Skip to main content
sharethis

สบท.ร่วมกับองค์กรผู้บริโภคเปิดเวทีสาธารณะ “การใช้โทรคมอย่างเท่าทัน” ด้านเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ลุ้นร่างองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคฉบับประชาชนผ่านเข้าสภาสิงหาคมนี้ ให้โอกาสกฎหมายโดยผู้บริโภคเพื่อผู้บริโภคได้แจ้งเกิดบ้าง ขณะที่กรรมการ สบท. เตือนเด็กอย่าใช้มือถือมากเพราะมีผลกระทบกับสมองได้ ขณะที่ปัญหา SMS รบกวนต้องดันเป็นกฎหมาย Do not call เท่านั้น

  

วานนี้ (29 มิ.ย. 52) ที่ศาลาว่าการจังหวัดพะเยา สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมได้ร่วมกับ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดพะเยา กลไกประสานงาน ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ภาคเหนือ จัดงาน เวทีสาธารณะ “รับรู้ เข้าใจ เท่าทัน สิทธิผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม” โดยมีเครือข่ายประชาชนและองค์กรผู้บริโภคเข้าร่วมจำนวนมาก อาทิ เครือข่ายภาคประชาชน จ.พะเยา เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ เครือข่ายทนายอาสา เครือข่ายเด็กและเยาวชน เป็นต้น
 
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวถึงในประเด็นพลังประชาชนกับร่างกฎหมายองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคว่า ปัญหาโทรคมนาคมเป็นปัญหาทั่วโลก ที่อังกฤษเช่นกัน จากการสำรวจขององค์กรวิช ซึ่งเป็นองค์กรด้านผู้บริโภค พบว่า มีวัยรุ่นร้อยละ 80 ใช้เอสเอ็มเอสส่งข้อความอันมากเป็นปัญหาที่พ่อแม่ปวดหัวเนื่องจากค่าใช้จ่ายที่สูง เพราะฉะนั้น ขนาดเด็กอังกฤษก็ยังถูกหลอกไม่แตกต่างจากเด็กอื่นๆ ในโลก หรือ ในต่างประเทศมีกรณีรถเมล์ ที่คนขับเป็นคนขับรถสาธารณะมือใหม่ขับไม่เป็น สุดท้ายผู้โดยสารต้องเป็นคนลุกขึ้นมาขับให้แทน การขึ้นรถโดยสารก็อาจจะไม่ปลอดภัย การใช้โทรศัพท์ก็ปัญหาเยอะ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญคือ เราควรช่วยกันผลักดันกฎหมายที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค เพราะเรื่องของผู้บริโภคไม่ใช่เรื่องกิน เรื่องซื้อของ แต่เป็นเรื่องของวิถีชีวิต
 
สำหรับร่างกฎหมายองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคนั้น หัวใจสำคัญคือ ต้องเป็นองค์กรด้านการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งเป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ แม้ในเบื้องต้นจะอยู่ในระดับของการมีหน้าที่ให้ความเห็นกับรัฐบาลในการเสนอกฎหมายก็ตาม เพราะความเห็นต่างๆจะมาจากการทำวิจัย การรับฟังความเห็นจากผู้บริโภคที่อยู่กับปัญหา เพื่อนำไปสู่มาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น กรณีฉลากขนมเด็ก ก็จะทำให้เรามีโอกาสทำความเห็น ให้มีฉลากที่ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับเด็ก ให้เด็กได้ข้อมูลที่ถูกต้องจากสิ่งที่เขาตัดสินใจเลือกซื้อ เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่า เมื่อองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคแล้วสิ่งเหล่านี้น่าจะดีขึ้น
 
สำหรับความคืบหน้าของร่างกฎหมายองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภค นั้น น.ส.สารี กล่าวว่า ตอนนี้มีแนวโน้มที่ดีมาก หลังจากที่เราพยายามผลักดันมาตั้งแต่ปี 2540 จนปัจจุบันได้มีการร่างกฎหมายองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภค ในฉบับร่างประชาชน และร่างของรัฐบาล ซึ่งมีจุดที่แตกต่างคือ ร่างกฎหมายฉบับรัฐบาลให้อำนาจองค์กรฯเพียงแค่การออกความเห็น
 
ขณะที่ฉบับประชาชนนั้น สนับสนุนให้เกิดองค์กรผู้บริโภค เพื่อดำเนินการฟ้องคดีแทนผู้บริโภค ทำการศึกษาวิจัยที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค รวมทั้งที่สำคัญคือ องค์กรนี้ต้องมีความเป็นอิสระในเรื่องของงบประมาณ เพื่อให้เป็นองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง จึงได้มีการล่ารายชื่อ 10,000 ชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายนี้และได้มีการหารือกับรัฐบาลไปแล้ว 3 ครั้ง เพื่อนำทั้งสองร่างกฎหมายนี้มารวมกัน อย่างไรก็ตาม สำหรับร่างฉบับประชาชน ถ้าไม่มีปัญหาอะไรคือ ไม่ถูกคัดค้านจากหน่วยงานใด นายกรัฐมนตรี ก็จะเซ็นรับรองเพื่อรอเข้ารัฐสภาในเดือนสิงหาคมนี้
 
“เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะร่างของเราจะเข้าสู่สภาพร้อมกับร่างของรัฐบาล การเสนอร่างกฎหมายของภาคประชาชนไม่ใช่เรื่องง่าย ขณะนี้เรามีหน้าที่ที่ต้องทำให้ประชาชนเข้าใจว่า ถ้ามีองค์กรอิสระนี้เกิดขึ้นแล้วว่า เขาจะสามารถขึ้นรถเมล์อย่างปลอดภัยได้อย่างไร เราสามารถที่จะใช้สิทธิของเขาในการร้องเรียนผู้ที่เป็นตัวแทนในด้านการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคนี้ได้อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องปฏิบัติการร่วมกันต่อไป เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคร่วมกัน” นางสาวสารี กล่าว
 
ด้าน นายวรรณชัย สุวรรณกาญจน์ กรรมการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (กบท.) เปิดเผยถึงปัญหาข้อความสั้นรบกวนว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ตรงกันทั่วประเทศ และเป็นปัญหาซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่เกิดขึ้น ซึ่งทางสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) และเครือข่ายต้องมีการเคลื่อนไหว ผลักดันในเรื่องของปัญหาเอสเอ็มเอสต่อไป
 
ขณะที่ ดร.สุเมธ วงศ์พานิชเลิศ กรรมการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (กบท.) ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า เป็นสิทธิของผู้บริโภคที่จะรับหรือไม่รับเอสเอ็มเอส เพราะบางครั้งเป็นกรณีนำไปสู่การหลอกลวง หนทางในการแก้ปัญหาคือ การผลักดันเป็นกฎหมาย เรื่องของ การลงทะเบียน Do Not Call ซึ่งให้สิทธิกับผู้บริโภคในการระบุว่า เบอร์โทรศัพท์นี้ห้ามโทรมารบกวน ยกเว้นจะเป็นเรื่องเพื่อสาธารณะประโยชน์
 
ด้าน ดร.สุเมธ วงค์พานิชเลิศ ยังอภิปรายในประเด็นผลกระทบจากคลื่นสัญญาณต่อสุขภาพ โดยได้นำเสนอคลิปข่าวจากหลายประเทศที่พบกรณีศึกษาของผู้ได้รับผลกระทบจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เช่น ที่ประเทศอังกฤษ มีนักธุรกิจที่ใช้โทรศัพท์มือถือมาตลอด 14 ปี จนปีที่ 15 มีอาการแพ้คลื่นโทรศัพท์อย่างหนัก จนไม่สามารถใช้ได้เลย หรือ หญิงคนหนึ่งที่ต้องใช้ถุงมือชนิดพิเศษเพื่อป้องกันคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเนื่องจากแพ้อย่างมาก หรือ ที่ประเทศสวีเดน มีกรณีที่ต้องสร้างบ้านด้วยวัสดุที่ป้องกันคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ทั้งหลัง หรือการใช้สีทาบ้านที่สามารถป้องกันผลกระทบจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้ และรัฐบาลสวีเดน ยอมรับว่า นี่เป็นโรคชนิดหนึ่งที่ให้ต้องให้การช่วยเหลือ รวมถึงมีองค์กรสำหรับเด็กที่ออกประกาศเตือน เรื่องเด็กกับการใช้โทรศัพท์มือถือ
 
ดร.สุเมธกล่าวต่อไปว่า ที่น่าเป็นห่วงมากคือ เด็ก เพราะกะโหลกของเด็กยังบางมาก และช่วงที่เราใช้โทรศัพท์มือถือ เป็นช่วงที่เรารับคลื่นโดยตรงและมากที่สุด ในต่างประเทศ เช่น ประเทศนิวซีแลนด์ ได้ทำโฆษณายาวประกาศเตือนว่า การใช้โทรศัพท์มือถือเป็นอันตรายสำหรับสมองของเด็กแล้ว
 
“เด็กเริ่มมีการใช้โทรศัพท์มือถือมากขึ้น ถือเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง ทางที่ดีควรใช้โทรศัพท์บ้านดีกว่า เพราะราคาถูกและปลอดภัย นอกจากนี้ลักษณะการส่งสัญญาณของคลื่นนั้น ถ้าหากสัญญาณไม่ชัดต้องเลิกใช้เลย เพราะตัวเครื่องของคุณจะส่งกำลังคลื่นออกไปเต็มที่เพื่อให้รับสัญญาณให้ได้มากที่สุดจากเดิมที่อาจส่งสัญญาณออกไปแค่ 30-40 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าสัญญาณไม่ดีตัวเครื่องจะส่งสัญญาณออกไปแรงสุด ซึ่งจะทำให้คลื่นฯเข้าสู่สมองเราแรงสุด เพื่อให้คลื่นส่งและคลื่นรับสามารถสื่อถึงกันได้ ในขณะที่โทรศัพท์มือถืออยู่ใกล้กับสมองเรามากที่สุดด้วย” ดร.สุเมธกล่าว
 
นายชัยรัตน์ แสงอรุณ กรรมการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (กบท.) กล่าวถึง กรณีการเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ 107 บาท ว่า กรณีนี้เป็นบทเรียนที่ทำให้เห็นว่า ปัญหาของผู้บริโภคสามารถแก้ไขได้ โดยอาศัยพลัง 3 ส่วนคือ ความรู้ เครือข่าย และการผลักดันทางนโยบาย โดย คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เป็นพลังสำคัญที่ทำให้กฎระเบียบนั้นมีจริง ขณะที่ผู้บริโภคคือพลังทางสังคม และ สบท. คือพลังของความรู้

“อยากให้เรื่องนี้เป็นธงว่า ถ้าเรื่องนี้ทำได้ เรื่องทุกเรื่องที่เป็นปัญหาการละเมิดสิทธิผู้บริโภคโดยพื้นฐาน เช่น เอสเอ็มเอสรบกวน ผลกระทบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ก็สามารถมีทางออกได้กรณีของการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ เมื่อผู้บริโภคร้องมาที่ สบท. โดย สบท.วินิจฉัยวิเคราะห์ว่า มันผิดกฎหมาย ตามประกาศกทช. เรื่องมาตรฐานสัญญา ดังนั้นในอนาคต กฎหมายและ ศาลจึงเป็นที่พึ่งสุดท้าย และกฎหมายควรตราขึ้นมาจากประชาชน” นายชัยรัตน์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net