Skip to main content
sharethis

ข่าว สวทช.จดสิทธิบัตรยีนข้าวหอมมะลิในอเมริกาสำเร็จ ทำให้คนเข้าใจว่าข้าวหอมมะลิจะเป็นของคนไทยตลอดไป จากนั้นอลงกรณ์ พลบุตร รีบสั่งให้รับจดสิทธิบัตรยีนข้าวหอมมะลิในไทย และรับจดสิทธิบัตรพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ทุกชนิด ดูเหมือนจะเป็นเรื่องดี....แต่นี่คืออีกด้านหนึ่งของเหรียญ 

 

"ที่เขาไปจดสิทธิบัตรในอเมริกาเป็นกระบวนการสร้างข้าวแปลงพันธุ์ ข้าวตัดแต่งพันธุกรรมให้มันหอม จากข้าวที่ไม่เคยหอมให้มันหอม นั่นคือสิ่งที่เขาไปขอรับสิทธิมา เขาไม่ได้จดตัวยีนข้าวหอม แต่เขาพยายามจะมาเรียกร้องให้กรมทรัพย์สินทางปัญญารับจดยีน"
 
"สวทช.จดอาจไม่เป็นไร แต่พอเราเปิดปัง เท่ากับว่าเราต้องรับจดของทุกคน ต่างชาติก็จะเข้ามาทันที เราไม่สามารถบอกว่ารับจดเฉพาะ สวทช. แต่ฝรั่งมาเราไม่รับ ไม่ได้ เท่ากับเราต้องแบตลอด ปัญหาคือเราวิจัยแข่งกับเขาทันหรือเปล่า สุดท้ายแล้วเราจดได้ 1 เขาจดได้ 100 เราจดได้ 2 เขาไป 1,000 ทุกอย่าง ยีนอะไรก็ได้ เชื้อราก็ได้ พืช สัตว์ สิ่งมีชีวิตทุกชนิดมียีนทั้งนั้น"
 
 
ข่าวสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ประสบความสำเร็จในการจดสิทธิบัตรยีนข้าวหอมมะลิในสหรัฐอเมริกา ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ท่ามกลางความปลาบปลื้มภาคภูมิของคนไทย ซึ่งเข้าใจว่าการจดสิทธิบัตรจะทำให้ข้าวหอมมะลิเป็นของคนไทยตลอดไป ไม่มีนักวิจัยฝรั่งต่างชาติที่ไหนมาลักขโมยเหมือนที่เคยพยายามเมื่อหลายปีก่อน
 
อลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ สั่งการให้กรมทรัพย์สินทางปัญญารีบรับจดสิทธิบัตรยีนข้าวหอมมะลิในประเทศไทยพร้อมให้นโยบายรับจดสิทธิบัตรพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ทุกชนิด ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องดีอีก
เช่นกัน ทั้งยังมีคำถามว่าเหตุใดกรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงไม่รีบจดให้ สวทช.
 
อย่างไรก็ดี นักวิชาการกลุ่มเล็กๆ ในนามเครือข่ายวิชาการเพื่อคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพไทยได้ออกมาแถลงคัดค้านการจดสิทธิบัตรดังกล่าวในประเทศไทย โดยชี้ว่าจะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะจะเปิดทางให้มีการจดสิทธิบัตรพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ เปิดช่องให้ "โจรสลัดชีวภาพ" เข้ามาปล้นทรัพยากรพันธุกรรมของคนไทย
 
นอกจากนี้ นักวิชาการกลุ่มนี้ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า การจดสิทธิบัตรในต่างประเทศก็ไม่ได้มีแต่ผลดีอย่างเดียว แต่มีผลเสียผลข้างเคียงที่ สวทช.ไม่ได้พูดถึง นี่คือการมองต่างมุมที่ต้องตามติดคิดใคร่ครวญ
 
ที่แท้ GMO จดแค่กระบวนการ
 
เรานัดสนทนากับ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี(BioThai) ผศ.สมชาย รัตนชื่อสกุล แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และรศ.สุรวิช วรรณไกรโรจน์ แห่งคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
 
วิฑูรย์เล่าให้ฟังก่อนว่า จริงๆ แล้ว สวทช.ยื่นขอจดสิทธิบัตรยีน (gene) ควบคุมความหอมของข้าวใน 10 ประเทศ คืออเมริกา อินเดีย ออสเตรเลีย จีน ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เวียดนาม ฝรั่งเศส สหภาพยุโรป และประเทศไทย ในคำขอจดได้ยื่นขอให้มีการผูกขาดในเรื่องยีนควบคุมความหอม เมล็ดพันธุ์ต้นข้าวดัดแปลงพันธุกรรม และกรรมวิธีที่เกี่ยวข้อง
 
แต่ได้รับอนุมัติเฉพาะที่สหรัฐเท่านั้น โดยได้รับอนุมัติในแง่กรรมวิธีเพียง 4 ข้อถือสิทธิ์ คือ 1)วิธีการเพิ่มสารหอม Os2AP (2- acetyl-1-pyrroline) เพื่อผลิตข้าวจีเอ็มโอ 2) วิธีการทำให้ระดับ mRNA ของยีนควบคุมความหอมทำงานลดลง 3) การทำให้ลดลงคือการแสดงออกของโครงสร้างที่รบกวนการทำงานของ mRNA 4) การรบกวนดังกล่าวทำ ณ ตำแหน่งนิวคลีโอไทด์ที่ 609 -867 ของยีนความหอม
 
ทั้งนี้ ได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2551 โดย สวทช.เป็นเจ้าของสิทธิบัตร หัวหน้าคณะวิจัยคือ รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ม.เกษตรศาสตร์ และนักประดิษฐ์อื่นอีก 4 คน เป็นโครงการวิจัยร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กับศูนย์พันธุและวิศวกรรมแห่งชาติ
 
นี่คือข้าว GMO! หรือ
"กระบวนการสร้างข้าว GMO" อ.สุรวิชบอก
"มันชัดเจนอยู่ในชื่อสิทธิบัตรเลย the method วิธีการ transgenic นี่คือข้อถือสิทธิที่เขาส่งไป(เอาเอกสารให้เราดู) ชื่อสิทธิบัตรคือ transgenic rice plant ก็คือสิทธิบัตรข้าว GMO ที่มีความหอมแบบเดียวกับข้าวหอมมะลิ ซึ่งในงานวิจัยทั้งหมดเขาไม่ได้ใช้ข้าวหอมทำการทดลองเลย เขาไปเอาข้าวอื่นมาแล้วไปหยุดการทำงานของยีนตัวหนึ่ง"
 
อ.สมชายอธิบายว่าสิทธิบัตรที่ไปจดในอเมริกา เป็นเพียงกระบวนการควบคุมยีนตัวหนึ่งที่เกี่ยวกับความหอมของข้าวหอมะลิ
 
"อธิบายง่ายๆ คือ เขาไปพบว่าในข้าว ถ้าเราไปทำอะไรบางอย่างให้ยีนตัวหนึ่งมันไม่เปลี่ยนสภาพไป ปกติข้าวทั่วไปยีนตัวนี้มันแปรสภาพไป มันจะทำให้ไม่หอม นี่คือธรรมชาติของมัน แต่ข้าวหอมมะลิของเรายีนตัวนี้มันกลายพันธุ์ มันไม่แปรสภาพไปตามปกติเหมือนข้าวพันธุ์อื่นๆ มันเลยยังคงความหอมอยู่"
 
"เขาวิจัยพบว่า อ๋อ กระบวนการอย่างนี้ถ้าเราไปหยุดยั้งไม่ให้มันแปรสภาพไปตามปกติ มันก็จะยังคงความหอมได้ เพราะฉะนั้นเขาเลยไปจดกระบวนการนี้ว่าเข้าไปลดการเปลี่ยนแปลงของยีนตัวนี้ให้น้อยลง ให้มันยังคงสภาพเดิมอยู่ ความหอมก็ยังคงมีได้"
 
"วิธีการที่เขาทดสอบคือ เขาเอาข้าวนิปปอนบาร์เลย์ของญี่ปุ่น ซึ่งไม่หอม เอายีนตัวนี้ใส่เข้าไปแล้วลดกระบวนการลง ไม่ให้มันเปลี่ยนตามปกติ ข้าวก็หอมได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าเอายีนตัวนี้ไปตัดต่อกับข้าวพันธุ์ไหนก็ได้ ควบคุมอย่าให้มันแปรสภาพ มันก็หอมหมด นี่คือสิ่งที่เขาจดได้ สหรัฐอเมริการับ
จด ณ ขณะนี้"
 
"ผลที่เกิดขึ้นคือ ต่อไปใครก็ตามถ้าจะทำให้ข้าวหอมโดยใช้วิธีการอย่างเดียวกัน เหมือนที่ สวทช.จดไว้ ทำไม่ได้ นั่นคือการตัดต่อพันธุกรรมโดยใช้ยีนนี้และใช้วิธีไปยับยั้งมันอย่างนั้น-อย่างที่เขาจดไว้แล้ว คุณทำซ้ำเขาไม่ได้แล้ว แต่สิทธิบัตรฉบับนี้เป็นสิทธิบัตรเฉพาะกระบวนการ เพราะฉะนั้นถ้าหากผมไม่ใช้กระบวนการอย่างเดียวกับ สวทช. ผมไปคิดกระบวนการอื่นขึ้นมาได้ ผมก็สามารถจดได้เหมือนกัน วิทยาการก้าวหน้าในอนาคต นักวิจัยอาจจะเจออะไรเพิ่มขึ้นอีกได้"
 
"ถ้าเป็นวิธีการอย่างนี้ ข้าว 2 พันธุ์ทำให้หอมเหมือนกันด้วยวิธีการที่ต่างกัน ต่างคนต่างจะไม่ละเมิดสิทธิบัตรกันและกัน สุดท้ายมันหอมออกมาเหมือนกันนะ แม้ว่าผมจะเอาข้าวพันธุ์นิปปอนบาร์เลย์แต่ผม
ใช้วิธีการอื่นออกมาหอมเหมือนกัน คุณจะมาว่าผมละเมิดสิทธิบัตรคุณไม่ได้"
 
"เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะทำให้ได้รับความคุ้มครองมากขึ้นก็ต้องเริ่มตั้งแต่จดยีนตัวนี้เลย จดให้ได้เลยว่ายีนตัวนี้เราค้นพบ ถ้าคุณคุมยีนตัวนี้ได้คุณจะคุมเรื่องความหอมได้ ถ้าคุณจดเป็นเจ้าของได้ใครจะเอายีนตัวนี้ไปทำก็ละเมิดสิทธิบัตร เห็นไหมว่าขอบเขตความเป็นเจ้าของมันจะเริ่มใหญ่ขึ้น ใครก็ตามไม่สามารถผลิตข้าวที่มียีนตัวนี้เหมือนของ สวทช.เด็ดขาด"
 
แล้วทำไมอเมริกาไม่รับจด
"ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมสหรัฐอเมริกาไม่รับจดตัวนี้ เพราะที่ตรวจสอบคำขอสิทธิบัตรฉบับก่อนหน้า
นี้ สวทช.ขอไปหมด ซึ่งรวมทั้งที่เขายื่นขอในสหภาพยุโรป ก็ขอไปหมด ตั้งแต่ตัวต้นข้าวที่เป็นจีเอ็ม ตัว
ยีนความหอม สิทธิบัตรนี้ชื่อสิทธิบัตรข้าวตัดต่อพันธุกรรมให้มีความหอม เขาขอตัวเมล็ดด้วย และกระ
บวนการด้วย ขอใน 4 เรื่องใหญ่ๆ ซึ่งคลุมทั้งหมด แต่ออกมาเฉพาะกระบวนการเท่านั้น"
 
 
สิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต เหยื่อบรรษัท
 
อย่างไรก็ดี วิทูรย์ชี้ว่าแนวทางของเครือข่ายนักวิชาการคุ้มครองชีวภาพคือ คัดค้านการจดสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิต เพราะการจดสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิต เป็นการแปรรูปทรัพยากรชีวภาพให้กลายเป็นทรัพย์สินผูกขาดของเอกชนหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ระบบกฎหมายสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิต จะกลายเป็นโอกาสให้
บรรษัทและประเทศอุตสาหกรรมเข้ามายึดครองทรัพยากรชีวภาพของประเทศกำลังพัฒนา ที่ผ่านมา มหาอำนาจพยายามผลักดันให้มีข้อตกลงเรื่องนี้ในองค์กรการค้าโลก แต่ยังไม่สำเร็จ จึงพยายามผลักดันผ่าน FTA เช่น FTA ไทย-สหรัฐ ก็มีข้อตกลงเรื่องนี้ซึ่งได้คัดค้านกันอย่างหนักมาแล้ว
 
อ.สมชายยกตัวอย่างว่า ถ้า สวทช.จดสิทธิบัตรยีนข้าวหอมมะลิได้จะเกิดอะไรขึ้น
 
"ถ้าสมมติเขาสามารถจดเป็นเจ้าของยีนตัวนั้นได้ ไปตรวจแล้วพบยีนที่เหมือนกับยีนตัวนี้อยู่ในข้าวต้นไหน นั่นหมายความว่าคุณกำลังใช้ยีนที่เขาเป็นเจ้าของ การที่เขาจดยีน ถ้าดูที่คำขอเขาไม่ได้จดเฉพาะที่มันเหมือนกันเป๊ะๆ 100 เปอร์เซ็นต์ เขาขอยีนที่ใกล้เคียงกับยีนของเขา 70 เปอร์เซ็นต์ 80 เปอร์เซ็นต์ 90 เปอร์เซ็นต์ เขาขอหมดเลยนะครับ ถ้าหากว่าได้ไปหมายความว่ายีนที่เหมือน 100 เปอร์เซ็นต์โดนแน่นอน ยีนที่เหมือน 90 เปอร์เซ็นต์ก็โดน 80 ก็โดน 70 ก็โดน หรือถ้าเขาวินิจฉัยว่าอย่างนี้เหมือนมาก ก็โดนอีกเหมือนกัน"
 
"ผลมันจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเขาได้สิทธิบัตรกระบวนการแต่ผมได้ข้าวหอมเหมือนกันโดยกระบวนการคนละอย่าง เขาว่าผมไม่ได้ แต่ถ้าได้สิทธิบัตรยีน เป็นยีนเดียวกัน คุณจะใช้วิธีต่างกันอย่างไรก็ไม่รู้ แต่ถ้ายีนออกมาเหมือนกัน ยีนนี้ผมเป็นเจ้าของ ฉะนั้นคุณละเมิดสิทธิบัตรผม มันต่างกันแล้ว ขอบเขตการคุ้มครองสิทธิของเขาเยอะขึ้น"
 
"ในประเทศไทยตอนนี้กรมทรัพย์สินฯยังไม่ให้จด สมมติเขาไปจดที่อเมริกาได้ ประเทศไทยส่งออกข้าวหอมมะลิไปประเทศอเมริกา เข้าไปที่กรมศุลที่ท่าเรือแล้วเขาบอกว่าข้าวล็อตนี้มียีนที่เขาเป็นเจ้าของสิทธิบัตร ผลจะเกิดอะไรขึ้น เท่ากับคุณละเมิดสิทธิบัตรเขา ห้ามนำเข้า อะไรจะเกิดขึ้น และถ้าเขาตามไปจดทั่วโลกล่ะ ประเทศไหนที่อนุญาตให้จดยีนมีสิ่งมีชีวิตเป็นสิทธิบัตรได้ เวลาเราส่งไปขายประเทศนั้นๆ เขาก็ตามไปอ้างว่ายีนแบบนี้ในประเทศนี้ผมเป็นเจ้าของ คุณส่งเข้ามาไม่ได้"
 
"จะบอกว่าโชคดีก็นับว่าโชคดี ที่คนที่ได้สิทธิบัตรค้นพบเรื่องยีนหอมเป็นคนไทย บังเอิญเป็น สวทช. ขณะนี้ สวทช.ยังจดยีนที่สหรัฐไม่ได้ แต่ผมเชื่อว่าเขาคงพยายามที่จะจด สมมติก็แล้วกันว่าถ้า สวทช.ไม่ใช่คนพบ เป็นฝรั่งพบ ระเนระนาดเลยธุรกิจเรื่องข้าวหอมมะลิ"
 
วิทูรย์ยกตัวอย่าง "เคยเกิดขึ้นแล้วกรณีถั่วอีโนล่าของเม็กซิโก ซึ่งนักวิจัยสหรัฐตั้งบริษัทคอทเนอร์ และจดสิทธิบัตรอีโนล่าซึ่งเป็นถั่วของเม็กซิโกที่เคยส่งมาขายที่อเมริกา ผลคือส่งเข้าไม่ได้ ถูกกันไว้ที่ท่าเรือ เขาบอกว่าถ้ามาขายเมื่อไหร่เขาจะฟ้อง ส่งผลกระทบอย่างมาก เพราะเขาอ้างว่าถั่วที่ส่ง
มามียีนซึ่งเขาจดสิทธิบัตรอยู่ นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้น"
 
เขาบอกว่าตอนนี้ก็เกรงจะเกิดขึ้นเพราะออสเตรเลียกำลังยื่นขอจดสิทธิบัตรข้าวหอมมะลิในยุโรป
 
"ถ้าสมมติเป็นยีนตัวเดียวกันแล้วคนออสเตรเลียไปจดได้ในสหภาพยุโรป เราส่งข้าวหอมมะลิไปในสหภาพยุโรป เขาตรวจแล้วบอกว่ามียีนเดียวกับที่เขาเป็นเจ้าของสิทธิบัตรอยู่ ฉะนั้นเราละเมิดสิทธิบัตรห้ามนำเข้าในสภาพยุโรป" อ.สมชายชี้ผลทางกฎหมาย
 
"นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นจากระบบนี้ ระบบสิทธิบัตรมีมาตั้งนานแล้ว ทำไมมันไม่มีปัญหาอย่างนี้ เพราะเดิมสิทธิบัตรใช้คุ้มครองการประดิษฐ์อะไรก็ตามที่มันไม่มีชีวิต มันไม่เคยมีโทรศัพท์มือถือมาก่อน ใครสักคนคิดขึ้นมา อย่างนี้ให้เขา แต่คุณจดสิทธิบัตรยีนตัวหนึ่งที่อยู่ในต้นข้าว ข้าวนี้ออกมาเป็นเม็ด ถามว่าในเมล็ดข้าวมียีนอันนี้หรือเปล่า มี เอาเมล็ดข้าวนี้ไปปลูกมันงอกเป็นต้นข้าวขึ้นมาอีก ถามว่ามียีนอันนี้หรือเปล่า มี เพราะฉะนั้นไม่ว่าตรวจส่วนไหนก็จะเจอ แต่ถามว่าเขาเป็นคนสร้างยีนในต้นข้าวนี้รุ่นที่ 2 รุ่น ที่ 3 หรือเปล่า คุณแค่ค้นพบยีนตัวนี้เท่านั้นเอง แต่ถ้าเป็นเรื่องโทรศัพท์ คุณมีสิทธิบัตรในโทรศัพท์ซึ่งโทรศัพท์มันออกลูกเองไม่ได้ เจ้าของต้องผลิตออกมาเป็นเครื่องที่ 2 3 4 มันต่างกันเยอะเลย"
 
ข้าวพันธุ์อื่นมันก็มียีนที่คล้ายๆ กันมานานแล้ว
"ถูกต้อง ซึ่งไม่เคยมีใครเป็นเจ้าของมาก่อน มันเป็นเรื่องมนุษยชาติที่เราใช้กันมา และกว่าที่จะเป็นข้าวหอมมะลิที่เรากินกันอยู่ทุกวันนี้ไม่รู้ว่าเกษตรกรกี่รุ่นแล้วที่ค่อยๆ เก็บ เริ่มต้นมันอาจจะไม่หอมก็ได้ อาจจะใครสักคน รุ่นต่อรุ่นค่อยๆ สอนกันมา จนกระทั่งมาเป็นพันธุ์นี้ ถามหน่อยอยู่ดีๆ ใครสักคนบังเอิญเก่งทางวิทยาศาสตร์ ผมไปเจอว่ายีนตัวนี้มันมีความหอม แล้วผมก็อ้างสิทธิเป็นเจ้าของหรือ อย่างนี้เขาเรียกว่าขโมยหรือเปล่า ของที่ทุกคนไม่เคยมีใครสามารถอ้างได้คุณเอามาอ้างว่าเป็นเจ้าของ"
 
คนไทยอาจจะบอกว่า สวทช.ไปจดก่อนที่จะมีฝรั่งจด ไม่ดีกว่าหรือ
อ.สมชายบอกว่ามีสองมุมเหมือนกัน
 
"ในกรณี สวทช.ตอนนี้คือคุ้มครองเฉพาะกระบวนการ มันไม่ได้คุ้มครองอะไรเท่าไหร่เลยนะ เพราะคนอื่นสามารถใช้วิธีการอื่นเพื่อให้ได้ของอย่างเดียวกัน ซึ่ง สวทช.ไม่สามารถไปกีดกันเขาได้ แต่ถ้า สวทช.สามารถเป็นเจ้าของยีน ถามว่าได้สิทธิอะไรบ้าง แน่นอนคุ้มครองได้อย่างหนึ่งก็คือตลอดระยะเวลา 20 ปีนี้ใครก็ตามไม่สามารถจะใช้ยีนที่ สวทช.เป็นเจ้าของได้ แต่หลังจากนั้นล่ะ จะตกเป็นสมบัติสาธารณะทันที"
 
"และเวลาที่คุณยื่นจด คุณจะต้องบอกเขาว่ายีนตัวไหน ใช้วิธีการอย่างไรในการทำให้มันยังคงสถานะอย่างนั้นอยู่ได้ ฉะนั้นคนไม่รู้ก็จะรู้ทันที นักวิทยาศาสตร์ที่เขาเก่งๆ อ๋อ ยีนตัวนี้เอง วิธีการแบบนี้เอง ถ้าเขาสามารถเพิ่มเติมอะไรลงไปได้ เขาทำให้ข้าวหอมมะลิหอมเป็น 3 เท่าเลย ถามว่ามีความใหม่ มีขั้นการผลิตที่สูงขึ้นไหม มี เขาสามารถจดสิทธิบัตรได้เดี๋ยวนี้เลยด้วยซ้ำไป"
 
วิฑูรย์เสริมว่าบรรษัทยักษ์ใหญ่มีความสามารถที่จะวิจัยได้มากกว่า สวทช.หลายเท่า
 
"ความสามารถในการวิจัยของไทยกับของโลกเทียบกันไม่ได้ นี่คือประเด็นสำคัญ นักวิจัยกลุ่มนี้เก่งไหม เก่ง แต่น้อยมากเมื่อเทียบกับบรรษัททั้งหลาย ขนาดรัฐบาลสหรัฐตั้งโครงการ Human Genome Project ใช้เงินมหาศาล ใช้เวลาหลายปี แต่ปรากฏว่าบริษัทเซเรล่าจีโนมิค ใช้เวลาไม่กี่เดือนเอง แล้วก็ทำ mapping เกือบเสร็จ จนบิล คลินตัน ต้องรีบมาแถลงว่าเขาทำเสร็จแล้วทั้งที่ตอนนั้นทำเสร็จแค่ 80 เปอร์เซ็นต์ เพราะบริษัทบริษัทเซเร่ล่าจีโนมิคจะประกาศผลสำเร็จตัดหน้า นั่นขนาดรัฐบาลอเมริกามีงบประมาณมหาศาล มีทรัพยากร นักวิทยาศาสตร์จำนวนมาก ยังไม่สามารถแข่งกับบริษัทเอกชนได้เลย ในกรณีนี้การที่เราเปิดโอกาสให้มีการจดสิทธิบัตร เราอาจจะจดได้ตัวนี้ตัวหนึ่ง แต่ว่าทรัพยากรทั้งหมดของเราล่ะ"
 
 
เปิดช่องต่างชาติ
 
อ.สมชายบอกว่า การที่ สวทช.จะไปจดเมืองนอกก็เป็นเรื่องดี แต่ที่สำคัญคือทำไมจะต้องมาจดเมืองไทย ซึ่งกฎหมายสิทธิบัตรไทย มาตรา 9(1) ไม่อนุญาตให้จดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต ถ้ากรมทรัพย์สินทางปัญญายอมให้ สวทช.จดได้ ก็จะเป็นการเปิดช่องให้บริษัทต่างชาติจดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตได้เช่นกัน
 
"ผมอยากพูดอย่างนี้ว่า สวทช.ไปจดที่เมืองนอกก็ดี แน่นอนครับมันกันคนอื่นได้ ประเทศไหนที่เขาเปิดให้จด สวทช.จะไปจด ผมก็ไม่ว่าหรอก แต่ปัญหาที่กำลังจะตามก็คือมีคนเสนอว่าทำไมประเทศไทยไม่รับจดด้วยล่ะ"
 
"คำถามก็คือ วิธีการคุ้มครองของประเทศไทยทำไมจำเป็นต้องเท่าอเมริกา ถามว่าที่เราเป็นอยู่ ณ ขณะนี้ผิดกติกาโลกอะไรตรงไหนหรือเปล่า ไม่ผิดเพราะเราทำตามข้อตกลง TRIPS ภายใต้ WTO ครบถ้วนแล้วของสหรัฐเขาคุ้มครองสูงกว่า ประเทศไทยควรคุ้มครองสูงเท่าเขาหรือเปล่า เรื่องการคุ้มครองแบบนี้มันขึ้นอยู่กับว่าคุ้มครองแล้วได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ แน่นอนสหรัฐเขาคุ้มครองแล้วเขาได้ประโยชน์ เพราะเขามีความเชี่ยวชาญเทคโนโลยี เขาค้นพบอะไรใหม่ๆ เต็มไปหมดเลย ยิ่งมีการคุ้มครองเยอะเท่าไหร่เขายิ่งได้ประโยชน์มากเท่านั้น แต่ในทางกลับกับสหรัฐอเมริกา ความหลากหลายทางชีวภาพเทียบกับประเทศไทยไม่ได้เลย เรามีเยอะกว่ามาก เพราะฉะนั้นถ้าอเมริกาเปิดให้จดแล้วเราก็ข้ามไปจดบ้านเขา นั่นประเด็นหนึ่ง แต่จะเปิดประเทศไทยให้รับจดได้ แน่นอน สวทช.จดไม่เป็นไร แต่พอเราเปิดปัง เท่ากับว่าเราต้องรับจดของทุกคน ต่างชาติก็จะเข้ามาทันที เราไม่สามารถบอกว่ารับจดเฉพาะ สวทช. แต่ฝรั่งมาเราไม่รับ ไม่ได้ เท่ากับเราต้องแบตลอด ปัญหาคือเราวิจัยแข่งกับเขาทันหรือเปล่า สุดท้ายแล้วเราจดได้ 1 เขาจดได้ 100 เราจดได้ 2 เขาไป 1,000"
 
นั่นคือพันธุ์พืชทุกอย่าง สมุนไพร
"ทุกอย่าง เพราะถ้าเปิดจดยีน คือยีนอะไรก็ได้ เชื้อราก็ได้ พืช สัตว์ สิ่งมีชีวิตทุกชนิดมียีนทั้งนั้น มันห้ามได้ไหม"
 
"จริงๆ แล้วระบบกฎหมายสิทธิบัตรมันเป็นเรื่องที่กฎหมายจะให้สิทธิมากน้อยแค่ไหนก็ได้ การประดิษฐ์อะไรบางอย่างที่ไม่เหมาะสม ถามว่าห้ามได้ไหม ห้ามได้ไม่ขัดอะไรเลย ในสหรัฐอเมริกาเขาไม่รับจดสิ่งประดิษฐ์เรื่องนิวเคลียร์ มันมีกฎหมายห้ามไว้เลย เพราะเขากลัวเรื่องความมั่นคง และของเรา ผมอยากถาม ความมั่นคงทางอาหารเราอยู่ไหน เพราะฉะนั้นต้องคิดให้รอบคอบก่อนที่เราจะตัดสินใจเปิดอะไร เพราะเปิดไปแล้วแก้ไม่ได้ มันจะเป็นปัญหาตามมา ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่ามันจะรั่วไหลไปแค่ไหน"
 
การต่อสู้ 2 แนวทาง
 
วิฑูรย์บอกว่า ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ยังเข้าใจคลาดเคลื่อนเรื่องการคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพหรือสิ่ง
มีชีวิต
 
"มันมี 2 ชุดความคิด ตอนนี้มันสับสน แม้กระทั่งเราอ่านข่าวดูข่าวก็ดี ก็คือคนเข้าใจว่าถ้าจดสิทธิบัตรจะเป็นคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพของประเทศ แต่เรากำลังจะบอกว่าไม่ใช่นะ การจดสิทธิบัตรมันเป็นการจดสิ่งประดิษฐ์มีความใหม่ ใช้ในทางอุตสาหกรรมได้ มีนวัตกรรมที่สูงขึ้น ซึ่งถ้าใช้เกณฑ์นี้ในการจดเพื่อคุ้มครองสิ่งมีชีวิตทรัพยากรชีวภาพ มันจะให้สิทธิผูกขาดแก่บริษัทหรือนักวิจัยหรือประเทศที่มีความสามารถที่จะเอาของที่มีอยู่ไปจดเพื่อใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรม และในภายหลังมันขยายมาถึงขั้นที่ว่าแค่ค้นพบ function ว่าทำให้ข้าวเกิดความหอมมันก็จดได้"
 
"แต่มีกติกาของโลกอีกชุดหนึ่ง คืออนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งให้สิทธิอธิปไตยของประเทศเหนือทรัพยากรชีวภาพ ซึ่งเรายังใช้ประโยชน์น้อยไป เพราะดันไปเข้าใจว่าสิทธิบัตรจะคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพ"
 
อ.สมชายกล่าวว่านี่คือแนวทางที่เราควรจะเลือกใช้มากกว่าการเปิดให้จดสิทธิบัตร
 
"อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นกฎหมายระหว่างประเทศตัวเดียวที่พูดถึงเรื่องการคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพ แต่สหรัฐอเมริกากลัวเสียเปรียบ ก็เลยไม่ยอมเข้าไปเป็นภาคี เพราะเขาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพเยอะ ถ้าเข้าเป็นภาคีเขาต้องทำตามกติกานี้ คือใครก็ตามที่จะไปใช้ทรัพยากรชีวภาพ เอาไปใช้ประโยชน์ในเชิงการค้า ต้องบอกเจ้าของเขาก่อน ขออนุญาตเจ้าของเขา ถ้าเจ้าของเขาไม่ยอมก็เข้าไปไม่ได้ ถ้าเขายอมเขามีสิทธิที่จะขอแบ่งผลประโยชน์ กระบวนการนี้กำลังถูกสร้างขึ้นอยู่บนเวทีโลก ในประเทศไทยมีแม่แบบแล้วคืออยู่ใน พรบ.คุ้มครองพันธ์พืชปี 2542 แม้กฎหมายลูกยังไม่ทำงานดีนัก แต่เริ่มเห็นทิศทางของมัน"
 
"ต่อไปสมมติกติกาโลกอันนี้ได้รับการยอมรับ ทุกประเทศเอาไปใช้ในกฎหมายภายใน สหรัฐอเมริกาจะเอายีนข้าวหอมมะลิของเราไปวิจัยเพื่อดูว่ายีนตัวไหนทำให้หอม เขาจะต้องขออนุญาตก่อน ซึ่งภายใต้ พรบ.คุ้มครองพันธ์พืชของไทย เขาจะต้องขออนุญาตกรมวิชาการเกษตร และก็ทำข้อตกลงเรื่องผลประโยชน์ด้วย การที่เขาจะเข้ามาใช้ต้องขออนุญาตเรา ดูผิวเผินอาจเป็นเรื่องธรรมดาปกติ แต่สิ่งหนึ่งที่มันซ่อนอยู่ลึกๆ คือเท่ากับเขายอมรับว่าประเทศไทยเป็นเจ้าของข้าวหอมมะลิ เท่ากับเขายอมรับอำนาจอธิปไตยของประเทศที่มีอยู่เหนือสิ่งมีชีวิตชนิดนั้นๆ นี่คือข้อกฎหมายที่ซ่อนอยู่ข้างใน แต่เขาไม่อยาก เพราะนั่นเท่ากับยอมรับว่าเราเป็นเจ้าของ เขาอยากได้ใช้ฟรีๆ ซึ่งถามว่ามันใช้ฟรีได้ง่ายไหม ง่ายมากเลย เดินเข้ามาหยิบข้าวไปกำหนึ่ง เด็ดใบไม้ไปใบหนึ่ง เขาก็สามารถวิจัยได้ เดิมเขาก็ทำกันมาอย่างนี้ แต่กติกาโลก ณ ขณะนี้ไม่ใช่แล้ว เพียงแต่ว่าอเมริกายังไม่ยอมเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ นี่เป็นการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่ซ่อนอยู่ข้างหลัง แน่นอน สหรัฐอเมริกาพยายามจะผลักดันให้ประเทศไทยขยายสิทธิบัตรคุ้มครองสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ในเวที WTO เขาก็พยายามผลักดัน แต่ว่ายังไม่สำเร็จเพราะประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศจับมือกัน รวมทั้งประเทศไทยด้วย เพราะ ณ ปัจจุบันข้อตกลง TRIPSบอกไว้ว่าจะจดสิทธิบัตรคุ้มครองสิ่งมีชีวิตหรือไม่ก็ได้ แล้วแต่แต่ละประเทศ มันเปิดช่องอยู่ เพราะฉะนั้นประเทศไทยก็ใช้สิทธิอันนี้ เราไม่คุ้มครองสิ่งมีชีวิต ตอนนี้เขากำลังพยายามจะให้คุ้มครองทุกอย่าง"
 
เราบอกว่าคนส่วนใหญ่จะไม่เข้าใจ คิดว่าจดสิทธิบัตรน่าจะดีกว่า
"ขณะนี้ถามว่าประเทศไทยเป็นเจ้าของข้าวหอมมะลิอยู่หรือเปล่า เป็นอยู่ กติกาในการเข้าถึงพันธุ์พืชในบ้านของเราเองที่อ่อนด้อย จนให้ใครก็ตามสามารถเอาไปใช้ได้โดยไม่จำเป็นต้องบอกกล่าว แต่จริงๆ แล้วเรื่องของพันธุ์พืชมันแพร่หลายไปทั่ว อย่างอีรี มันกระจายไปทั่ว เพราะฉะนั้นในหลายองค์กรเขาบอกว่าคุณเอาไปใช้ได้ คุณเอาไปวิจัยแต่คุณห้ามหวงกันห้ามเป็นเจ้าของแต่เพียงคนเดียว แต่พอเอาระบบสิทธิบัตรมาใช้ ใครก็ตามที่เป็นเจ้าของมันจะหวงกันคนอื่นได้ตลอดเลย ซึ่งมันเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก"
 
"ประเทศไทยได้ร่วมกับหลายประเทศ บราซิล อินเดีย เข้าไปในเวที WTO ให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงTRIPS ว่าต่อไปนี้ใครก็ตามที่ยื่นขอสิทธิบัตรซึ่งเกี่ยวกับทรัพยากรชีวภาพ จะต้องบอกด้วยว่าคุณเอาทรัพยากรชีวภาพนั้นมาจากที่ไหน และแบ่งผลประโยชน์ให้เจ้าของประเทศหรือเปล่า ประเทศไทยยื่นเสนอเข้าไปแล้วนะครับ แต่ยังอยู่ในระหว่างเจรจา สหรัฐอเมริกาไม่เห็นด้วยเพราะเขาไม่อยากเปิดเผย เพราะจริงๆ แล้วสิ่งประดิษฐ์ที่เริ่มจากทรัพยากรธรรมชาติมันอาจจะแปรรูปได้หลายอย่าง จากยีนเขาไม่เพียงเอาไปตัดต่อเพื่อให้ข้าวพันธุ์อื่นหอม แต่เขาอาจจะเอายีนนั้นไปสร้างสารเคมีบางอย่างออกมาเป็นยา เป็นน้ำหอม มันคนละเรื่องแล้วนะครับ จากข้าวกลายมาเป็นน้ำหอมขวดหนึ่ง เวลาจดบอกว่าน้ำหอมผลิตจากจุลินทรีย์หรือยีนตัวนี้ เฮ้ยยีนนี้คุณเอามาจากไหน ตอนคุณหยิบมาคุณขโมยมาจากประเทศเขาหรือเปล่า หรือขออนุญาตเขาหรือเปล่า คุณแบ่งให้เขาหรือเปล่า นี่คือกติกาอีกชุดหนึ่งที่จะใช้ในการคุ้มครองตัวทรัพยากรชีวภาพ"
 
เมื่อมองจากกติกาใหม่แล้ว การที่ สวทช.ไปจดสิทธิบัตรในต่างประเทศ แม้ถือว่าคุ้มครองแต่ก็คุ้มครองได้ระดับหนึ่งเท่านั้น
 
"การที่จะคุ้มครองไม่ให้สิ่งมีชีวิตถูกจดสิทธิบัตรเพื่อให้ใครสักคนเป็นเจ้าของ มันทำได้ 2 วิธี วิธีแรกก็คือเราจดตัดหน้าก่อน เพราะถ้าเราจดแล้วคนอื่นจดไม่ได้ อีกวิธีหนึ่งก็คือว่าคิดได้แล้วแบเลย ทำให้ความรู้นี้ไม่ใหม่อีกต่อไป เพราะฉะนั้นใครก็จดไม่ได้แล้ว ณ เวลานี้ประเทศไทย สวทช.ไปจดในต่างประเทศ คำถามคือคุ้มครองได้ไหม คุ้มครองได้ในระดับหนึ่ง เป็นรูปแบบหนึ่งของวิธีการคุ้มครอง แต่หลังจาก 20 ปีมันจะเกิดอะไรขึ้น มันจะตกเป็นสมบัติสาธารณะ"
 
แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับการจดในประเทศไทย
"ประเด็นที่เรากำลังซีเรียสคือกำลังจะบอกว่าแม้แต่ประเทศไทยก็จดได้ด้วย นี่คนละเรื่องแล้วนะ คำถามคือจดในประเทศไทยดีไหม ถ้าจด ก็เท่ากับเราต้องแก้กติกาให้ประเทศไทยเปิดรับจด แน่นอน สวทช.จดในประเทศไทยได้ คนอื่นก็จะใช้ไม่ได้ แต่สิ่งที่ผมกังวลก็คือถ้าเราเปิดกติกานี้แล้วมันต้องใช้กับทุกอย่าง นั่นหมายความว่าทรัพยากรชีวภาพไม่ใช่แค่ข้าว ทุกอย่างจะสามารถจดได้ภายใต้กติกาที่เราเปิดเอง"
 
"ถ้าเราจด เท่ากับเรายอมรับกติกาที่ต่างชาติเขียนให้เดิน ถามว่าเกมแบบนี้เราแข่งชนะเขาได้ไหม ไม่มีทางชนะ"
 
นี่คือทิศทางที่ประเทศไทยจะต้องเลือกว่าจะเดินตามเกมเปิดสิทธิบัตร หรือเลือกใช้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ อ.สมชายบอกว่ามี 2 ชุดความคิด
 
"ชุดความคิดแรกคือ ถ้าเราจดเองเท่ากับเรายอมรับในกติกาว่าเดินอย่างนี้และเราก็ลงไปเล่นในเกมของเขา แต่อีกชุดความคิดหนึ่งบอกว่าเนื่องจากโลกมันไปทางนี้ ถ้าเราจะปกป้องผลประโยชน์ของเราในระดับหนึ่ง ก็ออกไปจดซะ ประเทศไหนเปิดให้จดออกไปจดหมดเลย ทีนี้ย้อนกลับมาว่าแล้วในประเทศไทยเอาอย่างไร นี่อีกประเด็นหนึ่ง"
 
แล้วถ้าไม่ให้ สวทช.จดสิทธิบัตรยีนข้าวหอมในประเทศไทย คนอื่นจะมาจดได้ไหม วิทูรย์บอกว่าไม่ได้เพราะกฎหมายไม่อนุญาตอยู่แล้ว
 
"ใครก็มาจดไม่ได้ คนไทยก็จดไม่ได้"
 
วิทูรย์ชี้ว่าปัจจุบันกติกาโลกชุดใหม่คืออนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพกำลังเร่งพัฒนาขึ้น ประเทศไทยจึงต้องเลือกว่าจะเล่นในกติกาไหน "ตอนนี้มันมีกติกาที่เราเล่นได้แต่เราไม่เล่น เราไปเล่นในเกมเขา"
 
เขายกตัวอย่างให้ฟังว่า ตอนนี้มีการจดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตหลายอย่างแล้วในต่างประเทศ แต่ประเทศไทยยังไม่ยอมให้จด
 
"มันจดเกลี้ยงเลยนะเช่นสิทธิบัตรมะละกอ GMO ไวรัสต้านทานโรคมะละกอ เป็นไวรัสของไทย เอาไปวิจัยแล้วมันจดทั้งตัวยีนไวรัส ทั้งตัวมะละกอ กรรมวิธีทั้งหมด เมล็ดมะละกอ การจดยีนเป็นการผูกขาดเป็นเจ้าของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตทั้งสายพันธุ์ แล้วเอายีนนี้ไปไว้ในพันธุ์พืชไหน เช่นพืชตระกูลอื่นเพื่อให้ต้านทานโรค ก็คุ้มครองหมดเกลี้ยงเลย เพราะตรวจส่วนไหนของพันธุ์พืชต้นนั้นก็เจอยีนนั้นเสมอ"
 
การจดสิทธิบัตรมะละกอส่งผลกับเราไหม
"เขาไม่ได้จดในประเทศไทย และเรายังไม่ได้ส่งออกมะละกอจีเอ็มโอ ตลาดจำนวนมากก็ปฏิเสธมะละกอจีเอ็มโอ"
 
ผู้อำนวยการไบโอไทยย้อนให้ฟังว่า การคุ้มครองข้าวหอมมะลิ ที่จริงประเทศไทยก็ได้ต่อสู้มาตลอด
 
"การคุ้มครองข้าวหอมมะลิมีประวัติศาสตร์มายาวนาน ครั้งแรกสุดคือปี 2540 เราพบว่าบริษัทไรซ์เทคที่เท็กซัสไปจดเครื่องหมายการค้าและอ้างว่าเป็นข้าวหอมมะลิ ตอนนั้นก็เป็นกระแสใหญ่พอสมควร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสเรื่องนี้เป็นครั้งแรก ตอนกรรมการของ IRRI(สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ) มาเข้าเฝ้า พระองค์ท่านถามเลยว่ากรณีนี้ที่ IRRI เกี่ยวข้องกับการวิจัยเรื่องข้าวจะจัดการอย่างไร อีรีก็ตอบว่าไม่เห็นด้วยอยู่แล้วที่มีการไปอ้างแบบนั้น IRRI จะสนับสนุนรัฐบาลไทยอย่างเต็มที่ นั่นเป็นครั้งแรก เป็นสัญญาณ"
 
"พอครั้งที่ 2 มีนักวิจัยอเมริกา คริส เดีย เรน สถาบันวิจัยข้าวแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ที่รัฐอาร์คันซอซึ่งเป็นรัฐปลูกข้าวใหญ่ที่สุดทำโครงการวิจัยข้าวหอมมะลิเพื่อปลูกในอเมริกา ครั้งนั้นสุ่มเสี่ยงต่อการถูกจดสิทธิบัตรที่สุด เขาเอาข้าวหอมมะลิไป โดยที่ไม่ได้ลงนามในข้อตกลง เขาอ้างว่าได้มาจากอีรี เราก็เคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลทักษิณว่าเรื่องนี้คุณต้องคุยกับอเมริกา ในที่สุดอเมริกาก็รับว่าจะไม่จดสิทธิบัตร"
 
"ระหว่างนั้น กฎหมายไทยพยายามออกมาคุ้มครองข้าวหอมมะลิ เราเสนอว่าต้องคุ้มครองชื่อข้าวหอมมะลิด้วย เพราะชื่อข้าวหอมมะลิอิงกับแหล่งทางภูมิศาสตร์ เวลาพูดถึงข้าวหอมมะลิทุกคนก็นึกถึงประเทศไทย นึกถึงทุ่งกุลาฯ เหมือนอินเดียเขาก็คุ้มครองข้าวจัสมาติ ในที่สุดรัฐสภาเห็นด้วยกับเราก็มีบทบัญญัติเปิดทางให้คุ้มครองชื่อข้าวหอมมะลิ แต่ในทางปฏิบัติยังต้องดำเนินการต่อ"
 
"ที่ผ่านมา เราก็เคลื่อนไหวมาโดยตลอดในเรื่องเอฟทีเอ ว่าคุณไม่มีสิทธิผลักดันให้เราแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต เราผลักดันกรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้มีภาคที่ว่าด้วยการเปิดเผยที่มาของทรัพยากรชีวภาพ ใครก็ตามจะจดสิทธิบัตรถ้าคุณไม่แสดงที่มาก็ไม่ชอบ"
 
เขาย้ำว่านี่คือสิ่งที่ประเทศไทยได้ต่อสู้มาตลอด เพื่อคัดค้านการจดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต
 
"กรณีข้ามหอมมะลิของคริส เดียเรน ปี 2545 อเมริกาไม่เป็นภาคีในอนุสัญญานะ ในทางกฎหมายเขาไม่ยอมรับว่าประเทศไทยมีสิทธิเหนือข้าวหอมมะลิ แต่เมื่อมีการพัฒนาโครงการวิจัยนั้นและจะนำไปสู่การจดสิทธิบัตร เราค้าน เราบอกว่าข้าวหอมมะลิเป็นทรัพยากร เป็นมรดกของประเทศ คุณจะจดสิทธิบัตรไม่ได้ ในทางการเมืองเขาเลยไม่ทำ ยุโรปส่วนใหญ่ก็เป็นสมาชิกในอนุสัญญาเกือบหมดแล้ว ดังนั้นการที่เราส่งสัญญาณว่าเราเห็นด้วยกับการจดสิทธิบัตร มันเท่ากับเรายอมรับกติกาของสหรัฐ คือเรายอมไปเล่นในเกมเขา ทั้งๆ ที่ตอนนี้มันมีกติกาที่เจรจาต่อรองกันอยู่ แต่เหมือนกับเราไปส่งสัญญาณว่าเราจะเลือกใช้เครื่องมือสิทธิบัตรในระหว่างประเทศเพื่อจะคุ้มครองข้าวหอมมะลิของเรา"
 
 
สวทช.ไม่ใช่ประเทศไทย
 
อ.สุรวิชกล่าวว่าการให้ข่าวขณะนี้สร้างความสับสน
 
"ที่เขาไปจดสิทธิบัตรในอเมริกาเป็นกระบวนการสร้างข้าวแปลงพันธุ์ ข้าวตัดแต่งพันธุกรรมให้มันหอม จากข้าวที่ไม่เคยหอมให้มันหอม นั่นคือสิ่งที่เขาไปขอรับสิทธิมา เขาไม่ได้จดตัวยีนข้าวหอม แต่เขาพยายามจะมาเรียกร้องให้กรมทรัพย์สินทางปัญญารับจดยีน ทั้งๆ ที่โดยกฎหมายที่มีอยู่ปัจจุบันสิ่งที่เขาไปขอจดที่อเมริกามาขอจดที่เมืองไทยได้ เพราะกฎหมายสิทธิบัตรของเรายอมให้จดคุ้มครองกระบวนการทางชีววิทยา ของเขาเป็นกระบวนการทางชีววิทยา จดได้อยู่แล้ว รัฐมนตรีไม่ต้องไปเรียกกรมมาสั่งหรอก เพราะกฎหมายทุกอย่างเอื้ออยู่แล้ว แต่เขาไม่ประสงค์ ที่เขาออกข่าวมาเพราะเขาไม่ประสงค์จะทำอย่างเดียวกับที่เขาได้ที่อเมริกา เขาต้องการมากกว่านั้น ถ้าให้ผมวิเคราะห์ ผมวิเคราะห์ว่าเขาน่าจะมีความคิดแอบแฝง hidden agenda ที่จะพยายามเอาเรื่องนี้นำไปสู่การอนุญาตให้ทดลองจีเอ็มโอในไร่นา คือเขาจะเล่นเรื่องจีเอ็มโอ แต่เขาไปเฉยๆ ไม่ได้ เพราะมติครม.ครั้งแรกก็ห้ามทดลองในไร่นา ครั้งที่สองให้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เขายิ่งตายหนักยิ่งไปกว่านี้ หน่วยงานที่ไปยื่นขอรับสิทธิบัตรเขาทำเรื่องจีเอ็มโออยู่ เพราะฉะนั้นเขาจะดิ้นมาก เขาจะใช้ตรงนี้เป็นหอกที่จะทะลวงทางออกไป"
 
ในฐานะนักวิชาการเกษตร อ.สุรวิชบอกว่า สวทช.ทำเรื่อง GMO มานาน
 
"เขาให้นักวิจัยทำเรื่องนี้ มีทั้งข้าว มะละกอ พริก ฝ้าย มะเขือเทศ แต่รัฐบาลไทยห้ามทดลองในไร่นา ทำได้เฉพาะในโรงเรือน เพราะฉะนั้นตอนนี้เขามีข้อจำกัดอยู่ ซึ่งเขาอยากแก้ไขข้อจำกัดตรงนี้ เขาพยายามที่จะให้ข่าวคลาดเคลื่อน ให้ข่าวว่าเขาไปจดยีน ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ เขาออกข่าวว่าเขาต้องการได้รับการปฏิบัติเหมือนได้รับที่อเมริกา แต่ที่จริงแล้วเขาต้องการมากกว่าที่อเมริกาให้เขา นี่คือประเด็นคือวาระซ่อนเร้นของเขา"
 
ถ้ากรมทรัพย์สินทางปัญญาให้จดยีน จะเกิดผลอย่างไร
"เขาต้องการเป็นเจ้าของ คำถามของผมก็คือ ปกติแล้วการขอรับสิทธิบัตรหรือขอรับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาเขาจะขอในประเทศซึ่งเป็นตลาด หรือประเทศที่คิดว่าจะมีการละเมิด แต่เขาพยายามมาจดประเทศไทยก็แปลว่าเขามีความคิดอยู่ในสมองลึกๆ ใช่ไหมว่าเขาจะฟ้องคนไทย หรือคนที่อยู่ในประเทศไทย เพราะถ้าไม่คิดฟ้องเขาจะจดทำไม มันต้องพูดถึงหลักการก่อนนะครับ เขาไปจดอเมริกาไปจดจีนเพราะรู้ว่าจะมีคนเอาเข้าจีน เอาเข้าอเมริกา ไปดักที่ตรงโน้น ไม่จ่ายก็จับ แต่นี่คิดจะมาจดประเทศไทย"
 
"ผมถึงเรียกร้องให้เขาออกมาพูดให้ชัดว่าสิทธิบัตรอันนี้เขาให้กับคนไทยทั้งประเทศ เขายังไม่ได้พูดเลยนะ เขาไม่ได้ทูลเกล้าฯ ถวายในหลวงด้วยซ้ำ เขาถวายเหรียญเขาไม่ได้ถวายสิทธิบัตรนี้ให้ในหลวง เขายังไม่ได้ให้เป็นของประเทศไทย และเขาก็ไม่เคยพูดว่าเขาให้กับประชาชนไทย แต่เขาบอกว่าเป็นของหน่วยงานไทย"
 
"สวทช.เป็นหน่วยงานของรัฐแต่ไม่ใช่ราชการนะครับ เหมือนรัฐวิสาหกิจสามารถที่จะตัดมิเตอร์ หน่วยงานราชการที่ไม่จ่ายค่าไฟภายใน 7 วันได้ เขามีอำนาจหน้าที่ที่จะทำได้ตามกฎหมาย และเขาก็ยังไม่เคยออกมาบอกกับประชาชนเป็น public commitment เป็นสัญญาประชาคม ว่าผมจะไม่บังคับใช้สิทธิกับคนชาติไทยนะ ไม่เคย เพราะฉะนั้นสื่อมวลชนต้องไปบอกให้เขาพูดอย่างนี้ ถ้าเขาบอกว่าเขาทำให้คนไทยจริงพูดออกมาให้ชัดเจนเลย"
 
สิทธิบัตรนี้เป็นของ สวทช.หรือนักวิจัย
 วิทูรย์บอกว่าเป็นของ สวทช. แต่จะมีสัญญาให้นักวิจัยได้ประโยชน์
 
"สิทธิเป็นของสวทช. นักวิจัยก็แล้วแต่ สวทช.จะกำหนดว่าเขาจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง กรณีคอร์เนล ที่กอนซาเลซ เป็นนักวิจัยไวรัสมะละกอ มันเขียนไว้ชัดว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของรายได้จะต้องแบ่งให้ทีมวิจัย และ 20 เปอร์เซ็นให้หน่วยงาน อย่างนี้เป็นต้น"
 
อ.สุรวิชบอกว่าในเมืองไทยส่วนใหญ่จะให้ 50:50 เพื่อเป็นแรงจูงใจให้นักวิจัยทำงาน
 
วิทูรย์บอกว่าการที่ สวทช.เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ราชการ เป็นคำถามอีกเหมือนกันว่า สวทช.จะใช้สิทธิบัตรอย่างไรในอนาคต
 
"คนจะเข้าใจว่า สวทช.คือประเทศไทย แต่ไม่ใช่ สวทช.ไม่ใช่หน่วยงานราชการ เป็นหน่วยงานของรัฐนอกระบบ ที่ผมกังวลอันหนึ่งคือบทบาทของ สวทช.ที่ผ่านมา กรณีแรกคือการที่ สวทช.ไปทำสัญญางานวิจัยร่วมกับบริษัทโนวาติส ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตร โดยตัวสัญญาไม่เป็นที่เปิดเผย ตั้งแต่ปี 2548 โดยมี 2 เฟส เฟสละ 3 ปี ตอนนี้หมดเฟสแรกไปแล้ว การวิจัยนั้นเป็นการวิจัยเรื่องเชื้อราและทรัพยากรชีวภาพเพื่อใช้ประโยชน์ในทางยา แต่รายละเอียดของตัวสัญญาไม่เป็นที่เปิดเผย"
 
"สวทช.เหมือนกับได้สถาปนามาเป็นหน่วยงานทำหน้าที่ในการจัดการเรื่องของการใช้ประโยชน์ในรัพยากร ผมตั้งคำถามต่อว่าในกรณีของสิทธิบัตรข้าวหอมมะลิที่เขาจดอยู่ปัจจุบันนี้ ต่อไปเขาจะมีสัญญาแบบนี้ไหม กับบริษัทอื่น เช่น มอนซานโต หรือบริษัทอื่นก็แล้วแต่ เพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากตัวสิทธิบัตรนี้ ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นถามว่าเขามีสิทธิจะทำได้ไหม เขาทำได้ ในระยะยาวใครจะทำให้เกิดหลักประกันว่าสิทธิบัตรเหล่านั้นจะไม่เป็นประโยชน์ หรือไปสร้างผลกระทบต่อชาวนาที่ปลูกข้าวหอมะลิในประเทศไทย"
 
"กรณีที่สอง มันมีงานวิจัยบางชิ้น เช่น การพัฒนาข้าวหอมนิล ซึ่งได้ทุนจากรัฐบาล เมื่อพัฒนาเป็นข้าวมาได้เขาก็ขายสิทธินี้ให้กับบริษัทเอกชน ทั้งการผลิต จำหน่าย ข้าวหอมนิลนั้น โดยที่ไม่ได้เผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชน แล้วก็มีการเอาข้าวหอมนิลมาผสมกับข้าวหอมมะลิ ได้ข้าวสีนิลซึ่งมีธาตุเหล็กสูง แล้วนักวิจัยกลุ่มนี้-กลุ่มเดียวกับที่วิจัยข้าวหอมมะลินี่แหละ ตั้งบริษัท สีนิล ไรซ์ ร่วมกับบริษัทไชโยเอเอ ที่ขายพันธุ์ยูคาลิปตัส โดยนักวิจัยเป็นผู้ก่อตั้ง"
 
"ในอนาคตถ้ามีการเอาสิทธิแบบนี้ไปทำสัญญากับบริษัท ค้าขายผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสิทธิบัตรนี้ ถ้าไปทำข้ามประเทศ อย่างบริษัทโนวาติส ไปผลิตข้าวที่มีความหอมอย่างข้าวหอมมะลิ ผลกระทบจะเกิดขึ้นอย่างไร ตรงนี้ยังไม่มีใครพูด ตอนนี้สังคมไทยไม่เข้าใจ คิดว่า สวทช.คือประเทศไทย แต่เราไม่รู้ว่า สวทช.จะทำอะไรได้บ้าง และที่ผ่านมาเขาทำอะไรไปบ้าง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เป็นคนกำกับ แต่แค่กำกับนะ หน่วยงานนี้เขามีระบบของเขา เหมือนกับเป็นรัฐวิสาหกิจอย่างหนึ่ง สังคมไทยจะต้องจับตา ต้องตรวจสอบอย่างไรบ้างในกรณีนี้ เพราะกระบวนการจดสิทธิบัตรมันการเป็นการแปรรูปความหอมของข้าวหอมมะลิไปเป็นสิทธิของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีสิทธิจะทำอะไรก็ได้ แล้วแต่มติของคณะกรรมการ"
 
กรณีสีนิลไรซ์ผูกขาดข้าวพันธุ์นี้ไปเลยไหม
"เขาไม่ได้ไปจดคุ้มครอง แต่กระบวนการพัฒนาพันธุ์ขึ้นมา เขาเก็บรักษาพันธุ์เอาไว้ เขาให้เหตุผลว่าไม่ต้องการเผยแพร่ต่อ เพราะจะรักษาเชื้อพันธุ์ที่ดีเอาไว้ แล้วนักวิจัยก็ไปตั้งบริษัทร่วมกับเอกชน ทั้งที่ได้รับทุนจากรัฐบาล"
 
อ.สุรวิชกล่าวว่า ถ้าเกิดเรื่องในทำนองเดียวกัน ก็อาจเป็นได้ว่าวันหนึ่ง สวทช.หรือนักวิจัย จะบอกว่าอยากได้ทุน ก็อนุญาตให้บริษัทอเมริกาเอาสิทธิบัตรนี้ไปใช้
 
"ข้าวที่ผลิตมาจากกระบวนการนี้ไปปลูกที่ไหนก็หอม ไม่จำเป็นต้องปลูกที่ทุ่งกุลา ด้วยวิธีการนี้มันปลูกอเมริกาก็หอม คนได้ประโยชน์คือ สวทช.แบ่งกับอเมริกา แต่ถามว่าเกษตรกรไทยที่ขายข้าวไม่ได้ล่ะครับ ตรงนั้นคิดไหม เทียบเคียงกับข้าวหอมนิลก็คือเอาสมบัติของสาธารณะมาเป็นสมบัติของหน่วยงานของประเทศไทย ฟังดูดี แต่เฮ้ย เอาประโยชน์ของประชากรส่วนใหญ่มาให้หน่วยงานนี้ ถามว่าหน่วยงานนี้ทำไมต้องได้รับสิทธินั้น"
 
สมมติอเมริกาขอซื้อสิทธิปลูกเป็นล้านๆไร่
"เขาอยากขอใช้แน่นอน เพราะการทดลองนี้ทดลองกับข้าวเม็ดสั้น ซึ่งอเมริกาปลูกข้าวเม็ดสั้นเยอะแยะ เขาเปลี่ยนข้าวที่ปลูกในอเมริกาจากไม่หอมเป็นหอม เขาไม่ต้องทำข้าวเม็ดยาวอย่างของเรา คนอเมริกาก็อาจจะไม่ซื้อข้าวจากไทย ตลาดข้าวเราหด สวทช.ได้ประโยชน์ ฟังดูว่าประเทศไทยได้ประโยชน์ หน่วยงานประเทศไทยได้ประโยชน์ แต่เกษตรกรไทยได้ประโยชน์หรือเปล่า น่าคิดนะ"
 
"คุณไปจดนี่คุณกะจะทำอะไร ต้องให้เขาแถลงให้ชัดเจน หนึ่ง เป็นของคนไทยใช่ไหม ให้สิทธิกับประเทศไทยทั้งหมดไหม สอง จดเพื่อการหวงกันถูกไหม แปลว่าจะไม่อนุญาตให้ใครในโลกนี้ใช้สิทธิในสิทธิบัตรนี้ถูกต้องไหม เอาแค่นั้นเลย เพราะถ้าคุณอนุญาตให้คนอื่นใช้สิทธิซึ่งไม่ใช่คนไทย คุณไม่ประสงค์จะหาเงินกับคนไทย แต่ให้ต่างประเทศใช้สิทธิ แล้วผลิตภัณฑ์ออกมาตีตลาดข้าวไทย คุณรับผิดชอบอะไร เกษตรกรไทยเดือดร้อน จดเพื่อหวงกันจริงหรือเปล่า จดหวงกันต้องไม่ให้คนอื่นใช้สิทธิ 20 ปีคนอื่นใช้ทำข้าวจีเอ็มด้วยวิธีนี้เพื่อให้เป็นข้าวหอม ไม่ได้ คุณพูดอย่างนั้นสิ ถ้าคุณจะทำเพื่อประเทศไทยต้องพูดอย่างนั้น แต่ผมว่าเขาไม่พูดหรอก"
 
สิทธิบัตร 20 ปีหมายความว่าเราจบเลยใช่ไหม อีก 20 ปีทุกคนก็ผลิตได้
"อีก 20 ปีเทคโนโลยีมันอาจจะเปลี่ยน ถ้าเขาพัฒนางานนี้ ทำให้มีสิทธิบัตรเกิดขึ้นใหม่ ก็ต่อได้อีก 20 ปีไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเขาไม่คิดว่าทำเพื่อประเทศ สมมติครั้งนี้เราไปบีบคอเขาห้ามอนุญาตให้ใครใช้สิทธิ เขาบอกฉันลงทุนเป็นสิบล้าน ไม่ให้ฉันหาเงินเลย เพราะฉะนั้นฉันไม่ทำแล้วงานวิจัยอย่างนี้ 20 ปีเราก็หมด"
 
วิทูรย์บอกว่าที่ อ.สุรวิชพูดเคยเกิดขึ้นแล้ว
 
"การวิจัยเรื่องกวาวเครือ ที่จุฬาฯ นักวิจัยที่เก่งเรื่องนี้วิจัยไปถึงจุดหนึ่ง อาจจะไม่มีงบมหาวิทยาลัย support เขาก็เอาสิทธิบัตรไปขายให้เกาหลีเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มาจากกวาวเครือ แต่กระบวนการวิจัยเป็นการลงทุนโดยงบประมาณของรัฐ งานวิจัยและการจดสิทธิบัตรตอนแรกเป็นเหมือนทรัพย์สมบัติของมหาวิทยาลัยของนักวิจัย แล้วก็ถูกแปรมาเป็นทางการค้า"
 
อ.สุรวิชกล่าวว่าเรื่องนี้ประเด็นสำคัญคือจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 52 ของพรบ.คุ้มครองพันธ์พืช ซึ่งบอกว่า ผู้ใดจัดหารวบรวมพันธุ์พืชป่าหรือพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป เพื่อการปรับปรุงพันธุ์ ศึกษาทดลองวิจัย เพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงการค้า จะต้องมาขออนุญาต และทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ก่อน แต่ปัญหาคือกฎกระทรวงเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไม่ออก
 
"ถ้าผู้บริหารประเทศบอกว่าจะปกป้องทรัพยากรของไทย ต้องผลักดันให้กฏกระทรวงตามมาตรา 52 ของพรบ.คุ้มครองพันธ์พืช 2542 ออกมาโดยเร็ว ตั้งแต่ 2542 นี่ 10 ปีแล้วกฎหมายลูกยังไม่ออกเลย"
 
ถ้าทำตามมาตรา 52 จะเป็นอย่างไร
"สวทช.ได้เงินมาเท่าไหร่ต้องแบ่งเข้ากองทุนฟื้นฟูทรัพยากรชีวภาพ ในกฎหมายระบุว่า เงินที่ได้ต้องเข้ากองทุนและกลับไปสู่ชุมชน"
 
"เขาอาจจะคิดว่าเข้ามาตรา 53 คือไม่ใช่เพื่อประโยชน์ทางการค้า ตอนที่วิจัยไม่ใช่เพื่อประโยชน์ทางการค้า แต่ทันทีที่คุณจดสิทธิบัตรมันพูดถึงประโยชน์ทางการค้า เพราะถ้าไม่หวังประโยชน์ทางการค้าคุณจะไปจดสิทธิบัตรทำไม"
 
อ.สุรวิชกล่าวว่าการจดสิทธิบัตรข้าว GMO ก็จะมีผลข้างเคียงอีกแง่หนึ่ง
 
"รัฐไทยประกาศมาตลอดว่าเมืองไทยไม่มีการทดลองทำจีเอ็มโอข้าว ประกาศให้ทั่วโลกรู้เลย ประเทศคู่ค้าจะได้ไม่สุ่มตรวจข้าวเราว่าเป็นจีเอ็มโอติดมาหรือเปล่า ว่างๆ เอกสารฉบับนี้ก็โผล่ออกมาว่าสิทธิบัตรนี้ทำโดยการทำจีเอ็มโอข้าว ถ้าคุณเป็นคู่แข่งทางการค้า เช่นเวียดนาม ก็ต้องยกประเด็นนี้ไปบอกคู่ค้า สมมติไปบอกยุโรป เห็นไหมประเทศไทยเชื่อถือไม่ได้ บอกว่าข้าวไม่มีจีเอ็ม เอาเอกสารนี้ไปให้ดู รัฐไทยเชื่อได้อีกไหม ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาจากประเทศไทยไม่น่าเชื่อถืออีกต่อไปแล้ว มันไม่ใช่กระทบแต่ข้าวนะ ผักผลไม้ทุกอย่างที่ส่งไป"
 
เราบอกว่าตอนแถลงข่าวไม่เห็นบอกว่า GMO
"เขาบอกว่าเขาจดยีน ไม่ใช่จดกระบวนการ อันนี้จะบอกว่าเขาพูดผิดไม่ได้หรอก โดยเจตนาบ่ายเบี่ยงที่จะไม่พูดว่าเขาจดกระบวนการสร้างข้าวจีเอ็มให้หอม งานวิจัยจีเอ็มโอเขาได้ทุนมาเยอะและทำมานาน เขาต้องพยายามหาทางว่าทำอย่างไรให้งานวิจัยเขาไปแสดงผลให้ได้ ตีล้อมมาจากข้างๆ"
 
อย่างไรก็ดี อ.สุรวิชเห็นว่าการจดในต่างประเทศก็มีส่วนที่ดี
"เพราะถ้าเขาไม่จด เกิดจีนศึกษาโครงการจีโนมข้าว สมมติจีนค้นพบแล้วเอาไปจดก่อน จีนก็ทำข้าวหอมมะลิจีเอ็มโอได้"
 
แต่ไม่ควรที่จะต้องมาจดในประเทศไทย
"จะจดด้วยเหตุผลใด หาเหตุผลไม่เจอ ถามว่าประเทศไทยใครจะละเมิดได้ มาทำจีเอ็มในประเทศไทย ทำแล้วจะมาปลูกด้วย สมมติซีพีมาติดต่อ สวทช.ขออนุญาตใช้กระบวนการนี้ ปกติการอนุญาตให้ไปมักจะเป็นกินเปอร์เซ็นต์ อย่างมากก็ให้ล่วงหน้ามาสักส่วนหนึ่ง สมมติ 1 ล้าน จากนั้นเอาไปสักตันละ 1,000 บาทเป็นค่าใช้สิทธิ ถ้าสวทช.อนุญาตก็คงไม่มีสมอง เพราะซีพีจะไปปลูกที่ไหน ประเทศไทยปลูกข้าวจีเอ็มไม่ได้ ถ้าไปปลูกที่ลาว เขาไม่ต้องมาขออนุญาตใช้สิทธิที่เรา เพราะประเทศลาวไม่ได้รับสิทธิบัตรอันนี้ ก็ไปทำที่ลาวเลยสิ ไปตั้งแล็ปที่ลาวทำจีเอ็มเลย ผมจึงคิดไม่ออกว่าจะจดในประเทศไทยไปทำไม"
 
"อย่างที่ผมบอกเขาไม่ได้ประสงค์จะจดกระบวนการ ทุกครั้งที่เขาให้ข่าวคือเขาประสงค์จะจดยีน เขาประสงค์ที่จะนำไปสู่การแก้ไข พรบ.สิทธิบัตร และยาวออกไปคือเรื่องของการปลูกจีเอ็มในประเทศไทย ผมเป็นนักวิชาการสายนี้ รู้ว่าเขาคิดอะไร ทำให้ผมกังวลในเรื่องที่เกี่ยวกับการใช้สิทธิของคนไทย ถ้าจริงใจก็ประกาศออกมาสิ สวทช.ต้องการอย่างนี้ จะไม่บังคับใช้สิทธิกับคนไทย เป็นสมบัติของชาติ ณ วันนี้มันเป็นสมบัติของสวทช. หน่วยงานของรัฐ แต่สวทช.จะให้กับประชาชนทั้งประเทศ ประกาศออกมา ปีหน้าก็ได้วันข้าวไทย 6 มิ.ย. ปีนี้ผ่านไปแล้วจะประกาศย้อนหลังก็ได้ ทุกคนก็แฮปปี้ แต่ทุกวันนี้คุณพยายามสร้างความสับสน"
 
วิทูรย์บอกว่าที่อลงกรณ์กำลังผลักดัน ก็คือสิ่งที่อเมริกาเคยเรียกร้องในเอฟทีเอ
 
"เขาบอกว่าเป็นนโยบายที่จะให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาจดสิทธิบัตรในพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ เพราะถ้าประเทศอื่นจดได้ กฎหมายไทยจะต้องอนุญาต"
 
 
"แต่มันขัดกับกฎหมายไทย กฎหมายของประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากไม่อนุญาตจดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต นี่คือจุดยืนของกฎหมายไทยที่มีมาในอดีตถึงปัจจุบัน แม้แต่รัฐบาลที่ผ่านมาก็ไม่มีใครแก้เรื่องนี้ แม้แต่สมัยทักษิณก็บอกว่าเรื่องนี้สำคัญเขาจะไม่แก้ แต่สิ่งที่อลงกรณ์พูดตอนนี้เหมือนกับคุณต้องจัดการกับกฎหมายภายใน เปิดโอกาสให้มีการจดสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิต ซึ่งข้อเสนอนี้อยู่ในข้อเสนอที่อเมริกา ยุโรป ผลักดันรัฐบาลไทยผ่านข้อตกลงเอฟทีเอ ตีความได้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นการเตรียมการเพื่อที่จะรองรับการเจรจาเอฟทีเอ เพราะถ้าคุณเจรจาเรื่องเอฟทีเอ คนอาจจะค้านเพราะเป็นผลประโยชน์ต่างชาติ แต่ตอนนี้บอกว่าแก้เพื่อผลประโยชน์ของข้าวไทย แบบนี้ทักษิณเคยทำมาก่อนก็คือแก้กฎหมายเอาไว้ก่อนล่วงหน้า พอเอฟทีเอมาเข้าสภาไม่ต้องแก้กฎหมาย ตอนที่ทักษิณจะเปิดเอฟทีเอเรื่องจีเอ็มโอ ทักษิณก็บอกว่าการเปิดเสรีเรื่องจีเอ็มโอไม่เกี่ยวกับเอฟทีเอ เป็นเพราะ สวทช.ต้องการเปิดให้วิจัย ตอนนี้อลงกรณ์มาคล้ายๆ กัน อลงกรณ์มาบอกว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญาจะต้องเปิดให้ใช้มาตรการทางกฎหมายแบบเดียวกับอเมริกา ให้มีการจดสิทธิบัตร เพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อนักวิจัยไทย"
 
มีข้อสงสัยอีกอย่างว่า สวทช.จดสิทธิบัตรได้ตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ทำไมเพิ่งประกาศ
"เขายื่นจดปี 2006 ได้ 2008 เขายื่นไปหลายฉบับนะ บางฉบับอเมริกาก็ไม่อนุมัติ"
 
อ.สุรวิช "สถานการณ์บ้านเมืองตอนนั้นมันตีปี๊บไม่ได้หรอก เขาก็รอให้ไม่มีสถานการณ์การเมือง เรื่องนี้อยู่ที่ สวทช.เป็นคนดัน มีแผนเป็น step อยู่แล้ว ว่าจะดันในช่วงไหน หลังจากประกาศแล้วเขาจะดึงหมากต่อไปอย่างไรๆ"
 
วิทูรย์ "ตอนนี้กรมทรัพย์สินฯ ก็ถูกมองเป็นผู้ร้าย กรณีนี้เรายืนอยู่ข้างกรมทรัพย์สิน ในการที่ไม่ยอมให้จดสิทธิบัตร ที่ผ่านมาเราไม่เห็นด้วยกับกรมทรัพยืสินหลายเรื่อง แต่เรื่องนี้เขาถูกต้อง"
 
 
 

บทเรียนจากอดีต
 
ถามวิฑูรย์ว่ามีอะไรบ้างที่เกรงว่าต่างชาติจะเข้ามาเป็นโจรสลัดทางชีวภาพ ถ้ายอมให้ สวทช.จดสิทธิบัตรยีนข้าวหอม แล้วเป็นช่องให้ต่างชาติจดได้เช่นกัน
 
"ตอนนี้ญี่ปุ่นเขาเชี่ยวชาญเรื่องเชื้อรา เขามีทีมเยอะ ใช้ในยารักษาโรค อุตสาหกรรมอาหาร เขาเข้ามาศึกษาเชื้อราของไทยเยอะเลย ในญี่ปุ่นเขาประเมินว่าอุตสาหกรรมอะไรใหญ่ที่สุด ไม่ใช่รถยนต์นะแต่เป็นจุลินทรีย์ ที่เราเซ็น J-TEPPA ข้อเสนอเรื่องจุลินทรีย์เป็นเรื่องใหญ่ เราไม่รู้เรื่องเลยเราก็ยอมเขา สมัยสุรยุทธ์ จนต้องมาทำจดหมายแนบท้ายตอนหลัง"
 
"ผมเคยเจอศาสตราจารย์ญี่ปุ่น เขาบอกเขามีโครงการเต็มไปหมดกับมหาวิทยาลัยในเมืองไทย โดยเฉพาะราชภัฏ ราชมงคล เพราะเป็นมหาวิทยาลัยชุมชน เข้าถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นง่าย เพราะงานวิจัยด้านทรัพยากรชีวภาพ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือภูมิปัญญาคนท้องถิ่น เหมือนเปล้าน้อย เขาก็มาหานักวิชาการ ก็พาไปหาถึงที่เลยว่าที่ไหนได้สารเปลาโนทอลมากที่สุด ก็ไปเจอที่คลองวาฬ ประจวบฯ คนที่ไปด้วยก็เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้นี่แหละ คือเราไม่ทันเกมเขา ใสซื่อ คนไทยอัธยาศัยดี รับแขก"
 
"เขามาเปิดไร่ที่คลองวาฬแล้วสกัดสารส่งไป มันเริ่มจากโครงการวิจัยร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับญี่ปุ่น แล้วงานวิจัย report ว่าตัวเปล้าน้อยมีสารที่สามารถรักษาโรคได้หลายอาการ โดยเฉพาะโรคกษัย ญี่ปุ่นไปทำวิจัยต่อในห้องแล็บ ก็พบสารเปลาโนทอลที่รักษาโรคกระเพาะได้ แต่เขาไม่รู้ว่าจะหาแหล่งเปล้าน้อยที่ไหนที่ออกฤทธิ์มากที่สุด เขาก็มาประสานกับเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้คนหนึ่ง ด้วยความช่วยเหลือของนักวิชาการไทย อาจจะความไม่รู้เท่าว่าจะนำไปสู่การจดสิทธิบัตร ต่อมาญี่ปุ่นจดสิทธิบัตร จดในเมืองไทยด้วยนะ จดกรรมวิธีการผลิต เขาก็มาตั้งโรงงานที่คลองวาฬ จ้างชาวบ้าน บริษัทได้ยอดขายเป็นพันล้าน ขายเม็ดละ 30 กว่าบาท จะครบสิทธิบัตร 20 ปีในปีสองปีนี้แหละ"
 
"กวาวเครือนี่มหาวิทยาลัยญี่ปุ่นส่งนักศึกษาปริญญาเอกมาทำวิจัยกับนักวิจัยจุฬาฯ แล้วญี่ปุ่นก็จดสิทธิบัตร อีกอันนักวิชาการไทยจดสิทธิบัตร แต่ขายต่อให้เกาหลี ถามว่าผลการวิจัยเหล่านั้นมันได้กลับมาสู่ประเทศหรือเปล่า"
 
"เราผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยก็เพราะเหตุนี้ มันมีพวกที่มาฉวยไปโดยที่ไม่มีอะไรแบ่งเลย ภูมิปัญญาชาวบ้านกว่าจะได้เป็นองค์ความรู้ขึ้นมา ชาวบ้านต้องทนทุกข์ทรมาน อาจจะเสียชีวิตเพราะทดลองกันมาในบรรพบุรุษ ขณะที่เราไปให้เครดิตคนที่ทดลองในห้องทดลองเล็กๆ มันไม่เป็นธรรม ซึ่งกติกานี้ก็เป็นที่ยอมรับทั่วโลก อนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ” 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net