกว่า 2,600 คะแนน


 


ในขณะเดียวกันเขายังถูกกล่าวหาว่าพัวพันการมีเพศสัมพันธ์และฆาตกรรมนางสาวอัลตันตูยา ชารีบู นักแปลสาวชาวมองโกเลียวัย 28 ปี ผู้ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2006 ก่อนที่ศพจะถูกนำไประเบิดทิ้งในป่าชานกรุงกัวลาลัมเปอร์ แต่แล้วศาลก็ยกฟ้อง


 


ในที่สุด ปลายเดือนมีนาคม 2009 "นาญีบ รอซัก" ได้ฉันทานุมัติจาก การประชุมสมัชชาพรรค "อัมโน" แต่งตั้งเป็นประธานอัมโน แทนที่นาย อับดุลเลาะห์ อะหะหมัด บาดาวี ที่นำพรรคผ่านพ้นช่วงเวลาตกต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์กว่า 50 ปีที่อัมโนเป็นแกนนำบริหารประเทศ ด้วยการสูญเสียที่นั่งจำนวนมากให้กับพรรคร่วมฝ่ายค้านในการ โดยมีงานเร่งด่วนคือเดินหน้าปฏิรูปพรรคหลังยุคตกต่ำแตกแยก



ความรู้สึกของนาญีบและปัญหาที่ท้าทาย


 


หลังจากรับเป็นผู้นำพรรคได้สามวันดาโต๊ะเซอรี นาจิบ ตุน รอซัก ก็เข้าทำพิธีสาบานตนเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 6 ของประเทศมาเลเซียต่อหน้าพระพักตร์องค์พระราชาธิบดี ตวนกู มิซาน ไซนั้ล อะบีดีน


 


ถึงแม้เมื่อดูประวัติทางการเมืองของท่านในภาพรวมจะสวยหรูแต่การบริหารประเทศในภาวะฝ่ายค้านเข้มแข็งและปัญหาเศรฐกิจกำลังรุมเร้าไม่ใช้เรื่องง่ายและเป็นภาระหน้าที่อันใหญ่หลวงสำหรับเขา


 


นาญีบตอบคำถามถึงความรู้สึกของเขาว่า "ผมรู้ดีว่านี่เป็นภาระหน้าที่ เป็นความเกียรติอันยิ่งใหญ่"


 


"แต่ที่สำคัญมากกว่านี้ คือผมได้ตระหนักถึงภาระหน้าที่นี้อย่างมาก และคอยเตือนตัวเองว่านี่ไม่ใช่สถานะ ไม่ใช่เรื่องของอำนาจ แต่เป็นความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ และเป็นความหวังของประชาชน" นาญีบกล่าว


 


เขากล่าวว่า เขาต้องทำงานให้ดีที่สุด เพื่อที่ประชาชนจะไว้วางใจว่ารัฐบาลของเขาเป็นรัฐบาลที่รับใช้ประชาชนและพวกเขาสามารถฝากความหวังไว้ได้เพราะเป็นรัฐบาลที่เข้าใจถึงความต้องการของพวกเขา


 


9 เมษายน 2009 ท่าน ประกาศรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งลดจำนวนลงจากเดิม 32 คน เหลือ 28 คน เพื่อให้คล่องตัวขึ้นในการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมืองในภาวะที่รัฐบาลกำลังเสื่อมความนิยมจากประชาชน ท่ามกลางเศรษฐกิจที่กำลังถดถอย


 


อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีทั้ง 28 คนจะมีรัฐมนตรีช่วย 40 คน และรัฐบาลกำลังจะสร้างกระทรวงใหม่เกี่ยวกับความเป็นเอกภาพภายในชาติ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ให้คำมั่นว่าจะนำพาประเทศผ่านพ้นภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ และกล่าวว่าคณะรัฐมนตรีชุดนี้สะท้อนถึงความหลากหลายของกลุ่มแนวร่วมพันธมิตรแห่งชาติ (อัมโน) ซึ่งประกอบด้วยพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของคนหลายเชื้อชาติในมาเลเซีย 


 


คณะรัฐมนตรีใหม่ชุดนี้ ท่านหวังว่า จะสามารถ ปฏิรูปการบริหารอย่างกว้างขวางและปฏิรูปสังคม ซึ่งนายอับดุลเลาะห์ อะหะมัด บัดดาวี นายกรัฐมนตรีคนก่อนก็เคยให้สัญญาไว้อย่างเดียวกัน แต่ล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่


 


สำหรับผู้เขียนหากเขาต้องการยอมรับจากประชาชน เขาต้องรีบแก้ปัญหา ต่างๆมากมายโดยเฉพาะ


1. ความไม่ยุติธรรมในการดำเนินนโยบายภูมิบุตรซึ่งรัฐบาลเปิดโอกาสเอื้อประโยชน์ต่อคนเชื้อสายมลายูไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ยังความไม่พอใจที่เพิ่มสูงขึ้นของชนกลุ่มน้อยเชื้อสายจีนและอินเดีย ที่อดกลั้นมานานต่อนโยบายภูมิบุตร จนเกิดการประท้วงครั้งใหญ่ของชนเชื่อสายอินเดียต่อรัฐบาลของนายอับดุเลาะห์ อะหะหมัด บัดดาวี ถึงแม้ในกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ (Barisan Nasional) จะมีพรรคสมาคมชาวจีนมาเลเซีย MCA (Malaysian Chinese Association) และพรรคสภาอินเดียมาเลเซีย MIC (Malaysian Indian Congress ดังนั้นการปรับเปลี่ยนนโยบายภูมิบุตรอาจจะได้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมเร็วขึ้นเพราะในอดีตคนเชื้อสายจีน และอินเดียนั้นอพยพเข้ามาอยู่ในมาเลเซียแต่คนรุ่นใหม่จากเชื้อสายเหล่านี้เกิดในมาเลเซียจึงมีสิทธิและเสรีภาพทุกด้านเหมือนคนมลายู


2. ปัญหาการคอรัปชันและการเล่นพรรคเล่นพวกหรือแม้กระทั่งข้อกล่าวหาว่าพัวพันการมีเพศสัมพันธ์และฆาตกรรมนางสาวอัลตันตูยา ชารีบู นักแปลสาวชาวมองโกเลียวัย 28 ปี


ถึงแม้วันที่ 9 เมษายน 2009 ที่ผ่านศาลจะตัดสินให้ ตำรวจมาเลเซีย สอง นาย ถูกตัดสินประหารชีวิต ในข้อหานี้


3. การวางยุทธศาสตร์ในการการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเพื่อต่อสู้กับ พรรคพันธมิตร ฝ่ายค้านโดยเฉพาะนายอันวาร์ อิบรอฮีมสามารถรวมพลังพันธมิตร 3 ฝ่าย ซึ่งแตกต่างทั้งเชื้อชาติและอุดมการณ์โดยสามพรรคดังกล่าวไม่ส่งส่งผู้สมัครลงแข่งกันเอง แต่ใช้วิธีรวมกลุ่มส่งผู้สมัครคนเดียวในแต่ละเขต


4. การบริหารจัดการในภาวะเสียงสนับสนุนในสภาน้อย


การที่พรรคแนวร่วมแห่งชาติ (Barisan Nasional) ได้คะแนนเสียงน้อยกว่า 62 เปอร์เซ็นต์และ ต้องแพ้การเลือกตั้งท้องถิ่นถึง 5 รัฐ คือ กลันตัน ปีนัง สลังงอร์ เคดาห์ และเปรัก ให้ พรรคพันธมิตร ฝ่ายค้านจะยังผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายของนาญีบอย่างแน่นอนเช่น


5. นโยบายการพัฒนาประเทศภายใน ปี 2020 อาจจะไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายและทันเวลา อันเนื่องมาจากจะต้องเผชิญปัญหาในการบริหารประเทศ เพราะไม่สามารถครองเสียงในสภาได้มากกว่า 2 ใน 3 ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีปัญหาในการออกกฎหมายต่าง ๆ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันรวมทั้งโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจของรัฐบาลมูลค่า 325,000 ล้านดอลลาร์ที่ตั้งเป้าไว้ก่อนหน้านี้


6. การบริหารจัดการทางการเมืองของนาญีบต้องมีความละเอียดอ่อนและคำนึงสิทธิมนุษยชนมากขึ้นเพราะ ประชาชนจะมีเสรีภาพในการปกระบอบประชาธิปไตยของมาเลเซียมากขึ้น


เป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐบาลกลางในอดีตสามารถควบคุมองค์กรของรัฐและเอกชนได้อย่างค่อนข้างเบ็ดเสร็จโดยเฉพาะสื่อแต่ผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาจะทำให้องค์กรต่างๆโดยเฉพาะสื่อมวลชนกล้ามากขึ้นในการวิภาควิจารณ์การทำงานของภาครัฐ ในขณะเดียวกันจะขยายฐานการเมืองภาคประชาชนให้มีโอกาสตรวจสอบรัฐบาลของพรรคแนวร่วมแห่งชาติ (Barisan Nasional) ของนายนายิบ


                  หากปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับแก้ไข อย่างเป็นรูปธรรม การเมืองมาเลเซียอาจเปลี่ยนขั๋วในการเลือกตั้งครั้งต่อไปก็อาจเป็นไปได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับการบริหารรัฐท้องถิ่นทั้งห้าของฝ่ายค้านด้วยเช่นกัน


 


อนาคตความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซีย


ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต กับมาเลเซีย เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2500 ไทยมีสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์หนึ่งแห่ง นอกจากนี้ ไทยยังมีสถานกงสุลใหญ่ในมาเลเซีย 2 แห่ง (สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองปีนัง และสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู) และมีสถานกงสุลประจำเกาะลังกาวี


 


สำหรับหน่วยงาน ของส่วนราชการต่าง ๆ ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ภายใต้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้แก่ สำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ สำนักงานแรงงาน ส่วนหน่วยงานของไทยอื่นๆ ที่ตั้งสำนักงานในมาเลเซีย คือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บริษัทการบินไทย สำหรับหน่วยงาน ของมาเลเซียในไทยได้แก่ สถานเอกอัครราชทูตมาเลเซีย และสถานกงสุลใหญ่ มาเลเซีย ประจำจังหวัดสงขลา


ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซีย ได้พัฒนาแน่นแฟ้น จนมีความใกล้ชิดกันมาก เนื่องจาก ทั้งสองประเทศมี ผลประโยชน์ร่วมกันหลายประการ การแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับต่าง ๆ ทั้งระดับ พระราชวงศ์ชั้นสูง รัฐบาล และเจ้าหน้าที่ ทั้งอย่างเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ เป็นไปอย่าง สม่ำเสมอ แต่แม้ว่าสองฝ่าย จะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกัน ก็ยังคงมีประเด็นปัญหา ในความสัมพันธ์ ซึ่งต้องร่วมมือกันแก้ไข อาทิ การปักปันเขตแดนทางบก บุคคลสองสัญชาติ ปัญหาการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ทั้งสองประเทศเริ่มมีปัญหาความสัมพันธ์โดยฝ่ายไทยมองว่ามาเลเซียแอบช่วยเหลือชนมลายูมุสลิมภาคใต้ โดยเฉพาะกรณี 131 คนไทยได้อพยพเข้ามาเลเซีย และมาเลเซียเล่นบทผู้ใจบุญคิดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน ความสัมพันธ์ทั้งสองเริ่มตึงเครียด ไม่เพียงเฉพาะระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล แต่กำลังรุกล้ำสู้ระดับประชาชน จนมีการเรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรสิ้นค้าระหว่างกัน


อะไรเป็นสาเหตุที่เป็นเช่นนี้...? ผู้เขียนในฐานะที่เรียนมาเลเซีย และอยู่ภาคใต้ด้วยมีทรรศนะว่าน่าจะมีเหตุผลดังนี้ (จะถูกหรือผิดผู้อ่านมีสิทธิวิเคราะห์และแย้งได้)


1.ความเป็นเชื้อชาติ ภาษา ศาสนาและวัฒนธรรมโดยรวมคล้ายกัน


ไม่ว่าสังคมไทยทั่วไป(ไม่ว่ารัฐและประชาชน) จะยอมรับหรือไม่อย่างไร แต่ความเป็นจริงคนในจังหวัดชายแดนใต้ส่วนใหญ่ (ย้ำส่วนใหญ่) ความเป็นเชื้อชาติมลายู (ถึงแม้ในบัตรประชาชนจะบันทึกว่าเชื้อชาติไทย) ภาษาที่ใช้คือภาษามลายูท้องถิ่น หรือมลายูปัตตานี อักษรยาวี ส่วนมาเลเซียใช้ภาษามลายูกลาง อักษรโรมัน ศาสนาอิสลามเหมือนกัน และวัฒนธรรมการแต่งกาย การละเล่นโดยรวมคล้ายกันซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะต่างจากคนไทยภาคอื่น หรือแม้กระทั่งคนไทยพุทธในพื้นที่เอง


ความเป็นจริงความเป็นเชื้อชาติมลายู ภาษามลายู ศาสนาอิสลาม และวัฒนธรรมโดยรวมคล้ายกันนั้น ไม่เพียงเฉพาะชนส่วนใหญ่ของมาเลเซียเท่านั้น แต่มันยังรวมถึงชนส่วนใหญ่ของอินโดนีเซีย บรูไน และชนส่วนน้อยของสิงคโปร์และเขมร (กำปงจามเพราะคำว่ากำปงเป็นภาษามลายู แปลว่าหมู่บ้านซึ่งชนมลายู อาจจะอพยพไปอยู่ที่นั้น


หลังจากสหประชาชาติได้แบ่งประเทศอย่างชัดเจน ทำให้ชนมลายูบางแห่งเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศนั้น บางแห่งเป็นชนส่วนน้อยของอีกชาติหนึ่งในด้านนิติศาสตร์อาจจะแบ่งคนเหล่านี้ได้


แต่มิได้หมายความว่าในด้านพฤตินัยจะแบ่งคนเหล่านี้ เพราะมันติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด โดยเฉพาะคนรุ่นแรกๆ เพียงแต่คนรุ่นปัจจุบันอาจจะมิใช่เป็นมลายูแท้ 100 เปอร์เซ็นต์เพราะมีการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์และเชื้อชาติกัน


ดังนั้นการรวมประเทศของคนมลายูทั้งหมดในรัฐเดียวกัน อาจจะเป็นไปมิได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน แต่การรวม แลกเปลี่ยน และล่อหลอมและอนุรักษ์ในรูปแบบความเป็นเชื้อชาติ ภาษา ศาสนาและวัฒนธรรมคล้ายกันโดยผ่านนโยบายหรือโครงการ "โลกมลายู (Malays or Malayu World)" โดยมีมาเลเซียเป็นคนขับเคลื่อน


การดำเนินนโยบายดังกล่าวให้เกิดผลดีที่สุดคือ การสนับสนุนด้านการศึกษาและวัฒนธรรม มีนักเรียนมากมายหลายรุ่น จากภาคใต้ได้รับโอกาสจากรัฐบาลมาเลเซีย ให้ไปศึกษาต่อด้านวิชาการศาสนา และสามัญ ด้านสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เมื่อนักเรียนเหล่านั้นจบการศึกษาบางคนกลับมาพัฒนาถิ่นกำเนิด หรือบางคนไม่กลับแต่กลับอาศัยอยู่มาเลเซีย ทำงานที่นั้นจนได้รับสัญชาติมาเลย์ก็มี และมีจำนวนไม่น้อยเช่นกันกลับมา คิดพัฒนาบ้านเกิดแต่ติดอุปสรรคด้านความมั่นคง หรือเศรษฐกิจเลยกลับไปทำงานมาเลเซีย ต่อจนได้รับสัญชาติมาเลเซีย และประเทศมาเลเซียได้รับประโยชน์จากบุคลากรที่มีค่าเหล่านี้ แต่มิใช่ประเทศไทยจะมิได้รับประโยชน์เอาเสียเลย เพราะหลายคนมีญาติพี่น้องต้องส่งเสีย ปีหนึ่งๆ คนเหล่านี้ได้ส่งเงินกลับบ้านนับล้านบาท (นี่ไม่นับรวมคนเปิดร้านอาหารที่นั้น)


ปัจจุบันมาเลเซียมิใช่เป็นที่เรียนสำหรับนักเรียนทุน เหมือนอดีตที่ผ่านมาเท่านั้น มีนักเรียนทั้งพุทธ และมุสลิมทั้งภาคใต้และกลาง ยอมควักกระเป๋าปีละหลายแสนบาทศึกษาต่อตั้งแต่ระดับประถมถึงปริญญาเอก


ไม่เพียงการศึกษาต่ออย่างเดียว การสัมนาวิชาการระหว่างนักวิชาการด้านมลายูศึกษา และศาสนา ถูกจัดหลายครั้งในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะมาเลเซีย คนที่ร่วมสัมมนาแน่นอนเป็นนักวิชาการจาก 4 จังหวัดชายแดนใต้ หรือแม้กระทั่งโต๊ะครูปอเนาะ เพื่อสัมมนาวิชาการเรื่องปราชญ์โลกมลายูมุสลิม ทั้งที่ปราชญ์โลกมุสลิมจริงๆ อยู่ที่ปัตตานี


ไม่เพียงเท่านั้นมาเลเซียในช่วงก่อน และหลังโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ยังได้สนับสนุนหลายโครงการ แก่ชุมชนมลายูมุสลิมที่อยู่ในพื้นที่ท่อก๊าซ


อีกปัจจัยหนึ่งความเป็นเครือญาติใกล้ชิดของคนแนวชายแดน หรือหลายคนในระดับราชวงศ์หรือรัฐบาลตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งอดีตนายกรัฐมนตรีอับดุลเลาะห์ (ลองสืบดูว่ามีญาติอยู่ปัตตานีหรือไม่)


จากเหตุผลในมิติทางความเป็นเชื้อชาติ ภาษา ศาสนาและวัฒนธรรมโดยรวมคล้ายกันกระมังที่ทำให้มาเลเซียช่วยเหลือ คนไทยเชื้อสายมลายูที่กำลังได้รับความเดือดร้อน ตลอด (ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะถูกใครวางแผนหรือไม่อย่างไรเป็นอีกประเด็นหนึ่ง)


2. ความมั่นคง


ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากมองภูมิรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวพันกันระหว่างสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย และสหรัฐอเมริกา


อเมริกาต้องการยึดช่องแคบมะละกา เพื่อควบคุมการเดินเรือ เพราะอเมริกาต้องการให้ช่องแคบมะละกานั้น ปราศจากอิทธิพลของประเทศมุสลิมแถบตะวันออกกลาง อันจะเป็นผล ทำให้การขนส่งทางน้ำจากตะวันออกกลาง ออกมาสู่มหาสมุทรแปซิฟิก แล้วต่อไปทางอเมริกานั้นไม่ติดขัด มาเลเซียเป็นประเทศอิสลาม ช่องแคบมะละกาอยู่มาเลเซียเป็นหลัก แล้วเกี่ยวพันกับอินโดนีเซีย เพราะฉะนั้นมาเลเซียจะไม่มีวันดีใจได้ หากให้อเมริกาเข้ามาคุม มาเลเซียเคยปฏิเสธการเข้ามาดูแลของอเมริกาไปแล้ว ช่องแคบมะละกามาเลเซียต้องการดูแลเองได้


สำหรับ สิงคโปร์ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับมาเลเซียเป็นที่ทราบกันดีว่าสนิทกับ สหรัฐอเมริกา


ผู้เขียนอยากเพิ่มอีกเหตุผลหนึ่งสำหรับอินโดนีเซีย กล่าวคือไทยต้องไม่ลืมว่าไทยมีบทบาทอะไร ต่อเหตุการณ์เอกราชติมอร์ตะวันออก โดยลึกๆ รัฐบาล และประชาชนส่วนรวมของอินโดนีเซียรู้สึกอย่างไรต่อไทย คนติมอร์คิดอย่างไรต่อรัฐบาลและประชาชนส่วนรวมของอินโดนีเซียและต่อไทย


3. การรับรู้ในสิ่งที่ดีจากสองฝ่าย


ถามว่าข่าวคราวเรื่องที่ดีจากสองฝ่ายสื่อมวลชนทั้งสองฝ่ายเอาไปลงหรือไม่ เหตุการณ์กรือเซะ เหตุการณ์ตากใบ การฆ่ารายวันและเหตุการณ์ร้ายอื่นๆ สื่อมวลชนเอาไปลงและให้ความสำคัญ การเยียวยา การตั้งกรรมการสมานฉันท์ การใช้สันติวิธี และสิ่งดีอื่นๆ รัฐบาลมาเลเซียได้รับจากสื่อหรือไม่ นักข่าวเองก็นำประเด็นเหตุร้ายเหล่านี้ ถามผู้ใหญ่ของรัฐทั้งสอง เป็นเวทีตอบโต้กัน ในทำนองเดียวกันสื่อไทย ก็นำเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน ด้านสิทธิมนุษยชนมาเลเซียมาเล่นเช่นกัน ยิ่งตอกลิ่มความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานเข้าไปอีก


ยิ่งภาพข่าวความรุนแรงในเมืองไทยไม่ว่าจะเป็นที่พัทยาและกรุงเทพมหานคร ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและประชาชนมาเลเซียเป็นจำนวนมากเพราะนายกมาเลเซียคนใหม่ นาญีบ รอซัก ได้มาประชุมอาเซียนที่พัทยาแต่ต้องรีบกลับอย่างทุลักทุเล


ผลของความรุนแรงที่กรุงเทพมหานครบวกกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ทำให้คนมาเลเซียกลัวที่จะมาเที่ยวเมืองไทยช่วงสงกรานต์และในอนาคตถึงแม้คนหาดใหญ่จะเห็นว่าคนมาเลเซียยังเที่ยวหาดใหญ่อยู่แต่น่าจะมีนักท่องเที่ยวมากกว่านี้หากอยู่ในสถานการณ์ปกติซึ่งมันสอดคล้องกับทางการมาเลเซียที่พยายามเตือนหรือถึงขั้นห้ามนักท่องเที่ยวเข้าไทยตลอด เหมือนกับตอน วันที่ 2 พ.ย. ปีที่แล้ว ที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ทำการชุมนุมปิดล้อมสนามบินท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง ทำให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเข้าใช้บริการได้


 


สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดทำให้สื่อมาเลเซียได้ออกไปสัมภาษณ์คนมาเลเซียจากหลากหลายเชื้อชาติไม่ว่าจะเป็นคนมลายูมุสลิม จีน อินเดียโดยเฉพาะทีวีช่อง RTM 1


 


คนเหล่านี้บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เราโชคดีแล้วที่อยู่มาเลเซีย เป็นเมืองสงบ สันติ อิสระ มีประชาธิปไตย และไม่มีปัญหาทางเชื้อชาติ


 


ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์ ณ วันนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายโดยเฉพาะจากภาครัฐและสื่อมวลชนจากเมืองไทย น่าจะนำเสนอ ประชาสัมพันธ์ของดีจากเมืองไทยให้มากขึ้นหลายเท่าตัว


 


ดังนั้นความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซีย คงจะดีขึ้นในอนาคตหากนายกรัฐมนตรีนาญีบ รอซักและนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะของไทย รู้จักใช้เวทีทางการทูตเชิงสร้างสรรค์ หากใช้เวทีทางการทูตตอบโต้กันผ่านสื่ออย่างที่ผ่านมา ปัญหาชายแดนใต้ยิ่งยากต่อการเยียวยา และ คนที่ได้รับผลกระทบท้ายสุดแล้ว คือประชาชนทั้งสองประเทศ ที่สำคัญจะส่งผลกระทบต่อ ยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วม สำหรับพื้นที่ชายแดนไทย - มาเลเซีย (Thailand-Malaysia Committee on Joint Development Strategy for border areas-JDS) โดยมีจุดมุ่งหมายหลัก คือการพัฒนา ความกินดีอยู่ดีของประชาชน ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สงขลา ยะลา สตูล ปัตตานี และนราธิวาส) กับ 4 รัฐภาคเหนือของมาเลเซีย (ปะลิส เกดะห์ กลันตัน และเประ เฉพาะอำเภอเปิงกาลันฮูลู) โดยมีโครงการความร่วมมือหลายสาขา อาทิ การพัฒนาโครงการพื้นฐาน และการเชื่อมโยง เส้นทางคมนาคม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การท่องเที่ยว การเกษตร ประมง และปศุสัตว์ เป็นต้น ความร่วมมือในกรอบ JDS จะสนับสนุนความร่วมมือ ในกรอบการพัฒนา เขตเศรษฐกิจ สามฝ่ายอินโดนีเซีย - มาเลเซีย - ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) ที่ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2536

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net