Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภูวิน บุณยะเวชชีวิน
นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์




หมายเหตุ บทความนี้เป็นการปริทัศน์ (review) บทความสี่บทความ ซึ่งผู้เขียนเขียนขึ้นเพื่อส่งในวิชา การเมืองภาคประชาชน เมื่อช่วงต้นปี 2551 และตีพิมพ์ใน OFF COURSE MAGAZINE, 1 (2552) วารสารที่จัดทำโดยนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงแม้เนื้อหาของบทความจะเก่าไปบ้าง แต่ยังคงมีแง่คิดที่สำคัญที่จะเป็นโจทย์ให้กับการเมืองภาคประชาชนที่กำลังเคลื่อนไหวในปัจจุบัน




  • สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี, "ขบวนการประชาชนกึ่งสำเร็จรูป," ฟ้าเดียวกัน 4, no. 2, 2549: 166-186



  • สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี, "การเดินทางสู่ห้วงเหวของการเมืองภาคประชาชน," ฟ้าเดียวกัน 4, no. 4, 2549: 37-45



  • ธนาพล อิ๋วสกุล, "แกะรอยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย: ผู้ออกบัตรเชิญให้คณะรัฐประหาร," ใน ธนาพลและคณะ, บก. รัฐประหาร 19 กันยา 2550: 295-330



  • O. Pye and W. Schaffer, "The 2006 Anti-Thaksin Movement in Thailand: An Analysis," J. of Contemporary Asia 38, no. 1, 2008: 38-61


การปรากฎขึ้นของเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในปี 2549 ถูกคาดหวังว่าจะเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการเมืองภาคประชาชนในสังคมการเมืองไทยที่น่าจะนำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยแบบเข้มข้น (radical democracy) ซึ่งมีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งสามารถตรวจสอบทัดทานอำนาจรัฐ และแสดงให้เห็นว่าประชาธิปไตยไม่ได้มีความหมายคับแคบจำกัดอยู่เพียงการปกครองแบบรัฐสภาตามที่ผู้นำรัฐบาลในขณะนั้นกล่าวอ้างเพื่อตอกย้ำความชอบธรรมของตนเองเสมอ แต่ทว่าผลลัพธ์กลับไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวัง หากแต่จบลงด้วยการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549


บทความทั้งสี่ข้างต้นนำเสนอการวิเคราะห์ปรากฏการณ์เครือข่ายพันธมิตรฯ ทั้งในด้านองค์ประกอบ รูปแบบการเคลื่อนไหว ยุทธวิธี และเป้าหมาย รวมถึงอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างปรากฏการณ์กับการรัฐประหาร อย่างไรก็ตามผู้เขียนบทความดังกล่าวมิได้มีความเห็นที่สอดคล้องกันในรายละเอียดแม้จะเห็นตรงกันว่าการรัฐประหาร คือ ผลลัพธ์จากการเคลื่อนไหวของเครือข่ายพันธมิตรฯอย่างปฏิเสธไม่ได้ เช่นในประเด็น มาตรา 7 ที่เรียกร้องการแทรกแซงของกษัตริย์ (royal intervention) Pye และ Schaffer มองว่าเป็นทางเลือกเชิงยุทธวิธีที่เป็นรูปธรรมเพื่อสนองต่อข้อเรียกร้อง เช่น การยุติการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหรัฐอเมริกา ไม่ใช่ความต้องการที่จะถอยหลังไปสู่การเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ในขณะที่สุภลักษณ์มองว่ามาตรา 7 คือ ยุทธวิธีที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยโดยตรง ทั้งที่แท้จริงแล้วเครือข่ายพันธมิตรฯมีทางเลือกอื่น เช่น การต่อสู้ผ่านระบบการเลือกตั้ง เป็นต้น ซึ่งประเด็นสำคัญ ความสอดคล้อง และข้อโต้แย้งของบทความทั้งสี่จะกล่าวถึงต่อไป


ใคร คือ เครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย?
     
ภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยถูกอธิบายอย่างเหมารวมว่าเป็นขบวนการเคลื่อนไหวของชนชั้นกลางและเครือข่ายกษัตริย์ (network monarchy) ที่เรียกร้องการรัฐประหารและทำลายระบอบประชาธิปไตย ความซับซ้อนของปรากฏการณ์ถูกลดทอนเหลือเพียงความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำเดิมกับกลุ่มทุนใหม่ ทว่าคำอธิบายดังกล่าวกลับทำให้เห็นภาพความเป็นเนื้อเดียวกันที่ไม่จริง มองไม่เห็นองค์ประกอบที่หลากหลายภายในเครือข่ายพันธมิตรฯ และไม่อาจอธิบายปรากฏการณ์ได้อย่างรอบด้าน


อันที่จริงอาจกล่าวได้ว่าเครือข่ายพันธมิตรฯประกอบด้วย 2 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรก คือ กลุ่มของชนชั้นนำเดิมและเครือข่ายกษัตริย์ที่ถูกลดความสำคัญและสูญเสียผลประโยชน์จากเครือข่ายของทักษิณ ชินวัตร ซึ่งสนธิ ลิ้มทองกุลกลายเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มดังกล่าว อีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม องค์การสาธารณประโยชน์ (NGO) และเครือข่ายต่าง ๆ เช่น สหภาพแรงงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สหพันธ์นิสิตนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เป็นต้น


Pye และ Schaffer อธิบายการปรากฏขึ้นของกลุ่มที่สองว่าเป็นผลจากโครงการและนโยบายที่พวกเขาเรียกว่า "หลัง-เสรีนิยมใหม่" ของรัฐบาลทักษิณ กล่าวคือ พวกเขาแย้งว่าแท้จริงแล้วโครงการและนโยบายของรัฐบาลทักษิณไม่ใช่ประชานิยมซึ่งมีฐานอยู่ที่ประชาชนรากหญ้า หากแต่ยึดหลักเสรีนิยมใหม่ทำให้มีความขัดแย้งอยู่ภายในตัวโครงการและนโยบาย เช่น ในขณะที่โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ซึ่งครอบคลุมถึงการรักษาของผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลกลับมุ่งเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหรัฐอเมริกา หนึ่งในข้อต่อรองของสหรัฐฯ คือ เรื่องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ดังกล่าวไม่สามารถเข้าถึงยาที่ใช้ในการรักษาได้ เป็นต้น อย่างไรก็ตามกลุ่มดังกล่าวไม่ได้เริ่มเคลื่อนไหวภายหลังจากขบวนการของสนธิ หากแต่เป็นกลุ่มที่ทักษิณเรียกว่า "ขาประจำ" ซึ่งเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ช่วงแรกของรัฐบาลทักษิณ


ปรากฏการณ์สนธิในช่วงปี 2548 สามารถดึงดูดความสนใจจากประชาชนโดยเฉพาะชนชั้นกลางในเมืองที่รู้สึกอึดอัดคับข้องใจกับโครงการและนโยบายรวมทั้งความไม่โปร่งใสหลายประการของรัฐบาลทักษิณ ทำให้มีประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมการเคลื่อนไหวอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม องค์การสาธารณประโยชน์ (NGO) และเครือข่ายต่าง ๆ เป็นอย่างมาก ประกอบกับบริบทของช่วงเวลาดังกล่าวขบวนการของสนธิกำลังอยู่ในช่วงขาลงและถูกวิพากษ์วิจารณ์ทำให้จำเป็นต้องหาพันธมิตรเพิ่มเพื่อขยายฐานและสร้างพลังให้กับการเคลื่อนไหว จึงนำไปสู่การจัดตั้งเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2549


แม้ว่ากลุ่มต่าง ๆ ที่มาประกอบกันเป็นเครือข่ายพันธมิตรฯจะไม่ได้มีความเป็นเนื้อเดียวกัน และส่วนใหญ่ไม่เคยเคลื่อนไหวร่วมกันมาก่อน แต่ก็มีเป้าหมายเดียวกัน คือ การพ้นจากตำแหน่งของทักษิณ ชินวัตร

เสียงที่ไม่เท่ากัน
     
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่มีเป้าหมายเฉพาะเจาะจง คือ การพ้นจากตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี แต่เครือข่ายพันธมิตรฯก็มีการจัดการองค์กรอย่างหลวม ๆ กล่าวคือ กระบวนการตัดสินใจขึ้นอยู่กับแกนนำทั้ง 5 คน ผู้แทนของกลุ่มต่าง ๆ มีหน้าที่ปรึกษาหารือ ในความเห็นของสุภลักษณ์ลักษณะการจัดการองค์กรดังกล่าวมีรูปแบบคล้ายพรรคคอมมิวนิสต์ต่างกันที่เครือข่ายพันธมิตรฯไม่มีการจัดตั้งมวลชน


      อย่างไรก็ตามแกนนำทั้งห้าก็ไม่ได้มีเสียงที่เท่ากันในกระบวนการตัดสินใจ ตามบทความของสุภลักษณ์ดูเหมือนว่าสนธิ ลิ้มทองกุลจะมีอำนาจการตัดสินใจมากกว่าแกนนำคนอื่น ๆ เนื่องจากถือว่าตนเป็นผู้เริ่มต่อต้านทักษิณ และเป็นผู้แบกรับต้นทุนส่วนใหญ่ในการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะด้านเวทีและสื่อ


สื่อในเครือผู้จัดการโดยเฉพาะ ASTV และเว็บไซต์ผู้จัดการเป็นเครื่องมือสำคัญของเครือข่ายพันธมิตรฯที่ทำให้ประชาชนสามารถรับรู้ถึงสารที่ต้องการสื่อแม้จะไม่ได้มาร่วมชุมนุม สร้างความรู้สึกเสมือนจริงให้กับผู้ชมทางบ้าน แต่ทว่าสิ่งที่มาพร้อมกับเครื่องมืออันทรงอิทธิพลนี้ คือ ค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาล ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในขบวนการเคลื่อนไหวในสังคมการเมืองไทย แน่นอนว่าผู้ที่แบกรับค่าใช้จ่ายดังกล่าวก็คือสนธิ


นอกจากเรื่องทุนแล้วเป็นที่น่าสนใจว่ากลุ่มของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม องค์การสาธารณประโยชน์ (NGO) และเครือข่ายต่าง ๆ ในเครือข่ายพันธมิตรฯไม่ได้มีฐานมวลชนขนาดใหญ่ มวลชนส่วนใหญ่ของพันธมิตร คือ ชนชั้นกลางที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวของสนธิตั้งแต่แรก สนธิจึงเป็นผู้นำมวลชนของเครือข่ายพันธมิตรฯที่มีบทบาทสำคัญและโดดเด่น หากจะกล่าวว่าแกนนำคนอื่นและมวลชนส่วนอื่นกลายเป็นเพียงตัวประกอบก็คงไม่ผิดนัก


จากเหตุผลข้างต้นจึงเข้าใจได้ว่าเหตุใดสนธิจึงมีอำนาจตัดสินใจมากกว่าแกนนำคนอื่น สุภลักษณ์ถึงกับกล่าวว่า "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" แท้จริงแล้วก็คือ "พันธมิตรสนธิ" กล่าวคือ ไม่ได้มีลักษณะต่างไปจากขบวนการเคลื่อนไหวของสนธิก่อนหน้านี้แม้แต่น้อย ทำให้การตัดสินใจของแกนนำทั้ง 5 คนมีความไม่ลงรอยกันปรากฏออกมาให้เห็นอยู่เนือง ๆ อย่างไรก็ตาม Pye และ Schaffer ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว ทั้งคู่มองว่ากลุ่มอื่น ๆ ไม่ได้ถูกครอบงำโดยกลุ่มของสนธิ หากแต่มีบทบาทและเป็นผู้เล่นสำคัญในเครือข่ายพันธมิตรฯ ตัวอย่างเช่น กลุ่ม FTA Watch เป็นต้น

จากมาตรา 7 สู่รัฐประหาร 19 กันยา
     
ดังที่กล่าวไปแล้วว่าสนธิ ลิ้มทองกุลในฐานะหนึ่งในแกนนำเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยดูเหมือนจะมีอำนาจในการตัดสินใจมากกว่าแกนนำคนอื่น ๆ หากเป็นเช่นนั้นจริงย่อมไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจว่าเหตุใดทั้งข้อเรียกร้องและการเคลื่อนไหวของเครือข่ายพันธมิตรฯจึงไม่ผิดแผกไปจากขบวนการของสนธิก่อนหน้านั้น


การเรียกร้องมาตรา 7 หรือ นายกฯพระราชทานนั้น ไม่ได้ต่างไปจากแนวคิดเรื่องการถวายคืนพระราชอำนาจของขบวนการของสนธิ กล่าวคือ เป็นการตอกย้ำและผลิตซ้ำวาทกรรมแบบราชาชาตินิยม (royal nationalism) ขอให้กษัตริย์ผู้ทรงไว้ซึ่งสถานะเหนือการเมืองสกปรกลงมาจัดการกับระบบการเมืองที่ไร้ประสิทธิภาพ นักการเมืองที่ทุจริตฉ้อฉล และพระราชทานผู้นำที่มีคุณธรรม อีกนัยหนึ่งก็คือให้ความสำคัญกับพระราชอำนาจ (royal power) มากกว่าพลังของประชาชน (people power) ในแง่นี้จึงเข้าใจได้ว่าทำไมเครือข่ายพันธมิตรฯโดยเฉพาะตัวของสนธิจึงมุ่งทำลายภาพลักษณ์ (character assassination) ของทักษิณ โดยกล่าวหาทักษิณในเชิงเปรียบเทียบกับกษัตริย์และเครือข่ายกษัตริย์อยู่เสมอ รวมทั้งมุ่งโจมตีในประเด็นที่หมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เช่น การทำพิธีในวัดพระแก้ว เป็นต้น




สำหรับสุภลักษณ์และธนาพล การเรียกร้องมาตรา 7 คือ สิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย และสร้างวัฒนธรรมการพึ่งพิงกษัตริย์ ปฏิเสธพลังของประชาชนที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมการเมือง เรียกร้องอำนาจนอกระบบให้เข้ามาจัดการ ซึ่งธนาพลเห็นว่าสิ่งที่เครือข่ายพันธมิตรฯสร้างขึ้นนี้เป็น "...พื้นฐานอันดีสำหรับการยอมรับรัฐประหารที่จะเกิดขึ้น..." นอกจากนั้นทั้งคู่ยังกล่าวเชิงตำหนิต่อบรรดาแกนนำพันธมิตรคนอื่น โดยเฉพาะที่มาจากภาคประชาสังคม เช่น พิภพ ธงไชย ที่ไม่คัดค้านแนวทางดังกล่าวให้ถึงที่สุด


อย่างไรก็ตาม Pye และ Schaffer มองว่ามาตรา 7 คือ ทางเลือกเชิงยุทธวิธีที่เป็นรูปธรรมเพื่อสนองต่อข้อเรียกร้อง เช่น การยุติการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหรัฐอเมริกา ไม่ใช่ความต้องการที่จะถอยหลังไปสู่การเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นทางเลือกที่สมเหตุสมผลและเข้าใจได้ภายใต้บริบทซึ่งไม่มีทางเลือกอื่นที่ส่งผลดีต่อการเคลื่อนไหวมากกว่าในเชิงเปรียบเทียบ


คู่ขนานไปกับการเคลื่อนไหวของเครือข่ายพันธมิตรฯก็คือการเคลื่อนไหวของเครือข่ายกษัตริย์นำโดย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ตอบโต้การแสดงออกของทักษิณ โดยเครือข่ายพันธมิตรฯคอยผสมโรงส่งเสริมการเคลื่อนไหวของเครือข่ายกษัตริย์ตลอดเวลา อาทิ เปิดประเด็นเรื่องปฏิญญาฟินแลนด์ กล่าวหาทักษิณว่าไม่จงรักภักดีวางแผนโค่นล้มราชบัลลังก์ การแสดงสัญลักษณ์ว่าได้รับการสนับสนุนจากสมเด็จพระนางเจ้าฯผ่านผ้าพันคอสีฟ้า และเรียกร้องทหารในฐานะ "ทหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" อย่านิ่งเฉยกับศัตรูของกษัตริย์ ซึ่งสามารถตีความได้ว่าเป็นการเรียกร้องการรัฐประหาร นอกจากนั้นยังสร้างเงื่อนไขที่ถูกมองว่าจะนำไปสู่การนองเลือด ในแง่นี้ที่ทางของประชาชนจึงกลายเป็นเพียงกองเชียร์ที่สร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหาร เป็นเพียงขบวนการกึ่งสำเร็จรูปที่รวมตัวกันเพื่อเป้าหมายเฉพาะโดยไม่คำนึงถึงวิธีการ คำกล่าวของ ธนาพลที่ว่าเครือข่ายพันธมิตรฯ คือ "ผู้ออกบัตรเชิญให้คณะรัฐประหาร" จึงไม่ใช่เรื่องเกินจริงนัก


สรุป
     
ปรากฏการณ์เครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในปี 2549 แสดงให้เห็นว่า การเมืองภาคประชาชนอาจไม่นำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยเสมอไป ซึ่งในกรณีนี้กลับนำไปสู่การรัฐประหาร และการเมืองของสุนทรียศาสตร์ แทนที่จะเป็นสุนทรียศาสตร์ของการเมืองภาคประชาชน


       การเคลื่อนไหวครั้งใหม่ของเครือข่ายพันธมิตรฯขณะนี้ไม่ได้มีเป้าหมายที่ต่างไปจากเดิม คือ การพ้นจากอำนาจของรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ในฐานะหุ่นเชิดของทักษิณ ชินวัตร แต่ด้วยยุทธวิธีที่ไม่ต่างจากการรัฐประหาร คือ ใช้ความรุนแรง บุกยึดสถานที่ราชการ ประกาศสภาวะขอยกเว้น (state of exception) จากอำนาจและกฎหมายปกติ สร้างเงื่อนไขครั้งใหม่ที่จะนำไปสู่การใช้อำนาจนอกระบบ หากรัฐบาลทักษิณ คือ ทรราชย์ของเสียงข้างมาก (tyranny of the majorities) คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่าเครือข่ายพันธมิตรฯปัจจุบันก็คือ ทรราชย์ของเสียงข้างน้อย (tyranny of the minorities)


โจทก์ที่ผู้เขียนบทความทั้ง 4 ได้ทิ้งไว้ คือ ทำอย่างไรสังคมการเมืองไทยจึงจะมีการเมืองภาคประชาชนที่นำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยแบบเข้มข้น (radical democracy) และสุนทรียศาสตร์ของการเมือง ซึ่งเป็นโจทก์สำคัญสำหรับการเมืองภาคประชาชนในยุคหลัง-พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่จะต้องค้นหาคำตอบ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net