กระบอกเสียงนักศึกษาใต้ ตอนที่ 9: นโยบาย ทำลาย แบ่งแยก ปกครอง บิดเบือน

ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในมุมมองนักศึกษา ที่ต้นเหตุจากประวัติศาสตร์ ซึ่งทำให้อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมของคนมลายู ปัตตานี อิสลาม ถูกกดทับ และถึงวันนี้เขาต้องการการปลดปล่อย

 

 

กระจงแดง

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.)

 

พูดถึงปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยที่เกิดขึ้น ในรูปแบบของสงครามนอกระบบระหว่างภาครัฐกับคนในพื้นที่ที่ตัดสินใจจับอาวุธต่อสู้นั้น จะเห็นได้ว่ามีหลากหลายข้อสรุปที่เกี่ยวกับปรากฏการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น อาทิเช่น ในมุมมองของภาครัฐก็จะให้ข้อสรุปว่า เกิดจากการศึกษายังขาดคุณภาพที่ดีพอ และเยาวชนส่วนใหญ่ตกเป็นทาสของยาเสพติด จึงเป็นช่องว่างให้ฝ่ายขบวนการติดอาวุธชักชวนเอามาเป็นพวกได้ง่าย ส่วนในมุมมองของ NGO และนักวิชาการมองว่า มาจากการใช้วิธีการที่รุนแรงกันทั้งสองฝ่ายของทั้งภาครัฐและฝ่ายขบวนการฯ

 

สำหรับในมุมมองของนักศึกษาค่อนข้างจะชัดเจนว่าภาครัฐเป็นต้นเหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้น เพราะสืบเนื่องจากการใช้นโยบายทางการเมืองการปกครองที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตในความเป็นอัตลักษณ์ทางชาติพันธ์และวัฒนธรรมของคนที่ชายแดนใต้ของไทยมาเป็นระยะเวลายาวนาน นับตั้งแต่สมัยที่ยังไม่เป็นรัฐชาติที่มีพรมแดนอาณาเขตชัดเจนเหมือนอย่างปัจจุบันนั่นคือ สมัยที่ประเทศไทยมีชื่อว่า "สยาม" ตรงกับปี คศ.1786 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นครั้งแรกที่รัฐไทยหรือสยามในตอนนั้นใช้ความรุนแรงอย่างสมบูรณ์ ยึดอำนาจทางการเมืองการปกครองของคนที่นั่น โดยผ่านทางเจ้าเมืองซึ่งตอนนั้นพื้นที่ที่นั่นมีชื่อว่า "รัฐปาตานี" และตอนนั้นยังไม่มีสถานะเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยอย่างสมบูรณ์แต่อย่างใด เป็นแค่เมืองขึ้นเท่านั้น

 

ต่อมา ทั้งดินแดนและอำนาจทางการเมืองการปกครองถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทยโดยสมบูรณ์ก็เมื่อปี ค.ศ.1909 ตามสนธิสัญญาแองโกล (Anglo Treaty) ระหว่างอังกฤษกับสยาม ซึ่งสนธิสัญญาฉบับนี้ทำขึ้นเพื่อแบ่งดินแดนที่ในขณะนั้นส่วนหนึ่งของแหลมมลายูคือ รัฐเคดาห์ รัฐปะลิส รัฐตรังกานู รัฐกลันตัน และรัฐปาตานี เป็นเมืองขึ้นของสยาม ทางออกของสยามหรือรัฐไทยในขณะนั้น เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษคือเอาดินแดนของคนอื่นที่ยึดมาแบ่งให้กับอังกฤษโดยยึดหลักที่แม่น้ำสุไหงโก-ลกเป็นเส้นพรมแดน เพื่อเป็นกันชนป้องกันการล่าอาณานิคมของอังกฤษรุกล้ำเข้ามาในดินแดนของตัวเอง และเพื่อเป็นการยกเลิกสนธิสัญญาลับที่อังกฤษกับสยามตกลงกันเมื่อวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1897 ซึ่งดินแดนที่ถูกแบ่งให้กับอังกฤษตอนนั้นก็มี รัฐกลันตัน รัฐตรังกานู รัฐเคดาห์ และรัฐปะลิส ซึ่งต่อมาอังกฤษคืนเอกราชให้และรวมกับอีกหลายๆ รัฐในแหลมมลายูเป็นประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน แต่สำหรับรัฐปาตานีถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของสยามจนถึงทุกวันนี้กลายเป็นแค่จังหวัดหนึ่งใน 76 จังหวัดของประเทศไทย โดยการใช้นโยบาย แบ่งแยก-ทำลาย-ปกครอง-บิดเบือน

 

หลังจากนั้นเป็นต้นมา คนที่นั่นซึ่งถ้าจะเรียกให้ถูกจริงๆ ในความเป็นตัวตนทั้งวัฒนธรรม ชาติพันธ์ และศาสนา ก็ต้องเรียกเขาว่าคนมลายู ปัตตานี อิสลาม ก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐไทย ซึ่งถูกกำหนดวิถีชีวิตด้วยนโยบาย แบ่งแยก ทำลาย และปกครอง ปลูกฝังชาตินิยมสยาม หรือไทยในโรงเรียนของรัฐตั้งแต่ชั้นประถม และผสมผสานกลมกลืนวัฒนธรรม (Assimilation) ด้วยการเอาคนไทยพุทธนอกพื้นที่มาตั้งรกรากจัดเป็นนิคมสร้างตนเอง (Trans-migration) และตามด้วยการกดทับของโครงสร้างการปกครองส่วนภูมิภาคที่ปิดช่องว่างการเข้าถึงกลไกของกระบวนการยุติธรรมตามหลักการประชาธิปไตยของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน จนถึงทุกวันนี้คนที่นั่นถูกรัฐไทย และภาคสังคมเรียกว่า ไทยมุสลิม                                                                                               

 

สรุปแล้วต้นเหตุของปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบันระหว่างคนในพื้นที่กับรัฐไทยในรูปแบบของสงครามนอกระบบโดยที่รัฐไทยมีกฎหมายพิเศษทั้งกฎอัยการศึก พ.ร.ก.ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.ความมั่นคง เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงอย่างจงใจละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็มาจากปฏิกิริยาของคน มลายู-ปาตานี-อิสลาม ตอบโต้เพื่อปลดปล่อยจากการกดขี่ข่มเหงของรัฐไทยนั่นเอง และสำหรับทางออกเพื่อการคลี่คลายปัญหานำไปสู่การเกิดสันติภาพที่ยั่งยืนนั้น ก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องแก้ที่ต้นเหตุของปัญหา โดยที่รัฐต้องเริ่มจากการยอมรับให้ได้เสียก่อนว่า คนที่ชายแดนใต้ของประเทศไทยเขาคือ มลายู-ปาตานี-อิสลาม 

 

แล้วค่อยหาทางแก้โดยแนวทางสันติวิธีบนหลักการนิติธรรมสากลและหลักสิทธิมนุษยชนสากลซึ่งรัฐไทยเป็นพันธกรณีที่ต้องยึดถือปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของหลักสิทธิมนุษยชนสากล ตามสนธิสัญญาซึ่งเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติเพื่อส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชน หมายถึง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรองหรือคุ้มครองรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือตามกฎหมายไทย หรือตามสนธิสัญญาที่ประเทศไทยมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตามซึ่งมีอยู่ 6 ฉบับด้วยกัน คือ

 

1.อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of all Forms of Racial Discrimination (CERD)

 

2.อนุสัญญาการต่อต้านการทรมาน และปฏิบัติหรือการลงโทษอื่น ที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel Inhuman or Degrading Treatment Punishment (CAT))

 

3.อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติิต่อสตรีในทุกรูปแบบและพิธีสารเลือกรับ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women (CEDAW), Optional Protocol)

 

4.อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of Child (CRC))

 

5.กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (UN International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR))

 

6.กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (UN International Convent of Economic, Social and Cultural (ICESC))

 

มาถึงขั้นนี้ ตัวแปรชี้วัดสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะเกิดขึ้นหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับความจริงใจและความรับผิดชอบของรัฐไทยต่อสนธิสัญญาที่ได้ตกลงไว้เป็นพันธกรณีกับสหประชาชาติทั้ง 6 ข้อโดยเฉพาะข้อที่ 1, 2, 5 และข้อที่ 6

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท