Skip to main content
sharethis

 

1.
 "คนที่ริเริ่มในการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ใช่ พล.อ.เลิศรัตน์ ไม่ใช่นายชัย ชิดชอบ …ท่านนายกฯ เองเป็นคนเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใน 6 ประเด็นที่เราเสนอ 4 ประเด็นเป็นประเด็นที่ท่านขอให้แก้"
 
2.
"ผมกล้าท้า ทั้ง 6 มาตราที่เราเสนอแก้ไข ไปทำประชามติ ประชาชนส่วนใหญ่จะเห็นด้วย"
 
3.
"เราพยายามทำอะไรที่เป็นสายกลาง เราตีกรอบไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องที่ค้างคาเป็นคดีความอยู่ จะไม่แตะ เหมือน 309 เราก็ไม่ได้ไปยุ่ง หรือเรื่องเกี่ยวกับการอภัยโทษเราก็ไม่ได้ไปพูดถึง เราเสนอแก้เฉพาะในส่วนนี้"
 
 
ประธานคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ในคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง ซึ่งเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียง 6 ประเด็น คือ ยกเลิกการยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคตามมาตรา 237 แก้ไขที่มาของ ส.ส. มาตรา 93-98 ให้มาจากการเลือกตั้งเขตเดียวคนเดียว 400 คนและเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน แก้ไขที่มาของ สว.มาตรา 111-121 ให้มาจากการเลือกตั้ง 200 คน แก้ไขมาตรา 190 การทำหนังสือสัญญาต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยให้ออกกฎหมายกำหนดประเภทของสัญญา แก้ไขมาตรา 265 ให้ ส.ส.ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ และแก้ไขมาตรา 266 ให้ตัด (1) ออกเพื่อให้ ส.ส. สว. แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนผ่านส่วนราชการได้
 
อย่างไรก็ดี เพียงเริ่มต้นก็มี "ขาประจำ" ที่ยืนกรานไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญออกมาคัดค้านเสียแล้ว โดยนำเอาประเด็นที่คณะกรรมการสมานฉันท์มีข้อเสนอให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรม กรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิตามมาตรา 237 มารวมเข้าด้วยกัน
 
ซึ่งประเด็นนี้ เสธ.อู้ยืนยันชัดเจนว่าไม่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเป็นคนละกระบวนการกัน เพราะการแก้รัฐธรรมนูญต้องดำเนินการผ่านรัฐสภา แต่การออก พรบ.นิรโทษกรรมเป็นเรื่องของรัฐบาล ที่จะเสนอหรือไม่ก็แล้วแต่
 
คนริเริ่มชื่ออภิสิทธิ์
 
"การคัดค้านเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ต้องมีความเห็น 2 ฝ่าย คนที่คัดค้านก็เป็นคนที่คัดค้านมาตั้งแต่วันแรกเริ่มจนถึงวันนี้ มีหลายกลุ่มที่ไม่อยากให้แก้รัฐธรรมนูญด้วยเหตุผลต่างๆ กัน ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญถ้ามองจริงๆ ก็เป็นเรื่องปกติของรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ในมาตรา 291เขาเขียนไว้ชัดเจน วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของสภา ที่สมาชิกรวมกันร้อยละ 20 ของเสียงทั้งหมดก็สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ หรือ ส.ส.เองร้อยละ 20 ของ 480 คน ก็เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องปกติมาก เพียงแต่ที่ผิดสังเกตก็คือรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีกลุ่มบุคคล มีตัวบุคคล มีคณะบุคคล ทั้งในและนอกสภา ที่เกาะติดยึดติดกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่อยากให้แก้ไข นี่เป็นส่วนที่น่าจะสังเกต สื่อเองอาจจะรู้หรือทราบดีกว่าผมว่าเป็นเหตุผลอะไร"
 
"ในอดีตเรามีรัฐธรรมนูญ 18 ฉบับ มีรัฐธรรมนูญหลังการปฏิวัติ 8-9 ฉบับ ก็มีการแก้ไขกันโดยตลอด อยู่ที่ว่าเนื้อหาสาระที่แก้ไข แก้ไขแล้วมันดีไม่ดีอย่างไร เพราะรัฐธรรมนูญก็เหมือนกับกฎหมายทั่วๆ ไป วันนี้นำออกมาใช้ พออีกระยะหนึ่งมันก็ไม่เหมาะ รัฐธรรมนูญที่มาหลังกรปฏิวัติเราต้องยอมรับว่าเขาจะร่างให้มันเป็นไปตามภาวะที่เขาคิดว่าปฏิวัติมาเพราะนักการเมืองไม่ดี พรรคการเมืองเข้มแข็งเกินไป การเลือกตั้งไม่สะอาดบริสุทธิ์ เขาก็จะร่างรัฐธรรมนูญไปในแนวที่จะแก้ไขสิ่งเหล่านั้น ซึ่งคนที่ร่างรัฐธรรมนูญเองบอกกับผมทุกคนว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตั้งโจทย์ว่าสิ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ใช้รัฐธรรมนูญ 2540 มันมีปัญหาอะไรบ้าง เอาโจทย์นั้นมาแก้ แต่การแก้บางทีมันล้ำไปสู่ความไม่เป็นประชาธิปไตยบ้าง นำไปสู่ความได้เปรียบเสียเปรียบบ้าง มันก็จึงทำให้เป็นปัญหาที่ตามมา และรวมถึงเมื่อกาลเวลาผ่านไปก็น่าจะต้องดูว่าอันไหนควรจะแก้ อันไหนไม่ควรจะแก้ นั่นก็คือสาเหตุว่ารัฐธรรมนูญควรจะแก้ไขได้หรือแก้ไขไม่ได้ หรือแก้ไขอย่างไร"
 
"แต่ถ้าเราสังเกตในยุคปัจจุบันจะมีคนที่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างในอดีตก็จะมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งบอกว่าต้องให้ได้ปีหนึ่งก่อนแล้วค่อยแก้ มาวันนี้เดือนหน้าครบ 2 ปีแล้ว กระบวนการในการแก้ก็อีก 8-10 เดือน ก็เป็น 3 ปี ก็ยังจะมีคนบางคนบอกว่าแก้ไม่ได้ เราก็ต้องไปศึกษาดู ผมเชื่อว่าแต่ละกลุ่มที่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีเหตุและผลที่ต่างกัน รัฐธรรมนูญก็เหมือนกับกฎหมายอื่นๆ มันมีคนได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ ในส่วนใดส่วนหนึ่ง ตรงนี้ที่เราเรียกว่าความได้เปรียบเสียเปรียบ ฉะนั้นแนวคิดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้เราจึงมองว่าเราต้องการให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายมากที่สุด ที่เราเสนอแก้รัฐธรรมนูญเราก็ยึดหลักอยู่ 3-4 ประการ เอาหลักประชาธิปไตยมาจับก่อน ถ้ารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย ก็เราบอกว่าเราปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ถ้าเรามีรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มันก็ไม่ใช่ และถ้าบ้านเราต้องเดินสู่กระบวนการประชาธิปไตยต่อไปอะไรที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็ต้องพร้อมที่จะแก้ไขได้ ประเด็นที่สองเรื่องนิติธรรม เราก็ดูในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญว่าเป็นธรรมไหม ประเด็นต่อไปที่เราดูในครั้งนี้ก็คือการบริหารราชการแผ่นดิน"
 
"คนที่ริเริ่มในการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ใช่ พล.อ.เลิศรัตน์ ไม่ใช่นายชัย ชิดชอบ ถ้าติดตามอย่างชัดเจน ท่านมาที่สภา 2 ครั้ง ครั้งแรกมาตอนที่ท่านถูกเปิดอภิปรายทั่วไป ครั้งที่ 2 ท่านมาอภิปรายในสภา ตอนเที่ยงคืนถึงตี 1 ท่านพูดทุกมาตราเลยว่าท่านอยากให้แก้เพราะอะไร ท่านบอกเองว่าท่านไม่เห็นด้วยกับรัฐธรมนูญฉบับนี้ตั้งแต่ประกาศใช้แล้ว พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่เห็นด้วยในหลายๆ มาตรา และต้องยอมรับว่าที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ วันที่เขาไปรณรงค์ให้คนรับ คนที่รณรงค์ทุกคนก็บอกว่าแก้ไขได้ ขอให้รับไปก่อน ผมถึงบอกว่าคนที่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเขามีวาระซ่อนเร้น แต่ผมพูดบางอย่างไม่ได้ เพราะเท่ากับเราไปคิดในสิ่งที่ไม่ดีกับคน"
 
"ในเมื่อท่านนายกฯเป็นคนเปิดประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สภาก็รับลูกของท่านมา ท่านชัยก็ตั้งกรรมการชุดนี้มา แน่นอนแม้แต่ สสร.ทุกคณะที่ตั้งขึ้นไม่ว่าจะสมัยปี 2540 หรือ 2550 คนร่างจริงๆ ก็มีแค่ 20-30 คนเท่านั้น คนร่างจริงๆ บางทีก็มีแค่ 2-3 คน 20-30 คนเป็นตัวประกอบเท่านั้น ไปร่างกันในโรงแรม ร่างกันออกมาแล้วมาให้ที่ประชุมผ่าน สสร.ชุดนี้บางคนบอกกับผม เขาไม่ขัดข้องกับการแก้รัฐธรรมนูญ บางคนบอกผมเลยว่าเขามีตั้ง 50 ประเด็นขอแปรญัตติแล้วแพ้หมด ก็ต้องเข้าใจว่าเราไม่ได้มองรัฐธรรมนูญว่าดีหรือไม่ดี เรามองว่าในภาวะการณ์ปัจจุบันนี้เราควรจะแก้อะไรบ้าง กับอีกประเด็นหนึ่งในเมื่อสังคมมันแตกแยกมาก รัฐบาลทำงานได้อย่างไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ท่านนายกฯ เองเป็นคนเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใน 6 ประเด็นที่เราเสนอ 4 ประเด็นเป็นประเด็นที่ท่านขอให้แก้ และผมก็ได้ยินคนที่ออกมาคัดค้านพูดกับผมด้วยความตกใจ ว่าโอ้โห ทำไมท่านนายกฯไปยอมรับอย่างนี้ ยืนยันอย่างนี้ ถึงได้บอกว่าคนที่ออกมาต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าอยู่ในสภาหรือนอกสภา เขามีวาระที่เขาคิดว่าถ้าแก้แล้วเขาจะเสียอย่างนั้นเขาจะเสียอย่างนี้ แต่ถ้าเรามองเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพื่อสังคมส่วนใหญ่ ปรัชญาของกรรมการสมานฉันท์ อยากให้บ้านเมืองลดความรุนแรงลง ลดอุณหภูมิของความร้อนแรงลง"
 
"และผมเห็นการทำงานแล้วผมชื่นชมมาก ไม่ว่าเขาจะเป็นนักวิชาการ เป็น ส.ส.ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล หรือวุฒิสมาชิก อย่างวุฒิสมาชิกที่อยู่กับเราเป็น สสร. 1 คน นักวิชาการก็มี สสร.1 คน พวกนี้ไม่ได้คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เขาก็ยังพอใจกับสิ่งที่เราเสนอแก้ไข ที่มันอยู่ในกรอบที่เรียกว่าสายกลาง และสิ่งที่ระวังที่สุด ผมเองก็ไม่ยอม มีคนเสนอหลายครั้ง ทั้งในที่ประชุมอนุฯและที่ประชุมใหญ่ อะไรที่จะไปก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ที่อยู่ในศาลอยู่ในคดี ที่คดียังไม่จบสิ้น เราไม่ไปแตะเลย มีอยู่หลายมาตรา"
 
"มาตรา 190 รัฐบาลท่านสมชายรอ ป.ป.ช.ชี้อยู่ ว่าการที่คุณนพดลไปประกาศกรอบสนับสนุนการให้เขาพระวิหารเป็นมรดกโลกนั้นผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าอาจจะผิด ป.ป.ช.รอตัดสินคดี เราก็ไม่แก้ 190 แต่เพิ่มเติม 1 วรรคใน 190 ว่าในอนาคตให้ออกกฎหมายกำหนดประเภทของสัญญา ที่จะนำมาเข้าสภา อันนี้ก็เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่การทำงานของบ้านเมือง มาตรานี้ถ้าไม่แก้ บ้านเราเสียประโยชน์อย่างมาก รัฐมนตรีต่างประเทศไปไหน ผู้แทนกระทรวงไปไหน ไม่สามารถเจรจาตกลงอะไรกับใครได้เลย แต่เราไม่อยากไปแก้เพราะมีคนหวงแหนมาตรานี้มาก ส่วนหนึ่งก็คงกลัวจะทำให้การพิจารณาคดีของ ป.ป.ช.ไม่มีบทบัญญัติในการดำเนินคดีต่อ หรือเมื่อถึงขั้นถึงศาล เราก็เลยเพิ่มไปเพียงประโยคเดียวว่าให้มีกฎหมายกำหนดประเภทสัญญาในอนาคตที่จะนำเข้าสู่สภา อะไรที่ไม่ได้อยู่ในกฎหมายก็สามารถเจรจาไปได้เลย สามารถลงนามไปได้เลย อันนี้ก็เป็นไปตามหลักสากลอยู่แล้ว ที่ผู้แทนกระทรวง รัฐมนตรีต่างประเทศ ควรจะมีอำนาจมีความรับผิดชอบในการไปเจรจา ไปลงนามในสัญญาอะไรกว้างๆ ได้ บางอย่างมันไม่สามารถจะนำกลับมาสภาทัน นั่นก็เป็นสิ่งที่เราระมัดระวัง"
 
"คดีความที่รอขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีนักการเมืองอีก 10 กว่าคดีซึ่งเกี่ยวโยงกับมาตรา 309 อำนาจของ คตส. เราก็ไม่ได้ไปแตะต้อง"
 
แก้ 2 กลุ่มปัญหา
 
"ผมเองต้องออกตัวก่อนว่าเป็นประธานอนุกรรมการศึกษาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมไม่ออกคะแนนเสียงเลยในการลงมติ ผมเป็นเหมือนผู้กำกับให้ใครพูด ให้ใครหยุดพูด คอยให้ทุกอย่างอยู่ในกรอบที่งานจะเดินไปได้ ให้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สังคมพอจะยอมรับได้ เพราะฉะนั้นเราก็จะดูในเรื่องที่สำคัญๆ แค่ 2 กลุ่มเท่านั้นเอง"
 
"กลุ่มแรกก็คือที่มาของ ส.ส. สว. อันนี้เป็นหัวใจของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ถ้าที่มาของ สว.ส.ส.ไม่เป็นประชาธิปไตยก็เลิกพูดแล้ว นี่คือหมวดที่ 6 ของรัฐธรรมนูญ นี่คือหมวดที่สำคัญ จากตรงนี้ถ้าเราได้ ส.ส.สว.ที่มาตามระบอบการปกครองประชาธิปไตยที่ควรจะเป็น เราก็จะได้รัฐบาลที่ดี รัฐบาลที่เป็นที่ยอมรับ ก็จะเป็นประโยชน์กับประชาชน เพราะฉะนั้นถ้าไปบอกว่าการแก้ไขเกี่ยวกับ ส.ส. สว.ไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน อันนั้นก็ไม่ใช่ นักการเมืองไม่ได้อยู่ตรงนี้ตลอดหรอกครับ ส.ส.พวกนี้อยู่อีกไม่เกินปีก็ต้องยุบแน่ ทางใดทางหนึ่ง สว.ก็หมุนเวียนกันเข้าไป มันไม่มีแก้อะไรที่ให้ ส.ส. สว.ได้ประโยชน์ และเราต้องเข้าใจการยึดโยงระหว่างส.ส.กับประชาชน ทุกประเทศที่เขามีสภาเพราะสภาคือผู้แทนของประชาชน เราไม่สามารถเอาประชาชนมาตัดสินทุกเรื่องๆ ในบ้านเมืองได้ สิ่งที่เสนอแก้รัฐธรรมนูญก็เพราะการศึกษาของคณะกรรมการในช่วง 2 เดือน ไม่ว่าจะเป็นคณะอนุกรรมการ คณะกรรมการสมานฉันท์ อนุกรรมการว่าด้วยการปฏิรูปการเมือง ก็มีข้อสรุปเหมือนกันว่าในแนวทางหนึ่งที่จะให้เกิดความสมานฉันท์ ก็คือต้องให้รัฐธรรมนูญนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นนิติรัฐ เป็นที่ยอมรับของคนทุกกลุ่ม"
 
"เราจึงตีกรอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ให้สนองตอบต่อแนวคิดนี้เท่านั้นเอง ก็จึงมีแค่ 6 ประเด็น ประเด็นเรื่องที่มาส.ส. สว. กับเรื่องการลงโทษอันสืบเนื่องจากการกระทำผิด นี่ก็อยู่ในหมวดที่ 6 ของการได้มา ส.ส. สว. อีกกลุ่มหนึ่งคือการทำงานของรัฐบาลอีก 3 มาตรา ซึ่งเป็นมาตราซึ่งท่านนายกฯ เป็นคนมาบ่นกับเรา ก็คือเรื่อง 190 เรื่อง ส.ส.ไม่สามารถเป็นที่ปรึกษา เป็นเลขานุการรัฐมนตรีได้ กับเรื่อง ส.ส. สว.ไม่สามารถจะขึ้นโรงพัก ขึ้นอำเภอ เอาประชาชนที่เดือดร้อนไปบอกกับเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ ท่านพูดอย่างชัดเจน มีรายงานการประชุมของรัฐสภาอยู่"
 
"190 เป็นปัญหาของรัฐบาลมาทุกรัฐบาล ตั้งแต่ท่านสุรยุทธ์ สมัคร สมชาย สมัยท่านสุรยุทธ์ถ้าวันนี้ใครไปหยิบมาหลายๆ เรื่องที่ท่านไปเซ็นไว้ ก็เล่นงานท่านได้ เพียงแต่สมัยนั้นไม่มีใครติดใจไปดำเนินการกับท่าน พอมาสมัยหลังบางเรื่องก็จะมีคนหยิบยกว่าเรื่องนี้ไปทำไม่บอกสภา ฉะนั้นก็จึงเป็นปัญหาที่รัฐบาลไม่ว่าจะรัฐบาลไหนก็ประสบเช่นเดียวกัน 190 เป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติ ประเทศชาติก็คือประชาชน ถ้าไม่แก้รัฐบาลทำงานไม่ได้ เจรจาอะไรไม่ได้ แต่เราก็กลัวจะไปช่วยคนที่อยู่ในกับดักอยู่ เราก็เลยไม่แก้ เราเลยเพิ่มเป็นประโยคเดียวให้ออกกฎหมายมากำหนดเสีย อะไรต้องเข้าสภา ส่วนที่เหลือก็ทำไปได้เลย"
 
"ประเด็นที่ 2 มาตรา 265 ก็ไปเขียนไว้ต่างจากปี 2540 ว่าไม่ให้ ส.ส.ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่กลับให้เป็นรัฐมนตรี อันนี้ก็กลับหัวกลับหางกัน ในปี 2540 ไม่ให้เป็นรัฐมนตรี แต่ให้เป็นเลขาฯ ซึ่งถ้าเราไปดูประวัติของนายกฯ ทุกคน นายกอภิสิทธิ์อดีตก็เป็นรองเลขานายกฯ เป็นเลขานุการรัฐมนตรี มันเป็นการทำงานที่คนเป็น ส.ส.เขาจะต้องเป็นผู้บริหารประเทศ หนึ่งเป็นการหาประสบการณ์ กับสอง ส.ส.เขารู้พื้นที่ รู้ปัญหาประชาชน ฉะนั้นก็เป็นการคานกับข้าราชการประจำ ข้าราชการประจำอาจจะมองภาพของประชาชนไม่ได้ลึกซึ้งเท่า ส.ส. ซึ่งก็ไม่ได้มีข้อเสียอะไร เพียงแต่ว่าเปิดช่องให้ ส.ส.เป็นเลขานุการรัฐมนตรีได้ ถ้าไม่ให้เป็นเขาก็เอา ส.ส.สอบตกไปเป็นเหมือนกับทุกวันนี้ ถ้าห้ามเป็นรัฐมนตรีแบบปี 2540 เสียอีกจะเกิดปัญหากับรัฐบาลทันทีเลย รัฐบาลนี้มีส.ส.เป็นรัฐมนตรีอยู่ 25 คน ถ้าเป็นสมัยปี 2540 ต้องลาออก ฉะนั้นวิธีคิดมันก็แปลกๆ ในมาตรานี้"
 
เสธ.อู้บอกว่ามาตรานี้ในที่ประชุมไม่มีใครคัดค้านเลย เห็นชอบเป็นเอกฉันท์ แม้แต่ ส.ส.ปชป.
 
"ทุกพรรคการเมืองเสนอให้แก้ ใน 3 มาตรานี้ เอกฉันท์เลย"
 
"ได้แก่ 190, 265 ให้ ส.ส.เป็นเลขานุการรัฐมนตรีได้ และ 266 ให้ ส.ส. สว. สามารถช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนโดยไปแจ้งกับเจ้าหน้าที่ได้ ซึ่งใน 266 จะมี 3 วงเล็บ (1)จะเขียนว่าห้าม ส.ส. สว.แทรกแซงก้าวก่ายการปฏิบัติงานของราชการ ก็คือห้ามไปหาเลย เพื่อประโยชน์ของตนเอง ของพรรค หรือของผู้อื่น พอเขียนอย่างนี้เราจะเอาคนที่เดือดร้อน ที่บ้านน้ำท่วมพังทั้งหลังไม่มีใครมาชดใช้ พาไปหาประชาสงเคราะห์จังหวัด ก็พาไปไม่ได้ ถือว่าก้าวก่ายการทำงาน ส่วน(2) และ(3) ก็ยังคงอยู่ คือการห้าม สว. ส.ส. เข้าไปแทรกแซงการโยกย้าย การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือนหรือการปลดออก"
 
"ตรงนี้ 3 มาตราเป็นเรื่องที่ท่านนายกฯเป็นคนขอให้เราแก้ มาตราที่ 4 ที่ท่านขอให้แก้คือเรื่องไม่ควรจะยุบพรรคการเมือง ที่มาจากการกระทำผิดของผู้บริหารพรรคคนเดียว มาตรา 237"
 
มาตรานี้แหละที่มีการถกเถียงกันมาก
 
"มันไม่เห็นต้องเถียงเลย ถ้าเรามีใจเป็นธรรมและคิดว่าอยากจะให้บ้านเมืองเดินได้ ถ้าเราคิดถึงระบอบประชาธิปไตย เราศึกษาเรื่องนี้กันเยอะ จริงๆ แล้วที่เราทำได้ใน 45 วัน เพราะเราไม่ได้ทำมาก เราทำประเด็นน้อย และเรารับข้อมูลมาจากทุกฝ่าย เราเอาข้อมูลของสภาผู้แทนซึ่งเขาศึกษามาปีกว่าแล้ว การบังคับใช้รัฐธรรมนูญที่ผ่านมา เราเอาของวุฒิสภาซึ่งศึกษามา 7-8 เดือน เอาของสถาบันพระปกเกล้ามาดู ฉะนั้นเราก็รู้ว่าอะไรที่นักวิชาการหรือนักการเมืองหรือภาคประชาชนเขามองว่าเป็นจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญ แต่เราตีกรอบไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับคนหรือเรื่องที่มันค้างคาเป็นคดีความอยู่ จะไม่แตะ เหมือนอย่าง 309 เราก็ไม่ได้ไปยุ่ง หรือเรื่องเกี่ยวกับการอภัยโทษเราก็ไม่ได้ไปพูดถึง เราไม่ได้ไปออกกฎหมายเพิ่มเติม เราเสนอแก้เฉพาะในส่วนนี้"
 
"มาตรา 237 กฎหมายรัฐธรรมนูญประเทศไหนในโลกนี้ก็ไม่มี ที่บอกว่าคนคนหนึ่งทำผิดให้ยุบพรรค บางพรรคเขามีสมาชิกตั้ง 10 ล้านคน ยุบเสร็จแล้วไปบอกให้เขาสมัครใหม่ มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เดี๋ยวนี้พรรคการเมืองก็เลยมีสมาชิกน้อยมาก หรือคนที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองอย่างถูกต้องตามกฎหมายก็มีน้อยเพราะเขาเบื่อ เป็นแล้วถูกยุบต้องไปสมัครใหม่ นี่คือการทำให้สถาบันทางการเมืองอ่อนแอ EU เขาประกาศเลยว่าการยุบพรรคการเมืองถือเป็นเรื่องที่รุนแรง จะต้องดำเนินการเฉพาะกรณีที่พรรคการเมืองเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง ซึ่งอันนี้ตรงกับมาตรา 68 ของเราซึ่งยังมีอยู่ เพราะฉะนั้นการยุบพรรคการเมืองยังดำเนินการได้ในมาตรา 68 ถ้าพรรคการเมืองนั้นมีพฤติกรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่ใช่ยุบพรรคการเมืองอันเนื่องมาจากการทำผิดของคนคนหนึ่ง ท่านนายกฯ อภิสิทธิ์พูดชัดเจนในเรื่องนี้ และท่านก็ไปพูดทุกแห่ง ไม่ใช่พูดวันนี้ แต่คนที่คัดค้านกลับพยายามทำเป็นไม่รู้ว่าเราทำตามนโยบายของนายกฯ ทำเป็นไม่รู้อิโหน่อิเหน่เสียก็เยอะ"
 
"จริงๆ แล้วสภาเองก็ระวัดระวังเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรามีคาอยู่ 1 ฉบับ ของหมอเหวงและคณะ ประชาชน 70,000 กว่าคนเซ็นมา เราก็ไม่เคยหยิบยกขึ้นมา ท่านประธานชัยก็บ่นกับพวกเราอยู่ตลอดเวลาว่าท่านอึดอัดมาก มันเป็นสิทธิอยู่ในมาตรา 291 ประชาชนเกิน 50,000 คนสามารถเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ สมัยพรรคพลังประชาชนพยายามจะแก้ก็เลยเกิดโกลาหลกัน ล้อมสภากันอะไรกัน จนเรื่องยังเป็นคดีกันอยู่ทุกวันนี้ พอมาถึงรัฐบาลชุดนี้ทุกคนก็ให้ความร่วมมือก็ไม่อยากไปยุ่ง แต่อีกด้านหนึ่งคือการไม่ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ เพราะบอกว่าแก้แล้วจะทำให้คนได้ประโยชน์เสียประโยชน์ เพราะไปคิดกันอย่างนี้ ทุกคนมองว่าฉบับที่ประชาชนเสนอ มันไปช่วยคนผิดบ้างอะไรบ้าง ยกเลิก 309 ยกเลิกบทเฉพาะกาล ซึ่งจริงๆ แล้วเราไม่มีสิทธิ์จะคิดอย่างนั้น เราควรจะต้องนำเข้าสู่สภา ถ้าไม่เอาก็ให้สภาตีตกไป สภามีสิทธิที่จะไม่รับตั้งแต่วาระที่ 1 หรือรับแล้วไปแปรญัตติแล้วก็โหวตในวาระที่ 3 ก็อาจจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือก็ได้ อันนี้เป็นตัวอย่างที่ผิดมากๆ คนร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เขาภูมิใจมากเลย รัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง จะเสนอกฎหมายก็ใช้คนเพียงหมื่นสองหมื่นคน จะแก้รัฐธรรมนูญก็ใช้แค่ 50,000 คนเอง แต่พอเขายื่นมา 70,000 คน กลับไปมองว่าประชาชนกลุ่มนี้เราไม่รับ นี่คือการเลือกปฏิบัติ นี่คือการใช้ 2 มาตรฐาน"
 
"เราก็เข้าใจ ไม่ใช่ว่าเราจะไม่ลืมหูลืมตาดูปัญหาของบ้านเมือง เราถึงพยายามทำอะไรที่เป็นสายกลาง ท่านนายกท่านยอมรับ สภายอมรับ ว่าประเทศมีปัญหา ปัญหามันยิ่งลึกขึ้นเรื่อยๆ ไม่ต้องพูดถึงว่าขนาดนายกฯ ไปลงพื้นที่ต้องใส่เสื้อเกราะ ต้องใช้ทหารตำรวจ 5,000 คน ต้องใช้เฮลิคอปเตอร์บินอยู่อย่างนี้ เราจะให้ประเทศเป็นไปอย่างนี้หรือ รัฐมนตรีไปเชียงใหม่ก็โดนม็อบถล่มทลาย ประชาชนบาดเจ็บกันไป จะประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศต้องใช้ทหารเป็นหมื่นคน ใช้งบ 200 ล้าน นี่คือปัญหาของบ้านเมือง ถ้าเราคิดจะแก้ไขมันก็ต้องช่วยกัน แต่ถ้าทุกคนยังจะแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ผมยืนยันว่าแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญผมก็ไม่ได้ประโยชน์ ไม่ได้คิดจะเล่นการเมืองมากไปกว่านี้ เป็น สว.ก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด 3 ปีก็เลิกเล่นอยู่แล้ว"
 
ในข้อเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็ให้ยกเลิก สว.สรรหา แม้ตัวประธานอนุกรรมการจะเป็น สว.สรรหา
 
"ในอนาคตเลือกตั้ง ผมก็ไม่เคยคิดจะไปลงเลือกตั้งแข่งกับใครอยู่แล้ว ไม่ว่า ส.ส. หรือ สว. ไม่ใช่วิถีชีวิตของเรา เราก็เห็นแล้วว่าการเมืองเป็นเรื่องยากมากสำหรับคนที่จะเข้าไปใหม่ๆ แน่นอนการเมืองบ้านเรามันยังอยู่ในขอบเขตที่เรียกว่า money politic เป็นการเมืองที่ต้องใช้เงิน ฉะนั้นก็เป็นข้ออ้างของคนร่างรัฐธรรมนูญในหลายๆ ครั้งว่าร่างเพื่อมาแก้ปัญหาสิ่งเหล่านี้ แต่เราจะลืมพื้นฐานของประชาธิปไตยไม่ได้ เราจะไปใช้วิธีแบบเชือดไก่ให้ลิงดู คือลงโทษรุนแรงแบบที่ไม่มีใครเขาทำกัน มันไม่ได้ และมันก็ไม่ใช่การแก้ปัญหา มันเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย ทำลายความมั่นคงของสถาบันทางการเมือง มันเป็นวิธีคิดที่-เท่าที่ฟังดูเราก็ออกไปทำประชาพิจารณ์ ทำสมัชชาสมานฉันท์ รับฟังความคิดเห็นหลายๆ ฝ่าย ร้อยละ 90 เห็นควรให้ยกเลิก 237 ให้ไปทำโพลล์เดี๋ยวนี้เลย ผมยืนยันได้เลย และผมก็ยังกล้าท้าด้วย ทั้ง 6 มาตราที่เราเสนอแก้ไขไปทำประชามติ ประชาชนส่วนใหญ่จะเห็นด้วย ฉะนั้นเราจึงไม่เคยไปขัดขวางการคัดค้านแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นสิทธิที่ทุกคนมีแนวความคิดที่ต่างกัน และมีบางคนที่ผมบอกว่ามีวาระซ่อนเร้นทำไมไม่อยากให้แก้ไข ที่กลัวว่าจะไปช่วยคนนั้นคนนี้เราก็ไม่ไปแก้ในมาตราเหล่านั้น แต่ก็ยังมีบางคนเสียประโยชน์จากการแก้เพียง 6 มาตรา"
 
ปชป.ชอบพวงใหญ่
 
เสธ.อู้ยอมรับว่าในคณะกรรมการ 40 คนก็มีบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขบางมาตรา เช่นระบบเลือกตั้ง
 
"อย่างการแก้จากพวงใหญ่เป็นพวงเล็ก การเลือก ส.ส.ซึ่งปัจจุบันได้ถึง 3 คนต่อเขต ให้มาเหลือเป็นเขตเดียวคนเดียว"
 
ประเด็นนี้เท่าที่เราได้ฟังมาคือประชาธิปัตย์ค้าน
 
"ประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่เขาจะเสียประโยชน์ พรรคอื่นส่วนหนึ่งก็ยังเสียประโยชน์ เพราะคนได้เป็น ส.ส. ได้มาด้วยวิธีการต่างๆ กัน บางคนโดดเด่นลงเขตเดียวของตัวเองได้มา บางคนพอไปลง 3 เขต อีก 2 เขตไม่รู้จักเขาก็ไม่ได้ นี่เป็นเรื่องความชอบส่วนตัวกับประโยชน์ของตัว ในทุกพรรคมีความเห็นที่ต่างกัน แต่มติของเสียงส่วนใหญ่เห็นควรให้เป็นเขตเดียวเบอร์เดียว ซึ่งมันตอบคำถามได้เยอะมาก มันเป็นประชาธิปไตย มันเป็นสิทธิเท่ากันของคนที่อยู่กรุงเทพฯ หรืออยู่ระนอง 1 คน 1 เบอร์ 1 คน 1 เขต มันยึดโยงกับประชาชน ประชาชนรู้ว่าคนนี้ ก็เลือกได้ง่ายว่าคนนี้ดีไม่ดี คนนี้ได้แล้วเคยมาดูแลเขตพื้นที่ไหม คนเดียวดูแลพื้นที่เขาได้ง่าย 3 คนเสียอีกเกี่ยวกันดูเขตพื้นที่ มันมีข้อดีด้วยประการทั้งมวล พอถามอันนี้ซื้อง่าย แต่ถามว่าพวงใหญ่มีซื้อไหม-มี อย่าง อ.สมบัติ อธิการนิด้าก็บอกทั้ง 2 อันซื้อเสียงได้ทั้งนั้น ฉะนั้นข้อดีของเขตเดียวเบอร์เดียวมีมากกว่าเยอะ ที่ประชุมก็ยอมให้เขตเดียวคนเดียว แต่เราก็ไม่ได้ว่าอะไร ถ้าไปเข้าสภา สภาบอกควรจะเป็นเขตเดียวหลายเบอร์เราก็ไม่ได้ว่าอะไร มันเป็นความคิดที่คนส่วนใหญ่เห็น"
 
"อีกประเด็นหนึ่งที่เราเสนอแก้ก็คือ ส.ส.แบบสัดส่วน เราลองใช้วิธีปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน ก็เพื่อเปิดช่องให้พรรคเอาคนที่มีคุณวุฒิ คนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจะมาเป็นผู้นำพรรคหรือเป็นรัฐมนตรี มาเป็นตรงนี้ได้ พอเปลี่ยนมาเป็นแบบสัดส่วน แบ่งประเทศไทยเป็น 8 เขต คนแบ่งไม่ใช่ สสร. คนแบ่งกลายเป็นเจ้าหน้าที่ เป็น กกต. ก็เกิดการบ่นกันว่าได้เปรียบเสียเปรียบ ทำไมภาคตะวันออกเอาตั้งแต่สระแก้วไปจนถึงระยอง เรียงยาวไปเลย หรือทำไมเอาจังหวัดทางภาคใต้มารวมกับภาคกลางตอนใต้ มันก็ทำให้คะแนนสัดส่วนเปลี่ยน เราเลยเห็นว่าวิธีการแบ่งไม่เป็นธรรม และมันสับสน ประชาชนก็ไม่รู้ว่าเขาไปเลือกใคร และแนวคิดของการได้ส.ส.จากพื้นที่ก็คือ ส.ส.เขต ฉะนั้นเราไม่จำเป็นต้องเอา ส.ส.เขตอยู่แล้ว 8 จังหวัด 10 จังหวัด ส.ส.กลุ่มนี้เราถือเป็นส.ส.อีกประเภทหนึ่งที่พรรคเลือกคนเข้ามาทำงานให้กับเขา วิธีคิดอย่างนั้นจึงไม่ใช่ มี ส.ส.พื้นที่อยู่แล้วทำไมต้องเอาไปแบ่งเป็น 8 เขต นั่นเป็นทฤษฎีของคนที่อ้าง ทุกคนจึงเห็นพ้องต้องกัน เกือบจะเอกฉันท์"
 
ส.ส.ประชาธิปัตย์ในคณะกรรมการก็ไม่ค้านใช่ไหม
 
"เขาไม่ได้ค้าน ก็ออกมาเป็น 100 คน แต่เราแก้ไขให้เป็นธรรมขึ้น ในอดีตใครได้ไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ให้ตัดสิทธิ โอ้โหเขาได้ถึง 4 เปอร์เซ็นต์กว่า เขาน่าจะได้ส.ส. 4 คน ทุกคนก็เห็นชอบ ฉะนั้นต่อไปนี้ก็ได้ตามความเป็นจริง ถ้าได้ 1 เปอร์เซ็นต์ก็ได้ 1 คน พรรคเล็กก็จะได้ ส.ส."
 
"เราก็มีคำตอบให้กับสิ่งเหล่านี้ เราถือเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตย คือการได้มาซึ่ง ส.ส. และสว. พอมาถึง สว.มันตอบคำถามไม่ได้เลย เอาหลักประชาธิปไตยมาจับปุ๊บ 7 คนเลือกคน 74 คน 63 ล้านคนเลือก 76 คน ปัญหาที่เกิดขึ้นมันเกิดขึ้นทั้ง 2 อย่าง พอ สว.จังหวัดเหลือคนเดียวเราจะไม่ได้คนดี ได้แต่คนดัง อย่างกรุงเทพฯถ้า 18 คนอย่างครั้งที่แล้ว คนดีๆ ลงหมื่นกว่าเสียงก็ได้แล้ว แต่พอแบ่งเป็นจังหวัดละคน คนดีๆ ไม่ได้หรอก ถึงได้ก็ได้ 1 คน ส่วนใหญ่เป็นคนที่เขามีชื่อเสียง ยิ่ง สว.สรรหา สสร.ที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เวลาก็ไม่เยอะ 5-6 เดือน เขาเสียเวลาไปทำประชาสัมพันธ์ รับฟังความคิดเห็นต่างๆ ฉะนั้นเรื่องที่เขาเห็นว่าเป็นปัญหาและจะแก้ไขเขาจึงไม่สามารถที่จะผ่านกระบวนการกลั่นกรองได้ข้อเสนอที่ตกผลึกดีพอ กลายเป็นเรื่องของคน 7 คนมาสรรหา ใน 7 คน 3 คนเป็นศาล ถามไปที่ศาล ศาลก็ทำหนังสือมาที่ สสร.ไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับการสรรหาใดๆ ทั้งสิ้น แต่ สสร.ก็จับใส่ไปในรัฐธรรมนูญ เพราะ สสร.ต้องการให้สรรหา และก็ไม่รู้จะเอาใครมาสรรหา"
 
"วิธีการสรรหาก็มีกระบวนการอีกหลายวิธี สถาบันพระปกเกล้ากำลังคิดอยู่ การสรรหา สว.ก็เป็นเรื่องที่ดีถ้าการสรรหานั้นเป็นธรรม และยึดโยงกับประชาชน-ต้องยึดโยงบ้าง อาจจะสรรหาแล้วไปเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งมาจากจังหวัดแล้วมาสรรหา แต่ไม่ใช่คน 7 คนมาเลือกเลย มันตอบคำถามไม่ได้ ทำไม พล.อ.เลิศรัตน์ได้ เขาไม่ได้ให้คะแนนผมด้วยซ้ำไป บังเอิญผมออกมา 4 คะแนนหรือ 5 คะแนน เขาก็ให้ผมเป็น แต่แค่เป็นความคิดของคนต่างๆ เหล่านั้น ซึ่งดูจากชื่อพันกว่าชื่อ เพื่อให้ได้คน 74 คน เวลาที่ทำก็สั้นมาก 3 วันจบแล้ว-เท่าที่ผมติดตาม เพื่อให้ได้คน 74 คน และ 7 คนนี้ก็มาจากตำแหน่งต่างๆ ที่ตอบไม่ได้ว่าทำไมเอาตำแหน่งเหล่านี้ ฉะนั้น วิธีคิดของ สสร.มันเป็นอะไรที่ไม่สามารถจะตอบนักประชาธิปไตยได้เลย แต่กลายเป็นว่าเมื่อสรรหามาแล้วกลับได้กลุ่มบุคคลซึ่งบางคนก็คาดคิดว่าเขาน่าจะได้ เพราะมีความยึดโยงอยู่กับกลุ่มอำนาจบางอย่าง มันกลายเป็นอย่างนั้น นั่นคือข้อเท็จจริง"
 
เราสัพยอกว่าเขาพลาดหรือเปล่าที่เลือก เสธ.เข้ามา
 
"ผมยังไม่คิดว่าผมจะได้เลย แต่ว่ามีตุลาการ 3 คนที่อาจจะเผลอๆ เลือกผมก็ได้"
 
ความเป็นธรรม
 
"เราต้องมีใจเป็นธรรมถ้าเราอยากจะเห็นความสงบในบ้านเมือง แต่ถ้าเราคิดว่าให้มันสู้กันไปจนตายไปข้างหนึ่งก็ไม่ต้องทำอะไร แต่นี่คือสิ่งที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเราต้องยอมรับว่า รัฐบาล สภา เป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ก็ควรจะต้องคิดหาทางแก้ไขปัญหาของชาติ จะปล่อยให้มันเดินไปอย่างนี้หรือ คนที่เสียก็คือประชาชนนั่นแหละ เศรษฐกิจไม่ไปไหน หลายๆ อย่างก็ประดังเข้ามากับบ้านเมืองเรา ซ้ำเข้าไปอีก แทนที่การเมืองเราเข้มแข็ง มีเสถียรภาพ ทุกคนสนับสนุนรัฐบาล ทุกคนร่วมมือกัน อย่างวันนี้อินโดนีเซียโดนระเบิดไป 2 ลูก แมนยูก็ไม่มาแข่งแล้ว ขายตั๋วไปแสนกว่าใบ ความแตกแยกของบ้านเมืองตอนนี้จึงเป็นที่มาว่าเราพร้อมจะช่วยกันแก้ปัญหาหรือเปล่า ถ้าไม่พร้อมก็โอเค ก็ไม่ต้องทำอะไร แต่คนที่คิด-ผมชื่นชมนายกอภิสิทธิ์มาก ว่าท่านเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ ท่านได้ในสิ่งซึ่งใครๆ ก็ปรารถนาจะเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วท่านก็ยังมีจิตใจที่-ผมพร้อมที่จะยุบสภาเมื่อกฏกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับ ในเวลาอันสมควร-นี่คือคำประกาศของท่าน ต่อรัฐสภา ต่อสาธารณชน"
 
แต่ตอนนี้ประชาธิปัตย์ออกมาว่าจะไม่เอา อย่างสาทิตย์
 
"อย่าไปคิดอะไรมาก ในแต่ละพรรคแต่ละกลุ่มคนก็มีความคิดที่แตกต่างกัน เราก็ไม่ได้ว่าอะไร ทุกคนก็ต้องช่วยพยายามมองว่าอะไรที่ทำแล้วมันจะหยุดการนองเลือดได้ เพราะหลายๆ คน หลายๆ ฝ่าย หลายๆ สถาบัน คณาจารย์ โดยเฉพาะสถาบันพระปกเกล้าพยายามมองไปข้างหน้า เพราะถ้าไม่ทำอะไรตอนนี้บ้านเมืองเราจะเสียหายอย่างที่เราจะเสียใจ"
 
เสธ.อู้ยืนยันว่าประเด็นที่คัดค้านกันเรื่องออกกฎหมายปรองดองนิรโทษกรรม 111 คน ไม่ได้อยู่ในประเด็นของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่มาจากคณะอนุกรรมการอีก 2 ชุดในคณะกรรมการสมานฉันท์
 
"อนุกรรมการอีก 2 ชุดทุกคนก็มีสิทธิพูด คนที่คิดว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมเขาก็พูดว่าอยากให้นิรโทษกรรม อยากให้ปรองดอง ก็บันทึกเอาไว้ แต่สิ่งเหล่านั้นเป็นมาตรการระยะยาว เมื่อถึงเวลาหนึ่งถ้ารัฐบาลเห็นสมควรก็ดำเนินการ ถ้ารัฐบาลไม่ดำเนินการก็ไม่มีใครดำเนินการ แน่นอนครับทุกคนมีปัญหาของตัวเอง คนที่เขาถูกยุบพรรคไปเขาก็ต้องรู้สึกว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม"
 
"ที่จริงถ้าเราพูดถึงบทบัญญัติ 237 อย่างเดียวมันยังไม่พอนะ เราต้องพูดถึงกระบวนการที่นำไปสู่การลงโทษด้วย บางคนไม่เข้าใจว่าเอาแค่ 237 ในวรรค 2 เขียนว่าถ้ากรรมการของพรรคคนหนึ่งทำผิดให้ยุบพรรคนั้นเสีย และก็ให้กรรมการพรรคนั้นถูกเพิกถอนสิทธิด้วย 5 ปี คำว่ากรรมการบริหารพรรคทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง มันเป็นกระบวนการที่ต้องมาศึกษา หนึ่ง คณะกรรมการเลือกตั้ง 5 คนสามารถให้ใบแดงแก่ผู้สมัคร ส.ส.ได้เลย ถ้ายังไม่เกิน 30 วัน ก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง และก็จัดเลือกตั้งใหม่ ซึ่งตรงนี้มีคนเสนอแก้ไขนะแต่เรายังไม่อยากแตะ เพราะกระบวนการตัดสินของ กกต.ใช้หลักฐานที่ถ้าเชื่อได้ว่าคนนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดนั้น ก็ให้ใบแดง เขาไม่ได้พิสูจน์แบบศาล พอพ้น 30 วันเขาให้ใบเหลืองใบแดงไม่ได้ ต้องส่งศาล ผลการส่งศาลของกกต. ร้อยละ 80 ขึ้นไปศาลยก"
 
"ฉะนั้นจะต้องมาแก้ตรงนี้อีก ถ้าจะลงโทษรุนแรง ประเด็นที่หนึ่งคือการลงโทษมันรุนแรงเกินไป มันไม่มีใครเขาทำกัน เหมือนกับเด็กโขมยดินสอไปแท่งหนึ่งแล้วตัดสินจำคุก 3 ปี ศาลเขายังมีเมตตาเลย ชั้นของความผิดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง การทำผิดจนถูกใบแดง ไปดูประกาศ กกต.จะมีแยกแยะเยอะมาก บางคนแค่ส่งพวงหรีดก็ผิดแล้ว หรือไปแจกผ้าห่มอย่างคุณสุเทพ ฐานความผิดบางฐานมันต่างกัน ถ้าเราจะเอายุบพรรค เพิกถอนสิทธิกรรมการ เราก็ต้องไปกำหนดฐานความผิดให้รุนแรงหน่อย เช่นมีการซื้อสิทธิขายเสียงอย่างชัดเจน มีหลักฐาน"
 
"กระบวนการที่นำมาสู่การลงโทษผู้บริหารพรรค ทุกวันนี้ก็ยังเป็นกระบวนการที่มีความหลากหลาย
อย่างการยุบพรรค 3 พรรคหลังสุดจะเห็น ของพรรคพลังประชาชนเรื่องถึงศาลฎีกา แต่ของพรรคชาติไทยกับพรรคมัชฌิมาธิปไตย โดนใบแดงใน 30 วัน เขาถึงเจ็บหัวใจมากๆ เพราะเขาไม่มีโอกาสต่อสู้ในชั้นศาล บ้านเราต้องยอมรับว่าการซื้อสิทธิขายเสียงมีอยู่ แต่การที่จะไปจับมันก็เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ ของ กกต. เจ้าหน้าที่ส่วนกลางที่ส่งออกไป ความไม่เป็นธรรมตรงนี้ก็ยังมีอยู่ การเลือกปฏิบัติ ในเมื่อเรายังยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้ยังไม่ 100 เปอร์เซ็นต์เราก็อย่าไปลงโทษรุนแรง เรายืนยันได้ไหมว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ความเป็นธรรม เราก็ได้ยินบางคนพูดว่าตำรวจบางจังหวัดก็ตามเฉพาะฝ่ายค้าน ต้องมองไปถึงกระบวนการต่างๆ เหล่านั้นด้วย สสร.ออกมา protect ว่าตอนผมเขียนก็รู้อยู่แล้วว่ามันมีอยู่ในรัฐธรรมนูญ คุณไปทำผิดเอง พูดอย่างนี้พูดได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้วอย่าลืมว่ามีกระบวนการอีกเยอะแยะเลยกว่าจะไปจับคนทำผิด และเราเชื่อไหมว่าตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ของเรามีความเป็นธรรม 100 เปอร์เซ็นต์ มีใครกล้าบอกผมไหม ทำไมเขาถึงต้องย้ายตำรวจคนสนิทไปไว้ในจังหวัดที่เขาลงเลือกตั้งล่ะ และกำลังตำรวจมีเท่าไหร่ล่ะ กกต.มีคนอยู่กี่คนล่ะ สิ่งเหล่านี้ยังเป็นปัญหาอยู่ เมื่อเป็นปัญหาอยู่ก็อย่าไปลงโทษรุนแรง"
 
"นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะตอกย้ำให้เห็นว่าทำไมคนบางคนเขาถึงเจ็บปวดในหัวใจ เพราะสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เขาพูดในที่ประชุม และเขาพูดแรงกว่านี้เยอะ เราฟังอยู่ 45 วันจะได้ยินมากเลย ความในใจของคนที่เขาเจ็บหัวใจจากการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ เพื่อนำไปสู่กระบวนการลงโทษ กฎหมายเดียวกันแต่เจ้าหน้าที่จะเล่นเฉพาะกลุ่มนี้ สิ่งเหล่านี้เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เราต้องคิดว่าถ้าจะลงโทษรุนแรงแบบนั้นเราก็ต้องสร้างทุกกระบวนการให้เป็นธรรม"
 
"ปัญหาของบ้านเมืองในวันนี้ท่านดิเรก (ถึงฝั่ง) ท่านบอกเป็นมอตโต้ของท่านก็คือ ถ้าความเป็นธรรมยังไม่มีความสามัคคีจะเกิดไม่ได้ในบ้านเมืองเรา เรานั่งอยู่ข้างบนเราก็ไม่ค่อยรู้สึกอะไร แต่คนที่เขารู้สึกและมีประชาชนสนับสนุนเขามีอีกเยอะ มีเป็นพันๆ คน และผู้สนับสนุนเป็นสิบล้านคน ที่เขามีความรู้สึกอย่างนั้น นี่คือสิ่งที่เราพยายามจะแก้ไขกัน คนบางคนได้อำนาจมาแล้ว อยู่กับฝ่ายรัฐบาลก็อยากจะอยู่ไปอย่างนี้ แม้กระทั่งไม่อยากให้เลือกตั้งด้วยซ้ำไป แม้กระทั่งไม่อยากให้แก้อะไรด้วยซ้ำไป บางคนกลัวว่าพอแก้รัฐธรรมนูญแล้วเดี๋ยวประชาธิปัตย์จะไม่ได้กลับมาเป็นรัฐบาล มันจึงเป็นสิ่งซึ่งอยู่ที่ว่าเราต้องการอะไร ถ้าเราต้องการให้บ้านเมืองสงบขึ้น และให้บ้านเมืองมีความมั่นคงทางการเมืองมากขึ้น รัฐบาลนี้ทุกคนก็ชอบหมด ผมก็ชอบ อยากจะให้อยู่ 4 ปี 8 ปีด้วย แต่ก็ต้องไม่ให้มันเกิดปัญหากับคนกลุ่มอื่นของประเทศ ต้องเห็นใจเขาบ้าง คนที่ไม่เห็นใจเขาเพราะกลัวการเปลี่ยนขั้ว มันไม่ถูกต้องถ้าเราคิดอย่างนั้น เราไปคิดว่าเราไปคืนความเป็นธรรม หรือสร้างความธรรมขึ้นมาแล้ว เดี๋ยวรัฐบาลนี้เลือกตั้งแล้วจะไม่ได้กลับมา พวกคิดอย่างนี้มีเยอะนะ ในพรรคประชาธิปัตย์เองก็คิดอย่างนี้ ที่เขาต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยกับท่านนายก ผมถึงบอกว่าผมชื่นชมท่านนายกฯอภิสิทธิ์ เพราะท่านจะเล่นการเมืองไปอีก 20 ปี นักการเมืองบางคนคิดแต่ว่าขอให้ได้เป็นรัฐบาล ขอให้ได้ตำแหน่งแห่งที่ แต่ไม่ได้คิดถึงบ้านเมือง นั่นคือปัญหาของนักการเมือง"
 
"ผลสรุปของการศึกษาที่เราทำก็คือต้องแก้ที่ตัวคน ตั้งแต่นักการเมืองถึงประชาชน นักการเมืองต้องแก้ก่อน รวมถึงนักสนับสนุนนักต่อต้านที่มีมากมายทุกวันนี้ ผมก็ไม่ได้เถียงว่าแก้รัฐธรรมนูญแล้วแก้ความสมานฉันท์ได้หรือไม่ แก้รัฐธรรมนูญมันปูไปสู่การเลือกตั้ง เราต้องยอมรับรัฐบาลชุดนี้ความสง่างามมีไม่ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ท่านนายกฯท่านรู้ไหม ท่านก็รู้ ที่มาก็ไม่ได้สง่างามเท่าที่ควร ที่เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย การยอมรับจึงกระท่อนกระแท่นอย่างนี้ ถ้ารัฐบาลเป็นอย่างนี้อยู่ ถูลู่ถูกังไป ก็ได้แค่นี้แหละบ้านเมืองเรา อย่าไปหวัง GDP จะเป็นบวกหรือว่านักท่องเที่ยวจะเป็น 15 ล้านคนเลย นี่คือสิ่งที่เป็นปัญหาของบ้านเมืองเรา มันมีคนมองเห็น แต่มีคนส่วนหนึ่งที่ เฮ้ย-เรามีอำนาจอยู่ เก็บไว้ อย่าให้ใคร ก็มีคนยังคิดอย่างนั้นอยู่"
 
"เพราะการปกครองของเรามีปัญหา เราให้อำนาจกับรัฐบาลมากเกินไป รัฐธรรมนูญเขียนให้กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เสร็จแล้วก็มาเสนอกฎหมายยกเลิกเป็นเรื่องๆ ไป จะยุบกรมนั้นกรมนี้ให้ไปอยู่กับท้องถิ่นก็ออกกฎหมายยกเลิก ได้อำนาจมาได้เป็นรัฐบาลทีหนึ่งโยกย้ายคนได้เป็นหมื่นเป็นแสน และการโยกย้ายบ้านเรามันไม่มีระบบคุณธรรม อเมริกาทหารเขาจะมีคะแนนให้เลย พันโทคนนี้คะแนนเท่าไหร่ ถ้าคะแนนน้อยไปเป็นพันเอกยังไม่ได้ แต่บ้านเราพอนายคนนี้ขึ้นก็ไล่เรียงมา นายร้อย จ่าก็ได้ผลประโยชน์ ผลพวงจากการมี ผบ.ทบ.1 คนมันจะได้ประโยชน์ลงมาถึงนายสิบ จ่า เราต้องแก้โครงสร้างเหล่านี้ด้วย ไม่ใช่บอกว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญอย่างเดียว ต้องแก้โครงสร้างของการมีอำนาจมากเกินไป ต้องให้มีระบบคุณธรรม แก้คอร์รัปชั่น การซื้อสิทธิขายเสียง เสียงเหล่านี้เราเรียกร้องให้แก้ แต่มันยังแก้ไม่ได้วันนี้พรุ่งนี้ บางคนบอกเก็บไว้ก่อนรัฐธรรมนูญ มาแก้สิ่งเหล่านี้ก่อน อีกกี่สิบปีจะแก้สิ่งเหล่านี้ได้ ทุกคนก็เก็บทรัพยากรเพื่อเตรียมการเลือกตั้ง"
 
นิรโทษไม่เกี่ยว
 
เสธ.อู้บอกว่าในการเสนอแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น ก็มีข้อเสนออื่นด้วย แต่ก็แล้วแต่ว่าจะทำหรือไม่ทำ
 
"ไม่ได้มีกรอบเวลา มีการเสนอที่เป็นรูปธรรมคือตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ คณะกรรมการปฏิรูปการเมือง ซึ่งอาจจะรวมเป็นคณะเดียวก็ได้ มาดูไปเรื่อยๆ ให้อยู่กับสภา เพราะถ้าอยู่กับรัฐบาลมันเป็นฝ่ายเดียว แต่สภามี 3 ฝ่าย และก็ดึงภาคเอกชน นักวิชาการ มาตั้ง อาจจะเป็น 50 คน 80 คน มาดูว่าอะไรควรจะทำ ถ้าคณะกรรมการเห็นว่าควรจะมีวิธีอื่นในการสร้างความสมานฉันท์คือออกกฎหมายตรงนั้นตรงนี้ ก็ทำไป แต่ไม่ได้มีกรอบเวลา และก็ยังไม่ได้มีคณะกรรมการชุดนั้น"
 
กฎหมายนิรโทษกรรมอยู่ในข้อเสนอแบบนี้เหมือนกันหรือ
 
"อยู่นอกกรอบของการเสนอแก้ไข เป็นข้อเสนอหนึ่งของคนคนหนึ่งในคณะต่างๆ ซึ่งก็อยู่ที่รัฐบาล ส่วนใหญ่แล้วกฎหมายแบบนั้นมันต้องเข้าสภาผู้แทน ใครเป็นรัฐบาลคนนั้นก็มีเสียงข้างมาก ถ้ารัฐบาลเห็นว่าจะนิรโทษกรรม ก็เป็นสิทธิของท่าน เราไปเสนอท่านไม่ได้เลย แต่เป็นข้อคิดเห็นของคนที่เขาได้รับเคราะห์กรรมมา เขาก็บอกช่วยแก้หน่อย ช่วยออกกฎหมายนิรโทษให้เขาหน่อย รัฐบาลมีสิทธิที่จะทำหรือไม่ทำก็ได้"
 
แต่ไม่เกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญใช่ไหม
 
"ไม่เกี่ยว เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของรัฐสภา เสนอเข้ารัฐสภา วาระ 1 2 3 แต่ถ้าแก้ไขกฎหมาย ออกกฎหมายต้องผ่านสภาผู้แทน ก็คือรัฐบาลเสียงส่วนใหญ่ ถ้ารัฐบาลเห็นว่าควรจะออกกกฎหมายนิรโทษกรรมก็เป็นเรื่องของท่านอภิสิทธิ์ ถ้าผมฟังไม่ผิดท่านพูดไม่รู้กี่หนนะ ท่านพร้อมจะนิรโทษกรรมทางการเมืองยกเว้นคดีอาญา ท่านพูดที่ฮ่องกง ท่านพูดเมื่อวานซืนก่อนมาสภา ท่านสปอร์ตมากนะ ท่านเองไม่ปิดกั้นนักการเมืองที่ถูกเพิกถอนสิทธิ นั่นคือความสปอร์ตของท่าน ท่านก็คงคิดว่าคนเหล่านั้นก็เป็นทรัพยากร และเขาก็ไม่ได้ทำผิดอะไร ส่วนคนทำผิดก็ยังต้องติดคดีอยู่ 5 ปี นี่คือความคิดของท่านซึ่งผมก็ชื่นชม ว่าทำไมท่านคิดได้ขนาดนั้น"
 
แต่ฝ่ายที่คัดค้านก็ไปเอาประเด็นนี้มารวมกับการแก้รัฐธรรมนูญ
 
"มีบางคนไม่อยากให้แก้รัฐธรรมนูญด้วยเหตุผลอื่น เขาหาเรื่องอ้างอยู่เรื่อยแหละเวลาเขาจะไม่ให้แก้ วันก่อนเขาก็บอกว่าให้ครบปีก่อนค่อยแก้ วันนี้ครบ 2 ปีแล้วเขาก็เปลี่ยนเหตุผลมาเป็นอย่างนี้ ลองผมให้แก้ 309-190 สิ เขาล่อผมตายไหม เขาเลยอ้างว่าแก้ 237 นี่เท่ากับแก้แบบซ่อนรูป เขาก็มีวิธีพูดของเขา คนที่จะคัดค้าน แต่เราต้องยอมรับนะไม่มีกฎหมายฉบับไหนที่ผ่านสภาแล้วมีเสียงเป็นเอกฉันท์หรอก ที่ทุกคนเห็นด้วยกันหมด ไม่มี เพราะฉะนั้นเราอย่าไปกลัวกับคนที่ไม่เห็นด้วย แต่ให้สู้กันด้วยเหตุด้วยผล สู้กันในครรลอง เขาก็มีสิทธิจะไปโน้มน้าวคนว่าเขาไม่เห็นด้วยกับตรงนี้ แต่สุดท้ายก็มาสู้กันในสภา ถ้าเราไม่ยอมรับมติของสภาก็อย่ามีสภา ไม่มีประโยชน์ สภาที่ผมเห็นไม่ใช่สภาแบบถูลู่ถูกัง ไม่ได้ทำอะไรแบบมัดมือชก ไม่ได้ทำอะไรแบบปิดประตูตีแมว เขาก็พยายามดูกระแสความเสี่ยง และทุกคนก็น่ารักหมดทั้งฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาลที่เราได้นั่งประชุมด้วย หรือทั้งนักวิชาการ มันไม่มีอะไรที่จะสำเร็จได้ถ้าไม่มีการโอนอ่อนผ่อนปรน ไม่มีการประนีประนอม ไม่มีการมองประโยชน์ชาติ ถ้ามองประโยชน์แต่ตัวเอง หรือคิดจะเอาคนอื่นให้ตายไปจากแผ่นดินนี้ นั่นแหละครับก็เป็นปัญหาของบ้านเมือง"
 
ท่าทีของ ปชป.ต่อมาตรา 237 เป็นอย่างไร
 
"มาตรา 237 ท่านนายกเป็นคนพูดเองว่าท่านไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรค ท่านพูดประเด็นนี้ชัดเจน"
 
แล้ว ส.ส.ที่อยู่ในกรรมการล่ะ
 
"เขาก็กลางๆ ไม่ได้เสนอ ไม่ได้เป็นฝ่ายให้ความเห็นชอบ"
 
ที่ประชาธิปัตย์ค้านจริงๆ คือเรื่องเขตเดียวเบอร์เดียวใช่ไหม
 
"ใช่ แต่ไม่เอาก็ได้ ก็เข้าสภาไป ถ้าสภาบอกว่าเอาแบบเดิมก็เอาแบบเดิม ไม่มีปัญหาอะไร แต่ 237 เป็นเรื่องที่หัวหน้าพรรคเขาต้องการ"
 
ประเด็นที่ให้ สว.มาจากการเลือกตั้ง ประชาธิปัตย์ก็ไม่ค้านใช่ไหม
 
"ไม่มีใครที่เป็นนักประชาธิปไตยหรือนักการเมืองแล้วจะเห็นด้วยกับการสรรหา สว. ประชาธิปัตย์ที่อยู่กับเรา คุณนิพนธ์ วิสิษฐ์ยุทธศาสตร์ ท่านเป็นมาทั้ง ส.ส. สว. ท่านบอกว่ามันก็ลำบากที่เราจะสรรหาให้เป็นประชาธิปไตยได้ หรือตอบคำถามได้ มันตอบคำถามไม่ได้ ท่านก็เห็นด้วย บอกสุดท้ายมันต้องเลือกตั้ง"
 
"อย่าลืมว่าการเลือกตั้ง สว.มันไม่เหมือนปี 2540 คุณสมบัติของ สว.ชุดนี้ต่างจากคุณสมบัติ สว.เมื่อปี 2543 ตามรัฐธรรมนูญ 2540 อย่างหน้ามือหลังมือเลย เขาจำกัดมาก จากบทเรียนที่เขากลัวว่าจะเป็นสภาที่ใกล้ชิดกับพรรคการเมือง สิ่งที่เขียนไว้เป็นคุณสมบัติทำให้ตัดคนออกไปตั้ง 30 กว่าล้านคน ที่ไม่มีสิทธิ์เป็น สว.ไม่ว่าจะเลือกตั้งหรือสรรหา เขาห้ามคนซึ่งเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใน 5 ปีที่ผ่านมา เขาประกาศใช้เลยนะ ไม่มีบทเฉพาะกาลด้วย ประกาศปี 2550 พอดี 2551 เลือกตั้ง เสร็จเลย คนที่เป็นมาตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว ตอนนี้โดนฟ้องอยู่ 1 คน สว. กำลังจะขึ้นศาลรัฐธรรมนูญ ว่าเคยเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เมื่อ 3 ปีก่อน นี่ตัดคนไปเท่าไหร่ มีใครบ้างในประเทศไทยที่ไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใน 5 ปีที่ผ่านมา ถ้าเขาฝักใฝ่การเมืองเขาต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอยู่แล้ว นี่มันตัดคนออกไปแล้วตั้ง 30-40 ล้านคน และก็ยังตัดคนที่มีญาติที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีก มันก็ทำให้คุณสมบัติช่วยจำกัดคนออกไปจากความกลัวที่จะเป็นสภาผัวเมีย คือคนเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขาเอาปัญหามาตั้งแล้วเขาก็ใส่เข้าไป บางครั้งมันก็ทำให้ดูไม่เป็นประชาธิปไตย บางครั้งมันก็ดูดีเพื่อแก้ปัญหา แต่เราก็ต้องเอาประชาธิปไตยมาจับในบางเรื่อง ซึ่งเราไม่ได้ไปแก้ในคุณสมบัติเหล่านั้น ถึงจะเลือกตั้งก็ยังจะไม่ได้สภาผัวเมียแน่นอน"
 
ที่ชี้แจงมาคือคณะอนุกรรมการรู้ว่ามีอีกหลายประเด็นไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ยังไม่แตะต้อง
 
"ถูกต้อง ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่เอาหรือเป็นความระแวงของคนส่วนใหญ่เราก็ไม่อยากเข้าไปยุ่ง ธงของเราก็คืออย่างที่ท่านนายกฯบอก ไปแก้กฏกติกาการเลือกตั้ง ให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ และผมพร้อมยุบสภา"
 
"มาตรา 237 ไปดูกรรมการบริหารพรรคสิ ประชาธิปัตย์เป็นพรรคแรกเลย ลดเหลือ 15-16 คน แล้วดูชื่อสิ คนดังๆ ไม่มีใครกล้าเป็น นี่ก็คือสัจธรรม ถ้าไปเขียนอย่างนั้นก็จะเจออย่างนี้ ปัญหาก็เป็นอย่างนี้ กับดักตัวนี้มันไม่สามารถเอาไปจับหนูได้อีกแล้ว เพราะหนูมันรู้ตัวหมดแล้ว และการยกเลิกผมไม่ได้ไปคืนสิทธิ ส่วนที่จะไปออกกกฎหมายมันอีกเรื่องหนึ่ง คนละประเด็นกัน"
 
พรรคเพื่อไทยก็เหมือนกัน หัวหน้าพรรคเป็นตุ๊กตา
 
"ไม่ได้ลงเลือกตั้งด้วย กรรมการบริหารพรรคก็มี 10 กว่าคน เราก็จะเห็นว่ามันเป็นกฎหมายที่ดีไหมล่ะ ทำไมทุกคนถึงต้องหนี ต้องยอมรับในสิ่งเหล่านี้ ที่เราเสนอแก้ไข 6 ประเด็นมันไม่ได้ช่วยใคร และมันเป็นประโยชน์กับบ้านเมือง จะมาอ้างประโยชน์นักการเมืองมันไม่ใช่ ถ้าเราได้ ส.ส.ที่เป็นประชาธิปไตย สว.ที่เป็นประชาธิปไตย ได้รัฐบาลที่ดี ได้รัฐสภาที่ดี มันเป็นประโยชน์แก่ใคร ล่ะครับ เพราะทุกคนก็มาจากประชาชน เราต้องการแต่งตั้งกันแบบนี้หรือ คนที่คิดแต่งตั้งสว. เขาคิดว่าถ้าเป็นกรรมการชุดนี้เขาจะได้เป็นต่อใช่ไหม มันง่ายๆ อย่างนั้นหรือ คุณถึงมีการคัดค้านออกมาบางเรื่องบางราว ถ้าแต่ละคนมีวาระการคัดค้านที่แตกต่างกัน"
 
เริ่มวันนี้รอปีหน้า
 
หลังจากคณะกรรมการสมานฉันท์ส่งรายงานไปแล้วจะเดินต่ออย่างไร
 
"สิ่งที่เราเสนอไปส่วนใหญ่เป็นงานของสภา ไม่ว่าจะการตั้งกรรมการสมานฉันท์ การตั้งกรรมการปฏิรูปการเมือง ก็เป็นเรื่องของสภา การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นเรื่องของสภา ส่วนการปฏิรูปบางเรื่องเช่นการศึกษาเรื่องต่างๆ รัฐบาลอาจจะเห็นดีเห็นงามก็เอาไปทำได้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่มีรัฐบาลไหนอยากแก้หรอกครับ เพราะถ้าส่งมาแก้ไม่ได้รัฐบาลต้องลาออก และเขาก็ไม่ได้เขียนให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ฉะนั้นท่านนายกฯ ก็บอกแล้วว่าเรื่องไหนเป็นเรื่อขงสภาก็เอาเข้าสภา ท่านชัยก็จะนำเรื่องนี้ไปให้สภาเมื่อสภาเปิด ท่านก็ให้สภารับทราบ ไม่มีใครคัดค้านก็เดินหน้าได้เลย ตั้งกรรมการยกร่างขึ้นมา หาคนมาเซ็น 96 คน ซึ่งมีเกินอยู่แล้ว เพราะ ส.ส.ทุกพรรคอยากแก้อยู่แล้ว วันนี้พรรคชาติไทยพัฒนาก็ออกมาแถลงสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ทำให้เป็นขั้นเป็นตอน ไม่ได้รวบรัด นำเข้ารัฐสภา ดีเบทเสร็จ ถ้ามติส่วนใหญ่เห็นว่าให้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ยกร่าง เข้าตาม 291 ในส่วนนี้ไม่เกี่ยวกับท่านอภิสิทธิ์ เป็นเรื่องของสภา ท่านรับทราบแล้ว ไม่ได้ปฏิเสธก็เข้ากระบวนการได้ เรื่องนี้ไม่ใช่ว่าไม่รับหรืออะไร และท่านไม่มีสิทธิมาสั่งให้เราไปแก้รัฐธรรมนูญ ท่านมาบอกเราก็เท่ากับท่านให้ hint อยู่แล้ว เป็นนัยอยู่แล้ว วันนี้กระบวนการมันเดินหน้าได้อยู่แล้ว"
 
แล้วจะต้องใช้เวลาเท่าไหร่
 
"การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ complete ต้องใช้เวลาประมาณ 8 เดือน กว่าสภาจะเปิด
ต้องเรียกประชุมสภาร่วม กว่าจะเห็นชอบก็อาจจะสิ้นเดือน ส.ค. ยกร่างมาเสนอเข้าวาระที่ 1 ก.ย. รับเสร็จก็ไปแปรญัตติ เสียเวลาไปอีกเดือนกว่า กลับมาเข้าวาระ 2,3 กว่าจะมาทำประชามติก็ใช้เวลาอีก 2 เดือน และกฎหมายประชามติก็ยังไม่ออก จะเข้าสภา ส.ค.นี้เหมือนกัน กว่าจะทำประชามติก็หมดไปแล้ว 4-5 เดือนนับจากนี้ถึงจะสมบูรณ์ในกระบวนการ และต้องมายกร่างแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. สว. ว่าด้วย กกต. อีกประมาณ 2 ฉบับ อันนี้ยาว อันนั้นเร็วเพราะสภาเดียว เป็นสภาใหญ่ 1-2-3 จบ แต่อันนี้ต้องทีละสภา ทีละ 3 วาระ พอสภานี้ผ่านเสร็จ ส่งมาวุฒิอีก 3 วาระ เพราะสภาไปเปิดอีกทีคือ ก.พ. มี.ค. เม.ย. จะแก้เสร็จหรือเปล่า 2 สมัยประชุม เพราะถ้ายังไม่โปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไปแก้กฎหมายเลือกตั้งไม่ได้ ก็ต้องไปแก้เอา ก.พ.-เม.ย. 3 เดือนจะเสร็จไหม 2 สภา ถ้าเสร็จก็ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญอีก เพราะกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญดูว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือเปล่า ฉะนั้นจริงๆ แล้วก็ไม่เร็วกว่าเม.ย.-พ.ค.ถึงจะประกาศยุบสภาได้ ถ้าท่านพร้อมจะยุบ ไม่ได้เร่งรัดไม่ได้เร็วเพราะยังแปรญัตติได้ ยังทำประชาพิจารณ์ได้"
 
"เราก็หวังว่าอีกปีหนึ่งเราแก้เสร็จไปเลือกตั้งกัน มีรัฐบาลใหม่ คือผมคิดว่าถ้าเลือกตั้งอีก 2-3 ครั้งการยอมรับจะมากขึ้น คนไทยเมื่อไปชกกับเขาแล้วแพ้ ก็ต้องรู้ว่าแพ้บ้าง ตอนนี้มัน-เอ๊ะ เราไม่ได้เลือกรัฐบาลนี้มานี่ ความรู้สึกเป็นอย่างนั้น ถ้าถอยไป 23 ธ.ค.ไม่ใช่หน้าตาอย่างนี้ พอมาใหม่ผมคิดว่าทุกคนก็ต้องเริ่มที่จะยอมรัฐบาลมากขึ้น การทำงานก็จะดีขึ้น ดีกว่าถูลู่ถูกัง"
 

 
"ผมเป็นตัวของตัวเอง"
 
โดดเข้ามาเป็นคีย์แมนในคณะกรรมการสมานฉันท์ เสธ.อู้ก็ไม่วายถูกมองว่าเป็นฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ เช่นเป็นลูกน้องบิ๊กจิ๋วมาก่อน
 
"ผมเป็นลูกน้องคนมาเยอะมาก ทั้งกองทัพ เพราะผมรับราชการอยู่กองทัพบกตั้ง 38 ปี แต่ผมเป็นตัวของตัวเอง เพราะความเป็นตัวของตัวเองถึงไม่ได้ใหญ่โตมากอย่างที่คนอื่นเขาใหญ่โต เรามีจุดยืนของเราในการรับราชการ ในการคิดต่างๆ ในอาชีพเราก็ไม่เคยเล่นการเมือง ไม่เคยได้ผลประโยชน์จากการเมือง ไม่เคยไปนั่งหน้าห้องนักการเมืองคนไหน นี่เขาให้เรามาทำงานก็อยากทำงานให้ดีที่สุด เพราะถ้ายังคิดว่าคนนี้เป็นพวกนี้ คนนั้นเป็นพวกนั้น ก็แสดงว่าไม่มีวันสมานฉันท์ได้หรอก เพราะต้องการให้พวกเดียวมีอำนาจ พวกอื่นไม่ให้มี นี่คือปัญหา อย่างที่ผมบอกว่าอำนาจรัฐบาลไทยยิ่งใหญ่มาก มันรวมไว้หมด ทำให้ทุกคนอยากเข้าสู่อำนาจและไม่อยากออก"
 
ในยุคทักษิณ เสธ.อู้ก็เป็นแคนดิเดท ผบ.ทบ.กับ พล.อ.สนธิ เพราะตอนนั้นเป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ.คู่กัน โดยอาวุโสสูงกว่าด้วยซ้ำ "ผมเป็นพลโทท่านยังเป็นพันเอกพิเศษอยู่เลย" แต่เมื่อบิ๊กบังได้เป็น ผบ.ทบ. เสธ.อู้ก็หลุดไปเป็นเสธ.ทหาร
 
"ก็เพราะว่าผมเป็นผมอย่างนี้ ถึงผมเป็นท่านก็มาสั่งอะไรผมไม่ได้ สั่งให้ผมทำงานให้ดีที่สุดสั่งได้ แต่จะสั่งให้ทำอะไรผิดๆ ก็สั่งไม่ได้ไม่ว่าฝ่ายไหน งานนี้ที่ผมทำวันนี้ถ้ามันเป็นงานที่ให้ผมต้องมาแก้รัฐธรรมนูญเพื่อคนใดคนหนึ่งผมก็คงไม่มานั่งทำให้เสียชื่อผม ผมก็มีเกียรติยศพอสมควรที่ได้สั่งสมมา ไม่ต้องมาทำอะไรที่ไปรับใช้ใคร"
 
บอกว่าอย่าพูดถึงอดีตเลย
 
"ผู้บังคับบัญชาเขาก็มีสิทธิคิดว่าตั้งใครอย่างไร การตั้งผบ.ทบ.ก็ไม่ใช่คนคนเดียวตัดสินได้ ก็ถือว่าเราได้ทำให้ดีที่สุดในสิ่งที่เราเป็นวันนี้เราเป็น สว.เขาให้มาเป็นประธานตรงนี้ เราก็พยายามทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับบ้านเมือง ถ้าเรามองว่ามันทำแล้วเกิดประโยชน์เราก็ทำ ไม่ใช่ว่าเราจะมาถูลู่ถูกัง มาแก้รัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์ของใครคนหนึ่ง"
 
เสธ.อู้บอกว่าการประชุมคณะอนุกรรมการทุกครั้ง ก็ไม่ได้ปิดห้องคุยงุบงิบ แต่มีนักข่าวเต็มไปหมด มากกว่าคณะอนุกรรมการเสียอีก การแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นต่างๆ จึงพูดกันอย่างเปิดเผย และจะเห็นได้เลยว่าเขาเป็นกลางหรือไม่
 
"ถามว่า 6 ประเด็นนี้ทำไมน่าจะแก้ ทุกพรรคก็เห็นพ้องต้องกัน นายกก็เห็นว่าต้องแก้ ไม่ใช่ผมคิดขึ้นมาเอง ผมต้องไปนั่ง-เอ้า ใครอยากจะแก้อะไร ประเด็นนี้ไม่เอา มีแค่พรรคเดียวเสนอ ผมก็ไม่รับเข้ามา"
 
พรรคเพื่อไทยเสนอเข้ามาเยอะมาก ก็ไม่ได้รับ
 
"เรารับเฉพาะที่เสนอทุกพรรค เขาทำเป็นเอกสารมาให้เรา ผมก็หยิบมาให้ดู ประเด็นนี้เสนอตรงกันทุกพรรค มีบางพรรคเสนอให้แก้ 309 พรรคเดียวเสนอ ผมก็บอกอันนี้ไม่เอาเพราะพรรคเดียวเสนอ มันเป็นเรื่องของเสียงส่วนใหญ่ และเราก็ดูสิ่งที่นายกฯ ท่านส่งสัญญาณมา อย่างประเด็น ส.ส.มาเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี เลขารัฐมนตรี ไม่ต้องแก้ก็ได้ มันไม่ได้มีอะไรหรอกแต่มันก็พ่วงเข้าไปเพราะเป็นสิ่งที่ท่านนายกฯ เห็นว่าสำคัญ มาตรา 266 ส.ส. ตอนนี้ก็สบายมากเพราะไม่ต้องทำอะไร อ้างว่าทำอะไรไม่ได้ผิดกฎหมาย พาชาวบ้านไปหาเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ ตรงนี้ประโยชน์ของใครล่ะ คนที่มาบอกว่าแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์นักการเมือง ผมยังมองไม่เห็นสักข้อเลยประโยชน์ของนักการเมือง มีแต่ประโยชน์ของประชาชนทั้งหมดเลย 6 ประเด็น ยุบพรรคประโยชน์ใคร ประชาชน 30 กว่าล้านคน พรรคเขาหายไป หรือว่า ส.ส.เขตเดียวเบอร์เดียวประโยชน์ของประชาชน เขามี ส.ส.ดูแลเขาอยู่ ในโลกนี้เขาก็เขตเดียวเบอร์เดียวร้อยละ 70-80 เปอร์เซ็น สจ.เรายังเขตเดียวเบอร์เดียวเลย สก.ด้วย"
 
"มันก็มีทั้งคนชอบคนไม่ชอบ ผมไม่ได้บอกว่าอะไรดีกว่าอะไร แต่มันซื้อเสียงได้ทั้งคู่ นั่นคือข้อสรุป แต่เขตเดียวเบอร์เดียวดีกว่าเยอะในเรื่องของความเป็นประชาธิปไตย การยึดโยงกับประชาชน ไม่ใช่ใครก็ได้ไปอาศัยบิ๊กๆ เขา ผมก็พ่วงชื่อท่านหน่อยแล้วแอบจ่ายเงินให้ท่าน บางคนคิดแค่นั้นเอง"
 
"เราเสนออะไรที่มันนุ่มนวลที่สุด แต่ทุกพรรคเขาพอใจนะ ตอนผมเป็นแรกๆ ผมยังนึกว่าจะทำยังไงนี่ ต้องแก้มหาศาลเลย แล้วจะไปฝ่ากระแสสังคมกระแสสื่อได้อย่างไร พอแก้ 6 มาตรา พรรคชาติไทยพัฒนาออกมาแถลงสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เป็นสิ่งที่เราก็ต้องยอมรับว่าน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทุกฝ่ายพอใจ เขาถึงได้ตอบรับ"
 
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net