Skip to main content
sharethis

กป.อพช.ภาคเหนือสัมมนา “ข้อเสนอภาคประชาสังคมต่อการปฏิรูปสังคมการเมืองใหม่” ถกแนวทางปฏิรูป ‘สวิง ตันอุด’ แนะสร้างการเมืองล่างสู่บน ชุมชนจัดการตัวเอง ‘จอนิ’ ชี้สังคมทะเลาะกันเรื่องปกติ เป็นกันทั่วโลก แต่ควรต้องสู้กันด้วยความคิด เชื่อแก้รัฐธรรมนูญไม่แก้ปัญหา ‘ชัชวาล’ เสนอปฏิรูปที่ตัวเรา เอาจิตวิญญาณมาสร้างสังคมใหม่ ยึดหลัก “ธรรมมิกสังคม” ‘ไพโรจน์ พลเพชร’ ชี้สังคมกำลังเปลี่ยน แต่ไม่รู้เปลี่ยนไปทางไหน มองเหลือง-แดง ยังไม่พ้นการเมืองส่วนบน เชื่อการปฏิรูปไม่ได้อยู่ที่สภาและการแก้รัฐธรรมนูญ
 
เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 52 คณะกรรมการประสานงานองค์การพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.ภาคเหนือ) ได้จัดสัมมนาเรื่อง “ข้อเสนอภาคประชาสังคมต่อการปฏิรูปสังคมการเมืองใหม่” ณ โรงแรม ฮอลิเดย์ การ์เดน เชียงใหม่ โดยมีผู้ปฏิบัติงานองค์กรพัฒนาเอกชนหลายด้านร่วมแสดงความเห็น
 
 
สวิงแนะสร้างการเมืองจากล่างสู่บน เน้นชุมชนจัดการตัวเอง
นายสวิง ตันอุด ผอ.สถาบันการจัดการทางสังคมภาคเหนือ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ไม่ใช่การเมืองภาคพลเมือง แต่เป็นความขัดแย้งทางความคิด เป็นการต่อสู้ของโครงสร้างระดับบนที่ผ่านวิธีคิดแบ่งภาคประชาชนผ่านกลุ่ม ต่างๆ ในสังคมตั้งแต่สถาบันระดับสูงจนถึงระดับต่ำนี่เป็นวิธีคิดทางการเมือง และภายใต้ความขัดแย้งนี้เราเลยกลายเป็นทาสทางการเมือง แต่อีกด้านหนึ่งประชาชนไม่เคยมีอำนาจ แม้จะมีการติดตามตรวจสอบอย่างไรแต่สุดท้ายประชาชนไม่เคยมีอำนาจอยู่ดี รัฐธรรมนูญกลายเป็นเครื่องมือนักการเมือง มีการแบ่งสีต่างๆ มากมาย
 
ดัง นั้นอยากเสนอว่า การเมืองต้องเริ่มจากล่างขึ้นไปสู่บน ตั้งแต่เรื่องสิทธิการจัดการทรัพยากร โดยชุมชน การเพิ่มอำนาจท้องถิ่น ชุมชนมีการบริหารจัดการตนเอง เป็นต้น ปัญหาคือ โครงสร้างข้างล่างไม่สามารถจัดการตนเองได้ เช่น มีเรื่องอะไรเราไปที่ทำเนียบฯ ซึ่งมันใหญ่เกินไป เราไม่มีอำนาจในระดับจังหวัดหรือที่เรียกว่าส่วนกลางระดับภาค เราเลยต้องคิดเรื่องหรือการสร้างอำนาจ เครื่องมือของเราในการจัดการตนเอง
 
 
ประชาชนต้องเข้าไปยุ่งการเมือง ไม่ทำให้เป็นเรื่องของซาตาน
นายสนั่น วุฒิ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ ด้านเอดส์ภาคเหนือ กล่าว่า กลุ่มอนุรักษ์นิยม มองการเมืองเป็นเรื่องสกปรก เป็นเรื่องของคนชั้นสูง แต่อีกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มหัวก้าวหน้ามองการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องปากท้อง เป็นเรื่องของความเสมอภาค แต่ทั้งสองกลุ่มไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง มีการรณรงค์ในเรื่องลดความรุนแรง อย่างไรก็ตามก็หนีการเมืองไม่ได้ เพราะการเมืองเป็นเรื่องการแบ่งสรรทรัพยากร ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องผลประโยชน์มิได้เกี่ยวข้องเฉพาะในประเทศ แต่เป็นการเมืองในระดับข้ามชาติด้วย เช่น กองทุนต่างๆ ที่เข้ามา ทั้ง ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียหรือ ADB, ธนาคารโลก ดังนั้นถ้าประชาชนไม่เกี่ยวข้องก็จะกลายเป็นการเมืองของซาตาน ทุนนิยมเสรี ทุนสามานย์ ส่วนศาสนาก็เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองได้ เพราะการเมืองที่เป็นอยู่ไม่เป็นธรรม ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เพราะผู้นำไม่มีจริยธรรม ขายจิตวิญญาณของนักการเมือง
 
สนั่นกล่าวต่อว่า การเมืองเกี่ยวข้องกับสุขภาวะของประชาชนโดยเฉพาะ FTA เช่น นโยบายเรื่องยา ดังนั้น จึงควรมียุทธศาสตร์การปฏิรูปสังคมและการเมืองด้วย แต่ก็ยังมีคนในเครือข่ายกลับคิดว่าองค์กรด้านเอดส์และสุขภาพไม่เห็นต้อง เกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งเป็นเพราะฐานคิดเรายังไม่เปลี่ยน เพราะฉะนั้นการปฏิรูป จึงต้องมาจากการปรับเปลี่ยนทัศนคติ และฐานคิดเราด้วย และมีความเห็นว่าต้องปฏิรูปสังคมก่อน เรื่องการเมือง เพราะการเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ กฎหมายรัฐธรรมนูญต้องอยู่บนฐานของความยุติธรรม และเอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
 
 
จอนิชี้สังคมไทยต้องสู้กันด้วยความคิด แก้รัฐธรรมนูญไม่แก้ปัญหา
นายจอนิ โอ่โดเชา อดีตสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การทะเลาะกันไม่ได้เกิดเฉพาะในสังคมไทย แต่เกิดขึ้นทั้งโลก ถือเป็นยุควิกฤติของมนุษย์ ทะเลาะจนถึงกระดูก ไม่ใช่แค่เลือดเนื้อ และเอาชีวิตมาสู้กัน ประเทศไทยมีหลายสี ประเทศไทยเป็นการต่อสู้จนถึงกระดูกแล้ว ดังนั้นต้องเอาความคิดมาสู้กัน ส่วนทางออกยังมีองค์กรศาสนา และองค์กรชาวบ้าน ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนได้ วิกฤติครั้งนี้ต้องเอาหลักศาสนามาแก้ เพราะฉะนั้นทุกฝ่ายต้องถอยเพื่อต่อสู้ มาดูว่าในแต่ละพื้นที่มีอะไรดีๆ บ้าง ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ แก้กี่ฉบับมันแก้ปัญหาไม่ได้ และเป็นการแก้เฉพาะหน้าอย่างที่ผ่านๆ มา
 
 
ชัชวาลชี้สังคมเผชิญ 5 วิกฤตหลัก ขัดแย้งหลายด้าน
นายชัชวาล ทองดีเลิศ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการจัดการทางสังคม เสนอว่า ปัจจุบันเกิดวิกฤติหลักด้วยกัน 5 วิกฤติ ด้วยกัน คือ 1. สังคมวิกฤติหนัก ทุนนิยมเริ่มล่มสลาย แต่ประเทศไทยก็เดินตามอยู่ 2. วิกฤติในเรื่องระบบการศึกษา ที่เริ่มมีวิธีใหม่ไม่ใช่แบบเดิม 3. มีวิกฤติเศรษฐกิจ แรงงาน เด็กจบมาตกงาน 4. วิกฤติทรัพยากร สุขภาพ 5. ภาคประชาชนก็วิกฤติ
 
ตน มีความเห็นว่าสังคมจะต้องถูกเปลี่ยนแปลง จะอยู่แบบเดิมไม่ได้แล้ว การเมืองที่เป็นอยู่เป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เรื่องเกี่ยวกับสถาบันจารีต เดิมสังคมไทยพูดคุยไม่ได้ ก็เริ่มพูดคุยได้มากขึ้น มีการถกเถียงในเว็บไซต์ นี่ถือเป็นปรากฏการณ์ สิ่งที่อยู่มานานจะเริ่มปรับตัว
 
ส่วน อำนาจรัฐใหม่คืออะไร ยังต้องหาคำตอบ เพราะยังมีความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างการเมืองชนชั้นสูงกับการเมืองชาว บ้าน ระหว่างประชาธิปไตยทางตรงกับประชาธิปไตยระบบตัวแทน มีความขัดแย้งระหว่างเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีกับเศรษฐกิจที่มีคุณธรรม เท่าเทียม เสมอภาค มีความขัดแย้งในเรื่องระบบการศึกษากระแสหลักกับระบบการศึกษากระแสรอง มีการตั้งคำถามกับระบบการศึกษา ชาวบ้านลุกขึ้นมาจัดการเรียนการสอนเองมากขึ้น การศึกษาหลักไม่ใช่คำตอบ เพราะหนี้สินที่เกิดจากระบบการศึกษากันมาก
 
มี ความขัดแย้งระหว่างแนวคิดประชานิยมกับแนวคิดสวัสดิการสังคม สวัสดิการที่ชุมชนมีส่วนร่วม ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ไม่ใช่การรอรับอย่างเดียว ความขัดแย้งระหว่างการจัดการทรัพยากรโดยรัฐ กับชุมชน วัฒนธรรมที่เป็นอยู่เป็นวัฒนธรรมเดียว ขัดแย้งกับฐานวัฒนธรรมที่หลากหลาย ในท้องถิ่นเริ่มมีการศึกษา อัตลักษณ์ของตนเอง เริ่มมีความมั่นใจในตนเองในวัฒนธรรมของตนเอง เมื่อถูกทำให้เป็นหนึ่งเดียว ก็มีพลังของความหลากหลายขึ้นมาตอบโต้
 
 
ปฏิรูปที่ตัวเรา เอาจิตวิญญาณมาสร้างสังคมใหม่
นาย ชัชวาล กล่าวถึงข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสังคม การเมืองว่า ต้องเริ่มจากฐานความรู้ของเรา และต้องสร้างใหม่ คือการเอาเลือดเนื้อ เอาจิตวิญญาณของเรามาสร้าง “สังคมใหม่” การเมืองปัจจุบันเหมือนเรือที่รั่วไปหมด ต้องเปลี่ยนเรือ อยากเห็นชุมชนเป็นแบบไหนต้องสร้างขึ้น ใช้ศาสนาเป็นแกน
 
อาจเป็นรูปแบบ “ธรรมมิกสังคม” หลักของสังคมใหม่คือ 1.หลักของความเท่าเทียมและเป็นธรรม เช่นปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน 2.คุณค่าจิตวิญญาณที่หลากหลายบนฐานความเชื่อศาสนาที่หลากหลาย เป็น “สหวัฒนธรรม” 3.ความเป็นอิสระและพึ่งตนเอง ต้องมีระบบการจัดการ 5 ด้านคือ 1.การจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า โดยชุมชน 2.เศรษฐกิจพึ่งตนเอง เช่นการทำเกษตรยั่งยืน มีอาชีพอิสระ ธุรกิจขนาดย่อม 3.กองทุนสวัสดิการ ขยายเป็นนโยบายใหญ่ 4.การศึกษาเพื่อการปลดปล่อย 5.การปกครองตนเอง โดยมีประชาธิปไตยแบบชุมชน เช่น มีสภาของชุมชน ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการของตนเอง
 
 
 
ไพโรจน์ชี้สังคมกำลังเปลี่ยน แต่ไม่รู้เปลี่ยนไปทางไหน
นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ระดับชาติ กล่าวว่า สังคมอยู่ในสถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่รู้จะเปลี่ยนไปทางไหน นี่คือปัญหาใหญ่ ที่ต้องมีการปฏิรูปการเมืองและสังคม ปัญหาคือ ปฏิรูปอะไร ทำได้อย่างไร
 
ไพโรจน์ ถึงสาเหตุที่ต้องปฏิรูปว่า เรากำลังอยู่ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ไม่ใช่รัฐบาลไทยรับมือไม่ได้ แต่ทุกรัฐบาลทั่วโลกก็จัดการไม่ได้ ทำให้เกิดความแร้นแค้น และข้าวยากหมากแพง คนที่ได้รับผลกระทบที่สุด คือคนที่อ่อนแอที่สุด วิกฤตินี้จะยาวพอสมควร
 
 
มองข้อเสนอปฏิรูปการเมืองทั้งสองค่าย ยังไม่พ้นการเมืองส่วนบน
ส่วน วิกฤติการเมือง คือการจัดการอำนาจของแต่ละฝ่ายที่ไม่ลงตัว การตั้งคำถามกับทุกสถาบัน เช่นสถาบันตุลาการ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องการจัดการความสัมพันธ์ทางอำนาจประชาชนมีการต่อสู้ ทางการเมืองที่มากกว่าครั้งไหนๆ เพราะเป็นการต่อสู้ที่ใช้สื่อ ไม่ต้องไปชุมนุมที่ทำเนียบ อยู่ที่บ้านก็เลือกข้างได้ สื่อนำพาผู้คนไปสู่การต่อสู้ทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมืองได้บ่มเพาะความเกลียด ความโกรธแค้น นำไปสู่การใช้ความรุนแรง สร้างความเกลียด ความโกรธด้วยสื่อ ลักษณะเช่นนี้จึงนำไปสู่การเผชิญหน้าได้ง่าย และทุกครั้งที่มีความขัดแย้งในสังคมไทย มักจะเป็นการนำไปสู่การทำลายล้าง และเปลี่ยนแปลง เดิมเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐ การเปลี่ยนแปลงสังคมยังใช้วิธีการแบบเดิมๆ “แบบอำนาจนิยม เห็นต่างก็ทำลายล้าง” แต่ครั้งนี้มีความแตกต่างคือเป็นความขัดแย้งในหมู่ประชาชน สังคมไทยยังเป็นสังคมอำนาจนิยม ทำให้การแก้ไขระบบการเมืองเป็นแบบนี้
 
ประธาน กป.อพช. กล่าวถึงข้อเสนอปฏิรูปการเมืองว่า ฝ่ายหนึ่งเสนอให้ถอยกลับไปใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ให้พรรคการเมืองมีอำนาจ มีบทบาทสูง จะแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้ ยังไม่มีรูปธรรมรัฐใหม่
 
ส่วนอีกแนวหนึ่ง คือ “การเมืองใหม่” แบบพันธมิตร จะเห็นว่าทั้งสองส่วนมองโครงสร้างการเมืองระดับบน มีเป้าหมายอยู่ที่รัฐธรรมนูญ มีการเมืองที่ซ่อนอยู่ระหว่างการเมือง 2 แบบ คือ พื้นที่อำนาจของประชาชนจะมีพื้นที่ยืนแบบเดิมหรือไม่
 
 
ปฏิรูปการเมืองทุกคนทำได้เลย ไม่ได้อยู่ที่สภาและการแก้รัฐธรรมนูญ
นาย ไพโรจน์กล่าวต่อไปว่า มีกระแสว่าไม่ต้องดูที่รัฐธรรมนูญ ดูที่ระบบการเมือง ทบทวนสถาบันที่ใช้อำนาจทั้งหมด แล้วจึงค่อยแก้รัฐธรรมนูญ โดยข้อเสนอของ กป.อพช. มีเป้าหมายหลัก คือ 1.ลดอำนาจรัฐ นักการเมืองและข้าราชการ 2.เพิ่มอำนาจประชาชน 3.สร้างประชาธิปไตยที่กินได้ 4.ประชาชนจะร่วมกระบวนการอย่างไร
 
เมื่อ เสนอหรือพูดแล้วลงมือทำเลย ปฏิบัติการเองก็ได้ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง ไม่ได้อยู่ที่รัฐสภา ต้องเป็นทุกคนต้องรับผิดชอบ ถ้าให้คนในรัฐสภาตัดสินใจ กีดกันคนอื่นออกไป จะไม่นำพาไปสู่การปฏิรูปการเมือง สังคม ประชาชนต้องเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างด้วย และเลือกการเมืองของประชาชน อย่าเลือกการเมืองของคนอื่น
 
 
ผู้ร่วมสัมมนาอยากอยู่บนภูดูเสือ ‘เหลือง-แดง’ กัดกัน
ด้าน ผู้ร่วมการสัมมนา ได้ช่วยกันแลกเปลี่ยนความคิด โดยผู้ร่วมสัมมนารายหนึ่งกล่าวว่า อยากให้สถานการณ์ความขัดแย้งดำเนินไปถึงที่สุด อย่าไปลดทอนความขัดแย้ง ที่ผ่านมาบางส่วนยังมีลักษณะอยู่บนภูดูเสือกัดกัน ตนไม่ใช่เหลือง แดง เนื่องจากความขัดแย้งครั้งนี้ไม่ใช่ความขัดแย้งของประชาชน เป็นสงครามของคนอื่น ไม่เห็นด้วยกับการเรียกร้องสันติวิธีที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นความขัดแย้งของทุนใหม่ กับทุนเก่า ซึ่งเป็นหน้าที่ของสื่อที่จะต้องอธิบายความขัดแย้งดังกล่าว
 
ทุน ใหม่ไม่ใช่หมายถึงเงินทอง และบุคคลเท่านั้น แต่รวมทั้งระบบ ทักษิณเป็นตัวแทนที่หากินกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ส่วนทุนเก่าหากินกับเครือข่าย ระบบอุปถัมภ์เดิม ที่หากินกับประเทศไทยมานาน
 
สังคม ถูกแบ่งออกเป็นสองซีก เป็นความคิดจากส่วนบนลงล่าง เมื่อความขัดแย้งเริ่มซา ประชาชนต้องมีอำนาจของประชาชน หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเข้าสู่การแย่งชิงอำนาจ เพราะอำนาจเป็นตัวตัดสินนโยบาย ฉะนั้นต้องดูว่าในรัฐธรรมนูญ เราจะแชร์อำนาจได้ตรงไหน เห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นแม่บทว่าอำนาจจะเป็นของใคร การแบ่งสรรอำนาจระหว่างท้องถิ่นกับส่วนกลางจะทำได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร ทำอย่างไรให้มีการกระจายอำนาจสู่ส่วนภูมิภาคได้มากที่สุด จะแก้ปัญหาการเมืองระบบตัวแทนอย่างไร การสร้างประชาธิปไตยที่กินได้อย่างไร จะมีพรรคการเมืองของประชาชนหรือไม่ในช่วงที่โลกกำลังจะเปลี่ยน ไทยก็อยู่ในกระแสนี้ เสนอให้นักการเมืองอยู่ในวาระไม่เกิน 2 ปี เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดอำนาจ ภาคประชาชนขึ้นไปเป็นคณะกรรมการควบคุมผู้แทนราษฎรที่ต้องทำตามประชาชน ตามที่หาเสียงไว้ ภาคประชาชนจะไปมีส่วนในการตัดสินใจในสภา มีส่วนในคณะกรรมาธิการงบประมาณด้วย ที่มาขององค์กรอิสระมาอย่างไร ต้องมีการตรวจสอบ ประชาชนจะมีส่วนในกลไกอิสระได้อย่างไร
 
ใน ตอนท้ายของการประชุม ได้มีการสรุปข้อเสนอของผู้ร่วมการประชุม ได้แก่ 1. มีการเสนอว่า ให้ดูเป้าหมายของตัวเราเองว่าอยู่ตรงไหน จะไม่พึ่งพานักการเมือง เราสามารถเข้าสู่โครงสร้างอำนาจได้หรือไม่ เราเห็นแต่เราไม่ได้ลงไปเล่นเอง เรือกตัวแทน เราสามารถเลือกตัวแทนของเราเอง เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด
 
2. โครงสร้างองค์กร ธุรกิจ สถาบันทางการเมืองต่างๆ ควรมีภาคประชาชนเข้าไปร่วมในการจัดการ เพื่อเป็นแนวทางการขับเคลื่อนของภาคประชาชนทั้งระบบ ให้มีการสรุปบทเรียน ตรวจสอบ มีคณะทำงาน
 
3. รัฐต้องมีส่วนร่วมกับภาคประชาชน 4. การทำให้ท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง คือ ท้องถิ่นต้องมีการปกครองตนเอง ประชาชนน่าจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการเมืองท้องถิ่น คานอำนาจกับอำนาจส่วนกลาง
 

5. เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมประชาชน การแสดงความคิดเห็น เช่น เยาวชน 6.ใช้ “ธรรมมิก” สังคมอาริยะเมตรัย และ “สังคมอุดมคติ” เป็นสังคมที่สามารถเลี้ยงตัวเอง รู้เท่าทันกับภายนอก ถ้าจะมีการกระจายอำนาจในท้องถิ่น เราสามารถเลี้ยงตัวเองตาม สังคมที่ต้องการหรือไม่ สร้างกระบวนการเห็นคุณค่าของผู้อื่นในทางบวก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net