Skip to main content
sharethis

21 เม.. 52 - ที่รัฐสภา องค์การด้านสิทธิมนุษยชนและนักสิทธิมนุษยชน ได้ยื่นหนังสือขอให้มีการตรวจสอบคุณสมบัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แก่ ธีรจิตต์ สถิโรตมาวงศ์ ประธานกรรมาธิการตรวจสอบคุณสมบัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรม ของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วุฒิสภา


 


ทั้งนี้ ทางวุฒิสภาได้เปิดให้องค์กรเอกชนทางด้านสิทธิมนุษยชนและประชาชนทั่วไปส่งข้อมูลประวัติเชิงลึกเกี่ยวกับผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ที่ ตู้ ปณ. 45 ปณฝ.รัฐสภา กรุงเทพฯ 10305 หรือที่ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อตรวจสอบประวัติฯ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักกำกับและตรวจสอบ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เลขที่ 499 อาคารสุขประพฤติ ชั้น 20 ถนนประชาชื่น กรุงเทพฯ 10800 หรือที่ www.senate.go.th ภายในวันที่ 27 เม.ย. 52 เพื่อทางกรรมาธิการฯ จะรวบรวมเอกสารที่ได้ และจะเชิญผู้ได้รับการสรรหาทั้ง 7 คนมาแสดงวิสัยทัศน์ในวันที่  29 เม.ย. ต่อไป


 


 


           






 


วันที่ 20 เมษายน 2552


 


เรื่อง      การตรวจสอบคุณสมบัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  


 


เรียน     ประธานกรรมาธิการตรวจสอบคุณสมบัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรม ของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติวุฒิสภา


 


ตามที่วุฒิสภา ได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบคุณสมบัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จำนวน 25 คน ให้ตรวจสอบคุณสมบติต่างๆของบุคคลที่ได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อดำเนินการเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบภายใน 30 วัน ตาม มาตรา 256 ประกอบ มาตรา 206 (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น


 


องค์กรและบุคคลที่มีชื่อข้างท้ายนี้ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้ติดตามกระบวนการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาโดยตลอด ขอเสนอแนะความคิดเห็นและเหตุผล ต่อกรรมาธิการฯและวุฒิสภา เกี่ยวกับการตรวจสอบคุณสมบัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดังนี้


 


ประการแรก  รัฐธรรมนูญมาตรา 243 กำหนดให้มีกรรมการสรรหาจำนวน 7 คน ประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกจำนวนหนึ่งคน และบุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดคัดเลือกจำนวนหนึ่งคน และยังกำหนดต่อไปว่า บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเลือกต้องมิใช่ผู้พิพากษาหรือตุลาการ แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฎว่าบุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือกเป็นอดีตผู้พากษาศาลฎีกา และบุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเลือกเป็นอดีตตุลาการศาลปกครองสูงสุด การเลือกบุคคลดังกล่าวอาจจะไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แม้จะอ้างว่าเป็นอดีตผู้พิพากษาหรือตุลาการก็ตาม เพราะรัฐธรรมนูญได้กำหนดเจตนานารมณ์ไว้โดยชัดแจ้งว่า "ส่วนกรรมการสรรหาซึ่งมีที่มาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ต้องมิใช่ผู้ผู้พิพากษาหรือตุลาการ ...... เพราะองค์ประกอบอื่นประกอบด้วยบุคลที่ประกอบอาชีพผู้พิพากษาและตุลาการอยู่แล้ว จึงต้องการให้บุคคลอื่นซึ่งมิได้ประกอบอาชีพดังกล่าวเข้าร่วมเป็นกรรมการสรรหา เพื่อเลือกบุคคลนอกวงการผู้พิพากษาและตุลาการด้วย"


 


ประการที่สอง  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550  มาตรา 256 บัญญัติให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยให้คัดเลือก "จากผู้ซึ่งมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์" และ รัฐธรรมนูญระบุไว้ชัดเจนในมาตราเดียวกันว่า "ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้แทนจากองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนด้วย" แต่จากการคัดเลือกบุคคลจำนวน 7 คนจากจำนวนผู้สมัครจำนวน   133 คนของคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2552 ที่ผ่านมา ทำให้เป็นที่เชื่อได้ว่าการสรรหาบุคคลดังกล่าวไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเนื่องจากกระบวนการคัดเลือกที่ไม่มีการประกาศกำหนดหลักเกณฑ์เปิดเผยให้เป็นทราบโดยทั่วไป และไม่เปิดโอกาสให้บุคคลหรือองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการปกป้องคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้มีส่วนร่วมในการสรรหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดหลักเกณฑ์และสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบและรับรองว่าผู้ที่ได้รับการสรรหาตามรายชื่อทั้ง 7 คนนั้นเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับบทบัญัติของรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ว่า  "มีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์" และ "ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้แทนจากองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนด้วย"


 


ประการที่สาม ตามหลักการปารีส (Paris Principles) และคู่มือสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติ ขององค์การสหประชาชาติ ระบุให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรเป็นสถาบันที่มีที่มาจากความหลากหลายของบุคคล กลุ่มหรือองค์กรต่างๆในสังคม เช่น องค์กรพัฒนาเอกชน สหภาพแรงงาน ตัวแทนองค์กรทางศาสนา องค์กรวิชาชีพ ในลักษณะที่เป็นตัวแทนทางความคิดของพหุนิยม (pluralism) ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ดังนั้นลักษณะของตัวแทนที่หลากหลายที่แท้จริง ต้องมิใช่ผู้แทนขององค์กรหรือสถาบันที่มุ่งเข้ามาแก้ไขปัญหาและทำหน้าที่เป็นปากเสียงแก่กลุ่มของตน แต่ต้องทำหน้าที่สะท้อนภาพของสังคมทั้งมวลให้มากที่สุด ต้องเคารพความหลากหลายของพหุนิยมและสามารถทำงานร่วมกันในรูปขององค์คณะได้ มิใช่ทำหน้าที่ตามความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ของแต่ละคน นอกจากนี้ หลักการดังกล่าวข้างต้นเสนอแนะให้ สถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติต้องมีความเป็นอิสระ ทั้งในด้านการ บริหารจัดการงบประมาณ บริหารบุคลากร มีความเป็นอิสระโดยระบบการแต่งตั้ง และการถอดถอนออกจากตำแหน่ง ที่สำคัญสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติต้องปลอดจากการแทรกแซงทางการเมือง ไม่มีความโน้มเอียงทางการเมืองในการทำงานตามภารกิจ เช่น ในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของฝ่ายที่ขัดแย้งกันในสังคมประชาธิปไตย สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องไม่มีความเอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใดที่ตนนิยมชมชอบ


 


ประการที่สี่ พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 11 กำหนดว่า "กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอาจถูกถอดถอนออกจากจากตำแหน่งได้ เพราะปฏิบัติหน้าที่โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติและประชาชน หรือไม่เป็นกลางหรือมีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องทางศีลธรรมจรรยาที่อาจมีผลกระทบหรือก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อการดำรงตำแหน่งหน้าที่ หรือต่อการส่งเสริมหรือคุ้มครองสิทธิมนุษยชน หรือมีส่วนได้เสียในกิจการหรือธุรกิจใดๆ ที่อาจมีผลกระทบโดยตรงหรือก่อให้เกิดความเสียหายทำนองเดียวกัน หรือมีหรือเคยมีพฤติการณ์ในการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือบกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง" จึงอาจกล่าวได้ว่า โดยความมุ่งหมายของบทบัญญัติดังกล่าว บุคคลที่เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนจะต้องมีความประพฤติ การประกอบอาชีพ และมีพฤติการณ์ที่ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะกรรมการสิทธิมนุษยชนมีหน้าที่ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จึงไม่ควรเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเอง ดังนั้น นอกจากจะตรวจสอบคุณสมบัติของบุคคลที่ได้รับการสรรหาทั้งเจ็ดคนว่าเป็นผู้ซึ่งมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์แล้ว ยังต้องตรวจสอบด้วยว่าเป็นบุคคลที่มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องทางศีลธรรมจรรยาที่มีผลกระทบหรือก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อการส่งเสริมหรือคุ้มครองสิทธิมนุษยชน หรือมีส่วนได้เสียในกิจการหรือธุรกิจใดๆ ที่อาจมีผลกระทบโดยตรงหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการส่งเสริมหรือคุ้มครองสิทธิมนุษยชน หรือมีหรือเคยมีพฤติการณ์ในการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงอีกด้วย


 


ด้วยความเห็นและเหตุผลดังกล่าวข้างต้น องค์กรและบุคคลที่มีรายชื่อท้ายนี้ จึงมีข้อเสนอแนะต่อกรรมาธิการตรวจสอบคุณสมบัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วุฒิสภา ดังต่อไปนี้


 


1. ให้กรรมาธิการฯเปิดเผยประวัติและคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับการสรรหาทั้ง 7 คนต่อสาธารณชนอย่างกว้างขวาง เพื่อให้มีการตรวจสอบอย่างโปร่งใส จัดให้ผู้ที่ได้รับการสรรหาทั้ง 7 คนเสนอวิสัยทัศน์และแนวทางการทำงานในหน้าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยให้ผู้แทนจากองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน สถาบันวิชาการที่มีการเรียนการสอนเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนและสาขาที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงประชาชน และสื่อมวลชนที่ใส่ใจเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพ มีส่วนร่วมในการรับฟังในการเสนอวิสัยทัศน์ดังกล่าว


 


2.  ควรพิจารณาบุคคลที่มีความรอบรู้ในหลักการสิทธิมนุษยชนสากล เช่น หลักสนธิสัญญาสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนและหลักการหรือแนวปฏิบัติตามจารีตประเพณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศไทย เพื่อนำความรู้เหล่านั้นมาประกอบการจัดทำรายงานการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน จัดการศึกษาวิจัยและอบรมเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน และการเสนอแนะกฎหมาย กฎ ระเบียบ ที่ขัดแย้งต่อหลักการดังกล่าวต่อรัฐบาล รัฐสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


 


3.  ควรพิจารณารับฟังวิสัยทัศน์ของผู้ที่มีคุณสมบัติเป็นกลางทางการเมือง ไม่ฝักใฝ่ขั้วข้างทางการเมืองหนึ่งใด คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรเป็นบุคคลซึ่งมีจิตใจรักความเป็นธรรมและมีความเป็นตัวของตัวเองในการยืนเคียงข้างหลักสิทธิมนุษยชนสากล ตลอดจนการปกครองในระบอบประชาธิปไตย


 


4. ควรพิจารณารับฟังบุคคลที่มีโลกทัศน์และชีวทัศน์ที่สอดคล้องกับการปฏิบัติงานในตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เช่น ไม่มีความคิดและพฤติกรรมหรือเคยมีพฤติกรรมในการ กีดกัน จำกัด แบ่งแยก บุคคลที่มีความแตกต่างกันอันเนื่องมาจาก ถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศสภาพ  อายุ ความพิการ สภาพทางกาย หรือ สุขภาพ สถานะของบุคคล ความเชื่อทางศาสนา ฐานะทางเศรษฐกิจ ความคิดเห็นทางการเมือง การศึกษาอบรม อันเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อบุคคล อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน


 


5. ควรพิจารณารับฟังบุคคลที่มีวิสัยทัศน์ในการบริหารงานบุคคลและงบประมาณ เพื่อพัฒนาสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้เป็นองค์กรอิสระที่แท้จริง มีระบบ ระเบียบเป็นของตนเองที่ปลอดจากการแทรกแซงของฝ่ายการเมืองและฝ่ายอื่นๆ แต่มีความโปร่งใส พร้อมที่จะให้ทุกฝ่ายเข้าตรวจสอบการดำเนินงานได้อย่างเหมาะสม


 


องค์กรต่างๆและบุคคลผู้ยื่นจดหมายนี้ หวังว่ากรรมาธิการตรวจสอบคุณสมบัติฯจะรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะนี้ เพื่อนำไปประกอบการเสนอให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบบุคคลที่มีคุณสมบัติ ความประพฤติและจริยธรรมตามที่เสนอแนะนี้ เพื่อให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทรงประสิทธิภาพและเป็นเสาหลักของการปฏิบัติงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยให้พัฒนา ถาวร สมดังเจตนารมณ์ของการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติในทางสากล และสมความมุ่งหมายของประชาชนในสังคม หากบุคคลใดมีคุณสมบัติครบถ้วนดังกล่าว ควรพิจารณาให้ความเห็นชอบ แต่หากบุคคลใดไม่มีคุณสมบัติ ความประพฤติและจริยธรรม ให้เสนอความเห็นต่อวุฒิสภา ตามที่เห็นว่าเหมาะสมกับหลักปฏิบัติตามธรรมนองคลองธรรมต่อไป


 


จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา


                                                      


 


ขอแสดงความนับถือ


 


สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนา มหาวิทยาลัยมหิดล


มูลนิธิผสานวัฒนธรรม


มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา


คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงาน


นายสมชาย หอมลออ


ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี


นายศราวุฒิ ประทุมราช


นายอนุชา วินทะไชย


นายปกป้อง เลาวัลย์ศิริ


ดร.ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว


อ.วรลักษณ์ สงวนแก้ว


 


 


 


 


รายชื่อผู้ได้รับการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนชุดใหม่


1.       นายแท้จริง ศิริพานิช
เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ


2.       นายนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ
อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดอุบลราชธานี
ประธานมูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิต


3.       นายปริญญา ศิริสารการ
อดีตรองประธานสภาอุตสาหกรรม จ.นครราชสีมา
อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ
อดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


4.       นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์
เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
ประธานมูลนิธิพัฒนาข้าราชการ


5.       พลตำรวจเอก วันชัย ศรีนวลนัด
ผู้ช่วย ผบ.ตร.


6.       นางวิสา เบ็ญจะมโน
ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการ ๑๐) สำนักงานปลัดกระทรวง
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์


7.       ศาสตราจารย์อมรา พงศาพิชญ์
อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


 


 


..........................................


หมายเหตุ: เพิ่มเติมข้อมูลล่าสุด เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 52 เวลา 16.50น.


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net