Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ประเทศไทย รับมอบตำแหน่งประธานของอาเซียนต่อจากสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2008 โดยวาระการดำรงตำแหน่งของไทยจะสิ้นสุดลงในเดือนธันวาคม 2009 ซึ่งการดำรงตำแหน่งดังกล่าวของไทยเป็นการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนครั้งแรก ภายหลังกฎบัตรอาเซียนมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 ธันวาคม 2008
 
แต่ ทว่าช่วงเวลาที่มาบริบทการเมืองภายในของไทยตั้งแต่รัฐบาลของสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นต้นมาส่งผลเชื่อมโยงให้ไทยไม่สามารถระดมทรัพยากรเพื่อทำหน้าที่ประธาน อาเซียนซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีความรับผิดชอบในการขับเคลื่อนกลไกสำคัญในการรวม กลุ่ม (integration) ของอาเซียน คือ การประชุม เนื่องจากการรวมกลุ่มของอาเซียนมีรูปแบบที่เรียกว่า รัฐบาลสัมพันธนิยม (intergovernmentalism) กล่าว คือ เป็นรูปแบบของปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐบนพื้นฐานของความอิสระของอำนาจอธิปไตย โดยกรอบความตกลงต่าง ๆ จะเกิดขึ้นบนพื้นฐานความสมัครใจของรัฐภาคีทั้งหมด
 
ความสำคัญและหน้าที่ของประธานอาเซียน
ตำแหน่ง ประธานอาเซียนมีความสำคัญต่อการจัดประชุมต่าง ๆ ซึ่งเป็นกลไกหลักของประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะการประชุมสุดยอดของผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ในแง่นี้จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนการรวมกลุ่มของประชาคม อาเซียนให้เดินหน้าต่อไป โดยบทบาทและหน้าที่ของประธานอาเซียนตามกฎบัตรอาเซียนมีรายละเอียด ดังนี้
 
ตาม กฎบัตรอาเซียนมาตรา 31 ตำแหน่งประธานอาเซียนให้หมุนเวียนทุกปี บนพื้นฐานของลำดับอักษรของชื่อภาษาอังกฤษของรัฐสมาชิก โดยรัฐสมาชิกที่รับตำแหน่งประธานจะทำหน้าที่เป็นประธานของการประชุมและคณะ มนตรีต่าง ๆ ดังนี้
1.       การประชุมสุดยอดอาเซียน และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง
2.       คณะมนตรีประสานงานอาเซียน
3.       คณะมนตรีประชาคมอาเซียนทั้งสามคณะ
4.       องค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขาและเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้องตามที่เหมาะสม
5.       คณะกรรมการผู้แทนถาวร
6.        
 
สำหรับบทบาทของประธานอาเซียนตามมาตรา 32 ของกฎบัตรอาเซียนระบุไว้ว่า รัฐที่ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนจะต้อง
1.       ส่ง เสริมและเพิ่มพูนผลประโยชน์ และความเป็นอยู่ที่ดีของอาเซียน รวมถึงความพยายามในการสร้างประชาคมอาเซียนอย่างแข็งขัน โดยการริเริ่มทางนโยบาย การประสานงาน ฉันทามติ และความร่วมมือ
2.       ทำให้แน่ใจว่ามีความเป็นศูนย์รวมของอาเซียน
3.       ทำให้ แน่ใจว่ามีการตอบสนองต่อปัญหาเร่งด่วนหรือสถานการณ์วิกฤติที่มีผลต่ออาเซียน อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที รวมถึงจัดให้มีคนกลางที่มีตำแหน่งน่าเชื่อถือและการจัดการอื่นเช่นว่าเพื่อ แก้ไขข้อกังวลเหล่านี้โดยทันที
4.       เป็นตัวแทนของอาเซียนในการเสริมสร้างและส่งเสริมความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนภายนอกภูมิภาคให้ใกล้ชิดขึ้น
5.       ปฏิบัติภารกิจและหน้าที่อื่นตามที่อาจได้รับมอบหมาย
 
นอกจาก นั้นตามมาตราที่ 7 ของกฎบัตรอาเซียนได้ระบุให้จัดการประชุมสุดยอดอาเซียนเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็น ปีละ 2 ครั้งและเรียกประชุมเมื่อมีความจำเป็นในฐานะการประชุมพิเศษหรือเฉพาะกิจ ตามมาตราที่ 5 ของกฎบัตรได้ระบุให้คณะมนตรีประสานงานอาเซียนซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีต่าง ประเทศอาเซียนประชุมกันอย่างน้อย 2 ครั้งต่อปี และในมาตรา 5 ของกฎบัตรได้ระบุไว้ด้วยว่าให้คณะมนตรีประชาคมอาเซียนต่างๆ ประกอบด้วยคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน คณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนจัดประชุมกันอย่างน้อย 2 ครั้งต่อปี
 
ใน แง่นี้จะเห็นได้ว่ากฎบัตรอาเซียนทำให้ประเทศที่ทำหน้าที่ประธานอาเซียนมี บทบาทมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ ต้องเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมถึง 2 ครั้งต่อปี จากในอดีตที่ประชุมเพียงปีละครั้ง
 
ความล้มเหลวในการจัดประชุม กับ ภาพลักษณ์ของอาเซียน
ความ ล้มเหลวในการจัดการประชุมสุดยอดและการประชุมที่เกี่ยวข้องส่งผลกระทบอย่าง ยิ่งต่อภาพลักษณ์ของอาเซียน โดยเฉพาะการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14 ซึ่งเลื่อนไปจัดในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2009 เพราะการประชุมสุดยอดดังกล่าวจะเป็นการประชุมสุดยอดครั้งแรกภายหลังจาก กฎบัตรอาเซียนมีผลบังคับใช้ซึ่งทำให้อาเซียนมีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ระหว่างประเทศ หรือ มีสถานะเป็นองค์การระหว่างประเทศ ในแง่นี้จึงเป็นการทำลายภาพลักษณ์ต่อรูปแบบการรวมกลุ่มของอาเซียนซึ่งเป็น ตัวอย่างการรวมกลุ่มของประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นทางเลือกนอกเหนือจากรูปแบบ การรวมกลุ่มแบบตะวันตกอย่างการรวมกลุ่มของสหภาพยุโรป (EU) นอกจาก นั้นยังนำมาซึ่งความไม่พอใจในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน โดยเฉพาะท่าทีจากกัมพูชา และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นการกัดกร่อนความเป็นหนึ่งเดียวกันของอาเซียน
 
ความล้มเหลวในการจัดประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา หรือ การประชุมอาเซียน+3 ใน เดือนเมษายน 2009 อันเนื่องมาจากความรุนแรงในการชุมนุมประท้วงยิ่งเป็นการซ้ำเติมต่อภาพลักษณ์ และความน่าเชื่อถือของอาเซียนในฐานะตัวแบบองค์การภูมิภาคที่ประสบความสำเร็จ ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
 
ความล้มเหลวในการจัดประชุม กับ ภาพลักษณ์ของ ‘รัฐ’ ไทย
ปัญหาสำคัญประการหนึ่งในการชุมนุมประท้วงของทั้งกลุ่มคนเสื้อเหลืองและคนเสื้อแดง คือ การไม่สามารถแยกระหว่าง ‘รัฐ’ (state) กับ ‘รัฐบาล’ (government) ได้ จริงอยู่ที่เป้าหมายของทั้งสองฝ่าย คือ การเปลี่ยนขั้วอำนาจในรัฐบาล แต่ทว่าวิธีการที่จะนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อภาพ ลักษณ์ของ รัฐไทย เพราะ รัฐบาลมาแล้วก็หมดหน้าที่ไปตามวาระ แต่รัฐไทยยังคงอยู่ต่อไปเหมือนเดิม
 
การ ที่รัฐบาลไทยทั้งสองชุดไม่สามารถระดมทรัพยากรเพื่อจัดการประชุมสุดยอด อาเซียนได้ตามที่กำหนดไว้ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของรัฐไทย โดยเฉพาะในเรื่องเกียรติภูมิของชาติ (prestige) ซึ่ง หมายถึง การที่รัฐหนึ่งจะแสดงออกด้วยการกระทำต่างๆ เพื่อให้รัฐอื่นเกิดความชื่นชม ประทับใจและแสดงออกถึงการยอมรับและเคารพต่อรัฐตน
 
ทั้ง ที่ในอดีตรัฐไทยหลายรัฐบาลมีบทบาทอย่างสำคัญในการสนับสนุนแนวคิดเสรีนิยม เช่น สิทธิมนุษยชน ในการรวมกลุ่มของอาเซียนซึ่งได้รับความชื่นชมจากนานาประเทศ และที่ผ่านมาประเทศที่ถูกมองว่าเป็นอุปสรรคของอาเซียน คือ ประเทศสมาชิกใหม่อย่างพม่าที่มีปัญหาการเมืองภายใน โดยเฉพาะปัญหาสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่ประเทศสมาชิกก่อตั้งอย่างไทย
 
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ โอกาสในวิกฤติของไทยและอาเซียน
ใน ทัศนะของผู้เขียน ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งกำลังเป็นโรคระบาดที่อยู่ในความสนใจของคนทั้งโลก เป็นโอกาสท่ามกลางวิกฤติของไทยในฐานะประธานอาเซียนและตัวอาเซียนในฐานะ องค์การระหว่างประเทศ กล่าวคือ
 
หากพิจารณาจากทฤษฎีระบอบระหว่างประเทศ (international regimes) ซึ่งสรุปสาระสำคัญของ ระบอบ (regimes) อย่างง่าย ๆ ก็คือ ชุดของหลักการ บรรทัดฐาน หรืออีกนัยหนึ่ง คือ อาณาบริเวณของประเด็น (issue area) ที่จะนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างประเทศ [1]
 
ใน แง่นี้ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ จึงเป็นระบอบหนึ่งซึ่งมีความเร่งด่วนและสามารถนำไปสู่ความร่วมมือระหว่าง ประเทศ หรือ เป็นการส่งเสริมความร่วมมือในการรวมกลุ่มของอาเซียนในเชิงลึก ดังที่ได้มีการจัดการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน+3 ภายหลังจากล้มเหลวในการจัดประชุมสุดยอดอาเซียน+3 ในเดือนเมษายน นอกจากนั้นการที่ไทยสามารถจัดประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน+3 ยัง เป็นการกอบกู้ภาพลักษณ์ของรัฐไทย โดยเฉพาะในเรื่องเกียรติภูมิของชาติว่าไทยยังคงมีภาวะผู้นำในการขับเคลื่อน อาเซียนเพื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์ภัยคุกคามรูปแบบใหม่
 
ดังนั้น ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ จึงเป็นโอกาสในวิกฤติของรัฐไทยและอาเซียนในการกอบกู้ภาพลักษณ์ของทั้งรัฐไทยและอาเซียนให้ดียิ่งขึ้น
 
 
ความส่งท้าย
สุดท้ายนี้ผู้เขียนขอวิงวอนการเคลื่อนไหวของคนทุกกลุ่มให้คิดถึงผลกระทบที่จะมีต่อ ‘รัฐไทย’ และ ‘การรวมกลุ่มของประชาคมอาเซียน’ ก่อนที่จะเลือกใช้วิธีการใด ๆ ในการประท้วง โค่นล้มรัฐบาล
 
 
 
 
 

[1] เกี่ยวกับทฤษฎีระบอบระหว่างประเทศ สามารถอ่านรายละเอียดได้ที่ ขจิต จิตตเสวี. องค์การระหว่างประเทศ. กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2552, หน้า 31-35.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net