รายงาน: มาดูกันว่า ชาวบ้านเขาทำแนวกันไฟกันยังไง

อาทิตย์ คงมั่น

หลังจากการแผ้วถางเสร็จและรอการเผาไร่ ช่วงปลายเดือนมีนาคม-ต้นเดือนเมษายน ของทุกปีเจ้าไร่หมุนเวียนของแต่ละคนก็จะเตรียมเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่จะสร้างกระท่อมในไไร่ จนถึงเวลาจะเผาก็จะมีการทำแนวกันไฟก่อนเผา 1-2 วัน เพื่อไม่ให้ใบไม้หล่นมาทับกันอีกแต่ก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละพื้นที่ซึ่งถ้าทำแนวกันไฟรอบในวันเดียวได้ก็สามารถเผาได้ ส่วนคนที่ทำไร่อยู่บริเวณเดียวกันจะช่วยกันทำแนวกันไฟ การทำแนวกันไฟต้องคาดคะเนรัศมีของเปลวไฟด้วยว่ามีมากหรือน้อยแค่ไหนโดยเฉพาะบริเวณที่มีความลาดชันต้องระวังเป็นพิเศษ การทำแนวกันไฟเพื่อไม่ให้ไฟลุกลามไปยังป่าที่อยู่บริเวณรอบ ๆ อุปกรณ์ในการทำแนวกันไฟ เช่น มีด ไม้กวาดที่ทำจากไม้ วิธีการทำส่วนใหญ่ผู้ชายจะถางหญ้าหรือกิ่งก้านของต้นไม้อยู่รอบไร่ให้เป็นแนว ผู้หญิงจะตามกวาดเศษใบไม้และกิ่งไม้ตามหลัง ในขณะเดียวกันการเผาต้องดูวันด้วย

 

พื้นที่ไร่หมุนเวียนกำลังถูกเผาโดยชาวบ้านเป็นเจ้าภาพ ซึ่งมีทั้งแปลงรวมและแปลงกระจาย

เมื่อทำแนวกันไฟเสร็จแล้วโดยไม่ใช่วันอังคาร (วันอังคาร เชื่อว่า ไฟแรงจะควบคุมยากจึงต้องหลีกเลี่ยงวันนี้) สิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องคำนึงถึงในการเผาไร่ คือ ทิศทางของลม วิธีการทดสอบทิศทางของลมอาจจะทำด้วยการจุดยาสูบและดูทิศทางของควันยาสูบ บางครั้งบางรายจะใช้วิธีการโปรยผงดินเพื่อดูทิศทางลมอีกด้วย การเผาต้องเริ่มเผาตั้งแต่เหนือลมหรือหัวไร่ที่เรียกตามภาษาปกาเก่อญอว่า "ตี เหม่ หวะ" เพื่อให้ไฟค่อยๆ เผาไหม้พื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการลุกลามไปที่อื่นซึ่งพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเจ้าของก็จะรู้เองแต่ละรายดังนั้นการเผานอกจากต้องเผาจากเหนือลมแล้วต้องเผาจุดที่มีความเสี่ยงก่อนเสมอ

ช่วงเวลาในการเผาไร่จะเป็นช่วงตอนบ่าย เนื่องจากใบไม้กรอบ ความชื้นที่มีอยู่ในบริเวณนั้นจะน้อย และลมแรง ลมจะพัดให้ไฟให้โหมแรงทำให้เกิดการเผาไหม้ดีที่สุด การเผาไร่ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ของไร่ หากเป็นไร่ที่กว้างมากหรือน้อย หรือมีเจ้าของหลายคนต้องเรียกคนในชุมชนมาช่วยกันเฝ้าตอนเผาและอาจจะนัดเวลาในการจุดไฟเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการลุกลามของไฟ ถ้าหากไร่อยู่ใกล้บ้านอาจจะต้องเผาในช่วงเวลาเย็น เนื่องจากลมไม่ค่อยมี ไฟจะได้ไม่ลุกลามไปถึงบ้าน การเผาไร่ใช้เวลา 2-4 ชั่วโมงเท่านั้น และในโอกาสนี้ลองมาฟังมุมมองการสะท้อนปัญหาที่มีการกล่าวหาว่า "การเผาไร่ทำให้เกิดหมอกควันและเกิดภาวะโลกร้อน" ชาวปกาเก่อญอ จากบ้านป่าโปง ต.ป่าโปง .อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ว่าผู้ที่ทำไร่หมุนเวียนจริงๆ ว่าเขาคิดกันยังไง

โดยตัวแทนชาวบ้านได้กล่าวว่า มนุษย์ใช้ทรัพยากรเกินความจำเป็นมุ่งเน้นแต่ความสำเร็จรูปเกินไป เช่น ละทิ้งสิ่งของที่ย่อยสลายเองหันมาใช้ถุงพลาสติก มีการแสวงหาพลังงานเพื่อความสะดวกของตัวเอง และอีกมากมายล้วนแล้วเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ที่เป็นข้อถกเถียงกันแต่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เนื่องจากไร่หมุนเวียนเป็นอาชีพที่ถกเถียงกันตลอดและสามารถเห็นได้แต่ก็ยังมีการพูดในทำนองเข้าใจแต่ไม่จริง ในขณะเดียวกัน ก็เหมือนนิทาน เด็กกำพร้าที่ถูกเจ้าเมืองเอาเปรียบทุกรูปแบบ หรือเด็กกำพร้ากับคน 30 พยายามจะนำเสนอแต่สิ่งที่ตัวเองได้ประโยชน์จากความทุกข์ของคนอื่นแต่ความจริงทุกคนต่างดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของตัวเองทั้งหมดขึ้นอยู่กับใครจะเอาเปรียบผู้อื่นได้มากน้อยขนาดไหน อีกอย่างไร่หมุนเวียนเป็นระบบการเกษตรที่ไม่ไม่อยู่กับที่จึงง่ายต่อคำถามที่เกิดขึ้นเพราะเขาไม่ได้สัมผัสความจริง ไร่หมุนเวียนก็มีส่วนแต่จะน้อยมากที่สำคัญในการทำไร่หมุนเวียนเป็นการทดแทนพื้นที่ที่ได้มีการทำในปีนั้นเพราะปีต่อไปก็สามารถกลับมาเหมือนเดิมเรื่อยๆ เพราะไร่หมุนเวียนเมื่อเกิดไร่เหล่าก็สามารถสร้างออกซิเจนขึ้นมาได้แต่ไม่มีการพูดถึง ต้องมีการอธิบายให้ลึกกว่าสิ่งที่ปรากฏ

โดยส่วนใหญ่ต้องเชื่อมโยงไปที่ภาคอุตสาหกรรมที่เกิดการสนับสนุนจากนายทุนเช่น โรงงานที่มีอยู่เต็มประเทศ ในขณะเดียวกันในภาคเกษตรกรรมไม่ให้ใช้สารเคมีแต่มีการจำหน่ายเกลื่อนตลาด ส่วนการเผาไร่มีช่วงที่เผาประมาณ 1 เดือน เมื่อเทียบกับการเกิดไฟป่าเริ่มตั้งแต่เดือน กุมภาพันธุ์ ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ก็มี หมายความว่า พื้นที่ที่เป็นปัญหาจริงๆ เพราะไม่มีเจ้าภาพในการรับผิดชอบ แม้พื้นที่ที่เกิดปัญหาจะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงแต่อาจจะทำได้ไม่ทั่วถึง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็หนีไม่พ้นในการตั้งประเด็นปัญหาว่ามาจากการเผาไร่หมุนเวียนเพราะไร่หมุนเวียนเป็นการเผาช่วงปลายเดือน มี.ค.- เม.ย. และมีเจ้าภาพรับผิดชอบชัดเจน

ปัจจุบันมนุษย์ไม่อยู่ในศีลในธรรม สิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจหายหมดไม่รู้เอาความเชื่อมาจากไหนกัน เช่น การจัดงานแต่งงานให้กับหมีแพนด้า การจัดงานวันเกิดให้กับสัตว์ เป็นต้น ในส่วนของลางบอกเหตุของชาวปกาเก่อญอ มีให้เห็นมากมาย เช่น การปรากฏตัวของสัตว์บางชนิดที่เราถือว่าไม่ดี จักจั่นร้อง นกร้อง ไก่ป่าขันไม่ถูกฤดูกาล ถึงจะถูกฤดูกาลแต่ก็ไม่มีปรากฏการณ์ขึ้น นั่นหมายถึงเกิดการเปลี่ยนของฝนฟ้าอากาศ ไม่ใช่โลกร้อนเพราะไร่หมุนเวียน ภาวะโลกร้อน จึงเปรียบเสมือน คุกที่มีไว้สำหรับคนจนหรือผู้ที่ยังถืออาชีพภาคเกษตรกรรมส่วนใหญ่เพราะไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงไฟได้ โดยการหาแพะรับบาป ในเมืองเต็มไปด้วยคอนกรีต โรงงานอุตสาหกรรม มีการใช้แอร์ ใช้ไฟฟ้าอย่างมากมายตึกทั้งหลังเป็นปูเป็นกระจกหมด อีกด้านหนึ่งสอนให้คนจนใช้ชีวิตอย่างพอเพียง สอนให้เราใช้ปุ๋ยอินทรีย์ แต่มีการส่งเสริมการปลูกพืชเชิงพาณิชย์ ซึ่งต้องใช้สารเคมีเพื่อผลผลิตที่ดีมีราคา และปุ๋ยเคมีมาจากไหน สารเคมีมาจากไหนชาวบ้านผลิตไม่ได้ ก็มาจากนายทุนนั่นแหละ

นี่ก็คงเป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงกันต่อไป ถ้าจะให้ดีขอเชิญผู้ที่สนใจในประเด็นเหล่านี้ลองมาเรียนรู้ร่วมกับเราอย่างครบรอบหมุนของการทำไร่หมุนเวียนดูก็จะรู้และเข้าใจความเป็นไร่หมุนเวียนนี้ไม่ใช่ ไร่เลื่อนลอยอย่างที่เข้าใจกันอย่างแต่ก่อน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท