Skip to main content
sharethis

26 เม.ย.52 เมื่อเวลา 13.00 น. เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ร่วมกับกลุ่มอิสระโดมแดง จัดแถลงการณ์จุดยืนเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคยมีบทบาทในการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 และรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 พร้อมกับมีการเสวนาเรื่อง "ทางออก?" วิกฤตการเมืองไทย ณ ห้องประชุม อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว


 


แถลงการณ์เครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร ระบุว่า การชุมนุมครั้งใหญ่ของแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนำไปสู่การสลายการชุมนุมโดยกองกำลังทหารติดอาวุธ ทำให้เกิดการสูญเสียเลือดเนื้อ ทรัพย์สินของประชาชน คือ สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ต่อเนื่องมากว่า 3 ปี


 


ทางเครือข่ายฯ มีความเห็นและข้อเรียกร้อง คือ 1.วงจรปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมาจากการมุ่งรักษาสถานะทางอำนาจของเครือข่าย "อภิสิทธิ์ชน" โดยใช้วิธีการนอกระบบกำจัดคู่แข่งทางการเมืองด้วยการรัฐประหาร 19 ก.ย.49 รวมทั้งกระบวนการและกลไกต่างๆ ที่มาจากการรัฐประหาร สิ่งเหล่านี้ สร้างความไม่พอใจต่อประชาชนที่ใช้สิทธิเลือกตั้ง รวมทั้งผู้รักประชาธิปไตย จนทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ และ ไม่ยอมรับในความยุติธรรมขององค์กรต่างๆ ทั้ง ศาล กองทัพ และองค์กรอิสระต่างๆ ดังนั้น การดื้อดึงอ้างหลักการ "นิติรัฐ" เพื่อเอาผิดกับฝ่ายตรงกันข้าม โดยไม่คำนึงถึงความยุติธรรมและความชอบธรรม นอกจากไม่ช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งแล้ว ยังพัฒนาความขัดแย้งไปสู่ความรุนแรงยิ่งขึ้นจนยากที่จะหาทางออกด้วยแนวทางสันติวิธี


 


2.ให้รัฐสภาพิจารณานำรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับ มาใช้ และมีบทเฉพาะกาลเพื่อนิรโทษกรรมคดีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทางการเมืองและเป็นผลสืบเนื่องมาจากการทำรัฐประหาร หลังจากนั้นรัฐบาลต้องประกาศยุบสภาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ทันที ในส่วนคดีทุจริตต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐบาลพรรคไทยรักไทยนั้นให้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมปกติ หลังจากมีการเลือกตั้งแล้ว


 


เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่มีความชอบธรรม แม้จะอ้างว่ามาจากการทำประชามติ แต่ก็เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ประชามติในครั้งนั้นพื้นที่กว่าครึ่งประเทศอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก มีการคุกคาม ปิดกั้นฝ่ายรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญทุกวิถีทาง รวมทั้งการที่ประชาชนยอมลงประชามติรับส่วนหนึ่งเพราะต้องการให้มีการเลือก ตั้งโดยเร็วและหวังว่าจะมีการแก้ไขภายหลังการเลือกตั้ง ที่สำคัญการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2540 เกิดจากการรัฐประหาร ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ชอบธรรมภายใต้ระบอบประชาธิปไตย


 


3.สนับสนุนให้รัฐสภาแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ชุมนุม ของ นปช. และการสลายการชุมนุมโดยกำลังทหารในระหว่างวันที่ 8-14 เม.ย.โดยใช้วิธีการไต่สวนสาธารณะ ในกระบวนการการตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส่และตรวจสอบได้ ซึ่งจะทำให้ได้รับการยอมรับของทุกฝ่าย


 


4. ประณามพฤติกรรมของสื่อมวลชนในความขัดแย้งครั้งนี้ ที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักจรรณยาบรรณของสื่อมวลชน โดยมีการนำเสนอข่าวและแสดงความเห็นอย่างมีอคติและเลือกข้างอย่างชัดเจน จนสร้างความรู้สึกอึดอัดให้กับประชาชนโดยทั่วไป รวมทั้งมีส่วนสำคัญที่ทำให้การเคลื่อนไหวพัฒนาไปถึงจุดที่เกิดความรุนแรง และเรียกร้องให้ประชาชนผู้รักความเป็นธรรมร่วมกันแสดงออกเพื่อกดดันอย่าง สันติ ให้สื่อมวลชนยึดหลักจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัดและเปิด พื้นที่ให้ทุกฝ่ายแสดงความเห็นอย่างเท่าเทียม


 


5.ประณาม ผู้ใช้ความรุนแรงที่มุ่งหมายในการทำร้ายร่างกาย ทรัพย์สิน รวมถึงชีวิตของผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างในทุกกรณี ทั้งกรณี การเสียชีวิตของการ์ด นปช.การยิงประชาชนในชุมชนนางเลิ้งเสียชีวิต และกรณีอื่นๆ รวมถึงกรณีนายสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งมีความเห็นและจุดยืนต่างกับเรา และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งดำเนินคดีนำคนผิดมาลงโทษโดยเร็ว


 


"สุดท้ายนี้ เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายรณรงค์เคลื่อนไหวด้วยแนวทางสันติวิธี และเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนของสังคมอดทนต่อการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง และยอมรับการเคลื่อนไหวของประชาชนซึ่งถือเป็นองค์ประกอบอันสำคัญในสังคม ประชาธิปไตย การอ้างความสมานฉันท์ การกล่าวหาและสร้างทัศนคติต่อการรณรงค์เคลื่อนไหวของประชาชนว่าเป็นการทำ ร้ายประเทศนั้น ไม่สามารถยุติความขัดแย้งในครั้งนี้ได้ มีแต่การยอมรับความเห็นที่แตกต่าง รวมถึงการเคารพการตัดสินใจของประชาชนส่วนใหญ่ผ่านการเลือกตั้งในระบอบ ประชาธิปไตยเท่านั้น จะนำพาสังคมไปสู่ความสมานฉันท์ได้อย่างแท้จริง" แถลงการณ์ระบุ


 


ทั้งนี้ ในส่วนการเสวนา "ทางออก?" วิกฤตการเมืองไทย วิทยากรประกอบด้วย ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะ รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยฮาวายอิ สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้สื่อข่าวอาวุโส The Nation ดำเนินรายการโดย นายอุเชนทร์ เชียงเสน นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้มีการถ่ายทอดสดเสียงการเสวนาผ่านทางเว็บไซต์ www.redplusplus.net


 







แถลงการณ์เครือข่าย ๑๙ กันยา ต้านรัฐประหาร


 


จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่มีต่อเนื่องมากว่า ๓ ปี จนล่าสุด เกิดการชุมนุมครั้งใหญ่ของแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ และนำไปสู่การสลายการชุมนุมโดยกองกำลังทหารติดอาวุธ ทำให้เกิดการสูญเสียเลือดเนื้อ ทรัพย์สินของประชาชน เราเครือข่าย ๑๙ กันยาต้านรัฐประหาร ซึ่งเคยมีบทบาทในการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ และรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มีความเห็นและข้อเรียกร้องดังนี้


 


๑. เราเห็นว่าวงจรปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นเป็นผลิตผลสืบเนื่องมาจากการมุ่งรักษาสถานะทางอำนาจของเครือข่าย "อภิสิทธิ์ชน" โดยใช้วิธีการนอกระบบกำจัดคู่แข่งทางการเมืองของพวกตน คือ การรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน รวมทั้งกระบวนการและกลไกต่างๆ ที่มาจากการรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นกรณี การนำประกาศของคณะรัฐประหารมาเอาผิดย้อนหลังเพื่อยุบพรรคการเมือง การแต่งตั้ง คตส.และการมัดมือชกประชาชนให้ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ซึ่งทั้งหมดนี้ขัดกับหลักการประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดนั้นเป็นของประชาชน ทำให้ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนจำนวนมาก ทั้งนี้ การชนะการเลือกตั้งในวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ ของพรรคพลังประชาชนที่ชูนโยบายต่อต้านรัฐประหารและแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นข้อ พิสูจน์ได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ความพยายามดังกล่าวก็ยังคงดำเนินการต่อไป จนในที่สุด นำไปสู่การยุบพรรคพลังประชาชน และพรรคร่วมรัฐบาล การเปลี่ยนขั้วทางการเมืองขึ้น โดยการแทรกแซงของกองทัพ ฝ่ายอำมาตย์อีกครั้ง


 


ทั้งหมดนี้ สร้างความไม่พอใจต่อประชาชนจำนวนมากที่ใช้สิทธิเลือกตั้งพรรคไทยรักไทยและ พรรคพลังประชาชน และผู้รักประชาธิปไตย จนทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ การปฏิเสธ ไม่ยอมรับ ถึงความยุติธรรมขององค์กรต่างๆ ทั้ง ศาล กองทัพ รวมถึงองค์กรอิสระต่าง ๆ


 


ดังนั้น เราเห็นว่า การดื้อดึงอ้างหลักการ "นิติรัฐ"เพื่อ เอาผิดกับฝ่ายตรงกันข้าม โดยไม่คำนึงถึงความยุติธรรมและความชอบธรรม นอกจากไม่ช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งแล้ว ยังพัฒนาความขัดแย้งไปสู่ความรุนแรงยิ่งขึ้นจนยากที่จะหาทางออกด้วยแนวทางสันติวิธี


 


๒. เราเห็นว่า รัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ ไม่มีความชอบธรรม แม้จะอ้างว่ามาจากการทำประชามติก็ตาม แต่ก็เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ประชามติในครั้งนั้นเป็นการ "มัดมือชก" พื้นที่กว่าครึ่งประเทศอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก มีการคุกคาม ปิดกั้นฝ่ายรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญทุกวิถีทาง รวมทั้งการที่ประชาชนยอมลงประชามติรับส่วนหนึ่งเพราะต้องการให้มีการเลือก ตั้งโดยเร็วและหวังว่าจะมีการแก้ไขหลังการเลือกตั้ง ที่สำคัญการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ นั้นกระทำด้วยการรัฐประหาร ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่อาจหาความชอบธรรมภายใต้ระบอบประชาธิปไตยได้


 


เราจึงขอเรียกร้องให้ รัฐสภาพิจารณานำรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ กลับมาใช้ และมีบทเฉพาะกาลเพื่อนิรโทษกรรมคดีต่างๆที่เกี่ยวข้องทางการเมืองและเป็นผล สืบเนื่องมาจากการทำรัฐประหาร หลังจากนั้นรัฐบาลต้องประกาศยุบสภาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ทันที ในส่วนคดีทุจริตต่างๆที่เกิดขึ้นในรัฐบาลพรรคไทยรักไทยนั้นให้ดำเนินการตาม กระบวนการยุติธรรมปกติหลังจากมีการเลือกตั้งแล้ว


 


๓. เราสนับสนุนให้รัฐสภาแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ ชุมนุมของ นปช. และการสลายการชุมนุมโดยกำลังทหารในระหว่างวันที่ ๘-๑๔ เมษายน โดยกระบวนการในการตรวจสอบให้ใช้วิธีการไต่สวนสาธารณะเพื่อให้เกิดความโปร่ง ใส่และตรวจสอบได้ ซึ่งจะทำให้ได้รับการยอมรับของทุกฝ่าย


 


๔. เราเห็นว่าในความขัดแย้งครั้งนี้ สื่อมวลชนไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักจรรณยาบรรณของสื่อมวลชน มีการนำเสนอข่าวและแสดงความเห็นอย่างมีอคติและเลือกข้างอย่างชัดเจน จนสร้างความรู้สึกอึดอัดให้กับประชาชนโดยทั่วไปและมีส่วนสำคัญที่ทำให้การ เคลื่อนไหวพัฒนาไปถึงจุดที่เกิดความรุนแรง


 


เราจึงขอประณามพฤติกรรมดังกล่าวและขอเรียกร้องให้ประชาชนผู้รักความเป็นธรรม ร่วมกันแสดงออกเพื่อกดดันอย่างสันติ ให้สื่อมวลชนยึดหลักจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัดและเปิด พื้นที่ให้ทุกฝ่ายแสดงความเห็นอย่างเท่าเทียม


 


๕. เราขอประณามผู้ใช้ความรุนแรงที่มุ่งหมายในการทำร้ายร่างกาย ทรัพย์สิน รวมถึงชีวิตของผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างในทุกกรณี ทั้งกรณี การเสียชีวิตของการ์ด นปช. การยิงประชาชนในชุมชนนางเลิ้งเสียชีวิต และกรณีอื่นๆ รวมถึงกรณีนายสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งมีความเห็นและจุดยืนต่างกับเรา เราขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งดำเนินคดีนำคนผิดมาลงโทษโดยเร็ว


 


สุดท้ายนี้ เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายรณรงค์เคลื่อนไหวด้วยแนวทางสันติวิธี และเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนของสังคมอดทนต่อการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง และยอมรับการเคลื่อนไหวของประชาชนซึ่งถือเป็นองค์ประกอบอันสำคัญในสังคม ประชาธิปไตย การอ้างความสมานฉันท์ การกล่าวหาและสร้างทัศนคติต่อการรณรงค์เคลื่อนไหวของประชาชนว่าเป็นการทำ ร้ายประเทศนั้น ไม่สามารถยุติความขัดแย้งในครั้งนี้ได้ มีแต่การยอมรับความเห็นที่แตกต่าง รวมถึงการเคารพการตัดสินใจของประชาชนส่วนใหญ่ผ่านการเลือกตั้งในระบอบ ประชาธิปไตยเท่านั้น จะนำพาสังคมไปสู่ความสมานฉันท์ได้อย่างแท้จริง


 


 


เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย


เครือข่าย ๑๙ กันยา ต้านรัฐประหาร


๒๖ เมษายน ๒๕๕๒ ณ อนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลา


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net