Skip to main content
sharethis

หาก จิตร ภูมิศักดิ์ ยังมีชีวิตอยู่ เขาจะมีทัศนะและท่าทีต่อสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบันอย่างไรคงเป็นคำถาม ที่หลากหลายคำตอบ มาฟังว่ามีใครพูดอะไรบ้างถึงปัญญาชนปฏิวัติเจ้าของผลงานวิชาการ ”โฉมหน้าศักดินาไทย” ที่ได้เสียชีวิตไปท่ามกลางสนามรบ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2509
 
“แม้คนพันบัญชาชี้หน้าเย้ย จงขวางคิ้วเย็นชาเฉยเถิดสหาย
ต่อผองเหล่านวชนเกิดกล่นราย จงน้อมกายก้มหัวเป็นงัวงาน”
 
 
 
เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา เทศบาล ต.หนองกุง ร่วมกับมูลนิธิสายธารประชาธิปไตย จัดงานรำลึกครบรอบ 72 ปี ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ปัญญาชนปฏิวัติคนสำคัญขึ้นในบริเวณสนามฟุตบอล โรงเรียนบ้านหนองกุง ภายในงานมีการจัดเสวนาภายใต้หัวข้อ “จิตร ภูมิศักดิ์...ให้อะไรกับสังคม...” การจัดค่ายเรียนรู้จิตร ภูมิศักดิ์ ให้กับเยาวชนในพื้นที่โดยนักศึกษากลุ่มเด็กฮักถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร และการแสดงดนตรี โดยศิลปินวงคาราวาน ศิลปินวงของเรา และศิลปินเพื่อชีวิตทั่วไปอีกหลายวง
 
เวลา 14.00 น. บนเวทีเริ่มวงเสวนาในหัวข้อ “จิตร ภูมิศักดิ์ให้อะไรกับสังคม” ผู้ร่วมเสวนาประกอบไปด้วย 1.ทนายทองใบ ทองเปาด์ 2.หมอพลเดช ปิ่นประทีป ประธานมูลนิธิสายธารประชาธิปไตย 3.นายวิทิต จันดาวงศ์ (สหายปาน) ประธานมูลนิธิเติมน้ำใจให้กัน 4.อ.วิชาญ ฤทธิ์ธรรม รองคณบดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
 
ทนายทองใบ ทองเปาด์ ได้พูดให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการต่อสู้ทางการเมืองของจิตรที่ในฐานะคนใกล้ชิดสนิทสนม และได้ยกคุณธรรม 4 ประการที่ควรยกย่องของจิตร ได้แก่
 
หนึ่ง การที่จิตรเป็นคนกำพร้าพ่อตั้งแต่เด็กต้องอยู่กับแม่และทำให้จิตรเป็นคนสู้ชีวิต
 
สอง มีความกตัญญูทั้งต่อชาวนาและกรรมกร ซึ่งทนายทองใบ ได้ยกตัวอย่างเพลงเปิบข้าวที่จิตรได้แต่งเอาไว้ซึ่งมีเนื้อหาที่สำนึกแห่ง บุญคุณของชาวนา
 
สาม มีความซื่อสัตย์ ทั้งต่อเพื่อนมิตรและอุดมการณ์ของตัวเอง ทนายทองใบได้ตัวอย่างบทกวีของจิตรคือ
“เพื่อลบรอยคราบน้ำตาประชาราษฎร์
สักพันชาติจักสู้ม้วยด้วยหฤหรรษ์     
แม้นชีพใหม่มีเหมือนหวังอีกครั้งครัน
จักน้อมพลีชีพนั้นเพื่อมวลชน”
 
            อันเป็นการแสดงถึงความชื่อสัตย์และแน่วแน่ในงานอุทิศตนเพื่อประชาชน
 
สี่ เชื่อมั่นในความถูกต้อง ทนายทองใบได้ยกบทกวี
“แม้คนพันบัญชาชี้หน้าเย้ย 
จงขวางคิ้วเย็นชาเฉยเถิดสหาย        
ต่อผองเหล่านวชนเกิดกล่นราย       
จงน้อมกายก้มหัวเป็นงัวงาน”
 
            ซึ่งจิตร ภูมิศักดิ์ แปลจากบทกวีของหลูซิ่น โดยใช้นามปากกา ศิลป์ พิทักษ์ชน
 
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เล่าคุุณููปการของจิตรในฐานะวีรชนผู้บุกเบิกถางทางให้กับสังคมไทย โดยเล่าว่า “ประวัติศาสตร์ระยะใกล้นับตั้งแต่ 100 ปี มานี้ถูกขับเคลื่อนโดยประชาชน และจิตรก็เป็นบุคคลผู้หนึ่งที่บทบาทโดดเด่นอย่างมาก” หมอพลเดชได้ให้คำถามทิ้งท้ายว่า “จิตรได้ให้คุณค่าแห่งอุดมการณ์การต่อสู้เพื่อสังคม แล้วเราจะขานรับอย่างไร?”
 
วิทิต จันดาวงศ์ กับคำถาม คิดยังไงกับการเกิดใหม่ของจิตร?
“นักรบ ทางแนวหน้า วีรกรรมที่ล้ำยุค” เป็นคำจำกัดความสั้นๆ ที่วิทิตนิยามเอาไว้ สำหรับการเกิดใหม่ของจิตรนั้นวิทิตได้พูดให้ความสำคัญกับชุมชนหนองกุงไว้ ด้วย ดังนี้ “การเกิดใหม่ คือเกิดมาพร้อมกับการปรากฏชื่อของชุมชนหนองกรุงติดควบคู่ไปกับคุณจิตรใน ระดับนานาชาติ” และสิ่งที่ได้คือ “คุณค่าและการให้เกียรติชาวหนองกุงจนมีชื่อซึ่งหมายถึงการให้ทุนทางสังคมแก่ บ้านหนองกุง โดยเฉพาะเทศบาลจะรับและพัฒนาทุนนี้อย่างไร?” เป็นคำถามแก่ผู้นำนอกจากนี้วิทิตยังเสนอรูปธรรมคร่าวๆ แก่ชุมชนว่า “การจัดโครงการท่องเที่ยว แต่อย่าลืมประวัติศาสตร์ชุมชนของตนเอง และควรมีทีมวิจัยท้องถิ่นขุดค้นประวัติศาสตร์ชุมชน แล้วจึงจัดให้มีมัคคุเทศก์นำนักท่องเที่ยวเรียนรู้”
 

ด้าน อ.วิชาญ ฤทธิ์ธรรม ประกาศ สิ่งที่จิตรทิ้งไว้หลังจากการตายคือ พลังทางปัญญาซึ่งโดดเด่นที่สุด ที่ส่งไปถึงปัญญาชน ในส่วนที่เกี่ยวกับบทบาทของราชภัฏสกลนคร “ตอนนี้จะมีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ประวัติศาสตร์การต่อสู้ภาคประชาชน ภายในมหาวิทยาลัย เริ่มแรกจะเป็นประวัติและผลงานของจิตร ภิศักดิ์ ในส่วนของนักศึกษาก็ควรจัดให้มีการเรียนรู้ให้บ่อยไม่ขาดสาย และเรียนรู้จิตรอย่างที่จิตรเป็น มิใช่เทพ” เป็นการกล่าวทิ้งท้ายของนักวิชาการท่านนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net