Skip to main content
sharethis



โรงไฟฟ้าจะนะ


นายเจะโส๊ะ หัดเหาะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา กล่าวถึงกรณีมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์โรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย ของบริษัท ทรานส์ ไทย - มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด หรือ ทีทีเอ็ม (TTM) จ่ายภาษีโรงเรือนและที่ดินให้กับท้องถิ่นน้อยกว่าที่ควรจะเป็นว่า คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการประเมินค่ารายปี ขององค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน ได้เปรียบเทียบกับอัตราการเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงแยกก๊าซธรรมชาติขนอม เนื่องจากมีราคาที่ดินที่ใกล้เคียงกัน โดยไม่ได้นำมูลค่าของเครื่องจักรในโรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซีย มาคำนวณภาษี


นายเจะโส๊ะ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ทางโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย ได้จ่ายภาษีให้กับท้องถิ่นประจำปี 2551 แล้ว เป็นเงิน 3,493,096 บาท ภาษีป้าย 3,168 บาท ภาษีบำรุงท้องที่ 2,708.46 บาท ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจกรรมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ 2,000 บาท และค่าตอบแทนรายปีการปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ กรณีท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากทะเลเข้ามายังโรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซียปีละ 93,435 บาท


นายเจะโส๊ะ เปิดเผยต่อว่า คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการประเมินค่ารายปี ซึ่งตั้งขึ้นตามคำสั่งอบต. เลขที่ 15/2550 ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2550 ได้กำหนดภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม ได้แก่ 1. พื้นที่สนับสนุนการผลิต คิดภาษีตารางเมตรละ 33 บาท 2. พื้นที่ติดตั้งเครื่องจักร คิดภาษี 21.99 บาท (คิดค่ารายปี 1 ใน 3 ตามกฎหมายแพ่ง) 3. พื้นที่ลานจอดรถ, ถนน ภาษี 5.49 บาท 4. พื้นที่สนามหญ้า, บ่อน้ำ ภาษี 3.30 บาท 5. ถังเก็บผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ เชื้อเพลิง ผลิตภัณฑ์เคมี ถังเก็บวัตถุอันตราย หรือถังที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายอื่นๆ คิดภาษีลูกบาศก์เมตรละ 3.30 บาท


"ต่อมา ทางทีทีเอ็มได้ขอลดหย่อนภาษีเหลือ 1.9 ล้านบาท อ้างว่าได้จัดตั้งกองทุนพัฒนาสังคมแล้ว แต่คณะกรรมการฯ ไม่อนุญาต" นายเจะโส๊ะ กล่าว


นายรอหีม สะอุ กรรมการพิจารณากลั่นกรองการประเมินค่ารายปี กล่าวว่า ตนได้เสนอที่ประชุมคณะกรรมการครั้งล่าสุดว่า โครงการก่อสร้างโรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซียได้เข้ามาสร้างความแตกแยกในชุมชนอย่างรุนแรง แล้วยังจะมาขอลดหย่อนภาษีอีก นอกจากไม่ควรขอลดหย่อนภาษีแล้ว ยังต้องนำแพทย์เข้ามาตรวจสุขภาพประชาชนในพื้นที่ด้วย


นางอลิสา หมานหล๊ะ กรรมการพิจารณากลั่นกรองการประเมินค่ารายปี กล่าวว่า ทีทีเอ็มขอลดหย่อนภาษี โดยอ้างว่าไม่ได้สร้างโรงเรือนในพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งตนไม่เห็นด้วย เพราะพื้นที่ว่างก็เป็นส่วนหนึ่งของโรงแยกก๊าซ


เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของทีทีเอ็ม แจ้งว่า ประเด็นนี้ต้องนัดสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูง โดยตนได้แจ้งให้ผู้บริหารทราบแล้ว


นอกจากการจ่ายภาษีให้กับท้องถิ่นแล้ว ทางทีทีเอ็มยังได้ตั้งกองทุนพัฒนาสังคม 12  ล้านบาทต่อปี ประกอบด้วย เงินกองทุนเพื่อการพัฒนาสังคมหมู่บ้าน 10 ล้านบาท กองทุนนกเขาชวาเสียงจะนะ 1 ล้านบาท และกองทุนพัฒนาอาชีพประมง 1 ล้านบาท โดยมีการตั้งคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยส่วนราชการ ตัวแทนชุมชนพื้นที่ใกล้เคียงโรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซีย และตัวแทนทีทีเอ็มเป็นผู้พิจารณาการใช้เงินกองทุน


จากการตรวจสอบของผู้สื่อข่าวพบว่า วิธีการคำนวณภาษีโรงแยกก๊าซฯ ขององค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน กับการคำนวณภาษีโรงไฟฟ้าจะนะ ขององค์การบริหารส่วนตำบลคลองเปี๊ยะ อำเภอจะนะ แตกต่างกัน ส่งผลให้ตัวเลขภาษีที่ได้จากการคำนวณแตกต่างกันกว่า 10 ล้านบาท


นายเฉลิม ทองพรม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองเปียะ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการประเมินค่ารายปี เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งตั้งขึ้นตามคำสั่งที่ 253/2551 ของ อบต.คลองเปียะ ได้คำนวณภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2552 สำหรับโรงไฟฟ้าจะนะ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ตั้งในพื้นที่บ้านควนหัวช้าง ตำบลคลองเปียะ เป็นเงินทั้งปี 25,524,691.05 บาท แต่เนื่องจากปี 2551 โรงไฟฟ้าจะนะได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้เพียง 6 เดือนจึงลดภาษีลงเหลือ 18,000,000 บาทเศษ


นายเฉลิม เปิดเผยต่อว่า ทางโรงไฟฟ้าจะนะจึงได้ส่งหนังสืออุทธรณ์ไปยังคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาประเมินใหม่ โดยขอให้ลดหย่อนภาษีลงเหลือ 4,000,000 บาท โดยให้เหตุผลว่า ภาษีดังกล่าวสูงเกินไป และโรงไฟฟ้าจะนะเป็นรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการประชาชน คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้ว ยังคงยืนยันตามอัตราเดิม ไม่ให้ลดหย่อน ทางโรงไฟฟ้าจะนะจึงแจ้งว่า จะนำเรื่องนี้เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เนื่องจากเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกัน ไม่สามารถฟ้องศาลปกครองได้


นายเฉลิม เปิดเผยว่า คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการประเมินค่ารายปี ได้ยึดแนวการประเมินค่ารายปีของทรัพย์สินตามคำสั่งของกรุงเทพมหานคร โดยประเมินทั้งอาคารที่ทำการ อาคารโรงไฟฟ้า ถังน้ำมัน โรงสูบน้ำ โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างที่เกี่ยวเนื่องกับโรงไฟฟ้า ที่ดินที่ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือน และอ่างเก็บน้ำ นอกจากนี้ ยังคิดภาษีในพื้นที่สายส่งไฟฟ้าเป็นเงิน 980,899.50 บาท และพื้นที่สถานีปรับความดันท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นเงิน 240,942 บาท


นายเฉลิม เปิดเผยว่า ภาษีที่สูงสุดของโรงไฟฟ้าจะนะคือ อาคารโรงไฟฟ้าที่มีส่วนควบ เป็นเครื่องจักรกลไกหรือเครื่องกำเนิดสินค้า โดยมีสูตรคำนวณตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 มาตรา 13 คือ 1. อาคารเครื่องกังหันแก๊ส 2. อาคารเครื่องกังหันไอน้ำ และ3. HRSG AND STACK NO.1& NO.2 คิดค่ารายปีของอาคารทั้ง 3 หลัง เป็นเงิน 6,877,272 บาท จากนั้นนำมูลค่าเรื่องจักรราคา 4,080,000,000 บาท ไปคิดอัตรา 6.5% ซึ่งเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ จะได้ตัวเลขเท่ากับ 265,200,000 บาท แล้วนำค่ารายปีของอาคารทั้ง 3 หลัง คือ เงิน 6,877,272 บาทมาบวกรวม จะได้ตัวเลข 272,077,272 บาท จากนั้นนำไปลด 1 ใน 3 เป็นค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน ก็จะได้ตัวเลข 90,692,424 บาท นำไปคูณกับ 12.5% ของจำนวนเงินดังกล่าว ก็จะได้ภาษี 11,336,533 บาท" นายเฉลิม กล่าว


นายเฉลิม กล่าวว่า เรื่องนี้มีการเจรจากันหลายครั้งแล้ว โดยทางโรงไฟฟ้าขอให้คำนวณภาษี ด้วยการใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก คือ 1.75% แทนที่จะเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ 6.5% พร้อมกับต่อรองจะขอจ่ายภาษีที่ 7 ล้านบาท


รายงานข่าวจากโรงไฟฟ้าจะนะแจ้งว่า เดิมทางผู้บริหารโรงไฟฟ้าจะนะ พร้อมจะจ่ายภาษีที่ 10 ล้านบาท ต่อมาทราบว่าทางโรงแยกก๊าซจ่ายภาษีแค่ 3 ล้านกว่าบาท จึงจะขอต่อรองจ่ายภาษีเพียง 5 ล้านบาท โดยจะขอให้นายอำเภอจะนะเป็นตัวกลางเจรจา


นายอดุลย์ ทองเพชร นายก อบต.ป่าชิง อำเภอจะนะ เปิดเผยว่า พื้นที่ของโรงไฟฟ้าจะนะติดอยู่ในเขตตำบลป่าชิงอำเภอจะนะด้วย แต่เป็นที่ตั้งอาคารสำนักงาน คลังเก็บพัสดุและสวนหย่อม ทาง อบต.จึงคิดภาษีได้เพียง 400,000 บาท


สำหรับโรงไฟฟ้าจะนะ ได้จัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ในช่วงก่อสร้างปี 2549 - 2551 ปีละ 3.4 ล้านบาท เมื่อก่อสร้างเสร็จและเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ กฟผ.ได้ตั้งกองทุนพัฒนาพื้นที่บริเวณรอบโรงไฟฟ้า โดยหักเงินจากการจำหน่ายไฟฟ้าหน่วยละ 1 สตางค์เข้ากองทุน หรือ Energy Tax และมอบเงินให้มูลนิธิประมงคลองนาทับ 20 ล้านบาท เพื่อช่วยบรรเทาความเสียหายเบื้องต้น แก่ผู้ประกอบอาชีพประมง ที่ได้รับผลกระทบด้วย


นายเจริญ ศรีสุรักษ์ หัวหน้าแผนกประชาสัมพันธ์และชุมชนสัมพันธ์ โรงไฟฟ้าจะนะ เปิดเผยว่า ปี 2551 สามารถหักเงินสะสมเข้ากองทุนฯได้ 35 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการกองทุนกำหนดให้จัดสรรเงินให้ทุกตำบลในอำเภอจะนะแห่งละ 1 ล้านบาท เทศบาลตำบลจะนะ ที่ว่าการอำเภอจะนะ และจังหวัดสงขลาอีกแห่งละ 1 ล้านบาท รวมเป็น 17 ล้านบาท


"แม้โรงไฟฟ้าจะนะได้จัดตั้งกองทุนให้กับชุมชนจำนวนมาก แต่ก็จะไม่นำไปเป็นข้ออ้างในการขอลดหย่อนภาษี" นายเจริญ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net