Stimson : อะไรคือปัญหาของประเทศไทย





กิจกรรมนี้เกิดขึ้นจากทีมนักแปลอาสาสมัครที่อยากให้สาธารณชนได้บริโภคข่าวสารอย่าง รอบด้าน เนื่องเพราะเห็นว่าสื่อสารมวลชนของไทยมีปัญหาเรื่องการทำงานในสถานการณ์ วิกฤตินี้ เราจึงเลือกแปลข่าวของสื่อต่างชาติที่ยังสามารถทำงานตามหลักการวิชาชีพได้ โดยไม่มีอคติต่อฝ่ายใด และไม่มีอำนาจรัฐมาครอบงำ 

 

 

ทีมแปลข่าวเฉพาะกิจ


ที่มา: แปลจาก "What"s the Matter with Thailand?" บทวิเคราะห์ของ ทิมอธี แฮมลิน นักวิจัยในโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, Stimson Center http://www.stimson.org/pub.cfm?id=777


 

 

 

โดย ทิมอธี แฮมลิน (Timothy Hamlin)

16 เมษายน 2552

 

วิกฤตการณ์การเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยเผยให้เห็นว่าสถาบันทางการเมืองต่างๆในประเทศได้ถูกทำลายมาตลอดหลายทศวรรษจนมาถึงจุดที่ไม่มีความสำคัญแล้ว ความขัดแย้งทางการเมืองและความคับข้องใจถูกนำมาต่อสู้กันบนท้องถนนมากขึ้นแทนที่จะเป็นรัฐสภา ชื่อเสียงของประไทยได้รับความเสียหายจากการประท้วงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งทำให้การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 14 ต้องถูกยกเลิกในนาทีสุดท้ายโดยผู้นำประเทศในภูมิภาคหลายคนต้องถูกพาอพยพลี้ภัยด้วยเฮลิคอปเตอร์ มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในกรุงเทพมหานคร และทหารใช้กองกำลังจัดการกับการจลาจลที่ถูกโดดเดี่ยว ความสงบเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 เมษายน แต่ไม่มีการให้ความสำคัญกับสาเหตุต่างๆที่เป็นรากเหง้าของความขัดแย้ง

 

ต้นปี 2549 กลุ่มผู้สนับสนุนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่ใส่เสื้อเหลือง ออกมาประท้วงต่อต้านนโยบายประชานิยม การดำเนินธุรกิจ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งของทักษิณ ชินวัตรผู้เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ตามมาด้วยการทำรัฐประหาร บุคคล 2 คนที่เป็นพรรคพวกของทักษิณได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากนั้น คือ นายสมัคร สุนทรเวช ที่รับตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคม 2551 และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (น้องเขยของทักษิณ) รับตำแหน่งในเดือนกันยายน 2551 ทั้งสองคนถูกต่อต้านโดยการกลับมาชุมนุมประท้วงครั้งใหม่ที่ก้าวร้าวมากขึ้นของ พธม. ซึ่งกล่าวหาทั้งสองว่าทุจริตและชักนำให้ผู้ลงคะแนนเสียงในชนบทกระทำความผิด

 

หลังเกิดเหตุการณ์รุนแรงหลายครั้งที่ กลุ่ม พธม.มีส่วนเกี่ยวข้องรวมถึงการยึดทำเนียบรัฐบาลและสนามบินสองแห่งของกรุงเทพฯในปี 2551 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาที่เป็นการเปิดโอกาสให้พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นฝ่ายค้านภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เข้ามาบริหารประเทศ นับจากนั้น กลุ่มเสื้อแดงของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งส่วนหนึ่งถูกจัดตั้งและได้รับเงินสนับสนุนจากทักษิณนั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากและได้ใช้วิธีการต่างๆ ที่ก้าวร้าวเช่นเดียวกับ พธม.

 

หลายทศวรรษที่ผ่านมา กองทัพ, ชนชั้นนำในกรุงเทพ และตัวแทนพิทักษ์ประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ได้ปรามาสระบบการเมืองและนักการเมืองว่าทุจริต ไร้ประสิทธิภาพ และไร้ความสามารถ คำปรามาสเหล่านี้ไม่ว่าจะถูกต้องหรือไม่ เป็นการทำลายระบบการเมืองในฐานะที่เป็นช่องทางที่ชอบด้วยกฎหมายในการประนีประนอม การจัดการความขัดแย้งหรือการถ่ายโอนอำนาจ

 

 

การแบ่งขั้วด้วยรหัสสี: สู่ท้องถนนต่างๆ!

ความล้มเหลวทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นนำไปสู่การเผชิญหน้าซึ่งทำลายเศรษฐกิจและผลประโยชน์ของประเทศโดยตรง กลุ่ม พธม.เสื้อสีเหลือง อาจอธิบายได้โดยทั่วไปได้ว่าเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของศูนย์กลางอำนาจดั้งเดิมของประเทศ: พวกชนชั้นกลางและชนชั้นสูงในเมือง สถาบันกษัตริย์ และบรรดาผู้นำทหาร การประท้วงของพวกเขาที่ต่อต้านทักษิณเปิดทางให้มีการแทรกแซงของทหารในปี 2549 สองปีต่อมา การกลับมาชุมนุมของพวกเขาทำให้รัฐบาลของสมัครและสมชายที่รับตำแหน่งต่อจากทักษิณไม่สามารถบริหารงานได้ การยึดทำเนียบรัฐบาลและการยึดสนามบินของพวกเขาสร้างความเสียหายใหญ่หลวงให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่สำคัญอย่างยิ่งของประเทศ ทำให้เกิดปัญหากับภาพพจน์ของประเทศไทยในระดับสากล มีการกล่าวว่าบุคคลสำคัญสนับสนุน พธม. และบุคคลสำคัญไปร่วมงานศพของผู้ชุมนุม พธม. คนหนึ่งที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ประท้วง

 

กลุ่มเสื้อแดง- นปช. ถูกจัดตั้งโดยทักษิณและบรรดาผู้สนับสนุนของเขาในการสร้างความปั่นป่วนต่อต้านกลุ่ม พธม. และรัฐบาลใหม่ที่บริหารโดยนายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มเสื้อแดงเริ่มต้นอย่างช้าๆแต่ได้รับแรงกระตุ้นการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วเมื่อทักษิณโทรศัพท์สื่อสารทางวีดีโอลิ้งค์กับกลุ่มผู้ชุมนุมและให้เงินทุนในการพาผู้สนับสนุนเข้ามาในกรุงเทพฯ

 

ขณะนี้ มีการกล่าวถึงขบวนการที่ใช้รหัสสีที่สาม คือ กลุ่ม "เสื้อน้ำเงิน" ที่ปรากฏตัวที่พัทยาเพื่อต่อต้านการชุมนุมของกลุ่มของ นปช. หลายคนโยงกลุ่มนี้กับนายเนวิน ชิดชอบ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นมือขวาให้ทักษิณแม้ว่าเนวินจะออกมาปฏิเสธความเกี่ยวข้องนี้ เขาเป็นผู้ริเริ่มช่วยจัดตั้งกลุ่มเสื้อแดง แต่ประกาศแยกตัวจากทักษิณภายหลังที่ทักษิณมีคำวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งก่อให้เกิดการถกเถียงต่อบทบาทประธานองคมนตรี เป็นเรื่องที่พอจะเข้าใจได้ว่า พธม. เป็นฝ่ายส่งคนกลุ่มนี้ออกมากระตุ้นให้ฝ่าย นปช.โกรธ แต่ก็ฉลาดพอที่จะแนะให้พวกเขาทำตัวเป็นคนละพวกกับคนสวมเสื้อเหลือง

 

การขาดสิ่งเชื่อมต่อที่ชัดเจนระหว่างรัฐธรรมนูญกับสถาบันอื่นๆ เป็นสิ่งเห็นได้ชัดเจนอย่างยิ่งในช่วงวิกฤติการณ์นี้ ส่วนใหญ่จะขึ้นกับบุคคลที่เป็นผู้นำ คุณสมบัติพิเศษเฉพาะบุคคลของผู้นำคนนั้น และความสามารถในการจัดการกับความอึมครึมทางการเมือง แต่ยังคงมองเห็นได้ว่าหากนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ผู้เติบโตในอังกฤษ ได้รับการศึกษาจากอ็อกฟอร์ด และมีภาพพจน์ทางการเมืองที่สะอาดจะมีคุณสมบัติที่ต้องการนี้ในการจัดการกับการเมืองไทยและสมานการแบ่งขั้วที่ร้าวลึกระหว่างฝ่ายสีแดงและสีเหลือง ด้านทักษิณนั้นดูเหมือนว่ายังมีความหวังที่จะกลับมาได้รับการสนับสนุน และดูไม่น่าเชื่อว่าผู้ลงคะแนนเสียงในเขตเลือกตั้งที่เขากระตุ้นให้ออกมาชุมนุมนั้นจะกลับบ้านไปและยอมจำนนที่จะไม่ทำอะไรเลยทางการเมือง

 

พร้อมกับการยุติการชุมนุม นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ประกาศด้วยน้ำเสียงที่ประนีประนอม พยายามให้เห็นอย่างชัดเจนที่จะควบคุมสถานการณ์และการนำข้อพิพาทที่คุกรุ่นกลับเข้ามาเจรจาในพื้นที่ทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ยังเป็นสิ่งที่มองได้ว่า ทักษิณและ นปช. จะเต็มใจที่จะร่วมการประนีประนอมทางการเมืองภายใต้สถาบันทางการเมืองต่างๆที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลได้ออกหมายจับและยกเลิกหนังสือเดินทางของทักษิณ

 

บทบาทอันสำคัญของประเทศไทยในอาเซียนถูกทำให้เสียหายอย่างรุนแรงจากความสับสนอลหม่านนี้ ผู้ให้ความเห็นหลายรายกล่าวว่าการยกเลิกการประชุมสุดยอดอาเซียนเปิดโอกาสให้ประเทศอินโดนีเซียและเวียดนามมากขึ้นสำหรับความหวังของทั้งสองประเทศที่จะเป็นผู้นำกลุ่มโดยปริยาย ยิ่งไปกว่านั้น ความสัมพันธ์พิเศษเฉพาะทางการเมืองและการค้าของไทยกับสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และประเทศมหาอำนาจอื่นๆอาจเกิดความเสียหาย ทำลายโอกาสฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและช่องทางผลประโยชน์ต่างๆของประเทศมหาอำนาจขนาดกลางนี้ในระบบภูมิรัฐศาสตร์ของโลก

 

--------------------------------------------------------------------------------

 

ทิมอธี แฮมลิน เป็นนักวิจัยในโครงการเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ , Stimson Center

 

หมายเหตุ (ผู้แปล): Stimson Center เป็นสถาบันที่ไม่แสวงกำไรและไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2532 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันต่างๆเพื่อสันติภาพและความมั่นคง; การสร้างความมั่นคงในภูมิภาค; และการลดการใช้อาวุธเพื่อการทำลายล้าง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท