แนวโน้มการใช้มาตรการทางการค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมจากปัญหาโลกร้อน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผลกระทบในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากปัญหาเรื่องโลกร้อนได้สร้างความตื่นตัวแก่ประชาคมโลกและประเทศต่างๆ ที่จะคิดค้นหามาตรการ กลไกเพื่อป้องกัน แก้ไข หรือบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งที่เป็นมาตรการแบบพหุภาคี เช่น  มาตรการในพิธีสารเกียวโต และมาตรการแบบฝ่ายเดียวที่กำหนดขึ้นโดยประเทศต่างๆ บางส่วนเป็นมาตรการแบบสมัครใจ บางส่วนเป็นมาตรการแบบบังคับ เช่น การติดฉลากคาร์บอน ประเด็นที่น่าสังเกต คือ ประเทศที่พัฒนาแล้วมีแนวโน้มการกำหนดใช้มาตรการทางการค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม (Environmental-related Trade Measures) เพื่อนำมาใช้แก้ไขปัญหาเรื่องโลกร้อนมากขึ้น และอาจสร้างผลกระทบทั้งทางบวกและลบต่อประเทศไทยเร็วกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผลกระทบทางกายภาพที่เกิดขึ้นจากปัญหาโลกร้อนจริงๆ เสียอีก

 

ภายหลังนับตั้งแต่มีการจัดตั้งองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี ค.. 1995 พบว่ามีการใช้มาตรการทางการค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง ประเทศต่างๆ มีความระมัดระวังในการใช้มาตรการดังกล่าวเนื่องจากอาจขัดแย้งกับกรอบกติกา ที่กำหนดไว้ในความตกลงขององค์การการค้าโลก แม้ว่าในความตกลง GATT จะมีข้อยกเว้นทั่วไปในมาตรา XX(b) และ (g) เปิดช่องให้มีการใช้มาตรการทางการค้าฝ่ายเดียวเพื่อการคุ้มครองและอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ แต่จากกรณีข้อพิพาทด้านการค้าและสิ่งแวดล้อมหลายกรณีที่เกิดขึ้นในเวทีองค์การการค้าโลก ผลตัดสินที่ออกมาชี้ให้เห็นถึงการมุ่งเน้นเป้าหมายความสำคัญด้านการค้าเสรี มากกว่าการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

 

นอกจากนี้จะเห็นได้ว่า มาตรการทางการค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม (Multilateral Environmental Agreements: MEAs) หลายฉบับนั้น เช่น อนุสัญญาว่าด้วยการค้าพืชและสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ (1973) พิธีสารมอนทรีออลเพื่อแก้ปัญหาการลดลงของชั้นโอโซน (1988) เป็นต้น เป็นความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมที่จัดทำขึ้นมาก่อนการจัดตั้งองค์การการค้าโลก แต่ MEAs ที่จัดทำขึ้นภายหลังปี 1995 เช่น พิธีสารเกียวโต สนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยทรัพยากรพันธุกรรมพืช พิธีสารความปลอดภัยทางชีวภาพ ฯลฯ จะ ไม่มีข้อบัญญัติเกี่ยวกับการใช้มาตรการทางการค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากตระหนักถึงปัญหาข้อขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นกับกรอบความตกลงในองค์การ การค้าโลก เนื้อหาในความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมจะระบุกว้างๆ ถึงความสัมพันธ์กับความตกลงใน WTO ในลักษณะที่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงสิทธิและพันธกรณีที่มีอยู่เดิม โดยไม่มีความชัดเจนว่าความตกลงใดมีศักดิ์และผลเหนือกว่า

 

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากประเด็นข้อเสนอในการเจรจาเรื่องโลกสำหรับกติกาโลกฉบับใหม่ (Post-Kyoto Regime) และร่างกฎหมายของประเทศอุตสาหกรรมเพื่อการแก้ไขปัญหาโลกร้อน จะเห็นได้ว่ามีข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้มาตรการทางการค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น ในร่างกฎหมายเรื่องโลกร้อนของสหรัฐอเมริกาให้มีการจัดตั้ง International Reserve Allowance (IRAs) Program และ International Climate Commission (ICC) ขึ้นมา  ICC จะทำหน้าที่สร้างบัญชีรายการประเทศและสินค้าที่ผลิตโดยใช้พลังงานสูงและค้าขาย ในตลาดระหว่างประเทศ ผู้นำเข้าสินค้าที่อยู่ในบัญชีดังกล่าวจะต้องยื่นแสดงปริมาณ IRAs เพื่อไปทดแทนปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการผลิตสินค้าที่นำเข้า แต่หากเป็นสินค้าที่มิได้อยู่ในบัญชีรายการก็ไม่ต้องดำเนินการตามข้อกำหนดข้างต้น  

 

มาตรการทางการค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมเหล่านี้จะเป็นมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนจริงๆ หรือเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าโดยแอบอ้างเรื่องโลกร้อน เป็นประเด็นที่ต้องติดตามศึกษาและพิสูจน์กันต่อไป แต่สิ่งที่เห็นได้ชัด คือ แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ระหว่างการค้าและสิ่งแวดล้อมจากกรณีปัญหาโลกร้อนที่เกิดขึ้น ในอีกมุมหนึ่งอาจมองได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นอาจเป็นกลยุทธ์ใหม่ของประเทศที่พัฒนาแล้วที่ต้องการรักษาและช่วงชิงความได้เปรียบทางการค้า หลังจากไม่อาจรักษาความได้เปรียบในการเจรจาในเวทีการค้าโลกได้เหมือนในอดีต และยังต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจอยู่ในขณะนี้

 

 

 

หมายเหตุ: บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.measwatch.org/autopage/show_page.php?t=19&s_id=111&d_id=109

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท