Skip to main content
sharethis

28 เม.. 52 - คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ออกแถลงการณ์  "5 ปี กรือเซะ กับกระบวนการยุติธรรมไทย" ระบุให้อัยการสูงสุด ทบทวนคำสั่งพิจารณาไม่ฟ้องคดีกรณีดังกล่าวเพื่อดำรงความยุติธรรมทางสังคมโดยให้ กระบวนการยุติธรรม


 



 






 


 


แถลงการณ์


5 ปี กรือเซะ กับกระบวนการยุติธรรมไทย


 


จากกรณีเหตุการณ์นองเลือดที่มัสยิดกรือเซะ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 โดยการปะทะกันด้วยกำลังอาวุธ ของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบและเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งประกอบด้วยกำลังตำรวจและทหาร เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตในมัสยิดจำนวน 32 คน ท่ามกลางข้อครหาว่ามีการใช้กำลังทหารเข้าปฏิบัติการล้อมปราบเพื่อเข้าควบคุมสถานการณ์อย่างรุนแรงโดยการสังหารผู้ที่อยู่ในมิสยิดทั้งหมด โดยไม่ใช้กระบวนการเจรจา แม้ฝ่ายเจ้าหน้าที่จะอ้างว่าจำเป็นต้องใช้อาวุธเพื่อปกป้องชีวิตตนเองและประชาชนผู้บริสุทธิ์ก็ตาม แต่เมื่อคำนึงถึงที่ตั้งของมัสยิดกรือเซะซึ่งตั้งอยู่อย่างเป็นเอกเทศ ไม่ได้อยู่กลางแหล่งชุมชนและจำนวนประชาชนก็ไม่ได้มีจำนวนมากตามที่มีการกล่าวอ้าง การใช้วิธีปิดล้อมและตรึงกำลังไว้รอบมัสยิดควบคู่ไปกับการเจรจาและเกลี้ยกล่อมโดยสันติวิธี อาจทำให้ผู้ก่อความไม่สงบยอมจำนนได้ในที่สุด และน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด อันจะช่วยให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้รับข้อมูลเรื่องวัตถุประสงค์ของการดำเนินการครั้งนี้รวมทั้งผู้อยู่เบื้องหลัง ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่การประเมินสถานการณ์และป้องกันภัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การยุติเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะด้วยสันติวิธีจึงมีความเหมาะสมกว่าที่จะใช้วิธีรุนแรงและอาวุธหนักเพื่อยุติเหตุการณ์ดังกล่าว


 


ทั้งนี้ยังมีข้อเท็จจริงตามรายงานของ "คณะกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ"  ระบุว่า พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงในขณะนั้น ได้สั่งการให้มีการปิดล้อมมัสยิดไว้และสั่งไม่ให้ยิงผู้ที่อยู่ในมัสยิด แต่ให้นำอาหารและน้ำดื่มไปให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในมัสยิดเพื่อจะได้ยอมมอบตัวต่อไป  แต่ พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน และ พันเอกมนัส  คงแป้น ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจ จังหวัดปัตตานี ในขณะนั้น ได้พยายามรายงานว่า มีความจำเป็นที่จักต้องใช้กำลังทหารเข้าปฏิบัติการ เพราะได้ตรวจสอบกับรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 แล้วว่า ไม่มีประชาชนผู้บริสุทธิ์อยู่ในมัสยิด ซึ่งอาจจะเป็นมูลฐานของการปฏิบัติการจนเกิดการสังหารหมู่ผู้ก่อความไม่สงบในมัสยิดกรือเซะดังกล่าว


 


จนถึงปัจจุบันนี้ การเสียชีวิตของประชาชน 32 คนที่มัสยิดกรือเซะ ยังคงไม่ได้รับคำตอบถึงผู้ที่จะต้องรับผิดชอบจากรัฐบาล แม้จะผ่านมาแล้วถึง 5 ปีแล้วก็ตาม คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ซึ่งได้ติดตามความคืบหน้าในการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชนในเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด จึงมีข้อเสนอต่อเรื่องดังกล่าว ดังนี้


 


1. ขอให้อัยการสูงสุด ทบทวนคำสั่งพิจารณาไม่ฟ้องคดีกรณีดังกล่าว และแจ้งเหตุผลต่อสาธารณะ เนื่องเพราะคำสั่งของศาลจังหวัดปัตตานี ระบุถึงสาเหตุแห่งการตายและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าในเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างชัดเจน อันน่าจะยกประโยชน์ให้สังคมโดยให้มีการดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามหลักกฎหมายว่า เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่เกินกว่าเหตุอันควรหรือไม่ เพื่อดำรงความยุติธรรมทางสังคมโดยให้ "กระบวนการยุติธรรม" เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และเยียวยาจิตใจญาติมิตรผู้เสียชีวิตในมัสยิดกรือเซะต่อไป


 


2. รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจักต้องดำเนินการให้ "กระบวนการยุติธรรม" เป็นเครื่องมือของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และเป็นที่พึ่งสำคัญที่ประชาชนต้องเข้าถึงได้เมื่อรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบหรือเจ้าหน้าที่รัฐ หรือรู้สึกถูกกลั่นแกล้งคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐก็ตาม เพราะพื้นฐานปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญที่ก่อให้เกิดการขยายตัวของความขัดแย้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  และเป็นโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่  ดังนั้น กรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือดำเนินการนอกกฎหมาย จะต้องมีการดำเนินการโดยไม่เลือกปฏิบัติทั้งทางวินัยและทางอาญา เช่น การซ้อมทรมาน การอุ้มหาย เป็นต้น คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) เห็นว่า หากอัยการสูงสุดมีความเห็นให้ฟ้องร้องในคดีกรือเซะเพื่อพิสูจน์ความเป็นธรรมตามกระบวนการกฎหมาย จะเป็นการพิทักษ์ความยุติธรรมและเยียวยาจิตใจประชาชนในพื้นที่ได้ และเกิดมาตรฐานของกระบวนการยุติธรรม เพื่อเป็นหลักประกันไม่ให้เกิดการใช้อำนาจเกินขอบเขตของเจ้าหน้าที่รัฐในประเทศไทยต่อไป


 


3.  คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) เห็นว่า การแก้ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องใช้ "การเมืองนำการทหาร" ไม่ปล่อยให้กองทัพยึดกุมอำนาจและแนวทางแก้ไขปัญหาเหนือรัฐบาลพลเรือน เพราะนโยบายการใช้กำลังทางอาวุธด้วยความรุนแรงไม่ใช่ทางออกในการบรรลุสันติภาพ ซึ่งหยั่งรากฝังลึกในความคิดของฝ่ายความมั่นคงไทยมาโดยตลอด อันเป็นเหตุให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนมากมาย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการทบทวนการใช้ยุทธการทหารในพื้นที่ โดยมีการปฏิรูปกองทัพและปฏิบัติการณ์ที่ใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ปัญหากับมวลชนโดยเร่งด่วน โดนให้ฝ่ายทหารและกองทัพอยู่ภายใต้อำนาจสั่งการทางนโยบายของฝ่ายพลเรือนและเป็นผู้นำการแก้ปัญหา เพื่อหยุดความรุนแรงทางสังคมและยุติความขัดแย้งทางอาวุธในระยะยาวต่อไป


28 เมษายน 2552


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)


 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net