Skip to main content
sharethis

 

 

 

  

เวียงแหง เป็นอำเภอเล็กๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่อยู่ติดกับชายแดนไทย-พม่า ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 134 กิโลเมตร เดิมทีเป็นเพียงตำบลหนึ่งในอำเภอเชียงดาว ต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอเวียงแหงเมื่อปี พ.ศ.2524 และได้ยกเป็นอำเภอเวียงแหงเมื่อปี พ.ศ.2536

 

การเดินทางโดยใช้ถนหมายเลข 107 จากเชียงใหม่-.แม่ริม- .แม่แตง - .เชียงดาว แล้วแยกไปตามถนนหมายเลข 1178 ไปบ้านเมืองงาย ก่อนถึงทางแยกแม่จา- .เวียงแหง ถนนหมายเลข 1322 ระยะ 58 กิโลเมตร เป็นเส้นทางลาดยาง มีความคดเคี้ยวและลาดชันสูง

 

ในข้อมูลพื้นฐาน ระบุไว้ว่า อำเภอเวียงแหงมีพื้นที่ทั้งหมด 705 ตารางกิโลเมตร โดยประมาณ 92 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ทั้งหมดเป็นภูเขาและผืนป่า เขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตอุทยานแห่งชาติ ขณะที่มีพื้นที่อยู่อาศัย 52 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 32,500 ไร่

 

เวียงแหง อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล โดยเฉลี่ย 750 เมตร โดยยอดเขาที่สูงที่สุดคือดอยปักกะลา มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 1,905 เมตร บนความสูงระดับนี้ จึงทำให้เวียงแหงนั้นมีสภาพภูมิอากาศดี มีทิวทัศน์งดงามตลอดเส้นทาง โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว เราจะพบทะเลหมอก กับสภาพป่าอันสมบูรณ์หลากหลาย มองเห็นดอกบัวตองและดอกนางพญาเสือโคร่งหรือซากุระเมืองไทยบานอยู่รายรอบสอง ข้างทาง

 

สมกับที่คำขวัญของอำเภอว่าไว้... พระธาตุแสนไหเป็นศรี ประเพณีหลายเผ่า ชมทิวเขาสุดสยาม งามล้ำค่าฟ้าเวียงแหง

 

และ แน่นอนว่า เราจึงมองเห็นความงามอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของอำเภอเวียงแหง นั่นคือ เป็นอำเภอที่มีชุมชนชนเผ่าหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีทั้งคนพื้นเมือง ลาหู่ ลีซู ไทใหญ่ จีนคณะชาติ ดาระอั้ง และปวาเก่อญอ ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่กระจัดกระจายไปตามไหล่เขาและหุบเขา

 

แม่แพม เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่มีจุดเด่นสำคัญที่น่าศึกษาเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง จนหลายคนกล่าวขานกันว่า วิถีของผู้คนที่นี่สามารถอยู่ร่วมกับภูเขา ผืนดิน ผืนป่าและสายน้ำได้อย่างสอดคล้องและสัมพันธ์กัน

 

ย้อนรอยความเป็นมาของชุมชนแม่แพม

 

ถ้า นับดูอายุหมู่บ้านของเราตอนนี้ น่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 200 กว่าปี แต่ก่อนนั้นคนเฒ่าคนแก่จะมากับช้าง เป็นควานช้างเลยเห็นพื้นที่นี้ดี ก็ลงหลักปักฐานกันที่นี่สมศักดิ์ ตะวุ ผู้ใหญ่บ้านแม่แพมคนปัจจุบัน บอกกล่าวกับเรา

 

แม่แพม ตั้งอยู่ในหุบเขาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวอำเภอเวียงแหง เป็นชุมชนชนเผ่ากะเหรี่ยง หรือที่ชาวบ้านเรียกตัวเองว่า ปวาเก่อญอ เผ่าพันธุ์มนุษย์ที่รักความสงบ สันโดษ มีวิถีชีวิตที่อยู่ร่วมสอดคล้องและสัมพันธ์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมา อย่างแนบแน่นและยาวนาน

 

จาก คำบอกเล่าของผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน บอกว่า ชุมชนบ้านแม่แพม นั้นเริ่มต้นจากคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีอาชีพเป็นควานช้าง เป็นลูกจ้างชักลากไม้ให้กับผู้ที่ได้รับสัมปทานป่าผืนนี้ ต่อมา จึงชักชวนกันตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้ เมื่อประมาณปี พ.. 2428 โดยมี นายกะพอ ซึ่งเป็นผู้นำด้านพิธีกรรม(ฮีโข่) เป็นผู้นำชุมชนในสมัยนั้น

 

ครั้น เมื่อผู้นำชุมชนเสียชีวิตลง ตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวบ้าน จะมีการย้ายถิ่นฐานที่อยู่ใหม่ จึงพากันย้ายไปอยู่ในพื้นที่รอบๆ ชุมชนเดิมนั่นเอง ต่อมา ราวปี พ..2495 ชาวบ้านจึงเริ่มปักหลักปักฐานอยู่ในพื้นที่เป็นการถาวร โดยมี นายจอคา จะแคะโพ ผู้อาวุโส เป็นผู้นำชุมชนคนถัดมา

 

เย็นวันนั้น เรามีโอกาสไปเยี่ยมเยือนกระท่อมเก่าแก่ของพ่อเฒ่าจอแบ๊ะ พนาพิทักษ์พงศ์ วัย 114 ปี ซึ่งปัจจุบันยังเป็น ลือซีโข่ หรือเจ้าเมืองของชุมชนแม่แพม พ่อเฒ่าได้บอกเล่าให้เห็นภาพการตั้งถิ่นฐานครั้งแรกของหมู่บ้านแห่งนี้

 

ครอบครัว เฮาย้ายมาอยู่บ้านแม่แพมเป็นครอบครัวแรก และจากนั้นก็มีมาเพิ่มเป็น 5 ครอบครัว เมื่อก่อนที่จะมาอยู่แม่แพมนั้น เฮาย้ายมาจากบ้านออน ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว…”

 

  

 

พ่อเฒ่าจอแบ๊ะ พนาพิทักษ์พงศ์ วัย 114 ปี

ลือซีโข่ หรือเจ้าเมืองของชุมชนแม่แพม

  

 

พ่อเฒ่าจอแบ๊ะ บอกเล่าให้ฟังอีกว่า ตอนนั้นมีประชากรเพียง 29 คน 15 ครัวเรือน ต่อมา ได้มีชาวบ้านได้ย้ายครัวเรือนจากบ้านแม่แตะ ต.เมืองแหง อีก 3 ครัว เรือน ย้ายมาจากแดโลมะโอ (เป็นพื้นที่มีต้นส้มโออยู่หัวไร่ปลายนา ที่เรียกว่าชุมชนมะโอ) และเคลื่อนย้ายมาจากแดโลวัดร้าง ซึ่งเป็นชื่อชุมชนเก่า และย้ายมาจากบ้านเหล่าหลวง(พื้นที่ชุมชนลีซูในปัจจุบัน)นอกจากนั้น มีชาวบ้านย้ายจากที่อื่นมาสมทบอีก จึงทำให้จำนวนประชากรจึงเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

 

ก่อนหน้านั้น สถานะของชุมชนบ้านแม่แพม ยังถือว่าเป็นหมู่บ้านบริวารของหมู่บ้านเวียงแหง โดยมีการแต่งตั้งนายนะกา ริเชอร์ เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเวียงแหงประจำบ้านแม่แพม ดำรงตำแหน่งจนถึงปี พ..2529

 

ต่อมาในปี พ..2529 มีจำนวนประชากรเพิ่มเป็น 326 คน จำนวนครัวเรือน 79 ครอบครัว ชุมชนบ้านแม่แพม จึงได้ยกฐานะเป็นหมู่บ้านทางการ โดยได้มีการแยกตัวออกมาตั้งหมู่บ้านใหม่ มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านอย่างเป็นทางการคนแรก คือนายปู่หลู่เพ ชะแป โดยมีพ่อเฒ่าจอคา จะแคะโพ เป็นผู้นำอาวุโส (ฮีโข่) มาจนถึงปัจจุบัน

 

แม่แพมตกอยู่ในช่วงวิกฤติหนัก หลังสัมปทานป่า

 

เมื่อ วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2515 พื้นที่ป่าในแถบเวียงแหง-เชียงดาว ได้ถูกรัฐประกาศเป็นเขตป่าสัมปทานไม้สักให้กับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้(ออป.)อีก โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าบริเวณห้วยฮ้องจุ๊ ก็ถูกรัฐเข้าไปสัมปทานป่า ซึ่งมีการตัดโค่นล้มไม้สักขนาดใหญ่ออกจากป่า โดยส่วนใหญ่จะเป็นคนจากพื้นที่อื่นเข้ามารับจ้าง นอกจากนั้นยังมีหลายคนในหมู่บ้านก็ไปรับจ้างเป็นควาญช้าง ขี่ช้างชักลากท่อนซุงออกจากป่า มากองไว้บริเวณกลางทุ่งนา วันแล้ววันเล่า

 

แน่นอนว่า ผลจากการที่รัฐประกาศให้พื้นที่ป่าบริเวณนี้เป็นเขตสัมปทานไม้สักเช่นนี้ ย่อมทำให้ผืนป่าแห่งนี้ต้องถูกทำลายลงอย่างมหาศาล

 

กระทั่งได้เกิดปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วมตามมาเป็นระลอก

 

หลังจากนั้น ระหว่างปี พ.ศ. 2526 ชุมชนแม่แพมเริ่มประสบกับปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก ว่ากันว่า น้ำแม่แพม อันเป็นสายน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตของชาวบ้านที่นี่ต้องแห้งขอด ถึงขั้นต้องพากันไปขุดบ่อน้ำกลางห้วย เพื่อวักตักน้ำมาบริโภคบริโภคกันอย่างยากลำบาก

 

ครั้นพอถึงช่วงฤดูฝน ฤดูน้ำหลาก ก็เกิดฝนตกหนัก จนทำให้น้ำท่วมซ้ำซากเกือบทุกปี

 

อาจ จะเกิดขึ้นจากการล้มไม้ใหญ่ ทำให้เกิดความแห้งแล้งติดต่อกันมาหลายปี ดูได้จากพื้นที่ส่วนบริเวณต้นน้ำจริงๆ จะเห็นว่าพื้นที่ป่ากลายเป็นป่าคา... ผู้เฒ่าคนหนึ่งได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้

 

ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ได้ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องปกากะญอบ้านแม่แพมเป็นอย่างมาก

 

เมื่อ ก่อนนั้น พ่อแม่ของเรานั้นยากจนมาก ไม่มีข้าวกินซักเม็ด กินแต่กล้วยน้ำว้า เอามาต้มกิน เมื่อก่อนไม่มีข้าวก็เก็บเม็ดของไม้ไผ่มาแกะกินแทนข้าว... พ่ออุ๊ยจอแบ๊ะ บอกเล่าให้เห็นภาพวิถีชีวิตลำบากเมื่อครั้งอดีตให้เราฟัง

 

ชุมชนหันมาจัดการดูแลรักษาผืนป่า หลังมีการบุกรุกป่าเพิ่มขึ้น

 

นอกจาก ชาวบ้านจะถูกปัญหาภัยแล้งและปัญหาน้ำท่วมกระหน่ำแล้ว ต่อมา ป่าผืนนี้ยังคงถูกทำลายลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อคนเมือง คนต่างถิ่นได้เข้าไปบุกรุกถางป่าเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณห้วยแม่แพม ซึ่งชาวบ้านชี้ให้เห็นสภาพในพื้นที่ว่า กลุ่มคนจากข้างนอก จะใช้วิธีการเข้าไปถางป่าทีละแปลงๆ หลังจากนั้นจะขายให้กับนายทุน ก่อนจะเข้าไปบุกรุกถางป่าผืนใหม่ต่อไปเรื่อยๆ

 

คน มากขึ้น สังคมเริ่มเห็นแก่ตัว ก็มีการแผ้วถางเพิ่มมากขึ้น เป็นสวนเป็นไร่มากขึ้น ส่วนบริเวณห้วยผักห้า ก็ถูกแผ้วถางด้วยพี่น้องหมู่บ้านใกล้เคียง

 

อย่างไรก็ดี ยังมีความหวัง เมื่อปัญหาทำให้ทุกคนเริ่มตระหนักและหาทางแก้ไขเพื่อความอยู่รอดของชุมชน       

 

ผู้นำ ชุมชน ผู้อาวุโสและชาวบ้านแม่แพม จึงได้มีการประชุมปรึกษาหารือกัน โดยมีมติร่วมกันว่า ห้ามไม่ให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มอีกต่อไป และห้ามไม่ให้มีการซื้อขายที่ดินในหมู่บ้าน แต่ได้กันพื้นที่ทำกิน อันประกอบด้วยพื้นที่สวน พื้นที่ทำไร่ และที่นาเอาไว้ให้ทุกหลังคาเรือนทำมาหากินอย่างเป็นธรรม นอกจากนั้น ชาวบ้านได้เริ่มมีการแบ่งแนวเขตพื้นที่ป่ารอบๆ พื้นที่หมู่บ้าน โดยมีการแบ่งขอบเขตแต่ละพื้นที่ ในชุมชนอย่างชัดเจน

 

ยืนอยู่บนฐานความเชื่อ เคารพและศรัทธาในธรรมชาติ

นำภูมิปัญญาชนเผ่ามาพลิกฟื้นผืนป่าให้อุดมสมบูรณ์

 

อย่างไร ก็ตาม ถึงแม้ว่าผืนป่าจะเสื่อมโทรม แม้ว่าผู้คนและยุคสมัยจะเปลี่ยนไปตามกระแสโลกอย่างไร แต่เมื่อเราหันไปมองวิถีชีวิตของชุมชนบ้านแม่แพม ผู้คนที่นี่ยังคงดำรงอยู่อย่างเงียบๆ เรียบง่าย ไม่รีบเร่ง ค่อยๆ เรียนรู้ ปรับตัวโดยอาศัยภูมิปัญญาของความเป็น ปวาเก่อญอซึ่งมีความผูกพันกับผืนดินผืนป่าและสายน้ำ จึงทำให้ชุมชนแม่แพมเกิดความตระหนัก รักและหวงแหนในทรัพยากรของตน

 

ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวนั้นยืนอยู่บนฐานของความเชื่อ เคารพและศรัทธาในธรรมชาติ

เหมือนกับที่ ทา อันเป็นคำสอนของพี่น้องปวาเก่อญอที่ได้สืบทอดต่อๆ กันมา

 

            อ่อ ที กะต่อ ที อ่อ ก่อ กะต่อก่อ

กินน้ำต้องรักษาน้ำ อยู่ป่าต้องรักษาป่า

 

เกอะตอ เส่ เลอะ ทีโพคี เกอะตอ หว่า เลอะ ทีโพคี

เรารักษาไม้ที่ขุนน้ำ เรารักษาไผ่ที่ขุนน้ำ

 

เกอะตอ ฉ่าโพ อะหล่อมี เกอะตอ ก่อโพ อะหล่อมี

ให้เป็นที่อยู่ของสัตว์ป่า ให้เป็นที่นอนของสัตว์ป่า

 

อ่อ ที กะต่อ ที เหม่ เก อ่อ ก่อ กะต่อ ก่อ เหม่ เก

ใช้ผืนน้ำให้รักษาไว้ ใช้ผืนดินให้รักษาไว้

                                                  

ทุกวันนี้ ชาวปวาเก่อญอบ้านแม่แพม ยังได้มีการจำแนกป่าตามการใช้สอยและตามความเชื่อโดยแบ่งป่าใช้สอยออกเป็น 5 ประเภทด้วยกัน คือ

ป่าใช้สอย ซึ่งจะเป็นแหล่งน้ำ แหล่งเชื้อเพลิง ที่อยู่อาศัยของสัตว์เล็กและที่ประกอบพิธีกรรม 

ป่าช้า เป็นป่าที่ห้ามตัดโค่นต้นไม้บริเวณนั้น                                                     

ป่าเหล่า คือป่าฟื้นตัวจากพื้นที่ที่เคยทำไร่มาก่อน แล้วปล่อยให้มีการฟื้นตัว โดยอาศัยระยะเวลาประมาณ 5 – 7 ปี ซึ่งป่าบริเวณนี้ถือเป็นแหล่งอาหารและยาสมุนไพรให้ชาวบ้านได้เข้าไปเก็บมายังชีพได้        

ป่าหัวนาหรือป่าเหนือผืนนา เป็นแหล่งต้นน้ำที่ใช้หล่อเลี้ยงนาลุ่ม                                      ป่าขุนห้วย เป็นป่าต้นน้ำ อยู่บนดอยสูงและไกลจากหมู่บ้าน ถือเป็นแหล่งหล่อเลี้ยงน้ำที่สำคัญ มีกฎห้ามบุกเบิกหรือทำลายป่าบริเวณนี้    

 

 

 

 

 

ประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ คือองค์ความรู้ในเรื่องการอนุรักษ์ดิน น้ำ ป่า ของชาวปกากะญอ

ในป่ามีผีป่า ผีขุนน้ำคอยดูแล…” ชาวบ้านต่างพูดกันเป็นเสียงเดียวกันเช่นนี้

นอกจากผู้เฒ่าผู้แก่จะใช้ ทาเป็น คำสอนให้ลูกหลานได้หันมาร่วมกันดูแลรักษาป่าผืนนี้เอาไว้แล้ว ยังได้เอาประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อมาปรับใช้จนกลายเป็นองค์ความรู้ในการอนุรักษ์ดิน น้ำ ป่า ได้เป็นอย่างดี

เพราะ ทุกคนที่นี่จะมีความเชื่อว่าในธรรมชาตินั้น มีผีป่า ผีน้ำ ผีดิน ผีไฟ ผีบ้านผีเรือน ผีเจ้าที่ คอยปกปักรักษาคุ้มครอง ส่งผลทำให้ผู้คนนั้นอยู่ร่วมกันอย่างมีความอุดมสมบูรณ์พูนสุขกันได้มาถึงทุก วันนี้

 

และ ในขณะเดียวกัน หากเรามองให้ลึกลงไป เราอาจเห็นได้ว่า ในความเชื่อเหล่านั้น ได้ซ่อนนัยยะแฝงไว้ด้วยวิถีชีวิต แนวคิดอุดมการณ์และจิตวิญญาณไปพร้อมๆ กัน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคมในยุคโลกาภิวัฒน์ ที่กำลังถาโถมเข้ามาอย่างแรงและเร็วในขณะนี้

 

ซึ่งแทบไม่น่าเชื่อว่า ประเพณี พิธีกรรมและความเชื่อของชาวปวาเก่อญอ ที่สังคมภายนอกอาจมองดูว่าโบราณ คร่ำครึ ล้าหลัง แต่กลับกลายเป็นสิ่งดีที่หนุนเสริมการจัดการทรัพยากรได้อย่างยั่งยืน

       

ยก ตัวอย่างเช่น ความเชื่อเรื่องผี ซึ่งแต่เดิมนั้น ถือว่าเป็นความเชื่อพื้นฐานของคนเรา ในสิ่งที่มองไม่เห็น สิ่งที่เป็นนามธรรม กลายมาเป็นกฎเกณฑ์ข้อห้ามต่างๆ ที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงทำให้ ความเชื่อกลายเป็นพลังอำนาจควบคุมพฤติกรรมของคนในชุมชน อีกทั้งยังเชื่อมโยงอย่างแนบแน่นกับภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวกับอำนาจ ในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่แสดงออกถึงจารีตประเพณี พิธีกรรม ตลอดจนข้อห้ามที่ส่งผลกระทบต่อบุคคลหรือชุมชน ห้ามมีการละเมิดเกิดขึ้น        

 

ใช่ มันเป็นความเชื่อที่เราไม่ควรละเลย เพราะมันเป็นความเชื่อ เป็นจิตวิญญาณของ ปวาเก่อญอ นางภัททิยา จะแคะโพ หญิงชาวปวาเก่อญอ บอกย้ำถึงความเชื่อของชาวบ้านที่นี่  

 

ยก ตัวอย่าง พิธีเลี้ยงผีเจ้าเมือง ก็มีความเกี่ยวข้องกับป่า น้ำ เพราะว่าผีต้นน้ำ ผีป่าชาวบ้านมีความเชื่อที่ว่าการที่ปีไหนที่น้ำแห้ง ก็จะมีการทำพิธีขอให้มีการดูแลน้ำ เพราะว่าชาวบ้านมีการทำนาเป็นอาชีพ ถ้านาไม่มีน้ำก็ไม่สามารถที่จะทำนาได้ ก่อนที่จะมีการทำนาก็ต้องมีการบนบานสานกล่าวและพอถึงเวลาก็ไปเลี้ยง สิ่งเหล่านี้เปรียบเหมือนความผูกพันและความเชื่อของคนกับผี นี่เป็นภูมิปัญญา... พะตีจ๊อบบอะ พนาพิทักษ์พงศ์ บอกเล่าให้ฟัง    

 

พะตีกิลิ กะพอ ซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้นำหมอผีประจำป่า หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ลือป่า ก็ บอกเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนนั้น น้ำแล้ง ไม่ค่อยพอ ทำนาไม่ได้ เพราะว่าต้นไม้ในป่านั้นยังไม่เติบโต แต่พอเรามาทำพิธีเลี้ยงผีป่า ผีน้ำ ตอนนี้น้ำในการทำการเกษตรมีเพียงพอ และต้นไม้ก็โตขึ้นมาก

 

ใน วันที่เราทำพิธีเลี้ยงผี ยังได้กล่าวขอให้ผีนั้นไปช่วยในการปกปักรักษาผู้คนชาวบ้านแม่แพมทุกคน ทั้งที่อยู่ในในหมู่บ้าน หรือออกไปเรียน ไปทำงาน หรือไปอยู่ที่ไกลๆ ก็ขอให้ผีเจ้าป่าเจ้าเขาไปดูแลอีกด้วย

 

พิธีกรรม ความเชื่อ ยังมีส่วนช่วยในการปลุกจิตสำนึกของคนรุ่นหลัง                                 

 

เป็นการ ปลูกจิตสำนึกชาวบ้านในการอนุรักษ์ป่า และเป็นการปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนรุ่นหลังๆ ให้มีจิตใจที่ว่าจะต้องดูและรักป่า ปกป้องและป้องกัน สมศักดิ์ ตะวุ ผู้ใหญ่บ้านแม่แพม บอกเสริม                                                                                                                   

จาก การสำรวจพบว่า บ้านแม่แพมนั้นมีประเพณีความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรในชุมชนที่สำคัญๆ หลายประเพณี หลายความเชื่อ ที่น่าศึกษาเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นพิธีเลี้ยงผีเจ้าเมือง พิธีเลี้ยงขอบคุณป่า ความเชื่อเรื่องกองมูระโกระ หรือป่าห้วยวัดร้าง ความเชื่อเกี่ยวกับผีต้นไม้ใหญ่ที่คอยช่วยดูแลสัตว์เลี้ยง ความเชื่อเกี่ยวกับการหยุดงานทุกวันขึ้น 15 ค่ำ พิธีกรรมเกี่ยวกับการเลี้ยงผีน้ำ หรือที่เรียกกันว่า ทีกะจ่าเป็นต้น

 

จนกล่าวได้ว่า การนำประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ มาปรับใช้กับการอนุรักษ์ผืนดินผืนป่าและสายน้ำ ได้กลายเป็นจุดแข็งของหมู่บ้านแห่งนี้

 

* * * * * * * * * * * * *

 

ที่มาข้อมูล : หนังสือไปเรียนรู้วิถีพึ่งพาอย่างยั่งยืน การอยู่ร่วมดิน น้ำ ป่า ของคนแม่แพม,ตี พิมพ์ครั้งแรก เมษายน 2552 ,สถาบันการจัดการทางสังคม (สจส.) 225/112 หมู่บ้านสินธนา ต.สันพระเนตร อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ 50210 โทร.053-380-566

 

ข้อมูลประกอบ

-ข้อมูลสัมภาษณ์ผู้นำหมู่บ้านและชาวบ้านแม่แพม ต.เมืองแหง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่,มกราคม 2552

-เพียรพร ดีเทศน์, เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้,โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต http://www.livingriversiam.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net