“คดี ม.112-โรฮิงญา-นมโรงเรียน-โกงข้าว” มีมติ กคพ.รับเป็น “คดีพิเศษ”

เมื่อ 20 ..52 เวลา 09.30 น. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ครั้งที่ 4/2552 ณ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ชั้น 2 อาคารสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมีหน่วยงานจากกระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม อาทิ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีฯยุติธรรม, นายวิชัย ศรีขวัญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย, พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รอง ผบ.ตร., พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดี ดีเอสไอ

 

สรุปผลการประชุม ที่ประชุมรับทราบการติดตามผลการดำเนินคดีพิเศษ ซึ่งมีผลการดำเนินคดีพิเศษจนถึงวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา ดังนี้ 1.คดีพิเศษที่รับดำเนินการ รวมจำนวน 517 คดี 2.คดีพิเศษที่ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 373 คดี และ 3.คดีพิเศษที่อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 144

 

นอกจาก นี้ กคพ.ได้ประชุมพิจารณาและมีมติเห็นชอบให้รับคดีความผิดทางอาญาไว้เป็นคดี พิเศษที่จะต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 อีก 8 เรื่อง ดังนี้

 

เรื่องที่ 1 เรื่องการกระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งกระทำเป็นเครือข่ายขบวนการ เป็นภัยต่อความมั่นคงจึงรับเป็นคดีพิเศษ

 

เรื่องที่ 2 เรื่อง คดีความผิดเกี่ยวกับการปลอมและใช้เอกสารสัญญาการค้าข้าวระหว่างประเทศปลอม เพื่อฉ้อโกงสถาบันการเงินในการขอวงเงินสินเชื่อเพื่อการส่งออก กล่าวคือ ธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งได้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดี กับบริษัทเอกชน รายหนึ่ง (ขอปิดนาม) ซึ่งเคยประมูลข้าวจากรัฐบาล ในข้อหาฉ้อโกง ต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษได้สืบพบว่าบริษัทดังกล่าวมีพฤติกรรมนำสัญญาค้าข้าว ระหว่างประเทศ ที่บริษัทของตนทำกับคู่ค้าต่างประเทศ มาทำปลอมโดยเพิ่มจำนวน และนำไปยื่นขอสินเชื่อเพื่อกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์ประมาณ 9 แห่ง มูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท จึงรับเป็นคดีพิเศษ

 

เรื่องที่ 3 เรื่องกลุ่มนายการิม (ปกปิดนามสกุล) กับพวก เป็นนายหน้าหรือตัวกลางร่วมกันจัดทำบัตรบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนโดยมิชอบ ด้วยกฎหมายให้กับชนเผ่าโรฮิงยาและคนต่างด้าวอื่น ในเขตพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวคือ สืบเนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษมีการดำเนินการกับขบวนการค้ามนุษย์ กลุ่ม โรฮิงยา อย่างต่อเนื่อง พบว่ามีขบวนการจัดทำบัตรบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน ให้กับชาวโรฮิงยา ที่มีคุณสมบัติไม่ครบตามเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด ในพื้นที่อำเภอ ทับสะแก อำเภอบางสะพาน และอำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในปี พ.ศ.2550 ถึงปัจจุบัน กว่า 7,000 ราย โดยคิดค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการจัดทำประมาณ 20,000 บาทต่อคน ทำให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวได้รับสิทธิและสถานะตามกฎหมายไทยโดยไม่มีสิทธิ อันเป็นเรื่องที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศและมีลักษณะเป็นขบวนการ จึงรับเป็นคดีพิเศษ

 

เรื่องที่ 4 เรื่องการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐของสำนักงาน ชลประทาน จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวคือกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับการร้องขอจากผู้มีส่วนได้เสียว่ามีการ ทุจริตในการเสนอราคาเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ก่อสร้าง ของสำนักงานชลประทาน จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 4 รายการ วงเงินประมาณ 44 ล้านบาท จึงจัดบุคคลไปแฝงตัวเข้าร่วมเสนอราคาฯ และพบว่ามีกลุ่มผู้กระทำผิดได้กีดกันในการเสนอราคาฯ โดยส่งคนมาประกบผู้แฝงตัวที่ไปยื่นเสนอราคาโดยเสนอค่าตอบแทนให้จำนวน 45,000 บาท ให้กับผู้แฝงตัว และให้กับผู้เสนอราคารายอื่นอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อแลกกับการไม่ยื่นเอกสารเสนอราคา โดยมีการกระทำบนสถานที่ราชการ และกระทำความผิดเป็นขบวนการ จึงรับเป็นคดีพิเศษ

 

เรื่องที่ 5 เรื่องการทุจริตนมโรงเรียนตามโครงการจัดซื้ออาหารเสริม (นม) โรงเรียน กล่าวคือ สืบเนื่องจากมีการเปิดเผยจากผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งในอำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร ว่าน่าจะมีการทุจริตในการจัดหานมสำหรับนักเรียน ตามโครงการจัดซื้ออาหารเสริม (นม) โรงเรียน ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะให้เด็กในวัยเรียนได้รับสารอาหารที่สมบูรณ์ และกระทรวงยุติธรรมได้มอบหมาย สำนักงาน ป.ป.ท. ตรวจสอบ และมีการประสานการปฏิบัติกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ

 

ทางการ สืบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษได้เข้าตรวจสอบกรณีการทุจริตเกี่ยวกับการจัดหาฯพบ หลักฐานว่ามีการสมยอมกันในการเสนอราคา สำหรับการจัดหานมฯ ในพื้นที่ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร รวมทั้งอาจมีการกระทำความผิดในเรื่องการปลอมปนอาหาร (นม) และการขายนมที่ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด อันอาจเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 และเป็นเรื่องที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ประกอบกับมีพฤติการณ์กระทำความผิดเป็นเครือข่าย เป็นขบวนการเชื่อมโยงกัน ซึ่งทั้งประเทศมีผู้ประกอบการที่มีสิทธิเสนอราคากว่า 76 ราย และมีโรงเรียนหลายพันโรงที่มีอยู่ในเงื่อนไขรับอาหารเสริมนมตามโครงการดังกล่าว จึงรับเป็นคดีพิเศษ

 

เรื่องที่ 6 เรื่องการทุจริตในการดำเนินโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลังของรัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ ปี พ.ศ.2551/52 กล่าวคือ สืบเนื่องจากคณะกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร มีหนังสือส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาสอบสวนการใช้งบประมาณใน โครงการพยุงราคาสินค้า ตามโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ปี 2551/52 ที่อาจมีความไม่ชอบด้วยระเบียบ กฎหมาย

 

กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ตรวจพบว่ากระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ดำเนินโครงการดังกล่าว ทั้งนี้ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551 และเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 ที่กำหนดให้มีการแทรกแซงตลาดมัน โดยการรับจำนำมันสำปะหลังสด จำนวน 10 ล้านตัน โดยมีวงเงินรับจำนำรวมทั้งสิ้น 19,625 ล้านบาท ใน 44 จังหวัด จากการตรวจสอบพบว่าผู้ประกอบการลานมันสำปะหลังที่เข้าร่วมโครงการฯ จะเป็นผู้รับฝากจำนำมันสำปะหลังและออกใบประทวนรับรองให้เกษตรกรนำไปรับเงิน จากทางราชการ ในขบวนการดังกล่าวพบการทุจริตโดยมีหลักฐานอันเชื่อได้ว่าผู้ประกอบการลานมัน สำปะหลัง มีการใช้กลอุบายกับเกษตรกรในการรับฝากเป็นมันสำปะหลังเส้นแทนมันสำปะหลังสด รวมทั้งมีการจัดทำใบประทวนรับฝากมันสำปะหลังเกินกว่าจำนวนมันที่ประชาชนนำมา ฝากจริง และ ให้ประชาชนนำไปเบิกเงินจากรัฐ โดยประชาชนจะได้รับเงินตามยอดที่จำนำจริง ส่วนต่างที่เกิดขึ้นเป็นของลานมันสำปะหลัง และอาจมีการนำมันสำปะหลังสดนอกโควตามาสวมสิทธิเข้าโครงการแทนโควตาที่เป็น ส่วนต่าง บางจังหวัด เช่น จังหวัดอุบลราชธานี, จังหวัดลพบุรี เกษตรกรได้รับเงินเฉลี่ยประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 80 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นของกลุ่มผลประโยชน์ เช่นเกษตรกรจะได้รับเงินช่วยเหลือตามโครงการประมาณรายละ 350,000 บาท แต่ได้รับเงินจริงเพียง 50,000 60,000 บาท ทำให้รัฐและประชาชนเสียหาย เป็นเรื่องที่กระทบต่อเศรษฐกิจและการคลังของประเทศ จึงรับเป็นคดีพิเศษ

 

เรื่องที่ 7 เรื่องกรมสรรพากรร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีอาญากับบริษัทโรยัล คาร์โก เอ็กซ์เพรส จำกัด กรณีมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรเพื่อการจัดเก็บเป็นรายได้ของรัฐ อันเป็นความผิดตามมาตรา 37 และมาตรา 90/4 (6) แห่งประมวลรัษฎากร กล่าวคือ กรมสรรพากร ได้ตรวจสอบและประเมินการเสียภาษีอากรบริษัทโรยัล คาร์โก เอ็กซ์เพรส จำกัด ในห้วงปี พ.ศ.2544 2545 พบว่ามีพฤติการณ์หลีกเลี่ยงภาษี จำนวนรวม 289 ล้านบาทเศษ และส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการ

 

กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นเรื่องกฎหมายการสอบสวนคดีพิเศษ กำหนดให้เป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แต่เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีการกระทำผิดก่อนที่พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 จึงเสนอคณะกรรมการคดีพิเศษ มีมติตามมาตรา 44 ให้เรื่องนี้เป็นคดีพิเศษ

 

เรื่องที่ 8 เรื่องการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ที่อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวคือ กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับการร้องเรียนจากประชาชนตำบลไก่คำ อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ ว่าระหว่าง ปี พ.ศ.2543 ถึง 2552 คณะกรรมการกลุ่มออมเงินสัจจะ ฉ้อโกงเงินจากสมาชิก โดยมีการเปิดรับออมเงิน ให้ผลตอบแทนร้อยละ 24 ต่อปี อันเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินพึงจ่ายได้ ภายหลังไม่สามารถจ่ายเงินได้และปิดดำเนินการ มีประชาชนเสียหายหลายร้อยราย มูลค่าเสียหายเบื้องต้น กว่าสองล้านหกแสนบาท

 

กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นเรื่องกฎหมายการสอบสวนคดีพิเศษ กำหนดให้เป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แต่เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีการกระทำผิดก่อนที่พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 จึงเสนอคณะกรรมการคดีพิเศษ มีมติตามมาตรา 44 ให้เรื่องนี้เป็นคดีพิเศษ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท