รายงาน : ไปเรียนรู้วิถีพึ่งพา ดิน น้ำ ป่า คนปวาเก่อญอบ้านแม่แพม (ตอนจบ)

   

 

  

 

 
 
 
 
 
 
‘สังวร พะเกะ’
เยาวชนปวาเก่อญอบ้านแม่แพม
 
 
 
 
 
 
           
เมื่อยืนอยู่กับปัจจุบัน และเฝ้ามองไปยังเบื้องหน้า ผู้คนที่นี่นั้นยังมีความหวัง
ใช่ ความหวังที่ว่านั้น หมายถึง ‘เยาวชน’ ของหมู่บ้านแม่แพม ซึ่งว่ากันว่า คือความหวัง คือพลังที่จะขับเคลื่อนชุมชนต่อไปข้างหน้า เพราะพวกเขาคือตัวแทนสืบสานวิถีภูมิปัญญาปวาเก่อญอให้ดำรงสืบไป                     
 
จะเห็นได้ว่า ทุกครั้งที่ชาวบ้านมีการจัดกิจกรรม ประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ จะมีเยาวชนคนหนุ่มสาว รวมทั้งเด็กๆ เข้าร่วมงานกันทั้งหมด โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ได้หันกลับมาร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมอันดีงามของชนเผ่าให้กับมาคงอยู่ดังเดิม                                                                  
 
“เป็นสิ่งที่ดีที่ต้องการให้เยาวชนได้ร่วมในการดูแลรักษาป่า เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่า รวมทั้งการรณรงค์เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ให้คนอื่นได้รู้ถึงเรื่องการดูแลทรัพยากรต้นน้ำของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เราต้องเราต้องเรียนรู้และช่วยงานของผู้เฒ่าผู้แก่ได้” สมชาย ชิงะ หนึ่งในเยาวชนบ้านแม่แพม ที่ออกไปเรียนศึกษาต่อในเมือง บอกเล่าให้เราฟัง                                                                   
 
สมชาย บอกว่า ทุกวันนี้ การรวมกลุ่มของเยาวชนตอนนี้อาจยังไม่เต็มที่ เพราะเยาวชนบางคนติดภารกิจ ต้องออกไปเรียนหนังสือ ดังนั้น การรวมกลุ่มของกลุ่มเยาวชนนั้นจะมีในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ หรือช่วงปิดเทอม ก็จะมีเยาวชนสามารถที่เข้าร่วมในการทำกิจกรรมกับผู้ใหญ่ได้                                          
 
ในขณะที่ นายสมศักดิ์ ตะวุ ผู้ใหญ่บ้านแม่แพม ได้บอกกับเราว่า นี่อาจเป็นจุดแข็งเลยก็ว่าได้ กับการที่เยาวชนได้ออกไปศึกษาข้างนอก วันหนึ่งเขาจะกลับมา ทำให้หมู่บ้านเกิดกลุ่มหรือได้มีการจัดการที่เป็นระบบ ในการที่นำความรู้ที่ได้มาพัฒนาชุมชนและหมู่บ้านของตนเองได้อย่างดี ซึ่งส่วนใหญ่พวกเขาเรียนก็จะเรียนทางด้านเกษตร การอนุรักษ์ป่าไม้ เป็นต้น                                                                     
 
“...การออกไปข้างนอก แน่นอนว่า ทุกคนกลับมาก็หวังที่จะมีการงานที่มั่นคง แต่ในส่วนที่ไปเรียนข้างนอกและกลับเข้ามาอยู่ที่บ้านก็จะมีหลายคน อย่างเช่น สังวร พะเกะ เขาก็กลับมาสร้างเครือข่าย ไปเข้าร่วมอบรมเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ...”                                                                                            
 
เราหันไปนั่งพูดคุยกับ ‘สังวร พะเกะ’ เยาวชนปวาเก่อญออีกคนหนึ่ง ที่ตัดสินใจกลับมาทำงานในชุมชน ซึ่งหลายคนบอกกันว่านี่คือตัวแทนเยาวชน ที่จะเป็นกำลังหลักของการพัฒนาหมู่บ้านแม่แพมในอนาคต         
 
สังวร บอกกับเราว่า ที่ผ่านมา เยาวชนก็มีบทบาทหลายอย่างที่สืบสานเรื่องของทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของข้อมูล อาหาร สมุนไพร ซึ่งทุกวันนี้ ถ้าหันมาทรัพยากรธรรมชาติที่แม่แพม ก็จะเห็นว่ายังมีความอุดมสมบูรณ์ แต่เขาเริ่มกังวลกับความเปลี่ยนที่กำลังเริ่มคืบคลานเข้ามาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีต่างๆ ที่เข้ามา ก็อาจทำให้ความคิดของคนนั้นเปลี่ยนแปลงตามกระแสนิยมไปบ้าง                   
 
“ทุกวันนี้ บางคนที่อยู่กับป่าก็เริ่มไม่ค่อยที่จะเข้าใจคุณค่าของป่ามากสักเท่าไหร่แล้ว เยาวชนส่วนมากก็จะถูกปลูกฝังให้ต้องการเรียนสูงๆ และจะได้มีงานทำที่ดี เช่น จะให้มาทำไร่ทำนาเหมือนกับพ่อแม่นั้นคงไม่ไหวแล้ว แต่ในความคิดของผม คิดว่าทุกวันนี้ ทรัพยากรดิน น้ำ ป่า รวมทั้งภูมิปัญญาความเชื่อต่างๆ ถ้าเราไม่รักษาก็จะเลือนหาย ซึ่งภูมิปัญญาเหล่านี้มันเป็นจุดแข็งที่เราสามารถบ่งบอกถึงการเป็นปวาเก่อญอได้”                                                                                                                        
 
สังวร บอกอีกว่า ในขณะนี้ เขามีคิดฝันเอาไว้ว่า อยากจะทำศูนย์การเรียนรู้ฟื้นฟูรากเหง้าปวาเก่อญอ โดยจะเอาบ้านของตัวเองมาปรับเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้คนในชุมชนและนอกชุมชนได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้          
 
“ก่อนอื่นนั้นผมต้องเริ่มจากตัวของผมก่อน เริ่มจากหันมาใช้ภาษาพูดปกาเกอญอ โดยเฉพาะภาษาเขียน เพราะปัจจุบันมีคนที่เขียนภาษาปวาเก่อญอได้ประมาณ 5% ก็ยังไม่รู้ว่ามีหรือไม่ ส่วนตัวผมนั้นเขียนได้ แต่พอไปอยู่ในเมืองไม่ได้ใช้ก็ลืมภาษาเขียนไป แต่ถ้ามีการรื้อฟื้นขึ้นมาก็สามารถที่จะทำได้อยู่ และอีกส่วนหนึ่งที่อยากทำ ก็คือ การสืบสานภูมิปัญญาต่างๆ ให้เยาวชนหันกลับมาสนใจในวิถีชีวิต เพราะทุกวันนี้ก็จะมุ่งไปในกระแสนิยมหรือทุนนิยม และหันเหไปอยู่ในเมืองและไม่ค่อยที่จะสนใจในหมู่บ้าน ดังนั้น จึงอยากจะฟื้นฟู เราจะต้องให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ ของตนเอง ไม่ใช่ไปแห่เอาตามกระแสแฟชั่น”    
 
“แล้วชาวบ้านจะเตรียมตัวหรือตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลงกับสิ่งที่จะเข้ามานั้นได้อย่างไง...” เราเอ่ยถาม
 
“...ต้องยอมรับว่ามันจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงโดยตลอด และคนก็เริ่มมากขึ้น ทำให้ไม่ค่อยจะเหมือนเก่า แต่เราก็ไม่ได้ปิดกั้นกับสิ่งที่จะเข้ามา แต่ว่าเรานั้นจะต้องร่วมกันเรียนรู้กับสิ่งที่จะเข้ามาในหมู่บ้าน” นายสมศักดิ์ ตะวุ ผู้ใหญ่บ้านแม่แพม บอกกับเราในวันนั้น ว่าชุมชนแห่งนี้ไม่ได้ถึงกับปิดกั้น แต่พร้อมจะเรียนรู้และตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเข้ามาในอนาคต                                                    
 
แหละนี่คือเรื่องราวบางส่วนของชุมชนบ้านแม่แพม ที่หลายคนที่มาเยือนต่างบอกกันเป็นเสียงเดียวว่า ‘แม่แพม’ เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่มีจุดเด่นสำคัญที่น่าศึกษาเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง จนหลายคนกล่าวขานกันว่า วิถีปวาเก่อญอ วิถีของผู้คนที่นี่สามารถอยู่ร่วมกับภูเขา ผืนดิน ผืนป่าและสายน้ำได้อย่างสอดคล้องและสัมพันธ์
 
ถึงแม้ว่าโลกจะเปลี่ยนไปเลวร้ายสักเพียงไหน แม้ว่าผู้คนและยุคสมัยจะเปลี่ยนไปตามกระแสอย่างไร แม้ว่าระบบเทคโนโลยีจะก้าวไปไกลสักเพียงใด หรือแม้ว่าสังคมในระบบทุนนิยมข้างนอกจะล่มสลาย                                  แต่หลายคนเชื่อว่า ชุมชนแม่แพม แห่งนี้จะดำรงอยู่ต่อไปอย่างยืน ตราบใดที่ชาวบ้านที่นี่ยังคงช่วยกันดูแลปกป้อง ดิน น้ำ ป่า โดยยึดเอาประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ อันเป็นภูมิปัญญาของความเป็น ‘ปวาเก่อญอ’ อยู่อย่างนี้ตลอดไป เหมือนกับคำสอนของบรรพบุรุษปวาเก่อญอที่สั่งสอนกันมานานแล้วว่า...
 
อ่อ ที กะต่อ ที อ่อ ก่อ กะต่อก่อ  กินน้ำรักษาน้ำ อยู่ป่ารักษาป่า                                                                               
 เปอะอ่อกะต่อ อ่อกะต่อ กุ อ่อ ปกา เล ตื่อ เล ตอ เรากินไป เรารักษาไป เราจึงมีกินตลอดไป
  
 
* * * * * * * * * * * *
 
 
ที่มาข้อมูล : หนังสือ’ไปเรียนรู้วิถีพึ่งพาอย่างยั่งยืน การอยู่ร่วมดิน น้ำ ป่า ของคนแม่แพม’,ตีพิมพ์ครั้งแรก เมษายน 2552 ,สถาบันการจัดการทางสังคม(สจส.) 225/112 หมู่บ้านสินธนา ต.สันพระเนตร อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ 50210 โทร.053-380-566
 
ข้อมูลประกอบ
-ข้อมูลสัมภาษณ์ผู้นำหมู่บ้านและชาวบ้านแม่แพม ต.เมืองแหง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่,มกราคม 2552
-โครงการศึกษาวิจัยเรื่อง ระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน : สถานภาพและการเปลี่ยนแปลงโดย ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ หัวหน้าโครงการฯ ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี รองหัวหน้าโครงการฯ อัจฉรา รักยุติธรรมนักวิจัยโครงการฯ, 19 มิถุนายน 2546
-ไร่หมุนเวียน–ไร่เลื่อนลอย ความเลื่อนลอยของใคร? ธัญกานต์ ทัศนภักดิ์ :โครงการพื้นที่ทางสังคมและสื่อทางเลือก ,ไทยเอ็นจีโอ 1 ส.ค. 46
-โครงการศึกษาวิจัยเรื่อง วิถีชุมชนของประชาชนเวียงแหง โดย ยุวยงค์ จันทรวิจิตร,นงเยาว์ อุดมวงศ์, ศิวพร อึ้งวัฒนา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, จิตนธี เขนย, นุชยงค์ เยาวพานนท์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ, มลวิภา ศิริโหราชัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่, ชัชวาล จันทรวิจิตร สำนักงานสิ่งแวดล้อม ภาคที่ 1โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กันยายน 2546
-เพียรพร ดีเทศน์, เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้,โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต  http://www.livingriversiam.org
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท