Skip to main content
sharethis

สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ปฏิเสธข้อกล่าวหาของรัฐบาลพม่าที่ว่าผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงไม่ใช่ประชาชน แต่เป็นกลุ่มติดอาวุธย่อยของ KNU และครอบครัว อัดรัฐบาลพม่าโฆษณาชวนเชื่อ ด้านหน่วยงานบรรเทาทุกข์ในไทยยันผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่เป็นสตรีและเด็ก นอกจากหนีการสู้รบแล้ว ยังหนีการถูกจับไปเป็นลูกหาบให้ทหารด้วย 

 
KNU ท้าทายเรื่องที่รัฐมนตรีต่างประเทศของพม่าที่บอกไว้ว่ากองทัพพม่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสู้รบระหว่างกลุ่ม KNLA และกลุ่มกองทัพกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย (DKBA)
 
โดยก่อนหน้านี้ทางรัฐมนตรีต่างประเทศของพม่าได้เคยแถลงการณ์ในวันที่ 13 มิ.ย. โดยตอบโต้ประธานาธิบดีจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ที่แสดงความเป็นห่วงในการที่มีชาวกะเหรี่ยงถึง 6,000 คน อพยพไปสู่ประเทศไทย ซึ่งทางรัฐมนตรีต่างประเทศของพม่าก็โต้ว่าเป็นปฏิกิริยาของ EU ที่มีต่อข้อมูลของกลุ่มกบฏและกลุ่มสื่อที่มีอคติซึ่งไม่เป็นความจริง
 
ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศของพม่ากล่าวถึง EU ว่าแถลงการณ์โดยมีแรงกระตุ้นทางการเมือง ส่วนเดวิด ตะกาป่อ (David Takapaw) รองประธานของ KNU ก็บอกว่าการโต้ตอบของรัฐมนตรีต่างประเทศเป็นการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลทหาร
 
ขณะที่เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมา กองพลน้อยที่ 7 กองพันที่ 22, 101 ของกองทัพ KNLA ภายใต้ KNU ที่มีตั้งฐานที่มั่นอยู่ที่บ้านเหล่อ เปอ เฮอ และกองพันที่ 21 ตรงข้ามบ้านแม่สริด อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ได้ล่าถอยออกจากฐานที่มั่นแล้ว เนื่องจากกองทัพกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย (DKBA) และกองทัพพม่าขยับกองทัพเข้าใกล้ โดยได้ยึดและเผาทำลายพื้นที่กองพันที่ 21 และยังได้ยึดครองฐานที่มั่นกองพันที่ 22 และ 101 ไว้ด้วย
 
ในแถลงการณ์ของรัฐมนตรีพม่าเรื่องการสู้รบและผู้อพยพออกจากพื้นที่มีอยู่ว่า "มันชัดเจนว่าคนที่หนีออกไปนอกพรมแดนจะเป็นอื่นไปไม่ได้เลยนอกจากสมาชิก KNLA และครอบครัวพวกเขา ดังนั้นจึงไม่มีประชาชนอยู่ในกลุ่มผู้ที่หลบหนีข้ามแดนเช่นที่ EU ประกาศออกมา"
 
ขณะที่เดวิด ตะกาป่อ โต้ว่า "รัฐบาลทหารพม่ากำลังโกหกและทำการโฆษณาชวนเชื่อ เพราะว่าผู้ที่อพยพออกจากพื้นที่สู้รบเป็นชาวกะเหรี่ยงที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นชาวนา"
 
ผู้ที่ให้ข้อมูลตรงกับเดวิด คือ แซลลี่ ทอมป์สัน รักษาการผู้อำนวยการของสมาคม Thailand Burma Border Consortium ซึ่งเป็นหน่วยงานบรรเทาทุกข์ ซึ่งเธอเปิดเผยว่าผู้ที่อพยพหนีการสู้รบมายังฝั่งไทยเป้นชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กและผู้หญิง พวกเขาไม่ได้หนีแค่จากการสู้รบเท่านั้น แต่ยังหนีจากที่จะถูกเกณฑ์เป็นทหารหรือคนรับใช้ในกองทัพ
 
ดอ เก่อ โอ จากกลุ่ม Free Burma Rangers (FBR) รายงานว่ามีหญิงชาวกะเหรี่ยงที่กำลังตั้งท้องสองรายชื่อ หน่อหว่าหร่า (Naw Wah Rah) และ ต่อ เต๊ะ (Daw Tay) ถูกข่มขืนแล้วฆ่าโดยทหารพม่าไม่ทราบชื่อจากกองพลทหารราบที่ 205 ที่มีนายทหารชื่อตาน เต็ด (Than Htet) และ จี เมียว ตัน (Kyi Myo Thant) เป็นผู้บังคับบัญชา
 
มีหญิงชาวกะเหรี่ยงผู้ที่อาศัยอยู่ ควี เลา โปล (Kwee Law Ploe) เมืองลีเนบวี (Hlinebwe) เขตปะ-อัน (Pa-an) สองคนถูกทหารพม่าสังหารไปเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ขณะที่สามีของพวกเขาหลบซ่อนอยู่ในป่าเพื่อหนีจากการเป็นคนรับใช้ของกองทัพ (อ่านรายละเอียดที่นี่)
 
แถลงการณ์ของรัฐมนตรีต่างประเทศของพม่าปฏิเสธว่ากองทัพพม่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสู้รบ โดยบอกว่า "เป็นการสู้รบระหว่างกลุ่มติดอาวุธสองกลุ่มคือ DKBA กับ KNU/KNLA สมาชิกของกองทัพรัฐบาลไม่มีบทบาทใดๆ กับการต่อสู้ในช่วงนี้"
 
แต่เดวิด ตะกาป่อ ได้ประณามทหารพม่าว่าเป็นผู้ก่อให้เกิด "สงครามจิตวิทยา" ที่ทำให้ชาวกะเหรี่ยงทั้งสองฝ่ายผิดใจกัน และยังได้ระบุอีกว่า กองทัพพม่าคอยสั่งการการจู่โจมในแนวหน้า ขณะเดียวกันก็ยิงปืนครกสนับสนุน และอาศัยช่องทางนี้บอกว่ามันเป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มกะเหรี่ยงสองกลุ่ม
 
ตะกาป่อ พูดถึงรายละเอียดว่ามี 5 กองพันของทหารจากหน่วยทหารราบที่ 22 ของพม่า ซึ่งมีประมาณ 500 คน มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสู้รบในเขตฐานที่มันกองพลน้อยที่ 7
 
 
 
ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก
KNU Rejects Regime Version of Fighting, Irrawaddy, Saw Yan Naing, 15-06-2009

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net