กป.อพช.เหนือออกแถลงการณ์ “ข้อเสนอภาคประชาสังคมต่อการปฏิรูปสังคมการเมืองใหม่”

ตามที่เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 52 คณะกรรมการประสานงานองค์การพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.ภาคเหนือ) ได้จัดสัมมนาเรื่อง “ข้อเสนอภาคประชาสังคมต่อการปฏิรูปสังคมการเมืองใหม่” ณ โรงแรม ฮอลิเดย์ การ์เดน เชียงใหม่ โดยมีผู้ปฏิบัติงานองค์กรพัฒนาเอกชนหลายด้านร่วมแสดงความเห็นนั้น (ข่าวที่เกี่ยวข้อง)
 
ในการสัมมนานี้เอง คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.เหนือ) ยังได้ออกแถลงการณ์ “ข้อเสนอภาคประชาสังคมต่อการปฏิรูปสังคมการเมืองใหม่” โดยเห็นว่าความขัดแย้งทางการเมืองมาจากการแสวงหาประโยชน์ของนักการเมืองและ พวกพ้อง ใช้อำนาจรัฐบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมและองค์กรอิสระ ทำลายระบบถ่วงดุลรัฐสภา กีดกันการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง ความขัดแย้งของคนทั้งประเทศอย่างกว้างขวาง
 
แถลงการณ์ยังระบุว่า ข้อเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองเพื่อความปรองดองสมานฉันท์และแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 บน เหตุผลของความสงบสมานฉันท์นั้น ไม่อาจจะแก้ปัญหาใดๆได้ เพราะเป็นกระบวนการที่ยังคงไม่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมากเพียงพอ กระบวนการนี้จะดำเนินการไปเพื่อปิดบังคนผิด หวังนิรโทษกรรมทางการเมือง
 
แถลงการณ์ยังมีข้อเสนอ 4 ประการ ได้แก่ หนึ่ง ปฏิรูปสังคมการเมือง ต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มพื้นที่การจัดการตนเองของภาคประชาชน สอง ปฏิรูปการสื่อสารการนำเสนอข่าวสารข้อมูลข้อเท็จจริงให้กับสาธารณชนที่ถูก ต้อง สาม ต้องเร่งจัดการทรัพยากรให้เกิดความเป็นกับประชาชนทั่วประเทศ สร้างศักยภาพให้กับชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้อย่างแท้จริง สร้างระบบเศรษฐกิจที่ยืนอยู่บนฐานการพึ่งตนเอง เพื่อปกป้องการผูกขาดจากกลุ่มและนักการเมือง
 
สี่ สร้างระบบรัฐสวัสดิการที่เอื้อประโยชน์กับประชาชนทั้งประเทศ ทุกเพศและทุกวัย โดยปราศจากการครอบงำและการอุปถัมภ์ของจากการเมือง “ด้วย การผลักดันให้เกิดระบบการจัดเก็บภาษีที่เป็นธรรม ตรวจสอบการบริหารประเทศให้โปร่งใส กำจัดการคอรัปชั่นโกงกิน เพื่อนำเงินภาษีของประเทศมาสร้างระบบรัฐสวัสดิการของประชาชนที่เป็นจริง ไม่ใช่เศษเงินของนักการเมืองที่หวังประโยชน์แอบแฝง”
 
ในตอนท้ายของแถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า “การ ปฏิรูปสังคมการเมืองใหม่ จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมาจากพลังของประชาชนเองมิใช่ฝากความหวังไว้กับนักการ เมืองหรือกลุ่มผลประโยชน์ ดังนั้นภาคประชาสังคม จึงเห็นควรให้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามสถานการณ์ประเทศอย่างใกล้ชิด นำเสนอข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณชนและกำหนดเคลื่อนไหวรณรงค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างประชาธิปไตยที่ประชาชนมีอำนาจสูงสุดในการกำหนดชะตากรรมของประเทศ ชี้ถูกชี้ผิดอย่างมีเหตุผล ฟื้นฟูและปรับปรุงกลไกให้ประเทศรอดพ้นวิกฤตโดยเร็ว”
 
สำหรับรายละเอียดของแถลงการณ์มีดังนี้
 
แถลงการณ์คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ
เรื่อง ข้อเสนอภาคประชาสังคมต่อการปฏิรูปสังคมการเมืองใหม่
 
 
            ตามที่มีผลการประชุมร่วม 3 ฝ่าย ของรัฐสภา อันประกอบวิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา ได้เสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองเพื่อความปรองดอง สมานฉันท์และแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 โดยอ้างว่าเพื่อคลี่คลายวิกฤตปัญหาทางการเมืองนั้น คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือและเครือข่ายองค์กรประชาชนภาค เหนือ ได้ประชุมหารือถึงสถานการณ์ดังกล่าวและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม ที่ประชุมมีความเห็นและข้อเสนอต่อสถานการณ์ดังกล่าว ดังนี้
           
1. เรา เห็นว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมการเมืองไทย ณ ขณะนี้เป็นปัญหาที่มาจากโครงสร้างทางการเมือง ซึ่งเปิดโอกาสให้นักการเมืองและพวกพ้อง เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ของตนเอง โดยละเลยผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน โดยการใช้อำนาจรัฐบิดเบือนกระบวนการตรวจสอบของกระบวนการยุติธรรมและองค์กร อิสระ ทำลายระบบการถ่วงดุลของระบบรัฐสภา กีดกันกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และทำลายการพึ่งตนเองของประชาชนในทุกระดับ ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งความคิดทางการเมือง นำไปสู่ความขัดแย้งของคนประเทศในประเทศอย่างกว้างขวาง รวมทั้งการยุยงบิดเบือนใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือทางการเมือง อย่างไร้หลักจริยธรรมคุณธรรม
           
2. เราเห็นว่า ข้อเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองเพื่อความปรองดองสมานฉันท์และแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 บน เหตุผลของความสงบสมานฉันท์นั้น ไม่อาจจะแก้ปัญหาใดๆได้ เพราะเป็นกระบวนการที่ยังคงไม่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมากเพียงพอ ที่จะมีพื้นที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน ที่ต้องการการปฏิรูปสังคมการเมืองใหม่ สร้างการเมืองที่โปร่งใส และสร้างกติกาใหม่เพื่อฟื้นฟูปรับปรุงโครงสร้างประเทศ และเป็นไปได้ในท้ายที่สุดว่า แท้จริงแล้วกระบวนการนี้จะดำเนินการไปเพื่อปิดบังคนผิด หวังนิรโทษกรรมทางการเมือง ต้องการกำหนดกติการักษาประโยชน์ให้กลุ่มนักการเมือง โดยไม่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน และผลประโยชน์ของประเทศชาติ เช่นเดิม
           
3. ตลอดการพัฒนาประเทศและประชาธิปไตยกว่า 77 ปี ที่ผ่านมา การเมืองภาคประชาชน คือส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ประชาธิปไตยเกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลง, สร้างการเมืองที่ปกป้องประโยชน์ของประเทศชาติประชาชน, สร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารพัฒนาประเทศ, ต่อต้านระบบเผด็จการและการเมืองที่ทุจริตคอรัปชั่น, คัดค้านโครงการรัฐที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน, การปฏิรูปสังคมการเมืองในครั้งนี้ ต้องหนุนเสริมความเข้มแข็งให้กับกลุ่มองค์กรชาวบ้าน เกษตรกรรายย่อย กรรมกรแรงงาน ชนเผ่า คนยากจน ผู้ไร้โอกาส ให้ประชาชนสามารถพึงตนเองได้อย่างเป็นสุขยั่งยืนและมั่นคง สร้างอำนาจการมีส่วนร่วมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติดิน น้ำ ป่า การปกป้องสิทธิชุมชน สร้างสิทธิเสรีภาพและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกเผ่าพันธุ์ ดังนั้น ในสถานการณ์วิกฤตทางสังคมการเมืองซึ่งเกิดการช่วงชิงอำนาจของกลุ่มต่างๆ มีความพยายามสร้างความรุนแรงโดยใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือเพื่อรักษาอำนาจของ ตนอยู่ ณ ขณะนี้ ภาคประชาสังคมอันประกอบด้วยตัวแทนทุกภาคส่วนที่มาประชุมร่วมกันในวันนี้ ได้ระดมความเห็นข้อเสนอต่อการปฏิรูปสังคมการเมืองใหม่ เพื่อแก้ไขวิกฤตปัญหาของประเทศโดยได้ข้อสรุปดังนี้
           
3.1 การปฏิรูปสังคมการเมือง ต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มพื้นที่การจัดการตนเองของภาคประชาชน ได้แก่ การจัดการทรัพยากรโดยชุมชน, การจัดการเศรษฐกิจพึ่งตนเอง, การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการ, การปฏิรูประบบการศึกษาและการเพิ่มศักยภาพให้ชุมชนจัดการตนเอง บนพื้นฐานของหลักการที่สำคัญ 3 ประการได้แก่ ความเท่าเทียมและเป็นธรรม, เคารพความหลากหลายของคุณค่าด้านจิตวิญญาณ ความเชื่อและศาสนา และมีความเป็นอิสระและพึ่งตนเองได้ และพื้นที่การปรับแก้โครงสร้างทางอำนาจในกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อพัฒนากรอบกติกาที่จะสนับสนุนและปกป้องการจัดการตนเองของภาคประชาชน อาทิเช่น การปรับแก้ ม.190 ของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน จะมีส่วนสำคัญในการทำลายการพึ่งพาตนเองด้านการจัดการทรัพยากรและภาคเกษตรกรรม, การปรับปรุง ม.57 หรือ 67 เพื่อรองรับกระบวนการกระจายอำนาจจัดการทรัพยากรโดยชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม
 
3.2 การ ปฏิรูปการสื่อสารการนำเสนอข่าวสารข้อมูลข้อเท็จจริงให้กับสาธารณชนที่ถูก ต้อง ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง บนฐานของการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม เพราะความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงที่ผ่านมา “สื่อ” มีส่วนสำคัญที่จะชี้ถูกชี้ผิดหรือครอบงำของคิดของประชาชนในประเทศให้เป็นตามประโยชน์ของกลุ่มต่างๆ
           
3.3 ต้อง เร่งจัดการทรัพยากรให้เกิดความเป็นกับประชาชนทั่วประเทศ สร้างศักยภาพให้กับชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้อย่างแท้จริง สร้างระบบเศรษฐกิจที่ยืนอยู่บนฐานการพึ่งตนเอง เพื่อปกป้องการผูกขาดจากกลุ่มและนักการเมือง เร่งปฏิรูปการจัดการทรัพยากรดินน้ำป่า ให้ชุมชนมีอำนาจในการดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ตามบทบัญญัติของชุมชนท้องถิ่น และบัญญัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญโดยเร่งด่วน ขณะเดียวกันภาคประชาชน ก็ต้องได้รับการสนับสนุนให้สามารถปฏิรูปวิถีการผลิตภาคการเกษตรใหม่ที่เคารพ ในระบบสิ่งแวดล้อมและไม่ทำลายผู้บริโภค รวมทั้งส่งเสริมการรวมกลุ่มสร้างอำนาจในการต่อรองกำหนดราคาพืชผลการผลิตที่ เป็นธรรม
           
3.4 ต้อง สร้างระบบรัฐสวัสดิการที่เอื้อประโยชน์กับประชาชนทั้งประเทศ ทุกเพศและทุกวัย โดยปราศจากการครอบงำและการอุปถัมภ์ของจากการเมือง ด้วยการผลักดันให้เกิดระบบการจัดเก็บภาษีที่เป็นธรรม ตรวจสอบการบริหารประเทศให้โปร่งใส กำจัดการคอรัปชั่นโกงกิน เพื่อนำเงินภาษีของประเทศมาสร้างระบบรัฐสวัสดิการของประชาชนที่เป็นจริง ไม่ใช่เศษเงินของนักการเมืองที่หวังประโยชน์แอบแฝง
 
            ท้าย ที่สุด เราเห็นการปฏิรูปสังคมการเมืองใหม่ จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมาจากพลังของประชาชนเองมิใช่ฝากความหวังไว้กับนักการ เมืองหรือกลุ่มผลประโยชน์ ดังนั้นภาคประชาสังคม จึงเห็นควรให้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามสถานการณ์ประเทศอย่างใกล้ชิด นำเสนอข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณชนและกำหนดเคลื่อนไหวรณรงค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างประชาธิปไตยที่ประชาชนมีอำนาจสูงสุดในการกำหนดชะตากรรมของประเทศ ชี้ถูกชี้ผิดอย่างมีเหตุผล ฟื้นฟูและปรับปรุงกลไกให้ประเทศรอดพ้นวิกฤตโดยเร็ว
 
ด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ
8 พฤษภาคม 2552
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท