สัมภาษณ์: โครงสร้างอำนาจชายแดนใต้ เสียงสะท้อนจากอปท.เมื่อฝ่ายมั่นคงแย่งงานไปทำ

หลังเหตุการณ์คนร้ายลอบยิงขบวนรถไฟสายพัทลุง -สุไหงโก-ลก ในช่วงก่อนสงกรานต์ที่ผ่านมาจนมีพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทยเสียชีวิตและบาดเจ็บไปหลายคนนั้น มาตรการหนึ่งที่ออกมาหลังการหารือกันของทุกฝ่ายแล้ว คือ จะให้ชุมชนและองค์กรปกครองสวนท้องถิ่นในพื้นที่ตามเส้นทางรถไฟไปยังชายแดนใต้ได้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาความปลอดภัย

 

แต่บทบาทจริงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ได้มีอยู่แค่นั้น ในช่วงที่ผ่านมาพวกเขาพยายามจะขอมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ซึ่งแน่นอนบทบาทหน้าที่ก็คู่กับงบประมาณ แต่งบประมาณจำนวนมหาศาลที่ถูกใช้ไปในการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดช่วง 4 - 5 ปี ที่ผ่านมา รวมเกือบแสนล้านบาทในภารกิจด้านความมั่นคงเป็นหลัก โดยรัฐบาลได้จัดสรรผ่านกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ก่อนที่จะนำไปจัดสรรในโครงการต่างๆ รวมทั้งงานด้านการพัฒนา

 

แม้ปัจจุบันจะมีคณะกรรมการรัฐมนตรีที่รับผิดชอบปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรงแล้ว ที่ล่าสุดก็ได้มีการอนุมัติงบประมาณพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปกว่า 5 หมื่นล้านบาท บวกกับความพยายามในการตั้งศูนย์บริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ สบ.ชต.อยู่ด้วย

 

แต่ในสายตาใครบางคน มองว่าทุ่มงบประมาณไปมาก แต่ความรุนแรงก็ยังเกิดขึ้น ซ้ำงานบางอย่างถูกหน่วยงานความมั่นคงอยากแย่งไปทำ ทั้งที่เป็นภารกิจของหน่วยงานหรือองค์กรที่อยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว อย่างเช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ไม่ว่า องค์กรบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)

 

ต่อไปนี้เป็นบทสัมภาษณ์ นายธีรวัธน์ วุนาพันธ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา และนายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี สะท้อนมุมมองการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นในสถานการณ์ไม่ปกติ กับงบประมาณที่มีอยู่อย่างเหลือหลาย แต่ทำไมไม่ตกมาถึง อปท.บ้าง ทั้งที่ท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งของประชาชนซึ่งพวกเขาคิดว่าน่าจะทำงานได้ดีกว่าด้วยซ้ำ

 

000

 

 

"รัฐไม่คิดให้เงินท้องถิ่นช่วยดับไฟใต้"

นายธีรวัธน์ วุนาพันธ์

รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ยะลา

 

การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้  ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่ มีบทบาทอะไรบ้าง โดยเฉพาะ อบจ.

 

จริงๆ แล้วองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็น อบจ. เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) สามารถที่จะช่วยรัฐในการที่บรรเทาหรือจะแก้ไขปัญหาความไม่สงบ หรือวิกฤตความเดือดร้อนของพี่น้องได้หลายอย่าง

 

แต่ปัญหาที่ผ่านมา คือ ภาครัฐไม่ค่อยให้ความสำคัญกับ อปท.ในการเข้าไปร่วมมือแก้ไขปัญหา เราดูได้จากเม็ดเงินงบประมาณ รัฐให้งบประมาณมาผ่านกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กรอ.มน.ภาค 4 สน.) ผ่านศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ผ่านทางจังหวัด ทางทหาร ทางตำรวจ แต่ไม่คิดจะเอาเม็ดเงินมาให้ อปท.ส่วนหรือไม่ ในการช่วยแก้ปัญหาหรือบรรเทาปัญหา

 

ดังนั้นเม็ดเงินที่หมดไปกว่า 3 - 4 หมื่นล้านบาท เป็นเงินเท่ากับกว่าครึ่งหนึ่งของการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านมา 3-4 ปี ถามได้ผลแค่ไหน งบประมาณไปตกอยู่ที่ใคร

 

งานเกี่ยวกับความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐต้องจ่ายเงินให้ได้วันละไม่น้อยกว่า 60 ล้าน และต้องจ่ายให้หมด แล้วเราเสียดายเม็ดเงินงบประมาณตรงนี้หรือไม่ ท้องถิ่นเคยได้การเอื้ออำนวยจากเม็ดเงินตรงนี้หรือไม่ เพื่อที่จะเอาไปให้พี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แก้ปัญหาด้านการเกษตร แรงงานก็ดี หรือแม้แต่ปัญหาการว่างงาน ท้องถิ่นก็ไม่โอกาสเข้าไปช่วยได้เพราะ เราไม่มีเม็ดเงิน

 

อีกส่วนหนึ่งคือฝ่ายความมั่นคงต้องการบีบให้ อปท.เตรียมโครงการการแก้ปัญหาความไม่สงบด้วย แต่พอถึงเวลาเคยให้เม็ดเงินมาหรือเปล่า

 

วันนี้ อปท.เก็บภาษีได้ลดลง เพราะการประกอบอาชีพของพี่น้องประชาชนลำบาก รายได้มันเริ่มร่อยหรอลง ภาษีบางอย่าง เช่น ภาษีน้ำมันซึ่งเป็นรายได้ของ อบจ. ก็ชะลอการเก็บไว้ เพราะผู้ประกอบการเขาขอความร่วมมือมา

 

จากปัญหาที่เกิดขึ้น แทนที่รัฐบาลกลางจะกระจายเม็ดเงินให้กับ อปท. ในการเอื้อหรือร่วมมือในการแก้ปัญหามันก็ให้มาค่อนข้างน้อยหรือไม่มีเลย ผมมองว่าไม่น่าจะถูกต้อง ในเมื่อรัฐบาลอ้างการเมืองนำการทหาร แต่เอาเข้าจริง อปท.ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเมือง ผู้บริหารและสมาชิกสภาของ อปท. ก็มาจากการเลือกตั้ง เคยได้รับโอกาสทางด้านการเมืองนำการทหารบ้างหรือไม่ โดยเฉพาะในเรื่องการกระจายเม็ดเงินมาให้ก็ดี หรือในส่วนของการกระจายบทบาทหน้าที่มาให้ก็ดี ถามว่ามีแค่ไหน วันนี้รัฐบาลกำลังทำสวนทางกับสิ่งที่ประกาศอยู่

 

แล้วจะต้องทำอย่างไร มีการเสนอเรื่องนี้ให้รัฐบาลแล้วหรือยัง และรัฐว่าอย่างไรบ้าง

 

เราพร้อมจะเสนอ เรามีทีมงาน เรามีโครงการ เรามีแนวคิดหลายอย่าง อยากถามว่าฝ่ายความมั่นคงเคยเชิญเราไปหารือไม่ เคยให้โอกาสเราไปพูดหรือไม่ ที่สำคัญเราไปพูดแล้วเขาจะให้เงินมาหรือไม่ เอาของจริงมาว่ากัน อย่ามาสร้างภาพ ถ้าสร้างภาพก็ไม่มีทางแก้ปัญหาได้

 

ตอนนี้รัฐบาลได้มอบหมายนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยกำกับดูแลการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทาง อปท.ในพื้นที่จะใช้โอกาสนี้สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นหรือไม่ อย่างไร

 

ไม่รู้ว่าผู้ใหญ่ในกระทรวงวันนี้ เข้าใจปัญหาความไม่สงบที่แท้จริงแค่ไหน 1.ต้องเข้าใจปัญหาที่แท้จริง รับรู้ข้อมูลสภาพปัญหาบนพื้นฐานของความเป็นจริง อันนี้เป็นหัวใจสำคัญ หลังจากนั้นก็ต้องมาแก้ไขปัญหา แต่วันนี้ดูแล้วยังไม่ชัดเจนว่า ผู้ใหญ่เขาจะมองเห็นสภาพปัญหาบนพื้นฐานของความเป็นจริงอยู่หรือไม่ ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ต้องไปแก้ในเรื่องข้อมูลก่อน เพราะอาจไม่สมบูรณ์หรือไม่ถูกต้อง

 

วันนี้อยากรู้ว่าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญแค่ไหน การลงมาหาข้อมูลที่แท้จริง การลงมาสัมผัสในพื้นที่ ไม่ใช่ไปฟังบางคนบางกระแสที่อยู่ใกล้ชิดตัว แล้วไปอ้างไปสรุปว่า อันนี้ใช่ อันนี้ไม่ใช่ ไม่อยากให้ทำเช่นนั้น เพราะฉะนั้นผู้ใหญ่ต้องลงมารับทราบปัญหาที่แท้จริง มาสัมผัสกับชาวบ้านในพื้นที่อย่าไปอ้างว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) มี สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)ในพื้นที่แล้ว ซึ่งนั่นเป็นแค่ตัวแทน แล้วตัวแทน เขารู้ความจริงแค่ไหน

 

วันนี้ส่วนสำคัญที่สุด คือพี่น้องประชาชนขาดความเชื่อมั่นและศรัทธาในอำนาจรัฐ เป็นปัญหาใหญ่ ไม่ว่าฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง หรือฝ่ายทหาร แต่ทำไม่รัฐไม่เปิดทางให้ฝ่ายการเมืองและ อปท.เข้ามามีส่วนร่วม ในเมื่อบอกว่าจะนำการเมืองนำการทหาร

 

แต่อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้ตำหนิฝ่ายความมั่นคง เพราะเท่าที่ผ่านมาฝ่ายความมั่นคงก็ดีอยู่ในหลายๆ เรื่อง หลายเรื่องที่ทำไปแล้วมันมีผลบวก หลายเรื่องที่ทำไปแล้ว ทำให้ข้อมูลหรือว่าเหตุที่เกิด เช่น เหตุร้ายรายวัน ซึ่งยอมรับว่า ลดลงและกำลังจะดีขึ้น เพียงแต่พูดว่า การให้โอกาส อปท.เข้ามามีส่วนร่วมเท่านั้น

 

แน่นอนเราไม่ได้เข้าไปทำงานเรื่องความมั่นคงโดยตรง แต่ในหลายๆ เรื่องรัฐบาลน่าจะเอื้อในเรื่องเม็ดเงินมาให้ด้วย หรือหลายเรื่องที่รัฐรับฟังความคิดเห็นของเราแล้วเอาไปทำด้วยก็ดี ตรงนี้ผมคิดว่ามันเป็นการบูรณาการที่ดีระหว่าภาครัฐส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาค กับส่วนการเมืองท้องถิ่น ซึ่งมันจะเป็นประโยชน์ในภาพรวม

 

ในฐานะ อปท.อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่า มองเห็นโอกาสหรือแนวทางใดบ้างที่สามารถแก้ปัญหาได้นอกเหนือจากบทบาทหน้าที่ปกติ ถ้ารัฐบาลให้เงินมา

 

ที่ผมพูดอย่างนี้ เพราะวันนี้ชาวบ้านจะไปคุยกับตำรวจก็ไม่สบายใจ จะไปคุยกับทหารก็กล้าๆ กลัวๆ ถ้าไปคุยกับฝ่ายปกครองก็ไม่สะดวก เขาก็ต้องมาคุยกับพวกผม พวก ส.อบจ.(สมาชิกภา อบจ.) นายกเทศบาล นายก อบต.

 

คือวันนี้ชาวบ้านมีความไว้วางใจที่จะคุยกับนักการเมืองมากกว่าคุยกับฝ่ายปกครองหรือฝ่ายความมั่นคงในแง่ข้อมูลพื้นฐานที่เป็นจริง หรือการเสนอแนวคิดต่างๆ เช่น ถ้าเขาพูดออกไปแล้ว เขาจะเป็นศัตรูกับใครบ้าง เขาพูดไปแล้วเขาจะปลอดภัยหรือไม่ การที่เขาพูดคุยในกลุ่มกัน 5 คน ก็ไม่รู้ว่าในกลุ่มนั้นมีฝ่ายไหนอยู่บ้าง ตรงนี้ต่างหากที่เป็นปัจจัยบอกถึงความไว้วางใจ

 

ประเด็นที่ผมมองวันนี้คือ รัฐควรให้โอกาสกับ อปท.ในพื้นที่มากขึ้นในเรื่องของเม็ดเงินงบประมาณที่จะมาอุดหนุนฟื้นฟู แก้ปัญหาเศรษฐกิจเวลา ปัญหาการว่างงาน เรื่องศาสนา วัฒนธรรมต่างๆ ร่วมทั้งโครงสร้างพื้นฐานให้มากขึ้นว่าเดิม ซึ่งน่าจะส่งผลดีกับรัฐได้ด้วย

 

เม็ดเงินที่อยู่ในส่วนของความมั่นคง ถ้าแบ่งมาให้บ้างก็จะเป็นการดี เพราะว่าหลายอย่างเราดูแล้วมันไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้มากถึงขนาดนั้น และที่สำคัญปัญหาที่แท้จริงของพี่น้องประชาชน ไม่มีใครรู้ดีไปปกว่า อปท.

 

อปท. ที่ตั้งขึ้นมาท่านก็ทราบว่า เพื่อ 1.แก้ไขปัญหาความเดืดร้อนของพี่น้องประชาชน 2. สนับสนุนความต้องการของพี่น้องประชาชน เท่านี้เอง การแก้ปัญหาและความเดือดร้อนกับ องค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากพี่น้องประชาชนที่ตรงประเด็นที่สุด และใกล้ชิดพี่น้องประชาชนมากที่สุด คือ อปท.

 

ยกตัวอย่างได้หรือไม่ว่า มีโครงการใดบ้างที่ฝ่ายความมั่นคงต้องการให้ อปท.ทำด้วย แต่ไม่ได้สนับสนุนงบประมาณมาให้

 

เช่น ที่เรามองว่าถ้าทำให้คนมีงานทำได้โดยทั่งถึงและต่อเนื่อง เราก็สามารถจะแก้ปัญหาความไม่สงบได้ในระดับหนึ่ง เพราะการแก้ปัญหาความมั่นคงของเขาคือมีอาชีพมั่นคง มีรายได้ที่สม่ำเสมอ และการส่งเสริมอาชีพอะไรพวกนี้ สามารถช่วยได้ระดับหนึ่ง และแก้ปัญหาเรื่องการว่างงานด้วย

 

อีกส่วนหนึ่งคือ ในเรื่องการสร้างความเข้าหลักศาสนา เช่น มีการอบรมให้ความรู้ มีการเผยแพร่ การเข้าไปร่วมทำกิจกรรมกับประชาชนในพื้นที่ให้เพิ่มมากขึ้น แม้กระทั่งเรื่องยาเสพติด

 

ที่ผ่านมา อบจ.ยะลา ได้ให้หลักศาสนาเข้ามาเป็นตัวนำแรงจูงใจในการบำบัดยาเสพติด กล่าวได้ว่าปัญหายาเสพติดก็เป็นปัญหาความมั่นคงอย่างหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันงบประมาณของเราก็มีจำกัด ไม่สามารถทำได้อย่างแพร่หลายและทั่วถึง

 

งานที่ยกตัวอย่างมา คืองานที่ฝ่ายความมั่นคงก็อยากให้ทำ

 

ตอนนี้ฝ่ายความมั่นคงบางครั้งมาทำงานในเชิงงานการเมืองท้องถิ่นหลายเรื่อง แต่ถามว่าสิ่งที่ทำไปนั้นมันตรงความต้องการของพี่น้องประชาชนแค่ไหน ได้ผลแค่ไหน ผมไม่อยากให้ไปละลายงบประมาณมากจนเกินเหตุหรือเกินความจำเป็น

 

วันนี้เรามั่นใจว่า อปท.รู้สภาพปัญหาหลายๆ เรื่อง หลายอย่างที่เราพร้อมจะให้ความร่วมมือ แต่ที่สำคัญก็คือขาดโอกาสที่จะทำงานที่ไปเอื้อให้กับรัฐส่วนกลาง แต่ไม่เอื้อกับเม็ดเงินงบประมาณที่รัฐให้

 

ผมคิดว่าจุดที่ดีที่สุดของการเริ่มต้นวันนี้ คือให้รัฐบาลส่วนกลางหรือหน่วยงานของรัฐส่วนภูมิภาคก็ดี หาโอกาสสักวันหรือสักครั้งหารือพบปะกับ อปท.ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วเรามาบูรณาการกัน ทำงานร่วมกัน แต่รัฐก็ต้องเอื้อในเรื่องงบประมาณด้วย ไม่ใช่ประเภทที่ผมเคยเจอมาแล้ว ที่ถึงขนาดเคยไปประชุมร่วมกันแล้วก็บอกว่าให้ อปท.เสนอแผนงานโครงการที่แก้ไขปัญหาความไม่สงบไป แต่พอถามว่า แล้วรัฐจะให้เม็ดเงินมาหรือไม่ ก็ไม่ตอบ

 

เรื่องนี้คุณไปตั้งงบประมาณกันเอง แล้วมาบังคับให้ อปท.ทำงานให้ ในขณะที่ อปท.วันนี้รายได้ไม่ได้เพิ่ม เศรษฐกิจถดถอยเม็ดเงินหายไปจากตลาดเยอะ ภาษีบางอย่างเก็บไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยภาษีบางอย่างถูกชะลอเก็บ เพราะถูกร้องขอจากผู้ประกอบการ เราก็เห็นใจ เพราะฉะนั้นปัญหาเรื่องเงินเป็นเรื่องใหญ่

 

ในช่วงเกิดเหตุการณ์ไม่สงบที่ผ่าน อปท.ในพื้นที่ ต้องรับบทบาทเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านโดยตรง มากน้อยแค่ไหน และส่งผลอย่างไรบ้าง

 

ส่วนใหญ่ถ้าเป็นเรื่องคดีความ แต่ให้มาช่วยโดยตรงก็ไม่มี ที่มีบ้างมีมาปรึกษามาพุดคุยเป็นการส่วนตัวบ้าง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจ เรื่องการสัญจรไปมา เป็นเรื่องของการทำมาหากิน เรื่องการประกอบอาชีพที่ได้รับผลกระทบมากกว่า เช่น ไม่สามารถกรีดยางพารา หรือทำอาชีพเกษตรได้ตามวิถีชีวิตปกติโดยสะดวก จะเป็นลักษณะอย่างนั้นมากกว่า

 

 

ในฐานะที่อยู่ใน อบจ.ยะลา จะเสนอให้สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทยหยิบประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาผลักดันต่อด้วยหรือไม่

 

ถ้าจะมีก็ประเด็นเดียว คือความเป็นอิสระของ อปท.ที่แท้จริง ในกรณีที่ อปท.ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เหมือนหรือแตกต่างจากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในส่วนของ อปท.ในจังหวัดอื่น

 

ต้องให้ความเป็นเอกเทศหรือความมีเอกภาพของ อปท.ในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น เพราะบางอย่างเราไม่สามารถทำได้บนพื้นฐานของเหตุการณ์ปกติเหมือนที่อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องแผนงานโครงสร้างพื้นฐาน แผนงานการสร้างอาชีพ รวมทั้งการสนับสนุนและความร่วมมือกับ อปท.ในระดับล่างลงไป ไม่ว่าจะเป็นเทศบาลหรือ อบต. หรือแม้แต่ลงไปในชุมชนหมู่บ้าน

 

 

แล้วในกรณีอื่นที่สามารถอำนวยความสะดวกในการแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้โดยตรงมีหรือไม่ เพราะในการทำงานจริงๆ มันติดขัดหลายอย่าง ถ้าถามเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่บอกว่าขัดกับพระราชบัญญัติกำหนดแผนและการกระจายอำนาจบ้าง ระเบียบไม่เปิดกว้างบ้าง เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาที่สะดวกและทันถ่วงทีผมคิดว่าควรต้องมีช่อง เพราะผมมองว่า อปท.อย่างที่เรียนตอนต้นว่า 1. แก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน 2. สนองความต้องการของพี่น้องประชาชน ถ้าเราแก้ไขช้า ก็เท่ากับว่าปฏิเสธการแก้ปัญหา

 

การแก้ปัญหาหรือการสนองตอบที่ช้า ผมมองว่าไม่ใช่วัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง อปท. เพราะฉะนั้นระเบียบเล็กๆ น้อยๆ เหล่านั้น หรือข้อปฏิบัติที่สามารถเปิดช่องให้มีอะไรบ้าง ก็ต้องมารวบรวมและมาคุยกัน เพราะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาพอสมควรในการแก้ไข

 

ถึงวันนี้ผมต้องการให้ อปท.เป็นท้องถิ่นที่แท้จริงและแต่ละ อปท.ก็มีความหลาย ดังนั้นต้องเปิดช่องให้เขาในจังหวะหรือโอกาสหรือสภาพที่เหมาะสมกับแต่ละแห่ง

 

ฟังอย่างนี้แล้วเหมือนต้องการให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีลักษณะพิเศษและอิสระมากขึ้น เพื่อให้ส่งผลต่อประสิทธิภาพในแก้ปัญหาในพื้นที่ได้มากขึ้น หมายความว่าโครงสร้างการปกครองในพื้นที่ โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นที่เป็นอยู่ตอนนี้มีปัญหา แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร

 

หัวใจหลักคือปรับให้มีการคล่องตัว มีความสะดวก มีความเป็นเอกภาพ ในการบริหารจัดการ อปท.เพิ่มขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่ากรณีที่ไปผูกมัดอยู่กับระเบียบกฎหมายที่ส่วนกลางใช้อำนาจผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัด หรือระเบียบของกฎกระทรวงมหาดไทยก็ดี พระราชบัญญัติกำหนดแผนและการกระจายอำนาจก็ดี สิ่งเหล่านี้บางเรื่องบางราวต้องแก้ไข แต่ไม่ใช่หมายถึงหลักการใหญ่

 

หลักใหญ่ๆ ก็คงไว้อย่างเดิม แต่บางเรื่องที่เป็นเรื่องรายละเอียดก็ต้องแก้ไข เพื่อให้สามารถทำงานได้โดยสะดวก การเบิกจ่ายงบประมาณลงไปช่วยเหลือ ก็ให้เอื้อต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่จริงๆ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบ ต้องแก้ตรงนี้มากกว่า ส่วนหลักใหญ่ๆ ในเรื่องโครงสร้างการปกครองท้องถิ่นที่เป็นอยู่ยังรับได้ครับ

 

เป็นไปได้หรือไม่ ถ้า อบจ. ทั้ง 3 จังหวัดมารวมกัน และจัดทำข้อเสนอร่วมกัน 1 , 2 , 3 , 4 ถ้าไม่ทำอย่างนั้นก็จะแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้

 

ตรงนี้ก็ตรงกัน ก็ได้คุยกับสมาชิกสภาเทศบาลบ้าง อบต.บ้าง ในส่วนที่ทำงานร่วมกัน อบจ.ยะลาส่วนหนึ่ง และเทศบาลและอบต.ใน 3 จังหวัดแล้วอีกส่วนหนึ่ง และราชการส่วนกลางแล้วว่า วันนี้เราควรจะร่วมมือกันอย่างไรในการแก้ปัญหา แต่วันนี้ยังไม่ถึงจุดนั้น แต่วันนี้ อปท.เองอยากให้ได้รับมอบหมายให้มาคิดงานโครงการหลักๆ ก่อน 2- 3 อย่าง แต่ด้านความมั่นคงเราไม่เตะ เช่น เรื่องการส่งเสริมอาชีพ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การว่างงานช่วย เรื่องการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ปัญหายาเสพติด ที่เอื้อให้ อปท.ทำได้ รัฐช่วยได้ไหม

 

แต่ที่เราสรุปปัญหาเหล่านี้จากที่คุยกันวงใน คิดว่า จะเริ่มต้นจากปัญหาใหญ่ก่อน หลักๆ ก็คือที่เป็นประโยชน์ในจังหวัดก่อน อาจเป็นรายละเอียดปนอยู่บ้าง แต่เบื้องต้นวันนี้ผมอยากให้เปลี่ยนตรงที่ผมบอกนี้ก่อน

 

ผมเชื่อว่า ถ้าเรามีโครงการที่ดี เป็นโครงการที่ฝ่ายความมั่นคงหรือฝ่ายปกครองเขามั่นใจว่าเราแก้ได้เขาก็คงจะช่วย ที่ผ่านมาเราไม่มีการวมตัวกันในระดับท้องถิ่น เราไม่มีประเด็นหรือข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม แต่เราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะมองปัญหานี้มา 3 -  4 ปีแล้ว เราคิดว่าวันนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมาจับมือร่วมกันจะเอาอะไรนำร่อง จะร่วมกันอย่างไร เป็นเรื่องในอนาคต

 

000 

"ต้องปลดล็อคอำนาจท้องถิ่นชายแดนใต้"

เศรษฐ์ อัลยุฟรี

นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี

 

 

มีข้อเสนอถึงบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกี่ยวกับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย

 

การผลักดันเรื่องการแก้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะนำเสนอเป็นวาระหลักของสมาคมฯ เพื่อให้สมาคมช่วยกันผลักดันได้อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะการใช้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยใช้สมาคมเข้าไปพูดคุยในระดับประเทศในเรื่องการกระจายอำนาจ กฎระเบียบต่างๆ และกลไกของ อบจ.ให้สามารถใช้เป็นสิทธิพิเศษเข้ามาช่วยเหลือ ทั้งในเรื่องงบประมาณ และบุคลากรต่างๆ ที่เป็นประโยชน์

 

ที่ผ่านมาเราผลักดันมาตลอด หลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้น เราพยายามที่จะพูดคุยในสมาคมให้ผู้บริหารสมาคมคิดว่า จะทำอย่างไรที่มีส่วนร่วมในการหาแนวทางแก้ปัญหา 3 จังหวัด

 

ที่ผ่านมา เราได้พูดคุยในเรื่องการปฏิบัติงานขององกรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ กับ อบจ.อีก 2 จังหวัด คือ ปัตตานีและนราธิวาส ในเรื่องระเบียบอะไรต่างๆ แต่เราไม่สามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในเรื่องการพัฒนาของเราได้ทั้งหมด เพราะติดขัดกฎระเบียบบางอย่าง เพราะฉะนั้นใน 3 จังหวัดต้องมีการยกเว้นระเบียบบางข้อที่ไม่กระทบต่อความมั่นคง

 

ตัวอย่างเช่นเรื่องการดำเนินการในเรื่องวัสดุต่างๆ ที่เข้าไปช่วยเหลือแก้ปัญหา เรื่องการพัฒนาโรงเรียนตาดีกา ซึ่งระเบียบกฎหมายไม่เปิดช่องให้สามารถดำเนินการได้ ทำให้บางเรื่องเราไม่สามารถเข้าไปแก้ปัญหาหรือเข้าไปสนับสนุนเขาได้ เรามีข้อจำกัดในเรื่องการใช้อำนาจหน้าที่ ติดขัดอยู่ที่คำสั่งคณะกรรมการกระจายอำนาจ ทำให้เราไม่สามารถเข้าไปดำเนินการทั้งๆ ที่เรามีความพร้อมในเรื่องงบประมาณและบุคลากร เพราะฉะนั้น ต้องมีการยกเว้นเป็นกรณีพิเศษ

 

ในเรื่องการจัดสรรงบประมาณก็เช่นกัน ถ้ามองว่าใน 3 จังหวัดต้องให้งบประมาณจำนวนมากในการแก้ปัญหา ทั้งเรื่องอาชีพ การศึกษา รัฐก็ต้องให้ความสำคัญกับบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย โดยต้องนำตัวแทนสมาคมเข้าไปพูดคุยด้วย

 

วันนี้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ก็มีฐานเสียงในภาคใต้และรัฐบาลเองก็ได้ตั้งรัฐมนตรีขึ้นมาดูแลการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรง ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ได้ใช้โอกาสนี้อย่างไรบ้าง

 

ปัญหาที่ผ่านมา ประชาคมหรือแผนของท้องถิ่นก็ถูกนำเข้าไปในจังหวัดทั้งหมด จังหวัดจะทำหน้าที่เสนอภาพรวมของปัญหา เพราะฉะนั้นในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เราได้ใช้ปัจจัยที่มีอยู่ไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น เรามีรัฐมนตรีเข้ามาดูแล 3 จังหวัดโดยตรง และรัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ที่มีฐานเสียงใน 3 จังหวัดด้วย ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะรับรู้ปัญหาต่างๆ

 

แต่การนำไปสู่การปฏิบัติก็ต้องมีขั้นตอน มีงบประมาณ ต้องใช้ระยะเวลาในการเข้ามาแก้ปัญหา ซึ่งมีปัจจัยต่างๆ พร้อมอยู่แล้ว แต่ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปัญหาที่ถูกรวบรวมโดยจังหวัด เสนอเป็นแผนงานโครงการผ่านทางจังหวัด เพื่อนำไปของบประมาณจากเสนอรัฐบาล แต่บางสิ่งก็อาจไม่สามารถทำได้

 

ถ้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 3 จังหวัดร่วมมืออย่างจริงจังเพื่อจัดทำข้อเสนอที่ชัดเจนจะเป็นไปได้ไหม

 

ที่ผ่านมาก็มีหน่วยงานที่พยายามรวบรวม จัดสัมมนา จัดประชุม โดยเชิญตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจาก 3 จังหวัด ในการทำแผน ทำข้อเสนอต่างๆ อยู่แล้ว โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ก็ดี มีการทำแผน มีการระดมสมองกัน เพื่อรวบรวมปัญหาและจัดทำข้อเสนอให้รัฐบาล และยังมีสถาบันการศึกษาเข้าไปศึกษาวิจัย เก็บข้อมูลต่างๆ เพื่อเสนอรัฐบาลก็มี

 

ที่ผ่านมายังมีปัญหาในเรื่องความเป็นเอกภาพด้วย แม้แต่ตั้งกลุ่มจังหวัด 3 จังหวัด หรือ 4 หรือ 5 กลุ่มจังหวัด ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องการปฏิบัติ ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองการที่จะบูรณาการกันในทั้ง 3 จังหวัด แล้วมากำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกัน ตรงนั้นก็ต้องสร้างความเป็นเอกภาพก่อนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ต้องเข้าใจว่าการที่ต้องนำเสนอโครงการอะไรสักอย่างหนึ่งที่ต้องได้รับประโยชน์กับ 3 จังหวัด ต้องมีการบริหารจัดการที่ต้องใช้งบประมาณมากพอสมควร จะต้องมีการเปิดใจให้กว้างว่าใครจะเป็นเจ้าภาพในทางที่การปฏิบัติด้วย ซึ่งยังไม่เป็นรูปธรรมชัดเจน

 

แต่จากการสัมภาษณ์นักการเมืองท้องถิ่นใน 3 จังหวัดหลายคน ตอนนี้ก็มีความเห็นที่คล้ายๆ กันว่า จะต้องแก้ไขกฎระเบียบข้อบังคับบางอย่าง เพื่อให้มีสิทธิพิเศษบางอย่างที่ทำให้อาจทำงานหรือสามารถผ่อนผันงานบางอย่างในพื้นที่ได้

 

แน่นอน การจะใช้อะไรที่เหมือนกันทั้งประเทศ แล้วมาใช้กับ 3 จังหวัดด้วยไม่ได้ เราต้องดูถึงคนในพื้นที่ ทั้งเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ในพื้นที่มีพี่น้องมุสลิม 80% เพราะฉะนั้นระเบียบกฎเกณฑ์อะไรต่างๆ ที่ใช้กันทั้งประเทศ บางอย่างอาจไม่สามารถดำเนินการได้ในพื้นที่ 3 จังหวัด เพราะกฎข้อบังคับบางข้อมีความขัดแย้งกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม ถ้ายิ่งใช้ก็ยิ่งทำให้เกิดปัญหามากขึ้น ต้องมีการทบทวนในเรื่องนี้

 

แต่จะต้องดูเรื่องความมั่นคงเป็นหลักด้วย ดูว่าอะไรที่ไม่ขัดกับความมั่นคงก็สามารถปลดล็อคเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ เราต้องคิดว่านี่เป็นพื้นที่พิเศษ และพิเศษอย่างไร ก็พิเศษตรงที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นพื้นที่ที่มีพี่น้องมุสลิม 80%

 

ดูอย่างนี้แล้วโครงสร้างการปกครองท้องถิ่นที่เป็นอยู่มันเหมาะสมกับ 3 จังหวัดแล้วหรือยัง

 

โครสร้างดี แต่ถามว่าจะทำอย่างไรให้โครงสร้างนั้นเดินได้ สามารถปรับยุทธศาสตร์ สามารถพัฒนา และสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ การจะให้โครงสร้างเดินได้มันต้องมีอะไรเข้าไปอยู่ในโครงสร้างหรือจะต้องมีงบประมาณ จะต้องมีคน มีงานให้โครงสร้างนี้ทำ

 

สมมติว่า ตอนนี้ปัจจัยที่ว่าเป็นกฎหมายอยู่แล้ว คือ พระราชบัญญัติกำหนดและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ตอนนี้ขั้นตอนการกระจายอำนาจปฏิบัติไปตามแผนนั้นหรือไม่ เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ ใน 3 จังหวัดต้องการและเรียกร้องเรื่องนี้มาก ทั้งเรื่องงบประมาณ ถ้าเป็นไปตามกฎหมายก็สามารถทำให้แผนที่มีอยู่ใน 3 จังหวัดสามารถที่จะเดินได้

 

อีกอย่างหนึ่งงบประมาณที่น้อย ไม่ให้งบประมาณมา ให้มาแต่งาน มันก็เพิ่มภาระให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่สามารถดำเนินการได้ ถ้าเพิ่มงานก็ต้องเพิ่มงบประมาณและเพิ่มบุคลาการให้มันสอดคล้องกัน ในกรณีเช่นนี้ก็ต้องปกครองแบบพิเศษต่างๆ แต่ไม่อยากให้เกิดแนวคิดแบบพิเศษนี้ขึ้นมา ก็ต้องทบทวนโครงสร้างที่มีอยู่ในขณะนี้ เราได้ทำหรือเราให้เขาขนาดไหนแล้ว

 

ปัญหาก็มีอยู่แค่นี้ แต่ให้เงินงบประมาณมาแค่นี้ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ต้องมีการกระจายอำนาจให้มาก ถ้าคุณไปกักเอาไว้ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้

 

แต่ถ้าเราจะเปลี่ยนโครงสร้างไปเลย เราก็กลัว อย่างที่เขามีการวิจัยหรือมีการเรียกร้องให้ปรับโครงสร้าง เราก็กลัว แต่ถ้าเราไม่อยากกลัวเรา ก็ให้มีการกระจายอำนาจเต็มที่ไปเลยในโครงสร้างเดิม ที่ผ่านเราเปลี่ยนคนในโครงสร้างเดิมมาแล้วก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ ทำไมเราไม่คิดที่จะเปลี่ยนโครงสร้างบ้าง บางทีโครงสร้างเดิมที่จับคนลงไปใส่ในโครงสร้างมันอาจไม่ถูกหรือไม่เหมาะก็ได้ มันก็เกิดปัญหา

 

การปกครองส่วนท้องถิ่นในนิยามของท่านควรจะเป็นอย่างไร

 

ถ้าพูดไปเดี๋ยวจะมีปัญหา ก็มีแนวคิดอยู่ แต่ถ้าเปิดใจให้กว้างและมานั่งเปิดใจดู คือที่มีการศึกษาไว้และมีการเรียกร้องให้เป็นพื้นที่พิเศษ ที่ไม่ใช่พื้นที่ปกครองพิเศษชายแดนใต้ แต่ที่มีการศึกษามา เช่น ของมหาวิทยาลัยมหิดล หรือของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาต้องการให้ปรับโครงสร้าง แต่ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ถ้าเรามานั่งทบทวนว่า ควรปรับให้มันสมดุลสอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่แล้วก็ใส่กลไกลงไปใส่คนลงไป เขาก็ไม่กล้าเสี่ยง

 

เราเอาตัวอย่าง เช่น เมืองพัทยาทำไมเขาทำได้ กรุงเทพมหานคร ทำไมเขาทำได้ ถ้าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่พิเศษ เพราะเป็นมุสลิม 90% อะไรๆ ก็พิเศษอยู่แล้ว เราก็ต้องยอมรับว่าเป็นพื้นที่พิเศษ แต่ไม่ใช่พิเศษที่เหนือกว่าคนอื่น แต่ให้มันเหมาะสมกับพื้นที่และสามารถที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้นได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท