Skip to main content
sharethis


สัมภาษณ์ บัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิชาการแรงงาน มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน
สัมภาษณ์โดย
 ยอด ตุลารักษ์


30 เม.. 52 - บัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิชาการแรงงาน มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ได้ให้ทัศนะกับประชาไทในเรื่องของการจัดงานวันแรงงานที่จะถึงนี้ รวมถึงวิเคราะห์ข้อเสนอ และสถานการณ์ของแรงงานในปัจจุบัน..


 

บัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ
นักวิชาการแรงงาน มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน


ถาม : คุณคิดอย่างไรกับการจัดงานวันกรรมกรสากลในประเทศไทย


ตอบ : หลายปีที่ผ่านมา เท่าที่สังเกตดู หลังปี 2520 วันเมย์เดย์ในระยะหลังๆ มันกลายเป็นงานพิธีกรรมประจำปี แต่ไม่อยากใช้คำว่าวันเช็งเม้ง เพราะเช็งเม้งเราจำเป็นต้องไปเคารพสุสานบรรพบุรุษ อันนี้เป็นเหตุจำเป็นไม่ว่าเราอยากไปหรือไม่อยากไป แต่วันเมย์เดย์ ระยะหลัง ความเข้าใจหรือสำนึกต่อวันนี้คล้ายว่าเป็นวันหยุดงานประจำปี พิธีกรรมประจำปีของผู้นำองค์กรแรงงานบางส่วนที่จำเป็นต้องจัด บางส่วนก็จัดเพราะมีงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลอย่างน้อยตั้งแต่ 2540 เป็นต้นมา กระทรวงแรงงานก็จัดงบประมาณไว้ราว 1.6 ล้านบาท และบางปีก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นพิเศษเพิ่มเติม ซึ่งการจัดระยะหลังเมื่อมันกลายเป็นพิธีกรรมประจำปี สิ่งที่เกิดขึ้นคือ หลายองค์กรจัดงานเพื่อให้คนไม่ลืมวันนี้ แต่ว่าคุณค่าความสำคัญของวันนี้ ทั้งในทางประวัติศาสตร์และเชื่อมโยงถึงปัจจุบันที่จะทำอะไรต่อไป เรียกว่าเกือบไม่มีการพูดถึง และพิธีกรรมประจำปีอันหนึ่งคือ การจัดทำข้อเรียกร้อง หรือข้อเสนอที่จะยื่นต่อรัฐบาล โดยคาดหวังว่ารัฐบาลจะตอบสนองในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เรียกร้องไป ซึ่งหลายเรื่องก็เรียกร้องกันซ้ำซากต่อเนื่องมากหลายปี


ถาม : เช่นอะไร


ตอบ : เช่น ที่จะให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญา ILO 87 และ 98 หรือเรื่องที่จะให้รัฐบาลเสนอร่างกฎหมายจัดตั้งสถาบันความปลอดภัยอาชีวะอนามัยและสภาพแวดล้อมในทำงานของขบวนการแรงงาน หรือ ให้เสนอกฎหมายแรงงานฉบับขบวนการแรงงาน หรือให้ยกเลิกระบบจ้างเหมา ซึ่งมันเป็นไปได้ยาก เพราะมันเป็นรูปแบบวิธีการจ้างของฝ่ายทุน สิ่งที่กระทรวงแรงงานตอบสนองได้คือการออกกฎหมายใหม่ในการคุ้มครองลูกจ้างในระบบจ้างเหมาให้มีสิทธิ สวัสดิการต่างๆ เทียบเท่ากับลูกจ้างที่นายจ้างว่าจ้างโดยตรง แต่ว่าจะให้ยกเลิกระบบจ้างเหมาแต่มันเป็นเรื่องยากในความเป็นไปได้ในระบบปัจจุบันที่ต้องการลดต้นทุนและเอาเปรียบลูกจ้าง


ถาม : คุณมองว่าข้อเสนอบางข้อเป็นไม่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติหรือ


ตอบ : อาจไม่ใช่เรื่อง practical หรือไม่ แต่พอพูดว่ามันเป็นประเพณีเราก็ไปเคารพสักการะ หรือจัดพิธีกรรมเสร็จก็จบ เมื่อมีนายกฯ มารับข้อเรียกร้องหรือส่งข้อเรียกร้องไปถึงนายกฯ ก็ว่าไป หรือเมื่อมีการออกแถลงการณ์ว่า วันแรงงานต้องการทำอะไร เพื่ออะไร ก็จบ เหมือนขาดยุทธศาสตร์หรือกลไกในการเกาะติดเพื่อให้ข้อเรียกร้องนั้นประสบความสำเร็จ บางปีก็เสนอข้อเรียกร้องกันหลากหลายมาก หรือมากเกินไปโดยที่ไม่คำนึงถึงความเป็นไปได้ หรือศักยภาพที่จะผลักดันให้มันบรรลุผล คนจำนวนมากที่ออกมา ส่วนหนึ่งก็ระดมจากฐานเฉพาะหน้า ซึ่งประเด็นสำคัญไม่ใช่เรื่องจำนวนคนเข้าร่วมอย่างเดียว แต่ต้องเป็นการเข้าร่วมอย่างเข้าใจ หรือมีจิตสำนึกทางชนชั้น ถ้าเป็นก่อนปี 2520 ในบางปียังมีฝ่ายแรงงานที่ชูคำขวัญว่า ชนชั้นกรรมกรจงรวมกันเข้า ทำนองนี้ ระยะหลังการพูดที่เกี่ยวข้องกับจิตสำนึกทางชนชั้น หรือการรวมตัวเพื่อขับเคลื่อนไปข้างหน้านั้นไม่ค่อยมีการพูดถึง อาจมีบางฝ่ายพูดถึงบ้างแต่ก็แผ่วเบา มันหลายปีมาแล้วมีขบวนการแรงงานที่เคลื่อนไหววันแรงงานอยู่ อย่างน้อย 2 ขบวน ขบวนหนึ่งก็เป็นของกลุ่มสภาองค์กรลูกจ้างต่างๆ ซึ่งเวลาจัดประชุมเตรียมงาน ก็ใช้ห้องประชุมของกระทรวงแรงงาน และมีคณะกรรมการมาจากศูนย์อำนวยความสะดวกในการประชุม ใกล้ๆ วันแรงงานก็แบ่งสรรงบประมาณที่แต่ละสภาแรงงานจะเอาไปใช้กัน ซึ่งมีข้อครหาเกี่ยวกับเรื่องความไม่โปร่งใสมาโดยตลอดในเรื่องการใช้เงิน และดูเหมือนกระทรวงแรงงานก็รอมชอมมาตลอด ไม่ได้จัดการให้เด็ดขาด ชัดเจน ส่วนอีกขบวนหนึ่ง อาจเรียกว่า ขบวนกระแสทวนก็ได้ ซึ่งส่วนใหญ่ระยะหลังนำโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กลุ่มนี้อาจชูคำขวัญที่ก้าวหน้า เช่น ต่อต้านระบบทุนนิยมครอบโลก ซึ่งก็เป็นคำขวัญที่ก้าวหน้าในเชิงตัวหนังสือ แต่ไม่แน่ใจว่าเอาเข้าจริงแรงงานในปีกที่เป็นการเคลื่อนไหวกระแสทวนจะเข้าใจกันจริงจังแค่ไหน อาจมีผู้นำในส่วนย่อยๆ บางคนที่จริงจังอยู่บ้าง


หลายปีที่ทั้งกระแสทวน กระแสหลักที่รับทุนมา ก็มีข้อเรียกร้องที่เหมือนกัน เช่น ข้อเรียกร้องให้ยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ผมถามง่ายๆ ว่า ตราบใดคุณต้องใช้ชีวิตอยู่ในระบบทุนนิยมแบบนี้ มันจะยกเลิกนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจโดยสิ้นเชิงได้หรือไม่ คือ ดูเหมือนข้อเรียกร้องหลายข้อก็เสนอกันซ้ำซากอย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่ถูกตั้งคำถามหรือถูกตรวจสอบทบทวนอย่างจริงจังว่า ข้อเสนอนั้นมันเป็นไปได้หรือไม่ ผมไม่อยากใช้คำว่า บางทีฟังแล้วมันเว่อร์ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจหลายแห่งก็ยังคืบหน้าต่อไปในรูปแบบต่างๆ เพียงแต่หลายคนจะคิดหรือไม่เท่านั้น ไม่ได้บอกว่าเสนอไม่ได้ แต่ข้อเสนอที่เสนอกันบ่อยๆ จำเป็นต้องทบทวน หรือเสนอให้เป็นรูปธรรมชัดขึ้นกว่านี้ ไม่ใช่กว้างๆ ลอยๆ ง่ายๆ ไปเรื่อยๆ  ต้องทบทวน ต้องวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้


ถาม : ในวันเมย์เดย์ ฯ ถือว่าเป็นโอกาสของแรงงานในการผลักดันข้อเรียกร้องหรือไม่


ตอบ : ถ้าในทางกฎหมาย ในแง่รัฐบาลยอมรับว่าวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันเดียวที่นายจ้างควรต้องหยุดงานให้ลูกจ้าง อันนี้โอเค สำเร็จมาหลายปีแล้ว ที่รัฐบาลประกาศให้เป็นวันแรงงานแห่งชาติ แต่ก็ยังไม่ใช่วันกรรมกรสากลในความหมายทั่วไป เป็นวันแรงงานเฉยๆ คือ กำเนิดของวันที่ 1พฤษภาคม เขาจะเรียกว่า Labor Day หรือ international labor day แต่ของรัฐบาลไทย เนื่องจากสมัยก่อนมีความขัดแย้งทางอุดมการณ์ สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ กับ อุดมการณ์เสรีนิยม ทั้งๆ ที่วันแรงงานโดยประวัติศาสตร์ก็ไม่ได้เกิดโดยประเทศสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์หรอก การต่อสู้ก็อยู่แถวระบบอเมริกา ที่ต่อสู้ให้เกิดการทำงานในระบบ 3 "8" คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง นอนพักผ่อน 8 ชั่วโมง และมีการศึกษา สันทนาการอีก 8 ชั่วโมง เพราะในยุคเริ่มต้นในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมมีการกดขี่ขูดรีดอย่างหนักหน่วงโดยระบบทุน จึงเกิดการต่อสู้เรียกร้องให้มีการกำหนดชั่วโมงการทำงานที่มันเป็นธรรม สอดคล้องกับวิถีชีวิต และเกี่ยวกับเรื่องค่าตอบแทนที่เป็นธรรมต่างๆ ตามมาด้วย


ในประเทศไทย พูดให้ชัดคือ การจะมีสองขบวนการที่จัดงานทุกปีต่อเนื่องกันมา ทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่สังคมหรือสาธารณชนมองเห็นถึงความแตกแยก แบ่งฝ่าย ทำนองนี้ แต่ผมมองว่า บางครั้งการแบ่งฝ่ายแบบนี้อาจเป็นเรื่องปกติและจำเป็นก็ได้ถ้ามีแนวทางที่มันแตกต่างกัน โดย spirit ของวันแรงงาน มันก็ควรจะจัดงานที่พึ่งตนเอง ยืนบนหน้าแข้งของฝ่ายแรงงานเองในการจัดงาน ไม่ควรไปขอเงิน หมายถึงว่า ไม่ควรจัดงานเพราะมีงบประมาณจากรัฐบาลสนับสนุน แรงงานควรระดมทุนหรือมีฐานของทุนในการลุกยืนขึ้นมาจัดงานด้วยตัวเอง แล้วการจัดงานก็ควรมีด้านที่ต่อสู้มากกว่านี้ มีขบวนการที่ทำอะไรมาก่อนหน้านี้ ไม่ใช่วันแรงงานก็สมานฉันท์กันได้เพื่อใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ หรือมีองค์กรระหว่างประเทศบางแห่งสนับสนุนอยู่ ควรรวมพลังแรงงานกันตลอดปี เพียงแต่วันแรงงานถือเป็นวันที่มีนัยยะสำคัญในการทบทวนข้อเรียกร้องที่เรียกร้องต่อรัฐบาลตลอดปีที่ผ่านมาว่าจะคืบหน้า เดินหน้าต่อไปอย่างมีคุณค่าได้ยังไง


ถาม : งบประมาณนั้นสิ้นเปลืองไปโดยใช่เหตุหรือไม่


ตอบ : มีแนวคิดอยู่ 2-3 แนวคิด คือ การพึ่งเงินรัฐบาลไม่ได้เป็นสิ่งเสียหาย เพราะเงินรัฐบาลก็มาจากภาษีอากรของแรงงานเอง แต่ประเด็นสำคัญคือต้องใช้เงินอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเท่าที่จำเป็นจริง แต่ระยะหลังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ โดยอ้างเหตุผลต่างๆ หรือในบางปี รัฐบาลก็สนับสนุนเสียเอง บางแนวคิดก็มองว่า วันแรงงานเป็นวันของผู้ใช้แรงงาน ผู้ใช้แรงงานควรเป็นประธานจัดงาน ไม่ควรเชิญนายกฯ มาเปิดงาน นายกฯ จะมาก็ได้ แต่มารับข้อเรียกร้อง ไม่ใช่เป็นประธานเปิดงาน


ถาม : รัฐบาลในปัจจุบันจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องแรงงานได้หรือไม่ และขบวนการ แรงงานคาดหวังแค่ไหน อย่างไร


ตอบ : เวลาพูดถึงปัญหาแรงงานมีหลายประเด็น หลายระดับ ปัญหาแรงงานในสังคมไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการโลกาภิวัตน์ หรือระบบทุนนิยมโลกด้วย ยกตัวอย่างเรื่องการจ้างเหมา ก็ไม่ใช่อยู่ดีๆ นายทุนอยากจ้างเหมาระยะสั้นขึ้นมา มันเป็นกระบวนการ เป็นยุทธศาสตร์ของกลุ่มทุนด้วย เกิดขึ้นในหลายประเทศและเรียนรู้สืบเนื่องกันมา และการแก้ปัญหาหลายอย่าง ก็ไม่สามารถมุ่งแก้เฉพาะนโยบายหรือกฎหมายภายในประเทศเท่านั้น อาจต้องคิดถึงความเชื่อมโยงของการต่อสู้ ต่อรองขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่าง การย้ายฐานการผลิต เมื่อประเทศเราค่าแรงเริ่มสูงขึ้น เป็นเรื่องปกติที่กลุ่มทุนข้ามชาติจะย้ายไปลงทุนในประเทศที่ค่าแรงต่ำกว่าไทย หรือเอาเปรียบได้มากกว่าไทย ถามว่าการจะสู้ระบบแบบนี้ได้ มีความจำเป็นต้องเชื่อมโยงกับกระบวนการแรงงานระหว่างประเทศที่จะมีการย้ายฐานการผลิตมาไทย หรือย้ายไปสู่ประเทศนั้น ที่จะสร้างข้อขัดขวางหรือมาตรฐานอะไรบางอย่างที่ไม่ให้กลุ่มทุนพวกนี้ย้ายฐานการผลิตกันได้ง่ายๆ เราคงไม่สามารถห้ามการย้ายโดยสิ้นเชิง แต่ทำให้การย้ายไปคำนึงถึงต้นทุนสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตแรงงานให้หนักยิ่งขึ้น


ถาม : ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำกระทบกระเทือนแรงงานมาก รัฐบาลควรเข้ามาแก้ปัญหาอย่างไร


ตอบ : คราวนี้จะแก้ปัญหายากขึ้น คล้ายกับว่าโจทย์ของปัญหามันไม่ได้เกิดจากตัวเราโดยตรง เกิดจากนอกประเทศ แต่ด้วยความเชื่อมโยงของการค้า การลงทุน การเงินระหว่างประเทศ ทำให้ปัญหาเหล่านี้รุนแรง ขยายไปรวดเร็ว ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันหรือนโยบายภายในประเทศ


ถาม : คุณเห็นว่านโยบายรัฐบาลใดที่ช่วยเหลือแรงงานบ้าง


ตอบ : จะว่าไม่มีการช่วยก็ไม่ได้ แต่การช่วยเหลือส่วนใหญ่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แบบตั้งรับ ไม่เป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างหรือยุทธศาสตร์ระยะยาว เช่น การให้เงิน 2,000 บาทกับลูกจ้างเอกชนและบุคลากรภาครัฐมันก็อยู่ที่ประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยมาก และชัดเจนว่า เป็นการกระตุ้นอำนาจซื้อเฉพาะหน้า ซึ่งก็ยังตอบไม่ได้ว่าจะกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ เพราะจริงๆ ภาวะเศรษฐกิจจะเกี่ยวข้องกับปัจจัยสังคมการเมืองภายในประเทศและระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องด้วย แล้วคนจำนวนมาก ถ้าเขามีรายได้มากยิ่งขึ้นก็น่าจะเก็บออมมากขึ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดจากภาวะไม่แน่นอนที่มีอยู่ พูดให้ชัดก็คือ การจะขยายฐานอำนาจซื้อก็ต้องทำให้เขามีรายได้ที่มั่นคงต่อเนื่อง ไม่ใช่เอาเงินไปแจก ถ้ามีงานทำที่มั่นคง หรือมีสวัสดิการที่เพิ่มขึ้นอย่างเป็นธรรมต่อเนื่อง เขาก็จะมีอำนาจซื้อในตัวของมันเอง พูดง่ายๆ คือ ค่าจ้างขั้นต่ำไม่ควรถูกกดให้ต่ำ โดยอิงกับภาวะเศรษฐกิจเท่านั้น ถ้ารัฐบาลคำนึงยุทธศาสตร์การเพิ่มกำลังซื้อระยะยาว แต่นโยบายที่ออกมาเป็นการช่วยบางกลุ่ม และชัดเจนว่า กลุ่มทุนที่ได้ประโยชน์คือสินค้าอุปโภค บริโภค ที่ลดแลกแจกแถมให้คนใช้ 2,000 บาทให้มากขึ้นและเร็วขึ้น


ถาม : ถ้ามีคนตกงานจำนวนมากขึ้น จะมีการชุมนุมมากขึ้นไหม


ตอบ : รัฐบาลบอกว่าตัวเลขคนตกงานน้อยลงเมื่อไม่กี่วันนี้ ซึ่งมันน่าคิดว่า ตัวเลขที่ตกงานน้อยลงนี้มีความหมายว่าอย่างไร คนอาจจะไปทำงานเป็นแรงงานนอกระบบมากยิ่งขึ้นก็ได้ หรือทำงานจ้างชั่วคราวมากขึ้น เพราะการมีงานที่มีคุณค่าควรเป็นการทำงานเต็มเวลา หรือการทำงานที่มีความมั่นคงต่อเนื่อง หรือมีโอกาสพัฒนาฝีมือ ทักษะที่จะพึ่งตัวเองได้ในระยะยาว แต่ถ้ามองเชิงโครงสร้างของการผลิตประเทศไทย มันพึ่งพิงกับการส่งออกมากเกินไป และพึ่งฐานทรัพยากรภายในหรือความรู้ทักษะของแรงงานภายในยังมีน้อยเกินไป นี่เป็นปัญหาระยะยาว สถานการณ์แบบนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดแต่เกิดมาตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 กลายเป็น informal sector ก็ขยายตัวและกระจายตัวมากยิ่งขึ้นในหลายภาคเศรษฐกิจ ไม่ว่า ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ หรือภาคการค้า กลายเป็นแหล่งแรงงานราคาถูกกลุ่มใหญ่ที่รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจสมัยใหม่


ถาม : ในแง่ของสภาพแรงงาน วิกฤตเศรษฐกิจแบบนี้คนงานถูกเลิกจ้างไปมาก แนวโน้มในอนาคตสหภาพแรงงานจะน้อยลงหรือหมดไปหรือไม่


ตอบ : วิกฤตเศรษฐกิจแบบนี้ นายจ้างจำนวนมากก็ฉวยโอกาสได้มากขึ้นในการอ้างถึงเศรษฐกิจ โดยที่บางทีก็ไม่เป็นความจริง หรือเป็นความจริงและอาจใช้อุบายหลายอย่างที่ทำให้เกินจริงแล้วเลิกจ้างคนงาน หรือลดสวัสดิการกับแรงงาน และการลดรายได้หรือสวัสดิการก็ไม่เป็นธรรม ไม่เสมอภาคกัน พวกฐานเงินเดือนสูงควรลดก่อน แต่บางโรงงานลดเงินผู้บริหารน้อย แต่ไปลดพนักงานทั่วไปมากกว่า เป็นการกำหนดโดยฝ่ายทุนฝ่ายเดียวและไม่ยอมรับการต่อรองของสภาพ จนกลายเป็นชนวนความขัดแย้งบานปลายเกินความจำเป็น


ถาม : ในวันแรงงานสากลได้เห็นข้อเสนอเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจของฝ่ายแรงงานบ้างหรือไม่


ตอบ : ก็เห็นบางข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เป็นข้อเสนอที่เคยยื่นกับรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ให้ตรวจสอบสถานประกอบการในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจแบบนี้ ซึ่งมีการเลิกจ้างแรงงานนั้นเป็นเช่นไรบ้าง และเสนอให้ตั้งกองทุนช่วยเหลือ เพื่อจ่ายเงินชดเชยให้แก่คนงานที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้ค่าชดเชย


ถาม : เห็นด้วยไหมกับการเข้าไปตรวจสอบสถานประกอบการว่ามีภาวะกำไรขาดทุนอย่างไร ก่อนการปลดพนักงงาน


ตอบ : เห็นด้วยถ้าเป็นไปได้ แต่ความเป็นจริงนายจ้างจำนวนมากเขาคงไม่บอก ยกเว้นจะมีสัญญาณบางอย่างที่ฝ่ายแรงงานและรัฐรู้แล้ววิ่งเข้าไปป้องกันแก้ไข เช่น สัญญาณของการลดรายได้ ลดสวัสดิการบางอย่าง ลดเวลาทำงาน สัญญาณพวกนี้เตือนว่าอาจนำไปสู่การเลิกจ้าง


ถาม : ในฐานะเป็นที่ปรึกษาสหพันธ์ยานยนต์ ได้ข่าวการชุมนุมประท้วงกันเยอะไหม ถ้าการชุมนุมประท้วงเพิ่มมากขึ้นจะกลายเป็นปัญหาการเมืองไหม


ตอบ : มีเป็นระยะ แต่บางกรณีแกนนำไม่ใช่แกนนำของสหพันธ์แต่เป็นแกนนำของสหภาพในบางพื้นที่ โดยการชุมนุมประท้วงก็เป็นปัญหาการเมืองอยู่แล้วไม่มากก็น้อย แต่ถ้าดูข้อมูลจริงของการประท้วงจำนวนมากไม่ใช่เรื่องการเลิกจ้างหรือวิกฤตเศรษฐกิจโดยตรง แต่เป็นการอ้างหรือฉวยโอกาสลดค่าแรง สวัสดิการบางอย่างที่ไม่เป็นธรรม หรือการไม่จ่ายโบนัส


ถาม : หลายฝ่ายพูดว่าอยากให้การเมืองนิ่ง ไม่อยากให้มีการชุมนุม โดยจะมีการออก พ.ร.บ.ควบคุมการชุมนุม ความคิดและกฎหมายเหล่านี้จะไปปิดประตูการต่อสู้ของคนงานหรือไม่


ตอบ: ประตูทางสู้ของคนงานโดยทั่วไปก็คือการนัดหยุดงาน การชุมนุมประท้วง ให้ประเด็นปรากฏต่อสาธารณะ เรียกว่าการเมืองบนท้องถนน การพยายามออกกฎหมายเพื่อควบคุมการชุมนุม สาเหตุหนึ่งมาจากความขัดแย้งทางการเมืองด้วย ไม่ใช่เรื่องแรงงานโดยตรง แต่อาจส่งผลกระทบถึงกัน แต่เรายังไม่เห็นรายละเอียดเนื้อหาของกฎหมาย แต่พอรู้หลักการว่าพยายามให้มีมาตรฐานของการชุมนุมประท้วงที่เป็นไปตามหลักสากล ไม่ใช่ชุมนุมไม่มีวันหยุด หรือที่ไหนก็ได้ ไม่ใช่ไปยึดสนามบิน ทำเนียบฯ ต้องมีการกำหนดวันเวลาแน่นอนของการชุมนุม การยื่นข้อเรียกร้องที่ชัดเจนล่วงหน้าหรือในระหว่างการชุมนุม เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อำนวยความสะดวกหรือตอบสนอง ถ้าเป็นหลักการทำนองนี้ผมไม่ขัดข้อง เพราะเป็นสิ่งที่ฝ่ายแรงงานก็ทำกันมาพอสมควร แต่ที่ต้องเป็นการเมืองบนท้องถนน หรือถึงขั้นปิดถนนบางสายในบางช่วง ส่วนหนึ่งเพราะความคุกรุ่นจากการไม่ตอบสนองเลยของฝ่ายทุน รวมถึงการไม่สามารถคลี่คลายปัญหาอย่างทันการของเจ้าหน้าที่รัฐ มีแต่จะใช้วิธีประนีประนอมเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ


ถาม : การเมืองเหลือง-แดง ซึมอยู่ในขบวนการแรงงานด้วยหรือไม่


ตอบ: มันก็มีอยู่บ้าง แต่ไม่เป็นกระแสหลักที่ครอบงำความเคลื่อนไหวทั้งหมด อย่างน้อยมันยังมีความคิดถ่วงดุลภายในขบวนการแรงงานกันอยู่บ้าง ยกตัวอย่าง คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย บางประเด็นก็ไม่เอาด้วยกับสีเหลือง เช่น ที่ไปเชียร์ทหารให้มาโค่นล้มระบอบทักษิณ อันนี้เขาไม่เอาแน่นอน หรือนายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง อันนี้เขาก็ไม่เอา


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net