กกต.ฟัน 13 สส. ปชป. "เทพเทือก-ไตรรงค์-จุติ-เจือ" ไม่รอด

16 ก.ค.52 - ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหญ่ กรณี ส.ส.ประชาธิปัตย์ 28 คน เข้าไปถือครองหุ้นในกิจการสื่อและบริษัทสัมปทานของรัฐ ปรากฏว่า ที่ประชุมมีมติ 3-1 ให้ ส.ส. 13 คน สิ้นสภาพการเป็น ส.ส.ตามมาตรา 48 ประกอบมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นเหตุให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามมาตรา 106 (6) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

 
โดย ส.ส. 13 คนประกอบด้วย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ, นายอนุชา บุรพชัยศรี, นายสมเกียรติ ฉันทวานิช, นายสราวุธ อ่อนละมัย, นายเธียรชัย สุรรณเพ็ญ, น.ส.นริศา อดิเทพวรพันธ์, นายสัมพันธ์ ทองสมัคร , นายจุติ ไกรกฤษ์, นายเจือ ราชสีห์, นายลาภศักดิ์ ลาภาโรจน์กิจ, นางนิภา พริ้งศุลกะ, นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี และ น.ส.เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ ส่วนกรณี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร นั้น ที่ประชุมเห็นว่าได้พ้นจากการเป็น ส.ส.ไปแล้วจึงไม่เข้าข่าย
อย่างไรก็ตาม 13 ส.ส.จะยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้จนกว่า กกต.จะส่งเรื่องให้กับประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อชี้ขาดต่อไป ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นยืนตามกกต. ก็จะส่งผลให้ 13 ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์จะต้องพ้นจากสมาชิกภาพความ ส.ส. ในทันที
 
ส่วนกรณีภรรยาของนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ถือครองหุ้นบริษัท ทางด่วนกรุงเทพฯ นั้น กกต.ได้ยกคำร้อง เนื่องจากเห็นว่าเป็นเพียงหุ้นกู้ที่ไม่ได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงกิจการของบริษัท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายละเอียดการถือครองหุ้นของ 13 ส.ส.ประกอบด้วย 1. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี เลขาธิการพรรค และรองนายกรัฐมนตรี ถือหุ้นในบริษัท บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 2. นายอนุชา บูรพชัยศรี ส.ส.กทม. ถือหุ้น บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท โทเทิล แอคเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) 3. นายสมเกียรติ ฉันทวานิช ส.ส.กทม.ถือหุ้น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) 4. นายสราวุธ อ่อนละมัย ส.ส.ชุมพร ถือหุ้น บริษัท โทเทิล แอคเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) 5. นายเธียรชัย สุวรรณเพ็ญ ส.ส.ตาก ถือหุ้น บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)
 
6. น.ส.นริศา อดิเทพวรพันธ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช ถือหุ้น บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) 7. นายสัมพันธ์ ทองสมัคร ส.ส.นครศรีธรรมราช ถือหุ้นบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) 8. นายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก ถือหุ้นโดยภรรยา คือ นางสมานจิตต์ ไกรฤกษ์ ซึ่งถือหุ้นใน บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหานชน) บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) 9. นายเจือ ราชสีห์ ส.ส.สงขลา ถือหุ้นโดยภรรยา คือ นางสมผิว ราชสีห์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท โกลว์พลังงานจำกัด (มหาชน) 10. นายลาภศักดิ์ ลาภาโรจน์กิจ ส.ส.สงขลา ถือหุ้นโดยภรรยาคือ นางสุไหม ลาภาโรจน์กิจ ซึ่งถือหุ้นใน บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน)
 
11. นางนิภา พริ้งศุลกะ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ถือหุ้นโดยนายกำธร พริ้งศุลกะ ซึ่งถือหุ้นในบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 12. น.ส.เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ ส.ส.สัดส่วน กลุ่มที่ 8 ถือหุ้น บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) และ 13. นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ส.ส.สัดส่วน กลุ่มที่ 8 ถือหุ้นโดยภรรยาคือนางนงนุช สุวรรณคีรี ซึ่งถือหุ้นใน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)
 
นอกจากนี้ มติเสียงข้างมากยังยกคำร้องส.ส. 14 ราย ประกอบด้วย 1. นายสกลธี ภัททิยกุล ส.ส.กทม. ถือหุ้น บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่นจำกัด (มหาชน) 2. นายวินัย เสนเนียม ส.ส.สงขลา โดย พญ.วณิดา เสนเนียม ถือหุ้น บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) 3. น.ส.รัชดา ธนาดิเรก ส.ส.กทม. ถือหุ้น บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) 4. นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.กทม. ถือหุ้น บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) 5. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ โดยนางธันยวีร์ ศรีอ่อน ภรรยา ถือหุ้น บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)
 
6. นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ส.ส.นครนายก ถือหุ้น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)และบริษัทธนายง จำกัด 7. นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช ถือหุ้นบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) 8. นางกันตวรรณ ตันเถียร กุลจรรยาวิวัฒน์ ส.ส.พังงา โดยนพปฎล กุลจรรยาวิวัฒน์ สามี ถือหุ้น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 9. พล.อ.พิชาญเมธ ม่วงมณี ส.ส.สัดส่วน กลุ่มที่ 1 ถือหุ้น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 10. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ส.ส.กทม. ถือหุ้น บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
 
11. นายสงกรานต์ จิตสุทธิภากร ส.ส.นครสวรรค์ ถือหุ้นกู้ ปตท.จำกัด 12. นายชนินทร์ รุ่งแสง ส.ส.กทม.ถือหุ้นกู้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด(มหาชน) 13. นายวิชัย ล้ำสุทธิ ส.ส.ระยอง ถือหุ้นกู้ บมจ.ปตท.จำกัด (มหาชน) และ 14. นายประกอบ จิรกิติ ส.ส.สัดส่วน ถือหุ้น บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บมจ.บ้านปู บมจ.ไทยออยล์ และบมจ.เบญจจินดา เนื่องจากเห็นว่าถือครองหุ้นที่บริษัทที่ไม่เข้าข่ายต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ และในบางรายแม้จะถือหุ้นในบริษัทต้องห้ามแต่หุ้นที่ถือครองนั้นเป็นประเภท หุ้นกู้ เช่น นายประกอบ ถือหุ้นกู้ในบริษัท ทรูคอเปอร์เรชั่น นายวิชัย ถือหุ้นกู้ในบริษัท ปตท. นายสงกรานต์ ถือหุ้นกู้ในบริษัทปตท. ส่วนม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร อดีตส.ส.กทม. กกต. ไม่ได้พิจารณาเนื่องจากได้ลาออกจากการเป็น ส.ส.แล้ว
 
“ไตรรงค์” ไม่สน กกต. ฟันพ้นสภาพ ส.ส.
 
ด้านนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ถือหุ้นในบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีที่ กกต.มีมติให้พ้นจากการเป็นสมาชิกภาพจาก ส.ส.เนื่องจากถือหุ้นในสัมปทานของรัฐว่า ผลออกมาเป็นเช่นนี้ก็ไม่เป็นไร ซึ่งตนก็ไม่ได้เห็นด้วยกับ กกต.อยู่แล้ว เนื่องจากในรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 วรรคหนึ่ง ระบุว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไป แต่ในมาตรา 265 เกี่ยวกับคุณสมบัติของ ส.ส.และ ส.ว. โดยในวรรคที่สองระบุว่า ส.ส.หรือส.ว.ไม่รับหรือแทรกแซงหรือก้าวก่ายการเข้ารับสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจอันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งในมาตราดังกล่าว ไม่ได้มีคำว่า ไม่คงไว้ในการถือหุ้น จึงถือว่ามีความแตกต่างกัน เพราะสามารถถือหุ้นได้โดยไม่ต้องขาย แต่ห้ามซื้อหุ้นเพิ่มเท่านั้น ซึ่งกกต.ก็มีความเห็นต่างจากคนอื่นในกรณีนี้
 
“จากนี้ไปคงต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาด ว่าจะมีคำวินิจฉัยอย่างไร เป็นหุ้นเสรี หุ้นผูกขาด หรือไม่ผูกขาด แม้ว่า กกต.จะมีมติออกมาอย่างไรก็ไม่ต้องเชื่อ เพราะเป็นแค่คนไม่กี่คน ที่เขาอาจจะไม่ได้มีความรู้เรื่องหุ้น หรือตีความกฎหมายแตกต่างออกไป เรื่องนี้จึงถือเป็นบทเรียนว่าคนร่างกฎหมายควรจะเขียนกฎหมายให้ชัด อย่าให้เป็นปัญหาในการตีความในภายหลัง” นายไตรรงค์กล่าว
 
นายไตรรงค์ กล่าวอีกว่า เมื่อกกต.มีมติออกมาเช่นนี้ก็คงไม่มีผลอะไรต่อการปฏิบัติหน้าที่ของส.ส.จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาก็เท่านั้น และหากมีคำวินิจฉัยให้พ้นสมาชิกภาพ ตนซึ่งเป็นส.ส.สัดส่วนก็ต้องพ้นสภาพขาดจากการเป็นส.ส. และส.ส.สัดส่วนที่มีคะแนนรองลงมาก็ต้องเลื่อนขึ้นมาแทนที่ตน ทั้งนี้ ในอนาคตเมื่อมีการเลือกตั้งตนก็พร้อมที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งใหม่
 
ปชป.น้อมรับคำมติ กกต. เขี่ย ส.ส.พ้นสมาชิกภาพ
 
ด้านนายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกรณีที่กกต.มีมติให้พ้นจากการเป็นสมาชิกภาพจากส.ส.เนื่องจากถือหุ้นในสัมปทานของรัฐว่า ขอน้อมรับคำวินิจฉัยของ กต. ตนไม่ได้โทษใครแต่ต้องโทษตัวเองที่ไม่ดูให้ดีก่อน และเมื่อเป็นอย่างนี้ตนก็ต้องไปเลือกตั้งใหม่ ซึ่งตนได้เตรียมลงพื้นที่มาแล้ว 3-4 เดือน ตั้งแต่มีการพิจารณาเรื่องนี้แล้ว ส่วนจะได้กลับเข้ามาหรือไม่ตนไม่ทราบ ทั้งนี้ ก็ต้องขอโทษประชาชนที่ทำให้ต้องเสียเงินเลือกตั้งใหม่
 
ส่วนนายสัมพันธ์ ทองสมัคร ส.ส.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ได้ว่าอะไรเมื่อกกต.วินิจฉัยว่าผิดก็ต้องเป็นไปตามนั้น ซึ่งก็ต้องไปเลือกตั้งกันใหม่ แต่กว่าจะถึงขึ้นตอนนั้นต้องอีกระยะหนึ่ง เพราะยังต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกครั้ง ทั้งนี้ หุ้นที่ตนถืออยู่ถือมาตั้งแต่ปี 37 แล้ว และไม่ได้เข้าไปมีอิทธิพลอะไรในบริษัท รวมทั้งคุณสมบัติของส.ส.ก็ไม่ได้เขียนตรงนี้ไว้ อย่างไรก็ตาม ต่อไปเราจะได้ไม่ถือหุ้นอะไร เพราะขนาดพันธบัตรรัฐบาลตนยังไม่กล้าซื้อเลย กลัวจะถูกกล่าวหาว่าผูกขาดกับรัฐบาล
 
นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลังกกต.ชี้มูล ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 13 ราย ขาดคุณสมบัติจากการถือหุ้นเอกชนที่เป็นคู่สัมปทานของรัฐ ว่า ผลการวินิจฉัยดังกล่าวของกกต.นั้น เป็นสิ่งที่ทางพรรคคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลแต่อย่างใด เพราะรัฐบาลยังมีเสียงที่มากกว่าฝ่ายค้านในสภา ทั้งนี้ พรรคอยากให้กระบวนการยุติธรรมไปถึงจุดที่ชัดเจน คือให้ศาลรัฐธรรมนูญมีการวินิจฉัยเพื่อเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติหน้าที่ที่ดีต่อไป อีกทั้งส.ส.13 คนของพรรคที่ถือครองหุ้นนั้น ไม่เคยใช้ตำแหน่งหน้าที่เข้าไปแทรกแซงหรือทำให้มูลค่าหุ้นที่ถือครองอยู่มีราคาสูงขึ้น จึงเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาดูจากเจตนารมณ์ของผู้ถือครองหุ้นและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ
 
“การถูกชี้มูลครั้งนี้ของกกต.จะเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งทางพรรคน้อมรับ โดยในขั้นตอนต่อไปคือรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดในกรณีนี้” นพ.บุรรัชย์กล่าว
 
6 รมต. ลุ้นถูกเชือด 23 ก.ค.
 
สำหรับกรณีการถือหุ้นของส.ส.ยังคงเหลือกรณีที่คณะกรรมการไต่สวนของกกต.กำลัง สอบสวนกรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา นายสมคิด หอมเนตร นักวิชาการอิสระ ร้องขอให้กกต.ตรวจสอบการสิ้นสมาชิกภาพความส.ส.ของส.ส.61 คน แต่มีผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิและลาออก จึงเหลือกรณีที่กกต.จะวินิจฉัย 44 คน โดยเป็นพรรค เพื่อไทย 23คน ชาติไทยพัฒนา 3 คน ประชาราช 3คน เพื่อแผ่นดิน 8 คน ภูมิใจไทย 3 คน กิจสังคม 1 คน รวมใจไทย 2 คน ประชาธิปัตย์ 1 คน โดยในจำนวนนี้เป็นรมต.ในรัฐบาล 6 คน
 
ประกอบด้วยนายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รมช.คมนาคม พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย   นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน นายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข และนายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน โดยคณะกรรมการไต่สวนครบกำหนดขอขยายระยะเวลาการสอบสวน 15 วันในวันที่ 23 ก.ค.นี้
 
“โกเมศ-ภูเบศ”จ่อคิวขึ้นส.ส.สัดส่วน ปชป.แทน
 
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงมติกกต.ที่ให้ 13 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ขาดคุณสมบัติการเป็นส.ส. ว่า คดีนี้ยังไม่ถือว่าสิ้นสุด เพราะต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินก่อน ซึ่งส.ส.ทั้ง 13 คน ก็ต้องหาพยานหลักฐานไปสู้ในศาลว่ามีเจตนาอย่างไรในการถือหุ้นดังกล่าวด้วย ซึ่งผลการตัดสินเป็นอย่างไรทุกคนพร้อมยอมรับคำตัดสินไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร แต่เรื่องนี้จะไม่กระทบต่อรัฐบาลแน่นอน เพราะหากศาลยืนคำวินิจฉัยเหมือนกับกกต. ส.ส.เขตก็สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งใหม่ได้ เพราะทุกคนได้ถอนหุ้นไปหมดแล้ว ยกเว้นส.ส.สัดส่วน ซึ่งมีอยู่ 2 คน คือ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี และน.ส.เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ ที่หากศาลตัดสินให้ขาดคุณสมบัติการเป็นส.ส. ก็ต้องเลื่อนบัญชีรายชื่อลำดับต่อไปขึ้นมาแทนคือ ผู้สมัครส.ส.สัดส่วนนายโกเมศ ขวัญเมือง และนายภูเบศ จันทนิมิ
 
“ส่วนเรื่องที่เรียกร้องให้ 13 ส.ส. แสดงสปิริตลาออกทันที โดยไม่ต้องต่อสู้ในชั้นศาลนั้น คงจะไม่ได้ เพราะกรณีนี้ไม่ใช่ความผิด และไม่ได้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง เป็นเพียงข้อห้ามเกี่ยวกับคุณสมบัติส.ส. ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องแสดงสปิริตอะไร เพราะทุกคนได้ถอนหุ้นไปหมดแล้ว และยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่กระทบต่อการโหวตกฎหมายในสภา เพราะแม้จะมีจำนวนส.ส.ลดลง แต่กฎหมายกำหนดให้องค์ประชุมสภาใช้เสียงกึ่งหนึ่งของส.ส.เท่าที่มีอยู่ จึงไม่น่าจะมีปัญหาต่อองค์ปรชุมและเสถียรภาพรัฐบาลแต่อย่างใด” ประธานวิปรัฐบาล กล่าว
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: ไทยรัฐออนไลน์, เว็บไซต์แนวหน้า, เว็บไซต์คมชัดลึก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท