สมัชชาคนจนสองพันคนปักหลักสู้ ยึดสันเขื่อนตั้งหมู่บ้าน รุกรัฐแก้ปัญหา

 

 
 
 
 
เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 52 ที่ผ่านมา กลุ่มสมัชชาคนจนเขื่อนหัวนาและเขื่อนราษีไศล จำนวน 2000 กว่าคน ได้มาชุมชนอยู่สันเขื่อนราษีไศล ที่ตั้งอยู่บ้านดอนงูเหลื่อม ต.หนองแค อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ มีมติร่วมกันที่จะปักหลักในการสร้างหมู่บ้านคนจนขึ้น หลังชุมนุมยืดเยื้อมาแล้ว 19 วัน แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหา
 
10.00 น นายประวัติ รัฐิรมย์ รองผู้ว่าราชการศรีสะเกษ พร้อมกับนายทรรศนันทน์ เถาหมอ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทาน 8 และนายจำรัส สวนจันทร์ หัวหน้าโครงการบำรุงรักษาระบบชลประทานมูนล่าง ตัวแทนกรมชลประทาน ได้เดินทางมา ณ.บริเวณสันเขื่อนราษีไศล เพื่อร่วมหารือแนวทางการแก้ปัญหาที่ยืดเยื้อยาวนาน กรณีเขื่อนหัวนา – เขื่อนราษีไศล กับชาวบ้าน โดยก่อนจะมีการประชุม นายประวัติ รัฐิรมย์ ได้ทำพิธีเปิดบ้านหมู่บ้านคนจนที่ตั้งอยู่บริเวณสวนหย่อมหน้าเขื่อนราษีไศล ซึ่งมีชาวบ้านได้มากลางเต็นท์ปักหลักอยู่ประมาณ 2000 กว่าครอบครัว
 
นายพุฒิ บุญเต็ม กล่าวว่า นับตั้งแต่เกิดโครงการเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนาตั้งแต่ปี 2536 ชาวบ้าน กว่าร้อยหมู่บ้าน หลายพันครัวเรือนไม่เคยได้อยู่อย่างสงบ เพราะไร่นาป่าทามถูกน้ำท่วมและรัฐบาลไม่ได้มีแผนการจะชดเชยความเสียหายใด ๆ ส่วนที่จ่ายค่าชดเชยไปบ้างแล้วก็เกิดจากการต่อสู้ของชาวบ้าน ด้วยความลำบากเลือดตากระเด็น มีหลายคนที่ล้มหายตายจากไป และบางคนก็ถูกจับซึ่ง เสียเงินทองและทรัพย์สินไปมากมาย เขื่อนทั้ง 2 ตัวนี้ถึงจะมีประโยชน์บ้าง แต่เทียบกันไม่ได้กับการสูญเสียและการกระทำด้วยการโกงชาวบ้าน
           
นายพุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่ากรณีเขื่อนราษีไศลชาวบ้านมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาค่าชดเชยที่เหลือประมาณ 70 % ซึ่งได้หลักการที่ชัดเจนหมดแล้วโดยให้ใช้มติครม.1 กุมภาพันธ์ 2543 ในการพิสูจน์ที่ดินทำกินและจ่ายในราคาไร่ละ 32,000 บาท แต่หลังจากนั้นกลไกการแก้ปัญหา ซึ่งอยู่ในมือกรมชลประทาน กลับไม่ทำงาน มีการเล่นแง่ หน่วงเหนี่ยวตลอดเวลา นอกจากนั้นปัญหาอื่น ๆ ยังไม่มีความคืบหน้า เช่นกรณี น้ำท่วมนานอกอ่างของเขื่อนราษีไศล และการศึกษาผลกระทบทางสังคม ของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเรื่องน้ำท่วมนานอกอ่างรัฐต้องตรวจสอบทรัพย์สินราษฎรที่ได้รับผลกระทบ(นานอกอ่าง)ซึ่งมีผู้เดือดร้อนมายื่นรายชื่อ 550 คน ตลอดจนต้องให้ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเขื่อนราษีไศล ส่วนกรณีรายชื่อผู้รับค่าชดเชย 12 ล้านหากมีการคัดค้านให้นำสู่กระบวนการอุทธรณ์
 
ส่วนด้านนายสมบัติ โนนสังข์ แกนนำชาวบ้านกรณีเขื่อนหัวนากล่าวว่า เขื่อนหัวนานับตั้งแต่มีมติครม. 25 กรกฎาคม 2543 ให้ยุติการดำเนินการใด ๆ จนกว่าจะศึกษาผลกระทบเสร็จ และให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินราษฎร แต่การตรวจสอบทรัพย์สินใช้เวลา 7 ปี แล้วยังไม่เสร็จ เพราะกรมชลฯหน่วงเหนี่ยว ไม่อยากรับรองสิทธิ์ ล่าสุดมติการประชุม 29 มกราคม 2552 ถูกเจ้าหน้าที่กรมชลประทานบิดเบือน โดยแต่งตั้งคำสั่งแต่งตั้งกรรมการไม่ให้มีอำนาจรับรองการตรวจสอบทรัพย์สิน
 
“เรื่องนี้ต้องมีการตรวจสอบ ลงโทษให้เหมาะสมที่มีกราดำเนินที่มีการโกงชาวบ้าน และต้องเร่งรัดให้มีการรับรองผลการตรวจสอบทรัพย์สินโดยเร็ว”แกนนำสมัชชาคนจนกล่าว
                 
ซึ่งในขณะนี้มีขบวนการล่ารายชื่อชาวบ้านเพื่อเสนอล้มมติ ครม.25 กรกฎาคม 2543 ให้ปิดเขื่อนหัวนา ทั้งที่การศึกษาผลกระทบยังไม่แล้วเสร็จ การตรวจสอบทรัพย์สินก็ยังไม่เสร็จ ชาวบ้านที่มาชุมชนกันที่สันเขื่อนราษีไศลจึงเรียกร้องให้รัฐยุติการกระทำดังกล่าว และให้สอบสวนผู้กระทำที่หยามน้ำใจชาวบ้านครั้งนี้
                 
นายพุฒ กล่าวทิ้งท้ายว่า ที่ประชุมได้รับข้อเสนอของชาวบ้านและจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอไปยังคณะกรรมการชุดใหญ่ซึ่งมีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ โดยชาวบ้านต้องการให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจในกระทรวงเกษตร กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งประชุมเจรจาตกลง ภายใน 3 วัน เพื่อกำจัดอุปสรรคในการแก้ปัญหาทุกอย่างที่เป็นอยู่ และเริ่มกระบวนการแก้ไขปัญหาทันที ถ้าหากยังไม่มีความคืบหน้าอีก ชาวบ้านจะปฏิบัติตามแผนงานที่วางไว้เพราะได้เตรียมที่จะลงมือทำนาบริเวณหน้าเขื่อนราษีไศลเพื่อสะสมเสบียงอาหารไว้สำหรับการต่อสู้ครั้งนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท