22 เมษา 52 "ทุ่มสุดฤทธิ์...ปิดเจดีย์" ว่าด้วยมหากาพย์ของมหาธรรมกายเจดีย์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์

 

ในภาวะที่ข่าวสารไม่ไหลเวียน และถูกปิดกั้นจากรัฐบาลประชาธิปไตยจำแลง นักข่าวและพิธีกรรายการฟรีทีวีเอาแต่พ่นในสิ่งที่มีการนำเสนอที่เป็นบวกต่อรัฐบาลแทบจะด้านเดียว อารมณ์เบื่อ และประจวบเหมาะกับโทรทัศน์ที่บ้านผมสามารถเลือกดูเคเบิ้ลท้องถิ่นช่องอื่นๆ ได้ทำให้ผมค้นพบทางออกที่จะใช้อิสรภาพนั้น

 

ผมมาหยุดอยู่กับช่อง DMC หรือที่รู้กันว่าเป็นสถานีโทรทัศน์ของ "วัดพระธรรมกาย"

 

แม้ผมจะเคยเปิดช่องนี้เพื่อสังเกต และติดตามความเคลื่อนไหวอยู่เป็นบางครั้งบางครา[1] และทราบว่า "วัดพระธรรมกาย" มีกิจกรรมและความเคลื่อนไหวใหญ่น้อยตลอดเวลา ไม่เพียงเท่านั้น ผมยังสนใจในความสามารถในการจัดการบริหารมวลชนที่มาจากทุกทั่วสารทิศ แต่ก็ยังไม่เคยให้ความสนใจเป็นพิเศษเมื่อได้รับชมการกระตุ้นครั้งใหญ่

 

"ทุ่มสุดฤทธิ์...ปิดเจดีย์" เป็นแคมเปญล่าสุด ที่เชิญชวนให้ "ผู้มีบุญ" มาร่วมสร้างองค์พระธรรมกายประจำตัวกว่า 700,000 องค์ ประดิษฐานภายในมหาธรรมกายเจดีย์ เนื่องในโอกาสพิเศษคือ "วันคุ้มครองโลก" และเป็นวันเดียวกับวันเกิดของ "หลวงพ่อพระราชภาวนาวิสุทธิ์" 22 เมษายนนี้

 

น่าแปลกใจเป็นอย่างยิ่งที่สื่อมวลชนไทยต่างเงียบงัน ต่อความเคลื่อนไหวครั้งมโหฬารครั้งนี้ การระดมทุนทรัพย์มากมาย การระดมคนเข้าร่วมเป็นเรือนแสนไม่น้อยกว่ามวลชนเสื้อแดง เสื้อเหลือง แต่อะไรเล่าที่เป็นเหตุให้สื่อ "ไม่กล้าแตะ" "ไม่อยากแตะ" หรือกระทั่งไม่คิดว่าจะเป็นปรากฏการณ์ที่มีผลเกี่ยวเนื่องกับสังคม อาจมีงานวิจัยเชิงวิชาการชิ้นหนึ่งของ อ. อภิญญา เฟื่องฟูสกุล ที่เคยพยายามทำความเข้าใจไว้ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2540[2] จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีใครตั้งคำถามในที่สาธารณะขณะที่วัดพระธรรมกายกำลังขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ

 

ยกเว้นแต่ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในกรณี  "ม็อบต้านน้ำเมา" หรือการต้านธุรกิจแอลกอฮอล์ เข้าจดทะเบียนโดยเด็ดขาด เข้าตลาดหลักทรัพย์ ที่มีการชุมนุมประท้วงในเดือนมกราคมปี 2549 เดือนพฤศจิกายน และธันวาคม ปี2551 [3] ที่ชื่อของวัดปรากฏในพื้นที่สาธารณะอีกครั้ง มวลชนอันมหึมาหากเคลื่อนไหวในเชิงธุรกิจการเมืองก็ทำให้สะเทือนต่อภาคเศรษฐกิจระดับชาติได้

 

หลายคนอาจจะติดป้ายความเป็นอื่นให้กับชาววัดพระธรรมกายไปเรียบร้อย คนเล็กคนน้อยจำนวนมหาศาล ผสมผสานกับคนตัวใหญ่มีชื่ออย่าง อนันต์ อัศวโภคิน  แห่งแลนด์แอนด์เฮาส์ บุญชัย เบญจรงคกุล แห่งดีแทค หรือแม้กระทั่ง ทักษิณ ชินวัตรที่ได้ร่วมทำบุญอุปถัมภ์วัดพระธรรมกาย รวมไปถึง ศศินา สุทธิถวิล (วิมุตตานนท์) ผู้ประกาศข่าวช่อง 7 สี อินทิรา แดงจำรูญ ดาราสาว ลีลาวดี วัชโรบล อดีตนักแสดงที่เอาดีทางการเมือง แม้กระทั่งอุดม แต้พานิช นักแสดงตลกชื่อก้อง ฯลฯ  ก็ปรากฏตัวตนมีที่ยืนอยู่ในพื้นที่แห่งนี้

แต่อนิจจา ด้วยประสบการณ์ส่วนตัวจากที่ผมพบเจอกับตัว และข้อความเย้ยหยันตามสื่อต่างๆ พวกเขาเหล่านั้นถูกมองจากสังคมภายนอกว่าเป็นตัวประหลาด ด้วยกิจกรรมและ การกระทำที่ดูจะแหวกออกจากบรรทัดฐานสังคมไทยทั่วไป ได้แก่

 

การทำบุญแบบเอาเป็นเอาตาย ขายบ้านขายรถเพื่อนำมาถวายมหาทาน...

 

"โรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา", "ครูไม่ใหญ่", "วงบุญพิเศษ", " ดุสิตบุรีเฟส 2", "ต้นบุญต้นแบบ", "บิ๊กบุญ" ชื่ออะไร...แปลกจัง

 

ธรรมกายเจดีย์ รูปร่างอย่างกับจานบิน

 

ฯลฯ

 

ไม่เพียงเท่านั้น ในการถกเถียงในเชิงปรมัตถธรรม ก็ยังเป็นปัญหาที่ค้างคาอยู่ในเรื่อง "นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา" วิวาทะนี้ถูกเปิดสู่สาธารณะอย่างเป็นทางการเมื่อ พระธรรมปิฎก [พัดยศขณะนั้น-ปัจจุบันคือ พระพรหมคุณาภรณ์] (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เขียนหนังสือ กรณีธรรมกาย (พิมพ์ครั้งแรกราวๆปี พ.ศ.2542) ที่เป็นการสู้กันในเชิงวิชาการศาสนวิทยาพุทธศาสนา [4] ดังนั้นในภาพลักษณ์ของชนชั้นกลางซีกหนึ่งที่นิยมพุทธทาสภิกขุ พระพรหมคุณาภรณ์ แล้วในมุมนี้วัดพระธรรมกายยังดูมีปัญหาในเชิงอุดมการณ์อีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่น่าจะทำให้ชาววัดทั้งหลายรู้สึกโล่งใจก็คือ การที่หนังสือพิมพ์ มติชน ฉบับวันที่ 19 กรกฎาคม 2546 ได้มีคำชี้แจงขออภัยต่อการเสนอข่าวที่คลาดเคลื่อนต่อวัดพระธรรมกาย ซึ่งตีพิมพ์ข้อความในช่วงเดือนสิงหาคม - พฤศจิกายน 2542[5] ช่วงนั้นนับเป็นวิกฤตการณ์ช่วงใหญ่ของวัดที่ประสบจากกระแสต่อต้านอันเชี่ยวกรากของสื่อมวลชน

 

แม้หลายกรรมหลายวาระ วัดมีกิจกรรมที่ส่งเสริมอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่ใน

ขณะเดียวกัน ก็ยังมีอุดมการณ์ของวัดอีกชุดหนึ่งที่อยู่ในกรอบรัฐชาติ-ศาสนาแบบเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างวัดให้มีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างให้เป็น "เมกกะแห่งพุทธศาสนา" (คำของผมเอง) ที่จะดึงดูดให้ชาวพุทธทั่วโลกมาสักการะพุทธศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์  เช่นเดียวกับการรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องสันติภาพโลก  

 

ยุทธศาสตร์ที่สำคัญอีกประการก็คือ การเปิดมิติใหม่แห่งการสื่อสารโดยการเปิดสถานีโทรทัศน์ด้วยระบบจานดาวเทียมที่มีภาษาของตนว่า "จานดาวธรรม" ในยุคสมัยที่ เอเอสทีวี และดีสเตชั่นเป็นสถานทีที่สะสมบ่มเพาะอุดมการณ์ทางการเมือง แต่สถานี  DMC กลับวางระบบผังที่เชื่อมโยงพิธีกรรมและโลกทัศน์ของชาววัดพระธรรมกายเข้าไว้ด้วยกันตั้งแต่ ทำวัตรเช้า จนถึง ทำวัตรเย็น โอกาสที่จะได้สัมผัสกับหลวงพ่อพระราชภาวนาวิสุทธิ์ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป มิวสิคมาร์เกตติ้งถูกผลิตขึ้นมารับใช้อุดมการณ์และพิธีกรรมของวัดได้อย่างเห็นผล เพลงไทยสากลอันเป็นที่นิยมเพลงแล้วเพลงเล่าถูกแปลงและใส่ภาพ ตัวการ์ตูนที่ดูน่ารัก ถูกผลิตออกมาอย่างสม่ำเสมอ ล่าสุดก็คือ "ปิดเจดีย์แน่นอน" ดัดแปลงมาจาก "บังอรเอาแต่นอน" ของอัสนี-วสันต์ โชติกุล

 

"นอนๆๆ ปิดเจดีย์แน่นอน" นี่เป็นท่อนหนึ่งในเพลงแปลงนั้น

 

ดังนั้นสถานีโทรทัศน์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นสัญญาณที่ตรึงความรู้สึกและโลกทัศน์ร่วมกันข้ามโลกได้ไม่ยากนัก

 

ความเคลื่อนไหวของคนมหาศาลในหลักหมื่นหลักแสน ไม่เคยเกิดขึ้นบ่อยครั้งนักในประเทศไทย ยกเว้นแต่กีฬานัดสำคัญจริงๆ หรืองานแสดงสินค้าต่างๆ  นอกจากประสบการณ์เรื่องการจัดการมวลชนแล้ว รัฐไทยยังอ่อนด้อยนักกับประสบการณ์การจัดการกับพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ที่รองรับมวลชนดังกล่าว แต่สำหรับวัดพระธรรมกายแล้วประสบการณ์การบริหารการจัดการกับมวลชนนับเป็นจุดแข็งที่ไม่อาจปฏิเสธ "โครงการตักบาตรพระ 500,000 รูป" ที่มีจุดมุ่งหมายในเชิงปริมาณให้ทั่วถึงทั้งประเทศ ก็แสดงให้เห็นความมั่นใจที่จะรับมือกับฝูงชนมหาศาลได้เป็นอย่างดี กรณีที่น่าสนใจก็คือ การตักบาตรที่จังหวัดลำพูนที่อ้างว่ามีพระภิกษุสงฆ์มาร่วมพิธีถึง 10,500 รูป  และมีสาธุชนมาร่วมกว่า 30,000 คน ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2551 [6] หรือการตักบาตรกลางกรุงที่เยาวราช พระภิกษุ 11,111 รูป ในวันที่ 9 สิงหาคม 2551 โดยที่สมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสมัยนั้น เป็นประธานฝ่ายฆราวาส[7] นอกจาก 2 แห่งนี้แล้ว ยังมีการตักบาตรย่อยๆในจังหวัดต่างๆ ที่มีพระมาร่วมไม่ต่ำกว่า 1,000 รูป โคจรไปทั่วประเทศ แสดงให้เห็นพลังในการจัดตั้งที่เข้มแข็งเป็นอย่างยิ่ง ในขณะที่วัฒนธรรมมวลชนกำลังก่อตัวขึ้นในประเทศไทย เช่น การชุมนุมของคนเสื้อเหลือง และคนเสื้อแดง รวมไปถึงการเติบโตของกิจกรรมสาธารณะต่างๆ เช่น งานแสดงสินค้า การแข่งขันกีฬา ฯลฯ แต่ประสิทธิภาพของรัฐที่จะจัดการกับพื้นที่สาธารณะเพื่อรองรับมวลชนนั้นยังอยู่ในภาวะเริ่มต้น

 

การสร้างพระธรรมกายเจดีย์นั้นเริ่มแรกตั้งแต่ปี 2537[8] และรอดพ้นจากสภาวะที่เศรษฐกิจไทยตกต่ำตั้งแต่ทศวรรษ 2540 โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปี 2542 ที่มี "พระธรรมกายประจำตัว" ประดิษฐานอยู่ภายนอก จำนวน 300,000 องค์ สวนทางกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยที่ล้มลงเป็นแถวๆ ในครั้งนี้ก็เช่นกัน การระดมทุนอันมหาศาลระหว่างที่รัฐบาลไทยถังแตก แต่วัดแห่งนี้กำลังก้มหน้าก้มตา "ปิดเจดีย์" ซึ่งก็คือปิดยอดจองในการหล่อองค์พระประจำตัว ซึ่งจะบรรจุไว้ในธรรมกายเจดีย์ จำนวน 700,000 ให้เสร็จภายในวันที่ 22 เมษายนศกนี้ องค์ เบ็ดเสร็จรวมภายในและภายนอกคือ 1,000,000 องค์ เม็ดเงินเกือบหมื่นล้านจะสะพัดอยู่ท่ามกลางกองบุญ[9] เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ธรรมดาอย่างยิ่ง ความมุ่งมั่นที่จะสร้างมหาธรรมกายเจดีย์ให้เป็นเจดีย์พันปี และเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาของโลกเดินทางไปไกลว่าที่ใครจะคาดคิด ถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีนักวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจจะมาช่วยอธิบายปรากฏการณ์ที่ว่านี้เลย

 

การสร้างหรือไม่สร้าง สำเร็จหรือไม่สำเร็จอาจมีความหมายเป็นอย่างมากต่อผู้มีจิตศรัทธาเป็นที่ตั้ง  แต่น่าสงสัยว่า ท่ามกลางกองเงินอันมหึมาขนาดนี้ และส่งผลกระทบกับคนทั้งในทางโลกทัศน์ วัฒนธรรม สังคม อย่างแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว ไฉนสื่อมวลชน และผู้สนใจอธิบายปรากฏการณ์ทั้งหลายจึงไม่ตั้งคำถามดังๆต่อสาธารณะเสียที ในสังคมสมัยใหม่นั้นการตรวจสอบและวิพากษ์จะเป็นสิ่งที่ทำให้สังคมอยู่กับร่องกับรอย ยิ่งสิ่งใดที่จะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์สาธารณะ และอยู่ในที่มืดมีความคลุมเครือ ก็ควรจะนำไปสู่การถกเถียงในที่สว่างได้แล้ว มิว่ากรณีใดๆ

 

หรือว่าเพียงแค่นี้สังคมไทยก็เครียดกันเกินจะพอเพียงอยู่แล้ว?

 

.............

เชิงอรรถ

[1] โดยเฉพาะรายการที่ผมชอบเป็นพิเศษคือ "กฎแห่งกรรม" ที่เอากรรมตามทันในแบบฉบับที่ใช้วิธีคล้ายกับผลงาน กฎแห่งกรรม  ท.เลียงพิบูลย์ ซึ่งเป็นงานเขียนในลักษณะของการสำแดงออกของผลแห่งการกระทำที่ดูเป็นเหตุเป็นผล และเป็นรูปธรรมอย่างยิ่ง การกระทำของชาติที่แล้ว จะส่งผลต่อชาตินี้อย่างตาต่อตาฟันต่อฟันทีเดียว แต่กรณีของรายการนี้ ได้นำมาเรียบเรียงเป็นสำนวนเฉพาะ และมีการทำภาพประกอบกราฟฟิกสีสันสวยงาม ส่วนอีกรายการหนึ่งก็คือ "สู้ต่อไป" ที่นำประสบการณ์บุญของชาววัดมานำเสนอ ซึ่งส่วนใหญ่ตรงกับจริตคนชั้นกลางที่ทำการค้าขายและต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนในชีวิต แต่การได้เข้าวัดและทำบุญจะช่วยทำให้เผชิญความไม่แน่นอนในชีวิตได้อย่างมั่นใจมากขึ้น รวมไปถึงความมั่งคั่งของทรัพย์สินที่จะตามมาด้วย

 

[2] อภิญญา เฟื่องฟูสกุล. ศาสนทัศน์ของชุมชนเมืองสมัยใหม่ : ศึกษากรณีวัดพระธรรมกาย (เชียงใหม่ : คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่), [254-] กระนั้นอภิญญาก็ยังมีบทความตีพิมพ์ในชื่อเดียวกันได้แก่ อภิญญา เฟื่องฟูสกุล "ศาสนทัศน์ของชุมชนเมืองสมัยใหม่ ศึกษากรณีวัดพระธรรมกาย" วารสารพุทธศาสตร์ศึกษา ปีที่ 5, ฉบับ 1 ม.ค.- เม.ย. 41

 

[3] "เสี่ย 'เจริญ' อกหัก 'ซ้ำสอง' พ่าย!แรงต้านม็อบ 'หุ้นน้ำเมา'" http://www.thannews.th.com/detialNews.php?id=T1123771&issue=2416  อ้างจาก ฐานเศรษฐกิจ (9 เม.ย. - 11 เม.ย. 2552)

 

[4] พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุต.โต). กรณีธรรมกาย (ฉบับสมบูรณ์) (กรุงเทพฯ : มูลนิธิพุทธธรรม), 2542 ในช่วงเวลาดังกล่าวก็มีการตอบโต้จากฝ่ายสนับสนุนทางธรรมกายเช่น เบญจ์ บาระกุล. เปิดโปง ขบวนการล้มพุทธ (ม.ป.ท. : ม.ป.พ.), 2542? ที่กล่าวหาพระธรรมปิฎก  หรือหนังสือ จนมีฝ่ายสนับสนุนพระธรรมปิฎกออกมาปกป้อง อำไพ วานิชเจริญธรรม และคณะ. กลวิธีทำลายพระพุทธศาสนา ของ กลุ่ม ดร.เบญจ์ บาระกุล (กรุงเทพฯ : องค์กรเครือข่ายชาวพุทธเพื่ออุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา), 2542

 

[5] คำชี้แจงดังกล่าว เกิดขึ้นต่อกรณีที่ มติชน เคยใช้ถ้อยคำลวงเกินโดยเรียกวัดพระธรรมกายว่า "วัดฉาว" "สำนักฉาว" เรียกพระราชภาวนาวิสุทธิ์ว่า "นายไชยบูลย์ เจ้าสำนักฉาว" กล่าวหาว่า เล่นหุ้น โอนเงินของวัดให้สีกา  จาก มติชน (19 กรกฎาคม 2546) อ้างอิงจาก เว็บไซต์กัลยาณมิตร http://www.kalyanamitra.org/news/goodnews/kalyanamitranews/GOODNEWS/index_wat.htm  (กรกฎาคม 2546) ไม่เพียงเท่านั้น สำนักพิมพ์มติชนยังเคยออกหนังสือชื่อว่า ธรรมกาย ธรรมโกย : ผ่าอาณาจักร 70,000 ล้าน ในปี 2542 ช่วงที่วัดตกเป็นข่าวอย่างหนัก

 

[6] "ตักบาตรพระ 500,000 รูป" http://www.kalyanamitra.org/u-ni-boon/main/ind  อ้างจาก อยู่ในบุญ

 

[7] "โครงการตักบาตรพระ 500,000รูป 76จังหวัด ทุกวัดทั่วไทยบรรยากาศการตักบาตรที่ถนนเยาวราช กรุงเทพมหานคร"

http://www.dmc.tv/print/latest_update/Thailand_Yaowaraj_BKK.html (21 เมษายน 2552)

 

[8] เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ 1 มกราคม 2538 มีการธุดงค์ "กลั่นแผ่นดิน" / 9 กันยายน 2538 พิธีตอกเสาเข็มต้นแรก เป็นปฐมฤกษ์สร้างมหาธรรมกายเจดีย์ / 1 กันยายน 2539 พิธีเทคอนกรีตฐานราก มหาธรรมกายเจดีย์ / 26 กันยายน 2539 พิธีตอกเสาเข็มต้นสุดท้ายสถาปนามหาธรรมกายเจดีย์ / 19 กรกฎาคม 2540 วันอาสาฬหบูชา พิธีรวมใจผู้นำบุญสร้างมหาธรรมกายเจดีย์ / 8 กุมภาพันธ์ 2541 นาคแก้วเวียนประทักษิณรอบมหาธรรมกายเจดีย์ เตรียมบรรพชาเป็นสามเณรแก้ว / 11 กุมภาพันธ์ 2541 อันเชิญพระบรมพระพุทธเจ้า ประดิษฐาน ณ มหาธรรมกายเจดีย์ ในวันมาฆบูชา / 30 สิงหาคม 2541 เกิดเหตุ "อัศจรรย์ตะวันแก้ว" / 6 กันยายน 2541 เกิดเหตุ "อัศจรรย์ตะวันแก้ว"  ครั้งที่ 2 / 1 พฤศจิกายน 2541 รวมพลังผู้นำบุญ ทอดกฐินสามัคคีสร้างมหาธรรมกายเจดีย์ / 7 กุมภาพันธ์ 2542 พิธีอัญเชิญพระธรรมกายประจำตัวทองคำ ประดิษฐานบนยอดโดมมหาธรรมกายเจดีย์ จาก ชมรมผู้รักบุญ. พระ 1,000 ปี พระธรรมกายประจำตัว ประดิษฐาน ณ มหาธรรมกายเจดีย์ (กรุงเทพฯ? : โรงพิมพ์ เอส.เอม.เค พริ้นติ้ง จำกัด), 2552

 

[9] กรณีเม็ดเงินนี้ผู้เขียนได้สันนิษฐานเอาจากฐานคิดพระธรรมกายประจำตัวองค์ละ 15,000 บาท ซึ่งเป็นราคาประมาณจากการตรวจสอบจากคนรู้จัก และตามหน้าเว็บไซต์ เช่น "ร่วมสร้างพระจำตัว 1 ล้านองค์" http://www.weloveshopping.com/template/e3/showproduct.php?pid=12142311&shopid=123379  (10 มีนาคม 2552) ซึ่งคาดว่าจะถอดเทปมาจาก "เอาบุญสร้างพระช่วยพ่อ" http://www.dmc.tv/programs/dmc_guide/files/520304.wmv นอกจากนั้นยังมีการถวาย "มหาสังฆทาน 30,000 วัด" ที่ผู้มีบุญสามารถจะถวายคนละ 30,000 บาทต่อคนอีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท