Skip to main content
sharethis

ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทยแจงเหตุผลหยุดเดินรถไฟเพราะรัฐบาลไม่ทำตามที่ตกลงไว้กับสหภาพฯ คิดแปรรูปกิจการรถไฟ จะกระทบกับประชาชนในวันข้างหน้า ดังนั้นพนักงานจึงพร้อมใจกันหยุดเดินรถ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเจรจาด้วย

 

 รถไฟหยุดเดินทั่วประเทศ ค้านแปรรูป

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า เช้าวันนี้ (22 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวได้รับร้องเรียนจากประชาชนจำนวนมาก ว่า รถไฟที่สถานีหัวลำโพงหยุดเดินรถทุกขบวนโดยไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทำให้ประชาชนจำนวนมากที่รอโดยสารรถ ได้รับความเดือดร้อน ขณะเดียวกันก็ได้รับรายงานว่า รถไฟในต่างจังหวัดก็หยุดเดินรถด้วยเช่นกัน มีเพียงบางขบวนเท่านั้นที่ยังคงวิ่งบริการอยู่
 
ที่สถานีรถไฟยะลา อ.เมือง จ.ยะลา ประชาชนที่เดินทางไปยังสถานีรถไฟเพื่อไปใช้บริการรถไฟฟรี ปรากฏว่าในเช้าวันนี้ต่างผิดหวังเนื่องจาก พนักงานของการรถไฟฯ ได้หยุดงาน และไม่มีรถไฟวิ่งผ่านสถานีรถไฟยะลา มีเพียงขบวนรถไฟท้องถิ่นที่ออกจากสถานีรถไฟยะลา และที่วิ่งจากสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก ปลายทางสถานีชุมทางหาดใหญ่ เพื่อนำขบวนรถไฟทั้งหมดไปรวมกันที่สถานีรถไฟหาดใหญ่ ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยรถยนต์แทน
 
ขณะเดียวกัน นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ให้สัมภาษณ์ในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทางโทรทัศน์ช่อง 3 ถึงการที่รถไฟหยุดให้บริการว่า เป็นเพราะรัฐบาลไม่ทำตามที่ตกลงกันไว้กับสหภาพฯ เรื่องแปรรูป รฟท.และว่า การเปลี่ยนแปลงจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในวันข้างหน้า เพราะฉะนั้นพนักงานจึงพร้อมใจกันหยุดให้บริการเดินรถ เพื่อให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาทำความตกลงกับสหภาพฯก่อน ทั้งนี้ มติของสหภาพฯ คือ พนักงานจะพร้อมใจกันหยุดเดินรถทั่วประเทศ เพื่อยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล และการรถไฟฯ ขอหยุดการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง แต่รถไฟจะหยุดหมดทุกขบวนหรือไม่อยู่ระหว่างการติดตามดูอยู่ โดยขอคุยกับคนเกี่ยวข้องทั้งหมด จะเป็นรัฐมนตรีก็ได้ สหภาพยืนยันว่าไม่ต้องการให้ประชาชนเดือดร้อน
 
นายสาวิทย์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาเคยชี้แจงปรึกษา และได้ยื่นหนังสือต่อรัฐบาลถึงแผนการฟื้นฟูดังกล่าว และได้ชี้แจงต่อพนักงาน ซึ่งพนักงานยืนยันในหลักการเดียวกันว่า รับไม่ได้ต่อแผนฟื้นฟูดังกล่าว เพราะจะทำให้เอกชนเข้ามามีบทบาทแปรรูปการรถไฟ ซึ่งจะกระทบต่อประชาชนในอนาคต โดยแผนแปรรูปที่รัฐบาลมีมติไปก่อนหน้า คือ ตั้งบริษัทลูก 2 บริษัท คือ บริษัท บริหารทรัพย์สิน และบริษัทเดินรถ ทำหน้าที่ในการพัฒนาและบริหารจัดการเรื่องที่ดิน บริการขนส่งโดยสาร และรถสินค้า ต่อไปจะไม่มีการรถไฟแห่งประเทศไทย ภารกิจทั้งหมดจะตกอยู่ที่บริษัทเอกชน ซึ่งในแผนฟื้นฟูเขียนไว้ชัดเจนว่า จะปรับในเรื่องอัตราการบริการ ซึ่งจะกระทบต่อพี่น้องประชาชนในวันข้างหน้า เพราะหากถ่ายโอนให้เอกชนดำเนินการ จะทำให้ค่าบริการแพงขึ้น บริษัทแม่คือ รฟท.จะดูแลเพียงช่วงแรกนั้น ต่อไปเอกชนจะยึดครองหมด
 
สำหรับนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ยังมีตำแหน่งเป็นเลขาธิการสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เป็นแกนนำรุ่น 2 ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ส่วนภรรยาของนายสาวิทย์ แก้วหวาน คือนางเสน่ห์ หงษ์ทอง มีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหาร “พรรคการเมืองใหม่” ที่ก่อตั้งโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยด้วย
 
ขณะที่นายสมศักดิ์ โกศัยสุข 1 ใน 5 แกนนำพันธมิตรฯ และหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ ในอดีตเคยเป็นประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย และเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ปัจจุบันยังเป็นที่ปรึกษา สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์อีกด้วย
 

ผู้ว่า ร.ฟ.ท. เร่งเจรจาแล้ว
สำหรับการหยุดเดินรถไฟครั้งล่าสุดนี้ นายยุทธนา ทับเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าววันนี้ (22 มิ.ย.) ว่า รถไฟที่หยุดวิ่งในเวลานี้ ส่วนใหญ่เป็นรถดีเซลที่วิ่งในระยะทางสั้นๆ จึงได้เตรียมแผนรองรับโดยให้พนักงานรถจักรขับรถช่างเครื่องไปแก้ไขปัญหา เฉพาะหน้าก่อน และจะสับเปลี่ยนเวรเข้าไปให้มากกว่าเดิม
 
นายยุทธนา กล่าวด้วยว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้ลงไปชี้แจงกับพนักงานทั่วประเทศ เกี่ยวกับการปรับโครงสร้าง รฟท. ที่จะมีการตั้งบริษัทขึ้นมาโดย รฟท.ถือหุ้น 100% จะไม่มีเอกชนเข้ามาถือหุ้นแม้แต่หุ้นเดียว อย่างไรก็ตาม กำหนดการเดิมจะเชิญตัวแทนสหภาพฯ เข้าหารือในวันพรุ่งนี้ (23 มิ.ย.) แต่เมื่อเกิดการหยุดเดินรถเช่นนี้ ก็จะเชิญตัวแทนสหภาพฯ และผู้เกี่ยวข้องหารือเพื่อแก้ปัญหาในช่วงสายวันนี้เลย สำหรับหมายเลขโทรศัพท์เพื่อทราบถามเส้นทางเดินรถและการคืนตั๋วโดยสารคือหมาย เลข 1690
 
 
โสภณ ซารัมย์บอกรู้ัตั้งแต่เมื่อคืนแล้ว สั่งใช้รถเมล์บรรเทาปัญหา
ส่วนนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงกรณี ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยหยุดให้บริการนั้น ความจริงตนทราบเรื่องตั้งแต่กลางดึกของคืนวานแล้ว สำหรับขบวนรถไฟที่หยุดให้บริการคือรถไฟดีเซลรางที่วิ่งตามชานเมืองเท่านั้น ส่วนรถไฟที่ให้บริการตามต่างจังหวัดยังคงเปิดให้บริการตามปกติ โดยขณะนี้ได้สั่งการให้รถเมล์ฟรีไปวิ่งรถแทนและสำรองการเดินรถชั่วคราว ซึ่งคาดว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการเดินรถตามต่างจังหวัด
 
สำหรับปัญหาและข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานรถไฟนั้น นายโสภณ กล่าวว่า ตนเองไม่ขัดข้องในการเรียกร้องข้อเสนอของพนักงาน แต่การเรียกร้องต้องเป็นไปตามลำดับ และยินดีรับฟังข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ในการนำไปปรับปรุง ฟื้นฟูและปรับปรุงการรถไฟฯ
 
 
หยุดมาแล้ว 3 ครั้ง ในรอบ 3 ปี
ในรอบ 3 ปีนี้ (พ.ศ.2550-2552) ในประเทศไทยมีการหยุดเดินรถไฟทั่วประเทศโดยสหภาพแรงงานการรถไฟฯ มาแล้ว 2 ครั้ง ในปี 2550 และ 2551 โดยการหยุดเดินรถไฟครั้งล่าสุดวันนี้ถือเป็นครั้งที่ 3
 
โดยครั้งแรกเป็นการหยุดเดินรถกะทันหันของพนักงานขับรถไฟ เมื่อ 31 ต.ค. 50 โดยใช้วิธีให้พนักงานขับรถไฟและช่างเทคนิคลาหยุด รวมทั้งใช้วิธีหยุดเดินรถและจอดกลางคัน การนัดหยุดงานในครั้งนั้นทางสหภาพแรงงานฯ ให้เหตุผลว่าเพื่อคัดค้านแผนการแปรรูปกิจการรถไฟของรัฐบาล ก่อนที่จะมีการเจรจากับบอร์ดบริหารของการรถไฟแห่งประเทศไทยและมีข้อตกลงกับทางสหภาพแรงงานและให้เดินรถตามปกติได้ในวันที่ 1 พ.ย. 50
 
ทั้งนี้ ข้อตกลงที่บอร์ด ร.ฟ.ท. รับดำเนินการตามข้อเรียกร้องของสหภาพฯ คือ 1.เรื่องการทบทวนต่อสัญญาเช่าที่ดินบริเวณห้างสรรพค้าเซ็นทรัลลาดพร้าวของกลุ่มบริษัทเซ็นทรัลอินเตอร์พัฒนา จำกัด 2.จะมีการเร่งดำเนินคดีกรณีนักการเมืองจ.บุรีรัมย์โกงที่ดินรถไฟ 3.จะเร่งสอบถามถึงกรณีผู้กระทำผิดทางวินัยถึงการทำสัญญาก่อสร้างแอร์พอร์ตลิงค์ 4.ทบทวนการว่าจ้างหัวหน้าฝ่ายการเงินหรือ CFO 5.รับนำเสนอเรื่องการขอจ่ายค่าชดเชยผลขาดทุนเนื่องจากไม่ได้ขึ้นค่าโดยสารมูลค่า 23,000 ล้านบาท ใน 2 เดือน และ6.จะเร่งหาการเพิ่มอัตรากำลังพนักงานขับรถภายใน 2 เดือน รวมทั้งรับปากจะตรวจสอบสภาพการจ้างกรณีให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการเดินรถโดยต้องทำความตกลงกับสหภาพแรงงานด้วย
 
นอกจากนี้ทางบอร์ด ร.ฟ.ท. ยังมีข้อตกลงกับทางสหภาพแรงงานที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ร.ฟ.ท.ต้องไม่ติดใจเอาผิดทางวินัย และจะไม่ดำเนินคดีทั้งทางแพ่ง และทางอาญากับพนักงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
 
ในการหยุดเดินรถไฟครั้งนั้น นายอารักษ์ ราษฎ์บริหาร หัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน การรถไฟแห่งประเทศไทย ระบุว่าความเสียหายจากการหยุดเดินรถไฟของพนักงานขับและช่างเครื่องเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 50 คิดเป็นค่าเสียหายประมาณ 10 ล้าน 4 แสนบาท ซึ่งเป็นรายได้ที่ ร.ฟ.ท.จะต้องได้โดยมีในส่วนของตั๋วโดยสารและค่าขนถ่ายทางรถยนต์ประมาณ 5 ล้าน 9 แสนบาท ค่าระวางสินค้าประมาณ 4 ล้าน 6 แสนบาทรวมทั้งประชาชนที่เดือดร้อนไม่สามารถเดินทางได้หลายหมื่นคน และสินค้าขนส่งไม่ได้
 
ครั้งที่ 2 เป็นการหยุดเดินรถไฟทั่วประเทศในวันที่ 28 ส.ค. – 12 ก.ย. 51 โดยใช้วิธีเดิมคือให้พนักงานขับรถไฟลาหยุด และหยุดเดินรถไฟกลางคัน ทั้งนี้เพื่อเสริมมาตรการกดดันให้รัฐบาลลาออก ในช่วงการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เข้าไปยึดทำเนียบรัฐบาล โดยครั้งนั้นหลังจากกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย เจรจากับสหภาพแรงงาน รฟท. แล้วในวันที่ 12 ก.ย. การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ประกาศเดินรถไฟสายใต้ได้ตามปกติในวันที่ 15 ก.ย. 50
 
โดยในครั้งนั้นนายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการ รฟท. ให้เหตุผลในการไม่เดินรถไฟทันทีหลังเจรจากับสหภาพแรงงานได้สำเร็จว่า เพื่อมีการตรวจความพร้อมของระบบรางและหัวรถจักร รวมถึงระบบจำหน่ายตั๋วโดยสารต่างๆ ซึ่งจะต้องมีเส้นทางผ่าน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหาถอดน็อตรางรถไฟและปัญหาก่อกวนจากผู้ไม่หวังดีในรูปแบบต่างๆ
 
นอกจากนี้ รฟท. ได้คำนวณความเสียหายของการหยุดเดินรถไฟทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 28 ส.ค. – 12 ก.ย. 51 เอาไว้ที่ 120 ล้านบาท
 
 
ที่มา: เรียบเรียงข่าวบางส่วนจาก ไทยรัฐ คมชัดลึก และศูนย์ข้อมูลการเมืองไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net