Skip to main content
sharethis

แม้ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมาจะเกิดเหตุร้ายรายวันในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุการณ์ที่ถูกพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์กันมากที่สุดย่อมหนีไม่พ้นเหตุการณ์ คนร้ายบุกยิงถึงในมัสยิดที่บ้านไอปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2552 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 10 ศพ บาดเจ็บอีก 12 คน

ปรากฏการณ์สุดอุกอาจที่เรียกได้ว่าเป็นการ “สังหารหมู่” ถึงใน “ศาสนสถาน” ทำให้เกิดคำถามย้อนกลับไปในหลายๆ มิติ ทั้งปฏิบัติการของฝ่ายความมั่นคง นโยบายการแก้ไขปัญหาของรัฐไทย (ไม่เฉพาะรัฐบาล) ความคุ้มค่าของงบประมาณจำนวนมหาศาลที่ทุ่มลงมาในพื้นที่

และที่สำคัญคือภาพพจน์ของไทยในสายตาชาวโลก โดยเฉพาะโลกมุสลิม ต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวที่สุดของสงครามที่เชื่อกันว่ามีเป้าหมายสุดท้ายอยู่ ที่การแบ่งแยกดินแดน

ความสำเร็จที่รัฐบาลในอดีตเคยอ้างว่าสามารถหยุดการยกระดับปัญหาสู่ระดับสากล ได้ชะงัดนั้น... ถึงวันนี้เริ่มมีคำถามหนาหูว่ายังจะเป็นเช่นนั้นอยู่หรือ?

ในเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “อิสลามกับความท้าทายของโลกสมัยใหม่” ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อไม่กี่วันมานี้ กลายเป็น “ชุมนุมนักคิด” จาก หลากหลายสาขา ทั้งรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และนักการศาสนา ที่ล้วนหยิบประเด็นความรุนแรงที่มัสยิดเล็กๆ แห่งนั้นขึ้นมาวิเคราะห์ ทั้งตั้งคำถามและพยายามตอบคำถามเพื่อ...ฝ่าวิกฤติไอปาแย

อย่าให้ไอปาแยฝังอยู่ในใจชาวบ้าน…

รศ.ดร.มารค ตามไท ผู้อำนวยการสถาบันศาสนาและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยพายัพ ในฐานะนักวิชาการที่เฝ้าติดตามปัญหาภาคใต้มาโดยตลอด ให้สติในเบื้องแรกว่า สิ่งสำคัญคือทุกฝ่ายอย่าพึ่งรีบสรุป เพราะหลายอย่างที่เกิดขึ้นภาครัฐเองก็ไม่รู้อะไรเหมือนกัน แต่ก็รีบสรุปเกินไป ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าปกปิดบ้าง หรือถึงแม้จะไม่ปกปิด แต่ก็เข้าใจได้ว่าค่อนข้างมีอคติ

ดังนั้นประการแรกคือภาครัฐต้องประกาศก่อนว่าไม่รู้ และประการต่อมาก็เร่งจัดทำการสอบสวนอย่างจริงจัง เพื่อพิสูจน์ให้ประชาชนได้เห็น

อาจารย์มารค มองว่า สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนใต้ที่ความรุนแรงปะทุขึ้นอีกระลอกหลังจากเงียบมา พักหนึ่ง ชี้ให้เห็นว่าภาครัฐไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้จริง แต่ในส่วนท่าทีขององค์กรต่างประเทศ เท่าที่ทราบยังไม่ค่อยอยากมายุ่งมากนัก เพราะเห็นว่ารัฐไทยก็มีความพยายามจัดการเองอย่างจริงจัง

อย่างไรก็ดี อาจารย์มารค ย้ำว่า รัฐบาลต้องไม่ปล่อยให้กรณีที่ชาวบ้านในพื้นที่คาใจเงียบหายไป

“ก็อย่างที่เราทราบกัน คือคนในพื้นที่เองก็มีข้อสรุปแล้วในใจ ฉะนั้นถ้าไม่พิสูจน์อะไรออกมาให้ชัด ข้อสรุปนั้นก็จะอยู่ต่อไป และถ้าข้อสรุปที่ภาครัฐพิสูจน์แล้วออกมาอย่างไร รัฐเองก็ต้องยอมรับ ไม่ใช่ปล่อยให้มีการปกปิด ต้องยอมรับกันอย่างตรงไปตรงมา ที่สำคัญคือต้องรีบจัดการ เพราะถ้าไม่รีบจัดการก็จะมีการพูดกันเหมือนกรณีกรือเซะ กรณีตากใบ อย่าให้มีกรณีที่สามคือกรณีมัสยิดที่บ้านไอปาแย อย่างนี้มันจะฝังอยู่ในใจ และเอาออกยาก มันเป็นอุปสรรคในการทำงานการเมือง งานพัฒนา เพราะมันจะติดกับเรื่องที่ยังไม่คลี่คลาย”
 
ที่น่าห่วงคือชาวบ้านเชื่อไปแล้ว...

ผศ.สุชาติ เศรษฐมาลินี นักวิชาการมุสลิมจากมหาวิทยาลัยพายัพ ซึ่งมีโอกาสลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้บ่อยครั้ง กล่าวว่า ภายหลังได้ทราบข่าวไฟใต้ระลอกใหม่ พี่น้องมุสลิมทางภาคเหนือมีความเป็นห่วงมาก ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์ที่ไอปาแย สำหรับคนมุสลิมแล้วทำใจได้ยากจริงๆ เพราะคนที่กำลังละหมาด กำลังสักการะพระผู้เป็นเจ้า ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญอย่างมาก เนื่องจากมุสลิมจะได้รับการปลูกฝังว่า เวลาที่ละหมาดจะเป็นช่วงที่เราใกล้ชิดพระเจ้ามากที่สุด เป็นช่วงที่มุสลิมจะต้องมีความมุ่งมั่นต่อพระองค์ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงมีผลกระทบต่อจิตใจอย่างมหาศาล และไม่ได้ส่งผลแค่คนมุสลิมในประเทศไทยเท่านั้น แต่มันคือมุสลิมทั่วโลก

สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากก็คือ ไม่ว่าใครจะเป็นคนกระทำการครั้งนี้ก็ตาม แต่ชาวบ้านก็เชื่อไปแล้วว่าใครเป็นคนทำ

“จะจริงหรือไม่ผมก็ไม่รู้ แต่ความคิดความเชื่อตรงนี้มันน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ฉะนั้นรัฐต้องรีบเยียวยาจิตใจ และผมก็ไม่แน่ใจว่าการชี้แจงทำความเข้าใจของภาครัฐมันจะช่วยให้คนมุสลิมเข้า ใจหรือไม่ แต่คำตอบตรงนั้นเขามีอยู่แล้ว ซึ่งผมคิดว่าทุกฝ่ายจะต้องช่วยกัน โดยเฉพาะองค์กรมุสลิม”

“ผมไม่อยากเห็นการแก้แค้น ล้างแค้นกันไม่มีที่สิ้นสุด เพราะในคุตบะฮ์สุดท้าย (บทสั่งสอน ตักเตือน ก่อนละหมาดวันศุกร์) ของท่านศาสดามูฮัมหมัดก็พยายามให้ยุติการล้างแค้นต่างๆ แต่ในส่วนของการสร้างความยุติธรรม การเยียวยาตรงนั้นก็ต้องทำ อย่าหยุดแค่นี้แล้วเลิกกันไป จะต้องมีการทบทวนทำความเข้าใจร่วมกันที่จะไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้น อีก”
 
เกิดเหตุใหญ่ทีก็เฮโลกันที...

รศ.ดร.จรัญ มะลูลีม นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองในมิติของเวทีนานาชาติว่า ปัญหาภาคใต้เป็นเรื่องของชนกลุ่มน้อยมุสลิม ซึ่งในกฎบัตรขององค์การการประชุมอิสลาม หรือ โอไอซี คือถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ชนกลุ่มน้อยมุสลิมได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจหรือความ ตาย โอไอซีจะต้องยื่นมือเข้าไปดูแล และด้วยสถานะที่ประเทศไทยเป็นผู้สังเกตการณ์ (ในการประชุมโอไอซี) ฉะนั้นจะต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ให้มาก

“สิ่งสำคัญคือต้องเร่งทำให้เกิดความยุติธรรม ต้องมีพยานหลักฐานชัดเจนในการจับกุม ต้องแสดงให้ทั่วโลกเห็นว่ากระบวนการด้านกฎหมายของไทยนั้นมีความยุติธรรม ที่สำคัญอย่ามองคนจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นคนชายขอบ เพราะกรณีนี้โลกมุสลิม ซึ่งก็คือประเทศสมาชิกโอไอซีถึงกับพูดว่า ความสัมพันธ์ที่มีต่อไทยนั้น ปัจจัยหนึ่งขึ้นอยู่กับความสงบในภาคใต้ด้วย”

“เหตุ นี้การที่พี่น้องมุสลิมอยู่ในสภาพที่ถูกล้อมปราบ หรืออยู่ในสภาพที่เขาจะมีชีวิตร่วมกับสังคมอื่นได้อย่างเท่าเทียมกัน เป็นประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากที่สุด เรื่องความเท่าเทียมนั้นถ้าเรามองเผินๆ อาจจะมองเห็นไม่ชัด แต่จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องของกฎหมาย เป็นเรื่องของการใช้กฎหมาย การแสดงความโปร่งใสในการสอบสวนและทำความจริงให้ปรากฏ”

สำหรับความรู้สึกของพี่น้องมุสลิมในภาคกลาง รศ.ดร.จรัญ กล่าวว่า เท่าที่ได้พูดคุย ได้ฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการรวมตัวกันที่ศูนย์กลางมุสลิมแห่งประเทศไทย ทำให้ทราบว่าไม่ว่าจะเป็นที่ไหนๆ พี่น้องมุสลิมที่อื่นๆ มีความเป็นห่วงพี่น้องมุสลิมในภาคใต้อย่างมาก มีการพูดถึง มีการอภิปราย มีการนำประเด็นปัญหามาถกกัน

ดังนั้นในฐานะที่เราเป็นประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตย ส่วนใดที่มีผลกระทบกับพี่น้องมุสลิม ก็จะได้รับความสนใจอย่างสูง ซึ่งไม่ใช่ว่าจะมีการแบ่งแยกอะไร โดยเฉพาะล่าสุดเหตุการณ์สังหารในมัสยิด จากนั้นก็มีเหตุการณ์สังหารพระภิกษุสงฆ์ ทุกคนก็สนใจ และไม่มีใครอยากให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น

“ที่สำคัญก็คือเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องนำคนผิดตัวจริงมาลงโทษให้ได้ เพื่อให้เห็นชัดว่าใครคืออยู่เบื้องหลังการกระทำ ซึ่งอย่างน้อยก็ทำให้พี่น้องมุสลิมทั่วไปเข้าใจว่าภาครัฐติดตามอย่างแท้ จริง”

รศ.ดร.จรัญ ชี้ด้วยว่า ที่ผ่านมามีความพยายามเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาจากฝ่ายต่างๆ แต่ก็ไม่เห็นความคืบหน้ามากนัก สิ่งที่ปรากฏอยู่เป็นประจำก็คือ เวลามีเหตุร้ายที ก็เฮโลกันที

“ผมได้มีโอกาสไปพูดในหลายที่ และได้รับฟังข้อเสนอจากหลายฝ่าย บางคนคิดไปถึงการได้รับสิทธิอย่างชาวไทยพุทธเชื้อสายมาเลย์ (ในประเทศมาเลเซีย) คือมีความเท่าเทียมกัน บางคนก็คิดไปถึงการให้ภาษามลายูเป็นภาษาทำงาน เราพูดถึงทางแก้กันเยอะ แต่คนที่เราเสนอเขาก็ไม่รับ พอมาตอนนี้เราเลยต้องมาแก้เหตุร้ายรายวัน ซึ่งพอเกิดเหตุใหญ่ทีหนึ่ง เราก็เฮโลกันทีหนึ่ง ผลสุดท้ายเราก็กลับมาที่เดิม จุดเดิม ไม่บรรลุความสำเร็จได้สักที”
 
วิธีการไม่ดีไม่มีทางสร้างผลดี...

รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งโจทย์ว่า สถานการณ์ของสามจังหวัดชายแดนใต้นั้น ปัญหาใหญ่คือวิธีการที่เราเลือกในการแก้ปัญหามันส่งผลต่อสิ่งที่เราจะได้รับ อย่างไร เช่น เราใช้วิธีการที่ไม่ดีเพื่อผลที่เราคาดว่าจะดี มันเป็นไปไม่ได้ ตัววิธีการมันจะส่งถึงผลที่จะเกิด

สมมุติเราบอกว่าการทรมานทำให้เราได้ข้อมูล แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือว่า เราเองก็รู้ว่าสิ่งที่เราได้มาได้มาจากการทรมาน ซึ่งมันยอมรับกันได้หรือในสังคมนี้ เพื่อที่จะให้ได้คำตอบ เราจะทำอย่างไรก็ได้อย่างนั้นหรือ

“สถานการณ์แบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา ก็มีการถกเถียงกันมาก เพราะวิธีนี้พอทำแล้วมันอาจจะได้ผล แต่มันทำลายตัวตนของเรา และเรื่องที่ใหญ่กว่า คือ เราอย่าลืมว่าเราอยากจะแก้ปัญหาประเทศนี้ บ้านเมืองนี้ ทำให้ทุกคนอยู่กันได้ในฐานะที่เป็นคนอยู่ภายใต้สังคมเดียวกัน ฉะนั้นเราต้องไม่ลืมโจทย์ข้อแรกที่เราตั้ง”

“ภาครัฐจำเป็นต้องตรวจสอบตัวยุทธศาสตร์ว่าเข้าใจมันดีแล้วแค่ไหน รวมทั้งอะไรที่เป็นปัญหาจริงๆ ซึ่งบางอย่างพูดได้ บางอย่างพูดไม่ได้ แต่จำเป็นต้องเอาความจริงออกมา มีเอกภาพในการควบคุมสถานการณ์ตามสมควร มีเอกภาพในการควบคุมกำลัง เรามองเห็นปัญหาตอนนี้แล้วว่าทหารไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้จริง”
 
ทบทวนยุทธศาสตร์ก่อนสาย...

นายอนุกูล อาแวปูเตะ ทนายความจากศูนย์ทนายความมุสลิม ให้น้ำหนักไปที่วิธีปฏิบัติของฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม และการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย ที่ยังสร้างปัญหาเสมอมา

“ผมไม่ได้มองว่าการจับกุมการดำเนินคดีไม่ใช่ความสำเร็จในการแก้ปัญหา แต่ต้องไม่ลืมว่าความสำเร็จที่แท้จริงคือเจ้าหน้าที่รัฐจะทำอย่างไรให้ชาว บ้านให้ความร่วมมือมากที่สุด และทำให้กลุ่มขบวนการถูกบีบด้วยพลังของมวลชน พลังของชาวบ้านเอง”

“ฉะนั้นผมอยากให้รัฐเน้นเรื่องการพัฒนาเป็นหลัก ไม่ใช่เน้นเรื่องการปราบปราม จับกุม การแก้ปัญหาภาคใต้ไม่ใช่มองว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดต้องชนะ ผมชนะในหลายคดีนั่นคือความสำเร็จหรือ...มันไม่ใช่ เจ้าหน้าที่รัฐสามารถจับกุมคนมาดำเนินคดีได้หลายคนถือเป็นชัยชนะหรือ...มัน ก็ไม่ใช่ เราจะมาเห็นผลของการแพ้ชนะท่ามกลางความไม่สงบ ท่ามกลางความสูญเสียของชีวิตและทรัพย์สินไม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้มันไม่ใช่สิ่งที่จะมาเดิมพันกัน ดังนั้นผมทำคดีในวันนี้ คือการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งหลักของกระบวนการยุติธรรม”

ทนายอนุกูล ยังตั้งคำถามถึงประสิทธิผลที่แท้จริงจากการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่

“เหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นมันพิสูจน์แล้วว่า การประกาศใช้กฎหมายพิเศษ โดยเฉพาะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) มันได้ผลลบมากกว่าบวก จึงอยากจะฝากถึงทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานไหนก็แล้วแต่ว่าให้ทบทวน ยุทธศาสตร์ที่กำลังทำทั้งหมดก่อนที่ปัญหาจะบานปลายต่อไป”

เป็นข้อเสนอจากความห่วงใยของ “นักคิด” หลากหลายสาขาที่ต่างก็ภาวนาให้ภาคใต้สันติสุข!

ที่มา: http://www.isranews.org/cms/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net