กก.สมานฉันท์คลอด 6 ยุทธศาสตร์ดึงสื่อร่วมสร้างพื้นที่สมานฉันท์

ที่ รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไข รัฐธรรมนูญ มีนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี ประธานคณะกรรมการฯ เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการสร้างความสมานฉันท์ทางการเมืองของ สังคมไทย โดยเป็นการพิจารณาข้อเสนอระยะเร่งด่วนที่เหลืออีก 5 ข้อ หลังจากที่ประชุมมีมติแล้ว 2 ข้อ คือ 1.ให้ทุกฝ่ายลดวิวาทะ ลดทิฐิ ลดอคติ และการตอบโต้ใส่ร้ายทางการเมือง ทั้งนักการเมืองและองค์กรทางสังคม 2.รัฐบาลและฝ่ายค้าน ควรลดเงื่อนไขเดิมที่มีอยู่และไม่สร้างเงื่อนไขใหม่ในความขัดแย้ง

 

ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมพิจารณาเรื่อง การให้สื่อมวลชนทุกแขนงเข้ามาเป็นเครือข่ายในการรณรงค์และสร้างความ สมานฉันท์ในชาติ เพิ่มพื้นที่ข่าวสร้างสรรค์ สื่อสารลดความขัดแย้ง โดยนายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา ประธานคณะอนุกรรมการสร้างความสมานฉันท์ฯ กล่าวว่า การสร้างความสมานฉันท์โดยสื่อสารมวลชนควรให้รัฐบาลเป็นคนกลางในการดำเนินการ โดยขอเสนอแนวทาง เวทีสมัชชาสมานฉันท์ทางอากาศด้วย การจัดรายการวิทยุเพื่อให้ข้อมูลข่าวสารให้สติ ทำให้สังคมเกิดปัญญา ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้เกิดความสมานฉันท์ ช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมทั้งการรับฟังและเสนอความคิดเห็นผ่านสื่อวิทยุ ขณะที่เวทีสมัชชาที่เป็นการเสวนารับฟังความคิดเห็น ควรให้ส.ส.และส.ว.เข้าไปมีส่วนร่วมในการรับฟังความคิดเห็น เพื่อรวบรวมความคิดเห็นจากประชาชนโดยตรง

 

นาย ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) กรรมการ กล่าวว่า สื่อสารมวลชนควรเพิ่มบทบาทในการลดพื้นที่ข่าวทำร้ายและทำลายประเทศ และเพิ่มพื้นที่ข่าวในการสร้างสันติสุขเพื่อการพัฒนาประเทศ และเห็นด้วยกับการสร้างสมัชชาสมานฉันท์ทางอากาศอย่างไรก็ตามนักการเมืองต้อง ปรับบทบาทของตัวเอง โดยเฉพาะนักการเมืองที่เข้าสู่การเมืองโดยมีเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์ ต้องตระหนักว่า นักการเมืองเหล่านี้จะถูกจับตามองโดยสื่อและประชาชน ทั้งนี้ตนยินดีทำหน้าที่ประสานกับสถานีวิทยุโทรทัศน์กรมประชาสัมพันธ์ ในการถ่ายทอดสดจากเวทีสมานฉันท์

 

นาย สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา กล่าวว่า จากข้อเสนอลดวิวาทะทางการเมือง สื่อสารมวลชนควรมีการเพิ่มพื้นที่ข่าวที่สร้างความสมานฉันท์ โดยให้สื่อมวลชนทุกแขนงเข้าร่วมและไม่ควรจำกัดบทบาทเฉพาะสื่อมวลชนภาครัฐ เท่านั้น โดยการขอความร่วมมือจากสื่อสารมวลชนให้ครอบคลุมทั้งสื่อสารมวลชนที่เป็น ทางการและไม่เป็นทางการ อาทิ วิทยุชุมชน ซึ่งเข้าถึงประชาชนจำนวนมาก

 

นาย คณิน บุญสุวรรณ กรรมการจากสัดส่วนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐบาลไม่ควรเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ แต่สื่อควรเป็นเจ้าภาพในการเปิดเวทีสมานฉันท์เอง เพราะสื่อมีบทบาทสำคัญในการสร้างความสมานฉันท์ แต่หากที่ประชุมเห็นว่า ทั้งรัฐบาลและสื่อไม่ควรเป็นเจ้าภาพ คนที่ควรเข้ามาเป็นเจ้าภาพที่เหมาะสมที่สุดคงเหลือแต่รัฐสภา

 

นาย ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนาพานิช รองศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรรมการจากสัดส่วนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน ผู้รายงานข่าว รายงานเกินไปกว่าข่าว บางครั้งมีความเห็น ถ้อยคำที่ไม่สร้างความสมานฉันท์จึง สื่อต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะการพาดหัวข่าวที่เร้าอารมณ์คนอ่าน อาจสร้างความรู้สึกเครียดให้ผู้อ่าน นอกจากนี้ความเห็นของคอลัมนิสต์ การนำเสนอและการใช้ภาษาแรง ท่ามกลางการต่อสู้แบ่งขั้ว จึงอยากให้ลดโทนลงมา

 

นอกจาก นี้ เขายังเสนอให้มีเวทีกลางที่ให้คู่ขัดแย้งได้มาอภิปรายแสดงความคิดเห็น แทนที่แต่ละฝ่ายจะไปตั้งเวทีกันเอง ส่วนแนวทางการมีสมัชชาสมานฉันท์ทางอากาศควรพิจารณาด้วยว่าจะเป็นต้องมีการก ลั่นกรองการเสนอความคิดเห็นผ่านสื่อโทรทัศน์วิทยุหรือไม่ อาทิ การส่งข้อความสั้น แสดงความเห็นทางการเมืองที่ปรากฏบนหน้าจอโทรทัศน์ที่อาจจะมีการส่งข้อความ รุนแรงและข้อความที่แสดงความขัดแย้งกันของผู้สนับสนุนแต่ละฝ่าย

 

ด้าน นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช ที่ปรึกษาคณะกรรมการ กล่าวว่า ความแตกแยกมันร้าวลึกเพราะการเลือกตั้ง 23 ธ.ค.มีการทุ่มให้บางพรรคเพื่อกันพรรคเดียว โจมตีอย่างหนักว่าพรรคนี้ไม่ดี แต่สุดท้าย คนก็เลือกพรรคนั้นเกือบครึ่งหนึ่งของสภา จากนั้นก็มีมือที่สามเข้ามาเล่นงานพรรคนี้ทุกวิถีทางจนไม่สามารถบริหารได้จน เปลี่ยนนายกฯไป 2 คน ตอนนี้นักการเมืองต้องหันหน้าเข้าหากัน แล้วลงไปหาประชาชน ไม่ใช่จะเอาสื่อมาช่วย ต้องมาดูความจริงว่า ได้เสียงข้างมากแล้วปล้นเอาไปโดยไม่ชอบธรรม จะเคลียร์ตรงนี้อย่างไร

 

 ผม อายุขนาดนี้ไม่ต้องการอะไรแล้ว ต้องการเอาบ้านเมืองให้ลูกหลาน ขอให้ลองดู ไม่กี่คนคุยกันแล้วจับมือกัน ไม่ต้องพูดถึงคนอื่นที่ไหนมาช่วย เลือกตั้งมาแล้วทำกับข้าว ก็โดนปลด นายกฯคนถัดมาก็โดนยึดทำเนียบรัฐบาล เขาก็แค้น จากนั้นก็มีฝ่ายหนึ่งทรยศต่อพรรคไปเข้าอีกฝ่ายหนึ่ง ผมยืนยันว่า ถ้าไม่จับมือกัน ใครก็แก้ไม่ได้นายเสนาะ กล่าว และเดินออกจากห้องประชุม โดยกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า มีนัดทานอาหารกลางวัน

 

ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากอภิปรายนาน 1 ชั่วโมงครึ่ง นายดิเรก สรุปว่า ข้อ 3 ให้สื่อมวลชนทุกแขนงเข้ามาเป็นเครือข่ายสร้างพื้นที่สมานฉันท์ และ มีเวทีสมัชชาสมานฉันท์ทางอากาศ โดยรัฐสภาเป็นเจ้าภาพประสานงานกับสื่อในการดำเนินงาน

 

จาก นั้นเป็นการพิจารณาข้อ 4 กระบวนการเจรจาสร้างสันติสุขกับคู่ขัดแย้งทุกระดับ โดนนายไพจิตร ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย กรรมการ กล่าวว่า นึกภาพไม่ออกว่า จะเจรจาอย่างไรในทางลับ และใครจะเป็นเจ้าภาพ รัฐบาลก็เป็นคู่ขัดแย้งอยู่ และปกติการเจรจาก็ต่อเมื่อฆ่ากันตายสองฝ่าย ขณะนี้เป็นความขัดแย้งทางความคิด เถียงกันสามวันสามคืนก็ไม่จบ ใครจะเจรจา หรือจะให้มือที่มองไม่เห็นเจรจา ทำให้นายตวง ชี้แจงว่า ต้องจับคู่ขัดแย้งให้ตรงกับปัญหาก่อนแล้วค่อยออกแบบการเจรจา รัฐบาลเป็นเจ้าภาพเริ่มต้นกระบวนการเจรจาก็ได้ ทั้งนี้ อาจเริ่มจาก 2 พรรคที่มีความขัดแย้งมาจับมือกันก่อน ซึ่งต้องให้คู่ขัดแย้งเข้าใจกันก่อน จากนั้นนำไปสู่การออกแบบเจรจาเพื่อสมานฉันท์

 

พล.อ.เลิศ รัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา กรรมการ กล่าวว่า เจรจาทางลับยาก ยิ่งสื่อมีอิสระมาก ขนาดไม่ได้มีการเจรจาอะไรยังหาว่า มีการเจรจาเรื่องสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญและกับวาระ ส.ว.สรรหา ตนคิดว่า ความขัดแย้งช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา เป็นเรื่อง การต้องการเข้าสู่อำนาจและการไม่ต้องการให้อีกคนเข้าสู่อำนาจ ขอชื่นชมนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ที่ประกาศว่า ช่วยไปสร้างความสมานฉันท์ แก้รัฐธรรมนูญ แล้วค่อยเลือกตั้ง ตนคิดว่า เลือกตั้งอีกประมาณ 2 ครั้ง คงเขย่าให้เข้ากันได้ เพราะทุกคนรู้ปัญหาดี แต่ก็ไม่พูดเพราะกลัวเป็นจำเลยสังคม ดังนั้นอะไรไม่เป็นธรรมก็ต้องแก้ไขให้เขา และไม่มีใครจะได้หรือจะเสียทุกอย่าง

 

นาย สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย กรรมการ กล่าวว่า หากแก้เรื่องความไม่เป็นธรรมในสังคมได้ ทุกอย่างจบ ความไม่เป็นธรรมประกอบด้วย 2 ส่วนคือ คน และกติกา หรือ รัฐธรรมนูญ จึงต้องแก้ตรงนี้ โดยคนต้องละวางผลประโยชน์ แต่แก้ตรงนี้ก็ลำบาก อีกทางเลือกหนึ่งคือแก้กติกา เพื่อเปิดช่องให้จัดการคนที่เห็นแต่ผลประโยชน์ สร้างความขัดแย้ง ฉะนั้น รัฐธรรมนูญที่มาจากการปฏิวัติ ได้สร้างเครือข่าย มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ คือต้นเหตุ จึงต้องแก้บางมาตราที่เป็นความขัดแย้ง แล้วเลือกตั้งให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ เมื่อมีรัฐบาลใหม่ก็ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ อย่าให้รัฐธรรมนูญที่ไม่บริสุทธิ์เป็นเครื่องมือทำลายเจตนารมณ์ของประชาชน

 

นาย สันติ พร้อมพัฒน์ กรรมการจากสัดส่วนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับนายกฯ ที่บอกว่าการยุบสภาเพี่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันนี้เป็นการซ้ำเติมปัญหา ดังนั้นตนเห็นด้วยกับการปฏิรูปการเมือง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันนี้สิ่งสำคัญคือการสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นก่อน เพราะวันนี้มีปัญหาคือ มีผู้กระทำให้เกิดปัญหา และผู้ถูกกระทำ มีผู้เสียหายและผู้ได้รับประโยชน์ หากไม่มีการเยียวยาหรือคืนความเป็นธรรมหรือให้ความเป็นธรรมกับบุคคลเหล่านี้ จะไม่สามารถนำไปสู่การสร้างความสมานฉันท์ได้ เมื่อเราคืนความเป็นธรรมให้ แล้วมีการร่างกติกาเพื่อไปแข่งกันกันใหม่ ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจในการเลือกตั้งเอง

 

หลัง จากการหารือนานกว่า 1 ชั่วโมง นายดิเรก กล่าวสรุปว่า ยุทธศาสตร์ข้อ 4 คือ การให้รัฐสภาเป็นเจ้าภาพจัดให้มีกระบวนการเจรจาระหว่างผู้ขัดแย้งทั้งการ เปิดเผยบนโต๊ะเจรจาและการประสานงานอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งมีผลที่คาดว่าจะได้รับ 3 ประการ คือ นำความสันติสุขมาสู่สังคม ยุติความขัดแย้งในสังคม และนำไปสู่การเยียวยา

 

ต่อ มาในช่วงบ่าย ที่ประชุมได้หารือ ข้อ 5 การตั้งสมัชชาสมานฉันท์เพื่อระดมความเห็นจากประชาชนทั้ง 4 ภาค โดยรัฐสภาเป็นเจ้าภาพ ที่ประชุมมีการอภิปรายเล็กน้อย อาทิ นายประยุทธ์ ศิริพานิช กรรมการสัดส่วนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การให้หน่วยงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มาเป็นภาคเครือข่ายสมานฉันท์ เกรงว่า จะทำงานไม่เป็นกลาง เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยใช้กลไกกำนัน ผู้ใหญ่บ้านมาแบ่งพวก ดังนั้นหากจะให้สมานฉันท์จริง รัฐบาลต้องหยุดดำเนินการในสิ่งนี้ ไม่ใช้สองมาตรฐานในการแก้ปัญหา

 

ขณะ ที่ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ควรมีสภาพัฒนาการเมือง อยู่ในภาคเครือข่ายของสมัชชาสมานฉันท์ และไม่จำเป็นต้องกำหนดกรอบทำงานเพียงแค่ 45 วันจบ แต่ควรทำงานต่อเนื่อง ลงพื้นที่ อธิบายให้เห็นโร้ดแม็ปเพื่อให้ประชาชนมีความหวัง ซึ่งที่ประชุมสรุปว่า การจัดสมัชชาสมานฉันท์ส่วนภูมิภาค ให้รัฐสภาเป็นเจ้าภาพ โดยมีภาคีเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานในท้องถิ่น ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล โดยความร่วมมือของกระทรวงมหาดไทย สถาบันการศึกษา องค์กรเอกชน และสภาพัฒนาการเมือง

 

จาก นั้นเป็นการอภิปรายข้อ 6 การสร้างรัฐธรรมนูญสมานฉันท์ โดยมีการศึกษาผลกระทบจากการบังคับใช้ และผลของการบังคับใช้ ต้องให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน โดยมีรัฐสภา คือ รัฐบาล ฝ่ายค้าน ส.ส.และ ส.ว. รวมไปถึงองค์กรประชาชนทุกภาคส่วนร่วมกันคิด นำไปสู่การเลือกตั้งที่สันติ ซึ่งกรรมการจากพรรคเพื่อไทยหลายคน เห็นว่า ควรให้ใช้ชื่อยุทธศาสตร์ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยและเพิ่มความเป็นธรรม

 

ส่วน พล.อ.เลิศรัตน์ เสนอให้ใช้คำว่าสร้างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่นายวุฒิสาร ตันไชย เลขานุการคณะกรรมการ คัดค้านว่าการเขียนเช่นนี้จะกลายเป็นการกล่าวหาว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ ไม่เป็นประชาธิปไตย จะทำให้เกิดคำถามได้ ดังนั้นขอเสนอให้ใช้คำว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ที่ประชุมเห็นชอบว่า ให้ใช้ชื่อยุทธศาสตร์ที่ 6 ว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับสมานฉันท์ ซึ่งแบ่งเป็นสองระยะคือ การแก้ไขระยะสั้นในประเด็นที่มีปัญหา ซึ่งมีไม่กี่มาตรา และระยะยาวที่จะปรับปรุงใหญ่ ส่วน ข้อ 7 เรื่องการสร้างกระแสสังคมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ตัดไป เนื่องจากที่ประชุมเห็นว่า การทำงานไม่ควรขึ้นกับกระแสสังคมส่วนใดส่วนหนึ่ง

 

นอกจาก นี้ ที่ประชุมมีมติให้ตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ขึ้นมาอย่างถาวรเพื่อทำงานอย่าง ต่อเนื่อง และนัดประชุมเพื่อพิจารณายุทธศาสตร์การปฏิรูปการเมือง วันที่ 2-4 มิ.ย. อนึ่ง หลังจากคณะกรรมการฯได้พิจารณายุทธศาสตร์การสร้างสมานฉันท์ เมื่อวันที่ 26-27 พ.ค. ได้ข้อสรุป 6 ยุทธศาสตร์ 1.ให้ทุกฝ่ายลดวิวาทะ ลดทิฐิ ลดอคติ และการตอบโต้ใส่ร้ายทางการเมือง ทั้งนักการเมืองและองค์กรทางสังคม 2.รัฐบาลและฝ่ายค้าน ควรลดเงื่อนไขเดิมที่มีอยู่และไม่สร้างเงื่อนไขใหม่ในความขัดแย้ง

 

3.ให้ สื่อมวลชนทุกแขนงเข้ามาเป็นเครือข่ายสร้างพื้นที่สมานฉันท์ และ มีเวทีสมัชชาสมานฉันท์ทางอากาศ โดยรัฐสภาเป็นเจ้าภาพประสานงานกับสื่อในการดำเนินงาน 4.การให้รัฐสภาเป็นเจ้าภาพจัดให้มีกระบวนการเจรจาระหว่างผู้ขัดแย้งทั้งการ เปิดเผยบนโต๊ะเจรจาและการประสานงานอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งมีผลที่คาดว่าจะได้รับ 3 ประการ คือ นำความสันติสุขมาสู่สังคม ยุติความขัดแย้งในสังคม และนำไปสู่การเยียวยา 5.การตั้งสมัชชาสมานฉันท์เพื่อระดมความเห็นจากประชาชนทั้ง 4 ภาค โดยรัฐสภาเป็นเจ้าภาพ 6.การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับสมานฉันท์ ซึ่งแบ่งเป็นสองระยะคือ การแก้ไขระยะสั้นในประเด็นที่มีปัญหา ซึ่งมีไม่กี่มาตรา และระยะยาวที่จะปรับปรุงใหญ่

 

ที่มา: เว็บไซต์คมชัดลึก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท