สัมภาษณ์ ‘ชิ สุวิชาน’ ศิลปินเชื้อสายกะเหรี่ยง: เหตุใดสงครามฝั่งตะวันตกทำให้คนกะเหรี่ยงต้องลุกขึ้นมาฆ่ากันเอง !?

 

 
‘ชิ’ สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ชายหนุ่มเชื้อสายปวาเกอะญอ หรือกะเหรี่ยง จากดินแดนมูเส่คี ป่าสนวัดจันทร์ อ.แม่แจ่ม (อ.วัดจันทร์ ในปัจจุบัน) จ.เชียงใหม่ เขาเป็นศิลปินปวาเกอะญอ เคยร่วมวงดนตรีที่ชื่อ ‘วัชพืชหลังเขา’ ร่วมกับครอบครัวมาตั้งแต่วัยเยาว์ และออกเทปชุดหนึ่งชื่อ ‘เพลงนกเขาป่า’ ล่าสุด เขาผลิตงานเพลงชุดที่สอง ชื่อ ‘เตหน่าแลมิตร’ ออกมาสื่อสารให้ผู้รับรู้
 
ปัจจุบัน นอกจากเขาจะเขียนคอลัมน์ บทเพลงจากนกเขาป่า ใน ‘ประชาไท’ แล้ว เขายังทำงานสืบสานภูมิปัญญาชนเผ่า ภายใต้ชื่อ ‘มูลนิธิภูมิปัญญาชาติพันธุ์’
 
และบ่อยครั้ง ที่เขาพาชีวิตพร้อม ‘เตหน่ากู’ เครื่องดนตรีโบราณคล้ายพิณ เที่ยวท่องไปหลายดินแดน เหมือนดั่งนกเขาป่าที่บินผ่านข้ามขุนเขา ลำห้วย ป่าสน บ้างพลัดลงสู่เมืองใหญ่ เพื่อขับขานบทเพลงชีวิตให้ผู้คนได้รับรู้และเข้าใจ ธรรมชาติ สรรพสัตว์ วิถีชนเผ่า ว่าแท้จริงแล้ว มนุษย์นั้นอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างพึ่งพาอาศัยกัน และมนุษย์นั้นอยู่ได้เพราะความรักมากกว่าความเกลียดชัง
 
กระนั้น เมื่อเขาหันไปมองสงครามความขัดแย้งตามแนวชายแดนฝั่งตะวันตก ที่คนกะเหรี่ยงสองฝ่ายคือ กะเหรี่ยงคริสต์หรือเคเอ็นยู และกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธหรือดีเคบีเอ ต่างกำลังห้ำหั่นเข่นฆ่ากันเอง แน่นอน ในฐานะที่เขาเป็นคนกะเหรี่ยงคนหนึ่ง เขารู้สึกเจ็บปวด แหละนี่คือคำให้สัมภาษณ์ของเขา ว่าทำไมถึงไม่เห็นด้วยที่คนกะเหรี่ยงด้วยกันต้องลุกขึ้นมาฆ่ากัน!?
 

 

 

“...เวลาผมมีโอกาสไปสัมผัสพี่น้องทางฝั่งตะวันตก ผมมักจะพูดเสมอว่า
ผมในฐานะคนกะเหรี่ยงคนหนึ่ง ไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่คนกะเหรี่ยงด้วยกันเองต้องลุกขึ้นมาฆ่ากัน
ผมอยากเห็นคนกะเหรี่ยงรักกัน แม้จะแพ้สงครามแต่ถ้ายังมีความรัก เราอยู่ได้
แม้เราไม่มีประเทศ แต่ถ้ามีความรักเราอยู่ได้
แม้เราจะอยู่อย่าลำบากแร้นแค้น แต่ถ้าเรามีความรักเราอยู่ได้
ในที่สุด ถ้าเรามีความรักและความสามัคคีไม่มีใครทำลายเราได้...”
 

ชิ สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์

 

ในฐานะที่คุณมีเชื้อสายกะเหรี่ยง มีทัศนะอย่างไรกับกรณีที่สงครามริมชายแดนไทยพม่า มีกลุ่มกะเหรี่ยงพุทธกับกลุ่มกะเหรี่ยงคริสต์ทะเลาะเข่นฆ่ากันเอง?

ในฐานะที่ผมเป็นคนเชื้อสายกะเหรี่ยง แม้จะอยู่ประเทศไทย ผมรู้สึกเจ็บปวดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนะ ผมเจ็บปวดต่อเนื่องมาเกือบสิบปีแล้ว เพราะการเกิดกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธนั้น เริ่มตั้งแต่ปี 1994แล้ว และก็เกิดการสู้รบกันเรื่อยมาจนกระทั่งปี 1995 ฐานที่มั่นมาเนอปลอร์ของกองทัพกะเหรี่ยงเคเอ็นยู แตก ก็เนื่องมาจากการสู้รบกันของพี่น้องกะเหรี่ยงด้วยกันเอง

ถึงแม้ว่าเบื้องหลังของสิ่งที่เกิดขึ้น เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเกิดจากแผนการยุแยงตะแคงรั่วของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นเดียวกันว่าเกิดจากความขัดแย้งกันภายในของพี่น้องกะเหรี่ยงด้วยกันเอง รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าเลยใช้จุดอ่อนนี้เป็นเครื่องมือในการสลายความเข้มแข็งของคนกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายและน่าเศร้าครับ

มีเพื่อนผมที่ชายแดนคนหนึ่งบอกผมว่า “ศัตรูที่น่ากลัวที่สุดของคนกะเหรี่ยงในการกู้ชาติก็คือคนกะเหรี่ยงด้วยกันเอง ไม่ใช่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่า เพราะรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าเองคนทั่วโลกก็รู้กันทั่วว่าเป็นอย่างไร ความชอบธรรมในการปกครองประเทศ ปกครองคนอื่นไม่มีอยู่แล้ว แต่คนกะเหรี่ยงเองกลับแตกแยกกันเองปล่อยให้รัฐบาลเผด็จการทหารพม่า มีเวลาเริงร่ากับอำนาจที่กดขี่รังแกประชาชนเช่นนี้” ซึ่งผมไม่เห็นด้วยกับเขาทั้งหมดที่เขาพูดมา แต่ผมก็ไม่สามารถปฏิเสธได้เช่นกัน

ถ้าย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของกะเหรี่ยง เคยมีเหตุการณ์ความขัดแย้งรุนแรงแบบนี้เกิดขึ้นบ้างไหม ?

ในประวัติศาสตร์ของชนชาติกะเหรี่ยงนั้นมีการต่อสู้เพื่อกู้ชาติมายาวนานกว่า 61 ปีมาแล้ว ซึ่งคนกะเหรี่ยงฝั่งพม่า มีความเห็นที่แตกต่างกันและไม่ลงรอยกันอยู่เป็นระลอกๆ ในอดีต ตอนที่มีการระดมกันเพื่อกู้ชาติใหม่ ความเห็นก็ไม่ลงรอยกัน กลุ่มหนึ่งต้องการกู้ชาติด้วยการสู้รบ ตาต่อตา ฟันต่อฟัน แต่อีกกลุ่มหนึ่งต้องการใช้การเมืองและกฎหมายระหว่างประเทศหรือศาลโลกเป็นแนวทาง ซึ่งมี ‘ซอบาอูยี’ ผู้ซึ่งจบด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ รวมอยู่ด้วย แต่สุดท้ายก็ใช้หลักการประชาธิปไตยเสียงส่วนใหญ่ จึงมีมติให้ใช้แนวทางการสู้รบด้วยอาวุธ ซอบาอูยี ผู้นำการกู้ชาติคนแรกของคนกะเหรี่ยงตอนนั้นก็ต้องยอม เพื่อให้กระบวนการต่อสู้เป็นเอกภาพ แต่ถ้าย้อนกลับไปดู จะเห็นว่า ในหลายๆ ครั้ง มีบางกองพลลงไปมอบตัวกับทางการพม่าบ้าง แต่ไม่ถึงขนาดรบราฆ่าฟันกันเหมือนยุคนี้
 
แน่นอนว่า ตอนนี้สังคมโลกกำลังตั้งคำถามว่า ทำไมกะเหรี่ยงไม่ร่วมมือกันไปสู้รบกับรัฐบาลทหารพม่า แต่มาขัดแย้งเข่นฆ่ากะเหรี่ยงด้วยกันทำไม พอจะบอกได้ไหมว่าใครเป็นต้นตอ?

ต้นตอของปัญหาอย่างที่ผมเรียนตอนต้นว่า มันปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นแผนการของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าที่ใช้เงิน อำนาจ และศาสนาเป็นเครื่องมือในการทำให้คนกะเหรี่ยงแตกแยกกันเอง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เกิดจากความขัดแย้งกันภายในของคนกะเหรี่ยง อำนาจ ผลประโยชน์ ซึ่งมันไม่เข้าใครออกใคร

เมื่อการต่อสู้กู้ชาติมายาวนาน 60 กว่าปี แต่ผลของการต่อสู้ มองหาการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างเหนียวหนึบ แน่นอนว่ามันย่อมมีการท้อ ทำให้หลายกลุ่มเริ่มเบื่อหน่ายการสู้รบ อยากอยู่แบบคนปกติ อยากทำมาหากิน อยากอยู่กับครอบครัว นั่นจึงเป็นช่องทางที่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าเห็นช่อง เห็นโอกาสที่จะดึงคนกลุ่มนี้มาเป็นเครื่องมือในการปราบคนกะเหรี่ยงด้วยกัน

เมื่อคุณอยากอยู่กับครอบครัวอย่างสงบ...ได้ แต่คุณต้องชิงเอาพื้นที่ของคนกะเหรี่ยงด้วยกันเองมาเป็นของคุณ เราจะให้คุณอยู่ที่นั่น เมื่อคุณอยากทำมาหากิน คุณต้องไปแย่งพื้นที่ของคนกะเหรี่ยงด้วยกันเองมาและเราจะให้พื้นที่นั้นแก่คุณ ในการแย่งชิงพื้นที่นั้นมาหากคุณต้องการอาวุธ เราจะสนับสนุน หากคุณต้องการคนเราจะช่วยหา อย่างนี้เป็นต้น ด้วยกลยุทธ์ของทหารพม่าแบบนี้ ก็กลายเป็นจุดที่ทำให้คนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่อยากรบเพื่อกู้ชาติแล้ว และเห็นว่าหนทางสู่ชัยชนะนั้นได้ปิดตายลงแล้ว พวกเขาจึงได้ตัดสินใจเลือกเส้นทางนี้ แต่นั่นก็ไม่ผิดนักหากจะบอกว่า มันเป็นการเดินเข้าสู่เส้นทางที่ถูกวางหลุมพรางไว้แล้วโดยรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า มีพี่น้องคนกะเหรี่ยงบางคนพูดว่า ‘คนกะเหรี่ยงไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นนักรบ หรือเกิดมาเพื่อการทำสงคราม แต่ชะตากรรมของคนกะเหรี่ยงมักตกเป็นเหยื่อของสงครามมาโดยตลอด’ ผมเห็นด้วยนะคำพูดนี้ ผมรู้สึกว่าคนกะเหรี่ยงตกเป็นเหยื่อของสงครามตั้งแต่ สมัยอยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์สมัยสงครามเก้าทัพ สงครามโลกครั้งที่สอง สมัยการล่าอาณานิคม สมัยปราบผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ มาจนกระทั่งปัจจุบัน ไม่รู้มันจะจบลงเมื่อไหร่ อย่างไร ผมไม่รู้ใครเป็นต้นตอ แต่ไม่ใช่คนกะเหรี่ยงแน่นอน
 
ในฐานะที่คุณเป็นศิลปินเชื้อชาติกะเหรี่ยง และเคยเดินทางไปเข้าร่วมกิจกรรมแสดงดนตรีที่ฝั่งโน้นมาหลายหน มีความรู้สึกอย่างไงบ้าง?

ใช่ ผมเป็นคนกะเหรี่ยง ผมเกิดมา ผมก็มีความเป็นคนกะเหรี่ยงเท่าๆกับพี่น้องกะเหรี่ยงทั่วไป ตอนเกิดมาไม่มีอะไรที่มาบ่งบอกกลุ่ม ศาสนา เลย กลุ่มหรือศาสนาเป็นการกำหนดหลังจากที่เราเกิดแล้ว ผมเพียงอยากรักษาความเป็นกะเหรี่ยงของตนเองให้คงอยู่ โดยไม่อยากให้การกำหนดที่เกิดขึ้นหลังจากที่ผมเกิดเป็นตัวมาแบ่งแยกผม

ผมว่ายีนของความเป็นกะเหรี่ยงที่อยู่ข้างในผมมันเปลี่ยนไม่ได้ มันมาตั้งแต่เกิด แต่กลุ่มและศาสนามันเป็นการตัดสินใจทีหลัง ความเป็นกะเหรี่ยงมันไม่ได้มาโดยการกำหนด มันเป็นโชคชะตาลิขิต แต่การรักษามันให้คงอยู่มันยากยิ่งกว่า คนกะเหรี่ยงอาจจะมีจำนวนนับล้านคนบนโลกนี้ แต่มันยังไม่เพียงพอความมั่นคงของเผ่าพันธุ์ ทั้งในยุคของเราและยุคต่อๆไป การแสวงหาจุดร่วมจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ไม่ถึงต้องขนาดรบราฆ่าฟันกัน ที่ต้องทำเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์เอาไว้

ขอโทษคำถามอาจแรงไป...ตอนนี้คุณเข้าข้างฝ่ายไหน กะเหรี่ยงพุทธหรือคริสต์ ?

ผมไม่ได้เข้าข้างฝ่ายไหน และผมเองไม่ได้บอกว่าฝ่ายไหนถูก ฝ่ายไหนผิด แต่ผมไม่เห็นด้วยแน่นอนกับการที่มาฆ่าคนในเผ่าพันธุ์เดียวกัน ทุกครั้งที่ผมเดินทางไปร่วมกิจกรรม ผมบอกตลอดว่า ถ้าเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับวัฒนธรรม ผมไป เช่น ปีใหม่ปกาเกอะญอ พิธีกรรมผูกข้อมือเรียกขวัญประจำปี แต่ถ้าเป็นงานที่เกี่ยวกับการเมือง การทหาร ผมต้องสงวนไว้ และทุกรั้งที่ผมไปร่วมกิจกรรม ผมจะบอกเสมอว่า ผมมาในฐานะคนกะเหรี่ยงเหมือนกัน ผมไม่ได้มาในฐานะฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายใด ส่วนใหญ่ที่ไปมาผมเห็น ผมสัมผัสถึงความเป็นคนกะเหรี่ยงที่อยู่ในตัวของทุกคน แต่บทบาทสมมุติที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นทีหลังต่างหากที่แบ่งแยกและแบ่งชนชั้นวรรณะของคนกะเหรี่ยงด้วยกันเอง แต่ลึกๆแล้วผมเชื่อว่าคนกะเหรี่ยงทุกคนมีความเป็นคนกะเหรี่ยงอยู่ในตัว แม้จะอยู่ในกลุ่มใดก็ตาม

บางครั้งสิ่งที่เขาลงมือทำ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เขาอยากทำเสมอไป แต่บางทีอาจเป็นเพราะกำลังตกหลุมพรางที่ยังหาทางออกไม่เจอ หรือกำลังออกจากหลุมพรางแต่ยังไม่พ้นก็อาจเป็นได้
 
ได้ข่าวว่าเคยไปร่วมแสดงดนตรีในเมืองๆ หนึ่งในพม่าที่มีพี่น้องกะเหรี่ยงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก อยากให้ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่า พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่กันอย่างไรบ้าง?

ผมเคยไปที่ย่างกุ้ง ไปลุ่มน้ำเอราวดี คือเมืองปาเต็ง สองแห่งนี้ไปแล้ว เห็นร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองในอดีตที่อาณานิคมอังกฤษปกครอง สมัยนั้นคนกะเหรี่ยงค่อนข้างใกล้ชิดกับคนอังกฤษทำให้พัฒนาการของคนกะเหรี่ยงในด้านสาธารณูปโภค การศึกษาซึ่งรวมไปถึงศาสนาก้าวหน้าพอสมควร แต่หลังยุคอาณานิคมสิ่งเหล่านั้นเสื่อมโทรมอย่างเห็นได้ชัด

ผมไปเห็นในยุคที่อาคารต่างๆเริ่มสึกหรอ ประชาธิปไตยที่สึกหรอ แต่ที่ยังคงเหนียวแน่นคือศาสนา คนกะเหรี่ยงที่พม่านับถือศาสนาอย่างจริงจังทั้งพุทธ ทั้งคริสต์ อาจเป็นเพราะพึ่งพารัฐบาลไม่ได้ เลยหันมาพึ่งศาสนาซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่พอเยียวยาหัวจิตหัวใจคนในยามชีวิตไร้หนทาง

ผมได้ไปมหาเจดีย์ชเวดากองด้วย เกิดมาไม่เคยเห็นเจดีย์ และอลังการขนาดนี้มาก่อน ผมไปอยู่ที่นั่น เพียงนั่งมองอย่างเดียวเกือบครึ่งวัน และพี่น้องในเมืองใหญ่อย่างย่างกุ้ง หรือปาเต็ง ถ้าคุณแลกเปลี่ยนกับเขาในด้านศาสนาและวัฒนธรรมเขาพร้อมจะเปิดอกพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคุณ แต่ถ้าหากคุณพูดถึงเรื่องการบ้านการเมืองเมื่อไหร่ เขาจะปิดปากเงียบโดยทันที และจะแสดงสีหน้าออกมาให้เห็นถึงความอึดอัดทันที

ต่างจากพี่น้องที่รัฐกะเหรี่ยง บางพื้นที่ที่เขาสามารถพูดคุยเรื่องสงคราม ความรัก ความหวัง ที่เขามีต่อชนเผ่าได้อย่างเต็มที่ แต่ก็นั่นแหละ พื้นที่ตรงนั้นคือพื้นที่ที่เป็นเป้าหมายในการกำจัดทิ้ง เป้าหมายเพื่อกำจัดความเป็นอิสระของมนุษย์ทิ้ง ต้องการเอาพื้นที่การควบคุมมาแทนที่ พื้นที่รัฐกะเหรี่ยงตรงข้ามชายแดนไทยทั้งฝั่งแม่น้ำเมย และแม่น้ำสาละวิน เป็นพื้นที่ที่มีคนกะเหรี่ยงอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นตั้งแต่สมัยบรรพชนจนถึงปัจจุบัน แต่ปัจจุบันลดน้อยลงเพราะหนีข้ามมาฝั่งไทยเยอะขึ้น เนื่องจากไม่ต้องการอยู่ภายใต้การควบคุมที่ใช้ปืนเป็นคำสั่ง พี่น้องกะเหรี่ยงจึงต้องหนีข้ามมาฝั่งไทย มาอาศัยอยู่ในศูนย์ผู้ลี้ภัยจากสงครามแม้จะมีการควบคุม แต่ยังดีกว่าถูกควบคุมด้วยอาวุธ ด้วยความเกลียดชัง
 
หลายคนบอกว่าตอนนี้คุณเป็นเหมือนนักรบทางวัฒนธรรม คุณจะมีส่วนแก้ไข ช่วยเหลือปัญหาความขัดแย้งของพี่น้องกะเหรี่ยง ให้บรรเทาเบาบาง ได้พบหนทางสันติสุขได้อย่างไรบ้าง?
 
ผมไม่อาจคิดว่าตนเองจะแก้ไขปัญหาได้ หรือช่วยเหลือเยียวบรรเทาปัญหาอย่างไรได้ หากต้นตอที่แท้จริงของปัญหาไม่ถูกแก้อย่างจริงจัง ผมต้องไปบอกจีน อินเดียให้เลิกสนับสนุนพม่าเหรอ ผมทำไม่ได้ บอกญี่ปุ่น สิงคโปร์และประเทศอื่นๆ ให้ยกเลิกลงทุนที่พม่าเหรอ หรือแม้กระทั่งบอกอาเซียน ซึ่งมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วยให้หยุดความร่วมมือกับพม่าเหรอ ถ้าประเทศไทย ผมบอกได้ เขาอาจจะฟัง แต่เขาจะยอมทำตามหรือไม่นั่นเป็นปัจจัยหลักต่างหาก

เพราะต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากนานาชาติและ อีกหลายประเทศขาดความจริงใจในการแก้ไขปัญหามากกว่า มัวเมาอยู่แต่กับผลประโยชน์ของประเทศชาติตนเองที่ทับซ้อนกับผลประโยชน์บริษัทของเครือข่ายญาติตนเอง จนลืมนึกถึงความเดือดร้อนของประชาชนชาวพม่าที่มีมากว่า 60 ปี บางทีรู้ แต่ไม่สน ผมอาจจะพาดพิงคนอื่นมากไป แต่ก็เป็นความจริงนะ แต่อาจเป็นความจริงที่ผู้ถูกพาดพิงรับไม่ได้ ไม่ใช่สิ ยุคนี้ ผู้ถูกพาดพิงถือเป็นผู้บริสุทธิ์ ทุกคนจึงบริสุทธิ์กันหมด ชนกลุ่มน้อยต่างหากที่เป็นกบฏ ไม่ให้เกียรติรัฐบาลที่ปกครองตนเองอย่างรัฐบาลทหารพม่า โอ้ย...ยิ่งพาดพิงไปใหญ่ ขอโทษครับรัฐบาลทหารพม่าครับ ผมถอนคำพูดก็ได้ครับ แต่ท่านต้องถอนระบบการปกครองแบเผด็จการของท่านออกก่อน

เข้าเรื่องดีกว่า สิ่งที่ผมทำได้ อันดับแรก คือ การบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาสู่สาธารณะ เมื่อมีผู้รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น เรื่องการช่วยเหลือเยียวยาเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง แต่สิ่งที่พยายามทำมาโดยตลอดคือ การรณรงค์เรื่องความเป็นคนกะเหรี่ยง เวลาผมมีโอกาสไปสัมผัสพี่น้องทางฝั่งตะวันตก ผมมักจะพูดเสมอว่า ผมในฐานะคนกะเหรี่ยงคนหนึ่ง ไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่คนกะเหรี่ยงด้วยกันเองต้องลุกขึ้นมาฆ่ากัน ผมอยากเห็นคนกะเหรี่ยงรักกัน แม้จะแพ้สงครามแต่ถ้ายังมีความรัก เราอยู่ได้ แม้เราไม่มีประเทศ แต่ถ้ามีความรักเราอยู่ได้ แม้เราจะอยู่อย่าลำบากแร้นแค้น แต่ถ้าเรามีความรักเราอยู่ได้ ในที่สุด ถ้าเรามีความรักและความสามัคคีไม่มีใครทำลายเราได้

แต่หากไม่มีความรัก คนที่จะมาทำลายเรา ก็คือคนกะเหรี่ยงด้วยกันเอง เราไม่ต้องการการทำลายที่เกิดจากคนกะเหรี่ยงด้วยกันเอง เพราะหากเป็นเช่นนั้น มันจะมีแต่แพ้กับแพ้ เป็นการแสดงทัศนะในฐานะคนกะเหรี่ยงที่ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งนี้ แต่เป็นกำลังใจในการคลี่คลายความขัดแย้งดังกล่าว หวังปลุกพี่น้องกะเหรี่ยงให้ตื่นจากการเป็นเหยื่อของสงคราม โดยเฉพาะสงครามทำลายล้างกันในชนเผ่า ผมไม่คาดหวังความเป็นหนึ่งเดียวกัน ผมคาดหวังเพียงคนกะเหรี่ยงไม่ฆ่าคนกะเหรี่ยงด้วยกันเอง ถามว่าเมื่อคนกะเหรี่ยงถูกคนอื่นฆ่า เราเจ็บปวดไหม คำตอบคือเจ็บครับ แต่เจ็บน้อยกว่าคนกะเหรี่ยงฆ่ากันเอง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท