CBNA-Newsline: 1-19 ก.ค. 52

รัฐบาลพม่าจับกุมฝ่ายค้าน หลังร่วมรำลึกบิดาออง ซาน ซูจี - การลงทุนในพม่าเพิ่มขึ้น 5 เท่า - “กอร์ปศักดิ์” หนุนกาญจนบุรีศึกษาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน - หอการค้าระนองร่วมบีโอไอ ลงทุนใน 3 กลุ่มธุรกิจในพม่า - ยอดขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติครึ่งเดือนสูงถึง 500,000 คน - พม่ายืนยันเริ่มพิสูจน์สัญชาติ 15 ก.ค. - สพฐ. เปิดเผยตัวเลขเด็กต่างชาติในโรงเรียนนับแสนคน - ชายแดนพม่ายังอันตราย กะเหรี่ยงขออยู่ฝั่งไทยต่อ - 19 หมู่บ้านยื่นจดหมายถึงนายกฯ ระงับเขื่อนสาละวิน

 

 
 
CBNA-Newsline ฉบับที่ 1 ประจำวันที่ 1 – 19 กรกฎาคม 2552
CBNA-Newsline เป็นกิจกรรมหนึ่งของศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน (Cross Border News Agency) เป็นการรวบรวมข่าวภาษาไทยเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านแรงงานข้ามชาติ รวมถึงผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศพม่า ตลอดจนสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ภายในประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ส่งผลกระทบต่อการย้ายถิ่น 
 
 
สรุปข่าวที่เกี่ยวข้องประจำวันพุธที่ 1 ถึงวันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม 2552
 
1. สถานการณ์ในประเทศพม่า
1.1 รัฐบาลพม่าจับกุมสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน หลังร่วมพิธีรำลึกบิดานางออง ซาน ซู จี
1.2 การลงทุนของต่างชาติในพม่าเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า
 
2. การค้าชายแดน
2.1 “รองนายกฯ กอร์ปศักดิ์” สนับสนุนกาญจนบุรีศึกษาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน
2.2 หอการค้าระนองร่วมมือกับบีโอไอ ลงทุนใน 3 กลุ่มธุรกิจประมง ป่าไม้ และเหมืองแร่ในพม่า
 
3. แรงงานข้ามชาติและผู้ติดตาม
3.1 ยอดขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ครึ่งเดือนสูงถึง 500,000 คน
3.2 พม่ายืนยันว่าจะเริ่มพิสูจน์สัญชาติอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคมเป็นต้นไป
3.3 สพฐ. เปิดเผยตัวเลขเด็กต่างชาติในโรงเรียนนับแสนคน
 
4. ผู้ลี้ภัย
4.1 ชายแดนพม่ายังอันตราย กะเหรี่ยงขออยู่ฝั่งไทยต่อ
 
5. อาเซียน
5.1 19 หมู่บ้านยื่นจดหมายถึงนายกฯ ระงับเขื่อนสาละวิน
 
 
(1) สถานการณ์ในประเทศพม่า
(1.1) รัฐบาลพม่าจับกุมสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน หลังร่วมพิธีรำลึกบิดานางออง ซาน ซู จี
สมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดีของพม่ากว่า 50 คน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจของทางการพม่าจับกุม ขณะเดินกลับจากเข้าร่วมพิธีรำลึกครบรอบ 62 ปี การเสียชีวิตนายพลออง ซาน ที่อนุสรณ์สถานผู้วานชนม์ในนครย่างกุ้ง โดยยังไม่มีการเปิดเผยสาเหตุของการจับกุม (สำนักข่าวไทย 19 ก.ค. 52)
 
(1.2) การลงทุนของต่างชาติในพม่าเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า
กระทรวงวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจของพม่า เปิดเผยเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 52 ว่า การลงทุนของต่างชาติในพม่าเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า เป็นเกือบ 1,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อปีที่แล้ว หลังจากที่ประเทศจีนทุ่มลงทุนภาคเหมืองแร่ ทั้งนี้การลงทุนทั้งหมดของต่างชาติในพม่าเพิ่มจาก 172.72 ล้านดอลลาร์เมื่อปีงบประมาณ 2550-2551 เป็น 985 ล้านดอลลาร์ในปี 2551-2552 ขณะที่การลงทุนในเหมืองแร่จากจีนมีสัดส่วน 856 ล้านดอลลาร์ ส่วนรัสเซียและเวียดนามลงทุน 144 ล้านดอลลาร์ ในภาคน้ำมันและก๊าซ ไทยลงทุน 15 ล้านดอลลาร์ ในภาคโรงแรมและการท่องเที่ยว (กรุงเทพธุรกิจ 18 ก.ค.52)
 
 
(2) การค้าชายแดน
(2.1) “รองนายกฯ กอร์ปศักดิ์” สนับสนุนกาญจนบุรีศึกษาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน
เมื่อวันที่ 12 ก.ค.52 นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี เขาได้กล่าวถึงการเดินทางมาในครั้งนี้ก็เพื่อมาดูศักยภาพในจังหวัดกาญจนบุรี ในด้านเศรษฐกิจ เพื่อเสริมสร้างรายได้และสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนเพราะจากผลกระทบทางเศรษฐกิจโลกทำให้รายได้ของประเทศลดลงกว่าร้อยละ 20 
 
มีเรื่องหนึ่งที่ตนสนใจคือ เรื่องการเตรียมการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเพื่อรองรับโครงการพัฒนาการค้าชายแดนในอนาคตที่อาจจะต้องคิดไปถึงการจัดเตรียมสถานศึกษาที่สร้างบุคลากรรองรับการพัฒนาในรูปแบบนี้ นักเรียนอาจจะต้องเรียน 3 ภาษา เพื่อสามารถทำงานในเขตพื้นที่ได้อย่างเท่าทันการพัฒนาของโลกวันนี้ และเรื่องการทำสนามบินที่จะต้องเชื่อมโยงการท่องเที่ยวจากกาญจนบุรีที่เป็นเมืองภูเขากับภูเก็ตหรือหัวหินหรือพัทยาที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลหรือ เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวภาคเหนือเพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายที่จะทำให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศสามารถมาพักผ่อนท่องเที่ยวได้อย่างคุ้มค่าเวลาในทริปเดียวกัน (ASTVผู้จัดการออนไลน์ 12 ก.ค.52)
 
(2.2) หอการค้าระนองร่วมมือกับบีโอไอ ลงทุนใน 3 กลุ่มธุรกิจประมง ป่าไม้ และเหมืองแร่ในพม่า
นายนิตย์ อุ่ยเต็กเค่ง ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า หอการค้าจังหวัดระนอง ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เตรียมที่จะพานักธุรกิจ/ผู้ประกอบการเข้าไปศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการค้า การลงทุนในประเทศพม่า โดยเฉพาะในย่านตะนาวศรี แถบจังหวัดมะริด ทวาย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลพม่ากำหนดให้เป็นย่านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมใหม่ทางตอนใต้ของพม่า ซึ่งกลุ่มธุรกิจสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยให้ความสนใจ ประกอบด้วยภาคอุตสาหกรรมประมง อุตสาหกรรมป่าไม้ และกลุ่มอุตสาหกรรมเหมืองแร่ โดยเฉพาะแร่หยก ทั้งนี้พม่าถือเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศ มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก แต่ก็ยังมีอีกหลายประการที่นักธุรกิจยังวิตกกังวล อาทิความมั่นใจ ความแน่นอน การได้รับการดูแลจากรัฐบาลพม่า ปัจจุบันผู้ประกอบการจากประเทศเพื่อนบ้านหลายๆประเทศ อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สามารถขยายการค้า-การลงทุนเข้าไปในประเทศพม่าได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐที่เข้าไปเจรจาให้โดยตรง ส่วนผู้ประกอบการจากไทยต่างคนจะต้องพยายามหาลู่ทางการค้าเอง การที่บีโอไอจัดโครงการนี้ขึ้นมา ถือเป็นโอกาสที่ดี ตรงกับความต้องการของนักธุรกิจที่เรียกร้องในเรื่องนี้มา (ฐานเศรษฐกิจ 09-11 ก.ค.52)
 
 
(3) แรงงานข้ามชาติ
(3.1) ยอดขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ครึ่งเดือนสูงถึง 500,000 คน
นายพิชัย เอกพิทักษ์ดำรง อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงความคืบหน้าในการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวสัญชาติ พม่า ลาว กัมพูชา ครั้งสุดท้าย ที่เริ่มเปิดตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า จากการตรวจสอบข้อมูลกับกรมการปกครอง พบว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีนายจ้างพาลูกจ้างไปรายงานตัวเพื่อขอขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่กรมการปกครองแล้วกว่า 460,000 คน นับเป็นตัวเลขมากกว่าที่คาดไว้ เพราะเพิ่งจะผ่านครึ่งทางของการจดทะเบียนเท่านั้น จากเดิมคาดว่า จะมีผู้มาขึ้นทะเบียนใหม่ทั้งหมดประมาณ 500,000 คนเท่านั้น นายพิชัย ระบุสาเหตุอาจเป็นเพราะ นายจ้างทราบว่าการเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนเปลี่ยนเป็นการจ้างงานในระบบโควตา ซึ่งแรงงานต่างด้าวจะต้องมีใบอนุญาตทำงานและเข้าประเทศอย่างถูกต้อง หลังวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 (สำนักข่าวไทย 19 ก.ค.52)
 
(3.2) พม่ายืนยันว่าจะเริ่มพิสูจน์สัญชาติอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคมเป็นต้นไป
นาย ไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือกับนายหม่อง มิ้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศพม่า ที่ศูนย์การประชุมเฮอริเทจแกรนด์ คอนเวนชั่น อ.เมืองระนอง เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 52 ว่าการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองเป็นมาตรการหนึ่งของรัฐบาลในความพยายามแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ลักลอบทำงานให้เข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อให้การใช้แรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย
พม่ายืนยันว่า จะเริ่มพิสูจน์สัญชาติอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคมเป็นต้นไป กำหนดสถานที่ 3 จุด คือ จ.เกาะสอง จ.เมียวดี และ จ.ท่าขี้เหล็ก โดยแรงงานที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วทางการพม่าจะออกหนังสือเดินทางชั่วคราวให้ เพื่อไปขอวีซ่าทำงานในประเทศไทยได้ครั้งละไม่เกิน 2 ปี แล้วต่อให้อีกไม่เกิน 2 ปี จากนั้นต้องเดินทางออกนอกประเทศไปก่อนเพื่อป้องกันการตั้งถิ่นฐาน หากจะกลับเข้ามาทำงานอีกก็ต้องเริ่มขบวนการใหม่ ในชั้นต้นจะนำแรงงานพม่าเข้ามาทำงานในประเทศ 10,000 คน โดยฝ่ายไทยจะลดค่าวีซ่าทำงานจากคนละ 2,000 บาท เหลือเพียง 500 บาท (มติชน 11 ก.ค.52)
 
(3.3) สพฐ. เปิดเผยตัวเลขเด็กต่างชาติในโรงเรียนนับแสนคน
เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 52 ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) น.ส.เปรมใจ วังศิริไพศาล นักวิชาการศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง "การวิจัยเพื่อพัฒนารูปแบบและแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับเด็กต่างด้าว กรณีศึกษา อ.แม่สอด จ.ตาก" ในการประชุมสัมมนาเรื่อง "แนวทางการจัดการศึกษาสำหรับเด็กต่างด้าว" ว่า ได้สัมภาษณ์เด็กและผู้ปกครองของเด็กต่างด้าว 200 คน พบว่า เด็กวัยเรียน 6-15 ปี ประมาณ 40% ไม่เคยเรียนหนังสือก่อนมาอยู่ประเทศไทย 47.9% ไม่รู้นโยบายการให้โอกาสทางการศึกษาแก่เด็กต่างด้าว และผู้ปกครอง 47.3% คิดว่าเด็กต่างด้าวไม่ถูกกีดกันจากการศึกษา ส่วนอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษา พบว่า เกิดจากปัญหาด้านค่าใช้จ่าย การสื่อสาร สำหรับรูปแบบการศึกษาที่เด็กต่างด้าวต้องการเรียน มี 3 รูปแบบ ได้แก่ การศึกษาในระบบโรงเรียน การศึกษานอกระบบ และการศึกษาเฉพาะวิชา โดยเนื้อหาที่ต้องการเรียนมากที่สุดคือ ความรู้ที่นำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ แบ่งเป็น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาชาติพันธุ์ เป็นต้น
 
นางรุ่งเรือง สุขาภิรมย์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีเด็กต่างด้าวเพิ่มขึ้นมาก บางโรงเรียนมีเด็กต่างด้าวเกือบทั้งโรง จึงต้องปรับเปลี่ยนโรงเรียนให้เหมาะสมกับนักเรียน โดยจัดทำหลักสูตรพิเศษเฉพาะให้เหมาะกับนักเรียนต่างด้าว และปรับโครงสร้างเนื้อหาหลักสูตรการวัดประเมินผลมาตรฐานการศึกษา รวมทั้งครูที่เข้าใจในเรื่องพหุวัฒนธรรม ให้เหมาะกับการจัดการศึกษาแก่เด็กต่างด้าว และต้องจัดการศึกษาให้เด็กต่างด้าวตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ โดยมีหน่วยงานที่กำกับดูแล และจดทะเบียนศูนย์จัดการศึกษาสำหรับเด็กต่างด้าว อีกทั้ง ดึงหน่วยงาน เช่น องค์กรเอกชน มูลนิธิต่างๆ ที่เชี่ยวชาญด้านการจัดการศึกษาสำหรับเด็กต่างด้าวมาร่วมดำเนินการ
 
นายสมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พบว่า มีเด็กต่างด้าวในโรงเรียนสังกัด สพฐ. 1 แสนคน นอกจากนั้นมีเด็กและคนต่างด้าวกระจายอยู่ในศูนย์จัดการศึกษาสำหรับเด็กต่างด้าวของกลุ่มผู้ลี้ภัยด้วย ขณะนี้ สพฐ.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการดูแลการจัดการศึกษา และควบคุมศูนย์จัดการศึกษาสำหรับเด็กต่างด้าว ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานที่ดูแลศูนย์ดังกล่าว (มติชน 3 กค. 52)
 
 
(4) ผู้ลี้ภัย
(4.1) ชายแดนพม่ายังอันตราย กะเหรี่ยงขออยู่ฝั่งไทยต่อ
รายงานข่าวจากจังหวัดตากเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 52 แจ้งถึงสถานการณ์ชายแดนไทย-พม่า ว่า จนถึงขณะนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจังหวัดตากยังไม่ยอมย้ายผู้ลี้ภัยที่บ้านหนองบัว บ้านทุ่งถ้ำ บ้านแม่ตะวอ และจุดอื่นๆ ในพื้นที่ตำบลแม่สอง ตำบลแม่อุสุ อำเภอท่าสองยางไปรวมกันไว้ในจุดเดียวกัน เนื่องจากหวั่นวิตกว่าจะมีกองกำลังต่างชาติเข้ามาก่อความไม่สงบ หลังจากมีเหตุการณ์ซุ่มโจมตียิงเรือกะเหรี่ยง DKBA ตามลำแม่น้ำเมย บริเวณเขตรอยต่ออำเภอแม่ระมาด และอำเภอท่าสองยาง ทำให้ฝ่ายกะเหรี่ยง DKBA เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
 
นายโรเบิร์ด ทวย ประธานคณะกรรมการผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงสัญชาติพม่า กล่าวว่า ผู้ลี้ภัยยังคงมีกว่า 3,000 คน และจนถึงขณะนี้พวกเขาไม่สามารถกลับไปได้ เพราะกลัวไปเหยียบกับระเบิดในฝั่งพม่า ส่วนการที่ไม่รวมผู้ลี้ภัยไว้ในจุดเดียวนั้น ขึ้นอยู่กับความเห็นของฝ่ายไทยว่า เหมาะสมหรือไม่ ทั้งนี้ผู้ลี้ภัยยังคงอาศัยอยู่ในวัดหนองบัว บ้านหนองบัว โดยยังอยู่ในสภาพเดิม ขณะที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 35 อำเภอแม่สอด กำลังหาที่รองรับผู้ลี้ภัยที่บ้านหนองบัวใหม่
ส่วนสถานการณ์การสู้รบในฝั่งพม่า ขณะนี้ฝ่ายกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ยังคงกระจายกำลังอยู่ในฝั่งพม่า ขณะที่ฝ่ายกะเหรี่ยงดีเคบีเอยังคงยึดที่มั่นของ KNU ในพื้นที่กองพลที่ 7 ไว้ทั้งหมด แต่ได้ถอนกำลังส่วนใหญ่กลับไปแล้ว (ASTV ผู้จัดการออนไลน์ 8 ก.ค. 2552)
 
 
(5) อาเซียน
5.1 19 หมู่บ้านยื่นจดหมายถึงนายกฯ ระงับเขื่อนสาละวิน
พ่อหลวงนุ ชำนาญคีรีไพร แกนนำเครือข่ายชาวบ้านลุ่มแม่น้ำสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า ประชาชนจาก 19 หมู่บ้านในพื้นที่ อ.สบเมย กว่า 2,000 คน ร่วมกันลงชื่อในจดหมายถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ขอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และรัฐบาลไทย ระงับการก่อสร้างเขื่อนฮัตจีกั้นแม่น้ำสาละวินในประเทศพม่า เนื่องจากส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และอาจทำให้ชาวกะเหรี่ยงในประเทศพม่าอพยพหนีการกวาดล้างเข้ามาในประเทศไทย
พื้นที่ก่อสร้างมีการสู้รบระหว่างรัฐบาลพม่ากับกลุ่ม กะเหรี่ยงเคเอ็นยู การสร้างเขื่อนอาจทำให้ประชาชนกะเหรี่ยง อพยพหนีการกวาดล้างเข้ามาประเทศไทย การสร้างเขื่อนจึงเป็นการส่งเสริมให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน อีกทั้งประเทศไทยต้องแบกรับภาระในการดูแลผู้อพยพด้วย
ทั้งนี้ เครือข่ายชาวบ้านฯ ได้ยื่นจดหมายดังกล่าวผ่านนายชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ รองหัวหน้าผู้ตรวจราชการ สำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานอนุกรรมการศึกษาข้อมูลและเสนอความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบใน ด้านต่างๆ รวมทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีโครงการก่อสร้างเขื่อนฮัตจี (โพสต์ทูเดย์ 13 ก.ค.52)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท