องค์กรสิทธิฯ แถลงร่วมเรียกร้องอัยการทบทวนคำสั่งไม่ฟ้องกรณีกรือเซะ

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ไอซีเจ) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสภาทนายความ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ และศูนย์ทนายความมุสลิม แถลงร่วม เรียกร้องให้อัยการสูงสุดชี้แจงต่อสาธารณชนกรณีมีคำสั่งไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานด้านความมั่นคงที่มัสยิดกรือเซะ เมื่อห้าปีก่อน ซึ่งทำให้ผู้ต้องสงสัยว่าก่อความไม่สงบต้องเสียชีวิตจำนวนถึง 28 ราย

ทั้งระบุข้อกังวลว่าคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการสูงสุดต่อกรณีเหตุการณ์ที่มัสยิมกรือเซะอาจบั่นทอนหนทางของการแก้ปัญหาโดยสันติ เนื่องจากเป็นการตอกย้ำความรู้สึกที่ว่ารัฐบาลไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะยึดถือปฏิบัติตามหลักนิติธรรมในคดีที่ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดนั้นเป็นเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้

รายละเอียดของแถลงการณ์มีดังนี้

 

คำแถลงการณ์ร่วม

28 เมษายน 2552

กลุ่มสิทธิมนุษยชนตั้งคำถามต่อรัฐบาลไทยกรณีการไม่ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่

ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ไอซีเจ) ร่วมกับ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสภาทนายความ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ และศูนย์ทนายความมุสลิม เรียกร้องให้อัยการสูงสุดชี้แจงต่อสาธารณชนกรณีมีคำสั่งไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานด้านความมั่นคงที่มัสยิดกรือเซะ เมื่อห้าปีก่อน ซึ่งทำให้ผู้ต้องสงสัยว่าก่อความไม่สงบต้องเสียชีวิตจำนวนถึง 28 ราย

มัสยิดกรือเซะมีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์สำหรับประชาชนชาวมุสลิมในประเทศไทย ในมุมมองของประชาชนในท้องถิ่นนั้น การขาดความยุติธรรมเป็นสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งใน 5 ปีที่ผ่านมาทำให้มีผู้เสียชีวิตจากความไม่สงบแล้วถึง 3,400 ราย

"คำสั่งดังกล่าวมีความขัดแย้งกับรายงานการสอบสวนของคณะกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงและความเห็นของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ซึ่งตามรายงานปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้ใช้กำลังอย่างไม่ได้สัดส่วนกับความรุนแรงของเหตุการณ์ ดังนั้น จึงควรให้ดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมด้วย" นาย  โรเจอร์ นอร์มันด์ (ผู้อำนวยการของไอซีเจ ภูมิภาคเอเซีย - แปซิฟิค) กล่าว "อย่างน้อยที่สุด อัยการสูงสุดมีหน้าที่ชี้แจง แสดงพยานหลักฐาน รวมทั้งเหตุผลต่างๆ ในการที่มีคำสั่งไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าว"

รัฐบาลไทยได้รับรองถึงความสำคัญของหลักนิติธรรมไว้ในลำดับต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีที่สำคัญๆ เพื่อให้เป็น พื้นฐานของความยุติธรรมและเป็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ พณฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวต่อสาธารณะอยู่เสมอว่า "รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนว่า กุญแจสำคัญที่จะก่อให้เกิดสันติภาพ ในจังหวัดชายแดนใต้คือความยุติธรรม" นอกจากนี้ นับแต่รัฐบาลชุดนี้ได้ปฏิบัติงานมาแล้ว 4 เดือน ผู้แทนภาครัฐ ต่างให้คำมั่นในลักษณะเดียวกันต่อสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ไอซีเจ) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสภาทนายความ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ และศูนย์ทนายความมุสลิม ต่างมีข้อกังวลว่าคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการสูงสุดอาจบั่นทอนหนทางของการแก้ปัญหาโดยสันติ เนื่องจากเป็นการตอกย้ำความรู้สึกที่ว่ารัฐบาลไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะยึดถือปฏิบัติตามหลักนิติธรรมในคดีที่ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดนั้นเป็นเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้

 





ความเป็นมา

 

ข้อเท็จจริงเบื้องต้นของคดีดังกล่าวมีดังนี้ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ปรากฏชายฉกรรจ์จำนวน 28 รายได้พกอาวุธปืนและมีด เข้าปะทะกับเจ้าหน้าที่ ณ จุดตรวจของเจ้าพนักงานตำรวจทหารที่กรือเซะ ต่อมาได้หลบหนีเข้าไปในมัสยิดกรือเซะ เหล่านายทหารและตำรวจได้ปิดล้อมมัสยิดดังกล่าว และในการปฏิบัติการเพื่อระงับเหตุการณ์นั้น เจ้าหน้าที่ความมั่นคงได้วิสามัญฆาตกรรมผู้หลบหนีทุกรายที่เข้าไปในมัสยิดดังกล่าว

 

ภายหลังการสอบสวน คณะกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลได้สรุปว่า การใช้กำลังอาวุธร้ายแรงในการปฏิบัติการนั้นไม่ได้สัดส่วนและไม่สอดคล้องกับหลักสากล อาทิ หลักการพื้นฐานของสหประชาชาติในการใช้กำลังและอาวุธของเจ้าหน้าที่รักษากฎหมาย เป็นต้น ผลการไต่สวนดังกล่าวได้ระบุรายชื่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้มีส่วนร่วมรับผิดชอบในการปฏิบัติการ ตลอดจนได้แนะนำให้ดำเนินการสอบสวนคดีตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป นอกจากนี้ คำสั่งการไต่สวนการตายของศาลจังหวัดปัตตานียังได้ระบุรายชื่อเจ้าหน้าที่ผู้สั่งการอันมีผลต่อการเสียชีวิตที่มัสยิดกรือเซะจำนวน 3 คนด้วยกัน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท