Skip to main content
sharethis

ธีรมล บัวงาม


ความเคลื่อนไหวอย่างเงียบๆ ของการรวบรวมรายชื่อประชาชน 10,000 รายชื่อเพื่อนำเสนอกฎหมายพ...การเข้าถึงยา ปรากฏเป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะผ่านผลการประชุมกฎหมายเพื่อการเข้าถึงยาในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งนำเอาประสบการณ์การออกกฎหมายการเข้าถึงยาของฟิลิปปินส์ที่มีผูกพันกับกฎหมายอื่นๆ อาทิ พ...ยา พ...สิทธิบัตร พ...การแข่งขันทางการค้า เป็นต้น


เหล่านักวิชาการ นักรณรงค์ด้านสาธารณสุข ภาคประชาชน และองค์กรภาคีของไทยที่ร่วมประชุมในวันนั้นประกาศว่าภายใน 1- 2 เดือนจากนี้ไป เครือข่ายฯจะพร้อมนำเสนอตัวบทร่างกฎหมาย และรายชื่อประชาชน 10,000 รายชื่อซึ่งปัจจุบันมีผู้ร่วมเสนอกว่า 8,000 ราย รวมถึงตั้งธงว่าจะมีกฎหมายบังคับใช้ภายใน 5 ปี


ในการประชุมวันนั้น กรรณิการ์ กิจติเวชกุล เจ้าหน้าที่ฝ่ายประสานงาน 3 องค์การหมอไร้พรมแดนไทย-เบลเยียม กล่าวว่า ภาคประชาชนเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องร่าง พ...การเข้าถึงยาควบคู่ไปกับการดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงยาทีละฉบับ โดยร่าง พ...การเข้าถึงยาฉบับภาคประชาชนที่กำลังร่างอยู่นี้จะเป็นการแก้ไขกฎหมายหลายฉบับไปพร้อมๆ กัน อาทิ พ...สิทธิบัตร จะมีการแก้ไขให้คณะกรรมการสิทธิบัตรด้านยากลับมาทำหน้าที่ หลังจากถูกยกเลิกไปตั้งแต่ปี 2542 ทั้งที่มีประโยชน์ต่อสิทธิบัตรด้านยามาก รวมถึงการสร้างกลไกในการจดสิทธิบัตรในประเทศให้มีประสิทธิภาพและได้รับการคุ้มครองสิทธิผูกขาดตลาดยาได้เพียง 20 ปีเท่านั้น


นอกจากนี้ ใน พ...ยาจะเน้นการให้มีการสร้างกลไกกำหนดราคายาอย่างเหมาะสม ยุติธรรมตั้งแต่ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนยา รวมถึงไปถึงขั้นตอนการจัดหาและกระจายยากำพร้าและยาจำเป็นในประเทศได้อย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้และยุติธรรม พร้อมทั้งยังสร้างการตรวจสอบติดตามและกำกับราคายาในประเทศ และในส่วนของพ...การแข่งขันทางการค้าที่เน้นการสร้างกลไกให้ขจัดการผูกขาดตลาดยา


อย่างไรก็ดีหากย้อนดูประวัติศาสตร์ที่เบิกทางการต่อสู้เรียกร้องเพื่อสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงยาของเมืองไทยจนนำไปสู่การทำซีแอลในปัจจุบัน ต้องยกเครดิตให้เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอดส์/เอชไอวีแห่งประเทศ ที่ออกมาต่อสู้เรื่องสิทธิบัตร กรณียาดีดีไอ เพราะสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ติดเชื้อไม่สามารถเข้าถึงยาได้คือ การที่ยามีราคาแพงเนื่องจากมีการผูกขาดจากบริษัทยาต่างประเทศที่มีสิทธิบัตรยา


บทความชิ้นหนึ่งในเว็บไซต์ของเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ระบุว่า เมื่อปี 2542 มีการรวมตัวของเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ที่หน้ากระทรวงสาธารณสุข โดยเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาเอาใจใส่ราคายาต้านไวรัส โดยการยกกรณีของยาเม็ดดีดีไอมาเป็นกรณีตัวอย่าง บริษัทบริสตอล ไมเยอร์ สควิปป์ หรือ บีเอ็มเอส ไม่มีความชอบธรรมในการจดสิทธิบัตรยาตัวนี้ เนื่องจากเดิมในคำขอฉบับแรกมีการกำหนดขนาดไว้ที่ 5 - 100 มิลลิกรัมต่อหน่วยการใช้ยา แต่ในสิทธิบัตรได้ปรากฏว่าขนาดของการใช้ยาไม่มีปรากฏในสิทธิบัตร ทำให้ขอบเขตครอบคลุมอย่างกว้างขวาง เป็นผลให้ผู้ผลิตรายอื่นไม่สามารถผลิตได้


ต่อมา เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ได้ดำเนินการฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อนำไปสู่การเพิกถอนสิทธิบัตรยาดีดีไอ จนท้ายที่สุดบีเอ็มเอส ขอเจรจา โดยจะขอถอนสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา นั่นหมายถึง ยาเม็ดดีดีไอไม่มีสิทธิบัตรในประเทศไทยต่อไป


การเคลื่อนไหวครั้งนั้นนับเป็นความสำเร็จหนึ่งในการต่อสู้ด้วยหลักการสำคัญคือ ลดการผูกขาดการผลิตยาจากบริษัทยาข้ามชาติ สนับสนุนให้มีการผลิตยาราคาถูกในประเทศ เพื่อให้ผู้ติดเชื้อสามารถเข้าถึงยาได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯเห็นว่ายังมียาต้านไวรัสที่จำเป็นอีกหลายตัวที่ยังมีราคาแพงอยู่ และจะเป็นปัญหาหากผู้ที่ดื้อยาแล้วต้องเปลี่ยนสูตรยา หากยายังราคาสูงอยู่ โอกาสและทางเลือกในการใช้ยาก็จะน้อยลง นั่นหมายถึงว่า หนทางการต่อสู้เรื่องยาแพง จะยังไม่จบง่ายๆ จะต้องเดินหน้าต่อสู้เรื่อง "สิทธิบัตรยา" ต่อไป


เพื่อต่อเติมความเข้าใจในเรื่องนี้ให้มากขึ้น ประชาธรรม มีบทสัมภาษณ์ ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา และหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องราคายา ดังนี้


ประการแรก การที่มูลค่าการใช้ยาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งสะท้อนการเข้าถึงบริการสุขภาพที่เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันก็สะท้อนการใช้ยาเกินจำเป็นและใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม และเพราะสาเหตุที่ยาราคาแพง นั้นเป็นสาเหตุโดยเฉพาะกลุ่มยาราคาแพง เมื่อเทียบค่าใช้จ่ายด้านยา ระหว่างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดูแลประชากร ประมาณ 47 ล้านคนในขณะที่สวัสดิการข้าราชการรับผิดชอบประชากรข้าราชการและครอบครัว จำนวน 4 ล้านคน แต่ใช้เงินค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ มากกว่าครึ่งหนึ่งของระบบหลักประกันสุขภาพ หากไปดูรายละเอียด พบว่า การใช้ยาของข้าราชการเป็นยากลุ่มราคาแพง-ยาใหม่ ที่อาจเกิดปัญหาความเสี่ยงจากการใช้ยาอย่างมาก มากเสียยิ่งกว่าระบบหลักประกันสุขภาพซึ่งประโยชน์ส่วนใหญ่ตกแก่บริษัทยาข้ามชาติที่สร้างสัมพันธ์ผ่านแพทย์ผู้สั่งจ่ายยา เพราะไม่ถูกการควบคุมงบประมาณ


ประการที่สอง สำหรับประเทศไทยพบว่า ยาเป็นสินค้าผูกขาด เพราะไม่มีระบบควบคุมราคายาที่ชัดเจน เป็นการควบคุมโดยผู้ผลิตหรือนำเข้า ยาหลายชนิดราคาแพงกว่าต่างประเทศ ทั้งนี้ประเทศที่มีระบบรัฐสวัสดิการ จะมีระบบควบคุมหรือจัดการเรื่องราคายาในรูปแบบใดแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นสหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย แคนาดา เป็นต้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยจะต้องจัดระบบในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะยากลุ่มผูกขาด


นอกจากนั้นเภสัชกรที่ดี ต้องมีจรรยาบรรณวิชาชีพ จัดหายาที่มีราคายุติธรรมและมีคุณภาพมาตรฐานตามกฎหมายที่เป็นเกณฑ์ระดับประเทศ ซึ่งจากข้อบังคับสภาเภสัชกรรม ว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรม พ.. 2538 หมวด 2 การประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ข้อ 9 ระบุว่า ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมต้องไม่หลอกลวง หรือ ให้คำรับรองอันเป็นเท็จ หรือให้ความเห็นโดยไม่สุจริตในเรื่องใดๆ ภายใต้อำนาจหน้าที่แก่สาธารณชน หรือ ผู้มารับบริการ ให้หลงเข้าใจผิด เพื่อประโยชน์ของตน ดังนั้นหากพบเห็นสิ่งที่เป็นอันตรายพึงแจ้งแก่หน่วยงานรับผิดชอบเพื่อการแก้ไข หรือดำเนินการตามหน้าที่ที่พึงทำ.


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net