เสียงสะท้อน (แผ่วเบา) ถึงนโยบายเรียนฟรี 15 ปี

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

จากการลงพื้นที่ในหลายจังหวัดทั้งเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง กำแพงเพชร พิษณุโลก สมุทรสาคร และกรุงเทพมหานคร จากการพูดคุยและรับฟังข้อเรียกร้องนับพัน พบว่า นโยบายเรียนฟรี 15 ปีนั้นยังไม่เป็นจริงอย่างโฆษณา 

 
 
 
นโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และได้พยายามสร้างภาพเปิดตัวโครงการอย่างยิ่งใหญ่ไปเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา พร้อมใจกล้าเปิดสายด่วน 1579 เพื่อเปิดรับคำร้องเรียนในเรื่องการปฏิบัติตามนโยบายของโรงเรียนต่าง ๆ ที่มีต่อนโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ ผลปรากฏว่า สายด่วน 1579 แทบถล่มทลาย เมื่อมีสายร้องเรียนกระหน่ำโทรเข้าทั้งแจ้ง ทั้งร้องเรียน ทั้งกร่นด่า อย่างไม่ขาดสาย
 
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่ฉบับปีพุทธศักราช 2540 ที่ระบุให้รัฐไทยสนับสนุนให้คนไทยได้เรียนโดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่าย 12 ปี มาถึงรัฐธรรมนูญ ฉบับปีพุทธศักราช 2550 ก็ ระบุเช่นเดียวกัน แต่ พรรคประชาธิปัตย์ฮึกเหิมใช้เป็นนโยบายหาเสียง ต่อยอด หรือลงราก อีก 3 ปี จาก 12 ปี ใจดีเพิ่มให้เป็น 15 ปี ?? แถมประกาศทำทันทีในภาคเรียนนี้ ??
 
ผลที่ตามมาตั้งแต่ยังไม่เปิดโครงการ มีการเรียกเก็บเงินที่อ้างว่าอยู่นอกเหนือจาก 5 ฟรีที่รัฐบาลสนับสนุนก็มีเมนูออกมามากมายจนคิดไปคิดมา หลายคนบ่นอุบว่า เสียเงินแพงยิ่งกว่าเก่า ?? ทั้งที่รัฐบาลเองมีการกำหนดแนวทางการดำเนินงานตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ แจกจ่ายไปตามโรงเรียนและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่มีรายละเอียดการสนับสนุนต่าง ๆ รวมถึงจำนวนเม็ดเงินรายหัวที่รัฐให้การสนับสนุน ที่ในจำนวนเงินก้อนโต 11,011,539,100 บาท ที่เป็นยอดเงินต่างหากไม่เกี่ยวกับเดือนบุคลาการทางการศึกษา ?? แล้วทำไมยังมีเสียงบ่นตามออกมาไม่ขาดสาย ?
 
หลายโรงเรียนอ้างถึงค่าใช้จ่ายที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐว่าไม่พียงพอ มีความจำเป็นต้องเก็บเพิ่ม ? ทั้งที่ เมื่อพิจารณาในรายละเอียดถึงค่าใช้จ่ายรายหัวที่แต่ละโรงเรียนได้รับแล้ว จะพบว่า โรงเรียนขนาดใหญ่ โรงเรียนที่เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จะได้รับค่าตอบแทนรายหัวในจำนวนที่สูงกว่า โรเรีงขนาดเล็ก หรือโรงเรียนประถมศึกษาเกือบเท่าตัว ?? แล้วทำไมต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ??
 
จากการลงพื้นที่ในจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง กำแพงเพชร พิษณุโลก สมุทรสาคร และกรุงเทพมหานคร จากการพูดคุยและรับฟังข้อเรียกร้องจำนวนกว่า 1,000 ความคิดเห็น พบว่า มีจำนวนไม่น้อย แจ้งกับเครือข่ายติดตามการศึกษาไทยว่า นโยบายเรียนฟรี 15 ปีนั้น ไม่เป็นจริง ผู้ปกครองรายหนึ่งเล่าให้เราฟังว่า เสียค่าใช้จ่ายสำหรับ ลูกสาวเพื่อเข้าเรียนในวัยก่อนประถมศึกษาปีละกว่า 10,000 บาท   ผู้ปกครองอีกรายหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เพิ่งนำหลานเข้าเรียนโรงเรียนของรัฐแห่งหนึ่งในระดับมัธยมปลาย ต้องเขียนตัวเลขบริจาคให้สมาคมศิษย์เก่า สมาคมผู้ปกครองจำนวนหลักหมื่นบาท ?? อีกรายเล่าให้เราฟังว่า เพิ่งไปเสียค่าเข้าเรียนให้หลานสองคน ๆ ละสองพันบาท ปกติคยเสียอยู่คนละ พันบาท พอประกาศเรียนฟรี 15 ปี เก็บเพิ่ม อ้างว่างบที่รัฐให้ไม่พอ คำถามคือ อะไรคือคำว่าเรียนฟรี ??
 
การเรียกเก็บเงินจากผู้ปกครองด้วยการยื่นกระดาษเปล่าเพื่อให้ผู้ปกครองใส่ตัวเลขเพื่อกรอกเงินบริจาคให้กับสมาคมครูและผู้ปกครองของแต่ละโรงเรียนจะเรียกว่าอะไร ?? เพราะโรงเรียนก็จะแก้ต่างไปว่าเป็นความประสงค์เป็นความสมัครใจของผู้ปกครองที่จะบริจาคให้แก่สมาคมเองไม่มีการบังคับ แต่..หากใส่ตัวเลขไม่เป็นที่พอใจ เด็กก็จะไม่ได้รับการรับเข้าเรียนในโรงเรียนนั้น นี่คืออะไร ?? เรียนฟรีแต่ต้องมีเงินบริจาคเข้าสมาคม ??
 
เสียงร้องเรียน เสียงตัดพ้อต่อว่าที่แผ่วเบา เบาจนรัฐที่ออกนโยบายไม่ได้ยิน หรือเลือกที่จะไม่ได้ยิน ?? นโยบายที่ออกมาทำทีเหมือนว่าจะดีกว่าที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่เอาเข้าจริง มันก็แค่ลมลวงที่ประกาศออกมาเพื่อให้ดูหวือหวาเรียกคะแนนเสียงเพียงเท่านั้น หรือว่าจะเอาจริงเอาจังกับนโยบายด้านการศึกษา เพื่อพัฒนาพลเมืองให้มีคุณภาพที่ดีขึ้นอย่างจริงจังเสียที

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท