Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เป็นที่ทราบกันดีว่าทหารพม่ายังคงต้องเผชิญแรงเสียดทานทางการเมืองจากทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาลไม่แน่ใจว่าหากปล่อยตัวนางอองซานซูจี ที่มีสมาชิกพรรคเอ็นแอล (the National League for Democracy party) คอยสนับสนุนอยู่นอกเรือนจำจำนวนไม่น้อยแล้วจะทำให้การชิงชัยในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ และทำให้บุคคลที่นายพลตันฉ่วยวางตัวไว้ ได้รับการเลือกตั้งน้อยกว่าที่คิดหรือไม่

ขณะนี้ SPDC ทราบดีว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เหมือนการลงประชามติ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม และวันที่ 24 พฤษภาคม 2551 ซึ่งในครั้งนั้นประชาชนไปลงคะแนนรับรองรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในลักษณะที่ต้องการให้การลงคะแนนมันผ่านๆ ไปเท่านั้น เพราะคนพม่ารู้ดีว่าการลงประชามติครั้งนั้นไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนรัฐบาลได้อยู่แล้ว แต่คนพม่าเกือบทั้งหมดซึ่งไม่เคยอ่านหรือเคยเห็นรายละเอียดในรัฐธรรมนูญเลย คงไม่คิดว่าเนื้อหาในรัฐธรรมนูญนั้น ทหารได้เขียนข้อความปูทางให้พวกตนเดินเข้าสู่สภา (Union of Myanmar) ได้ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ของที่นั่งทั้งหมดโดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง โดยได้ใช้รูปแบบโครงสร้างของระบบการปกครองของอินโดนีเซียในสมัยรัฐบาลซูฮาโต้มาเป็นแบบอย่าง อย่างไรก็ตาม ปัญหาจากโครงสร้างนี้ยังมีอีกมากที่จะต้องพูดถึง

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลพม่าภายใต้การบงการของ SPDC ต้องทำโดยเร็วเพื่อมิให้ตนต้องสูญเสียอำนาจเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่พ้นเรื่องราวดังต่อไปนี้:
1. ทำอย่างไรให้คนมุ่งประเด็นเรียกร้องการปล่อยตัวนางอองซานซูจีไปเรื่อยๆ โดยเลื่อนการพิจารณาคดีนางซูจีออกไปให้นานที่สุดเพื่อถ่วงเวลาการเติบโตของพรรคฝ่ายค้าน และให้เวลารัฐบาลวางแผนในประเด็นสำคัญอื่นๆที่หลายฝ่ายอาจจะคาดไม่ถึง

2. รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้เขียนไว้ชัดเจนในมาตรา 33 ว่าผู้ที่ถูกจำคุก ย่อมไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ส่วนมาตราที่ 329 และมาตรา 354 ขานรับเช่นกันว่า ผู้ที่ต้องขังและไม่มีคุณสมบัติตามกฏหมายเลือกตั้งจะไม่มีสิทธิลงคะแนน เสียงด้วย ซึ่งย่อมหมายถึงผู้ต้องโทษหรือนักโทษทางการเมือง 2100 คน รวมถึงนางอองซานซูจี ซึ่งรัฐบาลทหารย่อมตีความให้เป็นนักโทษที่เข้าข่ายหมดสิทธิเลือกตั้งหรือลงแข่งขันเป็นผู้สมัครลงเลือกตั้งอย่างแน่นอน

3. แต่เมื่อยังมีสมาชิกพรรคของนางซูจีที่เหลืออยู่ข้างนอกคุกซึ่งอาจจะจัดตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาลงแข่งขัน โดยประกาศนโยบายที่ไม่ต่างจากพรรคของเธอ จึงทำให้การลงทะเบียนพรรคการเมืองก็จะถูกชะลอออกไป และกฏหมายเลือกตั้ง (election law) ก็จะยังไม่ออกมาให้สาธารณชนได้อ่านและศึกษาตามเวลาที่ควรจะเป็น ย่อมทำให้ทหารสามารถติดตามหาเรื่องจับกุมคนเหล่านั้นให้มากที่สุดก่อนการเปิดลงทะเบียนพรรคการเมือง

4. เมื่อยังไม่มีผู้ใดได้เห็นรายละเอียดของกฏหมายเลือกตั้ง ว่าจะปิดกั้นฝ่ายค้านและคุมสื่อสารมวลชนและจำกัดเสรีภาพการรณรงค์อย่างไร รวมทั้งการใช้กฏระเบียบการเลือกตั้งต่างๆ (regulations) ที่สามารถเป็นเครื่องมือของกรรมการการเลือกตั้ง (ซึ่งเป็นคนของ SPDC ทั้งหมด) สามารถใช้เป็นอาวุธสกัดกั้นฝ่ายค้านอีกชั้นหนึ่งได้ด้วย

5. ส่วนการตั้งพรรคตัวแทน (nominee) ของนายพลตันฉ่วยและทหารนั้น ได้เริ่มตั้งแต่ปีที่แล้วแต่ยังไม่มีใครรู้ว่าจะใช้ชื่อพรรคว่าอะไร พรรคดังกล่าวย่อมจะมีทหารที่เกษียณหรือลาออกจากราชการแล้วถูกส่งลงสมัครเลือกตั้งปะปนอยู่ด้วย ส่วนการจะมีตัวแทนชนกลุ่มน้อยหรือไม่ เป็นเรื่องที่ตัวแทนกลุ่มต่างๆ ต้องยอมสวามิภักดิ์ และต้องเห็นด้วยกับนโยบายของ SPDCเท่านั้น

6. คะแนนเสียงของชนกลุ่มน้อยเป็นคะแนนเสียงที่น่ากลัวสำหรับรัฐบาลทหารพม่า ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะเห็นการปราบชนกลุ่มน้อย เพื่อสร้างความวุ่นวายก่อนการเลือกตั้งตั้งแต่ฤดูฝนปีนี้เป็นต้นไป และเพื่อให้ประเทศไทย (ซึ่งรัฐบาลพม่าไม่พอใจในขณะนี้) เป็นผู้รับภาระหนักจากการทะลักของผู้ลี้ภัยมากขึ้นกว่าเก่า ส่วนการที่ทหารจะต่อรองกับบรรดาชนกลุ่มน้อยต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนกับคะแนนเสียงหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง

7. การได้มาซึ่งชัยชนะดังกล่าวยังรวมถึงการไม่ให้เกิดการหักหลังจากผู้ลงคะแนนเสียงที่เป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ รวมทั้งพ่อค้า นายทุนชาติและนายทุนท้องถิ่น รวมทั้งชาวไร่ชาวนาที่กลัวเสียที่ทำกิน หนทางหนึ่งที่ทำได้คงไม่พ้นการสัญญาให้ผลประโยชน์ การซื้อเสียงในรูปแบบต่างๆ ประกอบกับการข่มขู่ คุกคาม ด้วยอย่างแน่นอน

8. ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ทหารยังจำเป็นจะต้องควบคุมกระบอกเสียงสำคัญคือสื่อมวลชนของรัฐทั้งหมด ที่จะเป็นผู้เสนอภาพแย่ๆ ซึ่งจะคอยสร้างภาพพจน์ด้านลบให้นางซูจีอย่างต่อเนื่อง อันที่จริงการกระพือข่าวของสื่อมวลชนได้เริ่มขึ้นแล้วและหนักขึ้นเมื่อชายอเมริกันว่ายน้ำเข้าไปหานางซูจีที่บ้านพักของเธอ จะเป็นการกระทำที่เป็นการวางแผนจากทหารหรือไม่คงไม่สำคัญ เพราะเรื่องดังกล่าวสามารถใช้เป็นเครื่องมือยืดอายุการจำกัดเสรีภาพไม่ให้นางออกมาหาเสียงให้พรรคฝ่ายค้านได้อย่างแน่นอนแล้ว

แม้ว่าการเลือกตั้งที่จะถึงในปีหน้านี้ ประชาชนมีความหวังว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนในตัวผู้นำและเปลี่ยนพม่าไปสู่การเมืองโฉมใหม่ของประเทศโดยผ่านกลไกการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่จะมาถึง แต่ดูเหมือนคนในประเทศพม่าเองจะมีเสรีภาพในการเลือกตั้งน้อยกว่าประเทศยากจนอื่นๆในโลก สิ่งที่ผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลายจะทำได้ (เพื่อไม่หลงในกลอุบายของพม่าที่จูงให้นานาชาติมุ่งอยู่ประเด็นเดียวคือการปล่อยนางอองซานซูจีเท่านั้น) ก็คือ

ประการแรก รัฐบาลพม่าต้องเปิดให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ โดยให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็น ซึ่งมีเนื้อหาที่เป็นประชาธิปไตย เป็นประโยชน์ต่อประเทศพม่า และคนส่วนใหญ่ รวมถึงคนกลุ่มน้อยทุกกลุ่ม

ประการที่สอง ขานรับและประสานเสียงกับข้อเรียกร้องที่คืบหน้าและตรงไปตรงมาของรัฐมนตรีอาวุโสสิงคโปร์ ซึ่งกล่าวว่า. “การเลือกตั้งพม่าปีหน้านั้นต้องมีนางอองซานซูจีลงแข่งขันเลือกตั้งด้วย มิฉะนั้นผลการเลือกตั้งจะไม่เป็นผลดีต่อการปกครองประเทศภายใต้รัฐบาลชุดใหม่และไม่เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป” บรรดาผู้นำฝ่ายค้านที่อยู่ต่างประเทศแสดงเจตนารมณ์แล้วว่าหากไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ และถ้าไม่ปล่อยตัวนางซูจี และนักโทษการเมืองทั้งหมด พวกตนจะคัดค้าน (Boycott) การเลือกตั้งแน่นอน

ประการที่สาม หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้จริงแล้ว กฏหมายเลือกตั้งจะต้องเป็นประธิปไตยด้วย ต้องเปิดให้มีพรรคการเมืองอิสระที่มีนโยบายต่างจากพรรคทหารพม่า ออกมาลงทะเบียนรับการเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนมีตัวเลือกมากกว่าพรรคที่มาจากการจัดตั้งของทหาร หรือจากการบงการของนายพลตันฉ่วยเท่านั้น กฏหมายและระเบียบต่างๆ ต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย

ประการที่สี่ สื่อมวลชนนานาชาติ รวมทั้งสื่ออาเซียน ต้องออกโรงเรียกร้องกดดันให้พม่าเลิกควบคุมสื่อท้องถิ่นทุกแขนงเพื่อเปิดโอกาสให้คนพม่าทุกคนรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และนโยบายพรรคในอนาคต ได้อย่างอิสระเสรีด้วย ข่าวสารทุกประเภทต้องไม่มีการเซ็นเซอร์

ประการที่ห้า องค์กรนานาชาติรวมทั้งอาเซียนและประชาสังคมทั่วโลกยังต้องเดินหน้าเรียกร้องอย่างต่อเนื่องและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อสร้างแรงกดดันให้ประเทศพม่า จีน รัสเซีย และอินเดีย แสดงท่าทีในการสนับสนุนสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในพม่าอย่างชัดเจน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net