Skip to main content
sharethis

เสวนา “ThailandMirror Cyber Talk” บก.ลายจุด ชวนคิดเมื่อโลกเปลี่ยนไปสู่ความเร็วระดับใส่เกียร์หมา จากนักเลงคีย์บอร์ดสู่อินเตอร์เน็ตในมือถือ เมื่อคนเล็กคนน้อยเริ่มปฏิสัมพันธ์กันเองและเริ่มมีอำนาจ จนชนชั้นนำที่อยู่ในโลกเก่าเห็นเป็น “เสียงรบกวน” และพยายามหยุดการหมุนของโลก

เมื่อเวลา 16.00 น. วานนี้ (20 มิ.ย.) ที่ร้านบ้านต้นซุง ถ.ลาดพร้าว 94 กลุ่ม ThailandMirror จัดงานเสวนาแบบดินเนอร์ทอล์ก หัวข้อ ThailandMirror Cyber Talk"จากหลังคีย์บอร์ดถึงหน้ารัฐสภา...การบ้านหรือการเมือง" โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ นางดารุณี กฤตบุญญาลัย น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง ป้าปากเกร็ด และ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล อย่างไรก็ตาม นายจาตุรนต์ ฉายแสง ซึ่งมีชื่ออยู่ในกำหนดการไม่สามารถร่วมงานได้เนื่องจากติดภารกิจ นอกจากนี้ยังมีการอ่านบทกวีโดย ไม้หนึ่ง ก.กุนที และ ฮาเมอร์ ซาลวาลา

โดยการเสวนาที่เริ่มเมื่อ 18.00 น. นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด กล่าวว่า เครื่องมือการสื่อสารของมนุษย์ก่อนที่จะเป็นคีย์บอร์ด อันดับแรกคือภาษาท่าทางหรือ Body language มนุษย์พยายามจะสื่อสารท่าทางกันก่อนที่จะมีภาษา ต่อมาเริ่มมีการวาดภาพ การเขียนอักษร บางคนอาจนึกถึงการใช้ไฟ นักรบที่ประจำการตามป้อมยามเวลามีสงครามก็ใช้ควันไฟส่งข้อความสั้นๆ ที่ไม่มีความสลับซับซ้อน รวมถึงการใช้นกพิราบ

เวลาเราพูดถึงสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยส่วนตัวผมรู้สึกว่าคีย์บอร์ดล้าหลังไปแล้ว แต่ว่าถ้าเราไล่ลำดับความสำคัญกันขึ้นมา ย้อนกลับไปนิดหนึ่ง ในวันที่พวกเราตัดสินใจซื้อแฟกซ์ วันที่โลกนี้มีเครื่องแฟกซ์ ผมจำได้ว่าเคยอภิปรายกับเพื่อนๆ ว่าคนซื้อแฟกซ์มันบ้า เพราะแฟกซ์ช่วงแรกๆ เครื่องละสามหมื่น คำถามก็คือ เราจะซื้อแฟกซ์เพื่ออะไร จะส่งไปถึงใคร เพราะคนที่เราจะติดต่อด้วยมันจะต้องมีเครื่องแฟกซ์ราคาสามหมื่นบาท ปัจจุบันเครื่องแฟกซ์ราคา 2-3 พันบาท กลายเป็นเรื่องพื้นฐานไปเรียบร้อยแล้ว
 
และเคยมีคนบอกว่าถ้ามีเครื่องแฟกซ์จะทำให้ไปรษณีย์เจ๊ง เพราะว่าคนจะไม่ส่งไปรษณีย์ คนจะไม่เอาแสตมป์แปะจดหมาย สุดท้ายไปรษณีย์ก็ไม่เจ๊ง สุดท้ายมีโมเด็มของอินเตอร์เน็ตก็มีคนไปขู่พวกที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับไปรษณีย์ว่าจะเจ๊ง สุดท้ายก็ไม่จริง ไปรษณีย์ก็ยังมี
 
ก่อนที่อินเตอร์เน็ตจะเข้ามาในเมืองไทย อินเตอร์เน็ตได้รับการพัฒนาในเครือข่ายกลาโหมของสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเย็น แต่มันใช้งานดีมาก เลยมีการคิดว่าถ้าเอามาใช้ในทางธุรกิจคงจะดีไม่น้อย เลยถูกออกแบบใช้ทางธุรกิจ
 
เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน การสื่อสารของมนุษย์เปลี่ยน เมื่อการสื่อสารของมนุษย์เปลี่ยน มนุษย์เปลี่ยน เมื่อมนุษย์เปลี่ยน สังคมเปลี่ยน ดังนั้น วันนี้พอเกิดเหตุการณ์ที่อิหร่าน มันน่าตกใจมากที่บทบาทของผู้ใช้ทวิตเตอร์ ซึ่งคือโปรแกรมอินเตอร์เน็ตเพียงแต่มาอยู่ในกำมือคุณ ที่ไม่ใช่คีย์บอร์ด เหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของเมืองไทยไปอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย แต่วันนี้คอมพิวเตอร์อยู่ที่ไหน อยู่ในมือถือ ดังนั้นเมื่อคอมพิวเตอร์อยู่ในมือคุณ
 
คือมาอยู่กับปัจเจก อยู่กับชาวบ้าน เมื่อก่อน จำวันแรกๆ ที่เราใช้มือถือได้ไหม คนเขาบอกว่าฟุ่มเฟือย คนกลุ่มแรกๆ ฟุ่มเฟือยทั้งนั้นแหละที่มีมือถือใช้ มือถือเท่ากระติกน้ำ มีหูหิ้ว แต่วันนี้แม้แต่ชาวนานะครับ เกี่ยวข้าวอยู่ดีๆ ก็มีโทรศัพท์มือถือดังขึ้นมา เราไม่คิดว่าโลกมันไม่เปลี่ยนหรือ โลกมันเปลี่ยนไปนะ เพราะเครื่องมือสื่อสารมันเปลี่ยน
 
การเกิดของโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ต ทำให้โลกมันเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก ก่อนการเลือกตั้ง 2550 ในรัฐบาลสุรยุทธ์ก็มีรัฐมนตรีไอซีทีคนหนึ่งชื่อสิทธิชัย (โภคัยอุดม) เป็นถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวกับเรื่องโทรคมนาคม แต่คุณสิทธิชัยเคยวิจารณ์คนรับใช้ที่บ้าน บอกว่าคนรับใช้ที่บ้านใช้โทรศัพท์มือถือโทรคุยกับใครไม่รู้เป็นการฟุ่มเฟือย
 
เพราะว่าคุณสิทธิชัยนั้นเป็นนักโทรคมนาคม ก็มองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือของชนชั้นบนหรือคนที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษเท่านั้น ดังนั้นแกตกใจที่อุปกรณ์ที่มีความไฮเทคสลับซับซ้อนอย่างยิ่งอยู่ในมือคนใช้ของแก แล้วคนใช้ที่บ้านเริ่มคุยโทรศัพท์กับคนอยู่ๆ ไกลๆ ผ่านโครงข่ายโทรคมนาคม เพราะว่าคุณสิทธิชัยรู้ว่าโทรศัพท์ที่คนใช้ถืออยู่นั้นจะใช้ได้สัญญาณต้องวิ่งผ่านอุปกรณ์โทรคมนาคมที่มีความสลับซับซ้อนมาก แกตกใจว่าทำไมคนใช้ของแกถึงใช้โทรศัพท์มือถือได้
 
ผมอยากจะเรียนว่าต้องให้ความเห็นใจกับทุกฝ่าย หมายความว่า โลกมันวิ่งเร็วมาก หมายความว่า โลกมันหมุนความเร็วเท่ากับเกียร์ด็อก หมายความว่า หมาปีหนึ่งอายุเท่ากับเด็กอายุ 8 ขวบ หมายถึงสปีดอินเตอร์เน็ตมีความเร็วเท่ากับชีวิตของหมา
 
ดังนั้น เมื่อโลกส่วนหนึ่งมันวิ่งเร็วมาก ในขณะที่โลกอีกส่วนหนึ่งยังมีคนที่อยู่ในโลกเก่า คือโลกมันซ้อนกันเป็น Twilight Zone คนที่อยู่โลกเก่าเคลื่อนตามไม่ทัน ดังนั้นจึงไม่สงสัยว่าทำไมพวกเราที่มาเจอกันหรือคุยกันในอินเตอร์เน็ต มันคุยกันจนคนบางคนนอกสังคมฟังไม่รู้เรื่อง เพราะในโลกของเรามันวิ่งด้วยอัตราเร่งของเกียร์ด็อก ความเร็ว 8 เท่า ไม่รู้ว่าตอนนี้เกิน 8 เท่าหรือยัง แต่โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 8 เท่า แต่การเกิดของไฮสปีดอินเตอร์เน็ต และ 3G ก็จะทำให้ความเร็วเปลี่ยนแปลงไป ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีนี่เอง มันจะไปกระทบระบบเศรษฐกิจที่เรียกว่า e-commerce จำได้ว่าช่วง 5-6 ปีแรกๆ การวิพากษ์วิจารณ์ที่เกี่ยวกับเรื่องการกำเนิดหรือการพัฒนาการของอินเตอร์เน็ต เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนโครงสร้างและวัฒนธรรมของธุรกิจหรือระบบเศรษฐกิจ
 
ระบบเศรษฐกิจมันถูกกระทบมาก เพราะตัวเทคโนโลยีไปเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ แต่ว่าจริงๆ แล้วมันไม่ได้เปลี่ยนแค่โครงสร้างทางเศรษฐกิจเท่านั้น เราจะเห็น E-government วันก่อนผมอ่าน facebook ของใครคนหนึ่ง เขาเล่าว่าประทับใจมาก เขาไปทำ Passport ไปปุ๊บมันเร็วมาก หรือไปทำบัตรประชาชนเพราะว่ารัฐบาลเปลี่ยนรูปแบบการทำงานไปแล้ว
 
ทีนี้เข้าสู่การเมือง เข้าสู่รัฐสภา เมื่อเทคโนโลยีการสื่อสารเปลี่ยนปุ๊บ จึงทำให้คนเล็กคนน้อยเริ่มปฏิสัมพันธ์กันเอง เมื่อก่อนการเมืองพวกเราไม่มีหน้าสะเออะ การเมืองเป็นเรื่องของคนที่มีเสียง มีสิทธิ มีเสียง เสียงของเรามีเฉพาะวันที่เราไปลงเสียงเลือกตั้ง
 
แต่วันที่เรามีรูปแบบของการสื่อสารพิเศษอย่างการใช้อินเตอร์เน็ต เราไม่ได้หยุดอยู่เฉพาะวันที่มีเสียงไปลงคะแนนเลือกตั้ง แต่ว่าเสียงของเรายังคงดำรงอยู่ต่อเนื่อง และเสียงของเรานั้นดังรบกวนฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายผู้มีอำนาจทั้งระบบ เพราะเขายังคิดว่าโลกนั้นยังแบนแล้วอยู่นิ่งๆ เราต้องเห็นใจเขาก่อนนะ มิเช่นนั้นเราจะคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง เขาคิดว่าโลกนั้นแบนแล้วอยู่นิ่งๆ แต่ความจริงแล้วโลกนั้นวิวัฒนาการตลอดเวลา
 
ตอนนี้มีโลก 2 โลกซ้อนกันอยู่ เพราะโลกที่ว่านี้คือโลกทางความคิด โลกมันเปลี่ยนไปเมื่อคนในสังคมนั้นความคิดของคนเปลี่ยน โลกที่ว่านี้ไม่ใช่โลกทางกายภาพ ผมจะบอกว่าความคิดของคนมีการเคลื่อนตัวไป แต่มีคนกลุ่มหนึ่งยังเคลื่อนไปไม่ได้หรือไม่อยากเคลื่อน มันเลยทับซ้อนกัน
 
เมื่อก่อนนี้ เขาไม่ได้ยินเสียงรบกวน ไม่ใช่ว่าไม่มีเสียงนั้น แต่เสียงไม่สามารถเข้าหูคุณได้ แต่วันนี้เสียงของประชาชนได้ดังและมีพื้นที่ด้วยนะ ไม่ได้เป็นพื้นที่ธรรมดานะ อินเตอร์เน็ตน่ากลัวกว่าสื่อประเภทอื่นก็คือ อย่างเทคโนโลยีลำโพงเมื่อผมหยุดพูดมันจะดับ คนเดินเข้ามาใหม่จะไม่ได้ยินเสียงผม ว่าผมพูดอะไร แต่อินเตอร์เน็ตไม่ใช่ พอคุณคลิกเมื่อเวลา 16.10 น. เสียงของคุณยังอยู่ เลยเที่ยงคืนแล้วเสียงผมก็ยังอยู่ พวกเว็บบอร์ดจะรู้ว่าคุณเล่นสนทนากับคนอื่นกับชุมชนอื่นแบบข้ามมิติเวลา
 
ดังนั้นเมื่อคนของโลกเก่า พบร่องรอยหรือเสียง เสียงสะท้อนที่ก้องอยู่เรื่อยๆ เขาจึงทนไม่ได้ เขาจึงต้องมีกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ คุณจีรนุช (เปรมชัยพร – ผอ.ประชาไท) กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายนี้ไปแล้ว เพราะโดนไป 9 กระทง ในโลกของไซเบอร์ นี่คือเหตุผลว่าทำไมเขาจึงผลักดัน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์โดยรัฐบาลสุรยุทธ์ เพราะว่าทนเสียงรบกวนไม่ได้ แล้วเสียงรบกวนนั้นในสายตาของชนชั้นปกครองแล้วนี่ ในระบบโลกเก่าชนชั้นปกครองเขาเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “เสียงรบกวน” แต่ในระบอบประชาธิปไตยนี่คือ “เสียงสูงสุด” คืออำนาจสูงสุดของประชาชน ดังนั้นจึงเกิดปะทะกัน
 
นายสมบัติ ยกตัวอย่าง การกำเนิดรถไฟในสหรัฐอเมริกาว่า มีผู้เฒ่าท่านหนึ่งเล่าให้ผมฟังตอนที่ผมอยู่ในคุกคดีสพรั่งว่า รถไฟในสหรัฐอเมริกาตอนแรกในการสร้างได้รับการต่อต้าน เวลารถไฟวิ่งไปบนราง จะมีกลุ่มคาวบอยขี่ม้าซึ่งเดิมมีวิถีชีวิตที่อยู่ได้ด้วยการรับจ้างขนสินค้า วันที่รางรถไฟมันพาดผ่านเข้ามาแล้ววิ่งขนส่ง ปรากฏว่าพวกคาวบอยลอบยิงรถไฟขนาดที่ชาวบ้านบอกว่าธุรกิจคงไม่สามารถเกิดขึ้นได้แล้ว รถไฟคงไม่เกิดขึ้น คำถามก็คือ วันนี้รถไฟยังมีอยู่หรือเปล่า มันไม่ใช่ คุณหยุดขบวนรถไฟไม่ได้
 
นายสมบัติกล่าวว่า เขาคงทนไม่ได้ที่จะยอมให้โลกเปลี่ยนไป และมีบางอย่างหลุดจากมือเขาไป ขอให้ดูเรื่องการปฏิรูปการรถไฟแห่งประเทศไทย เขารับไม่ได้ที่นายสมัคร สุนทรเวช เคยเสนอว่าถ้า รฟท. ไม่อยากเปลี่ยนวิธีการทำงาน คุณก็เดินรถไฟ แต่จะมีรถไฟคู่ขนาน มีระบบเดิมคุณก็เดินไป แต่รถไฟรางคู่จะใช้อีกระบบหนึ่งวิ่ง แต่ว่าคนในการรถไฟไม่สามารถยอมให้มีคู่แข่ง ถ้าเมื่อไหร่มันวิ่งมันจะเห็นเลยว่าประสิทธิภาพของการวิ่งมันจะต่างกัน
 
เหมือนคนกลุ่มหนึ่งยอมไม่ได้ที่จะให้โลกหมุน ระบบเศรษฐกิจอีกแบบหนึ่ง การเมืองอีกแบบหนึ่ง คนในโลกเก่าซึ่งไม่สามารถปรับตัวได้เขาไม่ยินดีที่จะกระโดดขึ้นรถไฟขบวนพัฒนา ถ้าคุณไม่กระโดด เขาจะเขี่ยคุณออกจากแผนที่เท่านั้นเอง แล้วคนบางกลุ่มเขารู้ว่าโลกใหม่นั้นเป็นอันตรายกับโลกที่เขาอยู่มาก เขาไม่สามารถดำรงโลกบางประเภทเอาไว้ได้ ดังนั้นเขาจึงทำทุกวิธีทางเพื่อหยุด เพียงแต่โลกมันจะต้องเคลื่อนไป ไม่ว่าเราจะอยู่หรือไม่ ไม่ว่าคุณทักษิณจะอยู่หรือไป หรือใครจะมาเป็นแกนนำ มันไม่เกี่ยว โลกมันเคลื่อนโดยตัวของมันโดยประวัติศาสตร์ขับเคลื่อน เหมือนคนคิดจะยิงรถไฟเพื่อให้รถไฟไม่วิ่ง ไม่ใช่
 
ระหว่างนี้ ประวัติศาสตร์จะบันทึกไว้ หลังจากนี้คุณจะโคตรขำเลย เชื่อเถอะวันที่เราไม่ได้อยู่ในภาวการณ์สู้รบ เมื่อเลยไป 30 ปี ผมมีคำพูดทางการเมืองว่า ผมจะมีชีวิตอยู่จนถึงการเปลี่ยนแปลง เมื่อวันเวลาผ่านภาวะการสู้รบไปแล้ว ผมเชื่อว่าวันนั้นซึ่งวันที่ไม่ใช่วันทะเลาะกัน เรื่องทั้งหมดวันนี้เราจะนั่งขำกัน
 
นายสมบัติ บุญงามอนงค์ทิ้งท้ายไว้ว่า คนในโลกไซเบอร์ ตอนนี้ถือว่าอยู่นอกเหนือการควบคุมแล้ว ระบาดแล้ว อยู่ในภาวะระบาด เพียงแต่ว่าการระบาดของพวกเรายังไม่เป็นอันตรายต่อคนในระบบโลกเก่า รอให้มันกลายพันธุ์และระบาดเต็มที่ วันนั้นคนในโลกเก่า ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง เขาจะรับมือกับสถานการณ์หรือความคิดของผู้คนที่มีความคิดเปลี่ยนแปลงไปแล้วไม่ได้
 
 
หมายเหตุ: ประชาไทจะทยอยนำเสนองานเสวนาดังกล่าวในวันต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net