บันทึกวัฒนธรรม : ความทรงจำของหมอลำซัมเมอร์ (ตอนที่ 3)

สัญจรไปในสายฝน

เมื่อวันนัดหมายที่ออกค่ายมาถึง พี่บุญเทียม ยาโล มารับคณะเตรียมงานไปเป็นชุดแรกเพื่อติดตั้งเวทีตั้งแต่บ่ายวันที่ 22 ชาวค่ายกลุ่มสุดท้ายที่กลับจากค่ายโขงเจียมเดินทางไปถึงเกือบหนึ่งทุ่มท่ามกลางสายฝนโปรยปรายอย่างคิดไม่ถึงว่าจะตก ชาวค่ายราวสามสิบกว่าชีวิตที่แทบจะไม่รู้จักกันมาก่อนเงอะงะกับภารกิจที่ไม่เคยมาประชุมกันก่อน เป็นกระบวนการเตรียมค่ายที่น่าหนักใจไม่น้อยสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการ เพราะเมื่อปฐมนิเทศค่าย จากที่ลงชื่อไว้ราวห้าสิบคนมีมาเพียงหกคน

การปฐมนิเทศค่ายตามรูปแบบทั่วไปจึงล้มเหลว ดังนั้นเมื่อถึงค่ายทุกคนจึงแทบจะไม่รู้จักกันทั้งที่ไม่มีนักศึกษาคณะอื่นมาปะปนเลยแม้แต่น้อย ภายใต้ตึกเรียนเล็กๆ สามชั้นมีเพียงสี่ชั้นปี และสามวิชาเอกนั้น เป็นไปได้อย่างไรที่คนแทบจะไม่รู้จักกัน บางคนนั่งเฉย ๆ เพราะไม่รู้ว่าจะทำอะไร ไม่รู้จะคุยกับใคร แม้ว่าหัวหน้าฝ่ายของกิจกรรมของค่ายได้แนะนำและรับสมัครสมาชิกประจำฝ่ายแล้ว ทุกคนยังคงนั่งเฉย ๆ เมื่อประชุมแนะนำตัวเสร็จ เราปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปตามที่เขาอยากจะทำ และรู้สึกท้อกับภารกิจในอีกห้าวันข้างหน้า แต่คิดว่างานนี้มาด้วยจิตสำนึก และทุกคนควรเรียนรู้ทุกอย่างด้วยตนเอง เมื่อเราพามาชมสวนดอกไม้ ก็แล้วแต่ใครจะเก็บเกี่ยวความสวยงามไว้ในชีวิตสี่ปีในมหาวิทยาลัย บ้างติดตั้งเครื่องเสียง บ้างซ้อม บ้างตัดไม้ไผ่แต่งเวที สำหรับเวทีนั้น ปิยะ คิดการ บอล ฝ่ายศิลป์ไฟแรงอยากจะทำเถียงนาน้อย (กระท่อม) ตั้งแต่อยู่คณะ แต่อุปกรณ์ไม่ครบเพราะขาดมีด จึงขนหญ้าคาขึ้นรถไปด้วย หลังจากที่ร้องหามีดอยู่พักใหญ่พี่กังวาน เลิงพงษ์ สมาชิก อบต.แก้ง ศิษย์ผู้พี่จึงจัดหามาให้

เราฝ่าความมืดไปที่กอไผ่หลังหอประชุมโรงเรียนแก้ง โดยใช้ไฟฉายจากมือเป็นสื่อนำทาง ใช้เวลาในความมืดใต้เงาไผ่อยู่ไม่นาน บอล.. และหมาก/เอกรัฐ (ความจริงชื่อมาร์ค แต่ไม่เหมาะกับบ้านนอกอย่างอำนาจฯจึงเพี้ยนไปเป็นหมาก) ก็ได้ไม้ไผ่มาทำเถียงนาน้อยประกอบฉากหมอลำอย่างที่วาดหวัง หากบอลและมาร์คมาจากลาดพร้าวแทนโคราชและอำนาจเจริญ เราคงไม่สามารถตัดไม้ไผ่ได้อย่างง่ายดายแบบนี้ หลายคนตามมาสมทบช่วยลากไม้ไผ่ไปที่เวทีโรงเรียน เสียงหมากตะโกนมาอย่างห่วงใยด้วยสำเนียงลูกข้าวนึ่งว่า มันมืดอาจารย์ระหว่างตกหลุมนะครับ หลุมอะไร มีเสียงถามกลับมาอย่างง ๆ หลุมรักครับ แล้วก็หัวเราะร่วนนำหน้าไป ความสัมพันธ์เริ่มถักทอใต้แสงดาว

นายกฯ บุญเทียมจองที่พักที่วัดป่าบ้านแก้งที่แยกหญิงชายให้เรา เมื่อประวิทย์ ษรสา หัวหน้าฝ่ายวิชาการไปสำรวจที่พัก หนุ่มร่างอวบที่ชื่อว่าหนุ่มจากอำเภอเขมราฐก็มายืนยันอย่างหัวเด็ดตีนขาดว่าขอนอนเฝ้าเครื่องเสียงที่หอประชุม เพราะเหตุผลว่าที่พักในวัดนั้นวังเวงเหลือเกิน แดนเซอร์สาวสวยและสาวชาวค่ายที่มีไม่ถึงสิบคนเริ่มหวาดหวั่น จะขอนอนกับพี่หนุ่มด้วยไม่หนีไปไหนเด็ดขาดเช่นกัน ในที่สุดเราต้องขอให้ภารโรงเปิดห้องอนุบาลให้สองห้องติดกัน เรื่องที่นอนของสาว ๆ จึงลงตัว

กว่าจะนอน หนุ่ม ๆ จำนวนหนึ่งก็ขับกล่อมชาวค่ายด้วยเพลงหวานอยู่จนวันใหม่ ราวตีสี่เศษสาว ๆ แดนเซอร์ก็ตื่นแต่งตัว เกล้าผมและแต่งตัวเป็นนางอัปสรา ประกอบเพลงหนุ่มกันตรึมของไผ่ พงศธร ซึ่งเมื่อวันซ้อมเผลอปล่อยไปว่าทำไมต้องลิปซิ้ง คิดไม่ออกเลยว่าการแสดงบนเวทีของลูกศิษย์จะเป็นเช่นไร ไม่มีใครสามารถวาดภาพทั้งหมดได้ รู้แต่ว่าตนเองรับหน้าที่อะไรมา หมากเดินมาปลุกพร้อมกระเป๋าอนุบาลใบเล็กข้างหลัง ทำเสียงอ้อแอ้เหมือนอ้อนแม่ที่มาส่งในตอนเช้า ในขณะที่เสียงริงโทนโทรศัพท์ของเขาดังขึ้นว่า ไปโรงเรียนก็คิดถึงบ้าน บ๊ายบายกลับบ้านก่อนใคร...น่ารักจนหลายคนขอโหลด ทุกคนคึกคัก นี่เป็นครั้งแรกของหลายคนที่จะได้ทำภารกิจที่ไม่เคยทำมาก่อน ภารกิจทางการเมืองของนักศึกษารัฐศาสตร์ กำลังจะเริ่มต้นในอีกมีกี่นาทีข้างหน้า

เวทีที่ว่างเปล่า: อุปสรรคหรือกำลังใจ?

ในวันแรกของการสัญจร คนขับรถไปรับท่านคณบดีที่สนามบินแต่เช้าตรู่ และตรงไปเปิดงานเวลาเก้าโมงเช้า นายกฯบัวผัน สุขนิจ ก็ลงรถทัวร์จากกรุงเทพฯ น้าเลิศ จาก อบต.เหล่าแดง พี่วีรกุล คู่หู หมอลำ หมอแคนสมัครเล่นจากเทศบาลเมืองเดช อำเภอเดชอุดม เราได้พี่จอม หมอลำประจำหมู่บ้านสร้างสีสันให้เวที เธอมีน้องสาวเป็นหมอลำอยู่ในวงเสียงอิสาน เราได้พี่บานเย็นจาก อบต.หนองอ้ม พาหมอลำมืออาชีพขึ้นเวที เราเตรียมการแสดงทุกชุดอย่างเต็มที่ พี่ ๆ อบต.ที่เชิญก็มากันไม่กี่คน น้อยจนเราแปลกใจ เรารู้เหตุผลในภายหลังว่าทำไมจึงไม่มีใครมาปัญหาหนึ่งคือการเมืองในหมู่บ้าน จนเราต้องย้ายที่นอน ปัญหาที่สองคือการเมืองในคณะฯ สำหรับนักเรียนรัฐศาสตร์แล้วความสามารถในการ “เล่นการเมือง” ดูเป็นเรื่องปกติธรรมดาเหลือเกิน เพราะนักเรียนรัฐศาสตร์สามารถทำทุกอย่างให้เป็น “การเมือง” ได้ไม่ยาก ตราบเท่าที่ “การเมือง” ยังเป็นเรื่องของผลประโยชน์

วันแรก ครั้งแรก ของประชาธิปไตยสัญจรกับนักศึกษาที่ไม่มีประสบการณ์การทำกิจกรรมออกค่ายเริ่มต้นภายหลังที่คณบดีเปิดงาน รายการบนเวทีเริ่มขึ้นโดยบัณฑิต วงษ์มั่น รองนายกสโมสรนักศึกษา และจุ๋มจิ๋ม พิธีกรคู่ขวัญ เจ้าของเสียงเพลงแนวพุ่มพวง ดวงจันทร์ ทุกคนทำงานอย่างเต็มที่ นักร้องสาวเพลงบ่กล้าบอกครูคือนักศึกษาที่รับ JOB ตามร้านอาหาร ก็ดีเท่าที่เราจะหาได้ในคณะฯ ตลอดเวลาห้าวันของการออกค่าย เราต้องใช้นักร้องสาว “เอิ้นขวัญ วรัญญา” ถึงสามคน ไอ้หนุ่มกันตรึม สุชาติ สายกระสุน จากสุรินทร์ ร้องเพราะจนคิดว่า ไผ่ พงศธร พบคู่แข่งที่น่ากลัวเสียแล้ว...พิธีกรชายหญิงก็ตั้งใจเหลือเกิน ละครการเมืองแสดงอย่างสุดฝีมือ แต่โดยรวม ทุกอย่างกลับจืดชืดไปหมดจนคนประสานงานท้อใจ แม้จะมีการแสดงจากศูนย์เด็กเล็กฯ, พี่จอม หมอลำประจำหมู่บ้าน พี่วิเชียร หมอลำอาชีพ จากหนองอ้ม ที่พี่บานเย็นและพี่สังวาลย์ ลูกศิษย์ เชิญมาร่วมงาน รวมถึงหมอแคนจากดอนมดแดงที่น้าเลิศหอบหิ้วมาด้วย จะมาสมทบเวทีของคณะประชาธิปไตยสัญจรก็ตาม คณบดีและพี่ ๆ อบต.จากพิบูลมังสาหาร และอำเภอดอนมดแดง นั่งเป็นกำลังใจตั้งแต่เก้าโมงถึงบ่ายสามโดยไม่ลุกไปไหน แม้แต่จะเข้าห้องน้ำ คงไม่ต้องอธิบายว่าเด็ก ๆ จะประทับใจขนาดไหน

ภายใต้บรรยากาศที่จืดชืด เราพยายามดึงพี่น้องชาวบ้านแก้งร่วมรำวง พี่จอม หมอลำประจำหมู่บ้านขึ้นเวทีพร้อมหมอแคนจากดอนมดแดง ซึ่งทราบภายหลังว่าแกไม่สามารถเป่าแคนให้เข้ากับจังหวะเสียงเพลงของพี่จอมได้ เพราะแกหูหนวก พี่จอมจึงขอให้วัฒนาทำหน้าที่หมอแคนจำเป็น

จนบ่าย เวทีเริ่มร้าง วัฒนา บุตรสอง และอนุวัฒน์ พรมราช ขึ้นไปทำเวทีให้คึกครื้นขึ้นมานิดหน่อย แต่ไม่สามารถกู้สถานการณ์ให้ฟื้นคืนมาได้ เพราะนอกจากคณะทำงานแล้ว เวทีข้างหน้าก็แทบจะไม่มีใคร โต๊ะ เก้าอี้ว่างเปล่า เราจำต้องทำรายการบนเวทีให้ครบตามกำหนดการที่วางไว้ จบเวทีลงด้วยการสัมภาษณ์ปราชญ์ชาวบ้านเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้วัฒนธรรมชุมชน

เมื่อเวทีจบลง คณะทำงานต่างถอนหายใจไปตาม ๆ กัน ไม่รู้เลยว่าพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร คณบดีกลับไปแล้ว เย็นวันนั้นทุกคนเครียดกับความล้มเหลว ที่ในที่สุดแล้วก็มีแต่พวกเรากันเอง เล่นเองดูเอง

ท่ามกลางความเหนื่อยอ่อนของพวกเรา แต่จำต้องเร่งเก็บของไปตั้งเวทีที่บ้านไฮตากในเย็นนั้นเพื่อแสดงในวันรุ่งขึ้น จุ๋มจิ๋ม พิธีกรสาวเดินมาบอกว่า ได้งานทำตอนซัมเมอร์ จะต้องกลับ ก็โอเค สักพัก บัณฑิตฯ รองนายกฯ ที่เป็นผู้คุมวงรัฐศาสตร์บันเทิงศิลป์ และผู้ประสานงานหางเครื่อง นักร้อง นักดนตรี ก็บอกว่าจะไป กทม.เพื่อร่วมอบรมยุวชนประชาธิปไตยของรัฐสภา

เราอยากบอกเขาว่าสิ่งที่เขากำลังทำนั้นมีความหมายมากกว่าความเป็นยุวชนหลายเท่านัก แต่ทุกคนมีความฝันเป็นของตัวเอง ความฝันของบัณฑิตคือการเป็นยุวชนประชาธิปไตยที่เขาฝันมาตั้งแต่อยู่ ม.สี่ จนอยู่มหาวิทยาลัยปีสอง ในที่สุดฝันของหนุ่มน้อยจากสุรินทร์ก็เป็นจริง เขาไปตามหาความฝันที่รัฐสภาถึงสิบวัน ในขณะที่นักร้องสาวเจ้าของเพลงบ่กล้าบอกครู กลับ เพราะมีงานร้องเพลงที่ร้านอาหาร อ๊อด บัณฑิตหมาดๆ รุ่นแรกของคณะ และนักดนตรีประจำวงชมรมศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านฯ กลับไปไหว้ครู คนที่กลับในวันนี้ทั้งหมดเป็นกำลังสำคัญของการทำงานหน้าเวทีทั้งสิ้น เพราะพิธีกรชายหญิงนั้นสวมตัวบทละครด้วย อุ่นใจที่ตั้ม ประธานชมรมศิลปวัฒนธรรมฯ ยังอยู่ทำหน้าที่มือกลอง มือพิณอย่างมืออาชีพ มองไปก็ยังเห็นหัวหน้าทีมหางเครื่อง ชาย พิสิฐ จารุจิตร ที่ STAND BY ให้อุ่นใจ ทีมหางเครื่องทำงานได้ราวกับมืออาชีพ และเมื่อสถานการณ์บังคับ เขาได้สร้างสีสันตลอดสี่วันที่เหลือไม่ว่า จะสวมบทแม่ค้าในละครที่เร่ขายของไปในหมู่บ้านสองหมู่บ้านและสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างของ “ถนน” ของสองหมู่บ้านที่สร้างจากการมีส่วนร่วมและการไม่มีส่วนร่วมอย่างชัดเจน ชายเป็นคนเดียวที่ อี๊ด เรี่ยวแรงฝ่ายสวัสดิการของค่าย เล่าให้ฟังว่า ครั้งแรกที่รู้จักชายในคณะ เขาคิดชายคือฟิล์มรัฐภูมิ แต่ชาย หนุ่มน้อยจากเมืองอำนาจฯ สวยยย..ค่ะ !

เมื่อจัดเวทีที่โรงเรียนไฮตากในเย็นวันนั้น ทุกคนจึงทำอย่างซังกะตายแล้ว แผ่นโปสเตอร์ที่คุณศตพลจากรัฐสภาส่งมาให้จากรัฐสภา ถูกแขวนอยู่บนราวไม้ไผ่ที่พาดตามแนวต้นไม้ที่ริมสนามหญ้าของโรงเรียน สาวหล่อประจำคณะฯ สุรวี คำมีแก่น ที่หมากหลงพูดภาษาไทยกรุงเทพฯ ด้วยอยู่หลายวันกว่าจะรู้ว่ามาจากอำนาจเจริญด้วยกันรับผิดชอบอย่างแข็งขันไม่มีท่าทีท้อถอยทำให้เราอุ่นใจ

เมื่อประชุมสรุปงานในตอนค่ำ หลายคนถอดใจ ท้อแท้กับสิ่งที่เกิดขึ้น หากภารกิจจะต้องดำเนินต่อไปในวันรุ่งขึ้น วันนี้น้ำไม่ไหล หลายคนไม่ได้อาบน้ำ โดยเฉพาะหนุ่ม ๆ โดยรวม ๆ ทำให้อะไรต่ออะไรดูน่าหงุดหงิดไปหมด ภาวะเช่นนี้ท้าทายชาวค่ายไม่น้อย อยากรู้ว่าหากนักศึกษาเหล่านี้ต้องไปค่าย ในหมู่บ้านเมื่อยี่สิบปีที่แล้วที่ไม่มีน้ำประปา เขาจะเข้าใจถึงความแร้นแค้นสักเพียงใด

คืนนั้น เรานอนที่ที่ทำการ อบต.แก้งแทนการเป็นเด็กอนุบาลที่โรงเรียนแก้ง ก่อนจะแยกย้ายกันไปนอน วงประชุมถกเถียงกันว่าพรุ่งนี้จะดำเนินการอย่างไร บรรยากาศวงประชุมเต็มไปด้วยความเคร่งเครียด เมื่อเช้ายังจำได้ว่า รองนายกฯ บุญมีจาก อบต.กุดชมภู พิบูลฯ และน้าเลิศจาก อบต.เหล่าแดง ที่ขับรถมาตั้งแต่ 6 โมงเช้า ชมว่านักศึกษาแสดงดี ได้ขึ้นเวทีคุยกับนักศึกษาว่าจะขอให้นักศึกษาไปสัญจรที่กุดชมภูให้ได้ พี่บานเย็นและพี่สังวาลย์ บอกว่าอยากจะจัดเวทีอย่างนี้ที่หนองอ้ม สิ่งเหล่านี้เป็นกำลังใจที่ต่างหยิบขึ้นมาปลอบโยนให้กันและกัน วัฒนาที่สวมบทพิธีกรจำเป็นในสี่วันสุดท้าย บอกว่าถ้าหากมีมอเตอร์ไซด์จะกลับคืนนี้เลย เราบอกว่าทุกคนมีสิทธิ์จะทำอย่างที่อยากทำ แต่ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ ทุกอย่างจำต้องดำเนินไปจนจบ ใครคิดว่าไม่มีประโยชน์ก็ไม่ต้องกดดันตัวเอง ในคืนนั้นคนแต่งฉากเวทีก็จะกลับ บอกว่าแม่โทรมาตามสามครั้งแล้ว อาจารย์บอกว่า แม่สำคัญที่สุด เอกรัฐได้ยินเพื่อนร้องไห้ (คิดถึงแม่) อยู่ในเต็นท์ แต่ด้วยสปิริต THE SHOW MUST GO ON

ในที่สุดก็แบ่งหน้าที่กันไปตามสภาพชนิดที่ว่ามัดมือชก นับว่าเป็นการท้าทายไม่น้อยสำหรับนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ไม่มีใครเป็นกำลังหลักที่ชัดเจน คิดไม่ออกว่าพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร คืนนั้นทุกคนเข้านอนอย่างหมดกำลังใจ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท