Skip to main content
sharethis

 

10 พ.ค.52 คณะกรรมการญาติวีรชน ร่วมกับศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) จัดเสวนาสาธารณะ เนื่องในโอกาสครบรอบ 17 ปี เหตุการณ์ 17 พฤษภาคม 2535 เรื่อง “17 ปี 17 พฤษภากับบทเรียนของประเทศไทย” ที่ห้องประชุม 14 ตุลาฯ มูลนิธิ 14 ตุลาฯ ถนนราชดำเนิน
 
โดยมี นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ รองประธานกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) น.พ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ น.ส.ประทับจิตร นีละไพจิตร นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บุตรสาวนายสมชาย อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิมแห่งประเทศไทย นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม ร่วมเสวนา
 
นาย เมธา มาสขาว เลขาธิการ ครส. ในฐานะผู้ดำเนินการเสวนา ได้อ่านแถลงการณ์ ครส. เกี่ยวกับการจัดเสวนาว่า เพื่อเสนอแนะรัฐบาลและกองทัพให้ตระหนักถึงบทเรียนการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม ในอดีต โดยเฉพาะบทบาทกองทัพที่มีต่อการเมืองไทยในปัจจุบัน รวมทั้งให้อนุสติกับสังคมในเรื่องความรุนแรงทางสังคม ซึ่ง ครส. มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและกองทัพ 3 ข้อ คือ
 
1.กองทัพ ควรวางบทบาททางการเมืองใหม่ โดยปฏิรูปให้เป็นทหารอาชีพ แก้ไขกฎหมายที่เอื้ออำนาจให้กองทัพโดยไร้ผลประโยชน์ทางการเมือง และให้รัฐสภาและสื่อมวลชนสามารถตรวจสอบการทำงานได้อย่างโปร่งใส โดยเฉพาะงบลับ รวมทั้งรัฐบาลและกองทัพควรจัดสรุปบทเรียนเหตุการณ์ 17 พฤษภาคม 2535 ร่วมกัน เพื่อจัดวางบทบาทของกองทัพภายใต้การกำกับของรัฐบาลพลเรือน
 
2.กองทัพ ควรแก้ข้อครหาที่ว่ามีส่วนพัวพันและเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองใน ปัจจุบัน ทั้งเรื่องการเป็นตัวแปรจัดตั้งกลุ่มพลังทางการเมือง หรือการที่มีบุคคลในกองทัพเกี่ยวข้องกับขบวนการลอบสังหารหรือคุกคามประชาชน กลุ่มต่างๆ เพื่อสร้างความโปร่งใส และเพื่อเป็นการยุติให้กองทัพเป็นคู่ความขัดแย้งหนึ่งทางการเมือง
 
และ 3.อยากเรียกร้องให้รัฐบาลตรวจสอบกรณีมีเบาะแสการพบตู้คอนเทนเนอร์จำนวนหนึ่ง ในทะเลอ่าวไทย บริเวณ ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ซึ่งคาดว่าอาจมีศพผู้สูญหายในเหตุการณ์พฤษภาฯ 2535 และถึงเวลาแล้วที่กองทัพควรแสดงความจริงใจโดยคืนกระดูกให้ญาติวีรชนพฤษภาฯ เพื่อไปทำพิธีกรรมตามศาสนา
 
นาย อดุลย์ก็กล่าวว่า เหตุการณ์พฤษภาฯ 35 เกิดจากการเมืองเปิดช่องโหว่ให้ทหารเข้ามาใช้อำนาจเกินขอบเขต และอาศัยช่องว่างเข้ามาปกครองประเทศ ทำให้ประชาชนไม่เห็นด้วยและรับไม่ได้ ทั้งๆ ที่ควรใช้วิธีทางการเมืองแก้ปัญหามากกว่า
 
“ไม่ คาดคิดว่าหลังเหตุการณ์พฤษภา 35 จะมีการปฏิวัติรัฐประหารเกิดขึ้นในไทยอีก แม้โชคดีไม่มีการเสียเลือดเนื้อ แต่ก็สร้างผลเสียมากมาย เปรียบเสมือนเป็นการปล้นประชาธิปไตย และไม่ว่าอ้างเหตุผลใดก็ไม่ควรดำเนินการ เนื่องจากทุกวันนี้ภาคประชาชนมีความรู้เรื่องประชาธิปไตยที่ดีขึ้น ดังนั้นวิถีทางทางการเมืองจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหา” นายอดุลย์กล่าว และว่า เหตุการณ์ปัจจุบันสะท้อนชัดว่าทหารเข้ามามีบทบาททางการเมืองมากเกินไป โดยการชุมนุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงทหารก็จะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง เสมอ และยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น
 
ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา'35 กล่าวต่อถึงผู้สูญหายในเหตุการณ์พฤษภาฯ 2535 ว่ามีมากกว่า 38 คน ที่ราชการรับรอง จึงอยากเรียกร้องและขอความเป็นธรรมจากกองทัพและรัฐบาลให้คืนศพหรือกระดูกผู้ สูญหายให้ญาติเพื่อนำไปประกอบพิธีทางศาสนา เพราะที่ผ่านมาทหารแสดงความรับผิดชอบเพียงส่งกระดาษแสดงความเสียใจมา 1 ใบเท่านั้น
 
“ผม และญาติวีรชนจะเข้ายื่นหนังสือต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อเร่งรัดให้สอบสวนหาผู้สูญหาย และให้ตรวจสอบการพบตู้คอนเทนเนอร์ในทะเลอ่าวไทย บริเวณ ต.แสมสาร ในวันอังคารที่ 12 พฤษภาคมนี้ด้วย” นายอดุลย์ระบุ
 
น.ส.ประทับ จิตร กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยยังไม่อาจเรียกว่าเป็นบทเรียนได้ เพราะบางเหตุการณ์ยังไม่จบสิ้น รวมทั้งยังไม่มีพิสูจน์การหายตัวไปและไม่มีการสรุปความผิดที่เกิดขึ้น ขณะที่ต่างประเทศเมื่อเกิดเหตุการณ์ก็จะจบลงด้วยการพิสูจน์ความผิด และลงโทษผู้กระทำผิด แต่ประเทศไทยจบลงด้วยการชดใช้การเยียวยาให้ญาติผู้สูญหาย แล้วทำให้เกิดความกลัวว่าคนผิดยังลอยนวลต่อไป
 
ดัง นั้น จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งลงนามและการให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยการ ทำให้บุคคลสูญหายโดยไม่สมัครใจ และต่อต้านการสูญหายของสหประชาชาติ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อปฏิรูปโครงสร้างสังคมและการเมืองได้
 
น.ส.สุภิ ญญาให้ความเห็นถึงการที่ทหารเข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างมากในปัจจุบันว่า ต้นตอมาจากการได้ผู้นำประเทศที่มีปัญหา คิดถึงประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ประเทศชาติ รวมทั้งประชาชนไม่สามารถอดทนต่อระบอบทักษิณได้ จึงปล่อยให้ทหารเข้ามามีอำนาจ แต่เห็นว่าหลังจากเหตุการณ์ 19 ก.ย.การรัฐประหารคงเกิดขึ้นอีกไม่ง่าย เนื่องจากไทยไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ต้องพึ่งพานานาประเทศ และมีประชาชนไม่น้อยที่ยอมเอาตัวเข้าแลกเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งผู้ที่ทำการรัฐประหารได้เรียนรู้บทเรียนว่า แม้ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนได้แต่ก็รักษาอำนาจไว้ไม่ได้
 
“แม้ รัฐประหารจะเกิดขึ้นได้ยาก แต่เชื่อว่าจะใช้รูปแบบอื่น เช่น ใช้กลไกตุลาการภิวัตน์ ที่ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งรับไม่ได้ จึงออกมาต่อต้านด้วยการชุมนุม และโยงไปถึงการรับไม่ได้กับรัฐบาลปัจจุบัน ทั้งๆ ที่มาโดยการเลือกตั้งและมาตามระบอบปกติ ทำให้เหตุการณ์บานปลายขึ้น” น.ส.สุภิญญากล่าว
 
น.พ.บัณฑิต กล่าวถึงการแก้ปัญหาในสถานการณ์ที่จะมีความรุนแรงเกิดขึ้นว่า อาจเรียกได้ว่าเกิดวงจรการแก้แค้นระหว่างฝ่ายทหาร และสีต่างๆ ดังนั้น จึงควรที่จะสร้างกลไกพักการล้างแค้นที่จะต้องให้มีเวลาพอสมควร แล้วค่อยดำเนินการแก้รัฐธรรมนูญ ยุบสภา แล้วเลือกตั้งปฏิรูปการเมืองใหม่ตามที่มีการเสนอ แต่ในการปฏิรูปจะต้องเน้นการพัฒนาเด็กอย่างจริงจัง และสร้างคนเพื่อให้เกิดสติปัญญาอย่างเพียงพอ
ด้าน ส.ศิวรักษ์กล่าวว่า 17 ปี 17 พฤษภา เป็นเพียงปรากฏการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นว่ารัฐาธิปัตย์ต้องการรักษาอำนาจ แม้ต้องใช้วิธีกำจัดประชาชนผู้บริสุทธิ์ก็ตาม และเหตุการณ์ 7 ตุลา ก็เช่นกัน ถือเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่รัฐกำจัดประชาชนด้วยวิธีการที่เลวร้าย เพียงเพราะต้องการเพียงแค่อำนาจเท่านั้น
 
“ทหาร ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เข้ามาทำให้ประชาชนถูกรังแกเท่านั้น และสิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือการที่รัฐาธิปัตย์พยายามทำให้ความทรงจำเหล่านี้ เลือนหายไปจากสังคม เพราะต้องการดำรงไว้ซึ่งความยิ่งใหญ่เท่านั้น” ส.ศิวรักษ์ระบุ
 
 
 

ที่มาเรียบเรียงจาก: เว็บไซต์ไทยโพสต์, เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net