Skip to main content
sharethis

เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ, มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน, มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี และศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน เผยแพร่แถลงการณ์ “ชื่นชมรัฐบาลต่อกรณียับยั้งการบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยใหม่ไปสู่มาตุภูมิ และแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์การจัดการกลุ่มผู้ลี้ภัยใหม่ในปัจจุบัน” เรียกร้องให้รัฐบาลให้รับผู้ลี้ภัยใหม่จากรัฐกะเหรี่ยงได้เข้าพื้นที่พักพิงฯ แม่หละโดยด่วนเป็นกรณีเฉพาะ

 

วันนี้ (10 ก.ค.) เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ, มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน, มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี และศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน เผยแพร่แถลงการณ์ “ชื่นชมรัฐบาลต่อกรณียับยั้งการบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยใหม่ไปสู่มาตุภูมิ และแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์การจัดการกลุ่มผู้ลี้ภัยใหม่ในปัจจุบัน” โดยเนื้อหาแถลงการณ์โดยสรุป ชื่นชมที่รัฐบาลยับยั้งการส่งกลับผู้ลี้ภัยใหม่ อย่างไรก็ดีในข้อเรียกร้องของเครือข่ายองค์กรเอกชนเกี่ยวกับการหาทางออกให้แก่ผู้ลี้ภัยใหม่ให้ชัดเจน รวมถึงการทบทวนนโยบายการไม่รับผู้ลี้ภัยใหม่เข้าพื้นที่พักพิงว่าเหมาะสมต่อสถานการณ์ชายแดนปัจจุบันหรือไม่นั้น รัฐยังไม่ได้ดำเนินการให้เป็นที่ประจักษ์
 
จึงมีข้อเรียกร้องให้ต่อรัฐบาลไทย ให้มีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจัดการให้ผู้ลี้ภัยใหม่ได้เข้าพื้นที่พักพิงฯ แม่หละโดยด่วนเป็นกรณีเฉพาะ เนื่องจาก พื้นที่ฯ แม่หละมีศักยภาพรองรับผู้ลี้ภัยทั้งในด้านความปลอดภัย สถานที่พัก โครงสร้างโรงเรียน อนามัย สาธารณูปโภค ระบบการจัดการและการควบคุมดูแลโดยกระทรวงมหาดไทยที่ดีอยู่แล้ว และให้ทบทวนนโยบายดั้งเดิมของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่ปิดกั้นไม่ให้ผู้ลี้ภัยใหม่ที่เดินทางมาเป็นกลุ่มใหญ่เข้าพักในพื้นที่พักพิงชั่วคราวของผู้หนีภัยจากการสู้รบ ว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่ และจะส่งผลกระทบต่อภาพพจน์ของรัฐ การจัดการของรัฐ ผลกระทบชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างไร สำหรับรายละเอียดของแถลงการณ์มีดังต่อไปนี้
 
 
แถลงการณ์
ชื่นชมรัฐบาลต่อกรณียับยั้งการบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยใหม่ไปสู่มาตุภูมิ
และแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์การจัดการกลุ่มผู้ลี้ภัยใหม่ในปัจจุบัน
 
10 กรกฎาคม 2552
 
สืบเนื่องที่กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อประชาธิปไตยในพม่า ได้เรียกร้องให้รัฐบาลให้การดูแล
ผู้ลี้ภัยใหม่ที่เพิ่งอพยพเข้ามายัง อ.ท่าสองยาง จ.ตากนับแต่ต้นเดือน มิ.ย. 2552 และเครือข่ายองค์กรเอกชนก็ได้แสดงความห่วงใยต่อปัญหาการบังคับผลักดันผู้ลี้ภัยใหม่กลับมาตุภูมิ การปิดกั้นความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและการเข้าถึงการศึกษาของเด็ก รวมทั้งการขาดแนวทางการจัดการรับผู้ลี้ภัยที่ชัดเจนเหมาะสมต่อสถานการณ์นั้น (แถลงการณ์ 22 มิ.ย. 2552)
 
เรา เครือข่ายองค์กรเอกชน ขอแสดงความชื่นชมต่อรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ได้พิจารณาดำเนินการตามคำเรียกร้องของกลุ่มประชาสังคม คือ ยืนยันยับยั้งการส่งกลับผู้ลี้ภัยใหม่ อนุญาตให้ผู้นำผู้ลี้ภัยได้พบผู้ลี้ภัยและนำน้ำดื่มเข้าไปให้ได้ดังเดิม และอนุญาตให้นักเรียนที่พลัดหลงกับพ่อแม่ได้กลับเข้าเรียนในพื้นที่พักพิงแม่หละ หลังจากที่ถูกเจ้าหน้าที่ไทยเรียกตัวออกมา
 
อย่างไรก็ดีในข้อเรียกร้องของเครือข่ายองค์กรเอกชนเกี่ยวกับการหาทางออกให้แก่ผู้ลี้ภัยใหม่ให้ชัดเจน รวมถึงการทบทวนนโยบายการไม่รับผู้ลี้ภัยใหม่เข้าพื้นที่พักพิงว่าเหมาะสมต่อสถานการณ์ชายแดนปัจจุบันหรือไม่นั้น รัฐยังไม่ได้ดำเนินการให้เป็นที่ประจักษ์
 
หลังจากผ่านไป 1 เดือน ผู้ลี้ภัยราว 3,500 คนยังคงพักอาศัยอยู่ในเต็นท์ วัด และใต้ถุนบ้านชาวบ้านในลักษณะชั่วคราว โดยกองทัพไทยได้พยายามจะจัดพื้นที่พักพิงให้ใหม่ที่บ้านแม่อุสุ อ.ท่าสองยาง หากก็ยินยอมล้มเลิกแผนการ หลังจากได้รับเสียงคัดค้านจากสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติและองค์กรเอกชน ว่าพื้นที่ดังกล่าวเสี่ยงภัยต่อการโจมตีของกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ (ดีเคบีเอ) ดังที่เคยเกิดเหตุมาแล้วมากเกินไป
 
สภาพปัญหาปัจจุบันจึงคือ แม้จะเป็นที่ยอมรับว่ากลุ่มผู้ลี้ภัยใหม่ดังกล่าวจะยังไม่สามารถกลับคืนประเทศพม่า ไม่ว่าจะที่บ้านเดิมหรือพื้นที่อื่น ๆใกล้เคียงได้ในเร็ววัน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นก็ยังไม่สามารถจัดการให้ที่พักพิงแก่คนเหล่านี้ได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากยังไม่มีพื้นที่ที่ปลอดภัยและเหมาะสม ในขณะที่นโยบายรัฐก็ยังไม่ให้รับผู้ลี้ภัยกลุ่มใหญ่เข้าพื้นที่พักพิงชั่วคราวของผู้หนีภัยจากการสู้รบใด ๆ รวมทั้งพื้นที่ฯแม่หละ ซึ่งอยู่ใกล้กับบริเวณที่ผู้ลี้ภัยกลุ่มดังกล่าวเข้ามามากที่สุด
 
ในการนี้ เรา ทางเครือข่ายองค์กรเอกชน มีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งต่อ การปิดกั้นไม่ให้ผู้ลี้ภัยใหม่เข้าพักในพื้นที่พักพิงชั่วคราวของผู้หนีภัยจากการสู้รบ ซึ่งจะส่งผลให้        
 
1. ผู้ลี้ภัยมีความเป็นอยู่อย่างยากลำบาก แออัด ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและสภาพจิตใจ อันจะก่อให้เกิดปัญหาด้านมนุษยธรรมต่อไป
 
2. การพักอาศัยของผู้ลี้ภัยส่งผลกระทบต่อชาวบ้านท้องถิ่น แม้ชาวบ้านจะยินดีต้อนรับด้วยความเป็นเครือญาติก็ตาม ตัวอย่าง เช่น การที่จัดให้ผู้ลี้ภัยใช้สถานที่สำคัญทางศาสนาเป็นที่พัก ทำให้ชุมชนไม่สามารถประกอบพิธีกรรมได้ตามปกติ เป็นต้น
 
3. เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ต้องใช้เวลา กำลังคน และงบประมาณ ในการพยายามหาพื้นที่ใหม่ให้พักพิง หรือต้องจัดการที่พักพิงฯ ใหม่ ซึ่งจะสิ้นเปลืองเวลา งบประมาณ กำลังคน ของทั้งหน่วยงานมนุษยธรรมและรัฐ ในการจัดการสาธารณูปโภคและโครงสร้างต่าง ๆ เช่น น้ำใช้ สถานีอนามัย โรงเรียน เป็นต้น
 
4. เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มเติม ในกรณีที่จะต้องตั้งพื้นที่พักพิงใหม่ให้สำหรับคนกลุ่มนี้
 
5. เด็กๆ ผู้ลี้ภัย ซึ่งมีจำนวนเกินครึ่งของผู้ลี้ภัยใหม่ทั้งหมด (ยกเว้น 50 คนที่รัฐได้อนุญาตให้เข้าไปเรียนในพื้นที่พักพิงฯก่อนเนื่องจากพลัดหลงกับพ่อแม่) ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา หลังจากต้องหยุดเรียนมาแล้วเป็นเวลากว่าเดือน ทั้งนี้ การที่รัฐมีช่องทางที่เป็นไปได้อยู่ใกล้เคียง คือ โรงเรียนในพื้นที่พักพิงฯแม่หละ แต่ปิดกั้นไม่ให้มีการดำเนินการ ถือเป็นความบกพร่องต่อพันธะหน้าที่ของรัฐภาคีต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
 
6. เกิดผลกระทบต่อภาพพจน์รัฐไทยในประชาคมโลก ในด้านจุดยืนทางสิทธิมนุษยชนและการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม
 
ด้วยเหตุนี้ เรา เครือข่ายองค์กรเอกชน จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย
 
1. มีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจัดการให้ผู้ลี้ภัยใหม่ได้เข้าพื้นที่พักพิงฯ แม่หละโดยด่วนเป็นกรณีเฉพาะ เนื่องจาก พื้นที่ฯแม่หละมีศักยภาพรองรับผู้ลี้ภัยทั้งในด้านความปลอดภัย สถานที่พัก โครงสร้างโรงเรียน อนามัย สาธารณูปโภค ระบบการจัดการและการควบคุมดูแลโดยกระทรวงมหาดไทยที่ดีอยู่แล้ว
 
2. ทบทวนนโยบายดั้งเดิมของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่ปิดกั้นไม่ให้ผู้ลี้ภัยใหม่ที่เดินทางมาเป็นกลุ่มใหญ่เข้าพักในพื้นที่พักพิงชั่วคราวของผู้หนีภัยจากการสู้รบ ว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่ และจะส่งผลกระทบต่อภาพพจน์ของรัฐ การจัดการของรัฐ ผลกระทบชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างไร
 
ทั้งนี้ เครือข่ายองค์กรเอกชนเชื่อมั่นว่า รัฐบาลไทย จะยืนยันในจุดยืนต่อสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม ดังที่ได้ปฏิบัติตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของกลุ่มประชาสังคมไทยและสมาชิกรัฐสภาอาเซียนที่ผ่านมา
 
แถลงโดย
เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ, มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน, มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี, ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน
 
10 กรกฎาคม 2552

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net