Skip to main content
sharethis
 
เป็นเรื่องยากพอสมควร ที่ประชาไทจะขอสัมภาษณ์พิเศษ “บรรจง นะแส” เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองทะเลไทย ในสถานะปัจจุบัน คือ ว่าที่ 1 ใน 27 “กรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่” ชุดก่อตั้ง
 
ประชาไทจึงขอร่วมวงสัมภาษณ์ผ่านรายการ “สภาโฟกัส” ทางสถานีวิทยุ 103 โฟกัสเรดิโอ จังหวัดสงขลา เมื่อวันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน 2552 เวลา 10.00 – 12.00 น. ดำเนินรายการโดยนายประสาน สุขใส และดีเจหนุ่มเมืองสิงห์ มุมมองการเมืองใหม่ กับบทบาทในการก้าวเข้ามาสู่การต่อสู้ทางการเมืองในระบบของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ด้วยการตั้งพรรคการเมือง ในสายตาเอ็นจีโอสายใต้ชื่อดังคนนี้ มีความน่าสนใจมากน้อยแค่ไหนกับการขับเคลื่อนงานเพื่อสังคมในบทบาทใหม่ครั้งนี้
 
.....................................................
 
 
ในฐานะคนสงขลาที่เป็นแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยคนสำคัญ มีชื่อเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่ด้วยนั้น ที่มาที่ไปแนวคิดของแนวทางพรรคการเมืองใหม่เป็นอย่างไร
 
ในฐานะเป็นคนสงขลา อยากจะเรียนว่า จริงๆแล้ว ผม 20 กว่าปีที่ทำงาน ไม่เคยสนใจที่จะเข้าไปสู่วิถีการเมืองสักเท่าไหร่ ความเป็นมาก็สั้นๆ ที่เรารู้กันปี 2548 – 49 มีการรณรงค์เรื่องขับไล่ระบอบทักษิณกัน ช่วงนั้นพวกผมทำงานพัฒนาชนบทก็เห็นปัญหาของระบอบทักษิณ หรือของพรรคไทยรักไทยเดิมที่กระทำกับภาคใต้ที่เราไม่เห็นด้วย อาจจะผิดถูกก็แล้วแต่ แต่ในประเด็นที่จะนำพาสังคมปักษ์ใต้ หรือสังคมไทยไปสู่ระบบทุนนิยม แล้วค่อนข้างเป็นสังคมทุนนิยมสามานต์ แล้วมันเป็นรูปธรรมของการกระทำที่โหดร้ายความบาดเจ็บของคนใต้เรา มีฆ่าตัดตอน กรณีแทรกแซงส่วนต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบของสังคมใหญ่
 
พอเป็นอย่างนั้นเราก็กระโดดเข้าร่วม เพราะว่าตอนนั้นมันเชื่อมโยงกับโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่อำเภอจะนะด้วย เพราะท่านนายกฯทักษิณ(พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) ลงไปคุยกับพี่น้องที่จะนะ บอกว่าถ้าไม่เหมาะสม ถ้ามันไม่สอดคล้องอะไร ก็ยินดีจะแก้ไขปรับปรุง นักวิชาการ 1,300 กว่าคนก็คัดค้าน ในส่วนของงานวิชาการเรื่องเขตแดน เรื่องผลประโยชน์ระหว่างไทยกับมาเลเซียใช่ไหม แล้วก็ได้ข้อสรุปว่าเราเสียเปรียบ
 
แล้ววันนี้ก็เป็นจริงอย่างที่ว่า จะว่าตอนนั้นท่านทักษิณบอกว่าจะยินดีรับฟังและแก้ไข ไปๆ มาๆ ก็ไม่แก้ไข ทั้งๆที่ไปคุยกันที่เทพาบีช รีสอร์ท จำได้เมื่อปี 45 เดือนมกราคม นักวิชาการไทยที่เห็นว่าสงกรานต์นี้ในส่วนของภาพรวมของประเทศ เราเสียเปรียบมาเลเซียมาก เราได้ไม่ถึง 12% ใช่ไหม แล้วก็ในส่วนของพี่น้องจะนะที่รู้ๆ กันการละเมิดสิทธิชุมชน การใช้ความรุนแรงในการทำร้ายพี่น้อง จนวันนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ตกเป็นจำเลย ในวันที่ 24 ก็จะขึ้นศาล ตั้งแต่อธิบดีตำรวจขึ้นไปก็ต้องขึ้นศาลเป็นจำเลยของพี่น้องจะนะ อันนี้มันพิสูจน์ให้เห็นว่าแนวทางของพรรคไทยรักไทยสมัยนั้นมันไม่ไหวครับ
 
พวกผมที่เป็นองค์กรภาคเอกชนจึงกระโดดเข้าร่วมไล่ระบอบทักษิณ ก็เหมือนที่รู้กัน สูญเสียเจ้าหน้าที่ไปด้วยคนหนึ่ง ชื่อ คุณทัศนีย์ รุ่งเรือง หรือ ปาน ทำงานอยู่ที่จะนะ ปี 49 ก็เสียน้องไปคนหนึ่งในช่วงไล่ระบอบทักษิณ
 
ทีนี่พอมาปี 2550 – 51 ก็เปลี่ยนระบอบทักษิณจากตัวท่านเองมาเป็นนอมินี เหมือนที่เรารู้กัน แล้วก็ยังเดินหน้าเหมือนเดิม ในส่วนนั้นผมเป็นเลขาธิการของกป.อพช.(คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน)ภาคใต้ พี่น้องเลือกให้ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการขององค์กรเอกชนในภาคใต้ พอจัดประชุมกรรมการว่า เอาอย่างไรกับนายกฯคนนี้ ทั้งหมดก็ลงกระบวนในการจัดการกับระบอบทักษิณ ผมก็เลยจำเป็น น้องผลักขึ้นเวที ก็ต้องชก
 
กระบวนการไล่ทักษิณก็จบลงปลายปี ที่มีการพิพากษาออกมาแล้วท่านนายกฯสมัคร(สมัคร สุนทรเวช) นายกฯสมชาย(สมชาย วงศ์สวัสดิ์) ก็ต้องไป ก็จบลง ที่นี่โดยบทบาท เราก็น่าจะทำหน้าที่เท่านั้น แล้วกลับมาทำงานเหมือนเดิม เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ก็ครบปี ได้มีการประชุมใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ผมก็คิดว่า งานนี้ไปก็เจอพรรคพวกพี่น้องที่ไปจากปักษ์ใต้บ้าง จากทั่วประเทศบ้างที่ไปร่วมชุมนุมกัน 193 วันจะได้ทักทายและอำลากันครั้งสุดท้าย ผมก็คิดในใจอย่างนั้น
 
ที่นี้ปรากฏว่า พอไปถึงมันมีโจทย์ต่อว่า มีการลงฉันทามติว่า พันธมิตรควรจะตั้งพรรคการเมือง พอเป็นแบบนั้น ก็คล้ายๆกับว่ามันยังไม่จบ แกนนำทั้ง 5 คนก็บอกว่า ในเมื่อเป็นฉันทามติของพี่น้องพันธมิตรที่จะให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองนี้ จะต้องหากลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งเพื่อทำทางนิติกรรมโดยจดทะเบียนพรรค ผมก็ถูกลากเข้าไปด้วยโดยไม่ปฏิเสธ
 
เราก็ไม่ควรจะทิ้งเพื่อน พี่น้องเพื่อนฝูงที่เขามอบฉันทามติ วันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา ทางแกนนำก็ได้เรียกประชุม ควรจะทำในสิ่งที่เป็นเจตนารมณ์ของวันที่ 25 ที่ธรรมศาสตร์ให้สำเร็จ คือการตั้งพรรคการเมือง ก็มีการประชุมกันตั้งชื่อพรรค ข้อบังคับพรรค กรรมการบริหารพรรคชุดแรก ไปดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยพรรคการเมืองปี 2550 มาตรา 8 – 11 ว่าด้วยเรื่องการจัดตั้งพรรค มีคน 15 คนขึ้นไป ยกร่างนโยบาย ข้อบังคับพรรค ตราพรรค ตัวย่อพรรค
 
ผมถูกชักชวนให้ช่วยกันทำภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้เรียบร้อย ถ้าจะไปก็ให้ไปหลังจากนี้ ผมก็เลยต้องไปด้วย พอวันที่ 3 มิถุนายน มี 27 คนที่มีการเลือกตั้งโครงสร้าง ตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งวันนี้ วันที่ 4 มิถุนายน ที่กกต.(คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ยังไม่บอกมา บอกว่าอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบ ผู้ที่ไปจัดแจ้งพรรคการเมืองใหม่ที่มี 27 คน มีใครขาดคุณสมบัติบ้างไหม ถ้าไม่ขัดและไม่เกินวันที่ 4 เดือนหน้านี้ กกต.ก็จะให้การรับรอง
 
หลังจากนั้นก็จะเป็นกระบวนในการทำพรรคการเมืองใหม่ที่คิดกันไว้ว่า มันควรจะใหม่ในเรื่องอะไรบ้าง ที่มันแตกต่างจากการเมืองเก่าอย่างไรบ้าง เรื่องนโยบาย เรื่องโครงสร้าง นี่เป็นภารกิจ หลังจากนั้นคงเข้าสู่ตามมาตรา 27 พวกผมเป็นแค่กรรมการก่อน หลังจากเราจดแจ้งแล้ว ก็มีข้อบังคับตามกฎหมายว่า ต้องมีสมาชิกอย่างต่ำ 5,000 คน ต้องมีสาขาพรรคทั้ง 4 ภาค ซึ่งศักยภาพของพันธมิตรทำได้ทันที ทำได้อยู่แล้ว
 
จากนั้นก็นำไปสู่กระบวนการที่เราคุยกันในกรรมการพรรคชุดก่อตั้งว่า จะทำอะไรบ้าง เช่น กระบวนการทำให้พี่น้องเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งมี 2 เรื่อง คือเรื่องนโยบายพรรคกับข้อบังคับ คือถ้าเราดูพรรคการเมืองเก่าๆ ที่เขาจดกันเอาไว้ มีการจ้างนักวิชาการด้วย ก็เอาเป็นนโยบายพรรคและก็หาสมาชิกให้ครบตามที่กฎหมายกำหนด
 
มีนายทุนอยู่หนึ่งคน
 
นี่คือสิ่งที่เรา น่าจะสร้างความเป็นประชาธิปไตยขึ้นในพรรค ระบบสาขาพรรคเป็นอย่างไร ต้องเป็นหลังที่กกต.รับรอง
 
แนวทางเบื้องต้นที่กลั่นกรองออกมาเป็นพรรคการเมืองใหม่นี้ อยากให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไร
 
สิ่งหนึ่งสำคัญคือ เราต้องตั้งสติว่าทำไมต้องมีพรรคการเมืองใหม่ พรรคที่เขามีอยู่แล้วเยอะแยะ ทำไมเรามาสนใจบ้าง บางคนไม่เคยสนใจที่จะเป็นสมาชิกพรรค แต่หลังจากที่เรามีการจัดตั้งพรรคมีคนโทรมาเยอะมาก เสนอห้องแถวให้เป็นที่ทำการพรรค ที่สาขาพรรค ผมว่าถ้าคิดอย่างนั้นจะเป็นการเมืองเก่า
 
ในทัศนะของเราที่คุยกันว่า ต้องเริ่มจากการเข้าใจในเนื้อหาว่า เราจะนำพานโยบายของประเทศ เราต้องคิดถึงระดับประเทศมันต้องพูดถึงการนำพาประเทศ ทางไหนที่เราเชื่อและเห็นด้วยในเรื่องเดียวกัน หลังจากนั้นเราก็หาสมาชิกพรรค คุณก็มาสมัครเป็นสมาชิกพรรคก็จะมีส่วนรวม ขั้นตอนสำคัญที่คิดกันไว้ คือหลังจากที่ กกต.รับรอง ก็จะมีการทำ 2 เรื่อง คือ 1 เราจะไม่ปล่อยให้นักวิชาการทำอย่างเดียว นโยบายมีคนเขียน ใครก็สามารถเขียนได้ เพียงแต่เราเอานโยบายของพรรคอื่นมาดูแล้วก็อปปี้ พรรคการเมืองใหม่ไม่ได้วางแนวไว้อย่างนั้น
 
เราวางแนวเอาไว้ว่า 2 เรื่อง คือเรื่องของนโยบายพรรคมีการตระเวนไปในทุกภาค เพื่อทำนโยบายที่ไม่ใช่เป็นนโยบายเดียว เหมือนกันทั้งประเทศ นโยบาย 3 จังหวัดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง นโยบายเรื่องลุ่มน้ำทะเลสาบก็อีกเรื่องหนึ่ง นโยบายเรื่องผลักดันน้ำมันก็อีกเรื่องหนึ่ง ภาคกลางอีกเรื่อง อีสานก็อีกเรื่อง ทำอย่างไรถึงจะได้กรอบ พี่น้องประชาชนเข้ามาส่วนร่วมเพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหา มีเรื่องการแก้กฎหมายที่พูดในเบื้องต้นว่ามันต้องกินได้เป็นรูปธรรมจับต้องได้ เป็นนโยบาย
 
หลังจากนั้นก็ ส่วนที่ 2 ที่สำคัญ ที่เป็นจุดอ่อนของพรรคการเมืองเก่าที่เป็นข้อบังคับ เป็นบทเรียน อย่างจังหวัดสงขลา ในส่วนที่นำไปสู่การปฏิบัติ ปกติกรรมการพรรคจะมีอำนาจหน้าที่อย่างไร ที่สงขลาผมก็มีเพื่อนที่สังกัดพรรคการเมืองเป็นกรรมการสาขาพรรค คนนี้ควรได้ลง แต่อยู่ๆคนขับรถ ถ้าเราเป็นพรรคการเมืองใหม่ เราจะให้ปรากฏนี้เกิดขึ้นไม่ได้ จะไม่ให้เป็นอย่างนั้น เพราะมันเป็นแบบพรรคการเมืองเก่า พรรคก็จะเป็นอีกเนื้อหาหนึ่ง การมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรค ไม่ใช่นายทุนหิวกระเป๋าเข้ามาในพรรค อย่างนั้นก็เป็นพรรคการเมืองเก่า การมีส่วนร่วมในการบริจาคซึ่งเป็นสมาชิกที่ร่วมสมทบแล้วก็ทำเป็นประชาธิปไตยในพรรค หลังจากนั้นก็จะเดินหน้า
 
ฉะนั้นสิ่งที่ถามว่าคนสงขลาเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไร ผมคิดว่า หลังจากที่ กกต.รับรอง ทางพรรคเราจะมีการจัดให้มีการประชุม 2 เรื่องนี้ คือ เรื่องนโยบายพรรคกับข้อบังคับพรรค คงจะมีการเชิญชวน จัดเวทีระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ให้พี่น้องเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอ พอนำเสนอเสร็จแล้ว สรุปยอดออกมาเป็นข้อบังคับพรรค เอาตรงนั้นมาดู ถ้าพี่น้องเห็นด้วยก็สมัครเป็นสมาชิก อย่าใจร้อนที่จะเป็นสมาชิก เพราะว่าการสมัครสมาชิกไม่ใช่ว่า เป็นการสมัครสมาชิกเก่า ดูเป้าหมาย สักวันหนึ่งเขาก็จะมาถอนจากการเป็นสมาชิกจากที่นั่นที่นี่ เราไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น แค่พรรคเฉพาะกิจ อาจจะไม่ได้ สส.สักคนหนึ่งแต่มันได้กลุ่มคนที่คิดเรื่องนโยบาย คิดเรื่องทิศทางบ้านเมืองจะไปอย่างไร อันนี้น่าจะเป็นหัวใจของพรรคการเมืองใหม่
 
มีคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย กับการตั้งพรรค แน่นอนที่สุด กำลังหลักของพันธมิตรฯคือคนปักษ์ใต้ทั้งคนสงขลา สุราษฎร์ นครฯ แล้วคนกลุ่มหนึ่งยึดโยงอยู่กับการเมืองที่เขารู้สึกว่าเป็นพรรคของเขามานาน
 
ส่วนใหญ่ก็เป็นสมาชิกของพรรคประชาธิปัตย์
 
ตรงนี้จะเป็นปัญหาไหม
 
ก็ยังพูดคุยเหมือนกัน ส่วนตัวผมคิดว่า การแข่งขันกันทำความดีไม่ควรไปกังวล ถ้าพี่น้องที่เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ไปดูว่าในพรรคประชาธิปัตย์มีจุดอ่อนอะไรบ้าง เรื่องข้อบังคับพรรค เรื่องนโยบายพรรค ท่านก็เป็นสมาชิกของพรรคประชาธิปัตย์ไปปรับในสิ่งที่ท่านไม่ชอบ ให้เป็นประชาธิปไตยขึ้น ให้เป็นพรรคการเมืองใหม่ในพรรคประชาธิปัตย์ที่สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง แล้วก็สามารถกำหนดพรรคได้ ไม่ใช่แค่นายทุนพรรคหรือกรรมการบริหารพรรค ถ้าเราเห็นปรากฏการณ์นี้ พี่เป็น ส.ส.(สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) น้องเป็นส.ว.(สมาชิกวุฒิสภา) อย่าไปว่าแต่อีสานน่ะ ปักษ์ใต้เราก็เป็นเกือบทุกจังหวัด
 
ถามว่า อันนี้เป็นการเมืองใหม่ไหมในประชาธิปัตย์ ถ้าพี่น้องที่เป็นสมาชิกประชาธิปัตย์ บอกว่า เป็นเราเป็นสมาชิก อยู่พี่น้องก็ไปเข้าสู่กระบวนการนำเสนอ ซึ่งผมก็คิดว่าก็ยังดี เป็นเรื่องดีที่พรรคของปักษ์ใต้ที่อยู่มานานแล้ว มีจุดอ่อนบางส่วนก็พี่น้องที่เป็นสมาชิกก็เข้าไปช่วยกันปรับปรุง ถ้ากรรมการพรรคเขาเห็นด้วย ยืดหยุ่น นำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ ก็ไม่มีปัญหา พี่น้องก็เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ไป
 
พรรคการเมืองใหม่ที่จะตั้งขึ้นมาใหม่ ในทัศนะของผมประมาณว่า การเมืองมันเป็นการอาสาสมัคร ถ้าเราไม่เข้ามาเพื่อมาหาผลประโยชน์ อาสาสมัครที่จะทำความดี แก้ไขปัญหา ยิ่งหลายพรรคยิ่งดี
 
แต่บางคนกังวลว่า เดี๋ยวต้องมาแตกกันเอง แล้วเวลาไปเลือกตั้งใหม่ยังต้องไปสู้กับพรรคเพื่อไทย
 
คือท่านคิดแบบพรรคการเมืองเก่าก็เลือกประชาธิปัตย์ไปก่อนก็แล้วกันเพื่อไปสู้กับพวกนั้น แต่ก็จะไม่ดูเนื้อหา ไม่ดูระยะยาวว่า เราจะนำพาประเทศชาติไปทางไหน มันก็มองแค่อย่าไปแพ้ทางเหนืออีสานเรื่องอย่างนี้มันแคบไป แม้ว่าพี่น้องทางเหนือทางอีสานเขาก็เป็นคนไทย เปลี่ยนวิธีคิดเรื่องแยกเหนืออีสานใต้ เป็นวิธีที่อันตรายสำหรับประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลาย ก็มาตั้งโจทย์คำถามว่าทางเหนืออีสานทำไมพี่น้องเขาเลือกพรรคนั้น มีปัจจัยอะไรหรือ ใช่ไหม
 
ผมลงพื้นที่เหนืออีสานอยู่เห็นปัจจัยบางอย่างใช่ไหม ผมไปบางอย่างเนี่ยพรรคพวกบอกว่า สามสี่ปีนี้ไม่เคยเสียค่าน้ำค่าไฟเลยน่ะ มีคนมารวมแล้วไปที่พรรคการเมืองหนึ่งก็มีการจ่ายให้ทั้งหมู่บ้าน พอใครเสียก็มาแล้วน้ำแข็ง เหล้าขาว สามสี่ลัง เต็นท์ มันลงถึงระดับหมู่บ้านงั้นจะไปโทษชาวบ้านก็ไม่ได้ว่า ทำไมถึงเลือกพรรคนี้ ระบบอุปถัมภ์อย่างนี้นี่มันลงไปถึงระดับหมู่บ้านระดับตำบล ผิดที่พี่น้องไหม แต่มันเป็นที่ระบบว่าสามารถมองไปข้างหน้าว่า ประเทศเราน่ะเราต้องพาประเทศไปข้างหน้าน่ะ เราต้องดูลูกหลานดูทรัพยากร ถ้าเราเห็นแก่เต็นท์แก่เหล้าขาวในงานศพแล้ว มันจะไม่ไหว
 
เป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองที่จะให้การศึกษา คือว่ามาดูระบบว่าทำไมระบบการเมืองอย่างนี้มันจึงส่งผลซึ่งผลของมันร้ายแรงมากทุจริตที่เกิดขึ้นต่างๆ ประชาชนเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา ขอให้งานศพของเรามีน้ำแข็งกับเหล้าขาวจาก สส.มาบริการ ฉะนั้นแล้วอันตรายมากน่ะ
 
การเมืองใหม่เราจึงไม่ควรมองเรื่องตรงนี้เป็นอุปสรรค คิดว่าอะไรที่เป็นสาเหตุหนึ่ง และก็นำนโยบายมาแก้ไขปัญหาคิดว่า ดีไม่ดีมันแลนสไลต์ได้ ถ้าคนเห็นว่าใช่ มันจำเป็นต้องมีระบบการเมืองใหม่ แม้สมัยแรกจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ถ้ายืนยันในเจตนารมณ์ที่จะนำพาประเทศไปในทิศทางที่จะพาทุกคนไปไม่ใช่เฉพาะคนปักษ์ใต้ ไม่ใช่เฉพาะคนเหนือคนอีสาน แต่จะพาประเทศไปในทุกมิติ มิติการเมืองระหว่างประเทศ มิติของสิ่งแวดล้อม มิติของโครงสร้างหน่วยราชการของแผ่นดิน วิถีของกลไกเหมือนราชการ
 
ถ้าสิ่งเหล่านี้ตกผลึกของคนที่รู้ทันทางการเมืองว่าถ้าเราจะนำพาประเทศไปเนี่ย สิ่งเหล่านี้ต้องเป็นอย่างนี้เท่านั้นที่ประเทศเราจะไปได้ที่จะแข่งขันกับอารยประเทศได้ถึงจะดูแลลูกหลานได้ถึงหลายเจนเรชั่นผมคิดว่าการทำการเมืองใหม่เนี่ยไม่ควรมาติดเล็กติดน้อย ติดประชาธิปัตย์ติดนู้ดติดนี่เพราะว่าผมว่านี่คืออุปสรรคมาก นี้คือการเมืองเก่าที่เราจมปรักกันมาหลายปีแล้วก็เผชิญหน้าร่วมกันทั้งสังคมไทย นี่คือประเด็นที่ผมมอง
 
การเมืองกับการเลือกตั้งเป็นเรื่องที่แยกกันไม่ได้ มองการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นครั้งแรกของพรรคการเมืองใหม่และคาดหวังกับที่นั่ง ส.ส.อย่างไรบ้าง
 
การเมืองกับการเลือกตั้งในทัศนะผม เพราะยังไม่ได้ประชุมคณะกรรมการพรรคผมคิดว่า ถ้าจะทำการเมืองใหม่ไม่ได้วางแค่การเลือกตั้งเท่านั้น การให้การศึกษา การขยายผลการของนโยบายพรรคว่า เราจะนำพาประเทศไปอย่างไร ยิ่งเป็นพรรคทางเลือกที่เพิ่งจัดตั้งใหม่ทำอย่างไรที่จะสื่อสารกับพี่น้องประชาชนให้เข้าใจเจตนารมณ์ ที่จะไปหัวใจที่สำคัญการเลือกตั้ง ก็เป็นแค่หนึ่งในข้อกำหนดของพรรคการเมืองบางพรรค อาจจะไม่ส่งคนลงเลยก็ได้
 
สองสมัยแรกการทำการเมืองที่ในระบบ คือทำนโยบายเผยแพร่ด้านนโยบายหาสมาชิกที่มีความรู้ความเข้าใจและเห็นด้วยกับพรรค แล้วพอถึงจุดๆหนึ่งมีความพร้อมเต็มที่ก็ประกาศส่งคนเลือกตั้งหรือการทำการเมืองในระดับที่ต่ำกว่าระดับประเทศ เช่น อบต.(องค์การบริหารส่วนตำบล) อบจ.(องค์การบริหารส่วนจังหวัด)
 
พรรคการเมืองใหม่เราเห็นว่า ตำบลนี้เรามีสมาชิกของเราเยอะ มีความต้องการที่จะทำการเมืองในระดับปกครองท้องถิ่น มีนโยบายของพรรคที่เน้นการมองไปข้างหน้า ไม่โกงไม่กินไม่หาผลประโยชน์ แล้วก่อตัวกันเป็นกลุ่มบุคคลของพรรคการเมืองใหม่
 
ผมก็มองว่าถึงการเลือกตั้งระดับชาติเท่านั้น ถ้าคุณจะเป็นพรรคการเมืองที่หวังขับเคลื่อนในทุกระดับองค์กรส่วนปกครองท้องถิ่น ซึ่งเดี๋ยวนี้มันก็เป็นอยู่แล้ว นายกฯของตำบลนั้นเป็นเด็กของพรรคนั้นพรรคนี้แต่มันเป็นเชิงบุคคลและไปขึ้นอยู่กับนายทุนพรรค
 
แต่ถ้าเป็นพรรคการเมืองใหม่ ก็คือระบบพรรคคือคุณก็ก็อปปี้ระบบพรรค ที่คุณจะเข้ามาเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คุณต้องมีระเบียบมีวินัยมีข้อบังคับในการเข้ามามีส่วนร่วมของสมาชิก ไม่ใช่รับคำสั่งมาจากส.ส.คนนั้นว่าไปลง อบต.บ้านนั้น เดี๋ยวให้เหล้า นี่เป็นการเมืองเก่า ทัศนะการเมืองใหม่ของผมเป็นอย่างนี้มองเฉพาะเรื่องการเลือกตั้งเป็นวิธีหลัก
 
ตั้งเป้าไว้กี่สมัยจึงจะสำเร็จได้เดินในเรื่องการเมืองใหม่
 
ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ เพราะหลังจากยื่นจดทะเบียนที่ กกต.ก็คงมีการทำนโยบายย่อย นโยบายทำในช่วงที่อยู่ในทำเนียบในแนวกรีน มองไปข้างหน้าไม่ใช่ไปก็อปปี้จากเยอรมันอย่างเดียว หมายถึงว่ามีทีมที่หาความรู้ในออสเตเรีย ในเยอรมันในยุโรปบางส่วนว่า สังคมที่บ้านเราที่จะไปข้างหน้ามันต้องไปในแนวกรีน คือวางเป้าของการบริหารประเทศอยู่ที่การใช้ภาษารวมยอดว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน มันมองอย่างนั้น
 
คำว่าการพัฒนายั่งยืนไม่ได้หมายความว่ากำลังกำลังถอยหลังเข้าคลอง ไม่ได้หมายความไม่มีการพัฒนาอุตสาหกรรม แต่มันหมายถึงการมองความสัมพันธ์ของต้นทุนไม่ว่าทัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม สุขภาพประชาชน การดูแลแม่ลำคลอง ทุ่งนา นี่คือทิศทางหลัก
 
การจัดโครงสร้างของพรรคกรีนมีหลายรูปแบบ ดูในท้องถิ่นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ถ้าพรรคการเมืองใหม่เราก็จะบอกว่า ทะเลสาบเป็นแหล่งอาหารใหญ่ของคนสงขลา สิ่งที่จะเป็นนโยบายในทะเลสาบก็ควรจะเป็นโรงงานที่อยู่รอบทะเลสาบควรจะจัดการอย่างไร จะเป็นในโทนนี้มากกว่า
 
แกนนำพันธมิตรจะมีบทบาทต่อไปอย่างไร ในภาคการตรวจสอบจะยังทำงานต่อไปอย่างไรเมื่อมาเป็นพรรคการเมืองเสียเองแล้ว
 
ผมคิดว่าเราไม่เคยชินกับการเมืองใหม่ทั้งระบบ สาเหตุที่มีคำถามนี้อยู่เพระเราเคยชินอยู่กับว่า ถ้าตั้งพรรคการเมืองแล้ว เรารู้ล่วงหน้าเลยว่าใครจะลงส.ส.สงขลา รู้ล่วงหน้าว่าใครจะลงสมัครสตูลหรือปัตตานี แต่ถ้าเราคิดในแง่วิถีทางการเมืองคุณจะเป็นส.ส.ได้ไม่ใช่ว่า จะไปจี้มาจากกรรมการบริหารพรรค คุณมีสมาชิกพรรคแล้ว สงขลานี้แหละจะเป็นคนลงส.ส.จะคิดว่าพรรคนี้ชี้คนลงมานั้น มันเป็นระบบการเมืองเก่า
 
ที่เราหวังจะให้เป็น คือมีระบบทุนพรรค ก็จะจัดระบบไพรมารี่โหวต เช่นว่าใครควรจะส่งในเขตสงขลา ไม่ใช่กำหนดโดยกรรมการพรรคนี้ คือความใฝ่ฝันที่จะไปให้ถึงคือทำอย่างไรให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมใน 2 เรื่องที่ผมกล่าวถึง คือนโยบายและข้อบังคับของพรรค การกำหนดคนลงสมาชิกได้รับการเลือกตั้งก็ต้องถูกกำหนดโดยสมาชิกพรรคที่ผ่านระบบสาขา ไม่ใช่สั่งจากเลขาธิการพรรคหรือแม้แต่หัวหน้าพรรคเอง
 
สภาพของผมที่กรรมการพรรคชั่วคราว ถามคุณสมศักดิ์ (โกศัยสุข หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่) ถามแกนนำที่อยู่ในพรรค ก็บอกว่าถ้าเรายังจะเป็นการเมืองเก่าจริง สมาชิกจะเป็นคนกำหนดไม่ใช่สนธิ ลิ้มทองกุลขึ้นมานั่งหรือเอาสมศักดิ์ โกศัยสุข มานั่งโดยอัตโนมัติไม่ใช่นะ แม้แต่ผมพอตั้งพรรคการเมืองเสร็จถ้าผมเห็นด้วยว่า นโยบายที่ผมผลักดันเข้าไป ใช่เลย เรายินดีจะลงไป เพื่อจะทำการเมืองนี้ ถ้าสมาชิกบอกว่าไม่เอาแล้ว เราก็ต้องถอยไปอยู่ที่เดิม ใช่ไหม เราไม่ควรใช้ระบบอุปถัมภ์หรือเส้นสายเพื่อที่จะเข้าสู่อย่างนั้น
 
ไม่ได้หมายถึงแกนนำพันธมิตร แกนนำผู้ชุมนุมจะเป็นกรรมการบริหารพรรค
 
อย่างนั้นเป็นการเมืองเก่า เราคาดหวังการเมืองการมีส่วนร่วมของสมาชิกเราคาดหวังความเป็นประชาธิปไตยต้องเริ่มจากภายในพรรคเพราะเราเชื่อในระบอบประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นสมาชิกทุกคนต้องมี หนึ่งเสียง ถ้าสงขลาบอกว่า อาจจะมีคนเสนอตัวเยอะก็ได้ว่าผมอยากลง ก็เอาชื่อคุณมาพิมพ์ทุกคน แล้วร่อนเอาสมาชิกลง นี่คือสื่งที่คุณถามว่า มันมีโจทย์ คือบางครั้งโจทย์มันยังมาไม่ถึงแต่คนติดอยู่กับระบบการเมืองเก่า
 
ค่อนข้างยากมากจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ในระบอบประชาธิปไตยด้วย
 
ก็ทางพรรคการเมืองที่แตกๆ กันเขาก็เป็นอย่างนี้ ที่อยู่ได้เพราะคุณลงขันเยอะมาก คุณก็เลยกำหนดมากที่บอกว่า พรรคการเมืองใหม่ไม่มีทางที่จะมีนายทุนพรรค ก็จะต้องพิสูจน์กัน ถ้าพรรคการเมืองอยากให้อยู่ภายในอุ้งมือของนายทุนถามว่าสังคมไทยเราโอเคไหม ถ้าโอเคก็เป็นต่อไม่ต้องมายุ่งกับการเมืองใหม่ แต่ถ้าไม่โอเคคิดว่า สิบบาทยี่สิบบาทสร้างภาคการเมืองของเราเริ่มจากนี้แหล่ะในทิศทางของคุณ เห็นด้วยไหมก็เข้ามา ไม่เห็นด้วยก็อยู่กับการเมืองเก่าก็แค่นั้นเอง
 
พอเป็นพรรคการเมืองมันก็ต้องเข้าไปบริหารอำนาจรัฐ แล้วก็เกี่ยวพันกับเรื่องอำนาจและผลประโยชน์ จุดปลายทางมันก็แย่งชิงอำนาจแย่งชิงผลประโยชน์เกิดความขัดแย้ง พรรคแตก มองไกลไปว่า อนาคตพรรคการเมืองใหม่อาจมีปัญหาเหมือนพรรคการเมืองเดิมๆ หลายคนกังกลว่าจะเหมือนพรรคพลังธรรม เพราะมีพล.ต.จำลอง ศรีเมือง อยู่ด้วย ที่ตอนนั้นทุกคนศรัทธา คิดว่าน่าสนใจเป็นการเมืองทางเลือก วันนี้พรรคการเมืองใหม่พูดคุยเรื่องนี้หรือยัง
 
ผมว่าประสบการณ์การตั้งพรรคการเมืองที่พยายามจะคิดในเชิงก้าวหน้าจริงๆ ไม่ใช่เริ่มจากพลังธรรม แต่เริ่มตั้งแต่พรรคความหวังใหม่ พรรคปฏิวัติของคุณอุทัย พิมพ์ใจชน ผมพยายามจะบอกว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯต้องมีการกระจายอำนาจปฏิรูปที่ดิน เมื่อไหร่ก็แล้วแต่ แต่ว่า ทามมิ่งของมันหมายถึง เวลาของการเกิดขึ้น บางที่มันเกิดหน้าแล้ง ก็ฝ่อตายได้ ถามว่าทามมิ่งวันนี้กับพรรคการเมืองใหม่ที่ตั้งขึ้น ผมก็ว่าห้าสิบๆ คำว่าทามมิ่งก็คือหลักการตื้นๆ ของประชาชนที่เห็นปัญหาโดยรวมของประเทศชาติว่า
 
ถ้าปล่อยไว้อย่างนี้เหมือนที่บอก เดียวนี้หมู่บ้านมีตั้งยาเสพติด การคอรัปชั่น มันไปทั่วหัวระแหง ทามมิ่งยังไม่มีอีกหรือ ที่ไม่พอเพราะว่า มีอะไรเป็นอุปสรรคระบบการสื่อสาร สื่อสารมวลชนไม่บอกเรื่องเหล่านี้ต่อประชาชนในวงกว้าง แต่ถามว่าในแต่ล่ะหมู่บ้านแต่ละตำบล ทุกคนเห็นจะๆว่า สิ่งนี้คือทามมิ่ง ถึงเวลาที่ต้องแลกเปลี่ยนแล้ว
 
ที่นี่การเมืองใหม่ที่เกิดขึ้นในภาวะอย่างนี้ มีการถ่ายทอดบทเรียนประสบการณ์ของสังคมในความพยายามที่จะจัดตั้งพรรคการเมือง ไม่ว่าพรรคพลังใหม่ พรรคพลังธรรมก็แล้วแต่ ก็มีกรอบมีนโยบาย แต่ว่าไปไม่ได้ในระยะเวลานั้น มาถึงระยะเวลานี้ก็มีคนคิดว่า มันน่าจะทำต่อ มันอาจจะล้มอย่างที่คุณว่าอีกก็ได้ แต่มันเป็นอีกการเคลื่อนไหวทางสังคม ที่ผมคิดว่า มันเป็นไดนามิก มันเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมรุ่นเรา อาจจะไม่สำเร็จ แต่ถ้าปัญหาสังคมยังไม่ได้รับการแก้ไข ผมก็เชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ของเพื่อนมนุษย์ที่อยู่กับปัญหาเขาก็ต้องลุกขึ้นมาสานต่อ
 
ผมคิดว่า วันนี้เราอยู่ในชนบทเราเห็น อย่างสองสามวันที่แล้วที่ป่าพลูที่หาดใหญ่ยิงกันกลางวันแสกๆ ผมไปถามดูมีสามสี่ศพ ยิงแล้วจับใครไม่ได้เลย ความรู้สึกของพี่น้องมีความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในหมู่บ้านที่ผมทำงานอยู่ ยาเสพติด นกกรงหัวจุกถูกขโมย แขวนไม่ได้เดียวหาย ลักงัดบ้าน ถามว่า ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์มันเป็นสังคมที่น่าอยู่หรือ ถ้าไม่น่าอยู่วิธีคิดที่บอกว่า บ้านใครบ้านมันตัวใครตัวมัน อาจจะผิดพลาดก็ได้
 
เราอาจต้องกลับมาดูสังคมหมู่บ้านโดยรวม ซึ่งผมว่า เรื่องนี้อาจจะไปในร่องเดียวกับที่คุณว่าก็ได้ ที่เจอปัญหา แต่ผมคิดว่า มันเป็นพัฒนาการ อาจจะเป็นปัญหาแต่ต้องลอกคราบไปเรื่อยๆถ้า ตราบใดที่ปัญหามันยังอยู่
 
เหมือนว่าแกนนำพันธมิตรไม่ได้กังวลกับเรื่องเหล่านี้มาก
 
ไม่ ผมว่าส่วนใหญ่ที่คุยกันคือว่า ก่อนหน้านั้นก็ไม่การถกกันถึงเรื่องนี้เยอะ ตั้งแต่อยู่ในทำเนียบรัฐบาล ถ้าเรายังปล่อยให้ประเทศเป็นอย่างนี้ วันสองวันที่เราเห็น กกต. ออกมาที่ระบุว่าสว.สส.จากบางส่วนมีหุ้นที่ไปรับสัมปทานจากรัฐผิดรัฐธรรมนูญ เป็นอย่างไรล่ะ ผมรู้ว่าทำไมเราถึงสู้กับ ปตท.(บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)) ที่จะนะถึงยากมาก วันนี้เราก็รู้แล้วว่า การที่ทักษิณเอาปตท.เข้าตลาดหุ้น อยู่ๆนักการเมืองบิ๊กๆปักษ์ใต้เราโดยรวมไปถือหุ้นเต็มเลย ถามว่าชาวบ้านรู้ไหม มันเป็นปัญหาอย่างนี้น่ะ
 
ไม่น่าล่ะที่นักการเมืองพยายามให้แก้รัฐธรรมนูญเพราะรัฐธรรมจะจัดการพวกคุณ พวกคุณนี่แอบหาผลประโยชน์จากการสูญเสียของประเทศชาติมากี่ปี วันนี้เป็นไงดิ้นอย่างกับปลาดุกคลุกหัวเลย ผมเลยรู้สึกว่าเห็นไหม การเมืองมันพัฒนาไปตามเงื่อนไข ตามเหตุปัจจัย บางคนคิดว่ามันแรงไปไหม มันโหดไปน่ะ รัฐธรรมนูญ 50 แต่ผมคิดว่าในส่วนดีของมันคือว่า นักการเมืองที่เอาเปรียบประเทศชาติมานาน นักการเมืองที่มาจากลูกชาวบ้านร่ำรวยเป็นร้อยล้านภายในสี่ห้าปี มันเป็นไปไม่ได้ ที่การชนะการเมืองปกติที่การเมืองโปร่งใสแต่คุณอาศัยความคลุมเครือ ความมืดหาผลประโยชน์
 
แล้วประชาชนได้อะไร ถ้าประชาชนเห็นตรงนี้มากๆ รับรู้เรื่องนี้มากๆเขาก็จะคิดเองได้ พรรคการเมืองอาจจะเกิดขึ้นมาใหม่ เพราะว่าพระราชบัญญัติพรรคการเมืองมีแค่ 15 คนเองคุณรวมตัวกันแล้วก็ถกกันว่าเราจะมีนโยบายอย่างนี้ เราก็ยื่นจดทะเบียน มาตรา 8 แค่ 15 คนรวมกัน
 
ตามนโยบายพรรค ข้อบังคับพรรคหลังจากนั้นกฎหมายให้เวลา 1 ปี สำหรับการหาสมาชิก 15 คนหาให้ได้ สี่ภาคถ้าเกิดว่า มีกลุ่มบุคคลหนึ่งที่บอกว่าไม่ไหวแล้ว เราจำเป็นต้องตั้งอย่างนี้ในเหนือในอีสานในใต้ เป็นพรรคที่ไม่เอารัดเอาเปรียบคน ไม่หาผลประโยชน์สังคมมันต้องไปในทิศทางนั้น
 
ระหว่างที่พรรคการเมืองใหม่ มีปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นที่จังหวัดสกลนคร ที่มีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ซึ่งสู้กันระหว่างตัวแทนของคนสองกลุ่ม ตรงนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนอย่างไร จะชี้อนาคตของการเมืองอย่างไร
 
ผมว่า มัน ไม่รู้จะพูดยังไง เหมือนไดโนเสาร์ฝูงสุดท้ายในทุ่งหญ้าน้อยๆ คือเท่าที่ตามดูข่าว ฟังจากชาวบ้านด้วยเขาทุเรศ เขาอนาถกับวิธีทางการเมืองที่ทำกันอยู่ที่สกลนครผมคิดว่าชาวบ้านเขาตื้น โอโอ้ขนาดนั้นเลยหรือ ทำไมประชาธิปไตยในบ้านเราจึงน่าเกลียดอย่างนี้ ถามว่าถ้าเอากันตามกฎหมายเป็นการมาใช้สิทธิ์ล่วงหน้า ก็เป็นสิทธิที่ถูกระเบียบอยู่ในกฎหมายการมาใช้สิทธิ์เยอะๆจะเป็นเรื่องที่ดี แต่พอเราเห็นภาพของการขับเคลื่อนทางการเมืองทั้งสองฝั่งที่ขนทั้งรัฐมนตรี ฝั่งหนึ่งก็ขนนอมินีไป ผมก็ตามดูทีวีหลายช่องก็มีทางอินเตอร์เน็ตหลายช่องเนื้อหาที่แต่ละฝ่ายที่ไปพูดกับประชาชนในการรณรงค์กับกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยไม่มีการพูดถึงการที่จะนำพาประเทศไปข้างหน้า
 
เห็นคุณเยาวเรศ ชินวัตร พูดสองสามจุด สงสารท่านนายกฯทักษิณ จะเอาท่านกลับมา ฝ่ายคุณเนวินก็พูดแต่เรื่องประชานิยมที่ไม่ได้ให้การศึกษาว่า ประเทศชาติเราจะไปทางไหนล่ะพี่น้องไม่ได้พูดถึงปัญหาของอีสาน ไม่ได้พูดถึงช่องว่างระหว่างคนรวยคนจน ไม่ได้พูดถึงการแก้ไขปัญหาภาพรวมของสังคมว่า ประเทศชาติโดยรวมควรจะไปอย่างไร พูดเฉพาะปัญหาเฉพาะหน้าแล้วก็หาเสียงแบบ ผมฟังแล้วผมสลดใจจริงๆว่า ความขัดแย้งครั้งนี้ คนสกลนครเป็นคนชี้ขาด แต่เป็นการขัดแย้งระดับต่ำมากๆไม่ควรจะเป็นวิสัยการเมืองระดับชาติด้วยซ้ำ เขาไม่พูดถึงปัญหาประเทศชาติให้ชาวบ้านได้เข้าใจ ไม่ได้พูดถึงการออก แต่พูดถึงการเอาชนะโดยยกเอาจุดเล็กๆทักษิณเคยมาทำอะไรไว้ เนวินทรยศหักหลังแล้ว ขนชาวบ้านซึ่งผมดูแล้วสลดใจ
 
ดูแล้วเราจะยังอยู่ในวังวนอย่างนี้อีก
 
แต่ผมก็เชื่ออีกแบบหนึ่ง เพราะเราดูการเปลี่ยนผ่านของสังคมอีกสักสี่ห้าปี ผมคิดว่าระบบสื่อสารมวลชนอาจจะเข้าไปถึงหัวระแหง เมื่อวานผมดูทั้งดาวเทียมทั้งอินเตอร์เน็ตที่เขาเอาสิ่งต่างๆของนักการเมืองมาพูด ถ้าสังคมมันตื่นเยอะขึ้น พวกนี้ก็จะเป็นไดโนเสาร์ฝูงสุดท้าย ผมเชื่อด้วยตัวผมเอง ถ้าจะเป็นทัศนะการเมืองในแบบนั้น ผมว่าพอถึงจุดๆหนึ่งสังคมจะรับไม่ได้ แล้วสังคมจะเป็นคนตัดสินใจเองว่า จะเอาอย่างไรวันนี้ คุณอาจชนะกันด้วยทุ่มเงินเข้าไปโดยระบบอะไรก็แล้วแต่ มันไม่ใช่ประชาธิปไตย
 
ประเด็นสุดท้ายหัวหน้าพรรคน่าจะเป็นจุดชี้อะไรหลายอย่าง เราวางคอนเซ็บหรือคุณสมบัติไว้อย่างไร มีองค์ประกอบอย่างไร
 
ถ้าเอาตามกติกาที่คุยกันไว้หลังจากที่ได้รับการจดแจ้งเป็นพรรคแล้ว หลังจากตระเวนทำนโยบายไปและข้อบังคับพรรคแล้ว เปิดรับสมาชิกทั่วไปแล้วคนที่กำหนด ก็คือมวลสมาชิกของพรรคการเมืองใหม่ซึ่งจะเป็นคนกำหนดว่าจะเป็นอย่างไร เพราะคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกจะไม่มีสิทธิ์โหวต แต่จะตัดสินกันตอนเลือกตั้ง คุณเป็นสมาชิกคุณก็เลือกพรรคเราได้ แต่ถ้าคุณเป็นสมาชิก 100 คน 90 คนเรามีเราเชื่อว่าจะนำพาพรรคไป เราก็โหวตเข้าไป
 
คำถามของคุณตอบยาก แต่ผมเชื่อว่าพันธมิตรที่ร่วมกระบวนกันมาแล้วส่วนหนึ่ง ก็มาตั้งพรรคการเมืองมันถูกถกเถียงกันมาพูดคุยกันมาเรื่องของการเมืองใหม่ เกือบทุกมิติของการชุมนุมที่ผ่านมาพูดถึงเรื่องบุคคลมิติต่างๆ ที่กลุ่มบุคคลหรือถูกสมาชิกที่เข้าใจในนโยบาย ข้อบังคับ ผมคิดว่า ผมยอมรับในการตัดสินใจของสมาชิกไม่ว่าจะเป็นใครก็แล้วแต่
 
จำเป็นไหมว่าหนึ่งในห้าแกนนำต้องเป็นหัวหน้าพรรค
 
ถ้าสมาชิกโหวตคนอื่นก็ได้ อาจจะมีสมาชิกคนหนึ่งเขามาสมัครเป็นสมาชิกพรรค เช่น นักธุรกิจที่เขาทำธุรกิจดีๆ นักวิชาการที่เขาทำราชการที่ก้าวหน้า เขาก็ยินดีที่จะสมัครจริง แล้วเขาก็เสนอตัวที่เราวางกันเอาไว้ คือสมาชิกจะเป็นตัวกำหนด ถ้าเสนอตัวมา 5 คน คนในมา 2 คน นอกมา 5คน แล้วก็โหวตจะออกมาในโทนนั้น เท่าที่ผมอยู่วงในมีผู้หลักผู้ใหญ่ที่ผมคิดว่าสาธารณะรับได้หลายคนที่อยากจะมาร่วม
 
พูดเปรยๆถึง พล.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียเวช ในASTV เตรียมให้เป็นหัวหน้าพรรคหรือเปล่า
 
อาจมีคนจำนวนหนึ่งเตรียม แต่ในฐานะผมเป็นกรรมการพรรคเราก็เอาข้อตกลงเดิม คือสมาชิกเป็นคนกำหนด ถ้าพล.อ.เสรีพิสุทธิ์อยากเป็นหัวหน้าพรรค ท่านก็ต้องแสดงวิสัยทัศน์หรือต้องแสดงให้เห็นว่าสมาชิกจะต้องเลือกท่าน แต่ถ้ามีคนอื่นที่เหนือกว่าแล้วทำเร็วกว่า ท่านก็อาจจะเป็นแค่สมาชิก ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องร่วมสร้าง ไม่จำเป็นต้องเป็นหัวหน้าพรรคถ้าคิดว่าการเมืองใหม่คือเนื้อหา 5 แกนนำจะไปเป็นหัวหน้าพรรค ก็ยังเป็นไปได้
 
ปัญหาส่วนตัวที่หลายคนมองว่าที่ท่านพล.ต.จำลองติดเงื่อนไขนั้น คุณสนธิ ติดเงื่อนไขนี้ อาจารย์สมเกียรติติดประชาธิปัตย์
 
มีอยู่ 2 ประเด็น หนึ่งคือสมาชิกลงมติเลือกคุณ แล้วคุณเคารพหรือไม่ ก็ต้องดูจากปัจจัยแวดล้อม แต่ถ้าคุณเสนอตัวเป็นแคนดิเดตแล้วมี 5 คนสิ่งที่เราคุยกันส่วนใหญ่ ถ้าสมาชิกเลือกใครก็เอาคนนั้น ถ้าเขารับก็เป็น
 
ในใจของคุณบรรจง คุณสมบัติคนที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ที่สอดคล้องกับอุดมการณ์กับการเมืองใหม่ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
 
ผมยังมองเรื่องการมีจุดยืนทางการเมือง มองการเข้ามาทำงานการเมืองไม่ใช่เข้ามาเป็นอาชีพทำธุรกิจ น่าจะเป็นเข้ามาเพื่ออาสาสมัครที่เสียสละเพื่อสังคม มันมีองค์ประกอบหลายอย่างที่ว่า ในความซื่อสัตย์มีความสุจริต ไม่โกงกิน วิถีชีวิตมันดูกันได้ เช็คกันได้ ดูวิถีชีวิต ต้องมีที่มาที่ไปทุกเรื่องที่วันนี้ เราสามารถหาเรื่องมาคุยกัน คุณมีสิทธิ์ที่ผมคาดหวังหรือไม่ วิสัยทัศน์ต่อการนำพาประเทศคุณจะไปยังไง เขาพูดคุยทางการเมืองหรือประวัติที่เขาโตกันมาอาสาสมัครเป็นแคนดิเดตของพรรคการเมือง ไม่ใช่อยู่ลอยๆก็จะมา
 
ต้องเป็นคนที่รวมต่อสู้กันมาในเวทีพันธมิตรหรือเปล่า
 
อาจไม่จำเป็นมาก ผมมองว่าพันธมิตรส่วนหนึ่งมาเป็นพรรคการเมือง เขาก็ต้องการเป็นพันธมิตรเดิมเป็นการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ฉะนั้นการรวมต่อสู้กันแน่นอนคนที่เขาไม่เห็นด้วยเขาก็คงไม่มาสมัครอยู่แล้ว คงไม่เลือกอยู่แล้วไม่สามารถตัดขาดได้ ไม่สามารถเชื่อมโยงได้ การต่อสู้ที่ผ่านมามันมีหลายระดับช่วยทั้งด้านวิชาการ ช่วยทางทรัพย์สิน ช่วยอำนวยความสะดวก ช่วยกันหลายมิติ
 
มีคนที่มองไว้ในใจแล้วหรือยัง
 
ต้องบอกว่ามีสามคนที่คลุกคลี่ตีวงมา อย่างน้อยสามคนที่น่าไว้ใจและไปได้ ยังอยู่ในใจไม่ต้องเปิดเผยก็ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net